นางงามจักรวาล (Miss Universe): อำนาจกับการสร้างความหมายของความงามในห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน
เรียบเรียงโดย จุฑามณี สารเสวก
รูปที่ 1 Andrea Meza นางงามมิสยูนิเวิร์สผู้ชนะคนล่าสุด
(ที่มา: https://bit.ly/3fAEC2j)
หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ความงามกับผู้หญิงเป็นของคู่กัน” ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคสมัย เรือนร่างของผู้หญิงก็มักถูกพินิจพิเคราะห์ถึงความงามอยู่เสมอ พลังของความงามสามารถทำให้ผู้หญิงได้รับการยอมรับ ความสนใจ และโอกาสทางสังคมจากผู้อื่น ความงามจึงเปรียบเสมือนคุณสมบัติสำคัญที่ถูกให้คุณค่าและยกย่องเชิดชู จนพัฒนามาสู่สังเวียนการประชันความงามที่เรียกว่า “การประกวดนางงาม” ดังที่เราสามารถพบเห็นเป็นปรากฏการณ์ที่ผู้คนในสังคมพูดถึงตลอดมา หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นวาระแห่งชาติที่ไม่เคยตกกระแสในหน้าสื่อบ้านเราเลยทีเดียว
ความงาม กับ การประกวดนางงาม
มีงานศึกษาค้นพบว่าการประกวดนางงามเกิดขึ้นครั้งแรกในโลกเมื่อปี พ.ศ. 2359 ณ ประเทศเบลเยียม โดยจัดขึ้นในลักษณะกิจกรรมทางสังคมเพื่อความรื่นเริง ในระหว่างการประกวดนั้นจะมีผู้คอยดูแลสาวงามและกรรมการให้คะแนน ไม่จำกัดอายุและสถานภาพของผู้หญิงที่เข้าร่วมประกวด เพื่อเฟ้นหาผู้หญิงที่ทั้งงามและมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์การตัดสิน และมีเงินรางวัลให้กับผู้ชนะการประกวด ซึ่งภายหลังได้มีการจัดประกวดนางงามต่าง ๆ ขึ้นอีกมากมาย เนื่องจากได้รับความนิยมมากขึ้นทั้งในแง่ธุรกิจประชาสัมพันธ์และผลประโยชน์ทางการเมือง จนขยายออกไปเป็นการประกวดทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ อาทิ Miss America (พ.ศ. 2464), Miss U.S.A (พ.ศ. 2488), Miss World (พ.ศ. 2494), Miss Universe (พ.ศ. 2469), Miss International (พ.ศ. 2503), Queen of The Pacific (พ.ศ. 2510) เป็นต้น (สุพัตรา กอบกิจสุขสกุล, 2531: 40-41)
รูปที่ 2 นางงามมิสยูนิเวิร์สยุคแรก
(ที่มา: https://positioningmag.com/1256395)
การประกวดนางงามมิสยูนิเวิร์ส (Miss Universe หรือนางงามจักรวาล) หนึ่งในเวทีการประกวดความงามที่ได้รับความสนใจระดับตำนาน โดยการเชิญนางงามจากนานาชาติมาประชันโฉมครั้งแรกในปี พ.ศ. 2464 แต่ก็ต้องเลิกจัดไปในปี พ.ศ. 2478 หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ในประเทศสหรัฐอเมริกา (บีบีซี, 2560: ออนไลน์) แต่ต่อมาได้มีผู้ริเริ่มจัดการประกวดใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2495 คือ แปซิฟิกมิลส์ (Pacific Mills) บริษัทเสื้อผ้าจากแคลิฟอร์เนีย มีสาวงามนานาชาติเข้าร่วมประกวดกว่า 30 คน โดยผู้ที่คว้ามงกุฎมิสยูนิเวิร์สไปครอบครองคนแรก คือ Armi Helena Kuusela จากประเทศฟินแลนด์ กองประกวดมิสยูนิเวิร์สได้มีการผลัดเปลี่ยนผู้ถือลิขสิทธิ์จัดการประกวดต่อเนื่องเรื่อยมา และมีเหตุการณ์สำคัญให้สังคมพูดถึงอยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น ในยุคที่สังคม ยังปิดกั้นเรื่องสีผิว เชื้อชาติ และเพศ ปี พ.ศ. 2502 Akiko Kojima สาวญี่ปุ่นชนะการประกวดและเป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงเอเชียได้ครองมงกุฎ หรือในปี พ.ศ. 2520 Janelle Commissiong นางงามผิวสีคนแรกจากสาธารณะรัฐโดมินิกันได้รับตำแหน่งผู้ชนะ เป็นต้น
นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องรูปร่างของนางงามผู้ชนะการประกวดในยุคต่อมาก็เป็นที่จับตามอง เนื่องจากภาพลักษณ์ของผู้ชนะการประกวดมีแนวโน้มรูปร่างผอมบางลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้บริหารองค์กรนางงามจักรวาล (Miss Universe Organization) มีงานศึกษาจาก Superdrug Online Doctor ที่ทำการวัดค่า BMI (Body Mass Index) ของผู้ที่ชนะการประกวดว่ามีแนวโน้มต่ำกว่ามาตรฐานหรือผอมเกินไป และมีเกณฑ์ส่วนสูงที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คือไม่ต่ำกว่า 170 เซนติเมตร รวมถึงมีการให้ความสำคัญกับขนาดหน้าอกด้วย แม้จะมีเกณฑ์การตัดสินผู้เข้าประกวดจากประวัติการศึกษา หรือวัดไหวพริบความฉลาดเฉลียวก็ตาม (โพซิชั่นนิ่งแม็ก, 2562: ออนไลน์)
ด้วยเหตุนี้ การประกวดนางงามในระยะหลังจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงสตรีนิยมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่ว่าเวทีประกวดนางงามเป็นความล้าหลังของสังคมยุคใหม่ที่ต้องการผลิตซ้ำมาตรฐานความงามในโลกทุนนิยม (Beauty Standard) หรือประเด็นเรื่องการกดขี่ผู้หญิงในสังคมชายเป็นใหญ่ที่ทำให้ผู้หญิงมีสถานะเป็นวัตถุดั่งสินค้าที่สมบูรณ์แบบไร้ที่ติ
รูปที่ 3 นางงามมิสยูนิเวิร์สยุคทรัมป์ (พ.ศ. 2539 - 2557)
(ที่มา: https://board.postjung.com/647257)
ข้อถกเถียงว่าด้วยความหลากหลาย กับ การมีอยู่ของเวทีนางงามในยุคปัจจุบัน
การเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกและบริบทด้านสังคมในช่วงรอยต่อระหว่างปลายศตวรรษที่ 20 กับ 21 ซึ่งเป็นระยะเวลาเปลี่ยนผ่านของการก้าวสู่โลกหลังสมัยใหม่ ที่มีผลมาจากการขยายตัวของนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสาร การเกิดขึ้นของสื่อใหม่อย่างอินเทอร์เน็ตที่ช่วยส่งเสริมช่องทางให้ปัจเจกบุคคล กลุ่ม หรือองค์กร มีปฏิสัมพันธ์กันง่ายขึ้น ช่วยลดช่องว่างการส่งต่อข้อมูลและแลกเปลี่ยนข่าวสารอย่างรวดเร็วไร้พรมแดน ซึ่งมีผลทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของค่านิยมและความเชื่อทางสังคม เชื่อมโยงผู้คนให้มีความรู้สึกร่วมในฐานะพลเมืองโลก (Global Citizen) ขณะเดียวกัน ผู้คนก็เริ่มปฏิเสธมาตรฐานหรือกติกาชุดใดชุดหนึ่งเพียงชุดเดียวในการอยู่ร่วมกัน ต้องการทลายกรอบความเชื่อของสังคมแบบเดิมๆ พร้อมเปิดโอกาสให้ความแตกต่างดำรงอยู่เติบโตได้อย่างอิสระ โดยมีจุดเน้นที่การมีส่วนร่วม การทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน การยอมรับอัตลักษณ์ทางสังคมอันหลากหลาย (Diversity) และการแสดงออกถึงการเคารพในธรรมชาติ วัฒนธรรม ทั้งของตนเองและผู้อื่น (ปรีดา อัครจันทโชค, 2562: ออนไลน์) ซึ่งอิทธิพลจากพลวัตเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเด็นใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ วาทกรรมความงามมากมาย เช่น การไม่ตัดสินคนจากภายนอก (Judgement by Appearance) การต่อต้านสิทธิพิเศษของคนหน้าตาดี (Beauty Privilege) หรือการส่งเสริมความหลากหลายทางเพศและอัตลักษณ์ (Identity Politics) เป็นต้น แม้การมีอยู่ของเวทีการประกวดนางงามระยะหลังจะดำเนินกิจกรรมในรูปแบบธุรกิจหวังผลกำไรอย่างเต็มตัวหรือมีผู้ชมเฉพาะกลุ่มก็ตาม แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์และเกิดข้อถกเถียงถึงความสำคัญในทางสังคมได้ เห็นได้ชัดจากกระแสความนิยมในการประกวดนางงามที่ลดลงในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศแถบยุโรป การตั้งคำถามถึงภาพลักษณ์ของการประกวดนางงามที่ผลิตซ้ำภาพจำมาตรฐานความงามของผู้หญิง สวนทางกับการตระหนักถึงการให้คุณค่ากับความหลากหลายซึ่งมีความหมายต่อวัฒนธรรมบริโภคนิยมของผู้คนในโลกหลังสมัยใหม่ กระแสเหล่านี้ล้วนเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการปรับเปลี่ยนนโยบายและแนวทางการประกวดนางงามมิสยูนิเวิร์สในยุคปัจจุบัน
รูปที่ 4 Paulina Vega ผู้ชนะการประกวดมิสยูนิเวิร์ส ปี พ.ศ. 2557
(ที่มา: https://www.sanook.com/women/33689/)
มิสยูนิเวิร์ส กับ การสร้างความหมายของความงามในยุคสมัยของการเปลี่ยนผ่าน
การประกอบสร้างวาทกรรมความงามของเวทีการประกวดนางงามมิสยูนิเวิร์ส และความท้าทายต่อกระแสสังคมในห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน เป็นภาพสะท้อนของปฏิบัติการทางอำนาจที่เกิดจากการให้คุณค่าและผลิตความหมายเกี่ยวกับความงาม เวทีการประกวดนางงามได้กลายเป็นหนึ่งในสถาบันทางสังคมที่สถาปนาวาทกรรมความงามของผู้หญิง โดยทำงานร่วมกันกับสถาบันสื่อเพื่อทำหน้าที่ผลิตซ้ำชุดความจริงที่มีอำนาจในการกำหนดและยกย่องคุณค่าของความงามของผู้หญิง ผ่านกระบวนการสถาปนาเกียรติยศของมงกุฎและสายสะพาย ซึ่งมีความสัมพันธ์กับสภาพสังคม วัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจ โดยสามารถอธิบายปรากฏการณ์การประกวดนางงามนี้ ผ่านแนวคิดเรื่องอำนาจ (Power) และวาทกรรม (Discourse) ของ มิเชล ฟูโกต์ สำหรับฟูโกต์ ภาพของอำนาจเป็นสิ่งที่เคลื่อนไหว เปลี่ยนมือ และลื่นไหลไปตามเงื่อนไขหรือบริบท รูปแบบของการทำงานของอำนาจจึงหมุนเวียนในสังคมและถูกแฝงฝังอยู่อย่างธรรมชาติ แม้เราไม่อาจจับต้องได้ แต่มองเห็นได้ด้วยการมองผ่านปฏิบัติการ ลักษณะของอำนาจดังกล่าวจึงถูกเรียกว่า ชีวะอำนาจ (Bio-power) อำนาจจะกลายเป็นสิ่งนิรนามที่ไม่สามารถมองเห็นการบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม แต่เคลื่อนไหวไปมาแฝงฝังในทุกระดับทุกพื้นที่ของสังคม และไม่มีใครเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง (เสนาะ เจริญพร, 2548: 23)
อำนาจสมัยใหม่ถูกผลิตผ่านวาทกรรมและปฏิบัติการต่างๆ ซึ่งวาทกรรมใช้ในการสื่อความหมายของระบบและกระบวนการผลิต (constitute) เอกลักษณ์ (Identity) และความหมาย (significance) ให้กับสรรพสิ่งต่างๆ ในสังคมที่แวดล้อมตัวมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ความจริง อำนาจ หรือตัวตนของปัจเจกบุคคลเอง ภายในสังคมจะมีชุดวาทกรรมที่หลากหลายและต่างใช้ยุทธศาสตร์เฉพาะตัวในการอยู่รวมกัน วาทกรรมจึงสามารถทำให้เอกลักษณ์และความหมายบางอย่างที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ ขณะเดียวกันอาจกดทับหรือบิดเบือนให้เลือนหาย (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, 2543: 19-20) การสร้างวาทกรรมจึงไม่ใช่คำพูดลอย ๆ แต่เป็นปฏิบัติการของการนิยามเครื่องมือในการสร้างวาทกรรมในแต่ละกรอบความรู้ และการสร้างพรมแดนผ่านสถาบันขึ้นมา เช่น เวทีการการประกวดนางงาม องค์กรสื่อ เป็นต้น อำนาจในรูปแบบของวาทกรรมความงามจากเวทีการประกวดนางงาม จึงสามารถผลิตความหมายเกี่ยวกับความจริงของความงาม จนนำไปสู่การตัดสินเชิงคุณค่าและใช้อำนาจในการแทรกแซงเป็นร่างกายทางสังคมของมนุษย์ได้อย่างเป็นปกติวิสัย
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอำนาจไม่มีใครเป็นเจ้าของอย่างเบ็ดเสร็จ แต่ปฏิบัติการอยู่บนความสัมพันธ์เชิงซ้อนที่ซ้อนทับกันหลายอย่าง มีการต่อรอง ต่อต้าน และขัดขืน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในโครงสร้างของอำนาจที่ทำให้อำนาจนั้นให้คงไว้ การปฏิเสธความเชื่อเกี่ยวกับวาทกรรมความงามที่ผูกขาดอำนาจของกองประกวดเพียงผู้เดียวจากปรากฏการณ์การประกวดนางงามในยุคปัจจุบัน ปฏิสัมพันธ์ที่ผู้คนมีต่อองค์กรการประกวดนางงามในระยะหลัง ในห้วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่ผู้คนเริ่มก้าวพ้นจากความคิดว่าตนเองเป็นเหยื่อของอำนาจของความรู้ชุดใดชุดหนึ่งที่มาจากสถาบันหรือองค์กรขนาดใหญ่ โดยมีอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลางที่ทำให้อำนาจในการกำหนดความหมายสามารถอยู่ในมือของผู้ชมการประกวดและตัวนางงามได้เช่นเดียวกัน เห็นได้จากการเปลี่ยนมือผู้ถือลิขสิทธิ์การประกวดมิสยูเวิร์สในปี พ.ศ. 2558 ภายใต้การบริหารงานของกลุ่มไอเอ็มจี (IMG) บริษัทจัดงานอีเวนท์และกีฬารายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาผู้จัดการประกวดในปัจจุบัน
หลังจากที่ความนิยมการประกวดนางงามลดลงและกระแสสังคมที่ตั้งคำถามกับภาพลักษณ์องค์กร ทำให้องค์กรมีเป้าหมายสำคัญ คือ การเปลี่ยนนโยบายการจัดประกวด โดยมุ่งเฟ้นหาผู้หญิงที่มีความรู้ความสามารถมากขึ้นกว่าการเป็นเวทีประกวดนางงามอย่างเดิม ๆ (บีบีซี, 2563: ออนไลน์) และต้องการฟื้นฟูให้การประกวดนางงามกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง แนวคิดหลักของการประกวดมิสยูนิเวิร์สในยุคของไอเอ็มจีเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต คือ
สาวงามที่มีทั้งความสวย บุคลิกโดดเด่น มีทัศนคติในการมองโลกและการดำเนินชีวิตที่ดี (Confidently Beautiful) ทั้งยังเป็นบุคคลที่พร้อมจะสื่อถึงพลังของผู้หญิง (Empowered Women) สามารถเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงยุคใหม่ได้ (Mthai, 2561: ออนไลน์) นับเป็นการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรครั้งสำคัญที่ต้องการสร้างความหมายของความงามในมิติใหม่ เพื่อเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการประกวดนางงามที่เป็นพื้นที่ของการส่งต่อพลังให้กับผู้หญิง ผู้ได้รับตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สจะมีหน้าที่เหมือนกับองค์กรระหว่างประเทศ ทำกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ให้กับสังคม เพื่อสร้างสันติภาพ ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส พร้อมเป็นกระบอกเสียงในการยืนหยัดเพื่อจุดยืนอย่างใดอย่างหนึ่ง (The Momentum, 2562: ออนไลน์)
รูปที่ 5 Pia Alonzo Wurtzbach ผู้ชนะการประกวดปี พ.ศ. 2558 ยุค IMG
(ที่มา: https://voicetv.co.th/read/ByB5_zOlf)
เกณฑ์การตัดสินสาวงามผู้ชนะการประกวดยุคนี้จึงถูกให้น้ำหนักไปที่การตอบคำถามที่แสดงให้เห็นถึงทัศนคติความรู้เท่าทันกระแสสังคมโลก ทั้งประเด็นการเมือง สังคมวัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ยิ่งไปกว่านั้น องค์กรมิสยูนิเวิร์สได้ส่งเสริมอัตลักษณ์และความงามอันหลากหลายมากขึ้น ภายหลังจากที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้มาโดยตลอด ทั้งนี้ เหล่าสาวงามที่เป็นตัวแทนจากแต่ละประเทศ พร้อมใจกันนำเสนอความหลากหลายของตนเองในเวทีการประกวดมิสยูนิเวิร์ส เช่น ในปี พ.ศ. 2559 สาวงามจากแคนาดาหนึ่งเดียวบนเวทีที่ถูกมองว่ามีรูปร่างไม่ผอมเพรียวและตัวใหญ่กว่าผู้ประกวดคนอื่นๆ แต่ให้สัมภาษณ์กับสื่อและกองประกวดอย่างภาคภูมิใจถึงความมั่นใจในรูปร่างที่แตกต่างของตนเอง และเธอก็สามารถผ่านการคัดเลือกเข้ารอบลึกถึง 10 คนสุดท้ายได้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2561 มีผู้เข้าร่วมประกวดจากประเทศสเปน เป็นสตรีข้ามเพศคนแรกในประวัติศาสตร์ที่เข้าร่วมการประกวดมิสยูนิเวิร์ส ผู้สื่อสารถึงเจตจำนงค์เสรีภาพแห่งการเลือกเพศสภาวะของตนเอง และในปี พ.ศ. 2562 ผู้สวมมงกุฎมิสยูนิเวิร์สเป็นนางงามผิวสีจากประเทศแอฟริกาใต้ โดยการกล่าวสุนทรพจน์กินใจคนทั้งโลกถึงความต้องการก้าวข้ามค่านิยมความงามเรื่องสีผิว ภายหลังจากที่ไม่มีผู้ชนะเป็นนางงามผิวสีมาเป็นเวลานานถึง 8 ปี เป็นต้น
รูปที่ 6 นางงามแอฟริกาใต้ผิวสี คว้าตำแหน่ง Miss Universe ในปี พ.ศ. 2562
(ที่มา: https://www.prachachat.net/spinoff/entertainment/news-399408)
การประกวดนางงามจักรวาลหรือมิสยูนิเวิร์ส และการสร้างความหมายของความงามในมิติใหม่ในยุคสมัยที่สังคมกำลังเปลี่ยนผ่าน ในทางหนึ่ง อาจเป็นการปรับตัวเพื่อเพิ่มความนิยมของตนเองให้มีที่ทางอยู่ได้ในโลกธุรกิจ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าห้วงเวลาที่ผู้คนไม่ยอมศิโรราบต่ออำนาจของกองประกวดและวาทกรรมความงามจากกองประกวดแบบเดิม ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ
ที่สลับซับซ้อน โดยมีอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลางที่ช่วยเชื่อมโยงผู้คนและเคลื่อนย้ายอำนาจให้ลื่นไหล เปลี่ยนมือ มิติของอำนาจจึงไม่ได้ยึดโยงเพียงโครงสร้าง องค์กร สถาบัน และอำนาจก็ไม่ได้หยุดนิ่ง ทั้งยังก่อให้เกิดกระบวนการต่อรองและช่วงชิงความหมายของความงามระหว่างกองประกวด ผู้ชม และตัวนางงาม อำนาจจึงไม่ได้ผูกขาดอยู่ที่ผู้ใดผู้หนึ่งเพียงคนเดียว แต่ทำงานหมุนเวียนในสังคมและปรากฏแทรกซึมอยู่ในความสัมพันธ์ทางสังคมอย่างกระจัดกระจายอยู่
ทุกขณะ
เอกสารอ้างอิง
หนังสือ
ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. (2543). วาทกรรมการพัฒนา: อำนาจ ความรู้ ความจริง เอกลักษณ์และความเป็นอื่น. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิภาษา.
เสนาะ เจริญพร. (2548). ผู้หญิงกับสังคมในวรรณกรรมไทยยุคฟองสบู่. กรุงเทพมหานคร: บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน).
งานวิจัยและวิทยานิพนธ์
จุฑามณี สารเสวก. (2561). “นางงาม: อำนาจกับกระบวนการกลายเป็นเรือนร่างทางสังคม กรณีศึกษาการประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2017”. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
สุพัตรา กอบกิจสุขสกุล. (2531). “การประกวดนางสาวไทย (พ.ศ. 2477-2530)”. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สื่อออนไลน์
บีบีซีไทย. (2560). ดอกไม้มาพร้อมก้อนอิฐ เมื่อนางงามและการเมืองอยู่บนเวทีประกวด. เข้าถึงเมื่อ 18 พฤษภาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://www.bbc.com/thai/thailand-54460080
บีบีซีไทย. (2560). มิสยูนิเวิร์ส 2018: 10 ข้อเท็จจริง เบื้องหลังเวที “นางงามจักรวาล. เข้าถึงเมื่อ 18 พฤษภาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://www.bbc.com/thai/international-38790723
ประชาชาติธุรกิจ. (2563). นางงามแอฟริกาใต้คว้า Miss Universe 2019 มงลงสาวผิวสีในรอบ 8 ปี. เข้าถึงเมื่อ 23 พฤษภาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://www.prachachat.net/spinoff/entertainment/news-399408
Mthai. (2561). เจาะสไตล์แบรนด์ Milin ผู้รับหน้าที่รังสรรค์เสื้อผ้า มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2018 ต่อจาก Asava. เข้าถึงเมื่อ 19 พฤษภาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://women.mthai.com/scoop/347137.html
MGRonline (2557). สาวงามตัวเต็งจากโคลอมเบียคว้ามิสยูนิเวิร์ส 2014. เข้าถึงเมื่อ 19 พฤษภาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://mgronline.com/entertainment/detail/9580000009691
Positioningmag. (2562). Miss Universe: เปิดจักรวาลความงามที่มีจุดเริ่มต้นจากโฆษณาชุดว่ายน้ำ. เข้าถึงเมื่อ 17 พฤษภาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://positioningmag.com/1256395
Postjung. (ไม่ระบุปี). MU ยุคทรัมป์ - ตำนานนางฟ้าคู่เอก. เข้าถึงเมื่อ 24 พฤษภาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://board.postjung.com/647257
PPTVonline. (2564). มิสเม็กซิโก คว้ามงกุฏ Miss Universe 2020. เข้าถึงเมื่อ 24 พฤษภาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://bit.ly/3fAEC2j
SCN. (ไม่ระบุปี). โพส-โพสต์โมเดิร์นนิสกับการสื่อสารในศตวรรษที่ 21. เข้าถึงเมื่อ 20 พฤษภาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://scn.ncath.org/articles/post-postmodernism-and-communication-in-the-21th-century/
Sanook. (2558). ยลโฉมเต็มๆ Paulina Vega ผู้คว้า Miss Universe 2014. ข้าถึงเมื่อ 24 พฤษภาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://www.sanook.com/women/33689/
The Momentum. (2562). จาก ‘นางสาวสยาม’ สู่ ‘มิสยูนิเวิร์ส’ เวทีนางงามไม่เคยหนีห่างจากการเมือง. เข้าถึงเมื่อ 19 พฤษภาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://themomentum.co/beauty-queen-and-politics/
VoiceOnline. (2558). ประกวดมิสยูนิเวิร์สปีนี้ส่อแววประกาศผลผิดอีก. เข้าถึงเมื่อ 20 พฤษภาคม 2564. เข้าถึงได้จาก https://voicetv.co.th/read/ByB5_zOlf
ป้ายกำกับ นางงามจักรวาล Miss Universe อำนาจ ความหมาย ความงาม จุฑามณี สารเสวก