การเคลื่อนไหวอาหารท้องถิ่น (The local food movement) “สะพาน” เชื่อมโยงภาวะอยู่ดีมีสุขให้ชุมชน

 |  พื้นที่ การอพยพเคลื่อนย้าย และชายแดน
ผู้เข้าชม : 2670

การเคลื่อนไหวอาหารท้องถิ่น (The local food movement) “สะพาน” เชื่อมโยงภาวะอยู่ดีมีสุขให้ชุมชน

           การเคลื่อนไหวอาหารท้องถิ่น (The local food movement) มีนัยสำคัญเพื่อสนับสนุนความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างเกษตรกรหรือผู้ผลิตอาหารกับผู้บริโภค และส่งเสริมให้ผู้บริโภคเข้าถึงแหล่งอาหารที่สดใหม่และใกล้กับชุมชนซึ่งอาจจะผลิตโดยไม่ใช้และ/หรืออาจใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีทางการเกษตรอย่างเหมาะสม ประการสำคัญยังสร้างความเป็นชุมชน โดยใช้ “อาหารท้องถิ่น” เป็นสะพานเชื่อมโยงภาวะอยู่ดีมีสุข (Well-being) ให้สมาชิกในชุมชน

           ปัจจุบัน เราจึงเห็นปรากฏการณ์ที่ชุมชนนำอาหารท้องถิ่นมาขับเคลื่อนในมิติต่าง ๆ อาทิ จากฟาร์มสู่โต๊ะอาหาร (Farm to table) , สวนในเมือง (Urban gardening) ที่สื่อถึงการสร้างสวนในเมืองโดยตรงและสื่อถึงการปันพื้นที่ที่ไม่ใช้ประโยชน์มาสร้างเป็นแหล่งอาหารของชุมชน, ตลาดอาหารท้องถิ่น, การผลิตอาหารของเกษตรกรป้อนสู่โรงเรียนและโรงพยาบาลท้องถิ่น และการเกิดขึ้นของเว็บไซต์อาหารท้องถิ่นเพื่อให้ลูกค้าเชื่อมต่อกับผู้ปลูกอาหารในท้องถิ่นจนเกิดกระแสนิยมบริโภคอาหารท้องถิ่นหรือ “Locavores” เป็นต้น

           บทความนี้เป็นการสำรวจเบื้องต้นเกี่ยวกับพัฒนาการทางความคิดการเคลื่อนไหวอาหารท้องถิ่น การให้นิยามและคุณูปการสำคัญของการขับเคลื่อนของอาหารท้องถิ่นดังกล่าว

-1-

           การเคลื่อนไหวอาหารท้องถิ่นมีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตทางการเกษตรทำให้ได้ผลผลิตปริมาณมากในช่วงศตวรรษที่ 20 ประกอบกับเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ทำให้ภาครัฐดำเนินนโยบายการเพิ่มเงินอุดหนุนเพื่อพยุงราคาสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าว แต่ผลลัพธ์สุดท้าย บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอาหารกลับได้รับประโยชน์ในการกว้านซื้อผลผลิตราคาเกษตรที่ตกต่ำแล้วนำแปรรูปและบรรจุหีบห่อก่อนนำไปขายแก่ผู้บริโภคในราคาที่สูง (Francis, 2010)

           นโยบายดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและเกษตรกรในสหรัฐอเมริกา 2 ประการ กล่าวคือ 1) ผู้บริโภคเกิดความคิดที่จะไม่ซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ เพราะมองว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบของบริษัทขนาดใหญ่ด้านธุรกิจอาหาร และ 2) เกษตรกรท้องถิ่นขายผลิตผลให้กับผู้บริโภคโดยตรง เช่น สหกรณ์อาหารของชุมชนและตลาดชุมชน เป็นต้น (Hooper, 2021)

           จนกระทั่งช่วงรอยต่อทศศตวรรษที่ 1990 กระแสวัฒนธรรมนิยม (Pop culture) ได้ผสานเข้ากับกระแสการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) ในเมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา มีการถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาผ่าน “สื่อ” ต่าง ๆ ถือเป็นตัวเร่งสำคัญทำให้อาหารท้องถิ่นกลายเป็นกระแสใน “สหรัฐอเมริกา” และ “โลก” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการบริโภคอาหารท้องถิ่นที่ทำให้เกิด “ระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน” นับจากต้นน้ำผู้ผลิต กลางน้ำผู้ขาย สู่ปลายน้ำผู้บริโภค และหลังจากนั้น การเคลื่อนไหวอาหารท้องถิ่นก็ได้รับความนิยมสืบเนื่องมา (Robinson and Farmer, 2017)

           ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวอาหารท้องถิ่นมีเป้าหมายสำคัญเพื่อ 1) เชื่อมโยงผู้ผลิตอาหารและผู้บริโภคในภูมิภาคเดียวกัน 2) พัฒนาเครือข่ายอาหารท้องถิ่น (Local food network) ที่สามารถพึ่งพาตนเองและเกิดศักยภาพในการปรับตัวเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม รวมถึงวิกฤตที่คาดไม่ถึง เช่น โรคระบาดและภัยพิบัติ เป็นต้น และ 3) ส่งเสริมภาวะอยู่ดีมีสุขของสมาชิกในชุมชนในมิติต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจ สุขภาพ สังคมและสิ่งแวดล้อม (Stancliff, 2022)

           กล่าวได้ว่า การเคลื่อนไหวอาหารท้องถิ่นเป็นความพยายามร่วมกันของผู้ผลิตและผู้บริโภคเพื่อยกระดับการผลิตและการจัดจำหน่ายอาหารเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี โดยพิจารณาจากปัจจัยสำคัญเรื่องระยะห่างระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคและรูปแบบการผลิตที่เหมาะสมกับชุมชนโดยคำนึงถึงความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

-2-

           ถ้าเช่นนั้น เราจะนิยามการขับเคลื่อนอาหารท้องถิ่นอย่างไร?

           การให้ความหมายการเคลื่อนไหวอาหารท้องถิ่นสัมพันธ์กับนิเวศชุมชนที่เชื่อมโยงกับแหล่งผลิตอาหาร โดยจะพิจารณาจากสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ สายพันธุ์พืชและสัตว์ในท้องถิ่นนั้น ๆ หรือที่เรียกว่านิเวศของระบบอาหารท้องถิ่น (ecology of local food systems) ซึ่งจะทำให้รู้ที่มาของอาหารชนิดหนึ่ง ๆ ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร (Robinson and Farmer, 2017) กล่าวโดยสรุป คือ

           ระบบอาหารท้องถิ่นพิจารณาตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต (production) กระบวนการแปรรูปและบรรจุภัณฑ์อาหาร (processing and packaging) และการกระจายอาหาร (distribution) ตลอดจนการบริโภค (consumer) โดยเน้นกระบวนการผลิตเพื่อนำไปสู่การทำเกษตรคุณภาพที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และขณะเดียวกันยังส่งเสริมคุณค่าทางสังคมและวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้ดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี (Erickson, 2008)

           ในมิติกายภาพ แหล่งผลิตอาหารท้องถิ่นมีเกณฑ์พิจารณาขอบเขตทางภูมิศาสตร์ในเรื่องระยะทางที่ห่างจากผู้บริโภคภายในรัศมีหนึ่ง ๆ ซึ่งแตกต่างกันตามหน่วยงานหรือองค์กรในท้องถิ่นหรือประเทศระบุ เช่น 50, 100, 250 หรือ 400 ไมล์ เป็นต้น ระยะห่างเหล่านี้จะสัมพันธ์กับโครงสร้างทางสังคมและห่วงโซ่อุปทานของระบบผลิตอาหารของแต่ละประเภทอาหาร ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารที่ใหม่และสด เช่น พื้นที่ที่ห่างทะเลอาจพิจารณาระยะห่างของแหล่งอาหารกับผู้บริโภคที่ไกลออกไป เป็นต้น ประการสำคัญยังช่วยลดระยะเวลาขนส่ง เกิดการประหยัดพลังงานและช่วยลดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนอีกทางหนึ่ง (Robinson and Farmer, 2017; Stancliff, 2022)

           ในมิติการผลิต การเคลื่อนไหวอาหารท้องถิ่นมักเกี่ยวข้องกับการบริโภคอาหารออร์แกนิค แต่อาหารท้องถิ่นและอาหารออร์แกนิคไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเสมอไป ในทางกลับกัน อาหารออร์แกนิคเป็นอาหารที่ปลูกตามธรรมชาติเท่าที่จะเป็นไปได้ กล่าวคือ ไม่มีสารเคมีสังเคราะห์ ไม่มีการเติมฮอร์โมนหรือยาปฏิชีวนะหรือการใช้การดัดแปลงพันธุกรรม มีระเบียบและเกณฑ์ที่เข้มงวด (Robinson and Farmer, 2017; Stancliff, 2022) ทำให้อาหารท้องถิ่นและอาหารออร์แกนิคจึงมีความหมายที่ทับซ้อนกัน เพราะในความเป็นจริง อาหารออร์แกนนิคมีกระบวนการผลิตที่ต้องใช้เวลาและทุนที่มักราคาแพงดังที่กล่าวข้างต้น ดังนั้น เกษตรกรรายย่อยในท้องถิ่นส่วนใหญ่จึงเลือกระบบผลิตปลอดภัย คือ ใช้สารเคมีทางการเกษตรเท่าที่จำเป็นและใช้อย่างเหมาะสม เช่น ใช้สารเคมีชนิดไม่ตกค้างหรือวางแผนการใช้สารเคมีกับช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวอย่างเหมาะสม เป็นต้น แล้วเลือกที่จะสื่อสารกับลูกค้าโดยตรงเกี่ยวกับวิธีการผลิต

           กล่าวโดยสรุป การเคลื่อนไหวอาหารท้องถิ่นจึงไม่มีคำจำกัดความเพียงหนึ่งเดียว แต่สามารถพิจารณาจาก 1) ระยะทางภูมิศาสตร์ระหว่างการผลิตและการบริโภคแตกต่างกันไป ตามการเคลื่อนไหวของแต่ละท้องถิ่น และ 2) การผลิตที่ส่งเสริมความเข้มแข็งต่อระบบนิเวศและสุขภาวะของชุมชน อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคโดยทั่วไปรับรู้และเข้าใจกันอย่างง่าย ๆ ว่าการเคลื่อนไหวอาหารท้องถิ่นเป็นการอธิบายถึงการจัดการทางการตลาด โดยเกษตรกรขายตรงให้กับผู้บริโภคที่ตลาดเกษตรกรท้องถิ่น

-3-

           กระแสการเคลื่อนไหวอาหารท้องถิ่นทำให้เห็นคุณูปการสำคัญ 3 ประการคือ ประการแรกเป็นการขับเคลื่อนทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์โดยตรงระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภคเกิดช่องทางสื่อสารทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น เช่น หากความต้องการพืชผักหรืออาหารชนิดใด เกษตรกรก็มีโอกาสที่จะวางแผนตามความต้องการของผู้บริโภคและสร้างฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งอาหารท้องถิ่นทำให้ผู้บริโภค ประการต่อมา เป็นการสร้างความรู้สึกให้เป็นชุมชน เพราะผู้บริโภครับรู้ว่า อาหารที่พวกเขาบริโภคมาจากไหน เติบโต เก็บเกี่ยว แปรรูปและส่งมอบอย่างไร กระบวนการดังกล่าวสร้างความผูกพันระหว่างผู้บริโภคกับเกษตรกรและ/หรือผู้ขาย เสมือนมิตรภาพที่ดีต่อกัน และประการที่สาม ยังส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งในมิติการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การสร้างรายได้ชุมชนและสุขภาวะที่ดีของสมาชิกในชุมชน (Hooper, 2021)


เอกสารอ้างอิง

Books, G. (2016). Locavore: Journal/ Diary Eat Local Supporter Farmer's Markets (Eat Locally). New Jersey: CreateSpace Independent Publishing Platform.

Elton, S. (2011). Locavore. New York: Harper Perennial.

Erickson, P. J. (2008). “Conceptualizing food systems for global environment change research,” Global Environmental change. 18, 234-245.

Francis, A. (2010). The Local Food Movement. New York: Greenhaven Press

Hooper, M. (2021). Local Food Movement: Tricks On Growing Healthy Foods By Using
Hydroponics: Healthy Foods Industry. New Jersey: Independently published.

Robinson, J.M. and Farmer, J.R. (2017). Selling Local: Why Local Food Movements
Matter. Indiana: Indiana University Press.

Stancliff, D. (2022). Local Foods Movement: The Enlightenment On Growing Your Own
Healthy Foods. New Jersey: Independently published


ผู้เขียน
รศ.ดร.เอกรินทร์ พึ่งประชา
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร


 

ป้ายกำกับ อาหารท้องถิ่น Locavores นิเวศชุมชน ระบบอาหารท้องถิ่น เครือข่ายอาหาร ผู้ผลิตและผู้บริโภค รศ.ดร.เอกรินทร์ พึ่งประชา

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share