ความมั่นคงทางอาหาร (Food security) ในมุมมองมานุษยวิทยา ภูมิความรู้ จิตวิญญาณ สิทธิ์และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 |  มรดกวัฒนธรรม และภูมิปัญญา
ผู้เข้าชม : 12892

ความมั่นคงทางอาหาร (Food security) ในมุมมองมานุษยวิทยา ภูมิความรู้ จิตวิญญาณ สิทธิ์และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

           ทุกครั้งที่โลกกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม ความผันแปรของสภาวะอากาศ พลังงาน โรคระบาด สงคราม เศรษฐกิจ ผลผลิตอาหารที่ลดลง ฯลฯ ประเด็น “ความมั่นคงทางอาหาร” (Food security) ก็มักถูกหยิบยกพูดถึงเสมอมา น้ำเสียงส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับการที่ประชากรที่ยากจนนั้นยากต่อการเข้าถึงอาหาร เนื่องจากราคาอาหารที่สูงหรือมีปริมาณอาหารไม่เพียงพอ จนส่งผลต่อความไม่มั่นคงทางอาหาร (Kerr, 2023)

           อย่างไรก็ตาม ความมั่นคงทางอาหารในมุมมองมานุษยวิทยาหาใช่ให้ความสำคัญเพียงมิติการผลิตอาหารให้มากขึ้น แต่ยังเชื่อมโยงกับประเด็นอื่น ๆ เช่น สิทธิ์ในการเข้าถึงอาหาร การผลิตอาหารให้ได้ปริมาณสม่ำเสมอ ความปลอดภัยทางอาหาร ความมั่นคงของแหล่งผลิตอาหาร การพึ่งพาตนเองและการพัฒนาชุมชน เป็นต้น โดยความมั่นคงทางอาหารในมุมมองมานุษยวิทยาจะพิจารณาจากสภาวะ “ความไม่แน่นอน” (uncertainty) และ “ความเสี่ยง” (risk) ของผู้คนที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมและแรงกดดันทางเศรษฐกิจและสังคมที่ส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตอาหาร ซึ่งจะเชื่อมโยงเข้ากับระบบนิเวศชุมชน สิ่งแวดล้อม สัญลักษณ์ วัฒนธรรมและสังคม โดยสะท้อนผ่านปฏิบัติการทางสังคมของผู้คนในชุมชน เช่น ภูมิปัญญาในการจัดการดิน น้ำ การเกษตร ความเชื่อในการอนุรักษ์ป่า ประเพณีและพิธีกรรมบางอย่างของชุมชนที่สัมพันธ์กับ “ระบบผลิตอาหาร” (Pottier, 1999)

-1-

           ความมั่นคงทางอาหารเป็นแนวคิดที่ถือกำเนิดกว่ากึ่งศตวรรษ หากแต่เป็นกระแสที่เริ่มสนใจอย่างจริงจังช่วงทศวรรษปี 1970 เนื่องจากขณะนั้น เกิดเหตุการณ์ภาวะความอดอยากที่เกิดขึ้นหลายประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศกำลังพัฒนาในทวีปแอฟริกา กระแสความมั่นคงทางอาหารจะให้ความสำคัญเชิงกายภาพและเศรษฐกิจเป็นหลัก เช่น ผลกระทบของภัยแล้งที่ส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตรและความยากจนทำให้ผู้ยากจนยากต่อการเข้าถึงอาหาร ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าว ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตราคาอาหารและน้ำมันที่ขยับตัวสูงขึ้น

           หลังจากนั้น ความมั่นคงทางอาหารจึงเป็นปรากฏการณ์ที่ได้รับความสนใจและศึกษาตลอดมาและมีผู้นิยามความมั่นคงทางอาหารอย่างกว้างขวาง แต่ที่เป็นที่รู้จักกว้างขวางก็คือนิยามในการประชุมสุดยอดอาหารโลก (The World Food Summit) ปี ค.ศ. 1996 (FAO, 2006; Kerr, 2023) ที่กล่าวไว้ว่า

“...คนทุกคนมีความสามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัยและมีโภชนาการ ทั้งในทางกายภาพและเศรษฐกิจ ในการตอบสนองความต้องการและความพึงพอใจทางอาหารของพวกเขา เพื่อให้เกิดชีวิตที่ประกอบด้วยความกระตือรือร้นและสุขภาวะ”

           ขณะที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO, 2006) เสนอแนวคิดความมั่นคงทางอาหารออกเป็น 4 มิติ คือ

           1. ความพอเพียง (Availability) ของปริมาณอาหารที่มีคุณภาพอย่างเหมาะสม ซึ่งอาจได้มาจากการผลิตภายในประเทศหรือการนำเข้า รวมถึงความช่วยเหลือทางอาหารจากหน่วยงานต่าง ๆ

           2. การเข้าถึง (Accessibility) ทรัพยากรที่เพียงพอของบุคคลเพื่อให้ได้อาหารในปริมาณที่เหมาะสมและมีคุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงบริบททางกฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจและสังคมของชุมชนที่บุคคลอาศัยอยู่ ตลอดจนสิทธิตามประเพณี เช่น การเข้าถึงทรัพยากรส่วนรวมของชุมชน เป็นต้น

           3. การใช้ประโยชน์ (Utilization) ด้านอาหารผ่านอาหารที่เพียงพอ การรักษาสุขภาพและสุขอนามัย เพื่อที่จะเข้าถึงภาวะความเป็นอยู่ที่ดีทางโภชนาการ

           4. เสถียรภาพ (Stability) ทางอาหาร ประชาชน ครัวเรือนและบุคคลจะต้องเข้าถึงอาหารที่เพียงพอตลอดเวลา ไม่เสี่ยงต่อการเข้าถึงอาหารอันเป็นผลมาจากวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน (เช่น วิกฤตทางทางเศรษฐกิจหรือสภาพภูมิอากาศ) หรือเหตุการณ์ที่เป็นไปตามวงจร (เช่น ภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารตามฤดูกาล)

           จากนิยามความมั่นคงทางอาหารที่กล่าวมาทำให้เห็นว่า ความมั่นคงทางอาหารเป็นแนวคิดที่สัมพันธ์กับการผลิตอาหาร โภชนาการ ความยากจน การพัฒนาและนโยบายจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ FAO UN และองค์กรด้านการพัฒนาต่าง ๆ เป็นต้น (Maxwell & Slater; 2003)

-2-

           เป็นที่น่าสังเกตว่า การนิยามและให้ความหมายความมั่นคงทางอาหารพัฒนาและเติบโตจากองค์กรและภาคส่วนต่าง ๆ ขณะที่มุมมองที่เกิดจากคนท้องถิ่นหรือกลุ่มชน หรือมุมมองทางมานุษยวิทยากลับปรากฏเป็นภาพที่ลางเลือน ประเด็นดังกล่าว Pottier (1999) มองว่า ความมั่นคงทางอาหารในมุมมองมานุษยวิทยาพิจารณาได้จากสภาวะ “ความไม่แน่นอน” (uncertainty) และ “ความเสี่ยง” (risk) ของคนท้องถิ่นที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมและแรงกดดันทางเศรษฐกิจและสังคมที่ส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตอาหาร (ระบบผลิตทางการเกษตรหรือการเก็บของป่า น้ำและทะเล ทั้งพืชและสัตว์จากธรรมชาติ) และความมั่นคงทางอาหารของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการดิน น้ำ สภาพอากาศ อาหารธรรมชาติ การเกษตร ฯลฯ (Berkes, 2008)

           จากหลักการเบื้องต้น ความมั่นคงทางอาหารในมุมมองมานุษยวิทยาได้เผยให้เห็นว่า คนท้องถิ่นหรือชนเผ่าจะให้ความหมายความมั่นคงทางอาหารหลากหลายมิติที่สัมพันธ์กับประสบการณ์ชีวิต เพศ และวัย เป็นต้น หากทว่า สิ่งหนึ่งที่ผู้คนเห็นตรงกันคือ ความมั่นคงทางอาหารน่าจะไม่ได้จำกัดนิยามเพียงแค่ “อาหารปลอดภัย” และ “ความอดอยาก” เพราะอาหารสัมพันธ์กับชุมชนมากกว่าคุณค่าทางโภชนาการ ดังนั้น ความมั่นคงทางอาหารจึงเชื่อมโยงเข้ากับระบบนิเวศชุมชน สิ่งแวดล้อม สัญลักษณ์ วัฒนธรรมและสังคม เป็นต้น โดยสะท้อนออกมาในบริบทความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คนในชุมชน เช่น ภูมิปัญญาในการจัดการดิน น้ำ การเกษตร ความเชื่อในการอนุรักษ์ป่า ประเพณีและพิธีกรรมบางอย่างของชุมชนที่สัมพันธ์กับการเกษตร ฯลฯ (Kuhnlein, 2000; Brigg, 2005)

           จากมุมคิดดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า โลกทัศน์ของคนท้องถิ่นหรือชนเผ่าในการจัดการความมั่นคงทางอาหารของชุมชนประกอบด้วย 2 มิติที่สัมพันธ์กับการเข้าถึงแหล่งอาหาร ทั้งในแง่ของ “ปริมาณ” (Quantity) และ “คุณภาพ” (Quality) กล่าวคือ ชุมชนควรมีแหล่งอาหารทางธรรมชาติที่เพียงพอต่อการเข้าถึง ขณะเดียวกัน ในโลกที่มีการขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจ ผู้คนก็ควรมีรายได้ที่เพียงพอต่อการเข้าถึงอาหารจากแหล่งอื่นอย่างตลาด เป็นต้น

           ประการสำคัญ คนท้องถิ่นหรือชนเผ่ายังมองว่า ชุมชนควรมีระบบการผลิตอาหารทางการเกษตร(agricultural food production) ที่มีคุณภาพ เพราะระบบผลิตอาหารดังกล่าวคือศูนย์รวมของกิจกรรมต่าง ๆ ทางการเกษตรเข้าไว้ด้วยกัน นับจากการวางแผนในการทำการเกษตร การเพาะเมล็ดพันธุ์ การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยวและถนอมผลผลิต ไปจนถึงการกระจายผลผลิตสู่มือผู้บริโภค เป็นต้น

           ตามทัศนะ Maxwell and Slater (2003) มองว่า ปัจจุบัน ระบบผลิตอาหารทางการเกษตรได้เปลี่ยนรูปแบบการดำเนินกิจกรรมจากอดีตเป็นอย่างมาก โดยมีจุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ในราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 เนื่องจากผลพวงของการปฏิวัติเขียว (Green revolution) และการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม (environmental changes) ส่งผลทำให้กรอบในการศึกษาระบบผลิตดังกล่าวต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป (Greetz, 1983) ทั้งนี้ ชุมชนหรือชนเผ่าจะต้องคำนึงถึงว่าจะต้องผลิตอาหารอย่างไรที่ไม่ก่อส่งผลกระทบเชิงลบทางสุขภาพ ทั้งต่อชีวิตตนเอง ครัวเรือน เพื่อนบ้านและระบบนิเวศชุมชน ในแง่ดังกล่าว ภูมิปัญญาในการจัดการระบบผลิตอาหารของชุมชนด้านการจัดการดิน น้ำ สภาวะอากาศ กิจกรรมทางการเกษตรและทรัพยากรทางธรรมชาติ จะสัมพันธ์โดยตรงกับความมั่นคงทางอาหารของชุมชน (Conway & Barbier, 2009)

           จากนิยามข้างต้น ความมั่นคงทางอาหารในมุมมองมานุษยวิทยาจะขยายจากแนวคิดเดิมของ FAO ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมีอยู่ การเข้าถึงและการใช้ประโยชน์ของอาหาร นัยดังกล่าว ความมั่นคงทางอาหารจึงสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของผู้คนในการเข้าถึงอาหารในแง่มีอยู่ (ปริมาณ) และการเข้าถึงอย่างเท่าเทียม ปลอดภัย ยั่งยืน แบ่งปันและมีศักดิ์ศรี (คุณภาพ)

-3-

           กล่าวโดยสรุป ความมั่นคงทางอาหารในมุมมองมานุษยวิทยาจะแสดงให้เห็นองค์ประกอบความมั่นคงทางอาหารในบริบทคนท้องถิ่นหรือชนเผ่า โดยวิเคราะห์จากระดับครัวเรือนและชุมชน รวมถึงจะให้ความสำคัญกับการแหล่งอาหารทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณของระบบการผลิตอาหารชุมชน (Kuhnlein, 2000; Kuhnlein, Erasmus & Spigelski, 2009) เพื่อใช้วิเคราะห์สถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารของชุมชน กล่าวคือ

           ในแง่ปริมาณก็คือสถานการณ์ของการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์ จากระบบการผลิตอาหารของชุมชนอย่างพอเพียงต่อการดำรงชีพของชาวบ้านและชุมชน ส่วนในแง่คุณภาพจะมีนัยยะสำคัญต่อสถานการณ์ระบบการผลิตอาหารอย่างปลอดภัยทำให้ชาวบ้านไม่เสี่ยงต่อปัญหาด้านสุขภาพ เนื่องจากระบบการทำการเกษตรที่ตนเองปฏิบัติ อีกทั้งต้องบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างเหมาะสม รวมถึงระบบการผลิตอาหารต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จนนำไปสู่ความยั่งยืนของระบบห่วงโซ่อาหารและนิเวศชุมชน

           สิ่งที่น่าสนใจความมั่นคงทางอาหารในบริบทความหมายของกลุ่มชนก็คือ จะให้คุณค่ากับมิติทางวัฒนธรรม เช่น สัญลักษณ์และจิตวิญญาณ ดังเห็นจากการตระหนักถึงศักดิ์ศรีที่ชาวบ้านควรมีสิทธิ์ในการเข้าถึงอาหารทางธรรมชาติอย่างเท่าเทียมและมีสิทธิ์ในการครอบครองที่ดินทางการเกษตร หรือแม้กระทั่งศักดิ์ศรีการใช้ชีวิตในฐานะเป็นเกษตรกร ส่วนความยั่งยืน หาใช่เพียงการมีแหล่งผลิตอาหารชุมชนเท่านั้น หากยังรวมถึงการนำภูมิปัญญาที่เป็นทุนทางสังคมมาประยุกต์ให้เข้ากับบริบทใหม่ของชุมชนที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัต เพื่อทำให้องค์ความรู้เกิดการสานต่อ ประการสำคัญ คือ ต้องยึดหลักการแบ่งปัน ไม่ว่าจะเป็นการกระจายอาหารในระดับครัวเรือน ชุมชนและระหว่างหมู่บ้าน ถือเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ (Kuhnlein, Erasmus & Spigelski, 2009)

           ความมั่นคงทางอาหารในมุมมองมานุษยวิทยาจึงหาใช่เพียงเรื่องการมีอาหารเพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ แต่ยังรวมถึงเรื่องภูมิความรู้ จิตวิญญาณ สิทธิ์และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่สัมพันธ์กับระบบผลิตอาหาร


เอกสารอ้างอิง

Berkes, F. (2008). Community Conserved Areas: Policy Issues in Historic and Contemporary Context. Conservation Letters, NY: 1-6.

Brigg, J. (2005). The Use of Indigenous Knowledge in Development: Problems and Challenges Progress in Development Studies, 5 (2): 99-114.

Conway, G. R. and E. B. Barbier. (2009). After the Green Revolution: Sustainable Agriculture for Development. London: Earthscan.

Food and Agriculture Organization of the United Nations (FAO). 2006. Food Security: Policy Brief. Issue 2, June.

Greetz, C. (1983). Agricultural Innovation: The Process of Ecological Change in Indonesia. Berkeley: University of California Press.

Kerr, W.A. (2003). Food Security: Availability, Income and Productivity. UK: Edward Elgar Publishing.

Kuhnlein, H. V. (2000). The Joys and Pains of Sampling and Analysis of Traditional Food of Indigenous Peoples. Journal of Food Composition and Analysis, 13: 649-658.

Kuhnlein, H. V., Erasmus, B., Spigelski, D. (2009). Indigenous peoples' food systems: the many dimensions of culture, diversity and environment for nutrition and health. Food and Agriculture Organization of the United Nations.

Maxwell, S. and R. Slater. (2003). “Food policy old and new,” Development Policy Review, 21,5-6: 531-553.

Pottier, J. (1999). Anthropology of Food: The Soial Dynamics of Food security. NY:John Wiley and Sons.


ผู้เขียน
รศ.ดร.เอกรินทร์ พึ่งประชา
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร


 

ป้ายกำกับ ความมั่นคงทางอาหาร Food security มานุษยวิทยา ภูมิความรู้ จิตวิญญาณ สิทธิ์ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รศ.ดร.เอกรินทร์ พึ่งประชา

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา