ด้วยรัก, วัน สิทธิชัย

 |  พื้นที่ การอพยพเคลื่อนย้าย และชายแดน
ผู้เข้าชม : 1648

ด้วยรัก, วัน สิทธิชัย

           บ่ายคล้อยวันอาทิตย์สุดท้ายก่อนเข้าสู่ปีใหม่ แสงอาทิตย์สาดส่องทะลุต้นไม้ลงยังแคร่หน้าบ้านที่วันกำลังนั่งพักอยู่ ลมหนาวพัดผ่านเป็นระยะบรรเทาความเหนื่อยล้าจากการเตรียมทุ่งทำนาปรังในอีกไม่กี่วัน เป็นเรื่องปรกติที่ละแวกนี้จะเงียบสงัดเช่นวันนี้

           เขารู้ดีว่าเพื่อนบ้านไม่กำลังสาละวนอยู่ในนาก็คงเอนกายนอนอยู่ในตัวบ้าน นับว่าเป็นความโชคดีที่บ้านอยู่ห่างจากถนนเส้นหลัก ห่างมากพอที่ทำให้ไม่ถูกรังควาญด้วยเสียงผ่านไปผ่านมา อีกทั้งละแวกบ้านมีแต่คนรุ่นคราวเดียวกัน จึงไม่มีเสียงหยอกล้อชวนรำคาญของเด็กมารบกวนบ่ายอันเหนื่อยล้า

           ก่อนจะเอนกายลงบนแคร่ไม้ไผ่นั้น สายตาเหลือบไปเห็นซองสีน้ำตาลสามสี่ฉบับวางอยู่อีกฝั่ง มือกร้านคว้าไปหยิบมาสำรวจชื่อผู้ส่งเป็นอย่างแรก ครู่หนึ่งวันคิดว่าเป็นจดหมายจากหน่วยงานสักแห่ง แต่ข้อความจ่าหน้าเขียนด้วยลายมือตัวหวัดทำให้ประหลาดใจ น่าแปลก… เขาไม่ยักเชื่อว่าในยุคที่ผู้คนติดต่อสื่อสารกันผ่านอุปกรณ์สัมผัสจอไร้ปุ่มกด จะยังมีคนติดต่อกันทางจดหมาย

           ที่น่าแปลกกว่านั้นคือชื่อผู้รับและผู้ส่งคือชื่อเดียวกัน!!!

           วันเพ่งมองข้อความบนซองอีกครั้งเพื่อยืนยันสิ่งที่ตาเห็น สัมผัสของนิ้วมือกับแผ่นกระดาษที่เนื้อสัมผัสบ่งบอกการเดินทางข้ามเวลาอันยาวนานยิ่งทำให้ประหลาดใจ เขาฉีกซองอย่างระมัดระวัง ในซองแรกมีกระดาษสมุดพับทบซ้อนกันสามแผ่น คราบหมึกบนกระดาษเริ่มจางตามอายุของความทรงจำ

······························


กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๔

ผมรักบ้านโอด!

           ไม่ใช่เพราะบ้านโอดเป็นบ้านเกิด ไม่ใช่เพราะบ้านโอดโอบล้อมด้วยกกยางสูงใหญ่ ไม่ใช่เพราะบ้านโอดมีกลิ่นต้นข้าวในท้องนากว้างริมลำเซบก

           แต่บ้านโอดเต็มไปด้วยทรงจำของมดแดงน้อยที่ลอยล่องอยู่ทุกแห่งหน เป็นความทรงจำที่ชวนให้ผมในอีกหลายปีต่อมานึกถึงความสุขในช่วงวัยที่แทบจดจำสิ่งใดมิได้

           แต่สิ่งหนึ่งที่จำได้แม่นคือ ผมเกิดวันที่ ๑๑ เดือนห้า ไม่รู้ว่าผู้คนเกิดแก่เจ็บตายมากเพียงใดกว่าจะรู้ว่าหากนับตามปฏิทินแบบไทยนั้น ตนเกิดวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๐ ความต่างของการนับเวลาแบบลาวและไทยทำให้สับสนอยู่บ่อยครั้ง เช่นเดียวกับภาษาที่ใช้สื่อสารกับคนบ้านนอก

           ผมเกิดในยุคที่ยังคลอดลูกกับหมอตำแยที่บ้าน ไทบ้านปล่อยให้ธรรมชาติและสัญชาตญาณความเป็นมนุษย์กำหนดความเป็นความตาย จนทางนู้นเขามาตั้งผดุงครรภ์ที่เหล่าแดง

           แต่คนบ้านเฮาก็ไม่ไปหรอก ใช่ว่าไม่อยากสุขภาพดี แต่เดินไปกลับจากบ้านไปเหล่าแดงก็เสียเวลาเปล่าไปตั้งวัน

           ตอนผมเกิดบ้านโอดยังเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ แถบลำเซบก แม้หลวงจะเรียกพื้นที่ตรงนี้ว่าบ้านโอด แต่สำหรับหมู่เฮากลับคุ้นเคยกับชื่อโอดนาดีมากกว่า คนรุ่นพ่อแม่เล่าว่าเดิมไทบ้านอาศัยอยู่ริมลำเซบกใกล้วัดแก่งตอย มีญาถ่านขี้เถ้าคอยปกปักษ์รักษา

           จนกระทั่งจระเข้แกะสลักด้วยไม้ทองหลางที่หลวงพ่อเสกคาถาให้ชีวิตออกอาละวาด พวกเขาจึงหนีออกมาตั้งบ้านให้ไกลจากลำเซ

           เดิมกระจุกกันที่บ้านหนองแคน บ้านม่วง ญาท่าเสือ (พระครูสุวรรณวรดิตถ์) เคยเล่าให้ฟังตอนผมบวชเณรว่า สามปีให้หลังประมาณปี ๒๔๐๓ แม่ใหญ่หมา แม่ใหญ่กล้วย แม่ใหญ่เซ พ่อใหญ่ทัด ย้ายมาตั้งบ้านสร้างวัดบ้านโอดใกล้กกยางชุมบ้านเฮานี่แหละ

           ทั้งคุ้มบ้านและวัดโอบล้อมด้วยกกยางนาสูงชะลูดเสียดฟ้าลำต้นขนาดสามคนโอบ หากมองผ่านดวงตาของนกที่กำลังโผบิน มนุษย์เดินดินอย่างเราก็ตัวเล็กไม่ต่างจากมด ต้นยางนาเรียงตัวสลับกับซาดและกระบกเรียงแนวยาวขนานถนนดินแดงเส้นหลัก

           ต้นยางนาที่มีอยู่นับไม่ถ้วนพวกเราจึงเรียกที่นี่กันติดปากว่า “กกยางชุม” เป็นพื้นที่กลางของชุมชนรองลงมาจากวัดบ้านโอด



           กกยางชุมรกชัดทำให้บรรยากาศโดยรอบเงียบสงัดชวนขนลุกซู่ ต้นไม้สูงแข่งกันแผ่กิ่งก้านสาขายากที่แสงอาทิตย์จะสาดส่องลงมา ไม่รู้ว่าอ้ายพวกเจ้าหน้าที่ใส่ชุดลายพรางที่เดินวนเวียนอยู่แถวกกยางจะรู้สึกเหมือนกันหรือเปล่า

           ผมได้แต่จินตนาการว่าข้างหลังกกยางจะมีสิ่งที่มีอยู่แต่มองไม่เห็นด้วยตาหรือไม่ เล่าให้พ่อฟังก็มักจะได้คำตอบกลับมาแค่ว่า

           “ต้นไม้ใหญ่บ่มีผี สาวผู้ดีบ่มีซู้”

           ไทบ้านถางป่าสร้างถนนดินแดงสำหรับเกวียนผ่านเป็นทางสัญจรหลักของหมู่บ้าน ตัดทะลุทุกคุ้มบ้านผ่านวัดบ้านโอดเรื่อยไปจนถึงกกยางชุมไปจนถึงบ้านกระบูน ฝั่งซ้ายเป็นกกยางชุมตัดสลับกับป่าพี่พวกสวมเสื้อลายพรางเรียกว่าป่าดงกระบูน เลยวัดบ้านโอดเป็นที่รกร้าง คนรุ่นพ่อแม่ถางป่าเพื่อใช้เป็นที่ปลูกข้าวทำนา อีกทั้งยังอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำธรรมชาติจึงสะดวกกับการเพาะปลูก

           ชีวิตที่บ้านโอดเริ่มขึ้นตั้งแต่ตะวันยังไม่พ้นขอบฟ้า พ่อกับแม่ตื่นแต่เช้าตรู่เตรียมข้าวปลาอาหารให้ผมก่อนไปโรงเรียน ทุกกิจกรรมดำเนินไปพร้อมเปลวไฟในตะเกียงที่เต้นระบำตามแรงลม กระทั่งแสงแรกของวันส่องเข้ามา ไฟในตะเกียงก็จะถูกดับลงพร้อมเป็นสัญญาณสำหรับการเริ่มวันใหม่ที่แท้จริง

           พ่อเล่าว่าหลังผมเกิดได้ประมาณสองปีก็มีโรงเรียนประถมมาเปิดในหมู่บ้านตรงข้ามกกยางชุม ช่วงแรกไม่มีอาคารเรียน ครูถ่ายทอดความรู้แก่นักเรียนในห้องเรียนธรรมชาติ

           ครูในโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นคนจากบ้านใกล้ อาศัยเดินเท้าไปกลับตั้งแต่ช่วงเช้ามืด พ่อแม่ส่งผมไปเรียนเพราะเห็นโอกาส หากอ่านออกเขียนได้ก็จะพอมีความรู้ติดตัวไว้ใช้ทำมาหากินในอนาคต

           ในขณะที่ผมใช้ชีวิตอยู่ในห้องเรียน พ่อกับแม่ก็จะยุ่งอยู่กับข้าวในนาจนบ่ายแก่ บางวันผมไม่ได้ไปเรียนก็ตามไปช่วยพ่อกับแม่ทำนา ทุกครั้งก่อนเดินลงนาผมจะได้ยินเสียงพ่อพึมพำให้ตาแฮกช่วยคุ้มครองข้าวในนาให้รอดพ้นจากน้ำท่วม

           ที่จริงน้ำลำเซบกล้นท่วมที่นาของไทบ้านแทบทุกปี ไม่ใช่เรื่องแปลกและนับเป็นเรื่องดีเสียด้วยซ้ำที่ข้าวในนาจะได้รับความชุ่มชื่นจากน้ำ แต่น้ำท่วมใหญ่เมื่อหลายปีก่อนทำให้พ่อกังวลจนนอนไม่หลับ ครั้งนั้นน้ำขังสูงเฉียดเข่านานอยู่หลายมื้อ จนข้าวที่เพิ่งแตกกอไม่นานเน่าตาย

           แต่สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับผม คือตอนที่แม่ชวนไปเก็บขี้ยางมาทำขี้กะบอง เชื้อเพลิงธรรมชาติที่มีใช้ในทุกบ้าน นอกเหนือจากกรรมวิธีการทำที่น่าสนุกแล้ว ความพิเศษอีกอย่างคือขี้กะบองไม่ได้เป็นสิ่งที่ไทบ้านทำกันทุกวันแต่จะทำมากในช่วงแล้ง ทำครั้งหนึ่งก็ตุนไว้ใช้ไปอีกหลายมื้อ

           เริ่มต้นก็เอาขวานเจาะเปลือกไม้ยางนาให้เป็นขุม เอาจุดไฟให้ยางไหลออกมาตามความร้อน ระหว่างรอไฟมอดก็ปัดกวาดเศษใบไม้แห้งรอบต้นป้องกันสะเก็ดไฟกระเด็นจนเกิดเพลิงไหม้ โดยเฉพาะช่วงลมหนาวพัดผ่านที่ไฟไหม้ป่าบ่อยครั้ง จนรอยไหม้บนเปลือกไม้เริ่มขยายใหญ่ขึ้น

           แม่ใช้ใบไม้สดฟาดลงบนกองเพลิงเพื่อดับไฟ รอกระทั่งเหลือเพียงเขม่าควันกลิ่นฉุนเตะจมูก จะเห็นน้ำมันยางเริ่มไหลออกมาตามรอยเปลือกไม้ แม่บอกว่าต้องรออีกสามสี่วันจึงจะมาเก็บน้ำมันยางได้

           เรากลับมายังต้นยางต้นเดิมในอีกหลายวันถัดมา สังเกตไม่ยากจากรอยไหม้ดำรอบขุมยางที่ขุดไว้ ขุมทรัพย์ที่เฝ้ารอมาหลายวันปรากฏให้เห็น ของเหลวหนืดข้นสีน้ำตาลเข้มไหลตามรอยหยักของเปลือกไม้

           แม่ค่อย ๆ ตักน้ำมันยางลงครุที่ติดสอยมาจากบ้าน พลางไล่ให้ผมช่วยหาไม้ขอนดอกกับเศษไม้ที่ตกอยู่ตามพื้นไว้ผสมกับน้ำมันยาง ก่อนกลับมิวายเด็ดใบตองซาดไว้ใช้ห่อขี้กะบอง

           ถึงบ้านก็ก่อฟืนเตรียมทำแท่งขี้ใต้ แม่นำไม้ขอนดอกกับเศษไม้กองใหญ่ที่ให้ผมเก็บมาบดให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแล้วนำมาตั้งไฟให้ละลาย แล้วนำน้ำมันยางลงผสมคนรวมกัน ของเหลวหนืดแซมเศษไม้สีเริ่มเข้มขึ้นก็ยกออกจากเตามาพักให้เย็นลง จนท้ายที่สุดก็นำวัตถุหนืดข้นนั้นวางลงบนใบตองซาดที่วางทบกันหลายใบ สองมือปั้นเกลี่ยให้กลายเป็นแท่งยาวห่อแล้วมัดให้แน่น



           ทำเสร็จแม่ก็จะเอามามัดรวมกันเป็นดึ้ม ดึ้มหนึ่งมีประมาณสิบเล่ม หน้าแล้งครั้งหนึ่งก็ทำทีละหลายดึ้มจนใส่เกวียนไม่พอ ทุกปีผมก็เห็นแม่ทำกะบองมาเติมแทนส่วนที่ร่อยหรอไป เวลาใช้ก็นำไฟจ๊วดจุดที่ปลายกะบองให้เกิดประกายไฟ เพียงน้อยนิดก็พอสำหรับแสงสว่างเกือบทั้งคืน

           “คนสมัยก่อนเขารู้ได้ยังไงว่าต้นนี้ทำเชื้อเพลิงได้” ผมถามแม่ด้วยความสงสัย

           “บ่ฮู้คือกัน น่าจะลองผิดลองถูกกัน เกิดมาก็เห็นพ่อแม่เฮ็ดกันจังซั่น เฮ็ด…รุ่นต่อรุ่น ถือว่าเป็นแหล่งกำเนิดของแสงสว่าง ขาดบ่ได้แต่ละครัวเรือน ตามแต่เบิ่งมา ขาดบ่ได้ มีทุกเฮือน”

           คนบ้านโอดใช้ขี้กะบองเป็นวัตถุให้แสงสว่างมาแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ แสงสว่างในแต่ละบ้านหรือหม้อต้มข้าวในแต่ละเรือนก็มาจากกะบองทั้งนั้น กระทั่งตอนเผาศพคนตายในป่าช้าก็เอาขี้ใต้ไปจุด

           แม้ปัจจุบันจะมีคนไปรับน้ำมันก๊าดกับตะเกียงมาขาย แต่ก็แลกกับสตางค์หลายบาท ทั้งพวกเขายังพึ่งพิงวัตถุไวไฟทำมือมากกว่า แม่เล่าว่าแทบไม่มีบ้านไหนไม่ทำขี้กะบองใช้เอง

           แต่ก็ใช่ว่าขี้กะบองจะไม่ใช่ของซื้อของขาย ไทบ้านก็เอามาขายเล่มละสลึง ห้าเล่มบาท ถ้าเล่มใหญ่ก็สามเล่มบาท บางครั้งก็ฝากหมู่เอาขึ้นเรือไฟไปขายในตลาดที่อำเภอบ้าง และไม่ได้เอาไปแลกเงินเพียงอย่างเดียว บางคนเอากะบองไปแลกข้าวสารบ้าง แลกรำข้าวไว้ให้อาหารหมูบ้าง เอาไปแลกบักพริกบ้าง แม่เคยบอกว่ามีคนในบ้านโอดที่ขายกะบองซื้อที่นาได้ จนไทบ้านพูดกันติดปากว่า

           “บ้านโอดโตดโต้ กินข้าวค่ากะบอง”

           ผมคงต้องจบจดหมายไว้เพียงเท่านี้ ใช่ว่าผมไม่อยากเล่าเรื่องบ้านโอดที่ผมรักให้คุณฟัง แต่แม่ตะโกนเรียกให้ผมไปช่วยเก็บขี้ยางหลายรอบแล้ว ชักช้ากลัวว่าจะต้องเดินเข้าป่าหลังบ้านคนเดียว

เด็กชายสิทธิชัย ทองใบ
โรงเรียนบ้านโอด

······························

 

           วันละสายตาจากแผ่นกระดาษพลันยิ้มออกมาด้วยความเอ็นดู เขานึกถึงวัยเด็กของตนที่ก็ตื่นเต้นกับการละลายน้ำมันยางไม่ต่างจากเด็กชายสิทธิชัย เวลาผ่านมานานจนแทบจะลืมว่าขี้กะบองหน้าตาเป็นเช่นไร

           หลายปีให้หลังราคาน้ำมันก๊าดและตะเกียงเริ่มถูกลง คนบ้านโอดก็หันไปใช้เชื้อเพลิงใหม่ที่ประหยัดเวลากว่า กระทั่งเสาไฟต้นแรกปักลงในหมู่บ้านช่วง 2530 ขี้กะบองแทบหมดความสำคัญและเริ่มกลายเป็นพยานวัตถุแห่งความทรงจำมาจนถึงทุกวันนี้

           เขาหยิบจดหมายซองที่สองระบุที่อยู่ผู้ส่งต่างกัน หยาดเหงื่อบนขมับหยดลงบนชื่อผู้รับจนรอยหมึกเปื้อนตามเหงื่อที่ไหลไป วันค่อย ๆ ฉีกตามรอยพับของซองจนเห็นกระดาษที่พับทบกันสองชั้น รอยหมึกบนกระดาษแผ่นแรกเริ่มจางตามเวลา ขณะที่รอยหมึกของอีกแผ่นซึมทะลุติดกับหลังแผ่นแรก

······························

 

มิถุนายน พ.ศ.2524

 

ผมรักบ้านโอด!

           แม้บ้านโอดตอนนี้จะเงียบสงบต่างจากภาพที่ผมเคยเห็นก็ตาม ถนนลาดหินที่เพิ่งตัดผ่านหมู่บ้านก็ไม่ทำให้บ้านโอดคึกคักเหมือนก่อน พวกหมู่ที่เคยวิ่งเล่นด้วยกันก็แยกย้ายไปทำมาหากินตามกำลังสามารถ บางคนยังอยู่ช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนา หมดช่วงก็ไปรับจ้างรอฤดูทำนาวนมาอีกรอบ แต่คนส่วนใหญ่ซึ่งรวมถึงผมก็ออกไปทำงานนอกบ้าน กระจายกันไปที่ต่าง ๆ มีทั้งในเมืองอุบลและจังหวัดอื่น

           ผู้ใหญ่ที่บ้านคุยกันว่าน้ำในลำเซท่วมนาทำให้เพาะปลูกยาก ที่นาแต่ละคนไม่ได้ใหญ่โตหรอก พออยู่พอกิน บ้านไหนที่ลูกเต้าเริ่มโตเป็นหนุ่มเป็นสาวก็มีแรงงานทำนาเพิ่มขึ้น ทุ่งที่พวกเราเคยวิ่งเล่นตอนละอ่อนเริ่มหดเล็กลง ไม่ทันตั้งตัวก็รู้สึกได้ว่าข้าวปลาอาหารที่หามาได้แต่ละวันเริ่มไม่พอ

           เขาว่าเพราะคนบ้านโอดมีลูกเยอะ บางบ้านมีลูกตั้งสิบสี่สิบห้าคน แทบจะหัวปีท้ายปี ยังไม่รวมลูกเล็กที่ไม่ทันจะลืมตาดูโลกก็จากไปไม่รู้อีกเท่าไหร่ มีลูกเยอะแต่ทรัพย์สินมีไม่มากก็เลี้ยงยาก

           วันหนึ่งมีคนแปลกหน้าที่อ้างว่ามาจากสถานีผดุงครรภ์มาคุยกับไทบ้านเรื่องทำหมันคุมกำเนิด ครั้งถัดมาก็หยิบห่วงอนามัยมาสอนวิธีใช้งานให้แต่ละคน แม่ว่าเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง

           พักหลังคนแปลกหน้าพวกนั้นไม่ค่อยมาให้เห็นหน้า แต่กลับมาบ้านเฮาผ่านเสียงเพลงบรรเลงกระจายเสียงผ่านวิทยุทั่วทุกหมู่บ้าน นับแต่ตื่นเช้าจนก่อนนอนก็ได้ยินวันละหลายรอบ

           “ลูกมากจะยากจน เลี้ยงดูแต่ละคน เหนื่อยอ่อนใจ กว่าลูกน้อยจะเติบใหญ่ หาได้เท่าไหร่ก็ใช้ไม่พอ”

           ผมจำได้ว่าไทบ้านหลายคนหมกมุ่นกับเพลงนี้กันพักใหญ่ ไอ้คำว่า “ยากจน” ในเนื้อร้องเริ่มตามหลอกหลอน ไม่มีใครรู้ความหมายที่แท้จริงของมัน

           บทสนทนาของคนบ้านโอดในช่วงนั้นเลยวนเวียนอยู่แค่ว่าความยากจนคืออะไร เหมือนพ่อและแม่ที่เมื่อเพลงดังขึ้น ก็จะเริ่มบ่นว่าเลี้ยงลูกจะทำให้จนได้ยังไง

           หมู่สนิทเคยอ่านหนังสือพิมพ์ให้ฟังว่านักอะไรต่อมิอะไรต่างออกมาสนับสนุนหมอสมัยใหม่ที่แนะนำให้ประชาชนทำหมัน พร้อมเทียบให้เห็นว่ากว่าเด็กสมัยนี้จะเติบใหญ่ต้องใช้แรงกายแรงใจและกำลังทรัพย์มหาศาลจนเหลือไม่พอสำหรับวันข้างหน้า

           พักหลังคนบ้านโอดเริ่มมีลูกน้อยลง พวกเขาจะไปหาผดุงครรภ์ให้ช่วยดูแลเรื่องนี้ เพราะที่นั่นเริ่มให้บริการเกี่ยวกับการทำหมันและคุมกำเนิด

           ช่วงแรกคนบ้านเรากลัว ไม่กล้าทำ จนพักหลังเพลงลูกมากจะยากจนติดหูซ้ำมีเจ้าหน้าที่มาบอกว่าทำหมันไม่บาปเพราะเด็กไม่ต้องเกิดมาลำบากและเป็นทุกข์ ก็เริ่มมีคนบ้านโอดเราตัดสินใจทำหมันบ้าง

           ตอนนั้นคนที่ผดุงครรภ์บอกให้ผู้ชายทำหมัน ไม่ให้ผู้หญิงทำ แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมีคนทำหรอก ไม่ยอมทำกัน จะว่าผู้ชายเอาเปรียบผู้หญิงก็ได้

           ประจักษ์พยานของความยากจนเผยให้เห็นผ่านชีวิตของผมและพรรคพวก ข้าวในนาที่เคยพอกินทั้งบ้านเริ่มไม่พอ จะเอากะบองไปแลกก็ไม่ค่อยมีใครรับ

           เป็นอีกครั้งที่ผมเห็นกับตาว่าบ้านโอดเปลี่ยนไป ไทบ้านเริ่มหันมาเก็บแผ่นกระดาษพิมพ์ลายเขียวแดง เพราะรู้ว่าใช้แลกของกินของใช้ได้



           ไม่กี่เดือนหลังจบป.7 ผมก็เข้าไปหางานทำในเมืองอุบล ส่วนใหญ่คนบ้านเฮาจบป.4 ก็ไปช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนา มีบ้างที่เรียนต่อจนจบป.7 อย่างผมจบป.4 ก็ไปบวชเณรพักหนึ่ง แล้วกลับไปเรียนป.7 จนจบ

           วัยรุ่นบ้านนี้ไม่ค่อยเรียนต่อมัธยม นอกจากที่พ่อแม่ไม่มีเงินพอสำหรับส่งเสียให้เรียนต่อ โรงเรียนมัธยมที่ใกล้ที่สุดก็อยู่ห่างออกไปหลายกิโลฯ เลยไม่ค่อยได้เรียนหนังสือต่อกัน

           ช่วงปี 2517 ผมจากบ้านโอดไปหางานทำอยู่ในตัวเมืองอุบล ช่วงนั้นอุบลคึกคักเป็นพิเศษ ฝรั่งหัวทองเดินอยู่ทั่วทุกมุมเมือง

           ผมเคยได้ยินในวิทยุว่าพวกฝรั่งมะกันมาตั้งฐานทัพที่อุบลเพื่อสืบความลับจากพวกคอมมูนิสต์ลาวแดงพวกญวน กิจการค้าขายของคนอุบลก็พลอยเจริญรุ่งเรืองตามไปด้วย ยังจำได้ดีว่าคนอุบลตอนนั้นพูดได้ทั้งลาว ไทย และภาษาฝรั่งนิดหน่อย

           ตอนนั้นผมเป็นพนักงานขายรองเท้าในห้างยิ่งยงสรรพสินค้า เงินเดือนประมาณ 80 บาท ถือว่าเยอะกว่าทำมาหากินอยู่บ้านโอด แต่พื้นฐานผมเป็นคนชอบเรียนหนังสือ จึงตัดสินใจเรียนไปทำงานไปด้วย

           ทุกเสาร์อาทิตย์ก็จะนั่งรถไปเรียนที่ ศ.อ.ศ.อ. (ศูนย์กลางอบรมการศึกษาผู้ใหญ่ จังหวัดอุบลราชธานี) แถวหลังวิทยาลัยครู เรียนได้ประมาณปีครึ่งก็จบได้วุฒิการศึกษาผู้ใหญ่ระดับ 4 เทียบเท่าชั้นม.3

           ผมได้แต่คิดว่าหากบ้านโอดเฮามีโรงเรียนมัธยม หรืออย่างน้อยที่สุดมีที่ให้คนวัยรุ่นได้เรียนหนังสือ คนบ้านโอดอาจจะทำมาหากินได้สะดวกมากกว่านี้

           ช่วงนั้นผมก็ไปมาหาสู่บ้านโอดตลอด การเดินทางง่ายกว่าเมื่อก่อนเยอะ สมัยแต่ก่อนจะเดินทางมาตัวเมืองอุบลต้องนั่งเรือไฟล่องลำเซมาออกปากน้ำมูล ค่าโดยสารแค่บาทเดียวแต่ก็เสียเวลาเกือบทั้งวัน

           ช่วงปี 2510 เริ่มมีรถสาธารณะวิ่งมาถึงบ้านโอด ค่ารถสองบาทแต่ใช้เวลาน้อยกว่าเรือไฟ ช่วงนั้นรถยังวิ่งบนถนนดินแดง เจ้าอาวาสวัดบ้านโอดจึงให้ชาวบ้านช่วยกันถางทำทางรถผ่าน



           จนประมาณปี 2515 มีรถสองแถวเข้ามาบ้านท่าศิลา ใช้เวลาน้อยกว่าทั้งเรือไฟและรถสาธารณะก่อนหน้า แต่ไทบ้านก็ต้องเดินเท้าจากท่าศิลามาบ้านโอด

           พักหลังค่ารถค่าเรือขึ้นมาเป็น 5 บาท แต่เรือไฟเริ่มลดความนิยมลงเพราะใช้เวลายาวนานที่สุด ออกจากบ้านสองโมงเช้ากว่าจะถึงก็สามโมงแลง เวลานั่งเรือไปอุบลก็ต้องค้างคืนอยู่นู่นแล้วค่อยกลับ แต่ถ้านั่งรถไปออกตั้งแต่ตีห้า ห้าโมงหกโมงเย็นก็กลับมาถึง

           เวลาผ่านไปจนกระทั่งสมัยพ่อใหญ่คึกฤทธิ์​ บ้านโอดเริ่มมีถนนลาดหินตัดทะลุหมู่บ้าน การเดินทางสัญจรของผู้คนก็สะดวกรวดเร็วกว่าเก่า คนบ้านเฮาเอิ้นถนนคึกฤทธิ์ นายกคึกฤทธิ์ไม่เคยมาบ้านโอดหรอก คนบ้านโอดเคยได้ยินแต่ว่าคึกฤทธิ์ทำเงินผันเลยเอามาใช้เรียกชื่อถนน

           ถนนคึกฤทธิ์ตัดเลาะหมู่บ้านได้ไม่ถึงปีก็เกิดน้ำท่วมใหญ่อีกครั้ง ปีนี้น้ำท่วมจนที่นาเสียหาย เดชะบุญที่มีคนบ้านโน้นมาชวนไปทำงานที่บ้านนอกพอดี นั่นจึงเป็นการออกเดินทางไกลบ้านจริง ๆ ครั้งแรก สามสี่ปีหลังน้ำท่วมใหญ่ ผมจำได้ว่าตัวเองเดินทางนับครั้งไม่ถ้วน

           ตอนปี 2519 ก็นั่งรถไฟจากอุบลไปถึงชุมพร ค่ารถเที่ยวละ 70 บาท ออกจากอุบลตอนหกโมงเย็นแล้วไปต่ออีกขบวนที่หัวลำโพงในเย็นอีกวัน กว่าจะถึงสวีก็กินเวลาไปเกือบสามวันเต็ม

           อยู่นั่นผมทำงานเก็บกาแฟ สอยบักพร้าวได้ค่าจ้างวันละ 15 บาท ค่าที่พักค่าอาหารไม่ต้องเสียเพราะกินอยู่กับนายหัว จำได้ว่าในสวนกาแฟสวนมะพร้าวมีแต่คนบ้านเฮา ก็พอทำให้หายคิดถึงบ้านโข

           หมดฤดูกาแฟและมะพร้าวเราก็ต้องหางานอื่นทดแทน ข่าวในวิทยุรายงานว่าแถวชายแดนเขมรมีคนขุดเจอบ่อพลอยจำนวนมาก หมู่คนสนิทที่มาด้วยกันก็ชวนไปทำงานในเหมืองขุดพลอยที่บ่อไร่-เขาสมิงพักหนึ่ง ในเหมืองมีทั้งคนไทยและคนเขมร

           เถ้าแก่แทบไม่ได้สนใจเลือดเนื้อเชื้อไขของคนงานอย่างเรา แสงระยิบและมูลค่าของพลอยในบ่อต่างหากที่เขาสนใจ

           พวกเราทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ได้เงินมาวันละ 20 บาท เงินเก็บผมเหลือโขเพราะเถ้าแก่มีที่พักอาหารให้ ทั้งตอนทำงานแค่คอยเฝ้าเครื่องจักรขุดพลอยทำงาน ไม่ต้องลงแรงมากเหมือนตอนทำไร่ทำสวน

           ทำงานขุดพลอยที่บ่อไร่ได้อีกปีก็กลับมาบวชที่บ้าน บวชได้พักหนึ่งแม่ฮักทำไปกองบุญที่คำขวางแถววารินฯ เลยตามเพิ่นไปอยู่ ตอนนั้นแถวคำขวางยังเป็นป่าสลับกับไร่สวนของไทบ้าน แถวที่ผมอยู่ไม่มีวัดด้วยซ้ำ ต่างจากตอนนี้เริ่มมีคนมาตั้งบ้านเยอะขึ้น มีวัด มีถนน มีโรงเรียนเลาะผ่าน

           จนผมสึกมาได้เมื่อไม่นานนี้เอง ฟังวิทยุนักข่าวก็บอกว่าทางหลวงส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจใหม่ส่งไปขายประเทศนอก โดยเฉพาะมันสำปะหลังที่กำลังเป็นที่นิยมเพราะค่าใช้จ่ายไม่เยอะ ปลูกง่าย ให้ผลผลิตเยอะ แต่จะให้ปลูกอยู่บ้านโอดก็กลัวน้ำท่วมก่อนได้เห็นหัวมัน

           ผมเลยออกเดินทางไกลบ้านอีกครั้ง รอบนี้ตามพ่อแม่พี่น้องที่บ้านโอดมาอยู่พัฒนานิคม ลพบุรี สลับกับมวกเหล็ก สระบุรี เขาว่าแถวนี้มีที่ดินทำกินเยอะ ดินก็ดี อุปกรณ์เขาก็ดีกว่า มีรถไถฟอร์ดช่วยให้ทำงานไวขึ้น ไร่ข้าวโพด มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง ถั่วลิสงไม่รู้กี่ร้อยไร่อยู่นั่น

           คนบ้านเรามาหากินกันเยอะแยะ ผมเช่าที่ทำไร่มันประมาณ 10 ไร่ ไร่ละ 200 บาท ปลูกแต่มันสำปะหลัง ไม่ได้ปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น เก็บมันมาขายก็ได้ประมาณกิโลละ 70 สตางค์ 10 ไร่ก็ขายได้เงินเยอะอยู่

           สำหรับผมการมาทำมาหากินไกลบ้านแบบนี้คือเรื่องปกติ อาจเพราะผมเดินทางจากบ้านมาตั้งหลายปี แต่สำหรับพี่น้องบางคนก็เป็นห่วงคนทางนู้น ช่วงฤดูทำนาเราก็จะกลับบ้านโอดไปทำนา ผมตั้งใจว่าอีกไปกี่วันหลังจากนี้ก็จะกลับไปหาบ้านโอดที่รักอีกครั้ง

วัน สิทธิชัย
พัฒนานิคม, ลพบุรี

······························

 

           วันพับกระดาษและสอดเข้าซองอีกครั้งทั้งรอยยิ้ม ความทรงจำช่วงวัยรุ่นทำให้เขามีความสุขเสมอ อาจเพราะการเดินทางไกลห่างบ้านเกิดเมืองนอนที่ช่วยเติมเต็มความกระหายใคร่รู้ เขายังจดจำช่วงเวลาบนรถไฟจากวารินชำราบไปหัวลำโพงต่อด้วยหัวลำโพงไปสวีได้เป็นอย่างดี ตอนที่เขาเดินทางค่าตั๋วรถไฟเที่ยวละ 70 บาท ต่างจากตอนนี้ที่ขึ้นมาหลายร้อยบาท

           เขายังจำได้ว่าตอนทำงานขุดพลอยที่บ่อไร่ รอบตัวเขามีแต่ลูกจ้างจากประเทศเพื่อนบ้านจนจำภาษาเขาได้ และยังจำได้ดีว่าเงินจากการขายมันสำปะหลังมากพอสำหรับซื้อจักรยานสแตนดาร์ดราคาพันกว่าบาทโดยไม่ลำบาก
 


 

           แม้จะไม่ได้ทำงานที่ใช้ความรู้จากการเล่าเรียน แต่ก็ไม่เคยรู้สึกเสียดาย เพราะวันเชื่อว่าการเรียนหนังสือหาความรู้เข้าหัวเป็นเรื่องดีเสมอ ความรู้ทำให้เขาได้พบเจอโอกาสใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา จึงส่งเสียลูกสาวจนเรียนจบและย้ำให้ส่งเสียลูกหลานต่อไปด้วยกำลังทรัพย์และแรงกายเท่าที่มี

           จดหมายฉบับสุดท้ายไม่ได้ปิดผนึก ไม่รู้ว่าเป็นเพราะรอยกาวที่ทำงานเสื่อมลงตามเวลาหรือเป็นความจงใจของผู้ส่ง ข้างในซองเป็นกระดาษแผ่นใหญ่กว่าสองฉบับที่แล้ว บนแผ่นมีรอยปากกาสีดำเขียนทั้งหน้าหลัง รอยหมึกเข้มซึมจนข้อความบนกระดาษติดไปกับซองด้านใน

······························

เมษายน พ.ศ.2542

 

ผมยังคงรักบ้านโอด

           แม้บ้านโอดเวลานี้จะเปลี่ยนไปมากเมื่อเทียบกับตอนผมยังเด็ก ทางลูกรังที่เคยเดินไปโรงเรียนถูกแทนที่ด้วยถนนลานหินทั้งหมด สองข้างฝั่งมีเสาไม้แลสายไฟระโยงระยางลากผ่านไม่รู้จุดสิ้นสุด ปีกลายก็เพิ่งสร้างฝายเสร็จ เขาบอกว่าจะช่วยให้ไทบ้านมีน้ำใช้ช่วงหน้านาปรัง

           สิบกว่าปีมานี้บ้านโอดเหมือนหญิงงามแห่งดอนมดแดงที่ใคร ๆ ต่างก็ให้ความสนใจ เรียกได้ว่าเป็นยุคน้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวกของบ้านโอดเฮาละ

           ผมยังจำวันที่เสาไฟต้นแรกปักลงหมู่บ้านได้ ไทบ้านตื่นเต้นกับไฟฟ้าอยู่หลายวัน หรือตอนที่ทางหลวงมาวางระบบประปาให้มีน้ำสะอาดไว้กินไว้ใช้แทนน้ำส้าง ลูกเมียผมก็บอกว่ารสชาติไม่เหมือนน้ำส้างที่ตักกินอยู่ทุกวัน

           แต่สิ่งที่บ้านโอดยังเหมือนเดิมคือ เป็นที่ที่มีคนที่เรารัก…และรักเรา

           คนสนิทหลายคนก็ยังออกไปหางานทำที่บ้านนอก บางครอบครัวมีเงินเก็บหน่อยก็พากันย้ายไปนู่นยกครัว เว้นผมคนหนึ่งที่ทำมาหากินที่ลพบุรีได้อยู่สามสี่ปีก็กลับบ้านมา เพราะพ่อเริ่มป่วยหนัก ไปหาหมอบอกว่าเป็นโรคถุงลมโป่งพอง หมอยังบอกอีกว่าเป็นเพราะพ่อใหญ่ลีสูบยาเยอะ

           สมัยแต่ก่อนตอนป่วยก็มักจะพึ่งยาบวดหายไม่ก็ทันใจกัน แม้บนซองจะเขียน “ทัมใจ” แต่ก็เรียกทันใจเพราะรักษาได้ทุกโรค และราคาก็ไม่แพงคือประมาณห้าห่อบาท รักษาประคับประคองตามอาการได้อยู่พักหนึ่งพ่อก็จากเราไป

           ผมทัมใจได้ไม่นานก็ตบแต่งกับแม่ราตรี ได้จังหวะกลับมาหากินอยู่บ้านโอดยาว ๆ โดยมีเมียคอยเคียงข้างในทุกสถานการณ์ กินอยู่ประมาณสองปีก็มีเพ็ญจันทร์ลูกคนแรก ตามด้วยจิราพรลูกคนที่สองที่คลอดตามกันมาในอีกสองปี อาศัยอยู่ชายคาเดียวกับพ่อเฒ่าได้ปีหนึ่งก็แยกออกมาบ้านริมนาถึงปัจจุบัน

           ลูกผมไม่ได้คลอดด้วยหมอตำแยเหมือนพ่อแม่มัน เพราะตอนนั้นไทบ้านก็พากันไปคลอดลูกที่อนามัยกันหมด ผมจำวันเดือนปีเกิดจิราพรได้แม่นกว่าใคร ไม่ใช่ว่าผมรักจิราพรมากกว่าลูกคนอื่น แต่เพราะจิราพรเกิดช่วงปีเดียวกันที่บ้านโอดเริ่มมีไฟฟ้าใช้



           การย้ายกลับมาอยู่บ้านโอดอย่างถาวรนับเป็นเรื่องยากสำหรับผม คนบ้านโอดส่วนใหญ่ยังคงทำนาปี-นาปรังอยู่ เป็นหนึ่งแหล่งอาหารหลักแต่รายได้ก็ไม่เพียงพอ จะเข้าไปเก็บของป่าหรือทำขี้กะบองไปแลกข้าวแลกพริกเหมือนเมื่อก่อนก็เกรงว่าจะเป็นการสูญเปล่า

           มิหนำซ้ำพื้นที่ป่ายางชุมเริ่มถูกแทนที่ด้วยการก่อสร้าง โดยเฉพาะการถางป่าสร้างบ้านทำถนน หรือจะทำไร่ทำสวนในบ้านนี้ก็น่าจะต้องลงทุนลงแรงเยอะ

           พักหลังแนวอยู่แนวกินคนบ้านโอดเปลี่ยนไป คนเริ่มออกไปรับจ้างเยอะขึ้น อะไรที่ทำแล้วได้เงินคนบ้านโอดทำได้หมด ไม่เคยเกี่ยง ไม่เคยปฏิเสธ

           เมื่อเป็นพ่อลูกอ่อนก็เริ่มรู้สึกได้ว่าทำนาไม่พอกิน คงเป็นความรู้สึกเดียวกับพ่อแม่เมื่อตอนผมเริ่มเป็นวัยรุ่นแล้วออกจากบ้านไปหางานทำในตัวเมืองอุบล

           จะออกไปทำงานนอกบ้านเหมือนเมื่อก่อนก็เป็นห่วงลูกเมียต้องอยู่บ้านคนเดียว ผมเลยต้องคิดวิธีหาเงินโดยไม่ต้องจากบ้านโอด

           ช่วงนั้นเริ่มมีคนต่างบ้านขับมอเตอร์ไซค์ขนของมาขายที่บ้าน มีทั้งของกินของใช้ เสื้อผ้า ผักผลไม้ หรือปลาหมึกที่ขายหมดแทบทุกวันที่ขับผ่านมา ผมเลยได้ความคิดว่าจะทำงานเป็นพ่อค้ารถมอไซค์ ก็แค่ไปรับของจากข้างนอกมาขายในละแวกนี้ แทบไม่ต้องลงทุนเยอะเหมือนทำไร่ทำนา มีแค่ค่ารถไปกลับเพื่อไปรับของมาขายจากที่นั่น ผมเลยอาศัยจังหวะช่วงหน้าแล้งไปรับของมาขาย

           ช่วงปี 35 ผมตัดสินใจถอย Suzuki RC100 มาใช้เลี้ยงชีพเป็นพ่อค้ามอเตอร์ไซค์เต็มตัว มีรถเวลาเดินทางไปไหนก็สะดวก อย่างน้อยก็ใช้ขี่ไปส่งเพ็ญจันทร์ที่โรงเรียนได้ ค่ารถที่นั่งอยู่ทุกวันก็เอาไปจ่ายค่าน้ำมันแทน ช่วงนั้นน้ำมันลิตรละ 28 บาท เติมครั้งหนึ่งก็ขี่ได้หลายวัน

           ช่วงนั้นผมคอยสังเกตว่าของอะไรที่น่าจะขายดีละแวกนี้ก็รับมาขายหมด พ่อค้าด้วยกันแนะว่ามีเสื้อผ้าที่ขายดี บ้านไหนที่ถนนลาดหินเข้าไม่ถึงยิ่งขายดี

           เสื้อที่ขายก็ไปรับมาจากตาลสุมเพราะเลื่องลือกันว่ามีโรงงานเย็บผ้าที่เก่ง แต่เขารับอะไหล่จากกรุงเทพแล้วมาประกอบเป็นเสื้อที่นี่ ไม่ได้ตัดเย็บเอง

           ของดีก็แลกกับราคาที่สูง ราคาต้นทุนเสื้อผ้าก็สูงเกินกำลังทรัพย์ เสื้อผ้าที่ผ่านคุณภาพพวกนั้นก็มักจะส่งกลับไปขายต่อที่กรุงเทพฯ น้อยคนที่จะรับสินค้าผ่านเกรดมาขายต่อ อย่างผมก็รับแต่เสื้อตกเกรด อาจมีเพียงตำหนินิดหน่อยแต่ก็ยังสวมใส่ได้ปกติ

           ที่ขายดีคือเสื้อแขนยาว รับมาตัวละ 30 กว่าบาท ต้นทุนขึ้นอยู่กับว่ารับมาขายกี่ตัว เอาไปขายต่อตัวก็ตัวละ 50 บาทพอได้กำไรนิดหน่อย

           ถ้าอาหารที่ขายดีก็น่าจะเป็นปลาหมึก ถ้าไม่นับน้ำปลากับน้ำตาล คิดว่าสัตว์ทะเลนี่แหละที่ขายดี อาจเพราะไทบ้านเคยเห็นแต่ปลาในลำเซ สัตว์ทะเลก็นับเป็นอาหารใหม่ ๆ ที่น่าลอง

           ช่วงนั้นห้องเย็นพรพิสิษฐ์มาเปิดใหม่ที่ตลาดเจริญศรีแถววาริน เขาก็ไปรับอาหารทะเลฝั่งตะวันออกมาขายต่อ เขาขายลังนึงประมาณ 1,500 บาท ได้มาไม่รู้กี่กิโลก็เอามาแบ่งขายเป็นถุง ถุงละ 5 บาท 10 บาทตามขนาด

           ผมทำนาสลับกับขับรถไปรับของมาขายแถวละแวกบ้านเดือนหนึ่งก็ได้มา 6,000-7,000 บาท มากพอจะเลี้ยงส่งลูกสาวเข้าเรียนประถมมัธยมได้ ผมทำงานแบบนี้แทบทุกวันจนแทบจะลืมชีวิตตรากตรำช่วงวัยรุ่น ทุกวันนี้ผมกลายเป็นนายของตัวเอง จะได้มากได้น้อยก็ขึ้นอยู่กับความขยันทำมาหากินของตัวเอง

           เวลาผ่านไปรวดเร็วจนจิราพรใกล้จะเข้าชั้นประถม ผมเริ่มได้ยินข่าวว่าหลวงเขาจะมาสร้างฝาย อาจเพราะเขามาเห็นว่าไทบ้านเฮาเดือดร้อน หน้าแล้งก็ไม่มีน้ำใช้ทำไร่ทำนา ช่วงหน้าฝนก็น้ำท่วมคุมยาก ได้ยินว่ากรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานเขามาสำรวจพื้นที่เตรียมสร้างฝายอยู่หลายปี

           ฟังวิทยุเขาว่าเป็นโครงการที่รัฐบาลแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งในภาคอีสานที่เสนอตั้งแต่ปี 32 ชื่อโครงการโขงชีมูล หลวงเขาเอางบประมาณไม่รู้กี่ร้อยล้านมาสร้างฝายกั้นน้ำในแม่น้ำใหญ่ทั้ง 3 สายของอีสานคือแม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำโขง รวมถึงแม่น้ำสาขาอย่างลำเซบกบ้านเรานี่แหละ



           ปีเดียวกันกับที่อรัญญาลูกสาวคนสุดท้องลืมตาดูโลก ผมก็เริ่มเห็นเขามาสร้างฝายน้ำให้เป็นรูปเป็นร่าง ไทบ้านเฮาเรียกว่าฝายคอนกรีตต่างจากฝายธรรมชาติที่เคยเห็น

           บนฝายมีการเสริมประตูเหล็กบานโค้งที่เจ้าหน้าที่เขาว่าใช้ควบคุมน้ำได้ หน้าน้ำหลากก็ใช้กักเก็บน้ำเพื่อรอเปิดระบายช่วงหน้าแล้ง

           ช่วงที่หลวงเข้ามาสร้างฝายคอนกรีตนี่เองที่ผมรู้สึกได้ว่าบ้านโอดเติบโตขึ้นไปอีกขั้น ไม่มีใครเชื่อว่าวันหนึ่งในเวิ้งน้ำเดียวกันกับวัดแก่งตอยจะมีสิ่งประดิษฐ์หน้าตาพิลึกตั้งอยู่ แต่ไทบ้านเฮาต่างเป็นกังวลว่าการก่อสร้างนั้นจะกระทบกับวัดโบราณแห่งนี้หรือไม่

           โล่งใจหน่อยที่ไม่กี่ปีหลังเริ่มสร้างฝายคอนกรีต มีนักโบราณมาสำรวจวัดแก่งตอยที่ร้างมาหลายชั่วอายุคนนับแต่รุ่นญาถ่านขี้เถ้า เราต่างไม่มีใครเข้าใจว่างานของนักโบราณคืออะไร จนเห็นเขาดีอกดีใจที่เห็นเสาหินและรูปสลักยังอยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์

           เขาว่าวัดแก่งตอยมีคุณค่าทาประวัติศาสตร์เพราะมีโสมสูตรกับเสาประดับกรอบประตูทำมาจากหินทรายที่ย้อนกลับไปถึงสมัยเขมรโบราณ จนช่วงปีกลายที่มีประกาศออกมาว่าวัดแก่งตอยได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานโดยกรมศิลปากร

           ผมคิดว่าการเติบโตมักแลกมาด้วยบางสิ่งเสมอ อย่างบ้านเฮาที่เข้าสู่ยุคความเจริญโดยสมบูรณ์ แต่ก็แลกมากับวิถีและทรัพยากรที่เลือนหายไป

           เช่นเดียวกับชีวิตผมที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่โดยสมบูรณ์ แต่ก็แลกมากับความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น และเวลาที่ค่อย ๆ ลดลงทีละนิด

           ผมคงต้องจบจดหมายฉบับนี้ไว้เพียงเท่านี้ เพราะผมได้ยินเสียงการเติบโตและความเจริญเรียกหาผมอยู่

สิทธิชัย ทองใบ
ใต้ต้นบกวัดแก่งตอย

······························

 

           จบจากการอ่านจดหมายก็รวบกองกระดาษทั้งหมดไว้อีกมุมของแคร่ ก่อนจะเอนกายลงนอนด้วยความระมัดระวัง แม้กายจะเหนื่อยล้าจากการทำงานมาตลอดทั้งวัน แต่สิ่งที่อยู่ในใจกลับทำให้ลืมตาไม่ลง แม้เขาเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของบ้านเกิดที่รักตลอดเวลา

           แต่หากไม่ได้อ่านจดหมายของเด็กชายสิทธิชัย เขาคงจะลืมไปแล้วว่าก่อนจะมีไฟฟ้าใช้มาถึงทุกวันนี้ คนบ้านโอดเขาใช้ขี้กะบองเป็นเชื้อเพลิงให้แสงสว่างมาก่อน

           หากไม่ได้อ่านจดหมายของวัน เขาคงจะลืมว่าบ้านโอดช่วงนั้นแทบจะเป็นหมู่บ้านร้าง เพราะคนหนุ่มสาวต่างออกไปทำมาหากิน หางานทำอยู่ในเมือง

           และหากไม่ได้อ่านจดหมายของสิทธิชัย เขาคงจะลืมว่าความเจริญและการพัฒนาได้เข้ามาเปลี่ยนให้บ้านโอดเข้าสู่ยุคน้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวกรวดเร็วขนาดไหน

           บักสิทธิชัยคงไม่รู้ว่าทุกวันนี้ไทบ้านแทบไม่เดินเข้าไปในป่าดงกระบูนด้วยซ้ำ เพราะไม่รู้ว่าวันไหนที่จะมีหมายจากหลวงส่งมาถึงบ้านว่าบุกรุกป่าสงวน

           บักวันเองก็คงไม่รู้ว่าทุกวันนี้ลูกหลานยังคงต้องจากบ้านไกลไปหาเงินหางานที่ต่างบ้าน บ้านโอดของเฮาสมบูรณ์ไม่พอที่จะหล่อเลี้ยงชีวิตใหม่ที่เกิดมาได้

           สิทธิชัยเองก็คงจะไม่รู้ว่าฝายคอนกรีตนั้นเปลี่ยนชื่อเป็นเขื่อน บ้างก็บอกว่าเขื่อนช่วยทำให้มีน้ำใช้ช่วงหน้าแล้ง บ้างก็ว่าเขื่อนทำให้น้ำท่วมหนักกว่าเก่า… นานาจิตตัง
 


 

           เปลือกตาของวันปิดลงอย่างช้า ๆ พลันจินตนาการถึงบ้านโอดในอีกสิบปี ยี่สิบปี ห้าสิบปี หรือร้อยปีข้างหน้า บ้านโอดที่รักจะเป็นอย่างไรบ้าง จะยังมีไทบ้านใช้ขี้กะบองให้แสงสว่างอยู่หรือไม่ ตอนนั้นคนหนุ่มสาวจะยังทำไร่ทำนาอยู่อีกหรือไม่ แล้วพวกเขาจะยังจดจำสิ่งที่อยู่ในจดหมายกองนั้นได้หรือไม่

           เวลาผ่านมาเนิ่นนานจนวันเริ่มตระหนักได้ว่าตนเป็นส่วนหนึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้น บทเรียนล้ำค่าที่เขาสะท้อนใจตัวเองตลอดเวลาคือชีวิตคนเราจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับทางที่เราเลือกจะเดิน

           บ้านโอดที่เขารักดั่งชีวิตก็เช่นเดียวกัน

           มันจะเติบโตไปทิศทางไหน จะดีขึ้น หรือจะแย่ลง

           ก็ขึ้นอยู่กับคนบ้านโอดนั่นแหละ!

ด้วยรัก
วัน สิทธิชัย ทองใบ


เรื่องและภาพ: นิฌามิล หะยีซะ และกิติยาณี แวโน๊ะ


 

ป้ายกำกับ ดอนมดแดง ความทรงจำ ลำเซบก อุบลราชธานี นิฌามิล หะยีซะ กิติยาณี แวโน๊ะ สารคดีชุมชน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา