แรงเสียดทานในโลกทางสังคม

 |  พื้นที่ การอพยพเคลื่อนย้าย และชายแดน
ผู้เข้าชม : 1092

แรงเสียดทานในโลกทางสังคม

           ในโลกวิทยาศาสตร์ แรงเสียดทาน (friction) หมายถึงแรงต้านการเคลื่อนที่ของวัตถุระหว่างพื้นผิวที่วัตถุสองชิ้นสัมผัสกันในทิศทางตรงกันข้ามกับแรงเคลื่อนที่ ขนาดของแรงเสียดทานจะขึ้นอยู่กับลักษณะและพื้นผิวของวัตถุที่ต้านทานกัน การเกิดขึ้นของแรงชนิดนี้นำไปสู่การชะลอวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่ให้ช้าลงหรือแม้กระทั่งทำให้วัตถุดังกล่าวหยุดนิ่งไป ทว่าในมิติการเคลื่อนย้ายศึกษา (mobility studies) การเคลื่อนย้ายเป็นผลรวมของการเคลื่อนที่ (movement) และความหมาย (meaning) ซึ่งเคลือบแฝงไว้ด้วยประเด็นของอำนาจ (power) (Cresswell 2006) การพิจารณาแรงเสียดทานในการเคลื่อนย้ายศึกษาจึงเรียกร้องการปริวรรต (translation) ไปสู่โลกทางสังคม ความหมายของแรงเสียดทานในการปริวรรตนี้ไม่จำกัดแค่ในการเคลื่อนที่ แต่ยังรวมไปถึงการให้ความหมายซึ่งเป็นผลมาจากการใช้อำนาจในลักษณะต่าง ๆ ด้วย แรงเสียดทานจึงถือเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมซึ่งดำรงอยู่และรู้สึกได้ในชีวิตประจำวัน (Cresswell 2013) ตั้งแต่การขับรถบนท้องถนน ไปจนถึงการเหนี่ยวรั้งของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองในท่าอากาศยาน

           นัยสำคัญของแรงเสียนทานแบบนี้นำความสนใจไปสู่วิถีทางที่การเคลื่อนที่ของผู้คน สิ่งของ และความคิด ถูกชะลอหรือหยุดนิ่งไป ความคิดเกี่ยวกับแรงเสียดทานจึงถือเป็นเครื่องมือวิเคราะห์การเคลื่อนย้ายไหลเวียนของสิ่งต่าง ๆ ในโลกทางสังคม มานูเอล คาสเตลส์ (Manuel Castells) (1996) ฉายให้เห็นสังคมเครือข่าย (network society) ซึ่งพื้นที่ของการเคลื่อนย้ายไหลเวียน (space of flows) เข้าแทนที่พื้นที่ของสถานที่ (space of places) กระบวนการโลกาภิวัตน์เป็นตัวการนำสังคมไปสู่สังคมที่การเคลื่อนย้ายต่าง ๆ แทบจะไร้แรงเสียดทาน อย่างไรก็ดี การพิจารณาการเคลื่อนย้ายในการเคลื่อนย้ายศึกษาไม่ใช่การสนใจการเคลื่อนย้ายโดยราบรื่น แต่ต้องชี้ให้เห็นการทำงานของแรงเสียดทานที่ดำรงอยู่ในการเคลื่อนย้ายด้วย (Marston et al., 2005) เช่นเดียวกับที่วัตถุไม่อาจเคลื่อนย้ายได้หากขาดแรงที่เข้ามากระทำ อันนำไปสู่การเกิดขึ้นของแรงต้านหรือแรงเสียดทานในทิศทางตรงข้าม แรงเสียดทานจึงหมายถึงภาวะกำกวมของการหยุดนิ่งที่ทั้งขัดขวางและส่งเสริมการเคลื่อนย้ายในเวลาเดียวกัน

           การปริวรรตแรงเสียดทานในโลกวิทยาศาสตร์เข้าสู่โลกทางสังคมในช่วงแรก เกิดขึ้นในงานเขียนเชิงปรัชญาศีลธรรมว่าด้วยสงคราม นักทฤษฎีการทหารชาวปรัสเซีย คาร์ล ฟิลลิป ก็อทฟรีด ฟอน คลอเซวิทซ์ (Carl Philipp Gottfried von Clausewitz) (1832) เสนอว่าสงครามได้สร้างม่านหมอกของความสับสนซึ่งความตระหนักรู้โดยสมบูรณ์แบบไม่สามารถเป็นไปได้ การพยายามทำความเข้าใจรายละเอียดต่าง ๆ ของสงครามทำได้แต่เพียงในภาวะนามธรรม สำหรับคลอเซวิทซ์ แรงเสียดทานคือความเหนียวหนืดอันดื้อดึงในโลกแห่งความเป็นจริง (the real world) ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นไปดังที่คาดไว้ โดยเขาอธิบายการเดินทางเพื่อฉายให้เห็นอุปสรรคมากมายในการทำสงคราม

สมมติว่ามีนักเดินทางคนหนึ่งกำลังเดินทางในยามเย็นโดยคาดหมายบรรลุเป้าประสงค์บางประการก่อนจบการเดินทางในวันนนั้น นั่นคือการหาเพื่อนร่วมทางสัก สี่ห้าคนพร้อมกับม้าเช่า เขาไม่พบสิ่งที่ต้องการเลยที่จุดแวะพักแรก เมื่อเดินทางต่อไป ภูมิประเทศเริ่มกลายเป็นเนินเขา ถนนเริ่มแย่ลง ราตรีเริ่มมืดมิด หลังพบปัญหามากมาย เขาก็เดินทางไปถึงจุดแวะพักต่อไป เขาพบสิ่งที่ต้องการ แต่มันอยู่ในสภาพอเนจอนาถ ดังนั้นในสงคราม ด้วยอิทธิพลของเหตุการณ์ยิบย่อยนับไม่ถ้วนกว่า ซึ่งไม่สามารถอธิบายได้บนหน้ากระดาษ สิ่งต่าง ๆ ล้วนทำให้เราผิดหวัง และเราไม่สามารถไปถึงเป้าประสงค์ที่เราต้องการได้

(Clausewitz 1832)

           แน่นอนว่าคลอเซวิทซ์ปริวรรตแรงเสียดทานจากโลกวิทยาศาสตร์มาสู่โลกทางสังคม แต่นิยามของแรงเสียดทานในโลกทางสังคมมีความซับซ้อนและหลากหลายกว่ามาก การอธิบายสิ่งต่าง ๆ ในโลกทางสังคมโดยอาศัยความคิดเรื่องแรงเสียดทานเป็นเครื่องมือ สามารถตีความได้หลายหลายตามแต่ข้อเท็จจริงและระดับการวิเคราะห์ อย่างในมุมมองเรื่องความเป็นศูนย์กลาง การฏิสัมพันธ์เชิงพื้นที่กับชายขอบไม่ต่างประจากตัวแบบแรงโน้มถ่วงแบบมีศูนย์กลาง ยิ่งเดินทางห่างไกลไปจากศูนย์กลางมากเท่าไหร่ การเดินทางก็ยิ่งยุ่งยากขึ้นเท่านั้น ความยุ่งยากอันเกิดขึ้นจากการเดินทางออกห่างจากแรงโน้มถ่วงของศูนย์กลางเกิดขึ้นจากแรงเสียดทานของระยะทาง (friction of distance) กฎข้อแรกของภูมิศาสตร์ของวัลโด ทอบเลอร์ (Waldo Tobler) (1970) ที่ว่าทุกสิ่งมีความสัมพันธ์กับทุกสิ่งที่ไม่ใช่ตัวมันเอง แต่สิ่งที่อยู่ใกล้กันจะสัมพันธ์กันมากกว่าสิ่งที่อยู่ไกลออกไป ชี้ให้เห็นว่าระยะทางเป็นอุปสรรคในการเคลื่อนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ยิ่งเดินทางออกไปไกลเท่าไร การใช้ความพยายามและพลังงานก็ยิ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้นเท่านั้น

           ในอีกแง่มุมหนึ่ง ความคิดเรื่องแรงเสียดทานสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการพิจารณาอำนาจที่เข้ามาชะลอ หยุด หรือยับยั้งการคลื่อนย้ายของคนอื่นหรือสิ่งอื่นโดยเฉพาะเมื่อคนหรือสิ่งนั้นอ่อนแอหรือมีอำนาจน้อยกว่า ตัวอย่างของการใช้อำนาจแบบนี้สามารถพบเห็นได้ทั่วไปไม่ว่าจะเป็นการหยุดรอสัญญาณไฟจราจร การตรวจหนังสือเดินทางของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ไปจนถึงการปิดถนนสาธารณะเพื่อการเดินทางของผู้มีอำนาจ ในการเดินทางตามปกติ นอกเหนือไปจากอำนาจอันเกิดขึ้นจากกฎกติกาโดยทั่วไปแล้ว ยังมีอำนาจในรูปแบบอื่น ๆ อีกมากมาย อย่างไรก็ดี เมื่ออำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้าย ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการเคลื่อนของสิ่งต่าง ๆ ก็ปรากฏตัว การชะลอ หยุด หรือยับยั้งการคลื่อนย้ายของคนอื่นหรือสิ่งอื่นเช่นนี้จัดเป็นแรงเสียดทานของอำนาจ (friction of power) ระหว่างผู้มีมาก ผู้มีน้อย และผู้ไม่มีเลย

           การพิจารณาแรงเสียดทานอีกแบบหนึ่งอาจกล่าวได้ถึงแรงเสียดทานของการปะทะ (friction of encounter) อันเป็นผลมาจากการไหล (flow) หยุดยั้ง (blockage) และ คัดกรอง (coagulation) ในการพิจารณาแรงเสียดทานแบบนี้ แอนนา ซิง (Anna Tsing) (2005) อธิบายว่าแรงเสียดทานเป็นสภาวะต้านทานและไม่ลงรอยกันของสิ่งต่าง ๆ การไหลของกระแสโลก (global flow) ไม่ว่าจะเป็นผู้คน ความคิด ทุน รวมถึงอำนาจการเมือง ถูกเหนี่ยวรั้งในพื้นที่ของการเผชิญหน้า (encounter) แรงเสียดทานตามความหมายของเธอวางอยู่ในบริบทที่สิ่งซึ่งเป็นสากล (universal) เคลื่อนมาเผชิญหน้ากับสิ่งซึ่งเฉพาะตัว (particularity) โดยในกระบวนการโลกาภิวัตน์ ซิงเห็นว่าสิ่งซึ่งเป็นสากลไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติอย่างตรงไปตรงมาและตลอดรอดฝั่งในพื้นที่ซึ่งมีความคิดเฉพาะถิ่นดำรงอยู่ก่อน หากแต่เป็นการทำให้สิ่งซึ่งเป็นสากลนั้นเกิดเป็นรูปร่างในเงื่อนไขของสิ่งที่เฉพาะตัว การเผชิญหน้ากันของสิ่งที่แตกต่างกันเช่นนี้ นำไปสู่ภาวะที่เงื่อนไขเฉพาะถิ่นเป็นปัจจัยลดทอนและสกัดกำลังของกระแสโลกอย่างเป็นพลวัต นัยสำคัญของการพิจารณาแรงเสียดทานของการปะทะนี้คัดค้านความคิดเรื่องการไหลของสิ่งต่าง ๆ ในโลกโดยปราศจากสิ่งกีดขวางในการเคลื่อนย้าย

           โดยสรุปแล้ว แรงเสียดทานในโลกทางสังคมจัดเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีมิติทางการเมืองในตัวเอง ภาวะกำกวมของการหยุดนิ่งที่ทั้งขัดขวางและส่งเสริมการเคลื่อนย้ายในเวลาเดียวกัน นำความสนใจไปสู่วิถีทางที่การเคลื่อนที่ของผู้คน สิ่งของ และความคิด ถูกชะลอหรือหยุดนิ่งไปในชีวิตประจำวัน โลกแห่งความเป็นจริงที่สิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นไปดั่งใจคิดคือโฉมหน้าของแรงเสียดทานที่ดำรงอยู่ทั่วไปในชีวิตมนุษย์ ความคิดเกี่ยวกับแรงเสียดทานจึงถือเป็นเครื่องมือวิเคราะห์การเคลื่อนย้ายไหลเวียนของสิ่งต่าง ๆ ในโลกทางสังคมในไปสู่การพิจารณารูปแบบต่าง ๆ ของแรงเสียดทานหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นแรงเสียดทานของระยะทาง แรงเสียดทานของอำนาจ และแรงเสียดทานของการปะทะ ในการเคลื่อนย้ายศึกษา สิ่งที่ความคิดว่าด้วยแรงเสียดทานชี้ให้เห็นไม่ใช่การเริงระบำของการเคลื่อนย้ายอย่างลื่นไหล แต่ถูกรบกวนด้วยจังหวะที่เข้ามาชะลอ หยุดยั้ง ไปจนถึงหยุดนิ่งไป อันทำให้การเคลื่อนย้ายมีความหมายมากกว่าที่เคยเป็น


รายการอ้างอิง

Cresswell, T. 2013. Friction. In Routledge Handbook of Mobilities. London: Routledge.

Cresswell, T. 2006. On the Move: Mobility in the Modern Western World. New York: Routledge.

Castells, M. 1996. The Rise of the Network Society. Massachusetts: Blackwell.

Clausewitz, C. 1997 [1832]. On War. Ware: Wordsworth.

Marston, S. et al. 2005. Human Geography without Scale. Transactions of the Institute of Britain Geographer. 30(1): 416-432.

Tsing, A. 2005. Friction: An Ethnography of Global Interconnection. New Jersey: Princeton University Press.

Tobler, W. 1970. A Computer Movie Simulating Urban Growth in Detroit Region. Economic Geography. 46(1): 234-240.


ผู้เขียน

วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์

นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ แรงเสียดทาน โลกทางสังคม วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share