ใกล้/ไกลในชีวิตทางสังคม

 |  พื้นที่ การอพยพเคลื่อนย้าย และชายแดน
ผู้เข้าชม : 1442

ใกล้/ไกลในชีวิตทางสังคม

           ภายใต้กระบวนการโลกาภิวัตน์ โลกร่วมสมัยทั้งหดย่อและขยายตัวไปพร้อมกัน ชีวิตทางสังคมดำเนินไปบนความใกล้/ไกล ด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยีการเดินทางและการสื่อสาร ในขณะที่นวัตกรรมด้านการคมนาคมและการติดต่อทางไกลช่วยบีบอัดระยะทางอันแสนไกลที่คั่นกลางระหว่างครอบครัวและมิตรสหาย ชีวิตทางสังคมที่ดำเนินไปผ่านการเดินทางและการสนทนาบนหน้าจอทำให้ความใกล้ชิดงอกเงยขึ้นมาจากความไกลจนเกิดสภาวะข้ามพื้นที่ (translocal) สภาวะดังกล่าวนี้เผยให้เห็นว่าการแยกจากและเชื่อมต่อเกิดขึ้นพร้อมกันในขณะเวลาเดียวกัน

           จอห์น เออร์รี่ (John Urry) (2003) เสนอว่า ความใกล้/ไกลมีส่วนสำคัญในการทำความเข้าใจการเคลื่อนย้าย อย่างไรก็ดี การพิจารณาความใกล้/ไกลในปัจจุบันมีแง่มุมให้พิจารณามาไปกว่ามิติกายภาพ เทคโนโลยีการสื่อสารที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการเดินทางในกระบวนการโลกาภิวัตน์เข้ามาช่วยเสริมประสบการณ์ของผู้คนในระดับชีวิตประจำวัน การปรากฏขึ้นของความใกล้/ไกลจึงไม่ได้สัมพัทธ์ต่อระยะห่างในเชิงพื้นที่เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงระยะห่างในชีวิตทางสังคมด้วย

           ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ชีวิตทางสังคมส่วนใหญ่ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาดำเนินไปในพื้นที่เล็ก ๆ บนฐานความใกล้ชิดเชิงภูมิประเทศ บาร์รี่ เวลแมน (Barry Wellman) (2001) เรียกชีวิตทางสังคมแบบนี้ว่าเป็นการเชื่อมต่อแบบประตูบ้านต่อประตูบ้าน (door-to-door connectivity) ความสัมพันธ์ต่าง ๆ ดำเนินไปบนความใกล้ชิดทางกายภาพ ครอบครัว หน้าที่การงาน ตลอดจนเพื่อนฝูง ประสานกันภายในชุมชน ซึ่งโครงสร้างของพื้นที่เล็ก ๆ เป็นสิ่งสนับสนุนมิตรภาพ เครือญาติ ความผูกพัน และรสนิยมที่มีร่วมกัน (Larsen 2014) พื้นที่เล็ก ๆ กลายเป็นโลกเล็ก ๆ ที่เครือข่ายของชีวิตทางสังคมจำกัดความใกล้/ไกลอยู่ในละแวกบ้าน (neighborhood)

           อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกเครือข่ายจะดำรงอยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ ที่ความไกล้ทางกายภาพเท่ากับความใกล้ในชีวิตทางสังคม การเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่เล็ก ๆ ไปยังพื้นที่ที่ไกลออกไปเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นนิจ ทว่าราคาที่ต้องจ่ายให้กับการตัดการเชื่อมต่อกับเครือข่ายชีวิตทางสังคมที่ดำรงอยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ คือความห่างไกลในมิติความสัมพันธ์ ในแง่นี้ ความใกล้/ไกลทั้งในระยะห่างในเชิงพื้นที่และระยะห่างทางสังคมจึงแปรผันตรงต่อกัน เรื่องเล่าของผู้ย้ายถิ่นมากมายในช่วงเวลานี้แสดงให้เห็นความเจ็บปวดและความรู้สึกผิดที่ละทิ้งครอบครัวและเพื่อนฝูงไว้ข้างหลัง การติดต่อสัมพันธ์ที่น้อยลงกับคนเหล่านี้ภายใต้ข้อจำกัดของระยะห่างและการเข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสารนำไปสู่ภาวะคิดถึงบ้าน (homesickness) (Hammerton 2004)

           ในบางกรณี เครือข่ายของชีวิตทางสังคมในพื้นที่เล็ก ๆ ไม่ได้กลายเป็นโลกเล็ก ๆ เสมอไป พื้นที่แบบเมืองแสดงให้เห็นลักษณะดังกล่าวซึ่งผู้คนถูกรายล้อมและอยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้า ความใกล้เชิงพื้นที่กลายเป็นความไกลทางสังคมเมื่อผู้คนเรียนรู้ทักษะทางสังคมเพื่อหลบเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันในพื้นที่เล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยฝูงชนที่ไม่รู้จัก ในสภาพการณ์เช่นนี้ จอร์จ ซิมเมล (Georg Simmel) (1950) ชี้ว่าผู้คนอยู่ใกล้กันในผัสสะเชิงพื้นที่ แต่ไกลกันในผัสสะทางสังคม ในพื้นที่แบบเมือง คนที่อยู่ใกล้กลายเป็นคนแปลกหน้า ในขณะที่คนใกล้ชิดอาจอยู่ห่างไกลออกไป

           เมื่อโลกโลกาภิวัตน์อุบัติขึ้น เครือข่ายทางสังคมก้าวไปสู่ความสลับซับซ้อนเมื่อการเชื่อมต่อเชิงพื้นที่สอดประสานกับความสัมพันธ์ทางสังคมน้อยลง เทคโนโลยีการเดินทางและการติดต่อสื่อสารที่ก้าวหน้ากลายเป็นนวัตกรรมที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากคุ้นเคยกับการเคลื่อนย้ายและเครือข่ายความสัมพันธ์แบบข้ามพื้นที่ เวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางลดน้อยลง แรงเสียดทานของระยะทางทำงานเพียงในการเดินทางเชิงกายภาพ เครือข่ายคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือน้ำหนักเบาและล้ำหน้า มีบทบาทสำคัญในการสร้างเครือข่ายชีวิตทางสังคมในการเชื่อมต่อแบบคนต่อคน (person-to-person connectivity)

           เมอร์กา มาดิอานู (Mirca Madianou) และแดเนียล มิลเลอร์ (Daniel Miller) (2011) ชี้ว่าการเกิดขึ้นของสหสื่อ (polymedia) ดำรงอยู่ท่ามกลางสภาวะที่ผู้คน โดยเฉพาะคนย้ายถิ่นที่ยากจน สามารถเข้าถึงความหลากหลายของสื่อใหม่ ๆ และความเป็นไปได้ในการติดต่อสื่อสารอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน การติดต่อสื่อสารทางไกลกลายเป็นสิ่งสามัญที่เข้ามาเติมความใกล้ทางสังคม โลกที่กว้างใหญ่กลายเป็นโลกของสหสื่อที่เชื่อมโยงสถานที่ห่างไกลและผสิตสร้างความใกล้ชิดทางสังคมในระหว่างที่ชีวิตดำเนินไปในพื้นที่แบบแยกจากกัน

           ความใกล้/ไกลอย่างหลังในโลกร่วมสมัยนี้จึงไม่จำกัดที่ระยะห่างทางภูมิศาสตร์อย่างง่าย ๆ ในละแวกบ้าน ความใกล้ในชีวิตทางสังคมไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้ และความไกลไม่ได้มีสาระสำคัญต่อเครือข่ายชีวิตทางสังคม โลกร่วมสมัยที่ทั้งหดย่อและขยายตัวไปพร้อมกันช่วยให้ชีวิตทางสังคมของผู้คนใกล้ชิดพอ ๆ กับเครือข่ายที่แผ่ขยายไปตามกัน ความใกล้/ไกลในแง่นี้จึงเกิดขึ้นได้พร้อมกันในขณะเวลาเดียวกัน


รายการอ้างอิง

Hammerton, J. 2004. The Quest for Family and the Mobility of Mobility in Narratives of Postwar British Emigration. Global Network. 4(4): 271-284.

Larsen, J. 2014. Distance and Proximity. Routledge Handbook for Mobilities, Peter Audey et al. (Eds). New York: Routledge.

Madianou, M & Miller, D. 2011. Mobile Phone Parenting: Reconfiguring Relationships between Filipina Migrant Mothers and their Left-behind Children. New Media & Society. 13(3): 457-470.

Simmel, G. 1950. The Stanger. The Sociology of Georg Simmel. New York: Free Press.

Urry, J. 2003. Social Networks, Travel and Talk. British Journal of Sociology. 52(2): 155-175.

Wellman, B. 2001. Physical Place and Cyberplace: The Rise of Personalised Networking. International Journal of Urban and Reginal Research. 25(2): 227-252.


ผู้เขียน
วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์
นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ใกล้ ไกล ชีวิตทางสังคม วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share