ความหวัง กำลังใจ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และโควิด-19

 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้เข้าชม : 5736

ความหวัง กำลังใจ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และโควิด-19

 

ศาสนา ความเชื่อ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ กับการสร้างกำลังใจและความหวัง

           ศาสนาและความเชื่อเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ทางอารมณ์ ความรู้สึก และสภาวะจิตใจของมนุษย์ ในการศึกษาทางมานุษยวิทยาได้ชี้ให้เห็นว่าศาสนาไม่ได้เป็นเพียงการสั่งสอนทางศีลธรรม หากแต่ยังเป็นสัญลักษณ์และแรงบันดาลใจของการมีชีวิตของมนุษย์ (Marett, 1932) ศาสนาและความเชื่อจึงเป็นปฏิบัติการทางสังคมและวัฒนธรรม (Geertz, 1957, 1966) รวมทั้งบ่งบอกให้เห็นความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ จิตวิญญาณและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างศรัทธา แรงบันดาลใจ และความคาดหวังต่อสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์กระทำ ไม่ว่าจะเรียกสิ่งนั้นว่าพระเจ้า เทพเจ้า เทวดา ผู้สร้างโลก วิญญาณบรรพบุรุษ หรือเจ้าพ่อเจ้าแม่ (Eller, 2007) สิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงเป็นสัญลักษณ์เชิงศีลธรรมและบ่งบอกวิธีปฏิบัติที่มนุษย์จะมีกับธรรมชาติและโลกภายนอก

           การศึกษามิติวัฒนธรรมของสิ่งศักดิ์สิทธิ์และความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ นักมานุษยวิทยาชี้ให้เห็นว่าการเซ่นไหว้บูชาเทพเจ้าและวิญญาณ คือวิธีการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ โดยที่ “ธรรมชาติ” มิได้เป็นวัตถุที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ แต่เป็นเหมือน “บุคคล” ที่มีจิตใจและความรู้สึก (Bird-David, 1999; Harvey, 2017, Loftin, 1994) ความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของธรรมชาติจึงทำให้มนุษย์มองเห็นความเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ โดยไม่เอาตนเองเป็น “เจ้านาย” (Kidwell, Noley, & Tinker, 2001) ทั้งนี้ มนุษย์ได้แยกความเป็นบุคคลให้กับธรรมชาติทั้งในแง่บวกและลบ เช่น ป่าไม้ แม่น้ำ ลำธาร ภูเขา ท้องฟ้า ที่สร้างความสมบูรณ์และอาหาร จะถูกอธิบายเป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ที่ประทานพร ในขณะที่ภัยพิบัติทางธรรมชาติและโรคภัยไข้เจ็บ จะถูกอธิบายเป็นผีและสิ่งชั่วร้ายที่เข้ามาทำลายมนุษย์ ดังนั้น ความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อธรรมชาติที่ดีและร้ายจึงแสดงออกต่างกัน (Garcia, 2020)

 

โควิด-19 กับสภาวะไร้ระเบียบและอันตราย

           ตั้งแต่ที่โรคอุบัติใหม่ไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 แพร่กระจายไปทั่วโลก ชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ของไทยก็ได้รับผลกระทบ เหตุการณ์ดังกล่าวมิได้เป็นเพียงปัญหาสุขภาพ แต่ยังส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน การติดต่อทางสังคม กิจกรรมที่มนุษย์เคยใกล้ชิดกันต้องถูกระงับและยุติลงอย่างรวดเร็ว ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 มาจนถึงกลางปี พ.ศ. 2564 มีคนจำนวนมากต้องเผชิญกับความยากลำบาก ตกงาน ขาดรายได้ ล้มป่วย เครียด ฆ่าตัวตาย และเสียชีวิต สิ่งเหล่านี้คือความไร้ระเบียบและเป็นภัยอันตรายที่คุกคามชีวิต กิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจที่เคยปฏิบัติได้ไม่สามารถทำได้เหมือนเดิม สถานการณ์เหล่านี้ทำให้โควิด-19 ถูกมองว่าเป็นภัยที่ทำลายล้างโลกหรือการสิ้นสุดของเวลา (sign of the end of time) (Jeremy, 2020)

           โรคโควิด-19 จึงทำลายแบบแผนและระเบียบกฎเกณฑ์ที่มนุษย์เคยชิน หลายคนต้องปรับเปลี่ยนอาชีพและย้ายที่อยู่อาศัย ครอบครัวต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงที่จะติดโรคจากคนใกล้ชิด นักเรียนไม่สามารถไปโรงเรียนได้ ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวจะอยู่ในอาการหวาดผวาเพราะคาดเดาไม่ได้ว่าตนเองจะได้รับเชื้อเมื่อไหร่ ถ้าเป็นกลุ่มคนจน ผู้ที่อยู่ในชุมชนแออัด และแรงงานที่อาศัยห้องเช่ารวมกันจำนวนมากก็เผชิญกับการแพร่เชื้อที่รวดเร็ว ในสภาพที่ขาดแคลนยารักษาโรค โรงพยาบาลไม่สามารถรับผู้ป่วยได้ วัคซีนมีไม่เพียงพอ ระบบสาธารณสุขและบริการทางการแพทย์ไม่สามารถเข้าถึงผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สภาวะนี้คือความไร้ระเบียบที่คนไทยกำลังต่อสู้ดิ้นรน

 

ประสบการณ์ทางศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับโรคระบาด

           หากพิจารณาดูกิจกรรมทางศาสนาในสังคมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโรค โควิด-19 จะพบว่ามีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเกิดขึ้นหลายแห่ง ตัวอย่างในประเทศโรมาเนีย ศาสนาคริสต์ 18 นิกาย ได้จัดพิธีทางศาสนาในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ปี ค.ศ.2020 เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและเพื่อเยียวยาสังคมให้อยู่รอดปลอดภัยจากโรคโควิด-19 การประกอบพิธีกรรมดังกล่าวมีนัยยะถึงการแสวงหาความหวังและทำให้สังคมและชีวิตมนุษย์มั่นคงยั่งยืน (social sustainability) ไม่ถูกทำลายด้วยโรคระบาด ในการศึกษาของ Tudor, Benea and Bratosin (2021) วิเคราะห์ว่าการประกอบพิธีกรรมของศาสนาคริสต์ในโรมาเนียสะท้อนให้เห็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางสังคมในสภาวะวิกฤต ช่วงเวลานี้สังคมและมนุษย์กำลังเผชิญกับอันตราย เพราะโรคโควิด-19 เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้มนุษย์หวาดผวาและวิตกกังวลกับความไม่แน่นอนของชีวิต พิธีกรรมทางศาสนาจึงเป็นกลไกที่จะรักษา “พื้นที่สังคม” ของมนุษย์ให้ดำรงอยู่ต่อไป ทั้งนี้ การส่งเสริมให้องค์กรทางศาสนามีบทบาทต่อการสร้างกำลังใจให้ประชาชน รัฐบาลโรมาเนียมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและวางแนวปฏิบัติให้องค์กรศาสนาทำงานผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆ

           ในช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ชาวมุสลิมในบังกลาเทศจำนวนหมื่นคนรวมตัวกันประกอบพิธีสวดในคัมภีร์อัลกุรอานเพื่อขับไล่โรคโควิด-19 ในช่วงเวลาเดียวกัน พระสงฆ์ในพุทธศาสนา ประเทศศรีลังกาประกอบพิธีสวดขับไล่โควิด-19 ที่จัตุรัสอิสรภาพในกรุงโคลัมโบ ในช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 หญิงชาวอินเดียหลายร้อยคนที่หมู่บ้านนวปุระ เขตซานันต์ ตาลูคา ประเทศอินเดีย ร่วมเดินขบวนทำพิธีนำหม้อใส่น้ำมาวางบนหัว และเคาะไล่โควิด-19 ให้หนีไป และยังเป็นการบูชาเทพ Baliyadev ที่จะช่วยป้องกันโรคร้าย ในประเทศญี่ปุ่น ชายหญิงจำนวนหนึ่งได้เข้าร่วมพิธีกรรมของศาสนาชินโตในเมืองเกียวโต ในพิธีกรรมนี้ ผู้ชายจะนุ่งผ้าเตี่ยว ผู้หญิงสวมชุดสีขาว ท่องบทสวดมนต์ก่อนลงอาบน้ำเย็นแช่น้ำแข็ง ผู้สวดมนต์เชื่อว่านอกจากจะเป็นการชำระล้างจิตใจให้บริสุทธิ์แล้วยังช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

พระสงฆ์ในพุทธศาสนา ประเทศศรีลังกาประกอบพิธีสวดขับไล่โควิด-19 ที่จัตุรัสอิสรภาพในกรุงโคลัมโบ

ภาพจากสำนักข่าวไทย https://tna.mcot.net/world-399199

 

           ในการศึกษาของ Min Min Ton and Tin Tin Su (2021) พบว่าผู้นำทางศาสนาในประเทศมาเลเซียสามารถมีบทบาทในการทำงานด้านการแพทย์ สาธารณสุข และการป้องกันโรคระบาดได้ โดยชี้ว่าในสภาวะที่ผู้คนกำลังวิตกกังวลและเครียดกับการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ผู้นำทางศาสนาควรจะทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษา (faith-based health counselling) และรับฟังปัญหาของประชาชน โดยนำเอาคำสอนทางศาสนามาเป็นแนวทางและสอดแทรกเข้าไปกับความรู้ทางการแพทย์เพื่อป้องกันโรค เพราะประชาชนจะรู้สึกเข้าถึงและสัมผัสกับคำสอนของผู้นำทางศาสนาได้ดีกว่าคำอธิบายของแพทย์หรือนักวิชาการด้านสาธารณสุข เช่นเดียวกับการศึกษาของ Kowalczyk et al. (2020) ชี้ว่าความเชื่อทางศาสนาเป็นสิ่งจำเป็นต่อมนุษย์ในช่วงที่กำลังเผชิญกับโรคระบาด ผู้สอนศาสนาหรือนักบวชสามารถโน้มน้าวจิตใจและเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนที่กำลังหวาดกลัวโรคระบาดได้ดีกว่านักวิทยาศาสตร์

           ทั้งนี้ ภาษาการสื่อสารทางศาสนาจะอาศัย “ความรู้สึก” เป็นหัวใจ ในขณะการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์และภาษาทางการแพทย์จะอาศัย “วัตถุ” “ร่างกาย” ซึ่งเป็นพรมแดนทางกายภาพ (physical sphere) เป็นเครื่องมือ ในแง่นี้ การทำความเข้าใจโรคระบาดจึงจำเป็นต้องนำเอาประสบการณ์ทางศาสนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้มนุษย์รู้สึกถึงคุณค่าในชีวิต Kowalczyk et al. (2020) ตั้งข้อสังเกตว่าในสถานการณ์ที่มนุษย์กำลังทุกข์ทรมาน ปวดร้าว หวาดกลัว และเครียดกับโรคระบาด มนุษย์กำลังต้องการสิ่งที่มาเยียวยาจิตใจให้ฟื้นคืนสู่สภาพปกติ ซึ่งเป็นการฟื้นทางจิตวิญญาณ (spiritual renewal) สิ่งนี้คือประสบการณ์ที่ช่วยให้มนุษย์เดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นใจ

 

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสังคมไทยกับการขับไล่โควิด-19

           การแก้ปัญหาด้วยความรู้ท้องถิ่นและภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อที่จะทำให้ชุมชนของตัวเองปลอดภัยจากโรคโควิด-19 หลายชุมชนในประเทศไทยได้จัดพิธีกรรมตามความเชื่อ เพื่อขับไล่ โควิด-19 ในฐานะเป็นสิ่งชั่วร้ายให้หายไปจากชุมชน จากการศึกษาของอภิลักษณ์ เกษมผลกูล และ สินีกานต์ แก้วกัณหา (2563) พบว่าในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน พ.ศ. 2563 คำอธิบายเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ในมิติทางศาสนาและความเชื่อมีแตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่ความเชื่อท้องถิ่น ได้แก่ พิธีเลี้ยงผี รำไล่โควิดประกอบเพลงกันตรึม วัตถุมงคลต๋าแหลว หุ่นเทพปราบโควิด การแขวนผ้าแดงและกินไข่แดง ความเชื่อตามหลักศาสนาพุทธ ได้แก่ พิธีฌาปนกิจหุ่นนายโควิด การสวดบทรตนสูตร พระไภษัชยคุรุ ความเชื่อในศาสนาคริสต์ ได้แก่ การสวดภาวนาเพื่อขอพรจากพระเจ้า ความเชื่อในศาสนาอิสลาม ได้แก่ การขอดุอา และการแพทย์แผนนบีมุฮัมมัด ความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ได้แก่ พิธีอาบน้ำมนต์ ไสยศาสตร์ และหัวนะโม ความเชื่อในลัทธิขงจื๊อ ได้แก่ การเผาหน้ากากอนามัยช่วงเทศกาลเช็งเม้ง และความเชื่อในลัทธิเต๋า ได้แก่ สีหน้ากากผ้าเสริมพลังชีวิต

           ในการศึกษาของธิดารัตน์ วงศ์จักรติ๊บ, ภาณุวัฒน์ สกุลสืบ และทัตพิชา สกุลสืบ (2564) พบว่าในช่วงปลายปี พ.ศ. 2563 ชุมชนบ้านกิ่วท่ากลาง-ท่าใต้ หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านกิ่ว อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง มีการจัดพิธีกรรมไล่โควิด-19 โดยชาวบ้านนำเสื้อสีแดง กรวยดอกไม้ และสะตวงมาแขวนไว้ประตูและรั้วบ้าน สะตวงทำจากกาบกล้วย คือกระบะสำหรับใส่เครื่องเซ่นไหว้ประกอบด้วยกล้วย ข้าว ไข่ต้ม ดอกไม้ธูปเทียน ดินน้ำมันปั้นเป็นรูปคน โดยเชื่อว่าจะช่วยป้องกันไม่ให้โควิด-19 เข้ามาทำร้ายคนในบ้าน ชาวบ้านบางคนเอาต้นกะเพรากลับหัวไปห้อยไว้กับเสื้อแดงเชื่อว่าจะช่วยขับไล่โควิด-19 ได้

           ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ชาวม้งในหมู่บบ้านร่มฟ้าไทย ตำบลตับเต่า อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ช่วยกันสร้างหุ่นและซุ้มประตูที่บริเวณปากทางเข้าหมู่บ้าน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ชาวม้งเชื่อว่าหุ่นที่สร้างขึ้นคือสิ่งที่ป้องกันมิให้โรคร้ายเข้ามาในหมู่บ้าน

           ในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 ชุมชนบ้านภูมิโพธิ์ ตำบลดม อำเภอสังขละ จังหวัดสุรินทร์ ประกอบพิธีรำแม่มด หรือรำผีฟ้า ชาวบ้านเรียกพิธีนี้ว่า “ปะ–โจล–มะ-ม๊วด” เป็นพิธีโบราณของชาวเขมร เพื่อขับไล่โควิด-19 และให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วงคุ้มครองชาวบ้านให้ปลอดภัย ในพิธีกรรมนี้จะมีการสร้างโรงประกอบพิธีเรียกว่า “ตะ-ซาล” ทำด้วยเสาไม้ที่มีง่าม 9 ต้น ใช้ไม้พาดเป็นขื่อบนง่าม ใช้ทางมะพร้าวสดผ่าซีกมุงเป็นหลังคา มีการจัดเตรียมเครื่องเซ่นไหว้บูชาวางไว้บนโต๊ะเป็นแถวยาว จะมีการเล่นดนตรี แคน กลองโทน ฉิ่ง และฉาบ ผู้นำพิธีหรือแม่หมอ (แม่มด) ร่ายรำตามจังหวะเพลง จะทำการเสี่ยงทายดูอาการเจ็บป่วยของคนในหมู่บ้าน และอันเชิญเทวดามาช่วยชาวบ้านให้ปลอดภัยจากโรคระบาด

           ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 ชาวบ้านพื้นที่หมู่ 1 ตำบลหนองชิ่ม อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ร่วมกันจัดพิธีขับไล่โควิด-19 โดยการสร้างหุ่นฟางข้าว 2 ตัว ใส่เสื้อผ้าสีขาวเท่าคน ตัวหนึ่งชื่อนายโควิด อีกตัวชื่อนางโคโรน่า และนำไปเผาพร้อมนิมนต์พระสงฆ์ 4 รูป มาสวดมนต์ขับไล่ความชั่วร้ายและสิ่งที่ไม่ดีทั้งปวงให้หายไป

           ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 ชาวกูยบ้านตากลาง หมู่บ้านช้าง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ มาร่วมกันจัดพิธีกรรมบริเวณวังทะลุ จุดเชื่อต่อของแม่น้ำสองสาย ลำน้ำชี ไหลมารวมกับแม่น้ำมูล ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลประกำ พิธีกรรมนี้ถือเป็นความเชื่อท้องถิ่นเพื่อสักการะเซ่นไหว้ปู่ตา บรมครูประกำ ดอนบวชหรือสิมกลางน้ำ และเป็นการเรียกขวัญกำลังใจให้กับคนเลี้ยงช้างที่ตกงานและขาดรายได้จากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ในพิธีจะมีการนำช้าง 20 เชือกแห่เครื่องเซ่นไหว้ไปรอบศาลประกำ 3 รอบ พร้อมกับมีการร่ายรำบวงสรวงสิ่งศักดิ์บริเวณศาลปะกำและดอนบวช ในการจัดพิธีนี้ได้รับความร่วมมือจากนายอำเภอท่าตูมและองค์การบริหารส่วนตำบลกระโพ

           ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 ชาวปกาเกอะญอ บ้านห้วยบง ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ รวมตัวกันจัดพิธีเกราะหยี่ คำว่า “เกราะ” แปลว่า “ปิด–กั้น– หรือปกป้อง” ส่วนคำว่า “หยี่ หรือ หี่” แปลว่าหมู่บ้าน หรือพิธีการปิดหมู่บ้าน 3 วัน 3 คืน มิให้คนภายนอกเข้ามาในหมู่บ้านเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ในพิธีนี้ จะมีผู้นำพิธีเป็นผู้อาวุโสมีความรู้ทางคาถาอาคมและเป็นผู้มีคุณธรรม บริเวณทางเข้าหมู่บ้านจะมีการนำ “ต๋าแหลว” มาแขวนไว้เป็นสัญลักษณ์เพื่อมิให้สิ่งชั่วร้ายผ่านเข้ามา

 

พิธีกรรม "เกราะหยี่" ภาพจาก แนวหน้า https://www.naewna.com/likesara/567772

 

           ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 ชาวปกาเกอะญอ หมู่ที่ 12 บ้านห้วยน้ำผึ้ง และหย่อมบ้านผาแดง ตำบลสบโขง ในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดพิธีกรรม "เกราะหยี่" ตามความเชื่อของท้องถิ่นเพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้ามาในหมู่บ้าน พร้อมกับปิดหมู่บ้านเป็นเวลา 14 วัน

           ในช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 กลุ่มชาติพันธุ์ม้งที่บ้านกระแล หมู่ 7 ตำบลแม่เปา อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย จัดพิธีไล่โควิด เพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้พ้นหมู่บ้าน ในพิธีกรรมจะมีผู้นำทางจิตวิญญาณมานำชาวบ้านสวดขับไล่สิ่งชั่วร้าย พร้อมกับเผากระดาษเงินกระดาษทองเพื่อส่งให้ภูตผีนำไปใช้ในโลกวิญญาณ รวมทั้งมีการสร้างเครื่องรางทำจากไม้ไผ่สานเป็นรูปหกเหลี่ยมขนาดประมาณ 1 ฟุต นำไปห้อยตรงเสาทางเข้าหมู่บ้านเพื่อป้องกันมิให้สิ่งชั่วร้ายเข้ามาใกล้

           ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 ชาวบ้านและผู้นำชุมชนจัดพิธีกรรมบวงสรวงพระหมอครูที่ปราสาทช่างปี่ บ้านช่างปี่ หมู่ 1 ตำบลช่างปี่ อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ปราสาทแห่งนี้คืออโรคยศาล หรือสถานพยาบาลหนึ่งในจำนวน 102 แห่ง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1723 - 1761) แห่งอาณาจักรขอมโปรดให้สร้างขึ้น มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ถือเป็นพิธีกรรมที่ช่วยปัดเป่าโรคร้ายโควิด-19

 

มหาเถรสมาคมและสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติอัญเชิญบทรตนสูตรมาเจริญพระพุทธมนต์

ภาพจากกรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/937267

 

           ในทางพุทธศาสนา เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 มหาเถรสมาคมและสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีมติให้วัดทั่วราชอาณาจักร และวัดไทยในต่างประเทศ อัญเชิญบท รตนสูตรมาเจริญพระพุทธมนต์ ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป โดยในกรุงเทพมหานครจะจัดพิธีสวดและถ่ายทอดสดที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดไตรมิตรวิทยาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในส่วนภูมิภาค จัดพิธีสวดและถ่ายทอดสดที่วัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ วัดพระธาตุเชิงชุม จังหวัดสกลนคร วัดกะพังสุรินทร์ จังหวัดตรัง นอกจากนั้น ยังกำหนดให้วัดทุกแห่งประกอบพิธีสวดพร้อมกัน โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจัดพิมพ์หนังสือบทรตนสูตรจำนวน 10,000 เล่ม การสวดบทรตนสูตรเชื่อว่าจะเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่ประชาชนให้ปลอดภัยจากโรค โควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดและเป็นศิริมงคลแก่ประเทศ

           ทั้งนี้ ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงให้สวดมนต์บทรตนสูตร เพื่อขจัดปัดเป่าโรคร้ายให้ประชาชนปลอดภัยจากโรคระบาด เนื้อหาของรตนสูตรเป็นการกล่าวถึงคุณแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ สามารถแบ่งเนื้อหาของรตนสูตรออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก ประกาศให้เหล่าภูตคุ้มครองรักษาพวกมนุษย์ ส่วนที่สอง บรรยายคุณพระรัตนตรัย ว่าเป็นรัตนะอันประเสริฐสุด โดยเฉพาะคุณของพระสงฆ์ หรือพระอริยเจ้า และส่วนที่สาม ประกาศให้ภูตทั้งหลายจงนมัสการพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ และอำนวยพรให้สรรพสัตว์เหล่านี้มีความสวัสดี

           นอกจากนั้น บางวัดยังมีการปลุกเสกเครื่องรางของขลังเพื่อขับไล่โควิด-19 เช่น วัดพระธาตุขิงแกง อำเภอจุน จังหวัดพะเยา จัดสวดมนต์ไล่โควิด-19 พร้อมปลุกเสก ‘ต๋าแหลว 7 ชั้น’ แจกจ่ายให้กับประชาชน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการต่อสู้โรคระบาด ชาวบ้านเชื่อว่า “ต๋าแหลว” เป็นเครื่องหมายของการป้องกันมิให้สิ่งชั่วร้ายเข้ามาในพื้นที่ที่เป็นเขตหวงหาม ตามความเชื่อของชาวล้านนา ต๋าแหลวทำจากไม้ไผ่ นำมาสานเป็นตาข่าย วัสดุที่นำมาประกอบกับต๋าแหลวเป็นสิ่งมงคล ได้แก่ หญ้าคาเขียว เป็นหญ้าที่ตายยากอายุยืน ชาวบ้านจะนำต๋าแหลวมาแขวนไว้ที่ทางเข้าบ้านเพื่อป้องกันสิ่งอัปมงคล ผีร้ายและโรคภัยไข้เจ็บ

           ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 พระครูพิศิษฏ์ประชานาถ หรือหลวงพ่อแดง นันทิโย วัดอินทาราม จังหวัดสมุทรสงคราม ประกอบพิธีกรรมปลุกเสกฟ้าทะลายโจรบรรจุแคปซูล 1 แสนเม็ดและกระชายขาว 100 กิโลกรัมในโบสถ์หลวงพ่อโต ซัมเปากง เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและส่งไปช่วยผู้ป่วยโควิด-19 นอกจากนั้น หลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม จังหวัดนครปฐม ผลิตหน้ากาก ‘นะปัดตลอด’ ปัดเป่าสู้โควิด-19 โดยการนำยันต์มาลงไว้ที่หน้ากากผ้ามัสลินลักษณะคล้ายจีวร ยันต์จะเป็นรูปพระเจ้า 5 พระองค์ ยันต์ครูหลวงพ่อพูล และยันต์ท้าวเวส สุวรรณ ที่วัดเถรพลาย อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี จัดทำวัตถุมงคล ‘สติ๊กเกอร์ยันต์หลวงพ่อสีชมพู’ เกาะเพชร เพื่อแจกให้ประชาชนนำไปป้องกันโควิด-19

           ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชมีความเชื่อในเครื่องรางที่ชื่อ “หัวนะโม” ซึ่งเป็นเม็ดโลหะที่เป็นเบี้ยใช้แทนเงินตราไว้แลกเปลี่ยนสินค้าในอาณาจักรตามพรลิงค์ ในเม็ดโลหะมีอักษรปัลลวะหรืออักษรอินเดียโบราณจารึกไว้ เชื่อกันว่าในสมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงประกอบพิธีกรรมปลุกเสกหัวนะโมตามความเชื่อแบบพราหมณ์ โดยอัญเชิญเทพเจ้าทั้งสามคือ พระศิวะ พระวิษณุ และพระพรหม มาสถิตในหัวนะโม จากนั้นนำไปหว่านรอบๆ เมือง เพื่อป้องกันโรคระบาด ต่อมาในรัชกาลที่ 4 สมัยรัตนโกสินทร์ เกิดโรคห่าระบาดที่นครศรีธรรมราชอีกครั้ง รัชกาลที่ 4 จึงรับสั่งให้สร้างหัวนะโมประจุผงพระพุทธคุณและนำไปหว่านรอบเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อเกิดโรคโควิด-19 ระบาดในปี พ.ศ. 2563 ชาวนครศรีธรรมราชจึงนำหัว นะโมมาเป็นเครื่องรางเพื่อป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากโรคร้าย

           ในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 พระครูปัญญาวัชราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดนาเมืองเพชร ตำบลหนองตรุด อำเภอเมือง จังหวัดตรัง จัดพิธีปลุกเสกสะตอและนำไปแขวนไว้ที่ศาลา โดยบอกให้ชาวบ้านนำไปรับประทานเพื่อป้องกันโควิด-19 ซึ่งเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้ชาวบ้านในการป้องกันโรคโควิด-19

 

บทเรียนจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์และโควิด-19

           ความเข้าใจของสังคมสมัยใหม่ที่มีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์และอำนาจเหนือธรรมชาติจะถูกอธิบายในฐานะเป็น “ความงมงาย” และ “ความไร้เหตุผล” ในขณะที่โควิด-19 ถูกอธิบายในฐานะเป็นโรคระบาดสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่มียารักษา ความเข้าใจในสองส่วนนี้ดูเหมือนจะเป็นการสร้าง “ความเป็นอื่น” ให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์และโรคโควิด-19 หรือกล่าวได้ว่าทั้งสองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่อยู่นอกระบบเหตุผล ดำรงอยู่ในฐานะความแปลกประหลาด ผิดที่ผิดทาง ไม่สามารถอยู่ร่วมกับมนุษย์ที่ต้องการความมั่นคงและความสมบูรณ์ของชีวิต จากข้อสังเกตเรื่อง ความเป็นบุคคลเชิงสัมพัทธ์ (relational personhood) ของ Nurit Bird-David (1999) ทำให้คิดใหม่ว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์และโรคภัยไข้เจ็บมิได้แยกขาดจากชีวิตมนุษย์ แต่ดำรงอยู่ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ที่พบในธรรมชาติ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้คือโลกทางจิตวิญญาณที่รับรู้ได้จากอารมณ์และความรู้สึก ซึ่งดำรงอยู่ในเชิงสัญลักษณ์ผ่านรูปปั้น รูปเคารพ เครื่องราง และวัตถุมงคล ในขณะที่โรคโควิด-19 ดำรงอยู่ในธรรมชาติในฐานะเป็นเชื้อไวรัสที่เปลี่ยนที่อยู่ไปตลอดเวลา

           สิ่งศักดิ์สิทธิ์และโควิด-19 ถูกอธิบายด้วยความเชื่อทางศาสนาในฐานะเป็น “ความดี” และ “ความเลว” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือผู้ช่วยเหลือคุ้มครองมนุษย์ให้ปลอดภัยจากอันตรายและสิ่งชั่วร้าย ส่วนโควิด-19 คือผีร้ายหรือปีศาจที่เข้ามาทำให้มนุษย์ล้มป่วยและถึงแก่ความตาย การจัดวางความสัมพันธ์ของสองสิ่งนี้คือความหมายของโลกธรรมชาติที่มีมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งมนุษย์จำเป็นต้องมีวิธีการจัดระเบียบ จัดการ และมีปฏิสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์และโรคโควิด-19 ฉะนั้น ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อที่พบในตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ก็คือ การจัดระเบียบความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีกับธรรมชาติที่มีทั้งด้านบวกและด้านลบ ด้านบวกก็คือการแสดงการเซ่นไหว้บวงสรวงธรรมชาติที่ศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยปกป้องคุ้มครองชีวิต ด้านลบก็คือการขับไล่สิ่งชั่วร้ายที่เป็นโรคระบาดให้ห่างไกลจากมนุษย์ ถึงแม้ว่าพิธีกรรมเพื่อขับไล่โควิด-19 ที่ปรากฏอยู่ในชุมชนต่างๆ จะดูเป็นเรื่องไร้เหตุผล แต่สิ่งนี้คือประสบการณ์และการดำรงอยู่ร่วมกับธรรมชาติในมิติทางศาสนา ประสบการณ์นี้บ่งบอกให้มนุษย์มองเห็นความหวังและกำลังใจจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่จะแก้ไขเยียวยาและช่วยเหลือมนุษย์ให้อยู่รอดปลอดภัยจากสิ่งที่ไม่ดี

           บทเรียนสำคัญจากพิธีกรรมทางศาสนาและการเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้ช่วยปกป้องคุ้มครองมนุษย์ให้รอดพ้นจากอันตรายของโรคโควิด-19 ก็คือ การมองเห็นความสัมพันธ์เชิงศีลธรรมที่มนุษย์มีกับโลกกายภาพ สรรพสิ่งและสิ่งที่มิใช่มนุษย์ (nonhuman) ภายใต้ความสัมพันธ์นี้หากอธิบายด้วยความรู้วิทยาศาสตร์และการแพทย์อาจเห็นเพียง “เชื้อโรค” และ “ความงมงาย” แต่หากมองด้วยประสบการณ์ทางศาสนาและจิตวิญญาณ เราจะเห็น “ความดี” “ความเลว” “ความหวัง” และ “ความศรัทธา” ที่หล่อหลอมให้มนุษย์มีกำลังใจที่จะต่อสู้และแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชีวิต ซึ่ง Joseph M.T. (2021) เรียกสิ่งนี้ว่า “การดิ้นรนทางจิตวิญญาณ” (spiritual struggle)

 

เอกสารอ้างอิง

ธิดารัตน์ วงศ์จักรติ๊บ, ภาณุวัฒน์ สกุลสืบ และทัตพิชา สกุลสืบ. (2564). พิธีกรรมการป้องกันโรคโควิด 19 ของ ชุมชนบ้านกิ่วท่ากลาง-ท่าใต้ หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านกิ่ว อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง. วารสารมังรายสาร สถาบันภาษาและวัฒนธรรมนานาชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, 9(1), 65-79.

อภิลักษณ์ เกษมผลกูล และ สินีกานต์ แก้วกัณหา. (2563). รูปแบบและบทบาทความเชื่อในสถานการณ์ไวรัส โคโรนา : การศึกษาความเป็นพหุวัฒนธรรมในสังคมไทย. วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และ สังคมศาสตร์, มหาวิทยาลัยบูรพา, 28(3), 260-286.

Bird-David, N. (1999). Animism revisited. Current Anthropology, 40(51), 67-91.

Eller, J. D. (2007). Introducing Anthropology of Religion. New York: Routledge.

Garcia, C. (2020). Indigenous Animistic Belief Systems and Integrated Science: Perspective on Humans’ Relationship with Nature and the Coronavirus Pandemic. The International Journal of Ecopsychology, 1(1), Article 6.

Geertz, C. (1957). Ethos, World-View and the Analysis of Sacred Symbols. The Antioch Review, 17(4), 421-437.

Geertz, C. (1966). Religion as a Cultural System. In Michael P. Banton. (ed.) Anthropological approaches to the study of religion. (pp.1-46). London: Tavistock.

Harvey, G. (2017). If not all stones are alive: Radical relationality in animism studies. Journal for the Study of Religion, Nature and Culture, 11(4), 481-497.

Jeremy, S. (2020). Religious Leaders: Corona Virus is Punishment, Sign of Messiah’s Coming. Jerusalem Post, 17 March.

Kidwell, C. S., Noley, H., & Tinker, G. E. (2001). A Native American theology. Ossining, N.Y.: Orbis Books.

Kowalczyk, O., Roszkowski, K., Montane, X., Pawliszak, W., Tylkowski, B., & Bajek, A. (2020). Religion and Faith Perception in a Pandemic of COVID‑19. Journal of Religion and Health, 59, 2671–2677.

Loftin, J. (1994). Religion and Hopi life in the Twentieth Century. Bloomington: Indiana University Press.

Marett, R. R. (1932). Faith, Hope and, Charity in Primitive Religion. New York: Macmillan Company.

Min Min Ton & Tin Tin Su, A. F. M. (2021). The role of religion in mitigating the COVID-19 pandemic: the Malaysian multi-faith perspectives. Health Promotion International, 2021, 1-13.

M.T., J. (2021). Religion in Times of COVID-19. Economic & Political Weekly, 56(11), https://www.epw.in/node/158117/pdf

Tudor, M.A., Benea, A.F. & Bratosin, S. (2021). COVID-19 Pandemic Lockdown and Religious Mediatization of Social Sustainability. A Case Study of Romania. International Journal of Environmental Research and Public Health, 18 (2287), 1-23.

 

เว็บไซต์

จันทบุรี แค้น! จัดพิธีสวดใหญ่ไล่ โควิด https://www.ejan.co/news/5ff5605a6c30e

เจ้าอาวาสปลุกเสกสะตอไล่โควิด-19 แจกชาวบ้าน https://www.bugaboo.tv/news/567628

ชาวกะเหรี่ยงฟื้นพิธีโบราณในรอบ 70 ปี 'เกราะหยี่ – ปิดหมู่บ้าน' สู้ COVID-19   https://prachatai.com/journal/2020/03/86819

ชาวบ้านกระแล อ.พญาเม็งราย ทำพิธีไล่โควิด ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายพ้นหมู่บ้าน  https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1695657/

ชาวบ้านประกอบพิธีป้องกัน COVID-19 จ.เชียงราย https://news.thaipbs.or.th/content/290382

ชาวศีขรภูมิทำพิธีบวงสรวงพระหมอครูปราสาทช่างปี่ ปัดเป่าโควิด ขอพรให้คนไทย  https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/2136061

ชาวสุรินทร์ ทำพิธีโบราณรำแม่มด ไล่โควิด-19  https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/140201

ชาวอมก๋อย ทำพิธี 'เกราะหยี่' ไล่ 'โควิด-19'  https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/934356

ตะลึง.! หญิงอินเดียนับพันเดินแบกหม้อที่บรรจุน้ำไว้บนหัว หวังขับไล่โควิด19 ให้พ้นประเทศ  https://www.fm91bkk.com/fm98234

ญี่ปุ่นจัดพิธีชินโต อาบน้ำเย็น-สวดขับไล่โควิด-19  https://www.thaich8.com/news_detail/94151

มุสลิมบังกลาเทศนับหมื่นชุมนุมสวดไล่โควิด   https://www.thaipost.net/main/detail/60305

นัดสวดมนต์ 'รัตนสูตร' ไล่โควิดทั่วประเทศ วันนี้ 5 โมงเย็น ตามมติ 'มหาเถรสมาคม'  https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/937267

​‘ปกาเกอะญอ’บ้านห้วยบง ทำพิธี‘ปิดหมู่บ้าน’ 3 วัน 3 คืน ป้องกันโควิดลาม   https://www.naewna.com/likesara/567772

พระสงฆ์ทำ ต๋าแหล๋ว7ชั้นไล่โควิด- 19 เครื่องรางลบล้างสิ่งอัปมงคล แจกชาวบ้าน  https://www.khawphayao.com/archives/8433

"หัวนะโม" ของดีของขลังสุดฮิตในยุคโควิด-19  https://mgronline.com/travel/detail/9630000030719

อบต.กระโพ​ จ.สุรินทร์ เรียกขวัญกำลังใจคนเลี้ยงช้างสู้ ไวรัส โควิด 19 ร่วมกันประกอบพิธีเซ่นไหว้ ปู่ตา ดอนสิมน้ำ กลางวังทะลุ   https://siamrath.co.th/n/234601

อเมซิ่งไทยแลนด์! 5 วิธีไล่โควิด-19 แบบไทยๆ  https://www.tripgether.com/

ฮือฮา "หลวงพ่อแดง" เกจิดังทำพิธีปลุกเสก 2 สมุนไพร ช่วยผู้ป่วยโควิด  https://www.thairath.co.th/news/local/central/2145076

 


 

ผู้เขียน

ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและพัฒนา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

กราฟิก

กนกเรขา นิลนนท์

เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์

 


 

ป้ายกำกับ ความหวัง กำลังใจ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ โควิด-19 ศาสนาคริสต์-คาทอลิก พิธีกรรม ความเชื่อ นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา