ทุนระดับโลก แรงงานในท้องถิ่น: ความสำคัญของท้องถิ่น ในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

 |  เศรษฐกิจ มานุษยวิทยาในโลกธุรกิจ
ผู้เข้าชม : 356

ทุนระดับโลก แรงงานในท้องถิ่น: ความสำคัญของท้องถิ่น ในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

           เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม (platform economy) คือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัล พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราคุ้นเคยในชีวิตประจำวันอย่างแอปพลิเคชั่นสั่งสินค้า เสพย์ความบันเทิง หรืออื่น ๆ อย่าง Grab, Shopee, Netflix, Facebook ในช่วงแรก ๆ ที่ได้รับความนิยม เศรษฐกิจแพลตฟอร์มเคยมีชื่อเล่นอีกชื่อหนึ่งว่า เศรษฐกิจแบ่งปัน (sharing economy) ด้วยเหตุที่มันให้โอกาสแก่ผู้ใช้เข้ามาหารายได้ แบ่งปันข้อมูลความรู้ และลดการรวมศูนย์อำนาจของธุรกิจรายใหญ่ แต่หลังจากนั้นไม่นาน ชื่อเศรษฐกิจแบบโลกสวย คงสงวนไว้กับกิจกรรมบางประเภทหรือบางกรณี เพราะเศรษฐกิจแพลตฟอร์มโดยรวมกลับทำให้เกิดการรวมศูนย์และผูกขาดอำนาจของทุนหน้าใหม่ และทำให้ธุรกิจรายย่อยและแรงงานจำนวนหนึ่งเผชิญความไม่มั่นคงในอาชีพและการงานมากขึ้น

           บทความนี้ พิจารณาเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ในฐานะระบบเศรษฐกิจระดับโลก ที่สร้างแบบแผน ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจสังคมแบบใหม่ขึ้นในวงกว้าง ในเวลาเดียวกัน ด้วยความสำคัญที่ว่า มนุษย์มีชีวิตอยู่ในท้องถิ่นในขนาด (scale) หรือสังกัด (space) แบบใดแบบหนึ่ง และก็เป็นดังที่ผ่าน ๆ มาคือกฎกติกาสากลทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่น และในเวลาเดียวกันท้องถิ่นมีอิทธิพลผลต่อการปรับกฎกติกาสากลด้วย ตามแนวทางนี้ ในที่นี้ให้ความสำคัญกับท้องถิ่นเป็นเลนส์ทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลง เพื่อแสดงให้เห็นว่าการให้ความสำคัญต่อท้องถิ่น ทำให้เข้าใจพลวัตความเปลี่ยนแปลง และเข้าใจผลกระทบที่ไม่คาดหวังจากการเชื่อมโยงระหว่างโลกกับท้องถิ่นได้ดีขึ้น และในที่นี้ – ท่ามกลางแพลตฟอร์มธุรกิจหลายประเภท – จะกล่าวถึงแพลตฟอร์มสั่งอาหาร และแรงงานส่งอาหารภายใต้แพลตฟอร์ม (ไรเดอร์) ซึ่งเป็นกรณีที่แสดงให้เห็นผลกระทบชัดเจนที่สุดกรณีหนึ่ง

           ก่อนอื่นทำความเข้าใจลักษณะร่วมระดับสากลของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ท่ามกลางนิยามทางเทคนิคและทางธุรกิจหลายแง่มุม อาจขมวดสั้น ๆ ได้ว่า เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ก็คือระบบธุรกิจที่ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งอาศัยเทคโนโลยียุคใหม่ที่เรียกว่าอัลกอริทึมเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้ใช้บริการ โดยเน้นถึงความสะดวกและยืดหยุ่นตามความต้องการของผู้ใช้งาน ระบบทั้งหมดทำงานได้ดีขึ้น (active) ภายใต้เครือข่ายและผลกระทบจากเครือข่าย (network effects) ยิ่งมีผู้ใช้งานมากขึ้น มูลค่าทางธุรกิจของแพลตฟอร์มยิ่งเพิ่มขึ้น ดังกรณีโมเดลธุรกิจแพลตฟอร์มสั่งอาหาร บริษัทแพลตฟอร์มทำหน้าที่เป็นตัวกลางส่งอาหาร บริษัทจะมีมูลค่าทางธุรกิจ (รายได้) มากขึ้นเมื่อดึงดูดผู้ใช้บริการเข้ามามากขึ้น ทั้งในฝั่งร้านค้า ผู้บริโภค และ ไรเดอร์ (ดูภาพประกอบ)


ที่มาภาพ: https://images.app.goo.gl/uNC1TeVbnRvTnRY48


           ภายใต้โมเดลธุรกิจสากลนี้ ในทางปฏิบัติแต่ละบริษัทซึ่งต้องการขยายเครือข่ายให้กว้างขวาง จะคำนึงถึงการตลาดที่แตกต่างกันตามบริบทของท้องถิ่น ยกตัวอย่าง UberEats ซึ่งให้บริการใน 45 ประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะในอเมริกาและยุโรป เปรียบเทียบกับ GrabFood ที่ให้บริการในหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA)ในประเทศตะวันตกบริษัทมีแนวโน้มทำธุรกิจเฉพาะอย่าง เช่น เรียกรถ สั่งอาหาร หรืออื่น ๆ แยกออกจากกัน การสั่งอาหารเน้นร้านอาหารที่มีชื่อเสียง รายใหญ่ ไม่เน้นโปรโมชั่น แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) รวมทั้งในประเทศไทย บริษัทปรับรูปแบบการตลาดให้เข้ากับวัฒนธรรมผู้บริโภค อย่างร้านค้าของ Grab มักเป็นร้านค้าย่อย อาหารหลากหลาย (ก๋วยเตี๋ยว ลาบ ส้มตำ ฯลฯ) ตามตรอกซอกซอย นอกจากนั้น Grab พัฒนาเป็นซุปเปอร์แอป (super app) ให้บริการหลายประเภท ตั้งแต่สั่งอาหาร วินส่งผู้โดยสาร แท็กซี่ ซื้อของร้านสะดวกซื้อ ขยายไปถึงการจองตั๋วที่พัก ตั๋วเดินทาง รวมทั้งบริษัทมีครัวอาหารของตัวเอง สั่งวัตถุดิบทำอาหารให้กับครัวของตัวเอง หรือร้านอาหารในเครือข่าย และเน้นโปรโมชั่นลดราคาในรูปแบบต่าง ๆ ในโอกาสต่าง ๆ อย่างปีใหม่ สงกรานต์ ตรุษจีน กินเจ รอมฎอน คริสต์มาส อย่างต่อเนื่อง

           เข้าสู่ประเด็นสำคัญคือผลกระทบที่ไม่คาดหวังต่อแรงงาน ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงไรเดอร์ งานในอาชีพไรเดอร์ถือว่าเป็นงานรูปแบบใหม่ และไรเดอร์เป็นแรงงานกลุ่มใหม่ ดูเหมือนว่าแพลตฟอร์มส่งอาหารได้ช่วยให้คนจำนวนหนึ่งได้มีงานและมีรายได้น่าพอใจ อย่างไรก็ตามในเวลาเดียวกัน ได้ทำให้เกิดปัญหาต่อไรเดอร์จำนวนหนึ่ง และทำให้เกิดข้อท้าทายต่อสังคมไทยในหลายมิติ การเข้าใจประเด็นนี้ต้องพิจารณาบริบทและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจสังคมของท้องถิ่นไทย ซึ่งมีเรื่องสำคัญอย่างน้อย 4 ประเด็น กล่าวโดยสังเขปดังนี้

           ประเด็นแรก บริบทเชิงนโยบายของไทยคือท่ามกลางความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจ ไทยคาดหวังให้เศรษฐกิจดิจิทัล – ซึ่งประกอบด้วยกลไกและกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายด้าน - เป็นหัวจักรทางเศรษฐกิจตัวใหม่ – โดยกำหนดให้ไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน ที่ผ่านมามีการก่อตั้งกระทรวงดิจิทัลฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แผนแม่บทส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และอื่น ๆ ทำให้มีเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน ประเด็นในที่นี้ก็คือ ด้วยความหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐไทยให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจดิจิทัลมีท่าทีโอบรับและประคบประหงมธุรกิจในสาขานี้อย่างมาก

           ประเด็นที่สอง ตลาดแรงงานไทยมีลักษณะเฉพาะคือไทยมีแรงงานนอกระบบมากกว่าครึ่งของกำลังแรงงาน เป็นกลุ่มที่งานไม่มั่นคง มีรายได้ไม่แน่นอน ไม่สามารถเลือกงาน และจำนวนมากเป็นแรงงานไร้ทักษะ กล่าวได้ว่าไทยมีกองทัพแรงงานสำรองที่พร้อมจะเข้าทำงานในอาชีพไรเดอร์จำนวนมาก ในช่วงวิกฤตโควิด-19 คนตกงานขาดรายได้จำนวนมาก ธุรกิจแพลตฟอร์มส่งอาหารขยายตัวอย่างก้าวกระโดด มีคนหันมาเป็นไรเดอร์จำนวนมาก คาดว่าประมาณ 9 แสนคน ปัจจุบันมีประมาณ 3-4 แสนคน

           ประเด็นที่สาม สวัสดิการสังคมของไทยไม่ทั่วถึง สวัสดิการบางด้านมีปัญหาด้านคุณภาพ และอุปสรรคการเข้าถึงสวัสดิการ

           ประเด็นที่สี่ อาจเป็นเรื่องสำคัญที่สุด กฎหมายแรงงานไทยตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลง คือการตัดสินว่างานใดเป็นการจ้างแรงงานหรือไม่ อาศัยฐานคิดจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2467 (สมัย ร.6) แม้มีการแก้ไขเพิ่มเติมย่อย ๆ 24 ครั้ง (ครั้งล่าสุดปี 2567 แก้ไขเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม) แต่ตามกฎหมายฉบับนี้ไรเดอร์ไม่จัดเป็นการจ้างแรงงาน แม้จะมีลักษณะคาบเกี่ยวกับการจ้างแรงงานบางประการ บริษัทแพลตฟอร์มจึงถืออำนาจตีความว่าไรเดอร์ไม่ได้เป็นลูกจ้าง จึงไม่ได้สิทธิใด ๆ ในฐานะลูกจ้างของบริษัท แต่ถือว่าไรเดอร์คือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่มาใช้บริการของแอปพลิเคชั่น

           ภายใต้บริบทและเงื่อนไขเฉพาะของไทยดังกล่าวมา ทำให้งานแพลตฟอร์มส่งอาหาร เป็นการทำให้งานไม่มั่นคง (precarious work) ขยายตัวมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อสังคมในบางด้าน ข้อมูลสนามและข้อค้นพบจากการวิจัยของผมที่ผ่านมา อธิบายให้เห็นภาพรวมวงจรปัญหาที่เกิดขึ้นดังนี้

           ประการแรก กล่าวได้ว่าไรเดอร์เป็นอาชีพที่เป็นที่พึ่งของแรงงานไร้ทางเลือกและประชากรกลุ่มเปาะบางจำนวนหนึ่ง การสำรวจภาคสนามพบว่าประมาณครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่าง ทำงานอาชีพนี้แบบเต็มเวลา เป็นรายได้หลัก แม้เผชิญสภาพการทำงานที่เลวร้ายก็จำต้องทำงานนี้ คนเหล่านี้คือคนอายุ 40 ปีขึ้นไปที่สมัครงานไม่ได้ คนเคยต้องคดีความ คนการศึกษาไม่สูง คนสูงอายุที่จำต้องหารายได้เลี้ยงชีพ รวมทั้งคนมีภาระต้องดูแลครอบครัว ไม่สามารถทำงานเต็มเวลา เช่น ต้องดูแลลูก คนสูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง

           ประการที่สอง การเกิดอุบัติเหตุของไรเดอร์สูงมาก มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นทุกวันในที่ต่าง ๆ รุนแรงมากน้อยต่างกันไป และการเสียชีวิตของไรเดอร์ก็มีจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ สาเหตุมาจากระบบการทำงานภายใต้แอปพลิเคชั่น ที่รายได้สัมพันธ์กับจำนวนการทำงานสำเร็จในแต่ละครั้ง รวมทั้งระบบประเมินผลจากลูกค้าและระบบสร้างแรงจูงใจของบริษัท ทั้งหมดสร้างความกดดันให้เกิดความเร่งรีบในการทำงาน ยิ่งบริษัทจ่ายค่าตอบแทนหรือค่ารอบลดลง ก็ยิ่งทำให้ไรเดอร์ต้องเร่งเวลาทำรอบให้มากขึ้นเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

           ประการต่อมา สุขภาพกายและสุขภาพจิต เนื่องจากไรเดอร์จำนวนมากทำงานมากกว่าวันละมากกว่า 8 ชั่วโมง คืออยู่ในช่วง 10-12 ชั่วโมงหรือมากกว่า เท่ากับว่าเราถอยหลังไปกว่า 200 ปี ที่กฎหมายคุ้มครองชั่วโมงทำงานเกิดขึ้นครั้งแรก ไรเดอร์ที่ทำงานกลางถนนบนหลังมอเตอร์ไซค์จึงมีปัญหาสุขภาพตั้งแต่หัวจรดเท้า และหากเป็นไรเดอร์หญิงจะมีปัญหาเพิ่มขึ้นเนื่องจากสรีระร่างกายอาจได้รับผลกระทบได้โดยง่ายจากการขับขี่มอเตอร์ไซค์บนท้องถนนเป็นเวลานาน ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมถึงสุขภาพจิต ไรเดอร์เป็นกลุ่มที่มีความตึงเครียดและมีปัญหาสุขภาพจิตสูงมาก

           ประการสุดท้าย อาชีพไรเดอร์ภายใต้สภาพการจ้างที่เป็นอยู่ ได้สร้างผลกระทบต่อสังคม ด้านหนึ่งคือการเพิ่มความไม่ปลอดภัยบนท้องถนน ซึ่งประเทศไทยมีอัตราอุบัติเหตุสูงติดอันดับต้น ๆ ของโลกอยู่แล้วเลยร้ายมากขึ้นไปอีก อุบัติเหตุไม่ได้เป็นอันตรายเฉพาะไรเดอร์แต่ส่งผลต่อผู้ใช้รถใช้ถนนโดยทั่วไป และผลกระทบอีกด้านหนึ่งคือ ผลกระทบต่องบประมาณระบบดูแลสุขภาพ เนื่องจากเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย (นอกจากเบิกค่ารักษาพยาบาลอุบัติเหตุจากประกันภัยจักรยานยนต์ซึ่งเป็นประกันภัยภาคบังคับที่เจ้าของรถทุกคนต้องทำตามกฎหมายแล้ว) ไรเดอร์จะเข้ารับการรักษาพยาบาลอุบัติเหตุและสุขภาพโดยใช้สิทธิประกันสุขภาพ (บัตรทอง) กรณีนี้เราคงไม่ปฏิเสธการใช้สิทธิบัตรทองของไรเดอร์ แต่รังเกียจการที่บริษัทซึ่งได้ประโยชน์จากการทำงานของไรเดอร์ ไม่มีส่วนรับผิดชอบใด ๆ แต่ผลักภาระให้เป็นภาระงบประมาณแผ่นดิน

           สภาพปัญหาทั้งหมดนี้เห็นได้จากข่าวสารในโซเชียลมีเดีย ไรเดอร์แม่ลูกอ่อน ไรเดอร์ชรา ไรเดอร์พิการ ไรเดอร์ขับรถลุยน้ำท่วม ไรเดอร์ถูกรถชนเสียชีวิต ฯลฯ ชาวเน็ตต่างแสดงความเห็นต่อเรื่องราวที่แชร์แตกต่างกันไป ทั้งชื่นชม เอาใจช่วย ให้คำแนะนำ แต่ทั้งหมดนี้คงไม่เกิดขึ้นในประเทศที่เห็นคุณค่าของแรงงาน และทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในบริบทและเงื่อนไขของประเทศไทย

           อย่างไรก็ตาม ภายใต้ปัญหาทั้งหมดนั้น ได้เกิดปรากฎการณ์ในด้านของการต่อรองของไรเดอร์ด้วย ดังที่มีการรวมตัวของไรเดอร์ในรูปแบบต่าง ๆ การช่วยเหลือกันในการทำงาน การเยียวยาอุบัติเหตุ หรือเสียชีวิต และการประท้วงเกิดขึ้นจำนวนมาก ปฏิกิริยาทั้งหมดมีส่วนทำให้ภาครัฐมีความตื่นตัวมากขึ้นในการปรับปรุงกฎหมายและกลไกในการบรรเทาปัญหาของไรเดอร์ ในระยะยาวกว่านี้ ขบวนการไรเดอร์น่าจะส่งผลให้เกิดการปรับตัวในขบวนการแรงงานเอง และอาจจะส่งผลต่อการปรับปรุงนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล และการกำกับดูแลเศรษฐกิจแพลตฟอร์มของไทยบ้าง

           ทั้งหมดนี้ให้คุณประโยชน์อันใดต่อท้องถิ่นศึกษา (locality studies) ในแง่หนึ่ง เป็นการย้ำเตือนให้เห็นความสำคัญของท้องถิ่น ในกรณีนี้ทำให้เห็นว่า แม้เศรษฐกิจแพลตฟอร์มจะส่งผลดีทางเศรษฐกิจ สร้างงานสร้างรายได้ให้คนจำนวนหนึ่ง แต่ในเวลาเดียวกันทำให้แรงงานบางกลุ่ม (และผู้ประกอบการบางกลุ่ม) เป็นแรงงานที่ไม่มั่นคงและเผชิญความเสี่ยงในการทำงานมากที่สุด ดังนั้นหากเราให้ความสำคัญกับบริบทและเงื่อนไขเฉพาะของท้องถิ่นไทย จะทำให้เห็นปัญหาของแรงงานบางกลุ่มในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม และมีกลไกดูแลแรงงานกลุ่มนี้ได้ดีขึ้น

           ในอีกแง่หนึ่ง หากมองเรื่องเศรษฐกิจแพลตฟอร์มจากผลประโยชน์ของแรงงานแพลตฟอร์ม (platform labour) อาจเรียกว่าประเด็นงาน/แรงงานแพลตฟอร์มเป็นท้องถิ่นเชิงความสัมพันธ์ (relational space) (ตามแนวทางของสาขาวิขาภูมิศาสตร์มนุษย์ซึ่งให้ความสำคัญกับพื้นที่ (space) ภูมิศาสตร์แบบต่าง ๆ และได้จำแนกความเป็นท้องถิ่นออกเป็น 3 รูปแบบ คือ ท้องถิ่นบนพื้นที่เขตแดนที่มีขอบเขตแน่นอน (bounded territorial space) เช่น พื้นที่ชุมชนที่เราคุยกัน ท้องถิ่นที่มีความสัมพันธ์ข้ามพื้นที่ (relative space) เช่น ความสัมพันธ์ของพื้นที่ท้องถิ่นกับโลกภายนอก และพื้นที่เชิงความสัมพันธ์ (relational space) เป็นพื้นที่ของความสัมพันธ์ของกลุ่มคนต่อประเด็นปัญหาต่าง ๆ เช่น กลุ่มคนที่มีความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ดู Jones & Woods, 2013)

           หากพิจารณาเช่นนี้ จะทำให้เห็นว่ามีท้องถิ่นอีกแบบหนึ่ง ซ้อนอยู่บนท้องถิ่นที่เราสังกัดอยู่ ทำให้เราเห็น “คน” ในท้องถิ่นนั้น ในโอกาสต่อไปเมื่อเราสั่งอาหารผ่านแอปฯ จะได้รู้ว่ามีคนจำนวนหนึ่งกำลังทำงานอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน หรือเวลาที่เราคลิ๊กเมาท์คอมพิวเตอร์แต่ละครั้ง มีแรงงานในอีกมุมโลกหนึ่ง กำลังป้อนข้อมูลเข้าระบบคอมพิวเตอร์ ด้วยการทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำเพื่อแลกค่าแรงให้พอเลี้ยงชีพ

           และโดยต่อเนื่องกัน การมองแรงงานแพลตฟอร์มในฐานะท้องถิ่นศึกษาแบบหนึ่ง จะนำเราไปสู่คำถามทางการวิจัยและการกำหนดนโยบายที่ยังรอคอยคำตอบอีกจำนวนมาก ยังมีคำถามเรื่องอัตลักษณ์ ความสัมพันธ์ การต่อรอง หรือประเด็นอื่น ๆ ของแรงงานแพลตฟอร์มประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจากไรเดอร์ส่งอาหาร ประเด็นเหล่านั้นยังมีการศึกษาวิจัยในวงวิชาการไทยน้อยมาก

หมายเหตุ บทความนี้ปรับปรุงจากเนื้อหาการนำเสนอในงานสัมมนาวิชาการ "รื้อทวนชวนคิด ท้องถิ่นศึกษา Rethinking Locality Studies" 13 มกราคม 2568 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เนื้อหาในบทความเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการรูปแบบการสร้างอำนาจต่อรองเพื่อสุขภาวะของแรงงานแพลตฟอร์มส่งอาหารและแรงงานในกิจการขนส่ง สนับสนุนโดยสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ


เอกสารอ้างอิง

พฤกษ์ เถาถวิล และวรดุลย์ ตุลารักษ์. (2566). อุบัติเหตุและสุขภาพของคนขับรถจักรยานยนต์ส่งอาหารภายใต้การควบคุมของแพลตฟอร์ม. รายงานการวิจัย. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. https://shorturl.asia/vIga6

พฤกษ์ เถาถวิล และวรดุลย์ ตุลารักษ์. (2567). การรวมกลุ่มและขบวนการต่อรองของแรงงานแพลตฟอร์มส่งอาหารเพื่อปกป้องสิทธิและสุขภาวะ. รายงานการวิจัย. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. https://shorturl.asia/AryZD

Castells, M. (1996). The Rise of the Network Society. Vol. 1 of The Information Age: Economy, Society and Culture. Cambridge, MA: Wiley-Blackwell.

Graham, M. & Ferrari, F. (2022) Digital Work in the Planetary Market. Cambridge, MA: MIT Press.

Jones, M., & Woods, M. (2013). New localities. Regional Studies, 47(1), 29-42.

Sundararajan, A. (2016). The Sharing Economy: The End of Employment and the Rise of Crowd-Based Capitalism. The MIT Press.


ผู้เขียน
ผศ.ดร.พฤกษ์ เถาถวิล
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี


 

ป้ายกำกับ ทุนระดับโลก แรงงานท้องถิ่น เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ผศ.ดร.พฤกษ์ เถาถวิล

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา