พลวัตกลุ่มทุนการเมืองในภาคเหนือของประเทศไทย: การเปลี่ยนทุนเศรษฐกิจและวัฒนธรรมให้เป็นทุนการเมือง (พ.ศ. 2475-2560)

 |  รัฐ และวัฒนธรรมอำนาจ
ผู้เข้าชม : 4802

พลวัตกลุ่มทุนการเมืองในภาคเหนือของประเทศไทย: การเปลี่ยนทุนเศรษฐกิจและวัฒนธรรมให้เป็นทุนการเมือง (พ.ศ. 2475-2560)

หนังสือ “พลวัตกลุ่มทุนการเมืองในภาคเหนือของประเทศไทย: การเปลี่ยนทุนเศรษฐกิจและวัฒนธรรม
ให้เป็นทุนการเมือง (พ.ศ. 2475-2560)” โดยชัยพงษ์ สำเนียง มีให้บริการที่ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

 

           หนังสือ “พลวัตกลุ่มทุนการเมืองในภาคเหนือของประเทศไทย: การเปลี่ยนทุนเศรษฐกิจและวัฒนธรรมให้เป็นทุนการเมือง (พ.ศ. 2475-2560)” เขียนโดยชัยพงษ์ สำเนียง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้มีความสนใจประวัติศาสตร์และขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองสมัยใหม่1  จึงได้เขียนหนังสือเล่มนี้ออกมา นอกจากนี้หนังสือเล่มนี้ยังเป็นหนังสือวิชาการลำดับที่ 21 ภายใต้โครงการวิจัยแบบกำหนดหัวข้อเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยในปริทรรศน์ประวัติศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจประวัติศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาคต่าง ๆ และช่วยให้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม โดยอธิบายผ่านการสะสมทุนในภาคเหนือ ซึ่งสามารถนำไปสู่แนวทางการศึกษาในเรื่องทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเชิงลึกต่อไป

 

บทที่ 1: บทนำ

           ในบทนำได้อธิบายวิธีการศึกษาที่มีการเก็บข้อมูลผ่านวิธีการทางประวัติศาสตร์ เช่น การศึกษาหลักฐานชั้นต้น หลักฐานชั้นรอง เอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งจดหมายเหตุ หนังสือ วิทยานิพนธ์ รวมถึงการสัมภาษณ์นักการเมือง พ่อค้าหรือคนท้องในท้องถิ่น เพื่อเข้าใจถึงการเติบโตของกลุ่มทุนในหลายช่วงเวลา และทำความเข้าใจวัตถุประสงค์การศึกษาเรื่องของพลวัตกลุ่มทุนทางการเมืองในภาคเหนือของประเทศไทย ในกระบวนการปรับเปลี่ยน การสะสมทุน และการแปรทุน เช่น กระบวนการความสัมพันธ์ที่ก่อให้เกิดการสะสมทุน โดยอาศัยความสัมพันธ์แบบทุนนิยมที่มีการแข่งขันเพื่อพัฒนาตลาดหรือความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือที่เรียกว่า ระบบอุปถัมภ์ รวมถึงกลุ่มทุนที่เข้ามามีบทบาทผ่านการเลือกตั้งในระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น เพื่อใช้อำนาจทางการเมืองในการขยายฐานธุรกิจ

           บทนำนี้จึงเป็นการชี้แจงจุดประสงค์ในการศึกษาและวิธีที่ใช้ในการศึกษาของหนังสือพลวัตกลุ่มทุนทางการเมืองในภาคเหนือของประเทศไทย เพื่อให้ทำความเข้าใจเนื้อหาก่อนเข้าสู่บทต่อไป

 

บทที่ 2: การเปลี่ยนสถานภาพให้เป็นทุนทางการเมือง

           การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่นำไปสู่การเปลี่ยนสถานภาพต่าง ๆ ในภาคเหนือ ในการเปลี่ยนแปลงเริ่มแรกมีทั้งการเรียนรู้และรับอิทธิพลจากต่างชาติ ผู้คนรู้จักการเขียนคำถวายฎีกา ซึ่งในสมัยนั้นได้มีเสนอให้สังคมเกิดการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองการปกครอง (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, 2540) การเริ่มต้นดังกล่าวเป็นการพัฒนาและเติบโตของคนในสังคม จนทำให้เกิดกลุ่มคนที่หลากหลายความคิดและอาชีพ เรียกว่า “คนชั้นกลาง” ซึ่งกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคมและมีพลังในการเปลี่ยนแปลงการเมือง จนเกิดเป็นการปฏิวัติ 2475 หรือวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่เป็นวันสำคัญสำหรับการสร้างประชาธิปไตยในประเทศไทย เพราะเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ2  ที่สร้างดุลอำนาจของรัฐและสังคมใหม่ สร้างคนให้สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารบ้านเมืองผ่านการเลือกตั้ง

           การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลไปสู่การเปลี่ยนแปลงสถานภาพทุนทางการเมืองในภาคเหนือ คำว่า “ทุน” จึงเป็นสิ่งที่บุคคลได้รับการหล่อหลอมทางสังคม กลายเป็นสมบัติส่วนบุคคลที่สามารถนำไปเพิ่มมูลค่าแก่ตนเองได้ เช่น ความรู้ ความนิยม รวมถึงทรัพย์สินต่าง ๆ ที่อาจไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยตรง แต่สามารถสร้างมูลค่าอื่นได้ เช่น งานศิลปะ หนังสือ3  ในอดีตก่อนการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองกลุ่มเจ้านายและขุนนางเป็นผู้ปกครองหลักของพื้นที่ แต่เมื่อระบอบประชาธิปไตยเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทำให้กลุ่มเจ้านาย ขุนนางที่จะกำลังสูญเสียสถานภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองการปกครอง ได้ปรับสถานะหรือทุนวัฒนธรรมที่เป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมเดิมที่มีเข้าสู่การเมืองระบอบใหม่ โดยเข้าผ่านการเลือกตั้ง เช่น เจ้าหนานบุญมี ตุงคนาคร ที่มีทุนทางสังคมเป็นเจ้านายเชื้อสายราชวงศ์ทิพย์จักรหรือเชื้อเจ็ดตน และมีการศึกษาที่สูงกว่าผู้อื่นในยุคนั้น ทำให้สามารถหาเสียงและชนะการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง ในตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (พ.ศ. 2476) จึงทำให้สามารถปกครองและคงอำนาจได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงสถานภาพทุนทางการเมืองในภาคเหนือไม่จำเป็นต้องเป็นกลุ่มเจ้านายขุนนางเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นผู้ที่มีสถานะดีหรือมั่งคั่ง สะสมทุนทางวัฒนธรรมผ่านการรับราชการ มีความรู้ก็สามารถเข้าสู่ถนนทางการเมืองได้ เช่น หลวงศรีประกาศ (ฉันท์ วิชยาภัย) ที่อาศัยทุนทางสังคม ที่เคยเป็นนายท่าเก่าและมีชื่อเสียงฐานะทนายความ ทำให้ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดเชียงใหม่ (พ.ศ. 2476) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสถานะภาพทั้งหมด ทำให้เกิดการสร้างดุลอำนาจและเปิดโอกาสให้คนหลายกลุ่มได้ขยับฐานะหลายรูปแบบ เช่น กลุ่มนายทุนที่สร้างมูลค่าจากทรัพยากรป่าไม้ การสะสมทุนจากสัมปทานป่าไม้นั้นทำให้เกิดวัฒนธรรมที่เรียกว่าพ่อเลี้ยง เป็นต้น

           ดังนั้นในบทนี้จะกล่าวถึงการเริ่มเปลี่ยนแปลง โดยจุดเปลี่ยนสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งส่งผลไปสู่การเปลี่ยนแปลงสถานภาพทุนทางการเมืองในภาคเหนือ จากกลุ่มเจ้านาย ขุนนาง มีความรู้ ผู้มีฐานะดีอยู่แล้ว ได้เปลี่ยนแปลงสถานภาพของตนเข้าสู่หนทางนักการเมือง เพื่อการคงอำนาจหรือการสร้างอำนาจและเพิ่มผลกำไรให้แก่ธุรกิจของตน

 

บทที่ 3: พัฒนาการกลุ่มทุนการเมืองในภาคเหนือของประเทศไทย

           จากการพัฒนาและเติบโตทางเศรษฐกิจในภาคเหนือ กลายเป็นจุดเริ่มต้นเปิดโอกาสให้คนหลายกลุ่มได้ขยับฐานะ เกิดเป็นกลุ่มนายทุนประเภทต่าง ๆ เช่น นายทุนพาณิชย์กรรมหรือนายทุนอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ต่อมากลุ่มนายทุนดังกล่าวได้แปรทุนทางธุรกิจสู่ทุนทางการเมือง ทำให้กลุ่มนายทุนมีโอกาสเข้าสู่การเมืองและเข้าร่วมมือกับรัฐ ก่อให้เกิดการขยายธุรกิจ หลังจากการเข้าร่วมมือกับทางรัฐกลายเป็นกลุ่มทุนทางการเมือง จึงได้เข้าไปสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อใช้ในการขยายฐานธุรกิจของตน ยกตัวอย่างเช่น ณรงค์ วงศ์วรรณ พ่อเลี้ยงผู้ทรงอิทธิพลและมีบารมี ตระกลูวงศ์วรรณเป็นตระกลูที่เริ่มต้นมาจากการทำป่าไม้ก่อนที่จะขยายมาสู่การค้าใบยาสูบ การค้ายาสูบทำมาหลายช่วงอายุ จนมีทายาทชื่อ อนุวัช วงศ์วรรณ ที่จบการศึกษาวิศวกรรมการเกษตรจากอเมริกา ได้ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ และเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ และมีลูกคนอื่น ๆ เป็นกลุ่มทุนถิ่นเดียวกันที่มาจากพื้นที่โดยตรง การทำธุรกิจเติบโตทางธุรกิจยาสูบมากขึ้นจนกลายเป็นผู้ส่งออกใบยาสูบที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และเขายังจำเป็นต้องส่งญาติลงการเมืองเรื่อย ๆ เพื่อที่จะสามารถกำหนดทิศทางนโยบายของรัฐบาลได้

           ในบทนี้ต้องการกล่าวถึงการสะสมทุนทางการเมือง โดยกลุ่มนายทุนได้เข้าไปร่วมมือกับรัฐ
และกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มทางการเมือง การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการเมืองนั้นทำให้ความสามารถในการขยายธุรกิจมากขึ้น โดยการสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อช่วยการขยายฐานธุรกิจ เช่น กรณีธุรกิจยาสูบของตระกลูวงศ์วรรณ

 

บทที่ 4: แปรฐานเปลี่ยนทุน: การสร้างเครือข่ายของนักการเมือง

           ระบบเศรษฐกิจของทั่วโลกโดยปกติจะเป็นระบบตลาดแบบทุนนิยม แต่สำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะกับทางภาคเหนือมีการสร้างและใช้เครือข่ายที่เกื้อหนุนกัน รวมถึงมีลักษณะการใช้ทุนวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นการใช้ความสัมพันธ์ของคน ความเชื่อ จารีตในท้องถิ่นเข้าไปเป็นทุน ซึ่งส่งผลให้ระบบทุนนิยมของไทย อาจยังไม่ได้เปิดกว้างทำให้เกิดการแข่งขันที่สมบูรณ์ แต่ยังคงใช้ระบบผูกขาดที่อยู่ในความสัมพันธ์ระบบอุปถัมภ์แบบไทย ๆ เช่น กรณีเมธา เอื้ออภิญญกุล หรือพ่อเลี้ยงเมธา ที่ได้ทำธุรกิจยาสูบในตอนแรกเกิดปัญหาในการบ่มใบยากลับได้ความช่วยเหลือจากเพื่อนลูกชาย ทำให้มีทุนที่สามารถจดทะเบียนบริษัทและขยายกิจการในการส่งออกไปยังต่างประเทศ และปี พ.ศ. 2518 พ่อเลี้ยงเมธา ได้เข้าสู่เส้นทางการเมืองจากการทาบทามของพลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ และได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรหรือ ส.ส. เมืองแพร่ เขาได้ดึงงบประมาณมาสร้างอ่างเก็บน้ำมากมาย และใช้ความสนิทกับคนในรัฐบาลเพื่อดึงงบมาพัฒนาพื้นที่ เช่น โครงการก่อสร้างถนนสี่ช่องทางการจราจร นครสวรรค์-พิษณุโลก และพิษณุโลก-อุตรดิตถ์4  เป็นต้น การสร้างรากฐานทางการเมืองของเขา ทำให้ธุรกิจและทายาทประสบความสำเร็จในการทำกิจการจังหวัดแพร่อย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ยังได้มีการเกี่ยวดองในฐานะเขยของตระกูล “กันทาธรรม” ที่เป็นนายทุนและนักการเมืองท้องถิ่น ทำให้เขาสามารถขยายกิจการทั้งทางการเมืองและธุรกิจได้อย่างกว้างขวาง

           จากบทนี้เห็นได้ว่าถึงแม้ประเทศไทยจะอยู่ในระบบทุนนิยมที่ต้องมีการแข่งขันเพื่อการพัฒนาด้านธุรกิจ แต่ในระบบทุนนิยมนั้นก็ยังมีระบบอุปถัมภ์ที่ต้องเข้ามีบทบาทในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ เช่นตัวอย่างกรณีของเมธา เอื้ออภิญญกุล หรือพ่อเลี้ยงเมธา ที่เห็นได้ว่ามีการอาศัยการสร้างเครือข่ายของนักการเมือง ทั้งจากการเข้าไปเป็นนักการเมืองและการให้ทายาทเข้าไปมีความสัมพันธ์กับนายทุนอีกกลุ่ม เพื่อขยายกิจการครอบครัว

 

บทที่ 5: ทุนวัฒนธรรมใหม่กับความสัมพันธ์ทางการเมืองหลายระดับ

           การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เช่น การศึกษาหรือระบอบการปกครอง ทำให้ชนบทไทยนำไปสู่การต่อรองทางการเมือง เพื่อผลักดันกลไกเชิงสถาบันใหม่ ๆ ส่งผลให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมืองและทำให้การเมืองไทยเกิดการตื่นตัวมากขึ้นจากแต่ก่อน แนวความคิดการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยของสังคมไทยถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่อยู่ในกรุงเทพฯ หรือคนเมืองจะถูกมองว่าสามารถเลือกผู้มาบริหารบ้านเมืองในหลักการและเหตุผล คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศได้มากกว่าประโยชน์ส่วนตน และส่วนชนบทถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนยากจน และพึ่งพาตนเองไม่ได้ ทำให้ต้องอาศัยระบบอุปถัมภ์และผู้มีอิทธิพล ในการเลือกตั้งจึงเลือกแลกคะแนนเสียงกับเงิน คนชนบทถูกมองว่าถูกชักจูงหรือเป็นคนเสพติดประชานิยม ซึ่งในความเป็นจริงการเลือกตั้งในชนบทไทยไม่เหมือนในอดีต เนื่องจากมีความเปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่อาชีพ วัฒนธรรม สำนึก ความทรงจำ และอื่น ๆ นอกจากนี้ประชาชนทั่วไปเลือกที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกตั้งเพื่อความสัมพันธ์ทางการเมืองที่มีผลประโยชน์ของตน หรือเข้ามาพัฒนาชุมชนให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น

           สรุปได้ว่าในบทนี้การเปลี่ยนแปลงชนบทไทยที่นำไปสู่การต่อรองทางการเมือง เพื่อผลักดันกลไกเชิงสถาบันใหม่ ๆ คนในเมืองอาจถูกมองว่าเป็นผู้มีเหตุผลในการตัดสินใจเลือกตั้งผู้แทนทางการเมือง ในอีกมุมมองหนึ่งกลับมองว่าผู้คนในชนบทมีการยอมแลกสิทธิการเลือกตั้ง เพื่อให้อยู่ในระบอบอุปถัมภ์ต่อไป ซึ่งในปัจจุบันผู้คนในชนบทได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วและเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งทางการเมือง เพื่ออาศัยความสัมพันธ์ทางการเมืองและสร้างผลประโยชน์ให้แก่ตนทั้งปัจจุบันและอนาคต

 

บทที่ 6: สรุป

           ในบทนี้จะเป็นกล่าวสรุปทั้งหมดในประเด็นของแต่ละเนื้อหาภายในหนังสือ เช่น การเปลี่ยนสถานภาพให้เป็นทุนทางการเมือง ที่กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ทำให้เกิดการเปลี่ยนสถานะภาพ จากเจ้านายหรือขุนนางเป็นผู้แทนทางการเมืองเพื่อคงสถานะภาพการปกครองไว้ พัฒนาการกลุ่มทุนการเมืองในภาคเหนือของประเทศไทย จากปกติที่ตลาดโลกเป็นรูปแบบทุนนิยม สำหรับประเทศไทยก็ยังคงมีเศรษฐกิจในรูปแบบทุนนิยมอยู่ แต่กลับแฝงไปด้วยความสัมพันธ์ในรูปแบบอุปถัมภ์ ทำให้กลุ่มนายทุนนำตัวเองเข้าไปสู่การเมืองเพื่อสามารถกำหนดนโยบายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ธุรกิจของตนได้ แปรฐานเปลี่ยนทุน: การสร้างเครือข่ายของนักการเมือง ที่หลังจากได้เข้าสู่เส้นทางทางการเมืองก็ได้ขยายสร้างเครือข่ายมากขึ้น โดยอาศัยการแต่งงานเพื่อเป็นการเกี่ยวดองกันทางความสัมพันธ์ครอบครัว และทุนวัฒนธรรมใหม่กับความสัมพันธ์ทางการเมืองหลายระดับ ที่กล่าวได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทำให้ผู้คนท้องถิ่นต่างลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งทางการเมืองเพื่ออาศัยความสัมพันธ์และรับประโยชน์แก่ตน

           หนังสือ “พลวัตกลุ่มทุนการเมืองในภาคเหนือของประเทศไทย: การเปลี่ยนทุนเศรษฐกิจและวัฒนธรรมให้เป็นทุนการเมือง (พ.ศ. 2475-2560)” โดยชัยพงษ์ สำเนียง สะท้อนให้เห็นถึงพลวัตการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจภาคเหนือที่มีกลุ่มนายทุนเพิ่มมากขึ้นจากการเติบโตของเศรษฐกิจทางภาคเหนือ การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองทำให้กลุ่มนายทุนสนใจเข้าร่วมกับรัฐแปรเปลี่ยนจากกลุ่มนายทุนธรรมดาเป็นกลุ่มทุนทางการเมือง โดยใช้สิทธิทางการเมืองหรือทุนวัฒนธรรมเช่น ความเชื่อ จารีต ความสัมพันธ์คนในท้องถิ่น เพื่อช่วยขยายกิจการธุรกิจของตน ทำให้ผู้รีวิวหนังสือเล่มนี้ได้ประเด็นสำคัญคือ “การเปลี่ยนแปลงทำให้ผู้คนรู้จักการปรับตัวเพื่อให้สามารถอาศัยอยู่กับระบบนั้นได้” เช่นเดียวกับหนังสือเล่มนี้ที่กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการปฏิวัติ 2475 ทำให้ผู้คนรู้จักการปรับตัว เพื่อให้สามารถอยู่รวมกับระบอบที่เปลี่ยนไปได้ และการเปลี่ยนแปลงนั้นได้พัฒนา ส่งผ่านความรู้ ความเข้าใจ ต่อพลวัตประวัติศาสตร์เศรษฐกิจภาคเหนือเพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจในมิติต่าง ๆ มากขึ้น ดังนั้นแล้วหนังสือเล่มนี้จึงตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการเพิ่มความรู้ทางด้านเศรษฐกิจในสังคมไทยในมิติกลุ่มทุนการเมืองในภาคเหนือของประเทศไทย เรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มทุนต่าง ๆ เพื่อให้สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

           หนังสือพลวัตกลุ่มทุนการเมืองในภาคเหนือของประเทศไทย: การเปลี่ยนทุนเศรษฐกิจและวัฒนธรรมให้เป็นทุนการเมือง (พ.ศ. 2475-2560) และหนังสือทุนวัฒนธรรมอื่น ๆ มีพร้อมให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fan page: ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-library


1  ชัยพงษ์ สำเนียง, “ชัยพงษ์ สำเนียง,” บริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด, สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม, 2565, https://www.the101.world/author/chaipong/

2  วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, “คณะราษฎรเผยสาเหตุ ‘ปฏิวัติ 2475’ ปฐมบทจากความเสื่อมโทรมของระบอบสมบูรณาฯ ?,” สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม, 2565, https://www.silpa-mag.com/history/article_49539

3  ปิแยร์ บูร์ดิเยอ. (2550). เศรษฐกิจของทรัพย์สินเชิงสัญลักษณ์. กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ. 2550, หน้า 113

4  ชัยพงษ์ สำเนียง. (2562). พลวัตกลุ่มทุนการเมืองในภาคเหนือของประเทศไทย: การเปลี่ยนทุนเศรษฐกิจและวัฒนธรรมให้เป็นทุนการเมือง (พ.ศ. 2475-2560). เชียงใหม่: สถาบันวิจัยเชียงใหม่, 2562, หน้า 116


รีวิวโดย

วรินกานต์ ศรีชมภู

เจ้าหน้าที่บริการสารสนเทศ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ พลวัต กลุ่มทุน การเมือง ภาคเหนือ ประเทศไทย ทุนเศรษฐกิจ ทุนวัฒนธรรม ทุนการเมือง วรินกานต์ ศรีชมภู

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา