ลิซ่า Rockstar กับการทับซ้อนระหว่างศูนย์กลางและชายขอบ

 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้เข้าชม : 3496

ลิซ่า Rockstar กับการทับซ้อนระหว่างศูนย์กลางและชายขอบ

           ลิซ่า หรือลลิษา มโนบาล ศิลปินไทยวัย 27 ปี ชาวจังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีโอกาสไปฝึกร้องฝึกเต้นที่ประเทศเกาหลีใต้ในปี พ.ศ. 2554 จนได้รับคัดเลือกให้เป็นศิลปินในนาม Blackpink สังกัดวายจีเอนเตอร์เทนเมนต์ ซึ่งเป็นกลุ่มศิลปินหญิง 4 คน คือ จีซู, เจนนี, โรเซ และ​ลิซ่า และมีผลงานครั้งแรกในซิงเกิลอัลบั้มสแควร์วัน ในปี พ.ศ.2559 ได้รับรางวัลศิลปินหน้าใหม่แห่งปีในปี พ.ศ.2560 จนถึงปี พ.ศ.2563 Blackpink ออกสตูดิโออัลบั้มชุดแรก ดิอัลบั้ม และประสบความสำเร็จทั่วโลก ในปี พ.ศ.2564 ลิซ่าเป็นศิลปินเคป็อปคนแรกที่มีผู้ติดตามในอิสตาแกรมถึง 50 ล้านคนในเดือนเมษายน พ.ศ.2564 ลิซ่าออกผลงานเดี่ยวครั้งแรกชื่อเพลง “ลลิษา” มิวสิกวิดีโอเพลงนี้กลายเป็นวิดีโอของศิลปินเดี่ยวที่มีผู้ชมมากที่สุดภายใน 24 ชั่วโมง และเป็นอัลบั้มที่มียอดขายสัปดาห์แรกสูงที่สุดของศิลปินหญิงเกาหลี รวมทั้งเพลงนี้ยังได้รับรางวัลเอ็มทีวีวิดีโอมิวสิกอะวอดส์และเอ็มทีวียุโรปมิวสิกอะวอดส์ สาขาเคป็อปยอดเยี่ยม ในปี พ.ศ.2566 กระทรวงวัฒนธรรมมอบรางวัลผู้นำพลังศรัทธาเสริมคุณค่าวัฒนธรรมไทยให้แก่ลิซ่า ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 ลิซ่าตั้งค่ายเพลงเป็นของตนเองในชื่อ แอลลาวด์ (Lloud) และร่วมงานกับบริษัทเพลงอเมริกัน RCA Records ผลิตเพลงซิงเกิลแรกชื่อ Rockstar เผยแพร่ในวันที่ 28 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา

           เนื้อเพลง Rockstar เกี่ยวกับผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นนักร้องเพลงร็อค (I'm a rockstar) ที่ต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น ๆ ร้องเพลงและเต้นไปพร้อมกับเธอ ไม่ว่าเธอจะอยู่ที่ไหน เธอก็จะเป็นพลเมืองของทุกที่ ชีวิตของเธอโลดแล่นไปในเมืองใหญ่ที่ไม่หยุดนิ่ง เนื้อหาสะท้อนตัวตนของลิซ่าที่ต้องการอิสระและรักในการร้องและเต้น โดยเฉพาะความสำนึกในบ้านเกิด ลิซ่าเลือกเยาวราชและโรงหนังออสการ์ ถนนเพชรบุรีเป็นสถานที่ถ่ายทำมิวสิกวิดีโอ และใช้นักเต้นที่เป็นคนไทยทั้งหมด ในแง่ของสถานที่จะพบว่าเยาวราชคือย่านชุมชนจีนและเป็นแหล่งค้าขายที่เก่าแก่ของกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่คนจีนย้ายเข้ามาตั้งรกรากในช่วงรัชกาลที่ 1 รู้จักในนามชุมชนสำเพ็ง (คาดว่าเพี้ยนเสียงมาจากชื่อวัดสามเพ็ง หรือคำว่าสามแพร่ง) (Van Roy, 2007; สุภางค์ จันทวานิช, 2559) เมื่อรัชกาลที่ 5 สร้างถนนเยาวราชในปี พ.ศ.2434 ถึงปี พ.ศ.2443 (เดิมชื่อถนนยุพราช) ในช่วงเวลานั้นคนจีนที่อพยพเข้ามาอาศัยในสำเพ็งมีความขัดแย้งกับคนไทย จนกระทั่งในปี พ.ศ.2489 รัชกาลที่ 8 และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชดำเนินในเยาวราช ทำให้ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนไทยกับคนจีน (รักชาติ ผดุงธรรม, 2550) ปัจจุบันลูกหลานจีนในเยาวราชหลายคนเป็นผู้มีบทบาททางสังคมและมีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจไทย เยาวราชจึงเป็นศูนย์กลางของการค้าขายและการผสมผสานทางวัฒนธรรม

           พื้นที่เยาวราชเป็นพื้นที่เชิงการเมือง มีกลุ่มคนต่างวัฒนธรรมเข้ามาใช้ประโยชน์ นอกจากคนจีนแล้วยังพบแรงงานข้ามชาติเข้ามาเป็นแรงงาน ทั้งเมียนมา กัมพูชา ลาว รวมทั้งกลุ่มทุนจีนที่เข้ามาทำธุรกิจผิดกฎหมาย (ผู้จัดการออนไลน์, 2566) ขณะเดียวกัน ในอดีตเยาวราชยังเป็นร่องรอยของความขัดแย้งระหว่างคนจีนอพยพกับคนไทย ความไม่ลงรอยระหว่างความเป็นไทยกับความเป็นจีน ชาวจีนในเยาวราชถูกควบคุมตรวจสอบจากรัฐราชการไทย ทำให้คนจีนต้องต่อรองและปรับตัวเข้ากับกฎเกณฑ์ของผู้ปกครอง ความรู้สึกของคนจีนจึงมีทั้งหวาดระแวงและความรังเกียจคนไทย นอกจากนั้น ยังเป็นพื้นที่ชายขอบของกลุ่มนักเลงโรงฝิ่น นักเล่นพนัน และโสเภณี (ปิยนาถ บุนนาค, 2559) มีคำพูดที่เสียดสีผู้หญิงที่ขายบริการทางเพศในย่านสำเพ็ง ถือเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยาม หญิงสำเพ็งจึงเป็นหญิงชั้นต่ำ พื้นที่ในตรอกในซอยที่มีโคมเขียวแขวนอยู่จะเป็นที่รู้กันว่านั่นคือซ่องโสเภณี เช่น ตอกน่ำแช (สันต์ สุวรรณประทีป, 2525) ย่านเยาวราชและสำเพ็งจึงเป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างย่านการค้าที่เจริญกับย่านโลกีย์ ยาเสพติด และความรุนแรงของการขายบริการทางเพศกับนักเลงที่คุมซ่อง โรงฝิ่นและบ่อนการพนัน

           โรงหนังออสการ์หรือศูนย์กลางค้าออสการ์ ถนนเพชรบุรีซอย 39 เคยเป็นแหล่งรวมตัวของวัยรุ่นและแหล่งค้าขายเสื้อผ้าและอาหาร มีโรงภาพยนตร์ที่เคยฉายหนังต่างประเทศที่มีชื่อเสียง ฝั่งตรงข้ามเป็นลานสเก็ตน้ำแข็ง บริเวณใกล้เคียงกับโรงหนังจะเป็นอาบ อบ นวด ชื่อวิลันดา ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นเอ็มบาสซี่ ด้านหลังโรงหนังจะเป็นที่พักของผู้หญิงที่ทำอาชีพขายบริการทางเพศ จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงธุรกิจโรงภาพยนตร์ทำให้โรงหนังออสการ์ปิดตัวในปี พ.ศ.2523 ในอดีตถนนเพชรบุรีเป็นถนนที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อสร้างในปี พ.ศ.2448 เดิมชื่อถนนประแจจีน และเปลี่ยนชื่อเป็นถนนเพชรบุรีในสัมยรัชกาลที่ 6 ตามพระนามทรงกรมของสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร จนถึงปี พ.ศ.2506 มีการตัดถนนเพชรบุรีต่อไปจากแยกประตูน้ำจนถึงซอยสุขุมวิท 71 ความยาว ถนนช่วงนี้จึงได้ชื่อว่าถนนเพชรบุรีตัดใหม่ (กนกวลี ชูชัยยะ, 2548; ธงทอง จันทรางศุ, 2561) ในช่วงเวลานั้น โรงหนังออสการ์และบริเวณใกล้เคียงคือศูนย์กลางของวัยรุ่นในทศวรรษ 2510-2520 ถือเป็นความทันสมัยแบบตะวันตกและเป็นแหล่งรวมของความบันเทิงหลายชนิด แต่หลังทศวรรษ 2520 โรงหนังออสสการ์และแหล่งบันเทิงในย่านนี้ค่อย ๆ ร่วงโรยและปิดตัวไป

           กลุ่มคนที่ปรากฎอยู่ในมิวสิกวิดีโอ Rockstar ยังมีช่างสักลายและหญิงข้ามเพศ กลุ่มคนที่สังคมมักมองรูปลักษณ์ภายนอกเป็นคนที่น่ากลัวและแปลกประหลาด เสมือนเป็นคนชายขอบของสังคม ในอดีตผู้ชายไทยภาคกลาง วัฒนธรรมล้านนาและอีสาน รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ทางภาคเหนือมีการสักยันต์ที่ลงอาคมบริเวณร่างกายเพื่อให้เกิดการปกป้องคุ้มครองจากอันตราย แคล้วคลาด และเมตตามหานิยม (พูนทรัพย์ โพธิ์พันธุ์, 2549) ปัจจุบัน การสักบนร่างกายอาจตอบสนองเรื่องความสวยงามและรสนิยมส่วนบุคคล ในกลุ่มวัยรุ่นและนักเรียนช่างอาจมีการสักยันต์เพื่อแสดงความเป็นตัวตน เครื่องเตือนใจ ความทรงจำ ความผูกพัน และความกล้าหาญ อย่างไรก็ตาม ผู้ใหญ่มักจะไม่ชอบให้ลูกหลานของตนมีรอยสัก เพราะคิดว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงานหรือคนจะเข้าใจผิดว่าเป็นนักเลงและคนไม่ดี (สุธิดา แซ่อึ้ง, 2558)

           ในมิวสิกวิดีโอ จะเห็นช่างสักลายปรากฎอยู่ ได้แก่ โต้ง สักลาย (วัชรากร สมนา) และบาส ตัวลาย รวมทั้งกลุ่มคนที่มีลายสักได้รับเชิญเข้ามาแสดง ถือเป็นการเปิดให้สังคมเห็นชีวิตของคนสักลายที่มักจะถูกมองแง่ลบ นอกจากนั้นยังมีกลุ่มฮาเลย์ชลบุรี นำรถฮาเลย์มาร่วมแสดงด้วย คนกลุ่มนี้ล้วนมีการสักลายที่ลำตัวและแขนขาเช่นกัน ภาพลักษณ์ของคนขับมอเตอร์ไซค์ในสังคมไทยมักจะผูกโยงกับแก็งค์เด็กแว้น หรือเด็กที่ชอบซิ่งมอเตอร์ไซค์เสียงดังตามท้องถนน ทำให้เกิดความรำคาญต่อสาธารณะ ภาพลักษณ์นี้ถูกตีตราเป็นเหมือนเด็กเลว เป็นคนก่อความวุ่นวาย ทำลายกฎระเบียบของสังคม แก๊งค์มอเตอร์ไซค์และคนสักลายจึงเหมือนคนชายขอบของสังคม เป็นกลุ่มคนที่สังคมไม่ยอมรับ ในการนำกลุ่มคนเหล่านี้มาแสดงในมิวสิกวิดีโอจึงเป็นการท้าทายระเบียบกฎเกณฑ์ที่สังคมคุ้นเคย

           เช่นเดียวกับคนข้ามเพศ ศรีดาโคตร คชิสรา หรือหมอบรูซ เป็นแพทย์ที่เป็นคนข้ามเพศและเคยได้รับตำแหน่งรองอันดับ 1 มิสทิฟฟานี่ในปี พ.ศ.2567 ปัจจุบันเธอทำงานเป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปและนักเพศวิทยาคลินิก (TNN, 2567) ในสังคมไทยอาชีพแพทย์ถือเป็นอาชีพที่มีเกียรติและได้รับการเคารพยกย่อง แพทย์มีบทบาทมากในการขับเคลื่อนความรู้ทางสุขภาพและเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญก้าวหน้า ในขณะที่กะเทย สาวประเภทสอง หญิงข้ามเพศ สังคมมักจะมองเป็นกลุ่มคนที่ต่ำต้อยไร้ศักดิ์ศรี ถูกเหยียดหยาม บางครั้งถูกตีตราในเชิงลบ เช่นกะเทยเป็นคนที่อารมณ์ปรวนแปรหรือหมกมุ่นในเรื่องเซ็กส์ แต่ในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา กะเทยและสาวประเภทสองจำนวนมากแสดงความรู้ความสามารถและได้รับการยอมรับ เช่นหมอบรูซ ทำให้ภาพด้านลบในอดีตค่อย ๆ เปลี่ยนไปในเชิงบวกมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีหญิงข้ามเพศอีก 2 คน คือชินนี่ แบงค็อก ชินวัตร พรมศรี Miss Trans Thailand 2023 และ กี้ รินทร์ณิญา พุฒิโภคินลักษณ์ ผู้เข้ารอบ 10 คนสุดท้ายในการประกวดMiss Tiffany's Universe ปี พ.ศ.2567 หญิงข้ามเพศทั้งสามคนปรากฎตัวในภาพลักษณ์ของสาวสวยที่น่าค้นหาและแฝงไว้ด้วยความลึกลับ

           เรื่องราวของคนและสถานที่ที่ปรากฎในมิวสิกวิดีโอ Rockstar ของลิซ่า กำลังนำเสนอและบอกเล่าภาพอีกด้าหนึ่งของสังคมไทย สวนทางกับกระแสการท่องเที่ยวแบบรัฐไทยและการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอล์ฟพาวเวอร์แบบฉาบฉวยซึ่งตอกย้ำแต่เพียงพื้นที่เยาวราชเป็นย่านอาหาร street food และการค้าขาย โดยไม่พูดถึงความหลากหลายของชีวิตคนชนชั้นล่างและแรงงานข้ามชาติ และประวัติศาสตร์ที่เคยเป็นบ่อนพนัน โรงฝิ่นและซ่องโสเภณี ภาพในมิวสิกวิดีโอกำลังจำลองความทรงจำในอดีตโดยการนำเสนอร่องรอยและความรู้สึกคล้ายบ่อนพนันและกลุ่มนักเลงในแววตาของช่างสักและแก๊งค์ฮาเลย์ กำลังถ่ายทอดอารมณ์ของหญิงขายบริการหรือหญิงโคมเขียวผ่านสีหน้าท่าทางของกะเทยและหญิงข้ามเพศ นัยยะซ่อนเร้นเหล่านี้มิได้พูดอย่างตรงไปตรงมา แต่เคลือบอยู่ในบรรยายค่ำคืนและแสงสีเสียงของป้ายโฆษณาและฮาเลย์ หากมองในเชิงศิลปะอาจตีความถึงบรรยากาศของดนตรีร็อคที่มีความดุดันสนุกสนาน บรรยากาศแบบนี้หลายคนอาจนึกถึงฉากในภาพยนตร์แนวไซไฟ หรือ cyberpunk แบบตะวันตกที่ต้องการสื่อเรื่องราวของเทคโนโลยี เครื่องจักรกล หุ่นยนต์ที่อยู่ร่วมกับมนุษย์ในยุคที่สังคมตกต่ำและมีความปั่นป่วนวุ่นวาย (Graham, 2004)

           บรรยากาศอึมครึมในมิวสิกวิดีโอ Rockstar ยังสะท้อนโลกทัศน์ของลิซ่าที่เป็นศิลปินไทยที่มีโอกาสเป็นนักร้องในวงการเพลงเกาหลี ซึ่งมีอิทธิพลต่อดนตรีโลกในช่วงทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา จนเธอประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียง แต่ท่ามกลางอาชีพนักร้องของลิซ่า เธออยู่ภายใต้กฎระเบียบของบริษัทวายจีเอนเตอร์เทนเมนต์ซึ่งมิได้ให้อิสระแก่ศิลปิน โดยเฉพาะเมื่อลิซ่ามีชื่อเสียงมากกว่าศิลปินเกาหลีในวง Blackpink คนอื่น ทำให้บริษัทรู้สึกตะขิดตะควงใจที่จะสนับสนุนศิลปินต่างชาติที่มิใช่ “เลือดเกาหลี” ความรู้สึกนี้ทำให้ลิซ่าปลดปล่อยตนเองอย่างเต็มที่ในเพลง Rockstar หลังจากที่มิวสิกวิดีโอเพลงนี้เผยแพร่แล้วและมีจำนวนคนเข้าชมใน 24 ชั่วโมงสูงถึง 34.2 ล้านครั้ง แซงหน้าเพลง Fortnight ของเทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่เคยมีคนเข้าชมใน 24 ชั่วโมง จำนวน 19.5 ล้านครั้ง ชาวเกาหลีบางคนออกมาวิจารณ์ว่าเป็นเพียงเพลงที่ได้รับความนิยมในไทยเท่านั้น มิใช่เพลงที่ทั่วโลกสนใจ บางคนคิดว่าเพลง Rockstar ดังไม่เท่าเพลงของ Blackpink (MGRonline, 2567)

           ถึงแม้ลิซ่าจะเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงระดับโลก แต่ในความเป็นคนเอเชียที่มาจากประเทศเล็ก ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ลิซ่ามีคุณลักษณะทับซ้อนกันระหว่างความเป็นสากลและความเป็นท้องถิ่น เมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยในฐานะเป็นชายขอบของประเทศมหาอำนาจ ลิซ่าก็กำลังนำความเป็นชายขอบของไทยไปอยู่ในพรมแดนศูนย์กลางอำนาจของธุรกิจเพลงระดับโลก ชาวตะวันตกจึงกำลังมองลิซ่าในสองมิติทั้งความเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงและมีคนติดตามจำนวนมาก กับความเป็นท้องถิ่นเอเชียที่มีวัฒนธรรมเป็นเครื่องดึงดูดสำหรับนักท่องเที่ยว ชาวตะวันตกบางคนมองว่าความสามารถที่โดดเด่นของลิซ่าคือการร้องเพลงแร็พและเต้นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่เนื้อหาของเพลง Rockstar อาจเป็นเรื่องส่วนตัวมากเกินไป ทำให้ชาวตะวันตกไม่เข้าใจและเข้าไม่ถึง นักวิจารณ์เพลงบางคนคิดว่าเนื้อหาของเพลงพูดเรื่องซ้ำเดิมมากเกินไป บางคนคิดว่าทำนองเพลงไม่แตกต่างจากเพลงแนวแร็พทั่วไป (thebiaslist, 2024) อย่างไรก็ตามผู้ชมมิวสิกวิดีโอเพลง Rockstar ต่างชื่นชอบบรรยากาศและการเต้นของลิซ่า

           มิวสิกวิดีโอ Rockstar เป็นผลงานที่บรรดาแฟนคลับชาวไทยต่างชื่นชอบและยกย่องว่าเป็นผลงานระดับโลก คนจากหลากหลายวงการทั้งนักการเมือง ศิลปิน นักแสดง พิธีกร นักข่าว นักธุรกิจ นักวิชาการ และสื่อมวลชน พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าลิซ่าเป็นแม่ทัพซอล์ฟพาวเวอร์ของไทย สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย สนับสนุนให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไทย หน่วยงานต่าง ๆ พยายามยกย่องว่าลิซ่าเป็นแบบอย่างที่ดีของเยาวชน ลิซ่าเป็นผู้ที่รักบ้านเกิดไม่ลืมความเป็นไทย ข้าราชการและนักการเมืองกระตือรือร้นที่จะพัฒนาเยาวราชให้ดีขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เสียงชื่นชมอย่างล้นหลามมาจากความรู้สึกที่ว่าลิซ่าคือตัวแทนของความเป็นไทย ในอีกด้านหนึ่ง เรื่องราว สถานที่และคนในมิวสิกวิดีโอ Rockstar กำลังเสนอภาพชีวิตของคนชายขอบและการอยู่นอกระเบียบกฎเกณฑ์ แม้แต่ตัวลิซ่าเองที่เป็นชายขอบของศิลปินเกาหลีและเคยถูกดูหมิ่นมาก่อน เรื่องราวเหล่านี้เป็นความหมายแฝงที่ลิซ่ามิได้พูดอย่างตรงไปตรงมา เสมือนเป็นทั้งการเสียดสีวงการแฟนคลับเกาหลี เสียดสีและลบภาพลักษณ์สวยงามของไทย โดยนำชีวิตของคนสักลายและคนข้ามเพศมาเปิดเผยพร้อมกับคำถามในใจที่ว่า “สังคมไทยอยู่กับคนชายขอบและความไร้ระเบียบ” มาช้านานแล้ว “พวกคุณจะอยู่กับคนเหล่านี้ด้วยความคิดและความรู้สึกอย่างไร” สังคมโลกคิดอย่างไรกับคนธรรมดาที่ไร้อำนาจที่มีมากมายในสังคม โดยไม่เห็นแต่วัดพระแก้ว ไอคอนสยาม พัทยา หรือน้ำทะเลที่เกาะสมุยและภูเก็ต

เอกสารอ้างอิง

กนกวลี ชูชัยยะ. (2548). พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม. กรุงเทพมหานคร: ราชบัณฑิตยสถาน.

ธงทอง จันทรางศุ. (2561). วานนี้ที่สุขุมวิท. กรุงเทพฯ: มติชน.

ปิยนาถ บุนนาค. (2559). สำเพ็ง ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

พูนทรัพย์ โพธิ์พันธุ์. (2549). การศึกษาเรื่องการสักของคนไทยสมัยอยุธยาถึงรัชกาลที่ 5 (พ.ศ.1893-2453). วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์. มหาวิทยาลัยศรีนครินทริโรฒ.

ผู้จัดการออนไลน์. (2566). รมว.แรงงานสั่งกกจ. ลุยเยาวราช จับแรงงานต่างด้าวแย่งงานคนไทย. ลืบค้นจาก https://mgronline.com/politics/detail/9660000010194 เข้าถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2567

รักชาติ ผดุงธรรม. (2550). เบื้องหลังกรณีสวรรคต รัชกาลที่ 8. กรุงเทพฯ : บางกอกบุ๊ค.

สันต์ สุวรรณประทีป. (2525). “ลำเลิกอดีต,” ศิลปวัฒนธรรม, 3(5) มีนาคม 2525.

สุธิดา แซ่อึ้ง. (2558). การสื่อสารความหมายผ่านรอยสักของวัยรุ่นไทย. วิทยานิพนธ์ นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ.

Graham, S. (2004). The Cybercities Reader. London: Routledge.

MGRonlin. (2567). เลิกเหยียดกี่โมง? ส่องดราม่าเกาหลีวิจารณ์ “ลิซ่า” หลังบอกปังแค่ในไทย เจอโต้กลับอย่าอิจฉาเพียงเพราะดังกว่าคนของประเทศตัวเอง. สืบค้นจาก https://mgronline.com/entertainment/detail/9670000056115 เข้าถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2567

Sanook. (2567). รู้จัก "นิวเวิลด์ บางลำพู" ห้างร้างในตำนาน คาดใช้เป็นสถานที่ถ่าย MV เพลงใหม่ของ "ลิซ่า" สืบค้นจาก https://www.sanook.com/news/9441378/ เข้าถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2567

Sanook. (2567). รู้จัก "โรงหนังออสการ์" ซอยหนังผีในตำนาน สู่โลเคชั่น MV Rockstar ของ ลิซ่า (LISA). สืบค้นจาก https://www.sanook.com/news/9465442/ เข้าถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2567

Studwell, W.E. & Lonergan, D.F. (1999). The Classic Rock and Roll Reader: Rock Music from its Beginnings to the mid-1970s. Abingdon: Routledge.

The Biaslist. (2024). Song Review: Lisa (BLACKPINK) – Rockstar. สืบค้นจาก https://thebiaslist.com/2024/06/27/song-review-lisa-blackpink-rockstar/ เข้าถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2567

TNN. (2567). ส่องประวัติ หมอบรูซ แพทย์สตรีข้ามเพศ ใน MV เพลงใหม่ลิซ่า. สืบค้นจาก https://www.tnnthailand.com/news/socialtalk/169196/ เข้าถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2567

Van Roy, E. (2007). Sampheng: Bangkok's Chinatown Inside Out. Bangkok: Asian Studies Institute of Chulalongkorn University.


ผู้เขียน
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ลิซ่า Rockstar การทับซ้อน ศูนย์กลาง ชายขอบ ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา