มรดกวัฒนธรรมที่ไม่เป็นกายภาพกับพิพิธภัณฑ์ Intangible heritage and the museum

 |  มรดกวัฒนธรรม และภูมิปัญญา
ผู้เข้าชม : 2190

มรดกวัฒนธรรมที่ไม่เป็นกายภาพกับพิพิธภัณฑ์ Intangible heritage and the museum

 

ปริยฉัตร เวทยนุกูล

บรรณารักษ์

ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
 

 

ปกหนังสือมรดกวัฒนธรรมที่ไม่เป็นกายภาพกับพิพิธภัณฑ์ : มุมมองใหม่ในการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม Intangible heritage and the museum : new perspectives on cultural preservation /
มาริเลน่า อลิวิซาโต ผู้เขียน ; เทียมสูรย์ สิริศรีศักดิ์, ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ และ ภัทรภร ภู่ทอง ผู้แปล

 

           มรดกทางวัฒนธรรม (Cultural Heritage) เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาตั้งแต่ในอดีต และได้ตกทอดมาจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง โดยนิยามของมรดกวัฒนธรรมไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะวัตถุ แต่รวมไปถึงความรู้ ความเชื่อ และธรรมเนียมปฏิบัติอื่นๆ ด้วย ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันในหมู่นักวิชาการที่ทำงานเกี่ยวกับมรดกวัฒนธรรมว่ามรดกวัฒนธรรมแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ แบบที่เป็นกายภาพหรือจับต้องได้ (tangible heritage) เช่น โบราณสถาน โบราณวัตถุ แหล่งโบราณคดี งานจิตรกรรม เป็นต้น และแบบที่ไม่เป็นกายภาพหรือจับต้องไม่ได้ (intangible heritage) เช่น ความเชื่อ ความศรัทธา ภาษา งานช่างฝีมือ เป็นต้น แต่ไม่ว่าจะเป็นมรดกวัฒนธรรมใดก็ตาม ล้วนมีทั้งมิติที่เป็นกายภาพและไม่เป็นกายภาพ ยกตัวอย่างเช่น โบราณสถาน แม้โดยทั่วไปจะถูกจัดเป็นมรดกวัฒนธรรมทางกายภาพ แต่ก็มีสิ่งที่ไม่เป็นกายภาพแฝงอยู่ เช่น ความเชื่อ ความศรัทธา เป็นต้น และในทำนองเดียวกัน มรดกวัฒนธรรมที่ไม่เป็นกายภาพ เช่น ประเพณีต่างๆ ก็ยังมีสิ่งที่เป็นกายภาพแฝงอยู่ เช่น เครื่องแต่งกาย เป็นต้น

           แต่ในปัจจุบัน หากต้องการหนังสือที่เกี่ยวข้องกับเรื่องมรดกวัฒนธรรม ดูเหมือนว่าจะมีหนังสือที่เกี่ยวข้องกับมรดกวัฒนธรรมที่เป็นกายภาพวางขายอยู่ในท้องตลาดมากกว่าหนังสือที่เกี่ยวข้องกับมรดกวัฒนธรรมที่ไม่เป็นกายภาพ และหนังสือเล่มนี้ก็เป็นหนึ่งในหนังสือที่เกี่ยวข้องกับมรดกวัฒนธรรมที่ไม่เป็นกายภาพเพียงไม่กี่เล่มที่มีในท้องตลาด ซึ่งเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้มีเป้าหมายเพื่อสำรวจมรดกวัฒนธรรมที่ไม่เป็นกายภาพทั้งในด้านแนวคิดและการนำไปปฏิบัติ โดยใช้ช้อมูลจากการวิจัยภาคสนามในพิพิธภัณฑ์และสถาบันทางมรดกวัฒนธรรมทั้งหมด 5 แห่ง ในภูมิภาคยุโรป อเมริกาเหนือ และแปซิฟิก ซึ่งถูกเลือกมาจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม การเมือง และสังคม แต่ก็มีจุดร่วมคือ ทุกแห่งอยู่ในยุคสมัยอาณานิคม และเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาเชิงวิชาการในช่วงปลายศตวรรษ ที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ได้แก่ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาตินิวซีแลนด์ เทปาปา ทองกาเรวา กรุงเวลลิงตัน (National Museum of New Zealand Te Papa Tongarewa) ศูนย์วัฒนธรรมวานูอาตู (Vanuatu Cultural Centre หรือ VCC) ในพอร์ตวิลา (Port Vila) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอเมริกันอินเดียน (National Museum of the American Indian หรือ NMAI) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และนิวยอร์ก พิพิธภัณฑ์ฮอร์นิแมน (Horniman Museum) ในกรุงลอนดอน และพิพิธภัณฑ์เก บรองลี (Musee du quai branly หรือ MQB) ในกรุงปารีส ดังนั้น พิพิธภัณฑ์เหล่านี้จึงดูแลรักษาวัตถุประเภทคล้ายๆ กัน คือ โบราณวัตถุทางชาติพันธุ์ จึงอาจกล่าวได้ว่าพิพิธภัณฑ์เหล่านี้เป็นพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณา

           ในการทำวิจัยภาคสนามของพิพิธภัณฑ์ทั้ง 5 แห่งนี้ ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อเขียนให้ครบทุกประเด็นของพิพิธภัณฑ์ แต่จะศึกษาในประเด็นที่ว่า แต่ละแห่งใช้แนวคิดมรดกวัฒนธรรมที่ไม่เป็นกายภาพอย่างไร และมีการปกป้องคุ้มครองมรดกนี้อย่างไร ยกตัวอย่างการศึกษาภาคสนามของศูนย์วัฒนธรรมวานูอาตู (Vanuatu Cultural Centre หรือ VCC) ในพอร์ตวิลา เมืองหลวงของเกาะเมลาเนเซียน รัฐวานูอาตู ซึ่งปัจจุบันไม่เพียงแต่ทำหน้าที่พิพิธภัณฑ์ ดูแลวัตถุและ
จัดนิทรรศการเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่ด้านการทำวิจัยระดับนานาชาติและการพัฒนาชุมชนอีกด้วย

 

ศูนย์วัฒนธรรมวานูอาตู
(จาก หนังสือมรดกวัฒนธรรมที่ไม่เป็นกายภาพกับพิพิธภัณฑ์: มุมมองใหม่ในการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม หน้า 107)

 

           ศูนย์วัฒนธรรมวานูอาตู หรือ VCC นี้ โดดเด่นในการสงวนรักษาวัตถุทางวัฒนธรรม รวมถึงการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่ยังมีการปฏิบัติอยู่ หรือที่เรียกกันว่ามรดกวัฒนธรรมที่ไม่เป็นกายภาพ โดย VCC ได้ปรับใช้แนวคิดด้านมรดกวัฒนธรรมที่ไม่เป็นกายภาพ ผสมผสานกับ kastom (วิถีชีวิตดั้งเดิม) และพัฒนาเข้าด้วยกัน ดังนั้น VCC จึงเป็นทั้งพิพิธภัณฑ์ และ nakamal (เรือนชุมนุม) ที่ดำเนินการโดยคนท้องถิ่นเพื่อประโยชน์ของคนท้องถิ่นเอง ซึ่งภายใน VCC จะจัดแสดงวัตถุในตู้กระจกใส พร้อมป้ายคำบรรยาย ยกตัวอย่างวัตถุที่จัดแสดง เช่น ภาพเขียนทรายซึ่ง เอ็ดดี้ ฮินเก วิราเร (Eddie Hinge Virare) นักเขียนทรายชั้นนำ พ่วงตำแหน่งผู้นำชมของ VCC ได้สร้างงานเขียนทรายไว้หลายชิ้นที่นำเสนอถึงพายุ มันเทศ เต่า และความรัก และเล่าตำนานท้องถิ่นเกี่ยวกับความหมายของแต่ละสิ่ง ซึ่งยูเนสโกได้ประกาศให้การเขียนและวาดภาพลงบนพื้นทรายหรือแซนโดรอิ้ง (sandroing) เป็นผลงานชิ้นเอกของมรดกวัฒนธรรมที่ไม่เป็นกายภาพของมนุษยชาติ คณะกรรมการของยูเนสโกมอบรางวัลพิเศษแก่วานูอาตูในฐานะที่ให้การรับรองคุณค่าทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นของภาพเขียนทราย และสนับสนุนพลเมืองวานูอาตูในการอนุรักษ์และคุ้มครองธรรมเนียมปฏิบัติที่มีเอกลักษณ์นี้

 

การจัดแสดงแบบมีปฏิสัมพันธ์ที่ใช้ในงานเขียนทรายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
(จาก หนังสือมรดกวัฒนธรรมที่ไม่เป็นกายภาพกับพิพิธภัณฑ์: มุมมองใหม่ในการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม หน้า 108)

 

           นอกจากภาพเขียนทรายแล้ว ยังมีสิ่งอื่นๆ ที่น่าสนใจได้แก่ รถม้า และธงชาติของนิว เฮบริดีส์ (New Hebrides) ซึ่งประกอบด้วยธงชาติอังกฤษและฝรั่งเศส วัตถุเหล่านี้เป็นตัวแทนยุคอาณานิคมในประวัติศาสตร์ของวานูอาตู รวมไปถึงวัตถุที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดี เช่น เครื่องปั้นดินเผา เครื่องใช้จากหลุมฝังศพของหัวหน้าเผ่า ที่คาดว่าน่าจะเป็นหัวหน้าเผ่า โรอิ มาตา (Chief Roi Mata) ที่ถูกค้นพบโดยนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส นอกจากวัตถุทางโบราณคดีแล้ว ยังมีวัตถุทางชาติพันธุ์วรรณา วัตถุทางพิธีกรรม วัตถุทางประวัติศาสตร์ธรรมชาติ รวมถึงภาพถ่ายและโปสเตอร์กิจกรรมต่างๆ ของ VCC อีกมากมาย ซึ่งทั้งหมดที่นำมาจัดแสดงนั้น ล้วนสะท้อนความหมายของธรรมเนียมปฏิบัติและความสัมพันธ์ของผู้คนกับสิ่งของต่างๆ เหล่านั้นได้เป็นอย่างดี แสดงให้เห็นว่า มรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นกายภาพหรือจับต้องได้ และมรดกทางวัฒนธรรมที่ไม่เป็นกายภาพหรือจับต้องไม่ได้นั้น ไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างชัดเจน

           ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับมรดกวัฒนธรรมหรือพิพิธภัณฑ์จำเป็นต้องเข้าใจแนวคิดเรื่องมรดกวัฒนธรรมที่ไม่เป็นกายภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหนังสือ “มรดกวัฒนธรรมที่ไม่เป็นกายภาพกับพิพิธภัณฑ์: มุมมองใหม่ในการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม” เล่มนี้ จะทำให้ผู้อ่านที่ไม่คุ้นเคยกับแนวคิดได้เข้าใจแนวคิดนี้มากขึ้น และน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้ที่ทำงานด้านมรดกวัฒนธรรมและพิพิธภัณฑ์

 

ผู้สนใจสามารถซื้อหนังสือเล่มนี้ได้ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) หรือสั่งซื้อออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ www.sac.or.th

 

https://sac.or.th/portal/th/publication/cart

 

           หากใครอยากยืมอ่านก่อน สามารถติดต่อได้ที่ห้องสมุดของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร–SAC Library และ Line: @sac-library

 

วันและเวลาให้บริการ

ห้องสมุด ชั้น 7-8 วันจันทร์–ศุกร์ : 08.30–16.30 น. และวันเสาร์ : 09.00–16.00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ วันจันทร์–ศุกร์ : 08.00-18.00 น. และวันเสาร์ : 09.00–17.00 น.

 

 

ผู้เขียน

ปริยฉัตร เวทยนุกูล

บรรณารักษ์ ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ป้ายกำกับ มรดกวัฒนธรรมที่ไม่เป็นกายภาพ IntangibleHeritage พิพิธภัณฑ์ Museum ปริยฉัตร

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share