คนนอก

 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้เข้าชม : 4502

คนนอก

 

สิรินยา วัฒนสุขชัย

 

บทคัดย่อ

           หลังจากไวรัสโคโรนาได้แพร่กระจายไปทั่วโลก คนไทยที่พำนักอยู่นอกประเทศจำนวนมากต้องการกลับสู่มาตุภูมิ แต่พวกเขาต้องพบกับความยุ่งยากเมื่อรัฐบาลไทยประกาศใช้มาตรการ “ชะลอคนไทยกลับบ้าน” โดยอ้างว่าเป็นการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสในประเทศ มาตรการดังกล่าวนอกจากจะทำให้คนไทยต้องขอ “วีซ่า” กลับสู่บ้านเกิด ยังทำให้เกิดการแบ่งแยกความเป็นคนไทยให้เป็น “คนนอก” กับ “คนใน”

           งานวิจัยชิ้นนี้ต้องการนำเสนอนโยบายรัฐบาลที่กีดกันคนไทยที่ต้องการกลับบ้านในช่วงวิกฤตผ่านประสบการณ์ตรงของผู้เขียน ปฏิกิริยาของสื่อมวลชนและประชาชนคนไทยบนสื่อออนไลน์ นอกจากนี้ยังได้รวบรวมมาตรการฉุกเฉินของหลากประเทศ เพื่อชี้ให้เห็นถึงกระบวนการของรัฐบาลไทยที่สร้างความกลัวให้กับ “คนใน” ทั้งนี้ผู้เขียนได้ทำการวิเคราะห์นโยบายและกระบวนการของภาครัฐที่ใช้เส้นพรมแดนประเทศแบ่งคนไทยให้เป็น “คนใน” และ “คนนอก” และนำเสนอทางออกที่ไม่ให้เกิดการแบ่งแยก "เขา" และ "เรา" และให้คนไทยทุกคนฝ่าฟันวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

 

บทที่ 1 สถานการณ์

           ถอดประสบการณ์ตรงในการเดินทางกลับบ้านท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในกลุ่มประเทศยุโรปและทั่วโลกรุนแรงมากขึ้น จนหลายประเทศทยอยปิดพรมแดน

 

                      “คุณอาจจะเป็นผู้โดยสารคนเดียวที่ได้ขึ้นเครื่องวันนี้ก็ได้”

 

           พนักงานเช็กอินที่เคาน์เตอร์หมายเลข 8 พูดขึ้นผ่านหน้ากากหลังจากที่รับพาสปอร์ตของเราผ่านถุงมือ แล้วชวนเรากวาดตาดูแถวเช็กอินสิบกว่าแถวที่มีก็เราเป็นผู้โดยสารที่กำลังเช็กอินอยู่คนเดียวกับพนักงานเช็กอินตรงหน้า และพนักงานจากอีกสองสามสายการบินที่ยังให้บริการอยู่ในเคาน์เตอร์หลายแถวห่างออกไป

           เราจำไม่ได้ว่านี่เป็นครั้งที่เท่าไหร่ที่เราบินออกจากสนามบินบรัสเซลล์ แต่ไม่เคยมีครั้งไหนที่ผู้คนจะบางตาจนเกือบกลายเป็นสนามบินร้างเท่านี้ ตารางการบินที่สนามบินบรัสเซลล์ในวันที่ 29 มีนาคม 2563 ถูกยกเลิกเกือบทั้งหมด และภายในตัวอาคารเฉพาะผู้โดยสารที่มีตั๋วเดินทางเท่านั้นจึงจะได้รับอนุญาตให้ผ่านเข้ามา จึงไม่น่าแปลกใจที่การเดินสำรวจทุกชั้นแล้วพบว่ามีผู้โดยสารแค่ประมาณ 20-30 คน ที่นั่งกระจายตัวอยู่ทั่วตึกเพื่อรอขึ้นเครื่อง และอีกประมาณสิบคนที่เพิ่งลงจากเครื่องทยอยเดินออกมาทางประตูขาเข้า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ประจำทางเข้าออกแต่ละชั้น ทหารที่เดินตรวจทั่วอาคาร และเจ้าหน้าที่ตามจุดต่างๆ ของสนามบิน แต่ในอาคารแห่งนี้ไม่มีการตรวจอุณหภูมิร่างกายแต่อย่างใด

           พนักงานคนเดิมเล่าต่อว่าเขาต้องปฏิเสธที่จะเช็กอินให้กับผู้โดยสารคนไทยสองสามคนเพราะไม่มีเอกสาร พลางรับใบรับรองแพทย์ Fit to Fly พร้อมกับใบรับรองบุคคลจากสถานทูตไทยในบรัสเซลล์ไปตรวจสอบว่าตรงกับพาสปอร์ตของเราที่ยื่นไปเมื่อครู่

 

                      “ไม่มีประเทศไหนเรียกร้องเอกสารจากผู้โดยสารชาติตัวเองหรอก แต่สายการบินจะรับเฉพาะผู้โดยสารของชาติตัวเองกลับบ้านเท่านั้น”

 

           กว่าจะถึงเวลาขึ้นเครื่อง เราได้แต่ครุ่นคิดว่า ถ้าเช้าวันนี้เราได้นั่งเครื่องการบินไทยกลับกรุงเทพฯ คนเดียวหรือยิ่งมีผู้โดยสารน้อยเท่าไหร่ นั่นหมายถึงว่ามีคนไทยต้องตกค้างอยู่นอกประเทศมากขึ้นเท่านั้น เพราะพวกเขาหาเอกสารไม่ทัน และการบินไทยที่เป็นสายการบินเดียวที่บินตรงบรัสเซลล์-กรุงเทพ ก็มีอีกแค่สองเที่ยวบินก่อนจะหยุดพักชั่วคราวเป็นเวลาอย่างน้อยสองเดือน สายการบินต่างชาติที่บินจากยุโรปเข้าไทยก็เหลือน้อยเต็มที

           ย้อนกลับไปเมื่อหกเดือนก่อนเรายังวุ่นวายหาเอกสารเพื่อขอวีซ่ามาศึกษาต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ และเราเพิ่งย้ายมาอยู่ที่ไลเดนวันที่ 17 กุมภาพันธ์ เราไม่เคยคิดว่าจะมีวิกฤตที่ทำให้เราต้องกลับบ้านภายในหกสัปดาห์ และที่สำคัญที่สุดคงไม่มีใครคาดคิดว่าเพียงหกสัปดาห์ที่ออกจากประเทศไทย เราต้องขอ “วีซ่า” เพื่อกลับบ้าน โดยเฉพาะในยามวิกฤตที่คนไทยนอกประเทศจำนวนมากคิดถึงบ้าน

           นับตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคมเป็นต้นมา การบินพลเรือนมีมาตรการให้คนไทยทุกคนที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยต้องแสดงใบรับรองแพทย์ Fit to Fly ที่มีอายุไม่เกิน 72 ชั่วโมง พร้อมกับใบรับรองจากสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศเพื่อยืนยันตัวตน ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางสู่ประเทศไทย

           จากการสนทนาก่อนขึ้นเครื่องกับผู้โดยสารร่วมเที่ยวบินพบว่า ผู้โดยสารหญิงคนหนึ่งได้วางแผนที่จะบินไปแต่งงานกับว่าที่สามีแล้วบินกลับมาเมืองไทยพร้อมกันในช่วงฤดูร้อน แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เธอต้องเปลี่ยนแผนกลับเมืองไทยเพียงคนเดียวในทันที แต่กว่าที่เธอจะได้ขึ้นเที่ยวบินนี้เธอต้องกลับไปหาหมอประจำบ้านที่แฟนของเธอจัดแจงนัดให้เป็นครั้งที่สองเพราะใบรับรองแพทย์ใบแรกที่ถูกส่งไปที่สถานทูตนั้นหมดอายุก่อนวันเดินทาง

           เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ เราตัดสินใจเดินทางจากเมืองไทยวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 แม้ว่าสถานการณ์เริ่มมีแนวโน้มที่ไม่สู้ดีนัก แต่เนื่องจากประเทศไทยในขณะนั้นไม่มีทีท่าว่าจะปิดประเทศหรือแม้แต่กักตัวผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงสูง เช่น จีน หรือ เกาหลี ทั้งที่ประเทศจีนได้มีมาตรการปิดเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพร่กระจายไวรัสจุดแรกของโลก และไวรัสโคโรนาได้เริ่มแพร่กระจายไปทั่วทวีปเอเชีย ส่งผลให้หลายประเทศเริ่มมีมาตรการปิดเมืองหรือปิดประเทศ หรือไม่รับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากประเทศจีนเข้าประเทศแล้ว แต่ประเทศไทยยังคงเปิดประตูรับนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีความเสี่ยงสูงเช่นประเทศจีนเข้ามาอย่างต่อเนื่องตามปกติโดยไม่มีการกักตัวใดๆ อีกทั้งยังมีคนไทยที่พำนักในต่างประเทศ หรือเดินทางไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงในช่วงเวลาสั้นๆ อย่างต่อเนื่องในช่วงเวลานั้นได้อย่างเสรี

 

มาตรการอันล่าช้าของรัฐไทยทำให้ประชาชนในประเทศไม่สามารถประเมินสถานการณ์จริงได้

           รัฐบาลเริ่มตระหนักถึงความรุนแรงของการแพร่กระจายของไวรัสต้นเดือนมีนาคมเมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นทุกวันอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุหลักมาจากผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ เพราะแน่นอนว่าไวรัสที่มีต้นตอจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนต้องถูกนำเข้ามาแพร่กระจายในประเทศโดยนักเดินทางที่รัฐบาลยินยอมให้เดินทางเข้าประเทศหากตรวจวัดไข้แล้วอุณหภูมิร่างกายสูงไม่เกิน 37.4 องศาเซลเซียส ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่มีไข้สูงนั้นแสดงว่าได้ผ่านระยะฟักตัวมากแล้ว แต่พวกเขาอาจจะได้แพร่เชื้อไปตั้งแต่ในช่วงฟักตัวที่ยังไม่แสดงอาการใดๆ

           ก่อนหน้านั้นประชาชนในประเทศจำนวนมากเริ่มส่งเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลทำการกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 แต่ดูเหมือนรัฐบาลไทยจะห่วงใยภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือ และรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่าสวัสดิภาพและสุขภาพของประชาชน ทำให้มีการตัดสินใจที่ล่าช้าและเริ่มมาตรการจัดหาสถานที่กักตัวช่วงต้นเดือนมีนาคม เมื่อแรงงานไทยผิดกฎหมายเดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้ 242 คนในวันที่ 11 มีนาคม การกักตัวโดยรัฐในช่วงแรกมีการออกแบบให้แรงงานไทยกลุ่มดังกล่าวแยกย้ายไปกักตัวในจังหวัดบ้านเกิดของตนเอง ก่อนหน้านั้นได้มีแรงงานไทยผิดกฎหมายจำนวนหนึ่งได้ทยอยเดินทางกลับมาสู่ประเทศไทยตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์โดยไม่มีการกักตัวในสถานที่ของรัฐหรือการติดตามผลการกักตัวที่บ้านของตนเองอย่างจริงจัง

           แต่แล้วมาตรการกักตัวโดยรัฐสำหรับกลุ่มแรงงานจากเกาหลีกลุ่มแรกก็ต้องมีอันต้องยกเลิกทั่วประเทศในวันที่ 13 มีนาคม เมื่อมีการเผยแพร่ภาพพื้นที่การกักตัวที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น ที่นอนที่จัดให้อยู่ใกล้กันเกินมาตรฐานความปลอดภัย 2 เมตร หรือการวางที่นอนบนพื้นพร้อมกับมุ้งครอบ ทั้งหมดถูกจัดอยู่ในโถงรวมโดยไม่มีฉากกั้น ซึ่งมีความเสี่ยงที่ผู้ติดเชื้ออาจจะแพร่ไวรัสให้กับคนที่กักตัวอยู่ติดกันได้

 

การรับมือที่รวดเร็วในฝั่งยุโรป

           ในช่วงกลางเดือนมีนาคมที่เมืองไทยเพิ่งเริ่มมีมาตรการคัดกรองคนเดินทางเข้าประเทศเข้มงวดมากขึ้นทั้งที่มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม การแพร่กระจายของไวรัสในทวีปยุโรปก็เริ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่าเป็นห่วง ประเทศเนเธอร์แลนด์ประกาศปิดประเทศตั้งแต่เวลา 18.00 ของวันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม 2563 หลังจากที่รัฐบาลได้มีการประชุมเร่งด่วนในคืนวันศุกร์ ตามด้วยประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปต่างทยอยปิดประเทศ พรมแดนระหว่างประเทศในยุโรปก็เริ่มปิดตัว การปิดพรมแดนนั้นหมายถึงการเดินทางในกลุ่มเชงเก้นที่ครั้งหนึ่งสามารถทำได้โดยเสรีจะทำได้ยากลำบากมากขึ้น หรือไม่ได้เลยหากไม่จำเป็น

           เราตัดสินใจทิ้งสัมภาระทั้งหมดไว้ที่หอพัก จัดของเท่าที่จำเป็นแล้วเดินทางไปพักกับพี่สาวในประเทศเบลเยี่ยมโดยรถไฟเช้าตรู่วันที่ 18 มีนาคม ก่อนที่พรมแดนระหว่างเนเธอร์แลนด์และเบลเยี่ยมจะปิดเวลาเที่ยงตรงวันเดียวกันนั้น โดยที่เราไม่รู้เลยว่าการเดินทางที่เราวางแผนจะไปพักกับพี่สาวเพียงสั้นๆ ช่วงโควิด จะทำให้เราไม่ได้กลับไปไลเดนอีกไปอีกหลายเดือน

           ตลอดเวลาที่เราพักอยู่ในเบลเยี่ยม เราต้องคอยติดตามสถานการณ์โควิดทั้งในประเทศบ้านเกิด ประเทศพำนักตามกฎหมายและประเทศที่เราอาศัยในเวลานั้น เพราะในทางกฎหมายบัตร residence permit เราสามารถพักอาศัยนอกประเทศเนเธอร์แลนด์ในกลุ่มประเทศเชงเก้นได้เพียง 90 วันหรือนอกทวีปยุโรปได้ 180 วัน นั่นแปลว่าเรามีเพียงสองทางเลือก

           1. พักอาศัยบ้านพี่สาวแล้วเดินทางกลับไลเดนเมื่อครบกำหนด 90 วัน แต่ไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์การแพร่กระจายของไวรัสจะแย่ลงหรือดีขึ้นแค่ไหนในอีกสามเดือนข้างหน้า เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการอยู่คนเดียวในเมืองที่ไม่มีญาติหรือเพื่อนเลยสักคนในวิกฤตเช่นนี้ หรือ

           2. เดินทางกลับประเทศไทยแต่นั่นหมายถึงความซับซ้อนบางประการที่เพิ่งถูกกำหนดขึ้น

           แต่เราตัดสินใจซื้อตั๋วเครื่องบินกลับเมืองไทยจากเบลเยี่ยมและทำการยกเลิกหอพักในไลเดนในทันที เพราะเราคงไม่กลับไปไลเดนจนกว่าประเทศเนเธอร์แลนด์จะเปิดประเทศต้นเดือนสิงหาคมตามประกาศ เราจึงขอให้พี่สาวขับรถข้ามประเทศเพื่อไปเก็บของที่หอพักให้หลังจากที่เราเดินทางกลับถึงเมืองไทยแล้ว เนื่องจากเราไม่สามารถเสี่ยงที่จะกลับไปไลเดนแล้วกลับเมืองไทยไม่ได้ เพราะในช่วงเวลาที่เราตัดสินใจเลือกอยู่ต่อหรือกลับบ้านนั้น รัฐบาลไทยได้ออกมาตรการให้คนไทยทุกคนที่จะเดินทางเข้าประเทศต้องแสดงใบรับรองแพทย์ และ ใบยืนยันบุคคลจากสถานทูต นั่นหมายความว่า ถ้าหากเราจะเดินทางกลับประเทศไทย เราต้องทำในทันทีที่เบลเยี่ยมก่อนที่การบินไทยจะให้บริการเที่ยวบินระหว่างบรัสเซลล์-กรุงเทพ เป็นวันสุดท้ายในวันที่ 31 มีนาคม ก่อนจะหยุดการบินชั่วคราวทั่วโลก สิ่งที่ยุ่งยากกว่าตั๋วเครื่องบินคือเอกสารสองใบที่ทำหน้าที่เป็น “วีซ่า” เข้าประเทศไทย เพราะเรายังไม่มีหมอประจำบ้านในไลเดนทำให้การขอใบรับรองแพทย์จะเป็นไปได้ยากมากหรืออาจจะเป็นไปไม่ได้เลย

           เราตัดสินใจซื้อตั๋วบินกลับเมืองไทยจากเบลเยี่ยม เพราะการขอใบรับรองแพทย์จากหมอประจำบ้านของครอบครัวพี่สาวที่พำนักในเบลเยี่ยมมาเกิน 20 ปี จึงดูซับซ้อนน้อยกว่าการต้องเดินทางกลับไปไลเดน เพราะหากเราเดินทางกลับไปไลเดนแล้วไม่สามารถบินกลับไทยได้ แปลว่าเราจะติดอยู่ในเมืองที่เราไม่มีคนรู้จักเลยไปอีกอย่างน้อยจนกระทั่งประเทศเนเธอร์แลนด์จะเปิดประเทศอีกครั้งในเดือนสิงหาคม ตามประกาศของรัฐบาล

           แต่เมื่อเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ตอนเช้าตรู่วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม เราพบผู้โดยสารจากเที่ยวบินอื่นๆ ประมาณ 20 คน จึงใช้เวลาผ่านด่านเพียงแค่ครึ่งชั่วโมง กลุ่มคนที่มาถึงมีหลากหลาย ทั้งนักเรียน คนทำงาน หรือคนที่ตั้งใจจะย้ายไปอยู่กับว่าที่สามีในยุโรป แต่ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุวัยที่ยังแข็งแรง ขั้นตอนการคัดกรองมีเพียงการวัดอุณหภูมิร่างกายทั้งหมดสามจุด ครั้งแรกเมื่อเข้าแถวโหลดแอปฯ เพื่อลงทะเบียนกับกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่สองเมื่อแสดงใบรับรองแพทย์และยื่นใบรับรองจากสถานทูตให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อประทับวันที่การเดินทางเข้าประเทศ และรับคำแนะนำให้กักตัวเองเป็นเวลาสองสัปดาห์ และครั้งที่สามก่อนถึงด่านตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งเช้าวันนั้นทุกคนผ่านการตรวจคนเข้าเมืองอย่างไรปัญหา เพราะไม่มีใครมีไข้หรืออาการที่น่าสงสัยว่าอาจจะติดเชื้อไวรัส

 

บทที่ 2 เปรียบเทียบมาตรการรับคนกลับบ้านของประเทศไทยและต่างประเทศ

           การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าเริ่มรุนแรงมาก ประเทศต่างๆ ทั่วโลกปิดพรมแดนและน่านฟ้าทำให้การขนส่งระหว่างประเทศต้องหยุดชะงัก การเดินทางข้ามประเทศแทบเป็นไปไม่ได้ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวหรือคนที่พำนักอยู่นอกประเทศจำนวนมากต้องติดค้างอยู่นอกประเทศบ้านเกิดของตัวเอง

อย่างไรก็ตามหลายประเทศได้ออกประกาศเตือนประชาชนทั้งในและนอกประเทศ ให้คำนึงถึงความจำเป็นของการเดินทางในช่วงวิกฤตนี้

 

เนเธอร์แลนด์

           ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้มีประกาศผ่านเว็บไซต์ www.netherlandsworldwide.nl แนะนำให้ประชาชนของตนเองเดินทางกลับประเทศก่อนที่จะมีการปิดพรมแดน และเริ่มมาตรการล็อคดาวน์ประเทศอย่างเป็นทางการ ถึงแม้ว่ารัฐบาลเนเธอร์แลนด์จะสื่อสารกับประชาชนของตนเองที่อยู่นอกประเทศผ่านเว็บไซต์อย่างชัดเจนว่า ประชาชนไม่จำเป็นต้องเดินทางกลับประเทศในยามวิกฤตเช่นนี้ แต่ให้คอยระวังตัวและดูแลสุขภาพของตนเอง แต่รัฐบาลก็มีคำแนะนำสำหรับนักท่องเที่ยวหรือชาวดัชต์ที่พำนักอยู่นอกประเทศ ให้คิดให้ถี่ถ้วนว่ามีความจำเป็นที่จะต้องอยู่ต่อในต่างประเทศหรือไม่ เพราะหลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีมาตรการล็อคดาวน์และปิดพรมแดนเช่นกัน และนั่นจะส่งผลให้การเดินทางออกนอกประเทศเพื่อกลับบ้านเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นประชาชนชาวดัชต์ก็ยังสามารถเข้าประเทศได้ทุกเมื่อหากพวกเขาสามารถหาเที่ยวบินหรือเดินทางข้ามพรมแดนทางพื้นดินได้

 

เยอรมนี

           ปลายเดือนเมษายน รัฐบาลเยอรมันได้ออกประกาศเตือนประชาชนผ่านทางเว็บไซต์ https://www.auswaertiges-amt.de ให้ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนหากมีการเดินทางที่ไม่จำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศและทางอากาศที่เข้มงวดขึ้นทุกวัน ซึ่งอาจจะทำให้ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้

           แต่ในกรณีที่ชาวเยอรมันและครอบครัวติดค้างอยู่ต่างประเทศก็สามารถเดินทางกลับประเทศได้ทันทีที่ทำได้ โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ และคนในครอบครัวที่เป็นชาวต่างชาติจะสามารถเข้าประเทศได้ก็ต่อเมื่อเดินทางมาพร้อมกัน แต่หากเป็นชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในเยอรมันนั้น ทางการยังไม่แนะนำให้เดินทางเข้าเยอรมันในช่วงวิกฤตนี้

           แต่ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยปิดน่านฟ้า เครื่องบินพาณิชย์ถูกยกเลิกทั้งหมด รัฐบาลเยอรมันส่งเครื่องบินมารับคนชาติตัวเองที่ติดค้างในเมืองไทยสี่เที่ยวบินจากสนามบินสุวรรณภูมิและภูเก็ตในวันที่ 2 และ 4 เมษายน แม้ว่าอัตราผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตในเยอรมนีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ไต้หวัน

           เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ชาวไต้หวันจำนวนหนึ่งติดค้างอยู่ในจังหวัดหูเป่ย ประเทศจีนเดินทางกลับประเทศด้วยเที่ยวบินพาณิชย์นับตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม หลังจากที่คนกลุ่มนี้ติดค้างอยู่ในประเทศจีนนับตั้งแต่มีการระบาดของไวรัสโคโรน่าเมื่อปลายเดือนมกราคม ส่งผลให้การเดินทางออกจากประเทศจีนต้องหยุดชะงักลงชั่วคราว เนื่องจากมาตรการปิดเมือง คนกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มเดียวกับที่เคยเรียกร้องให้รัฐบาลยินยอมให้พวกเขาเดินทางกลับประเทศด้วยสายการบินของจีนแทนที่จะต้องรอเครื่องบินที่ทางรัฐบาลไต้หวันจัดให้

           แต่ในระหว่างการปิดประเทศจีน รัฐบาลไต้หวันได้จัดเที่ยวบินพิเศษสองเที่ยวบินเพื่อรับชาวไต้หวัน 608 คน ที่ติดค้างในประเทศจีน และยังจัดอีกสองเที่ยวบินเพื่อรับประชาชนที่ติดค้างอีก 827 คน เมื่อปลายเดือนมีนาคมและปลายเดือนเมษายนเมื่อรัฐบาลจีนมีมาตรการผ่อนปรนการปิดเมือง โดยมีเพียงเงื่อนไขเดียวว่าผู้ที่เดินทางกลับสู่ประเทศต้องทำการกักตัวเองเป็นเวลาสองสัปดาห์ (Wei-ting, C. and Yi-ching, C., 2020)

 

สหรัฐอเมริกา

           จากรายงานข่าวของสำนักข่าว The New York Times พบว่ามีนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันจำนวนมากที่ติดค้างอยู่ตามประเทศต่างๆ ทั่วโลกรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้งอยู่นอกประเทศเพราะพวกเขาไม่ได้รับการเตือนล่วงหน้าจากกระทรวงต่างประเทศเลย

           Ana Pautler เป็นนักเดินป่าจากซานฟรานซิสโกได้ให้สัมภาษณ์กับ The New York Times ว่าเธอได้พบกับนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันบนเส้นทางเดินป่าบนเขาหิมาลัย ประเทศเนปาล เมื่อวันที่ 17 มีนาคม นักท่องเที่ยวกลุ่มนั้นได้รับคำแนะนำจากสถานทูตให้ทุกคนเดินทางกลับสู่เมืองหลวงกาฐมาณฑุ เพื่อจะได้บินออกจากเนปาลเพื่อกลับบ้าน นักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลก็ได้รับคำแนะนำแบบเดียวกันจากรัฐบาลของพวกเขา แต่เธอกลับไม่เคยได้รับคำแนะนำใดๆ จากรัฐบาลประเทศตัวเองเลย จนกระทั่งวันที่ 23 มีนาคม เมื่อเที่ยวบินของเธอได้ถูกยกเลิกไปเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งน่านฟ้าประเทศเนปาลได้ปิดไปแล้วหนึ่งวันก่อนหน้านั้นเหมือนประเทศต่างๆ ทั่วโลก (Schultz, K. and Sharma, B., 2020)

           สถานการณ์ของชาวอเมริกันในประเทศอื่นก็ไม่แตกต่างกันนัก Halima Mahdee เป็นนักเรียนชาวอเมริกันในกาน่าโกรธขึงรัฐบาลตัวเอง ที่ไม่นำพากับสวัสดิภาพของประชาชนนอกประเทศ ปล่อยให้เธอติดค้างอยู่นอกประเทศในขณะที่เพื่อนนักเรียนชาวจีนและเกาหลีของเธอต่างบินกลับบ้านไปพร้อมกับเที่ยวบินที่รัฐบาลของตนจัดให้หลายสัปดาห์ก่อนหน้านั้นแล้ว

           นักท่องเที่ยวชาวอเมริกันครอบครัวหนึ่งที่ถูกให้ออกจากที่พักในประเทศเปรูเพราะมาตรการปิดเมือง ก็ต้องรู้สึกไม่พอใจเมื่อทราบว่านักท่องเที่ยวชาวแคนาดาสามารถออกจากเปรูได้ทันเวลา เพราะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลตัวเอง (Mzezewa, T. 2020)

 

ประเทศไทย

           จากมาตรการที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นจะพบว่าประชาชนจากหลายประเทศ ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลตนเองเป็นอย่างดี และจัดเที่ยวบินพิเศษรับประชาชนในประเทศเสี่ยงได้กลับถึงบ้านอย่างปลอดภัยอย่างรวดเร็ว แต่มีประชาชนชาวอเมริกันราชอาณาจักร ที่พบว่าตัวเองไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลตนเองเท่าที่ควร แต่ไม่มีประเทศไหนเลยที่สร้างมาตรการ “ชะลอประชาชนกลับบ้าน” ดังเช่นประเทศไทยที่เรียกร้องให้ประชาชนต้องแสดงเอกสารที่ไม่จำเป็น และไม่มีประเทศใดในโลกที่ปฏิเสธการเข้าเมืองของประชาชนตนเองเพียงเพราะพวกเขาไม่มีใบรับรองแพทย์ว่าปลอดไข้ภายในสามวันก่อนวันเดินทาง และลงทะเบียนเพื่อแสดงความจำนงที่จะกลับบ้านผ่านทางเว็บไซต์มาล่วงหน้า

           หลังจากที่มีการออกมาตรการให้คนไทยในต่างแดนต้องแสดงเอกสารดังกล่าว    อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ที่ปัจจุบันพำนักอยู่ในประเทศอังกฤษ ได้สร้างแคมเปญ #คนไทยต้องได้กลับบ้าน รัฐบาลต้องยกเลิกประกาศ Fit to Fly #BringThaiHome เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและผู้มีอำนาจยกเลิกมาตรการดังกล่าวในทันที โดยอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 39 ถึง “การเนรเทศบุคคลสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักรหรือห้ามมิให้ผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักร จะกระทำมิได้” โดยต่อมา อาทิตย์ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้คุ้มครองคนไทยในกรณี แต่แล้วศาลปกครองก็มีคำวินิจฉัยออกมาว่า ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครองเพราะรัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินไปแล้ว

           แต่เสียงเรียกร้องของคนไทยนอกราชอาณาจักรคงเบาเกินที่รัฐบาลจะได้ยิน เพราะดูเหมือนเอกสารสองใบยังทำให้ชีวิตการเดินทางยุ่งยากไม่พอ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ขอความร่วมมือคนไทยในต่างประเทศชะลอการเดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 2-15 เมษายน มาตรการดังกล่าวยังคงใช้อย่างต่อเนื่องมาถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม และมีแนวโน้มที่จะใช้ต่อไปอย่างไม่มีกำหนด ทั้งนี้เพื่อรักษาสุขภาพทั้งคนไทยในประเทศและผู้ที่จะเดินทางกลับ หลังจากที่ยอดผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นและตัวเลขของผู้ติดเชื้อในประเทศเกิน 2,000 ราย

           นับตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2563 เป็นต้นมา คนไทยที่ต้องการจะเดินทางกลับสู่มาตุภูมิต้องได้รับการอนุมัติการเข้าประเทศ ผ่านการลงเบียนทางเว็บไซต์ของกระทรวงต่างประเทศก่อน จึงจะมีสิทธิเดินทางเข้าประเทศพร้อมกับแสดงใบรับรองแพทย์ และเอกสารยืนยันตัวบุคคลจากสถานทูตหรือสถานกงสุลในประเทศต้นทาง

           มาตรการดังกล่าวส่งผลให้คนไทยนับหมื่นติดค้างอยู่ตามประเทศต่างๆ ทั่วโลกนับเดือน รวมถึงนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่กำลังบินมาจากสหรัฐอเมริกา เพื่อต่อเครื่องที่สนามบินอินชอนในกรุงโซล ประเทศเกาหลี และสนามบินในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่ต้องติดค้างอยู่สนามบินเป็นเวลาหลายวัน หรือแม้แต่แรงงานไทยในมาเลเซียกลุ่มหนึ่งที่ถือพาสปอร์ตไทย ถูกปฏิเสธให้ข้ามแดนเมื่อพวกเขาเดินทางมาถึงที่หน้าด่านเรียบร้อย เพียงเพราะพวกเขาไม่มีใบรับรองแพทย์และจดหมายยืนยันตัวบุคคลจากสถานทูตไทยในกัวลาลัมเปอร์

           ภาพคนไทยในอังกฤษที่ต่อแถวยาวพร้อมเว้นระยะห่างทางสังคมที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตไทยในลอนดอนเพื่อขอใบรับรองแพทย์และเอกสารรับรองบุคคล เป็นอีกหนึ่งเครื่องพิสูจน์ที่ชัดเจนว่ามีคนไทยจำนวนมากต้องการกลับบ้าน และการกำหนดมาตรการดังกล่าวเป็นการสร้างความยุ่งยากให้กับผู้ที่ต้องการจะกลับประเทศ

           รุสนันท์ เจ๊ะโซ๊ะ อาจารย์ประจำคณะภาษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมลายา ได้เล่าถึงประสบการณ์ซึ่งตนเองและนักศึกษาไทยจำนวนหนึ่ง ต้องช่วยแรงงานไทยในมาเลเซียมากกว่าหนึ่งพันคนลงทะเบียนออนไลน์เพื่อขออนุญาตกลับบ้าน และครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้ไม่มีความสามารถกรอกเอกสารผ่านเว็บไซต์เองได้ อีกทั้งไม่มีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และสัญญาณอินเตอร์เนตที่เสถียรมากพอที่จะลงทะเบียนได้เอง

           รุสนันท์ ได้ยกตัวอย่างกรณีแรงงานหญิงไทยท้องแก่ในปีนังที่ไม่สามารถลงทะเบียนเองได้ การศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาทำให้เธอต้องขอความช่วยเหลือจาก รุสนันท์ ในปลายเดือนพฤษภาคม เพื่อขอกลับบ้านในจังหวัดยะลาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากเธอมีกำหนดคลอดปลายเดือนถัดมา จนในที่สุดได้รับความช่วยเหลือให้เดินทางกลับด้วยรถแท็กซี่เป็นกรณีพิเศษจากสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองปีนัง ในสองสามวันถัดมา

           อาจารย์ยังเล่าว่าแรงงานไทยหลายคนรู้สึกท้อแท้และกล่าวอย่างน้อยเนื้อต่ำใจว่า “ทำไมกลับบ้านไม่ได้” และเปรียบเทียบรัฐบาลมาเลเซียที่จัดเที่ยวบินรับประชาชนกลับประเทศอย่างรวดเร็ว ในขณะที่พวกเขากลับติดอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านที่ห่างออกไปไม่ถึงสองชั่วโมงด้วยการเดินทางทางบก (สัมภาษณ์ วันที่ 3 ตุลาคม 2563)

           สำนักข่าว Voice of America ภาคภาษาไทย ได้นำเสนอความพยายามของสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงวอชิงตัน ที่จะผลักดันขอโควต้าให้คนไทยสามารถเดินทางกลับประเทศได้มากขึ้นในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เนื่องจากมีคนไทยที่ติดค้างอยู่ในสหรัฐประมาณ 3,300 คน ทั้งนี้ทางสถานทูตได้ช่วยเหลือให้คนไทยได้กลับเพียงประมาณ 2,000 คนในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมา

           หลายคนอาจมองว่ามาตรการดังกล่าวเป็นการคัดกรองผู้คนที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อให้กับคนในประเทศ แต่ในความเป็นจริงแล้วการตรวจร่างกายพอเป็นพิธี ไม่สามารถบอกได้ว่าคนคนนั้นติดเชื้อไวรัสหรือเป็นพาหะแล้วหรือไม่ มาตรการดังกล่าวจึงเป็นเพียงเงื่อนไขที่ถูกตั้งขึ้นมา เพื่อทำให้คนไทยในต่างแดนหมดใจไม่อยากกลับบ้าน เพราะการคัดกรองหรือป้องกันการแพร่เชื้อสามารถทำได้ด้วยการจัดพื้นที่กักตัวผู้ที่เดินทางมาถึงประเทศไทย หรือการกักตัวเองที่บ้านอย่างเคร่งครัด และมีการสุ่มตรวจติดตามตัวโดยเจ้าหน้าที่ ซึ่งเหล่านี้เป็นมาตรการที่รัฐจัดหาได้ และต้องจัดหาให้กับประชาชนอยู่แล้ว

           การเรียกร้องให้แสดงใบรับรองแพทย์ นอกจากเป็นการผลักภาระให้กับประชาชนคนไทยในต่างแดน เพราะการนัดหมอเพื่อขอใบรับรองแพทย์นั้นไม่ง่ายเหมือนในประเทศไทย และการออกใบรับรอง Fit to Fly นั้น เป็นเรื่องสำหรับหมอประจำบ้านในยุโรปเคยปฏิบัติกัน การออกกฎดังกล่าวจึงดูเป็นการไม่รับผิดชอบต่อส่วนรวม เพราะในยามวิกฤตเช่นนี้ บุคลากรทางการแพทย์ทุกที่ย่อมมีงานล้นมือ แต่กลับต้องมาเสียเวลาอย่างน้อย 15 นาทีเพื่อตรวจสุขภาพและออกใบรับรองแพทย์ให้กับคนไทย แทนที่จะใช้เวลากับคนไข้ที่ต้องการพบแพทย์จริงๆ

           และจากการสัมภาษณ์จากผู้เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริการายหนึ่งที่ไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อ เล่าถึงประสบการณ์การที่ได้ใบรับรองแพทย์มาด้วยการกรอกเอกสารด้วยการตอบคำถามผ่านเว็บไซต์ และจ่ายเงินด้วยระบบออนไลน์ โดยไม่มีการตรวจร่างกายจริง ซึ่งตรงกับข่าวลือที่มีการออกใบรับรองแพทย์โดยไม่ได้มีการตรวจร่างกายจริง (สัมภาษณ์วันที่ 10 ตุลาคม 2563: เนื่องด้วยเหตุผลความเป็นส่วนตัว จึงขอปกปิดชื่อและนามสกุลจริงของผู้ให้สัมภาษณ์)

           ทั้งนี้มีการประเมินว่ามีคนไทยมากกว่า 45,000 คน ต้องการเดินทางกลับบ้านในช่วงวิกฤต เนื่องจากมาตรการ “ชะลอคนไทยกลับบ้าน” ที่เรียกร้องให้พวกเขาต้องแสดงเอกสารสองฉบับก่อนเดินทาง ทำให้หลายคนต้องพลาดโอกาสที่จะเดินทางกลับในช่วงก่อนปิดน่านฟ้า เพื่อจำกัดจำนวนคนเข้าประเทศ อันเนื่องมาจากข้อจำกัดของบุคลากรทางการแพทย์และสถานที่กักตัวที่จัดให้โดยรัฐที่มีไม่เพียงพอ

           ระหว่างวันที่ 4 เมษายน ถึง 4 กันยายน 2563 มีคนไทยเดินทางกลับเข้าประเทศด้วยการลงทะเบียนผ่านทางเว็บของกระทรวงต่างประเทศเป็นจำนวน 82,631 คนผ่านพรมแดนทางอากาศ บก และทะเล จาก 45 ประเทศ (Raksaseri K. and Boonlert T., 2020.)

 

บทที่ 3 กระบวนการทำให้เกิดภาวะ “คนใน” และ “คนนอก”

           บทนี้นำเสนอกระบวนการของภาครัฐที่ฉายภาพให้คนที่เดินทางกลับเข้าสู่ประเทศไทยให้กลายเป็น “ผู้แพร่เชื้อ” และสร้างความกลัวให้กับ “คนใน” ที่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะสร้างเงื่อนไขให้ “คนนอก” ต้องขอ “วีซ่า” กลับบ้านตัวเอง

           ทันทีที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ประกาศมาตรการล่าสุดตอนบ่ายวันที่ 2 เมษายน เพื่อชะลอคนเดินทางเข้าประเทศ และเป็นครั้งแรกที่บังคับให้ทุกคนที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยต้องอยู่ในสถานที่กักตัวที่จัดหาให้โดยรัฐเป็นเวลา 14 วัน ทั้งนี้เพื่อรักษาสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชนคนไทย 65 ล้านคนในประเทศ ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในทันที

           ในช่วงเวลาที่ประกาศนั้น มีคนกลุ่มหนึ่งได้เดินทางออกมาจากสหรัฐอเมริกาแล้ว และในระหว่างเปลี่ยนเครื่องที่ญี่ปุ่นหรือเกาหลี พวกเขาอาจจะไม่มีเวลามากพอที่จะตรวจสอบคำสั่งใหม่ล่าสุดของนายกรัฐมนตรีที่จะทำให้เงื่อนไขการเข้าประเทศของพวกเขาเปลี่ยนไป

           ทุกคนที่เดินทางมาถึงในวันที่ 3 เมษายน ซึ่งมีทั้งนักเรียน นักศึกษา และคนทำงานหลากหลายอาชีพ ต่างรับรู้เงื่อนไขก่อนขึ้นเครื่องว่า ต้องพกเอกสารสองใบ (ซึ่งทุกคนขอล่วงหน้ามาก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมงตามมาตรการที่ตั้งขึ้นสองสัปดาห์ก่อนหน้านี้) และกักตัวเองที่บ้าน 14 วัน แต่พวกเขาก้าวเท้าเข้าประเทศ และพบกับเงื่อนไขใหม่ที่พวกเขาไม่ได้รับทราบมาก่อน คือ การต้องกักตัวในสถานที่รัฐจัดให้ แน่นอนว่าหลายคนยังคงจำภาพ “มุ้งหลังขันใบ” ตั้งห่างกันไม่ถึงสองเมตร ที่ทางราชการเตรียมไว้กักตัวแรงงานผิดกฎหมายจากเกาหลีใต้เมื่อต้นเดือนมีนาคมได้ดี หลายคนจึงขยาดว่าตัวเองอาจจะไม่ได้รับความปลอดภัยมากพอ หรืออาจจะติดเชื้อในระหว่างกักตัว

           ความรีบเร่งของการออกมาตรการที่ไม่ได้ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนถึงผลกระทบต่อประชาชนทั้งหมดถูกประกาศให้มีผลในทันที และการสื่อสารที่ไม่ชัดเจนของเจ้าหน้าที่ในสนามบินสุวรรณภูมิในค่ำวันนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่งแยก “เขา” และ “เรา”

           ภาพของคนไทย 158 คน ที่เพิ่งเดินทางมาถึงสุวรรณภูมิทำการประท้วง และปฏิเสธให้ความร่วมมือที่จะเดินทางไปยังสถานที่กักตัวที่รัฐจัดหาไว้ให้ถูกเผยแพร่ออกไปตามสื่อต่างๆ พวกเขาใช้ความรุนแรง ใช้คำพูดหยาบคายเพื่อต่อรองและกดดันไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการกักตัวในสถานที่รัฐจัดหาให้ หรือแม้กระทั่งหนีออกจากสนามบิน ความวุ่นวายจากการประท้วงดังกล่าวนำมาซึ่งอีกหนึ่งคำสั่งเร่งด่วน นั่นคือ สำนักการบินพลเรือนห้ามมิให้เที่ยวบินเข้าสู่ประเทศไทยโดยมีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 4-6 เมษายน และกลุ่มคน 158 คนที่ปฏิเสธการกักตัวต้องกลับมารายงานตัวกับศูนย์ Emergency Operation Center (EOC) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และเข้าสู่สถานที่กักตัวที่สัตหีบในวันถัดมา ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้การระบาดรุนแรงมากขึ้นไปกว่าเดิม

           ภาพดังกล่าวที่ถูกเผยแพร่ออกไปทางสื่อกระแสหลักและโซเชียลมีเดีย สร้างความหวาดกลัวให้กับคนไทยในประเทศที่นั่งดูข่าวทางสื่อกระแสหลักและโซเชียลมีเดีย ทำให้คนไทยในประเทศรู้สึกว่าคนที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศเป็นคนเห็นแก่ตัว และก่อความวุ่นวายให้กับประเทศในยามวิกฤต ที่ทุกคนควรรจะยึดหลักเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน การไม่ให้ความร่วมมือในการกักตัวในสถานที่รัฐจัดหาให้เป็นการไม่เห็นแก่ความปลอดภัยของส่วนรวม

           แต่กลุ่มคนไทยในประเทศจำนวนมากลืมไปว่า คนกลุ่มแรกที่ปฏิเสธการกักตัวในสถานที่ของรัฐเพราะเขาไม่ได้รับทราบเงื่อนไขการกักตัวในสถานที่รัฐจัดหาให้ก่อนเดินทาง

           การแถลงข่าวโดยศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ในแต่ละวัน แสดงยอดผู้ติดเชื้อและสาเหตุของการติดเชื้อ ซึ่งทั้งหมดมาจากผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ หรือการสัมผัสใกล้ชิดผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศทั้งสิ้น แน่นอนว่าเชื้อไวรัสที่มีต้นตอจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ย่อมต้องเดินทางผ่านเข้าประเทศผ่านผู้เดินทางทั้งสิ้น

           “การ์ดอย่าตก” และการเฝ้าระวังไม่ให้คนที่กลับจากต่างประเทศให้กลับเข้ามาในเวลานี้ เป็นหัวใจของการแถลงข่าวรายวันโดยศูนย์ศบค. เป็นการเน้นย้ำความกลัวของคนไทยที่อยู่ในประเทศ นอกจากนั้นการใช้คำพาดหัวข่าวที่เน้นว่าผู้ติดเชื้อทั้งหมดเป็นผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ เช่น “ติดใหม่ 11 มาจากนอก” (ไทยรัฐ 29 พฤษภาคม 2563) ในสื่อกระแสหลักส่งผลให้คนไทยหวาดผวามากยิ่งขึ้น

           หรือการพาดหัวข่าวที่มีการใช้คำคล้อยตามศบค. ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันที่ 9 มิถุนายน “มีแต่ 'นำเข้า' ไทยไร้โควิด” (ภาพประกอบ 1) และ ไทยรัฐฉบับวันที่ 28 พฤษภาคม พาดหัวข่าวว่า “'โควิด' มีแต่นำเข้าจากสหรัฐไต้หวัน” (ภาพประกอบ 2)

           ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ คนไทยที่อยู่ในประเทศเกิดความกลัวกับไวรัสจนถึงกับลืมนึกไปว่า สิ่งที่ทำให้ประเทศไทยมาถึงจุดนี้ ที่ควบคุมสถานการณ์ไม่อยู่จนหลายคนแอบสนับสนุนให้รัฐบาลออกมาตรการห้ามคนไทยกลับเข้าบ้านไปเลย เพื่อเลี่ยงปัญหายอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ดูเหมือนมาตรการต่างๆ เหล่านี้จะเป็นการสร้างเกลียดชังกันเองในหมู่คนไทยในประเทศและนอกประเทศ ด้วยการสร้างภาพให้คนเดินทางกลับบ้านเป็นผู้นำเชื้อไวรัสมาแพร่ในบ้าน ไร้ความรับผิดชอบต่อส่วนรวมเพราะปฏิเสธการกักตัวในพื้นที่ที่จัดให้

           คนจำนวนมากรับข้อมูลผ่านการแถลงข่าวรายวันจากศบค. ลืมมองไปว่ารัฐเองก็ไร้ซึ่งมาตรการที่หละหลวม และขาดความจริงใจ ตลอดระยะเวลาสามเดือนที่มีข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (ธันวาคม 2562 – กุมภาพันธ์ 2563) รัฐบาลไม่ได้มีมาตรการคัดกรองที่จริงจังมากพอ และไม่มีนโยบายกักกันคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ทั้งที่มีผู้ป่วยยืนยันสะสมแล้วถึง 35 ราย จนกระทั่งมีกระแสเรียกร้องให้มีการกักตัวแรงงานไทยผิดกฎหมายจากเกาหลีใต้กลุ่มใหญ่ที่กำลังจะเดินทางมาถึงเมื่อต้นเดือนมีนาคม หรือการปิดกรุงเทพมหานครที่ล่าช้าในวันที่ 22 มีนาคม หลังจากที่ยอดผู้ป่วยสะสมทั่วประเทศสูงถึงเกือบ 1,000 คน นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลายจังหวัดได้ทยอยปิดเมืองและห้ามการเดินทางระหว่างจังหวัด พร้อมทั้งประกาศเคอร์ฟิวโดยรัฐบาลภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในวันที่ 26 มีนาคม

           คนจำนวนมากยังลืมไปอีกว่า ปัจจัยที่เกิดจากความหละหลวมเหล่านี้ต่างนำพาให้เรามาถึงจุดที่ยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเริ่มฉุดไม่อยู่

           การแบ่ง “คนใน” และ “คนนอก” ไม่ใช่เฉพาะคนไทยกันเอง แต่ยังแบ่งแยกทุกคนที่เป็นไปได้ออกจากคนไทยกลุ่มหลัก ตามโปสเตอร์ที่แชร์ในเฟสบุค "ในที่สุดตัวเลขคนไทยติดเชื้อเป็น 0 แต่แรงงานต่างด้าวติดเชื้อ 18 คน" โดยศบค. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม แต่เนื้อหาบนโปสเตอร์ดังกล่าวถูกต่อต้านจากคนจำนวนหนึ่งทำให้ศบค. ตัดสินใจลบโปสเตอร์นี้ออกไปภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ได้เผยแพร่ออกมา (ภาพประกอบ 3)

 

ภาพประกอบ 1: หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันที่ 9 มิถุนายน 2563

 

ภาพประกอบ 2: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 28 พฤษภาคม 2563

 

ภาพประกอบ 3: โปสเตอร์โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563 ในวันแรกที่ประเทศไทยไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นวันแรก นับตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศเมื่อต้นเดือนมกราคม 2563

 

บทที่ 4 บทสรุป คำถามและข้อเสนอแนะ

           บทนี้เป็นการวิเคราะห์นโยบายของภาครัฐและการตัดสินใจรับมือกับสถานการณ์วิกฤตที่ล่าช้าส่งผลทำให้เกิดกระบวนการทำให้เกิด “คนใน” และ “คนนอก” และนำเสนอทางออกที่ไม่ให้เกิดการแบ่งแยก “เขา” และ “เรา” และให้คนไทยทุกคนฝ่าฟันวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

           หลังจากที่ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาในประเทศไทยเริ่มพุ่งสูงขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ต่อเนื่องจนถึงต้นเดือนมีนาคม ส่อเค้าว่ากการแพร่ระบาดอาจจะควบคุมไม่ได้ ทำให้รัฐบาลต้องเปลี่ยนวิธีการรับมือด้วยการตัดสินใจปิดเมือง เพื่อให้ยอดการติดเชื้อลดลงในระยะเวลาสั้นที่สุด โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้ตัวเลขการติดเชื้อในประเทศเป็นศูนย์ ในขณะเดียวกัน ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) ก็ถูกตั้งขึ้นอย่างทันท่วงทีเมื่อปลายเดือนมีนาคม ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 76/2563 เรื่องจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

           การตั้ง ศบค. นี้ ดูเหมือนจะเป็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะควบคุมการแพร่กระจายเชื้อไวรัสให้ในระยะเวลาที่สั้นที่สุด ก่อนที่สถานการณ์จะเกินรับมือและมีเป้าหมายให้ตัวเลขการติดเชื้อภายในประเทศเป็นศูนย์ แต่หากมองลึกลงไปยังโครงสร้างของ ศบค. แล้ว จะเห็นว่ารัฐบาลเลือกใช้วิธีที่ง่ายและสะดวกต่อการควบคุมประชาชนในช่วงวิกฤต เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐบาล และสร้างความมั่นใจในแง่เศรษฐกิจมากกว่าที่จะหาวิธีที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง อีกทั้งการจัดแถลงข่าวสดโดย ศบค. ผ่านช่องโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ทุกวันที่ดูเหมือนจะเป็นการแถลงผลความคืบหน้าของการระบาด เป็นวิธีการสร้างความกลัวในใจคนไทยในประเทศที่คอยติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาด และยังเป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่ง “คนใน” และ “คนนอก” ของคนไทยที่พำนักอยู่ภายในและนอกราชอาณาจักรอย่างชัดเจน

           หากพิจารณาจากโครงสร้างศบค. ที่แม้ว่าจะมีหลากหลายหน่วยงานรัฐบาลรวมถึงกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้กำหนดนโยบายภายในศบค.แต่ศูนย์เฉพาะกิจดังกล่าวมีผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการ เป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และ ศบค. ขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย (ที่ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรีอีกชั้นหนึ่ง) และหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเฉพาะกิจนี้ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาเป็นสำคัญ โดยมีหนึ่งในหกหน้าที่หลักคือ “อำนวยการในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน สั่งการ และประสานผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” จึงถือเป็นการรวบอำนาจการตัดสินใจและการสั่งการไว้ที่ศบค. (หรือที่นายกรัฐมนตรี) เป็นสำคัญ

           การรวบอำนาจเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการของรัฐไม่ได้เพิ่งมีเป็นครั้งแรก    ทวีศักดิ์ เผือกสม ได้กล่าวถึงใน เชื้อโรค ร่างกาย และรัฐเวชกรรม: ประวัติศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ในสังคมไทย ว่าในปี พ.ศ. 2455 ได้มีการยุบกรมพยาบาลในกระทรวงธรรมการ และตั้งกรมพยาบาลขึ้นใหม่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย “เพื่อให้การบังคับบัญชาเป็นไปโดยเรียบร้อยตามสมควร” (ทวีศักดิ์ 2561, 164) อีกทั้งนโยบายสาธารณสุขหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 รัฐได้สร้างรัฐเวชกรรมขึ้นมา เพื่อยกระดับการสาธารณสุขในประเทศ แต่กลับมีนัยยะทางการเมืองแอบแฝง เพราะต้องการใช้เทศบาลเป็นเครื่องมือดูแลเรื่องสาธารณสุขในพื้นที่ และเผยแพร่รูปแบบการปกครองการเมืองในเวลานั้นแก่ประชาชน (ทวีศักดิ์ 2561, 220-227) ทวีศักดิ์ ยังชวนจินตนาการว่า “การสร้างรัฐที่มีกลไกทางการแพทย์เพื่อคอยสอดส่องเรือนร่างของพลเมือง และความคิดที่อยู่เบื้องหลังโครงการการสร้างรัฐเวชกรรมนั้นมีเป้าหมายหลักอยู่ที่ความต้องการสร้างกลไกขึ้นมา เพื่อควบคุมเรือนร่างของพลเมืองให้สยบอยู่ภายใต้อำนาจของความรู้ทางการแพทย์" (ทวีศักดิ์ 2561, 225) ซึ่งการบริหารจัดการของศบค.ในปัจจุบันมีความคล้ายคลึงกับแนวคิดรัฐเวชกรรม ที่ต้องการควบคุมความคิดและความประพฤติของประชาชนในช่วงวิกฤต ด้วยการสร้างภาพที่น่าสะพรึงกลัวของการแพร่ระบาดของไวรัสที่ยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกัน ผ่านการแถลงข่าวสดโดยศบค. ทุกเที่ยงวัน ผ่านสื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ รวมไปถึงการควบคุมหน้ากากและเวชภัณฑ์ที่ใช้ภายในประเทศนอกเหนือไปจากการประกาศขยายระยะเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศ

           หนังสือ “โทรสารในราชการกระทรวงมหาดไทย” พร้อมตราประทับ “ด่วนที่สุด” ที่ มท 0211/ว 1910 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2563 จากปลัดกระทรวงมหาดไทยถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด โดยมีใจความว่านายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์โควิดได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยผ่านปลัดกระทรวง ในการจัดทำแผนการจัดสรรการกระจายหน้ากากใน 7 วันแรก หรือ โทรสารในราชการกระทรวงมหาดไทย พร้อมตราประทับ "ด่วนที่สุด" ที่ มท 0230/ว4754 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2563 จากปลัดกระทรวงมหาดไทย ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เรื่อง ประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 5)

           นอกจากคำสั่งข้างต้นที่แสดงให้เห็นถึงการออกคำสั่งเหล่านี้ไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ ด้วยการตัดสินใจจากคณะกรรมการภายในศบค. ที่ทำงานจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว โดยไม่จำเป็นต้องให้อำนาจแก่นักปกครองท้องถิ่นเป็นผู้ตัดสินใจแต่อย่างใด ทั้งนี้เพื่อให้การจัดการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสในภาพรวมทั้งประเทศเป็นไปอย่างง่ายดายแล้ว

           ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหม ยอมรับว่าได้มีการทำหนังสือถึงคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) (ไทยพีบีเอส, 2563) เพื่อขอใช้ข้อมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส

           ตามหนังสือของสำนักนโยบายและแผนกลาโหมลำดับที่ กห 02070/1589 ลงวันที่  11 เมษายน 2563 พร้อมประทับตรา "ด่วนที่สุด" ส่งถึงเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อขอใช้ข้อมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ในการสนับสนุนการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้สร้างความกังขาให้กับสาธารณชนใน 3 ประเด็น คือ 1. ภารกิจดังกล่าวไม่เคยเปิดเผยต่อสาธารณชนจนกระทั่งถูกเปิดเผยโดยสื่อมวลชนทางเลือกในเดือนมิถุนายน 2. กระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานที่จัดทำหนังสือขอข้อมูลประชาชนในกลุ่มเสี่ยงทั้งที่มิได้เป็นผู้รับผิดชอบการควบคุมโรคติดเชื้อโดยตรง และ 3. การขอข้อมูลในลักษณะดังกล่าวจะยังมีอีกหรือไม่หลังวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ได้มีการเริ่มใช้แอพลิเคชั่น “ไทยชนะ” ที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสื่อสารกับผู้ที่เข้าข่ายเสี่ยงติดเชื้อเป็นต้นมา

           หนังสือฉบับดังกล่าวสร้างความกังวลให้กับสาธารณชนจำนวนหนึ่งเพราะไม่แน่ใจว่ากระทรวงกลาโหมที่ไม่ได้เป็นหน่วยงานควบคุมโรคติดต่อ จะใช้ข้อมูลดังกล่าวไปในทิศทางใด หรือเพียงต้องการควบคุมกำกับกิจวัตรของประชาชนโดยใช้ข้ออ้างโรคติดต่อหรือไม่

           แนวคิดการควบคุมประชากรผ่านข้อมูลส่วนตัวด้วยการใช้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส เป็นการอ้างดังกล่าวนี้ไม่แตกต่างจากแนวคิดรัฐเวชกรรมเท่าใดนัก ดังเช่น ทวีศักดิ์ ได้เขียนเอาไว้ว่า “ยังต้องการควบคุมไปถึงชีวิตในทุกซอกทุกมุมที่เป็นพฤติกรรมส่วนตัวในชีวิตประจำวันของพลเมือง” (ทวีศักดิ์ 2561, 226) หรือ “รัฐชาตินิยมแบบจอมพล ป. ไม่จำเป็นต้องนำเอาการแพทย์ไปใช้ควบคุมร่างกายของพลเมืองโดยตรง แต่กลับใช้ความรู้ทางการแพทย์เข้าไปควบคุมความคิด และการประพฤติปฏิบัติในวิถีชีวิตประจำวันของพลเมืองแทน” (ทวีศักดิ์ 2561, 227)

           การก่อตั้งศบค. ยังแสดงให้เห็นถึงการมองประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลาง และนับเอาเพียงคนไทยที่พำนักอาศัยในประเทศเป็นสำคัญ แบ่งแยกคนไทยที่พำนักอยู่นอกราชอาณาจักรเป็นคนอื่นอย่างชัดเจน อีกทั้งการแถลงข่าวในเวลาประมาณเที่ยงวันโดยศบค. ดูเหมือนจะเป็นการนำเสนอสถานการณ์ล่าสุดในประเทศ เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส รวมไปถึงการแนะนำวิธีป้องกันและการค้นพบใหม่ๆ เกี่ยวกับไวรัสดังกล่าว แต่หากวิเคราะห์ถึงวิธีการนำเสนอหรือคำที่เลือกใช้ในการแถลงข่าว ไม่ว่าจะเป็นคำว่า “ผู้ติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศ” “ตัวเลขคนไทยติดเชื้อ” หรือแม้แต่ “แรงงานต่างด้าวติดเชื้อ” (โปสเตอร์ 1) เห็นการแบ่งแยก “เขา” และ “เรา” ชัดเจนมากขึ้น

           การแบ่งแยกคนไทยโดยศบค. ให้เป็นสองกลุ่ม คือ คนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศ และ คนไทยที่อาศัยอยู่นอกประเทศ เป็นการแบ่งแยกคนไทยให้เป็น “เขา” กับ “เรา” อย่างชัดเจน ซึ่งการแบ่งแยกในลักษณะดังกล่าว ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย รัฐไทยและชนชั้นนำนับตั้งแต่เป็นประเทศสยาม มักแบ่งแยกคนไทยออกเป็นหมู่เหล่าเพื่อให้ง่ายต่อการปกครองหรือจัดการ

           ธงชัย วินิจจะกูล กล่าวถึงการแบ่งแยกคนผ่านงานชาติพันธุ์นิพนธ์ใน คนอื่น/คนไทย: ว่าด้วยคนอื่นของความเป็นไทย ด้วยการยกตัวอย่างบทละครเรื่อง “เงาะป่า” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า เป็นตัวอย่างของงานที่สร้างขึ้นเพื่อจัดระเบียบและควบคุม “คนอื่น” ว่าเป็นการใช้วิธีคิดเดียวกับเจ้าอาณานิคมตะวันตก “งานชาติพันธุ์นิพนธ์ที่สร้างกันขึ้นมานั้น เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานของเจ้าอาณานิคมเพื่อจัดระเบียบและควบคุม “คนอื่น” ในสายตาของตะวันตก ชนชั้นปกครองสยามก็มีแผนงานทำนองเดียวกันต่อราษฎรใต้ปกครองคู่ขนานไปกับแผนงานของเจ้าอาณานิคม โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความชอบธรรมให้อำนาจปกครองของตนเหนือส่วนต่างๆ ของรัฐแบบดินแดนที่กำลังก่อตัวขึ้นมา นี่คือแผนงานว่าด้วย “คนอื่น” ในผืนดินตน” (ธงชัย 2560, 9) ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนำมาซึ่งการจำแนกและจัดความสัมพันธ์เชิงชาติพันธุ์-ถิ่นฐาน ที่ทำให้ชนชั้นนำสยามรู้สึกว่าตนอยู่ในสถานะที่สูงส่งทั้งภายในสยามและโลกภายนอก โดย ธงชัย กล่าวว่า “สยามเป็นปริมณฑลที่มีลำดับชั้น จำนำผู้คนไม่เพียงแค่ด้วยชนชั้นและสถานะเท่านั้น แต่แบ่งชาติพันธุ์ตามภูมิศาสตร์ด้วย” (ธงชัย 2560, 10)

           ธงชัย ยังชี้ให้เห็นว่าคนไทยมักมองตัวเองเป็นศูนย์กลางและมีความเป็นชาตินิยมสูงผ่านตัวอย่าง “โครงการอาณาบริเวณศึกษา 5 ภูมิภาค” สกว.ในปี 2541 ที่มีผลงานวิชาการ วิทยานิพนธ์ และบทความในหนังสือพิมพ์รวมกันมากกว่าสองพันชิ้น แต่กลับนำเสนอเพียงมุมมองจากประเทศไทยและมีความเป็นชาตินิยมสูงมาก ซึ่งมุมมองที่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลางดังกล่าวก่อให้เกิดทัศนคติต่อเพื่อนบ้านว่าเป็นเพียงศัตรูคู่แข่งที่จะมาแย่งชิงอำนาจหรือเป็นเมืองขึ้นที่ด้อยกว่า เช่น มองพม่าว่าชั่วร้าย ลาวเป็นน้องที่น่าสงสารผู้รับความเอื้ออารีและการอุปถัมภ์ค้ำจุนของไทย ที่บางครั้งไม่รู้จักบุญคุณของไทย กัมพูชาที่น่าสมเพช เวียดนามที่ก้าวร้าว หรือรัฐมาเลย์ที่เป็นเพียงรัฐบรรณาการ (ธงชัย 2560, 130-139)

           การแบ่งแยกประชากรถูกยกขึ้นมาอีกครั้งใน ในยุคของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อริเริ่มนโยบายชาตินิยม “เนื่องจากจำกัดวงความหมายของคำว่าชาติให้หมายถึงชนชาติพันธุ์ไทยเท่านั้น [ที่มีสิทธิแข็งตัว(ทางการเมือง)ขึ้นมาได้] และส่งผลให้ชาวจีนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในประเทศสยามมาเป็นเวลาหลายชั่วรุ่นถูกกีดกันในทางการเมืองไปโดยปริยาย” (ทวีศักดิ์ 2561, 230)

 

สรุป

           จะเห็นได้ว่าหลังจากการตัดสินใจที่ล่าช้าของรัฐบาลไทยในการรับมือกับการระบาดของไวรัสโคโรนา ทำให้รัฐบาลที่มีศบค. เป็นฉากหน้าได้ตัดสินใจออกมาตรการ “ชะลอคนไทยกลับบ้าน” หากไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อปิดประเทศอย่างสนิทให้กับ “คนใน” ที่เป็นผู้ถูกเลือกที่จะก้าวขึ้นบนเรือโนอาห์ และทิ้งให้กลุ่มคนที่ไม่ถูกเลือกกลายเป็น “คนนอก” ไว้นอกเรือลำดังกล่าว มาตรการดังกล่าวเป็นการแบ่งแยก “เขา” และ “เรา” หรือ “คนใน” และ “คนนอก” อย่างชัดเจน

           วิธีการของรัฐคือสร้างความกลัวขึ้นในใจของคนไทยในประเทศ ส่งผลให้คนในประเทศพยายามทุกวิถีทางที่จะกันคนที่อยู่นอกบ้านไม่ให้กลับเข้าบ้าน ราวกับทุกคนที่เดินทางกลับเข้าสู่ประเทศไทยเป็นผู้ติดเชื้อ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วทุกคนเป็นผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อ เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะพบปะกับคนที่เคยเดินทาง หรือสัมผัสกับผู้ที่เคยเดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง

           จะเป็นการดีกว่าหรือไม่หากรัฐบาลเปิดประตูรับคนไทยทุกคนกลับบ้านพร้อมกับมาตรการคัดกรองและกักตัวคนไทยที่เดินทางจากต่างประเทศที่เข้มงวด จัดพื้นที่กักตัวคนที่เดินทางมาถึงประเทศไทยทุกคนตามระยะเวลากำหนดปลอดภัย ก่อนที่จะให้พวกเขาเหล่านั้นให้เข้าร่วมกิจกรรมปกติกับสังคมโดยรวม และในขณะเดียวกันก็สร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับไวรัสดังกล่าวว่าถึงแม้จะยังไม่มีวัคซีนที่สามารถรักษาได้ในปัจจุบัน แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาความสะอาด และไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับคนที่เพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศหรือคนมีไข้ พร้อมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับคนไทยในประเทศว่ามาตรการการคัดกรองและขั้นตอนการกักตัวของรัฐบาลนั้นได้มาตรฐานพอที่จะทำให้ทุกคนในประเทศปลอดภัย

 

บรรณานุกรม

ภาษาไทย

ทวีศักดิ์ เผือกสม. 2561. เชื้อโรค ร่างกาย และรัฐเวชกรรม: ประวัติศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ในสังคมไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: Illuminations Editions.

ธงชัย วินิจจะกูล. 2560. คนอื่น/คนไทย: ว่าด้วยคนอื่นของความเป็นไทย. กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน.

รุสนันท์ เจ๊ะโซ๊ะ. อาจารย์ด้านภาษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมลายา. (3 ตุลาคม 2563). สัมภาษณ์.

'กลาโหมยอมรับขอตำแหน่งสัญญาณมือถือของประชาชนจริง อ้างป้องกัน COVID-19' สืบค้นจาก   https://news.thaipbs.or.th/content/293428 (8 มิถุนายน 2563)

'ทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ผลักดันเพิ่มโควต้าคนไทยกลับประเทศช่วงโควิด-19' สืบค้นจาก  https://www.voathai.com/a/thai-ambassador-over-coronavirus-issue 05212020/5430791.html (22 พฤษภาคม 2020)

'เผยภาพศูนย์กักตัว ผีน้อย หลังกลับจากเกาหลี ที่ขอนแก่น-โคราช มุ้งก็มา..ขันก็มี' สืบคืนจาก  https://covid-19.kapook.com/view221784.html (9 มีนาคม 2563)

'แรงงานไทยในมาเลเซียนับแสนคน ทยอยเดินทางกลับไทย' สืบค้นจาก  https://news.ch7.com/detail/401066 (17 มีนาคม 2563)

 

ภาษาอังกฤษ

Mzezewa, T. (2020, March 18). 'Americans Stranded Abroad: 'I Feel Completely Abandoned'. The New York Times. Retrieved from  www.nytimes.com/2020/03/18/travel/coronavirus-americans-stranded.html

Raksaseri, K. and Boonlert, T. (2020, September 7). 'Repatriation effort calls on all hands'. The Bangkok Post. Retrieved from  www.bangkokpost.com/thailand/politics/1981103/repatriation-effort-calls-on-all-hands

Schultz, K. and Sharma, B. (2020, April 3). 'Stranded Abroad, Americans Ask: Why  Weren't We Warned Sooner?'. The New York Times. Retrieved from www.nytimes.com/2020/04/03/world/asia/coronavirus-state-department-tourists.html?auth=login-email&login=email

Wei-ting, C. and Yi-ching, C. (2020, June 5). ‘CORONAVIRUS/Taiwanese stranded in  China's Hubei free to return’. Focus Taiwan. Retrieved from  https://focustaiwan.tw/cross-strait/202005060014

 

ป้ายกำกับ คนใน-คนนอก

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share