“ผีน้อย”: ชีวิตแรงงานนอกระบบข้ามชาติ

 |  พื้นที่ การอพยพเคลื่อนย้าย และชายแดน
ผู้เข้าชม : 7176

“ผีน้อย”: ชีวิตแรงงานนอกระบบข้ามชาติ

           ปัญหาแรงงานไทยที่ลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตในเกาหลีใต้ ส่งผลสืบเนื่องให้คนไทยที่เดินทางไปเที่ยวประเทศเกาหลีใต้ถูกส่งกลับประเทศ จนกลายเป็นกระแส “แบนเที่ยวเกาหลี” แท้จริงแล้วปัญหาเหล่านี้ ถูกแก้ไขมาแล้วมากน้อยเพียงใด จากการวิเคราะห์พบว่า มีปัจจัยหลายประการที่นำมาสู่ความล้มเหลวในการจัดการปัญหาการลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมาย แต่ปัญหาที่อยากจะหยิบยกมานำเสนอในบทความนี้คือความต้องการของนายจ้างชาวเกาหลีเอง ที่ต้องการลดขั้นตอนการหาแรงงาน และลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลแรงงานตามที่กฎหมายกำหนด

           จากการที่มีนักท่องเที่ยวชาวไทย ไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไป หรือบุคคลทีมีชื่อเสียงในสังคม เดินทางไปท่องเที่ยวที่เกาหลีใต้ แต่กลับโดนเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองปฏิเสธการให้เข้าประเทศฯ ส่งผลให้ต้องกลับประเทศไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ นำมาซึ่งความรู้สึกที่ผิดหวังต่อมาตรฐานการพิจารณาคนเข้าเมืองของเจ้าหน้าที่ฯ และความเสียดายเงินค่าเครื่องบิน ค่าที่พักที่ได้เสียไปอย่างฟรี ๆ เรื่องของนุช (อ้างถึงใน BBC News, 2022) ชี้ให้เห็นว่ามีคนไทยติดด่าน ตม. เกือบ 100 คน จากจำนวนคนในเที่ยวบินเหมาลำ 180 คน จากความระแวงสงสัยของเจ้าหน้าที่ ตม.เกาหลี สุดท้ายเมื่อถูกส่งตัวกลับมายังไทย นุชต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมให้บริษัททัวร์รับผิดชอบกับค่าใช้จ่ายที่เสียไป โดยที่เธอไม่ได้เที่ยวแต่อย่างใด

“เราดูข่าวคนติดเยอะมาก แต่ด้วยความมั่นใจ เราเตรียมเอกสารไปครบทุกอย่าง พอไปถึงปุ๊ปมีคนที่ผ่านไปก่อนพร้อมไกด์ ประมาณ 25-30 คนได้ จากนั้นมา พอมากลุ่มพวกพี่ ตม. เรียกเข้าห้องเย็นหมดเลยค่ะ ยื่นพาสปอร์ตปุ๊ป ไม่ได้ถามอะไร เรียกเข้า ๆ เลยค่ะ”

           ในโลกออนไลน์ การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของชาวไทยที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ คือกระแส #แบนเที่ยวเกาหลี หากพิจารณาความเป็นไปได้ของทิศทางที่นักท่องเที่ยวไทยในเกาหลีอาจลดลง แต่นัยสำคัญคือทิศทางความเห็นของผู้คนในโลกโซเชียลค่อนข้างเห็นด้วยต่อการแบนการท่องเที่ยวเกาหลีใต้ คงต้องรอดูว่าจากการประสานงานขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี (KTO) กับหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ของเกาหลีที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาการเข้าเกาหลีของคนไทย จะมีนโยบายรองรับปัญหานี้อย่างไร แต่อย่างที่ทราบดีว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว เนื่องจากมีคนไทยอีกจำนวนไม่น้อย ที่ฉวยโอกาสใช้สิทธิ Free Visa ในการท่องเที่ยวประเทศเกาหลีใต้ หาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง แล้วจึงค่อยกลับประเทศไทยเมื่อใกล้กำหนดเวลา 90 วัน ที่ร้ายแรงกว่านั้นคือคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยเช่นกันมีเจตนาชัดเจนที่จะไม่กลับประเทศไทยภายใน 90 วัน กล่าวคือทำงานและอยู่อาศัยในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมายจนกว่าจะพอใจ หรือที่สังคมไทยคุ้นชินกันดีกับคำว่า "ผีน้อย" (อุมาพร สิทธิบูรณาญา, 2019)

รูปที่ 1: กระแส “แบนเที่ยวเกาหลี” ที่ขึ้น Hashtag อันดับ 1 ในโลกทวิตเตอร์(X)

ที่มา: https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_7935572


อุปสงค์และอุปทานของตลาดแรงงานผีน้อยในเกาหลีใต้

           สาเหตุหลัก ๆ ของไทยและเกาหลีใต้ ที่ยังไม่สามารถบรรลุความสำเร็จในการขจัดผีน้อยให้หมดไปจากประเทศเกาหลีใต้ได้ ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการของนายจ้างเกาหลีเอง ที่ต้องการจ้างแรงงานผิดกฎหมายมาทำงาน หากอ้างอิงจากสำนักข่าว KBS ของเกาหลีใต้ ระบุตัวเลขของแรงงานไทยในเกาหลีใต้ที่ไปทำงานอย่างถูกกฎหมายในปี 2022 มีจำนวนทั้งสิ้น 18,000 คน และในปีเดียวกันยอดสะสมของผีน้อยไทยมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 150,000 คน จากจำนวนผีน้อยชาติต่าง ๆ ทั้งหมดในเกาหลีประมาณ 390,000 คน คิดเป็นจำนวน 1 ใน 3 ของแรงงานผิดกฎหมายที่มีทั้งหมดในเกาหลีใต้ ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง เพราะ 1 ใน 3 ที่กล่าวถึง คือเฉพาะแรงงานผิดกฎหมายไทยแค่ประเทศเดียว (김원장, 2022)

รูปที่ 2: กราฟแสดงสัดส่วนของ 3 อันดับแรงงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้

ที่มา : www.impeternews.com

           อย่างที่ได้เกริ่นนำไปข้างต้น เกี่ยวกับความต้องการของนายจ้างในการใช้แรงงานผีน้อย แม้ว่าอัตราการลงโทษที่รัฐบาลเกาหลีใต้กำหนดไว้ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษนายจ้าง หรือการลงโทษ ผีน้อยในปัจจุบัน มีค่าปรับสูงถึงสูงมาก ค่าปรับสำหรับผีน้อยในกรณีที่ทำงานผิดกฎหมาย มีอัตรากำหนดไว้ดังนี้

ตาราง 1: ตารางแสดงอัตราค่าปรับสำหรับแรงงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้

ที่มา: www.peoplefirstrelo.com

           นอกจากนี้นายจ้างที่จ้างแรงงานผิดกฎหมายก็มีค่าปรับที่สูงไม่ต่างกัน ในกรณีที่ถูกจับได้ต้องระวางโทษปรับ 20,000,000 วอน หรือ ถูกจำคุก 3 ปี ในขณะที่ที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติ มีข้อเสนอให้เพิ่มโทษแก่นายจ้างที่กระทำความผิดดังกล่าว เป็นปรับ 50,000,000 วอน และจำคุกเป็นเวลา 5 ปี ( Yaenah Park, 2019)

           กรณีตัวอย่างเกี่ยวกับบทลงโทษของนายจ้างชาวเกาหลีท่านหนึ่ง เนื่องจากใช้แรงงานผิดกฎหมายชาวไทย 2 คน ทำงานที่ร้านอาหาร และได้ถูกเจ้าหน้าที่ ตม. ลงตรวจพื้นที่และจับกุม ณ สถานประกอบการ แรงงานผิดกฎหมายชาวไทย 2 คน ได้ให้การต่อเจ้าหน้าที่ว่า ได้ทำงานที่เกาหลีอย่างผิดกฎหมายเป็นเวลา 2 ปี เจ้าหน้าที่จึงเรียกเก็บค่าปรับตามระเบียบ ทว่าแรงงานทั้ง 2 ไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายค่าปรับ หน้าที่การจ่ายค่าปรับแทนแรงงานผิดกฎหมายจึงเป็นของนายจ้าง ดังนั้น นายจ้างจึงจ่ายค่าปรับในกรณีตัวอย่างนี้ คำนวณได้ดังนี้

           แรงงานไทย 2 คน ทำงานใช้แรงงานอย่างผิดกฎหมาย 2 ปี = 7,000,000 วอน x 2 = 14,000,000 วอน

           รวมกับค่าปรับที่เกิดจากความผิดของนายจ้าง 20,000,0000 วอน รวมทั้งหมดเป็น 34,000,000 วอน

           คำถามที่สำคัญคือ อะไรคือปัจจัยที่ทำให้นายจ้างเกาหลียังเลือกใช้แรงงานผิดกฎหมาย? คำตอบของปัญหาก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น "ภาครัฐนั่นเอง" รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ออกระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนในการรับแรงงานต่างชาติเข้าทำงานในภาคธุรกิจของนายจ้าง อาทิ ค่าดำเนินการต่าง ๆ ระหว่างหน่วยงานรัฐและสถานประกอบการที่นายจ้างต้องเป็นผู้จ่ายเอง และค่าสวัสดิการแรงงานซึ่งมีทั้งที่นายจ้างต้องเป็นผู้จ่ายคนเดียวทั้งหมด และนายจ้างสามารถหักจากเงินเดือนของแรงงานได้ไม่เกินตามที่กฎหมายกำหนด เช่น เงินสะสมหลังเกษียณอายุงานในกรณีที่หมดสัญญาจ้าง (출국민기보험), เงินประกันการได้รับเงินเดือน(상해보험) ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีในส่วนอื่น ๆ ที่ถูกกำหนดตามพระราชบัญญัติแรงงาน เช่น ขอบเขตในการบังคับใช้แรงงาน, การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม, อัตราการจ่ายเงินค่าจ้าง, ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีพขั้นพื้นฐาน ฯลฯ ทั้งหมดนี้หากมองในหลักการ มิอาจปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐทำถูกต้องแล้ว เพราะสิ่งเหล่านี้คือการการันตีว่าแรงงานจะได้รับความยุติธรรมและสวัสดิการที่เหมาะสมตามหลักสิทธิมนุษยชน (HRD KOREA EPS center in Thailand, 2017)

           แต่เมื่อมองในมุมกลับ เช่น กรณีที่นายจ้างมิได้ทำธุรกิจใหญ่โต แต่อาจจะแค่เปิดร้านอาหารเล็ก ๆ ในต่างจังหวัด ที่มีโต๊ะอยู่เพียง 5-6 โต๊ะ เพื่อรองรับลูกค้า แต่ด้วยเงื่อนไขบางอย่างทำให้นายจ้างต้องหาคนงานมาช่วยดำเนินธุรกิจ ครั้นจะจ้างคนเกาหลีด้วยกันปัจจัยเรื่องค่าจ้างก็เป็นตัวแปรหลักที่นายจ้างต้องพิจารณาอย่างหนัก หากจ้างด้วยค่าจ้างที่ต่ำกว่ามาตรฐานรัฐกำหนด คงยากที่จะได้คนมาช่วยงาน หนำซ้ำยังอาจถูกฟ้องร้องจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าเกณฑ์ มาถึงจุดนี้ แรงงาน ผีน้อยจึงตอบโจทย์ได้ดีที่สุด เพราะการจ้างแรงงานผีน้อยนั้น นายจ้างไม่ต้องดำเนินการอะไรกับภาครัฐให้เสียเวลา ไม่ต้องให้สวัสดิการพื้นฐานอะไรแก่ผีน้อย ค่าจ้างตามตกลง ในกรณีที่ผีน้อยทำงานไม่ดี นายจ้างสามารถไล่ออกเมื่อไรก็ได้ โดยไม่ต้องจ่ายสินไหมชดเชยแต่อย่างใด ฯลฯ

           หรือกรณีงานสวนที่นายจ้างต้องการหาแรงงานช่วยเก็บผลผลิตแค่ช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อเก็บผลผลิตหมดก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้แรงงานต่อ นายจ้างจึงเลือกใช้แรงงานที่บรรดาผีน้อยเรียกกันว่า “อาราไบท์” หรืองานพาร์ทไทม์ รับเงินรายวัน หรือเหมาจ่าย ขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างนายจ้างและแรงงาน จากที่กล่าวมาทั้งหมดจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า เหตุใดคนไทยถึงยังมีความต้องการเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ นั่นก็เพราะค่าตอบแทนแม้ว่าจะต่ำกว่ามาตรฐานที่รัฐบาลเกาหลีใต้กำหนดไว้ แต่ก็มากกว่ารายได้ในประเทศไทยหลายเท่าตัว (ไอริตา โคจิม่า, 2565) และความต้องการแรงงานผีน้อยของนายจ้างก็มีอยู่อย่างเสมอ จึงนับว่าเป็นปัญหาระหว่างรัฐที่ยากจะแก้ไข คำถามประเด็นถัดมาคือ อะไรคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้แรงงานไทยตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการความเป็น “ผีน้อย” คำตอบที่เชื่อว่าทุกคนทราบดีคือ “เงิน”


ปัญหาผีน้อยคือ “กระจก” ที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในประเทศไทย

           เรื่องของสาว (อ้างถึงใน BBC News, 2022) ชาวนาและเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูบอกว่าการทำนามีค่าใช้จ่ายเรื่องปุ๋ย ยา และน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เงินจากการขายข้าว 2 ครั้งต่อปี รายได้จากการเลี้ยงหมูและงานรับจ้างทั่วไปที่ทำทุกอย่างไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายของทั้งครอบครัว รวมทั้งการใช้หนี้เงินกู้ธนาคาร ทำให้เธอเริ่มคิดเรื่องจะไปหางานทำที่เกาหลีใต้ มีการขอยืมเงินคนรู้จัก 30,000 กว่าบาทเพื่อเป็นค่าซื้อทัวร์ ส่วนงานที่จะไปทำจะหาเมื่อผ่าน ตม. เข้าไปได้แล้ว

"จะไปหา (งาน) เอาข้างหน้า เห็นเขาโพสต์เยอะ...จะเป็นงานอะไรเธอก็พร้อมทำได้ทุกอย่าง จะลองดูตามที่เขามี มีอะไรก็ทำ...อยู่บ้านก็ลำบาก แต่คงไม่มีอะไรลำบากกว่านี้แล้ว"

           จากสถิติการสอบไปทำงาน ณ ประเทศเกาหลีใต้ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย (EPS) พบว่าแรงงานไทยส่วนใหญ่มาจากภาคเหนือ และภาคอีสาน ในขณะที่ภาคกลางและภาคใต้มีผู้สนใจสมัครรั้งท้ายสุดของภูมิภาคตามลำดับ หากพิจารณาศูนย์สอบที่ EPS หรือฝ่ายจัดส่งไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลี จะพบเช่นกันว่า ศูนย์รับสมัคร และศูนย์สอบจะมีอยู่เพียง 3 ภูมิภาคในประเทศไทยเท่านั้น ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคอีสาน และกรุงเทพมหานคร (ผู้จัดการออนไลน์: 2562) แต่หากพิจารณาจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เกี่ยวกับรายได้ประชากรต่อครัวเรือนในแต่ละภาค โดยผู้ศึกษาพิจารณาจากจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนไม่ถึงสองหมื่นบาท โดยมีลำดับตามตารางนี้

ตารางที่ 2: ตารางแสดงรายได้ต่อครัวเรือนปี 2564 ของจังหวัดต่าง ๆ ในประเทศไทยที่เฉลี่ยไม่เกิน 2 หมื่นบาท

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ http://statbbi.nso.go.th/staticreport/Page/sector/TH/report/sector_08_4_TH_.xlsx

           อาจกล่าวได้ว่า ส่วนหนึ่งมีความสอดคล้องกับความต้องการพัฒนาด้านฐานะการเงินของประชาชนในพื้นที่ แต่อีกส่วนหนึ่งเมื่อพิจารณาจังหวัดที่มีรายได้ต่อครัวเรือนน้อย ปรากฏจังหวัดในภาคใต้ด้วยเช่นกัน แปลว่าความจนคงไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมดที่ส่งผลให้คนอีสานและคนเหนือ นิยมไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ แต่อาจเป็นเพราะ "ทางลัด" ของการหาต้นทุนชีวิตมากกว่าที่เป็นแรงจูงใจสำคัญให้คนเหนือและคนอีสานออกเดินทางไกลเพื่อสร้างต้นทุนดังกล่าว

           หากเราพิจารณาค่าจ้างแรงงานที่ปรับและบังคับใช้โดยกระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 จะพบว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามรัฐกำหนดจะอยู่ที่วันละ 353 บาท ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และ 354 บาท ในเขตจังหวัดระยอง ภูเก็ต และชลบุรี ซึ่งทั้งสองเกณฑ์นี้เป็นอัตราค่าจ้างต่อวันสูงที่สุดในประเทศไทย คิดเฉลี่ยต่อเดือนตกเดือนละ354x31 = 10,974 บาท (ประกาศกระทรวงแรงงาน, 2565) ในขณะที่ประกาศกรมแรงงานเกาหลีใต้กำหนดบังคับใช้ตั้งแต่ เดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา กำหนดให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ อยู่ที่ 9,620 วอนต่อชั่วโมง หรือ 260 บาท นั่นหมายความว่าใน 1 วัน ทำงาน 8 ชั่วโมง จะได้เงินเฉลี่ยวันละ 2,080 บาท และถ้าคำนวณเป็นรายเดือนจะอย่างน้อยที่สุดไม่ต่ำกว่า 60,000บาท (สำนักข่าว Today, 2565) ซึ่งต้องบอกว่าตัวเลขที่เห็นนี้เป็นเงินเดือนพื้นฐาน แต่จะมีเงินส่วนอื่นที่จะได้เพิ่มอีก เช่น ในกรณีที่ทำงานในวันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือแรงงานไทยในเกาหลีนิยมเรียกว่า "วันแดง" จะได้ค่าจ้างที่ 1.5 เท่าของค่าจ้างปกติ หรือถ้าต้องทำงานล่วงเวลา (OT) ก็จะได้ค่าจ้างเพิ่มอีก 0.5 หรือ 1 เท่า ดังนั้นจึงไม่สงสัยว่าเหตุใดแรงงานไทยในเกาหลีเมื่อกลับมาที่ไทยจึงสามารถพลิกชีวิตและความเป็นอยู่ของครอบครัวได้อย่างรวดเร็ว แรงงานบางคนหลังจากหมดสัญญาจ้าง (สัญญาจ้างส่วนมาก 3 ปี และสามารถต่อได้อีก 1 ปี 10 เดือน) กลับมาอยู่อาศัยถาวรที่ประเทศไทยก็เลือกที่จะเป็นนายตัวเองทำธุรกิจเล็ก ๆ เช่น ขายของเล็ก ๆ น้อย ๆ ใช้ชีวิตให้มีความสุขมากขึ้น ดิ้นรนให้น้อยลง ในขณะที่บางคน เช่น ผู้ที่เคยเป็นเกษตรกร ผันตัวเป็นนักธุรกิจ SME ทว่า ผู้ที่ยังคงทำงานใช้แรงงานอยู่ในประเทศไทย เงินเดือนที่หาได้แม้รัฐจะใช้ความพยายามในการปรับแล้ว แต่เมื่อพิจารณาจากความจริงจะพบว่า นอกจากค่าอาหารรายวัน ยังมีค่าใช้จ่ายรายเดือน ค่าดูแลลูก หรือบางครอบครัวมีพ่อแม่ชราที่ต้องดูแล ค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มเข้าไปอีก ดังนั้น โอกาสที่จะได้มี ได้ใช้ ได้ทำ ในสิ่งที่เกินความจำเป็นของชีวิต เช่น มีบ้าน มีรถเป็นของตนเอง ใช้ของแบรนด์เนม พาครอบครัวไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ทั้งหมดนี้คงเรียกได้ว่า “เป็นฝันที่ไกลเกินฝัน”

ภาพที่ 3: อัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเทศไทยปี 2565

ที่มา: กระทรวงแรงงาน

           กรณีของผีน้อย แม้จะเป็นการไปทำงานที่เกาหลีใต้เหมือนกัน แต่กระบวนการนั่นง่ายกว่าไปแบบถูกกฎหมายมาก เป็นวิธีการที่ไม่ได้อยู่ในที่แจ้ง แต่เป็นที่มืด จึงได้ชื่อว่า “ผี” เพราะต้องอยู่ในเงามืดตลอด และกระบวนการต่าง ๆ ก็คือ “ผี” ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ นายหน้าผี ที่ประกาศในกลุ่ม Facebook มาทั้งในรูปแบบบริษัทจัดหางานผี ทัวร์ผี กลุ่มผู้อ้างตัวว่ามีสิทธิพิเศษในการพาเข้า ประเทศ ฯลฯ โดยจะมีการเรียกเก็บเงินค่านายหน้าตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสนบาท บางเจ้าต้องจ่ายรวดเดียว บางเจ้าให้แบ่งจ่ายโดยงวดแรกจ่ายสด งวดต่อไปหักจากเงินเดือนที่ทำงานได้ ทั้งนี้ ความเสี่ยงไม่ได้อยู่กับใครเลยนอกจาก “คน” ที่จะไปเป็น “ผี” ที่เกาหลีใต้ ไม่ว่าจะผ่าน ตม. หรือไม่อย่างไร นายหน้าเหล่านี้ก็ได้เงินส่วนหนึ่งและลอยตัวแล้ว โดยเฉพาะเมื่อปีที่ผ่านมาหลังจากสถานการณ์ของโควิดเบาบางลง คนไทยเริ่มแห่ไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น รวมทั้งเกาหลีใต้ด้วยซึ่งช่วงเวลานี้นับว่าเป็นโอกาสที่เหมาะเจาะกับการไปกับทัวร์เพื่อลักลอบหนีเข้าทำงานในประเทศ เกาหลีใต้ ในบรรดาโปรแกรมทัวร์ยอดฮิตของเกาหลีใต้นั้น โปรแกรมทัวร์เกาะเชจูซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ ตั้งอยู่บริเวณปลายคาบสมุทรเกาหลี มีราคาที่ค่อนข้างถูกถึงถูกมาก และแน่นอนว่านักล่าเงินวอนไม่ยอมปล่อยให้เสียโอกาสอย่างแน่นอน ทว่า ตม. เกาหลีใต้ไม่ได้นิ่งนอนใจ และมีแผนรับมือเป็นอย่างดีในการคัดกรองคนเข้าประเทศ ส่งผลให้ในปี 2565 ที่ผ่านมา ด่านตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ที่เกาะเชจูกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่จับคนไทยส่งกลับประเทศจุดสำคัญของเกาหลีใต้ไปโดยปริยาย (BBC News, 2022)

           ส่งท้ายของบทความนี้ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ที่สนใจในประเด็นของผีน้อยไทยในเกาหลี จะได้แง่คิดมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับปัญหาแรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว มีหลายบริบทที่เชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่ บางจุดขมวดจนกลายเป็นปมที่ยากจะแก้ไขได้ ทั้งเรื่องความต้องการของนายจ้างเกาหลีเอง ภาคส่วนของเกาหลีใต้อาจต้องพิจารณาแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ตัดอุปสงค์ของนายจ้างเกาหลีในการจ้างงานผีน้อย เชื่อว่าจำนวนผีน้อยอาจจะลดลง และค่อย ๆหมดไปในที่สุด แต่ตราบใดที่ความต้องการของนายจ้างยังคงมี แน่นอนว่าต่อให้เกาหลีใต้มีระบบ K-ETA และ ตม. จอมโหดที่คัดกรองคนไทยเข้าประเทศเกาหลี ก็ไม่สามารถยุติวงจรผีน้อยได้อย่างแน่นอน เพราะนาย(ผี)จ้าง ยังคงอ้าแขนต้อนรับอยู่เสมอ อีกทั้งโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทยที่เสียสมดุลอย่างที่สุดในขณะนี้ รายรับ กับรายจ่ายที่ย้อนแย้งกันอย่างสิ้นเชิง คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความพยายามของ “คน” ไทย ที่จะกลายไปเป็น “ผีน้อย” ไทยที่เกาหลี ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องตราบเท่าที่รัฐยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนได้ทั้งระบบ


รายการอ้างอิง

ข่าวสด. (2566, 27 ตุลาคม). ดราม่าเดือด! ชาวไทยแห่ #แบนเที่ยวเกาหลี ติดเทรนด์ หลังไปเที่ยว ถูกตม.ส่งกลับ. ข่าวสด. https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_7935572

ไอริตา โคจิม่า. (2565). ปัจจัยที่ทำให้แรงงานไทยไปทำงานผิดกฎหมายที่สาธารณรัฐเกาหลีใต้. สาขาวิชาเอเชียศึกษา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, หน้า 19-26

อุมาพร สิทธิบูรณาญา. (2562, 11-12 กรกฎาคม). แก๊งผีน้อยในเกาหลี. สาขาวิชานิติศาสตร์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม. งานประชุมวิชาการระดับชาติครั้งที่ 11 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม, หน้า 1039-1040

สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2565). รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือน เป็นรายภาค และจังหวัด พ.ศ. 2547 – 2564. http://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/sector/th/08.aspx

ธันยพร บัวทอง. (2565). เกาหลีใต้ : แกะรอยเส้นทางแรงงาน "ผีน้อย" ระลอกหลังโควิด. สำนักข่าว BBC News. https://www.bbc.com/thai/articles/c4nmjznl182o

HRD KOREA EPS center in Thailand. (2017). กฎหมายและความปลอดภัยในสถานประกอบการ (ภาษาไทย). https://hrdkoreathailand.com/th

Yaenah Park. (2019, 16 December). New Policy for illegal resident management. Immigration Update. www.peoplefirstrelo.com

김원장. (2022, 12 August). 불법체류 14만 명…태국인들은 어떻게 한국에 들어오나?. KBS News. https://news.kbs.co.kr/news/pc/view/view.do?ncd=5531875

이찬. (2016). 너도나도 한국어 개정판. 고용노동부,한국산업인력공당. (사) 한국장애인유권자연맹인쇄사업부, pp. 181


ผู้เขียน
รัฐปกร ฟักอ่อน


 

ป้ายกำกับ ผีน้อย แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ เกาหลีใต้ รัฐปกร ฟักอ่อน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share