ความสัมพันธ์สองระนาบ: ทุนนิยมโลกบนฐานวัฒนธรรมท้องถิ่น
1. เกริ่นนำ
การเติบโตของเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ มีความพยายามที่จะอธิบายในหลายแง่หลายมุม ซึ่งมุมหนึ่งที่มักจะถูกละเลย คือ การอธิบายบนฐานความสัมพันธ์ของคนกลุ่มต่าง ๆ หนังสือเรื่อง The intimate economies of Bangkok: tomboys, tycoons, and Avon ladies in the global city ของ Ara Wilson1 อธิบายการขยายตัวของการแลกเปลี่ยนทุนนิยมที่มีประสิทธิภาพในสังคมไทย Wilson แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกกับเศรษฐกิจท้องถิ่นมีความสัมพันธ์กันแทบแยกกันไม่ออก และยังเชื่อมโยงถึงการดำเนินชีวิต งานชิ้นนี้แตกต่างอย่างสำคัญกับงานมานุษยวิทยาเศรษฐกิจโดยทั่วไปที่ส่วนใหญ่จะยึดกับหน่วยของหมู่บ้าน หรือพื้นที่จำกัด ได้เรียงร้อยผู้คนและธุรกิจที่แตกต่างเพื่อให้ใจความเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง บนฐานความสัมพันธ์สองรูปแบบ คือ (1) ความสัมพันธ์ในระบบเศรษฐกิจโลก หรือทุนนิยม ที่สร้างความเติบโตให้เศรษฐกิจไทย (2) ความสัมพันธ์ส่วนตัวในสังคมไทยที่หนุนเสริมให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตไปได้ ทำให้งานชิ้นนี้สามารถอธิบายความเปลี่ยนแปลงได้อย่างกว้างขวางทั้งรสนิยม ความรู้สึก การสร้างความสัมพันธ์ของเครือข่ายธุรกิจ ตั้งแต่ "tomboys" แรงงานอารมณ์ (เด็กดริ้ง พนักงาน) พนักงานขายตรง การจัดการธุรกิจในครอบครัว เพื่อที่จะเข้าใจการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศไทย โดยใช้กรณีศึกษานวัตกรรมของสตรีและการมีส่วนร่วมของผู้คนที่อยู่ในความสัมพันธ์นั้น ๆ เช่น ห้างเซ็นทรัล ห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง บริษัทโทรคมนาคม และบริษัทขายตรงแอมเวย์และเอวอน เป็นต้น
รูปที่ 1 ปกหนังสือ The intimate economies of Bangkok: tomboys, tycoons, and Avon ladies in the global city (2004)
ที่สำคัญงานชิ้นนี้ได้แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจหรือเศรษฐศาสตร์ มี “เพศ” หรือมีลักษณะเฉพาะเจาะจง ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดด ๆ เช่นการอธิบายเศรษฐศาสตร์ทั่วไปที่มักอธิบายว่าการเกิดขึ้นของทุนนิยมได้อย่างเสรี แต่แท้จริงแล้วทุนนิยมกลับผูกโยงเข้ากับลักษณะเฉพาะบางอย่างของสังคมหนึ่ง ๆ เช่น เพศสภาพ วัฒนธรรมของการก่อตัวของทุน2 ผ่านการอธิบายเรื่องการขายตรง หรือสินค้าของทอม เป็นต้น
2. ความสัมพันธ์สองระนาบ
ในการอธิบายเศรษฐกิจกระแสหลัก มักให้ความสำคัญกับระบบทุนนิยม ที่ให้ทุกคนสามารถแข่งขันได้ในระบบตลาด และทุกคนมีอิสระที่จะลงทุน ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมหรือทุนนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่ให้เสรีภาพแก่ภาคเอกชนในการเลือกดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน สามารถเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต เศรษฐทรัพย์ต่าง ๆ ที่ตนหามาได้ มีเสรีภาพในการประกอบธุรกิจ รวมทั้งการเลือกอุปโภคบริโภคสินค้าและบริการ ใช้ระบบของการแข่งขันโดยมีราคาและระบบตลาดเป็นกลไกสำคัญในการจัดสรรทรัพยากร รัฐบาลจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือพูดง่าย ๆ ว่าระบบทุนนิยมมุ่งให้คนแข่งขันกันในตลาดอย่างเสรี
หลายทศวรรษที่ผ่านมาสังคมไทยได้มุ่งเปิดตลาดแบบเสรีภายใต้ระบบทุนนิยม ดังเห็นจากการเติบโตของห้างเซ็นทรัล ห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง บริษัทโทรคมนาคม และบริษัทขายตรงแอมเวย์และเอวอน ที่พัฒนาภายใต้การเติบโตของระบบทุนนิยมโลก อาทิเช่น ธุรกิจโทรคมนาคมก็ต้องขายความทันสมัย หรือข่าวสารที่เชื่อมต่อสัมพันธ์กับคนทั้งโลก หรือแอมเวย์ เอวอนเองก็เป็นบริษัทที่มีเครือข่ายระดับโลกไม่มีพรมแดนทางธุรกิจ แม้แต่ธุรกิจ Go-Go-Bar เองก็เป็นธุรกิจที่เติบโตมาพร้อมกับการท่องเที่ยว
ธุรกิจเหล่านี้ล้วนวางอยู่บนฐานของการจัดการสมัยใหม่ เพื่อให้ธุรกิจของตัวเองอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมที่กำลังขยายตัว เช่น ห้างเซ็นทรัล ที่ขยายสาขาและสร้างความแปลกใหม่ ที่นำระบบราคาสินค้าที่แน่นอน สร้างเป็นตลาดสินค้าขนาดใหญ่ (Mall) ที่มีสินค้าทุกประเภทให้เลือกซื้อได้ในพื้นที่เดียว หรือห้างมาบุญครอง ได้กลายเป็นพื้นที่ที่เปิดให้คนกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะเพศทางเลือกได้แสดงอัตลักษณ์ที่หลากหลายในพื้นที่ รวมถึงมีสินค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น สินค้าของทอม เป็นต้น ซึ่งพื้นที่เปิดและมีสินค้าที่หลากหลายเหล่านี้ไม่อาจพบในโชห่วยที่เป็นธุรกิจแบบเดิมของไทย
แม้แต่ Go-Go-Bar เองที่เติบโตจากการขยายตัวของการท่องเที่ยวก็มิได้จัดการแบบ “ซ่องโสเภณี” แบบไทย ที่มีเป้าหมายเพื่อสนองต่อความต้องการทางเพศเท่านั้น แต่ Go-Go-Bar ไม่เป็นแต่ที่ปลดปล่อยทางเพศ แต่ได้ตอบสนองทางอารมณ์อื่น เช่น นั่งดื่ม ฟังเพลง ฯลฯ แม้จะมีการบริการทางเพศแอบแฝงก็ตามที แต่พื้นที่ Go-Go-Bar ไม่ได้เป็นพื้นที่ที่ผู้ให้บริการเป็นฝ่ายจำยอม ไม่สามารถต่อรองได้ ถูกบังคับ ฯลฯ ภายใต้ความสัมพันธ์นี้เธอ/เขาเลือกที่จะเข้าไปโดยสมัครใจ สามารถเลือกที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้ หรือแม้แต่สร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับแขก ซึ่งต่างจากซ่องที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ คือ คนที่เข้าไปส่วนใหญ่ถูกบังคับ
จากลักษณะข้างต้นจะเห็นว่าธุรกิจที่เติบโตในสังคมไทยล้วนสัมพันธ์กับเศรษฐกิจระดับมหภาค หรือระดับโลก ภายใต้ระบบทุนนิยม ที่ทุนไม่มีสัญชาติ ขับเคลื่อนด้วยระบบตลาด ทุกคนสามารถเข้าไปแข่งขันช่วงชิงได้ในเวทีนี้ แม้จะไม่เท่าเทียมก็ตามที แล้วแต่ว่าเราอยู่ในฐานะไหน ได้เปรียบหรือเสียเปรียบจากการแข่งขันนั้น อย่างไรก็ตาม ระบบทุนนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจระดับมหภาค ที่เชื่อมสัมพันธ์กับระบบโลก เชื่อมร้อยด้วย “ตลาด” แต่ในขณะเดียวกัน การสร้างทุนนิยมหรือธุรกิจในพื้นที่หนึ่ง ๆ ในที่นี้คือ กรุงเทพฯ ก็สัมพันธ์กับวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในงานของ Wilson ชี้ให้เราเห็นว่า แม้ระบบทุนนิยมจะเป็นระบบโลกเป็นระบบสากลที่คนมักมองว่าเป็นก้อนเดียวโดยไม่เห็นความแตกต่าง เขาชี้ให้เห็นว่ามันมีลักษณะเฉพาะบางอย่างในท้องถิ่นที่เป็นตัวหนุนเสริมระบบทุนนิยมโลก มีลักษณะร่วมกับงานของ Sidney W. Mintz3 ที่อธิบายว่าระบบทุนนิยมในพื้นที่ต่าง ๆ มีพัฒนาการที่แตกต่างกันโดยเฉพาะระบบทุนนิยมชายขอบ ประเทศไทยก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้
ภายใต้ระบบทุนนิยมโลกที่สากลมีวัฒนธรรมพื้นถิ่นบางอย่างคอยหนุนเสริมทุนนิยมอยู่ เขาใช้วัฒนธรรมในสังคมไทยคือวัฒนธรรมความเห็นหน้าค่าตา หรือพูดได้ว่าส่วนหนึ่งของระบบอุปถัมภ์4 ที่เป็นห่วงโซ่ร้อยรัดสังคมไทย โดยอธิบายผ่านธุรกิจในเครือเซ็นทรัล ที่เกิดจากการเติบโตของระบบวัฒนธรรมกงสี ที่อาศัยครอบครัวในการจัดการบริหารเป็นธุรกิจในครอบครัว โดยเริ่มแรกเกิดจากการอาศัยเงินทุนจากเครือญาติและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แม้ภายหลังจะให้คนนอกเข้ามามีส่วนในการบริหาร แต่ตำแหน่งสำคัญก็อยู่ภายใต้สมาชิกในตระกูล
Go-Go-Bar เองแม้จะเป็นธุรกิจที่มีการจัดการแบบใหม่ แต่แรงงานอารมณ์ที่ให้บริการก็สามารถสร้างความสัมพันธ์กับแขกในลักษณะที่ไม่เป็นทางการ สร้างความสัมพันธ์ที่ยาวนาน เช่น เป็นแฟน เป็นเมียเช่า ฯลฯ ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดในระบบตลาด แต่พัฒนาภายใต้ความสัมพันธ์ส่วนตัว
แม้แต่ธุรกิจขายตรงอย่าง แอมเวย์ เอวอน เองก็ตาม ก็ต้องใช้ผู้หญิงที่มีลักษณะเฉพาะตัว เป็นเพศที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน สามารถโน้มน้าวให้ลูกค้าซื้อสินค้าที่นำเสนอขาย รวมถึงต้องอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัว ที่เป็นที่รู้จักมักคุ้น เช่น เป็นเพื่อนที่ทำงาน เป็นญาติ เป็นคนรู้จัก ฯลฯ ถึงจะสามารถขายสินค้าได้ และไม่นับว่าต้องมีเครือข่ายที่กว้างขวางทั้งทางการและไม่เป็นทางการจึงจะสามารถเสนอขายสินค้าได้ การขายตรงไม่ใช่การขายสินค้าที่วางขายทั่วไป แต่เป็น “สินค้าในความสัมพันธ์” ถ้าไม่สัมพันธ์กันก็ขายไม่ได้
ระนาบของความสัมพันธ์ระหว่าง “โลก” และลักษณะเฉพาะ “ท้องถิ่น” จึงเป็นตัวหนุนเสริมให้ทุนขับเคลื่อนได้อธิบาย
3. สรุป
ในที่นี้อาจกล่าวได้ว่าแม้ระบบทุนนิยมโลกจะขับเคลื่อนเปลี่ยนแปรอย่างไร แต่การพัฒนาการของพื้นที่ก็มีความแตกต่างเฉพาะถิ่น และที่สำคัญคือมีวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นเป็นตัวหนุนเสริมให้ระบบทุนนิยมขับเคลื่อนได้ โดยเฉพาะธุรกิจในระดับล่าง เห็นได้จากการศึกษาของ Wilson ที่มองว่าระบบทุนนิยมในไทยที่ขับเคลื่อนได้เกิดจาก “ความใกล้ชิด” หรือการเห็นหน้าค่าตา ไม่ใช่ระบบทุนนิยมในระบบตลาดอย่างเดียว
ฉะนั้นการศึกษาพัฒนาการของทุนนิยมจึงต้องอาศัยบริบทของพื้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา เราไม่อาจมองระบบทุนนิยมในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นก้อนเดียว/เหมือนกันหมด ซึ่งจะไม่ทำให้เห็นลักษณะเฉพาะของพื้นที่และที่สำคัญ คือ ถ้าเรามองมันเป็นก้อนเดียว เราจะไม่เห็นความแตกต่างของระบบการขูดรีด และความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่แฝงเร้นอยู่ในระบบนั้น ๆ
เอกสารอ้างอิง
อคิน รพีพัฒน์, ม.ร.ว. ประกายทอง สิริสุข, พรรณี ฉัตรพลรักษ์, ผู้แปล. สังคมไทยในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325-2416. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์; มูลนิธิตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2527.
Mintz, Sidney W. Sweetness and power: the place of surgar in modern history. New York: Penguin books, 1986.
Wilson, Ara. The intimate economies of Bangkok: tomboys, tycoons, and Avon ladies in the global city. Berkeley: University of California Press, 2004.
1 Wilson, Ara. The intimate economies of Bangkok: tomboys, tycoons, and Avon ladies in the global city. Berkeley: University of California Press, 2004.
2 ดูข้อถกเถียงการก่อตัวและการทำงานของทุนในงานของ Mintz, Sidney W. Sweetness and power: the place of surgar in modern history. New York: Penguin books, 1986.
3 Mintz, Sidney W. Sweetness and power: the place of surgar in modern history. New York: Penguin books, 1986.
4 ดูเพิ่มใน, ม.ร.ว. อคิน รพีพัฒน์, ผู้แต่ง; ม.ร.ว. ประกายทอง สิริสุข, พรรณี ฉัตรพลรักษ์, ผู้แปล. สังคมไทยในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325-2416. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ; มูลนิธิตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2527.
ผู้เขียน
ชัยพงษ์ สำเนียง
ภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ป้ายกำกับ ความสัมพันธ์สองระนาบ ทุนนิยมโลก วัฒนธรรมท้องถิ่น ผศ.ดร.ชัยพงษ์ สำเนียง