กายวิภาควิธีคิด “Traditional ecological knowledge” (ภูมิปัญญาเชิงนิเวศและวัฒนธรรม)

 |  มรดกวัฒนธรรม และภูมิปัญญา
ผู้เข้าชม : 3966

กายวิภาควิธีคิด “Traditional ecological knowledge” (ภูมิปัญญาเชิงนิเวศและวัฒนธรรม)

           Traditional ecological knowledge (TEK) หรือที่ผู้เขียนเรียกว่า “ภูมิปัญญาเชิงนิเวศและวัฒนธรรม” เป็นวิธีคิดที่สืบเนื่องจากผลของการพัฒนาประเทศที่มุ่งสู่ความเป็นอุตสาหกรรม จนส่งผลทำให้ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ในมุมหนึ่งทำให้เกิดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมด้านต่าง ๆ แต่อีกมุมหนึ่งกลับพบปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางธรรมชาติ เช่น การลดลงของพื้นที่ป่า การแย่งชิงทรัพยากรทางธรรมชาติ ทั้งน้ำ ป่าไม้ และที่ดินทำกิน รวมถึงปัญหาสังคมตามมามากมาย เช่น ความอ่อนแอของชุมชนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ การเอารัดเอาเปรียบจากผู้มีอำนาจ ความขัดแย้งกับรัฐ ฯลฯ หลายชุมชนจึงพยายามเรียนรู้และปรับตัว เพื่อลดทอนความรุนแรงของผลกระทบจากการพัฒนาดังกล่าว โดยอาศัยภูมิปัญญาที่เป็นความรู้จากชีวิตจริงและเป็นทุนทางสังคมและวัฒนธรรมเข้ากับการพัฒนาสมัยใหม่ (Menzies, 2006; Nelson, 2021)

           กล่าวได้ว่า หลายชุมชนในสังคมโลกได้เรียนรู้จากการปรับตัว กลั่นกรองและถ่ายทอดเป็นความรู้เพื่อพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน จนทำให้หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ในระดับสากลพยายามศึกษาและค้นคว้านำภูมิปัญญาดังกล่าวสู่การปฏิบัติในแผนการดำเนินงานมากขึ้น (Menzies, 2006) ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่าภูมิปัญญาคือองค์ความรู้ที่มีความหลากหลายและยังช่วยส่งเสริมการใช้ชีวิตของผู้คนในระบบนิเวศให้เกิดสมดุล (Grenier, 1996) ความสำคัญดังกล่าวจึงเป็นที่มาของบทความนี้ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อทบทวนแนวคิดภูมิปัญญาเชิงนิเวศและวัฒนธรรม ทั้งในแง่ความหมาย การสืบทอด และโครงสร้างการทำงานขององค์ความรู้ดังกล่าว
 

-1-


           ภูมิปัญญาเชิงนิเวศและวัฒนธรรมมีนักวิชาการบางส่วนได้นิยามว่ามีความหมายใกล้เคียงและ/หรือละม้ายกับ “คำใหญ่” อย่างภูมิปัญญาท้องถิ่น (Local wisdom) ความรู้ท้องถิ่น (Local knowledge) และภูมิปัญญาชนเผ่า (Indigenous knowledge) ขณะที่ นักวิชาการอีกหลายคนกลับมองว่าภูมิปัญญาดังกล่าวเป็นความรู้ส่วนหนึ่งของ “คำใหญ่” เหล่านี้ (Menzies, 2006) แต่โดยรวมอาจสรุปความได้ว่า ภูมิปัญญาเชิงนิเวศและวัฒนธรรมเป็นความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ของชาวบ้านที่สั่งสมและสืบทอดต่อกันมาจากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง เพื่อแก้ปัญหาและใช้ในการปรับตัวสู่การดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์ ภูมิความรู้นี้จึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของเผ่าพันธุ์ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า ภูมิปัญญาดังกล่าวจะศึกษาเกี่ยวกับความคิดของคนในอดีตเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับศักยภาพของคนรุ่นปัจจุบันในการประสาน “ความรู้เก่า” และ “ประสบการณ์ใหม่” เข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดทางเลือกในการดำเนินชีวิต (Grenier, 1996; Berkes, 2008)

           ดังนั้น ภูมิปัญญาเชิงนิเวศและวัฒนธรรมยุคหนึ่ง ๆ ย่อมมีการแปรเปลี่ยนไปตามความรอบรู้ของผู้คนในสังคมเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทนิเวศและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป ประการสำคัญไม่ใช่ความรู้ที่เกิดขึ้นอย่างลอย ๆ หากแต่เป็นสิ่งที่ก่อกำเนิดภายในระบบนิเวศและวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้น ๆ แล้วพัฒนาอย่างเป็นกระบวนการ เช่น ในระบบนิเวศท้องถิ่นที่อาจมีต้นไม้ พืช สัตว์ แมลง หรือสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นที่สั่งสมและพัฒนากลายเป็นส่วนหนึ่งขององค์ความรู้หรือภูมิปัญญาของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ ภูมิปัญญาเชิงนิเวศและวัฒนธรรมจึงเปรียบเสมือนทรัพย์สินทางปัญญาที่มีคุณค่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (Grenier, 1996: Sanga & Ortalli, 2004)

           แนวคิดเกี่ยวกับภูมิปัญญาเชิงนิเวศและวัฒนธรรมเป็นองค์ความรู้ในเชิงแก้ปัญหา การปรับตัว การเรียนรู้ ตลอดจนการสั่งสมประสบการณ์และสืบทอดอันยาวนานของชาวบ้านอย่างเป็นกระบวนการเพื่อการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์ อย่างไรก็ตาม แม้ภูมิปัญญาจะมีการปรับตัวอยู่เสมอ แต่ไม่อาจดำรงอยู่และสืบต่อได้ หากองค์ความรู้ดังกล่าวถูกตัดขาดจาก “รากเหง้า” ทั้งในด้านของธรรมชาติ สังคมและวัฒนธรรมของบริบทชุมชนนั้น ๆ นัยของ “รากเหง้า” ดังกล่าวจึงสะท้อนให้เห็นที่ไปที่มาขององค์ความรู้ที่เผย “เหตุ” และ “ปัจจัย” ที่ทำให้นิเวศและวัฒนธรรมของชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงแต่ละช่วงเวลา เพื่อทำให้คนในสังคมเกิดการเรียนรู้และจัดการปัญหาได้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน (Nelson, 2021)
 

-2-
 

           จากฐานคิดเบื้องต้นทำให้เห็นว่า ภูมิปัญญาเชิงนิเวศและวัฒนธรรมก่อตัวและพัฒนาได้จำเป็นต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการ (Grenier, 1996) คือ

           ประการแรก การเรียนรู้โดยผ่านการปฏิบัติการทางสังคม เช่น การฝึกฝน การมีส่วนและ/หรือประสบการณ์ร่วม การปฏิบัติ ฯลฯ

           ประการที่สอง รูปแบบการถ่ายทอด เช่น การบอกเล่า ตำนาน บทเพลง จารีต กฎระเบียบ ฯลฯ โดยต้องส่งผ่านรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง

           และประการท้ายสุดคือ ศักยภาพในการปรับตัว ของคนในชุมชนเพื่อนำองค์ความรู้ท้องถิ่นไปสู่การปฏิบัติรูปแบบต่าง ๆ จนผู้คน ชุมชนและสังคมเกิดภาวะยืดหยุ่น (resilience) ในการจัดการต่อปัญหาเปราะบางที่มากระทบกับชุมชน

           ขณะที่ โครงสร้างองค์ความรู้ของภูมิปัญญาเชิงนิเวศและวัฒนธรรมแบ่งได้ 4 ระดับ (Berkes and Folk, 2000) คือ

           1. ชุดความรู้เชิงเทคนิค (ปฏิบัติการ) ในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ

           2. ชุดความรู้ในความเชื่อมโยงของทรัพยากรชีวภาพและกายภาพในระบบนิเวศ เป็นความรู้จากการสังเกตธรรมชาติ สังเกตความสัมพันธ์ของพืช สัตว์ ในระบบนิเวศ ขณะที่เข้าใช้ประโยชน์หรือจัดการ ซึ่งรวมถึงความรู้ต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระบบนิเวศและการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น

           3. ชุดความรู้เชิงการจัดการสถาบันที่กำหนดลักษณะความสัมพันธ์ของคนในสังคมต่อกันเองและต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การเคารพต่อธรรมชาติ การช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสังคม รวมทั้งกฎเกณฑ์ กติกา ค่านิยมต่าง ๆ ในสังคม

           4. ชุดความคิดและความเชื่อที่ควบคุมพฤติกรรมที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติ เป็นการเรียนรู้จากการผลิตซ้ำของผลที่เกิดขึ้นจากการมีปฏิสัมพันธ์แบบต่าง ๆ ต่อสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดความคิดและความเชื่อในการควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคมต่อสิ่งแวดล้อมที่ตนพึ่งพา

           องค์ประกอบทั้งสี่ระดับนี้ไม่ได้แยกขาดจากกัน หากมีการเชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อน รวมถึงยังปรับเปลี่ยนไปตามบริบทนิเวศและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ผ่านกระบวนการเรียนรู้ของชาวบ้านทั้งระดับปัจเจกและระดับชุมชน

           นักวิชาการสายความรู้ชนเผ่า (Riedlinger and Berkes, 2001; Adger et al., 2009) ต่างให้ความสำคัญกับองค์ความรู้ทางนิเวศวิทยาที่เป็นภูมิปัญญาในฐานะองค์ประกอบหลักของกระบวนการทางสังคมที่ก่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงจากภายนอก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพราะองค์ความรู้ทางนิเวศวิทยาเป็นการมองแบบองค์รวม ไม่ได้ละเลยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จึงเอื้อให้เกิดการติดตามการเปลี่ยนแปลงทั้งในสภาพธรรมชาติและผลกระทบอันเกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์

           ดังนั้น การประสานองค์ความรู้จากหลายศาสตร์ ทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นและความรู้จากภายนอก เช่น ทางวิทยาศาสตร์ จึงเป็นการบูรณาการทางความรู้ที่มีส่วนเสริมศักยภาพขององค์ความรู้ทางสังคมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่วิกฤตในโลกยุคปัจจุบันได้มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่ง ด้วยความสำคัญดังกล่าวจึงทำให้แนวคิดภูมิปัญญาเชิงนิเวศและวัฒนธรรมมีส่วนสำคัญต่อการทำความเข้าใจระบบนิเวศของชุมชนที่กำลังเผชิญภาวะวิกฤตนั้นได้ส่งผลต่อวิธีคิดของคนท้องถิ่นว่าจะจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างไรเพื่อให้สมดุลในระบบนิเวศและนำสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Brigg, 2005; Nelson, 2021)
 

-3-
 

           สรุปได้ว่า ภูมิปัญญาเชิงนิเวศและวัฒนธรรมเป็นองค์ความรู้แบบองค์รวมที่เชื่อมโยงมนุษย์เข้ากับระบบนิเวศหรือสิ่งแวดล้อม เกิดเป็นระดับขององค์ความรู้ที่แตกต่างกันและยังสัมพันธ์อย่างซับซ้อนกลายเป็นวัฒนธรรม ส่งผลทำให้องค์ความรู้ดังกล่าวเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีการสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีต โดยอดีตหรือ “รากเหง้า” หาใช่เพียงวิธีคิดของคนในอดีต หากแต่เป็นองค์ความรู้ที่เผยเหตุและปัจจัยที่ทำให้นิเวศและวัฒนธรรมของชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงแต่ละช่วงเวลา เพื่อทำให้คนในสังคมร่วมสมัยเกิดการเรียนรู้และจัดการปัญหาได้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

           ขณะเดียวกัน ภูมิปัญญาเชิงนิเวศและวัฒนธรรมเป็นองค์ความรู้ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตภายใต้บริบททางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะในโลกร่วมสมัย องค์ความรู้ดังกล่าวยังได้รับการยอมรับถึงศักยภาพในการจัดการปัญหาวิฤกตในการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชุมชน (Nelson, 2021) ดังเห็นได้จากหน่วยงานระดับสากลหลายองค์กรได้นำองค์ความรู้ดังกล่าวมาบูรณาการร่วมกับศาสตร์แขนงอื่น เกิดเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการจัดการทรัพยากรและปัญหาต่าง ๆ ในระบบนิเวศของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ


เอกสารอ้างอิง

Berkes, F. (2008). Community Conserved Areas: Policy Issues in Historic and Contemporary Context. Conservation Letters, NY: 1-6.

Berkes, F. and Folk, C (eds). (2000). Linking Social and Ecological Systems: Management Practices and Social Mechanisms for Building Resilience. Cambridge University Press.

Brigg, John. (2005). “The Use of Indigenous Knowledge in Development: Problems and Challenges Progress,” Development Studies, 5 (2): 99-114.

Ember, C. (2011). Human Evolution and Culture: Highlights of Anthropology. NY: Pearson.

Grenier, L. (1998). Working with Indigenous Knowledge, Ottawa: International Development Research Center.

Menzies, C. R. (2006). Traditional Ecological Knowledge and Natural Resource Management. Nebraska: University of Nebraska Press.

Nelson, M. K. (2021). Traditional Ecological Knowledge: Learning from indigenous people for environmental sustainability. Cambridge: Cambridge University Press.

Riedlinger, D. and Berkes, F. (2001). “Contribution of Traditional Knowledge to Understanding Climate Change in the Canada Arctic,” Polar Record 37: 315-328.

Sanga, G. and Ortalli, G (eds.). (2004). Nature Knowledge: Ethnoscience, Cognition, and Utility, New York: Berghahm.


ผู้เขียน
รศ.ดร.เอกรินทร์ พึ่งประชา
คณะโบราณคดี มหาวิทยาศิลปากร


 

ป้ายกำกับ กายวิภาควิธีคิด Traditional Ecological knowledge ภูมิปัญญาเชิงนิเวศ วัฒนธรรม รศ.ดร.เอกรินทร์ พึ่งประชา

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา