มานุษยวิทยากับการท่องเที่ยว Anthropology of Tourism

 |  เศรษฐกิจ มานุษยวิทยาในโลกธุรกิจ
ผู้เข้าชม : 3528

มานุษยวิทยากับการท่องเที่ยว Anthropology of Tourism

อำนาจของการท่องเที่ยว

           ความสนใจประเด็นการท่องเที่ยวในแวดวงมานุษยวิทยาเริ่มต้นชัดเจนและจริงจังในช่วงปลายทศวรรษ 1970 (MacCannell, 1976; Nash, 1981; Smith, 1989) เนื่องจากนักมานุษยวิทยาพบว่าในทุกสังคมล้วนมีนักท่องเที่ยวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันร่วมกับคนท้องถิ่น การท่องเที่ยวกลายเป็นแหล่งรายได้ให้กับชุมชนและคนหลากหลายกลุ่ม (Stronza, 2001) การทำงานของนักมานุษยวิทยาในพื้นที่ต่าง ๆ จึงมักเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากนักท่องเที่ยวและกิจกรรมของการท่องเที่ยว ทำให้เกิดความสนใจว่าคนท้องถิ่นคิดและปฏิบัติต่อนักท่องเที่ยวอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนท่องเที่ยวสะท้อนแบบแผนทางสังคมและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปอย่างไร การท่องเที่ยวในระบบทุนนิยมโลกที่ขยายตัวไปอย่างรวเร็วทำให้คนท้องถิ่นได้หรือเสียประโยชน์อย่างไร (Greenwood, 1977; Lanfant et al., 1995) ในการศึกษาของ Greenwood (1989) ชี้ให้เห็นว่าการท่องเที่ยวทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายผู้คน สินค้าและการบริการขนาดใหญ่ ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ดังนั้น การท่องเที่ยวจึงเป็นกลไกของการเปลี่ยนแปลงและการกระตุ้นรายได้ให้กับธุรกิจจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

           ในสถานการณ์นี้ นักมานุษยวิทยาพบว่านักท่องเที่ยวกลายเป็นคนต่างวัฒนธรรมที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับคนท้องถิ่น (Lett, 1989) ซึ่งถือเป็นความต่างของคนที่มีโลกทัศน์คนละแบบ สิ่งที่นักท่องเที่ยวปฏิบัติกลายเป็นเรื่องที่คนท้องถิ่นไม่เคยรู้ และสิ่งที่คนท้องถิ่นแสดงออกกลายเป็นเรื่องแปลกสำหรับนักท่องเที่ยว การเผชิญหน้ากับความต่างนี้ถือเป็นการสื่อสารข้ามวัฒนธรรมที่ดำเนินไปบนกิจกรรมการท่องเที่ยว Nash (1981) และ Jafari (1977) อธิบายว่าการท่องเที่ยวคือกระบวนการ touristic process หมายถึง การเคลื่อนย้ายของนักท่องเที่ยวและนักเดินทางจากตะวันตกที่ร่ำรวยและมีเงินเพียงพอสำหรับใช้เดินทางไกลไปยังดินแดนที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่นและคนพื้นเมืองที่ยากจน กระบวนการเชิงท่องเที่ยวนี้จึงได้รับความสนใจในช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งพยายามวิเคราะห์ผู้สร้างผลกระทบและผู้ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยว นอกจากนั้น ยังสนใจศึกษาเรื่องแรงจูงใจที่ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทาง เรื่องพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวเลือกที่จะไปเยือน และผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการท่องเที่ยว


ประสบการณ์ท่องเที่ยวในโลกสมัยใหม่

           Smith (1989) ตั้งข้อสังเกตว่านักท่องเที่ยวคือบุคคลที่มีเวลาว่าง (leisured persons) ซึ่งต้องการเดินทางไปยังสถานที่ที่ต่างไปจากบ้านที่อยู่อาศัยเพื่อค้นหาประสบการณ์ที่ต่างไปจากชีวิตเดิม ๆ การศึกษาชีวิตของนักท่องเที่ยวจึงเน้นประเด็นความคิด ความรู้สึก อัตลักษณ์ พฤติกรรม และประสบการณ์ของนักท่องเที่ยว (Lofgren, 1999; Pearce, 1982) อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตัวของนักท่องเที่ยวไม่เคยหยุดนิ่งและเปลี่ยนแปลงไปตามสถานที่ต่าง ๆ ประสบการณ์จากการท่องเที่ยวของแต่ละบุคคลจะไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับความคิด ช่วงวัย เพศสภาพ ชนชั้น และฐานะทางเศรษฐกิจ ในแง่นี้ ไม่สามารถเหมารวมได้ว่าประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวในพื้นที่เดียวกันจะมีลักษณะเหมือนกันMacCannell (1976) อธิบายว่าการกลายเป็นนักท่องเที่ยวคือภาพสะท้อนของโลกสมัยใหม่ที่ทำให้มนุษย์แสวงหาความต้องการและความสุขส่วนตัว สิ่งนี้คือปรากฏการณ์ของมนุษย์ที่ต้องการอิสระ ขณะเดียวกันก็มีความรู้สึกอ้างว้างแปลกแยกและสับสน ทำให้ต้องเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่แปลกใหม่เพื่อเติมเต็มจินตนาการที่ขาดหายไปในชีวิต เช่น การเข้าไปอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติ ห่างไกลความเจริญ และมีสภาพที่ยังไม่ถูกรบกวนจากมนุษย์ ในขณะที่ Lofgren (1999) กล่าวว่าในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 มาจนถึงปัจจุบัน การท่องเที่ยวของชาวตะวันตกคือการใช้เวลาว่างในสถานที่ที่ตนเองปรารถนา ถือเป็นการใช้เวลาและพื้นที่เพื่อการหยุดพักผ่อน หรือเรียกว่าพื้นที่ท่องเที่ยวคือภูมิทัศน์ของวันหยุด (vacationscapes) การศึกษาของ Turner & Turner (1978) ชี้ว่าเวลาว่างของการท่องเที่ยว ทำให้มนุษย์แยกตัวเองออกจากเวลาปกติที่ต้องอยู่ในกฎระเบียบของการทำงาน การเดินทางท่องเที่ยวจึงสร้างเวลาพิเศษที่ทำให้คนหลีกหนีไปอยู่อย่างอิสระ

           การท่องเที่ยวจึงทำให้ภูมิประเทศทางธรรมชาติและสถานที่ที่เป็นสิ่งปลูกสร้างกลายสภาพเป็นพื้นที่ของการจ้องมอง จะเห็นได้ว่านักท่องเที่ยวที่เข้าไปยังสถานที่ที่ตนเองไม่เคยเห็น พวกเขาจะถ่ายภาพเพื่อบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้น เพื่อใช้ภาพถ่ายเป็นความทรงจำและเครื่องบ่งชี้ถึงความรู้สึกที่มีต่อพื้นที่ต่าง ๆ MacCannell (1976) กล่าวว่าการท่องเที่ยวทำให้มนุษย์ที่เดินทางสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่จากประสบการณ์ของการพบเห็นสิ่งแปลกใหม่ พื้นที่และสถานที่ที่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเยือนจึงเป็นวัตถุของการเล่าเรื่อง ส่วน Kirshenblatt-Gimblett (1998) มองว่าการท่องเที่ยวกำลังเปลี่ยนภูมิประเทศให้กลายเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ที่ผู้ชมจะมองดูวัตถุและทัศนียภาพในฐานะเป็นของแปลกตา น่าหลงใหล และน่าฉงน นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปในพื้นที่ต่าง ๆ ย่อมเป็นผู้ชมที่กำลังให้ความหมายต่อสิ่งที่พบเห็นตามความคิดและความเชื่อของตน ในทำนองเดียวกัน Graburn (1989) กล่าวว่าการท่องเที่ยวเปรียบเสมือนพิธีกรรมที่บ่งบอกว่ามนุษย์พยายามปรับปรุงตัวตน ปรับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และแสวงหาอิสรภาพ สถานที่ที่มีนักท่องเที่ยวมารวมตัวกันจึงเป็นเหมือนการเข้ามาร่วมทำพิธีบางอย่างเพื่อตอบสนองความหมายของการมีชีวิต


ปฏิสัมพันธ์ในการท่องเที่ยว

           Stronza (2001) กล่าวว่าในพื้นที่ที่เป็นเป้าหมายของการท่องเที่ยว คนแต่ละกลุ่มมีส่วนในการท่องเที่ยวต่างกันและไม่เท่ากัน บางคนเข้ามาทำงานกับนักท่องเที่ยวในฐานะมัคคุเทศก์ บางคนเป็นแรงงานและลูกจ้างในโรงแรมและรีสอร์ท บางคนค้าขายอาหารและสินค้าให้นักท่องเที่ยว บางคนทำงานฝีมือเพื่อผลิตของที่ระลึก บางคนเป็นเจ้าของกิจการที่ให้บริการรถนำเที่ยว บางคนเป็นเจ้าของโรงแรม ความแตกต่างเหล่านี้สะท้อนว่าในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีคนที่ทำงานหลากหลายอาชีพ มีตั้งแต่นักธุรกิจไปจนถึงแรงงานรับจ้างราคาถูก ในการศึกษาของ Swain (1989) ชี้ว่าชนเผ่าคูน่าในประเทศปานามา ผู้หญิงจะทอผ้าและทำงานฝีมือที่เป็นเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์เพื่อขายให้นักท่องเที่ยว ส่วนผู้ชายจะเป็นผู้ออกกฎระเบียบเกี่ยวกับการนำนักท่องเที่ยวเข้ามาในหมู่บ้าน การศึกษาของ Levy & Lerch (1991) พบว่าการท่องเที่ยวในบาร์เบโดส ผู้หญิงจะทำงานรับจ้างและมีรายได้น้อยกว่าผู้ชาย ส่วนผู้หญิงในอินโดนีเซียจะไม่นิยมเข้ามาทำงานในวงการท่องเที่ยวเพราะสังคมมักมองว่าผู้หญิงที่ใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวจะเหมือนอาชีพโสเภณี (Wilkinson & Pratiwi, 1995)

           โดยเฉพาะรูปแบบ ขอบเขตและความเข้มข้นที่คนท้องถิ่นเข้าไปเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว (Chambers, 1999) นักมานุษยวิทยามักมองว่าการท่องเที่ยวกำลังสร้างผลกระทบต่อคนพื้นเมืองในลักษณะต่าง ๆ เช่น การปรับตัวเข้ากับชีวิตสมัยใหม่ การใช้ระบบเงินตราและพึ่งเศรษฐกิจทุนนิยม การเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ สิ่งเหล่านี้ทำให้การศึกษาการท่องเที่ยวมีนัยยะเชิงลบต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น (Crick, 1989) ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์มองการท่องเที่ยวในฐานะเป็นปัจจัยและตัวกระตุ้นเศรษฐกิจของท้องถิ่น ซึ่งทำให้เกิดนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนเพื่อการท่องเที่ยวในประเทศกำลังพัฒนา เช่นประเทศที่มีชายหาดที่สวยงานในเขตทะเลแคริบเบียนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ชายหาดกลายเป็นพื้นที่ลงทุนเกี่ยวกับโรงแรมหรู บ้านพักตากอากาศ สนามกอล์ฟสถานบันเทิง ผับ บาร์ ไนท์คลับ บ่อนการพนัน ตลอดจนแหล่งขายบริการทางเพศ สิ่งเหล่านี้คือปรากฎการณ์ของการท่องเที่ยวที่ก่อตัวขึ้นบนธุรกิจการให้บริการ ซึ่งมักจะเชื่อมโยงถึงธุรกิจใต้ดิน เช่น ยาเสพติดและการค้ามนุษย์ (Oppermann, 1998) รวมถึงปัญหามลพิษและความเสื่อมโทรมของธรรมชาติในพื้นที่ที่มีโรงแรมและสถานบันเทิง (Honey, 1999) ปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดการวิพากษ์รัฐว่าสนใจรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่าจะแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตของพลเมือง และรัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนากลายเป็นเครื่องมือของลัทธิอาณานิคมใหม่ของตะวันตกที่ใช้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเข้ามาครอบงำประชาชน (Nash, 1989)

           นักมานุษยวิทยาพยายามทำความเข้าใจผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่มีต่อคนท้องถิ่น เช่น Mansperger (1995) อธิบายว่าการท่องเที่ยวในเขตหมู่เกาะแปซิฟิก คนพื้นเมืองเสียเวลาไปกับการให้บริการนักท่องเที่ยวและต้องพึ่งพิงเงินจากคนภายนอก ส่งผลให้ไม่มีเวลาสำหรับการทำงานในชีวิตประจำวันเหมือนในอดีต และมีความขัดแย้งระหว่างคนที่มีรายได้กับคนที่เสียรายได้ เช่นเดียวกับคนพื้นเมืองในลุ่มน้ำอะเมซอนที่มีสุขภาพอ่อนแอลงหลังจากที่ติดต่อสื่อสารกับนักท่องเที่ยว (Seiler-Balding, 1988) ในประเทศฝรั่งเศส ชาวบ้านที่มีอาชีพเกษตรกรรมต้องเปลี่ยนมาทำงานบริการนักท่องเที่ยว ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรลดน้อยลงและวัวถูกนำไปใช้ในการเกลี่ยหิมะสำหรับให้นักท่องเที่ยวเล่นสกีบนเนินเขา การเปลี่ยนมาพึ่งเศรษฐกิจจากภายนอกอาจทำให้ชาวบ้านขาดการพัฒนางานที่ตนเองเคยเชี่ยวชาญ เมื่อนักท่องเที่ยวหายไป ชาวบ้านก็อาจเผชิญกับการขาดรายได้และไม่มีอาชีพสำรอง (Rosenberg, 1988) ในประเทศเอกวาดอร์ ชนเผ่าไซโอนาและซีโคย่า เปลี่ยนตัวเองมาเป็นไกด์นำเที่ยวและดัดแปลงมอเตอร์ไซค์เป็นรถพ่วงให้นักท่องเที่ยวนั่งชมทัศนียภาพ และปรับปรุงบ้านของตนเองเป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสชีวิตชาวบ้าน สถานการณ์นี้บ่งบอกว่าคนท้องถิ่นได้เปลี่ยนตัวเองเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเป็นการก่อตัวของความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างคนในชุมชน (Vicker, 1977)


สินค้าของการท่องเที่ยว

           ถึงแม้ว่าการท่องเที่ยวอาจทำให้คนท้องถิ่นมีรายได้และอาจทำให้เกิดความเจริญทางวัตถุในพื้นที่ท่องเที่ยว เช่นการสร้างถนนและสาธารณูปโภคที่อำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว แต่การท่องเที่ยวก็อาจเพิ่มการบริโภคมากขึ้น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ประปา รวมถึงการเพิ่มขึ้นของขยะและของเหลือทิ้ง นอกจากนั้นอาจทำให้วัฒนธรรมของคนท้องถิ่นเป็นเพียงสินค้าและบริการที่นักท่องเที่ยวเสพเพียงชั่วครั้งชั่วคราว (Cohen, 1988; McLaren, 1997) ประเด็นนี้ได้รับความสนใจจากนักวิชาการโดยชี้ว่าความหมายและคุณค่าของวัฒนธรรมจะสูญหายไปเมื่อถูกทำให้เป็นเพียงสินค้าและการแสดงที่โชว์นักท่องเที่ยว (Hall, 1994) อย่างไรก็ตาม ประเด็นแก่นแท้หรือเนื้อแท้ทางวัฒนธรรมมีการถกเถียงอย่างกว้างขวาง เนื่องจากความเป็นแก่นแท้อาจเป็นวาทกรรมและสิ่งที่ถูกนิยามขึ้นภายใต้การเมืองของอัตลักษณ์ที่คนกลุ่มต่าง ๆ ตอบโต้และมีปฏิสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ในแง่นี้การค้นหาความจริงแท้ทางวัฒนธรรมอาจต้องทำความเข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลา การนำวัฒนธรรมมาเป็นสินค้าและเป็นการแสดงเพื่อขายนักท่องเที่ยว จึงอาจเป็นบริบทของการบริโภคความแปลกที่นักท่องเที่ยวต้องการจินตนการถึงความสวยงามและความบริสุทธิ์ทางวัฒนธรรม (Silver, 1993) ดังนั้น วัฒนธรรมจึงถูกสร้างให้ตรงตามความชอบและความสนใจของนักท่องเที่ยว บางส่วนจะถูกตัดทิ้ง บางส่วนจะถูกเติมแต่งใหม่ ทำให้วัฒนธรรมกลายเป็นภาพตัวแทนของบางสิ่งที่ถูกอธิบายให้น่าตื่นเต้นและ น่าประทับใจ

           ในการท่องเที่ยว วัฒนธรรมจึงถูกสร้างใหม่เพื่อใช้เป็นการดึงดูดสายตาของนักท่องเที่ยว (tourist Gaze) เป็นภาพจำที่นักท่องเที่ยวต้องการรับรู้และซึมซับเอาไว้ ในขณะที่คนท้องถิ่นก็เรียนรู้วิธีการสร้างวัฒนธรรมให้น่าดูสำหรับนักท่องเที่ยวเช่นกัน 1989) ในแง่นี้ การท่องเที่ยวอาจช่วยทำให้คนท้องถิ่นตระหนักรู้และเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมตนเองมากขึ้น (Mansperger, 1995) ขณะเดียวกันก็อาจผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ให้กับวัฒนธรรมเดิม (Van den Berghe, 1994) สิ่งเหล่านี้คือปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่น (host-guest interaction) ซึ่งต่างฝ่ายต่างเป็นผู้กระทำต่อกัน โดยมิได้มีฝ่ายใดตกเป็นเหยื่อของกันและกัน (Silverman, 2001)การศึกษามุมมองความคิดของคนท้องถิ่นที่มีต่อนักท่องเที่ยวจึงเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อที่จะไม่ผลิตซ้ำคำอธิบายเดิมที่มักจะมองคนท้องถิ่นเป็นฝ่ายถูกกระทำเพียงฝ่ายเดียว ในขณะที่มองนักท่องเที่ยวเป็นเพียงคนที่เข้ามาทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่น


การท่องเที่ยวที่หลากหลาย

           ปัจจุบัน การท่องเที่ยวปรับตัวและมีหลากหลายรูปแบบ เช่น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวแนวชุมชน การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เป็นต้น สิ่งสำคัญคือ ความพยายามที่จะทำให้นักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่นได้รับผลประโยชน์ที่ทัดเทียมกัน (Stronza, 2000) นักมานุษยวิทยามองว่าการท่องเที่ยวที่ใส่ใจต่อวิถีชีวิตของมนุษย์และห่วงใยสภาพแวดล้อม อาจทำให้คนท้องถิ่นได้รับโอกาสในด้านต่าง ๆ เช่น การฟื้นฟูและอนุรักษ์ระบบนิเวศและธรรมชาติเพื่อให้เป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับชุมชน ความสมบูรณ์ของธรรมชาติจะช่วยให้นักท่องเที่ยวต้องการเข้ามาเยี่ยมชมและทำให้คนท้องถิ่นมีรายได้พร้อมกับมีจิตสำนึกในการปกป้องคุ้มครองสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น เมื่อคนท้องถิ่นมีส่วนคิดวางแผนและตัดสินใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในพื้นที่ของตนเอง อาจทำให้ความหมายของการท่องเที่ยวมิใช่เพื่อคนภายนอก แต่เพื่อคนในชุมชนที่สามารถใช้ประโยชน์และจัดการทรัพยากรของตนเองอย่างยั่งยืน (Nash, 1996)

           การท่องเที่ยวมีมิติที่ซับซ้อนไม่สามารถอธิบายได้จากมุมใดมุมหนึ่ง ไม่ว่าจะใช้กรอบทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ตีความการเอารัดเอาเปรียบระหว่างประเทศตะวันตกกับประเทศที่ยากจน หรือมองจากมุมของมาร์กซิสต์ที่ชี้เพียงความเลวร้ายของระบบทุนนิยมที่เข้าไปทำลายชีวิตของแรงงานและคนท้องถิ่น การศึกษาการท่องเที่ยวจำเป็นต้องมองเห็นการเคลื่อนตัวและการตอบโต้ของคนหลากหลายกลุ่ม (Burns, 1999; Sofield, 2000) ตัวอย่างการศึกษาของ Ballard (2005) พบว่าการท่องเที่ยวในประเทศเบลิซและกัวเตมาลา คนท้องถิ่นพยายามไขว่ขว้าหาช่องทางและโอกาสที่จะขายสินค้าท้องถิ่นให้กับนักท่องเที่ยวเพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ในสังคมทุนนิยม การเข้ามาของนักท่องเที่ยวกับการขายสินค้าและบริการของคนท้องถิ่นจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน การขายวัฒนธรรมและธรรมชาติของท้องถิ่นเป็นกลไกที่สร้างรายได้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

           การศึกษาของ Jiuxia Sun and Yilin Luo (2022) พบว่าหลังจากที่ประเทศจีนพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา วัฒนธรรมเดิมของจีนค่อย ๆ เลื่อนหาไปตามการพัฒนาสมัยใหม่ การท่องเที่ยวเข้ามาทำให้อัตลักษณ์วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในจีนถูกปรับแต่งและสร้างขึ้นมาเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชม คนท้องถิ่นพยายามสร้างสรรค์วัฒนธรรมและฟื้นฟูภูมิปัญญาของตนขึ้นมาแข่งขันเพื่อเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา ขณะเดียวกันคนท้องถิ่นก็พยายามใช้การท่องเที่ยวเพื่อเป็นกลไกสำหรับการสร้างเครือข่ายและอำนาจต่อรองกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อทำให้ชุมชนได้รับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนั้น การท่องเที่ยวยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครัวเรือน คนจีนมีโอกาสติดต่อกับชาวต่างชาติและตัดสินใจแต่งงานกัน ประเด็นต่อมาคือช่วงเวลาท่องเที่ยว ยังทำให้คนท้องถิ่นค้นพบความสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าที่ต่างไปจากชีวิตประจำวัน ทำให้สามารถปฏิบัติสิ่งต่างๆนอกกฎเกณฑ์ที่สังคมกำหนด

           Jiuxia Sun and Yilin Luo (2022) ชี้ให้เห็นว่าการท่องเที่ยวของจีนทำให้เกิดการขยายตัวของเมือง เกิดการพัฒนาชนบท มีการสร้างเส้นทางคมนาคมติดต่อเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ ความเป็นชนบทเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ผู้คนเดินทางสะดวกมากขึ้น มีการเคลื่อนย้ายประชากรอย่างกว้างขวาง สิ่งนี้ทำให้รัฐบาลจีนเร่งรัดพัฒนาชนบทให้เจริญทัดเทียมกับเมืองใหญ่ ซึ่งเปรียบเป็นการฟื้นคืนชีพของชนบท ประเด็นดังกล่าวนี้ทำให้เห็นว่าการท่องเที่ยวในจีนช่วยขยายความเข้าใจเกี่ยวกับการเคลื่อนข้ามพื้นที่ของคนจำนวนมาก ซึ่งต่างแสวงหาโอกาสและช่องทางใหม่สำหรับสร้างชีวิต ปัจจุบัน ชาวจีนเดินทางออกไปท่องเที่ยวนอกประเทศจำนวนมากและกลายเป็นนักท่องเที่ยวหลักในหลายประเทศ ชาวจีนจึงมีศักยภาพในการเดินทางค่อนข้างสูง รวมทั้งสามารถใช้เทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่เพื่อการจับจ่ายใช้สอยและติดต่อสื่อสารกับคนอื่นระหว่างเดินทาง การท่องเที่ยวในประเทศจีนจึงมิใช่การการตอบโต้ระหว่างชาวต่างชาติกับคนท้องถิ่น หากแต่เป็นการที่คนท้องถิ่นสามารถสร้างอำนาจในการต่อรองกับคนอื่น ๆ เพื่อที่จะทำให้เกิดการพัฒนาและได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ


เอกสารอ้างอิง

Ballard, L. (2005). From Truck Bed to Bare Feet: The Anthropology of Tourism. Inquiry: The University of Arkansas Undergraduate Research Journal: Vol. 6 , Article 21.

Burns, P. (1999). An introduction to tourism and anthropology. London: Routledge.

Chambers, E. (1999). Native Tours: The Anthropology of Travel and Tourism. Prospect Heights, IL: Waveland.

Cohen, E. (1988). Authenticity and commoditization in tourism. Annals of Tourism Research, 15, 371- 86.

Crick, M. (1989). Representations of international tourism in the social sciences: sun, sex, sights, savings, and servility. Annual Review of Anthropology, 18, 307-44.

Evans-Pritchard, D. (1989). How "they" see "us": Native American images of tourists. Annals of Tourism Research, 16, 89-105.

Graburn, N. (1989). Tourism: the sacred journey. In Smith, V. (ed.), Hosts and Guests: The Anthropology of Tourism, (pp. 21-36). Philadelphia: University of Pennsylvania Press.

Greenwood, D.J. (1977). Tourism as an agent of change: a Spanish Basque case. Annals of Tourism Research, 3, 128-42.

Greenwood, D.J. (1989). Culture by the pound: an anthropological perspective on tourism as cultural commoditization. In Smith, V. (ed.). Hosts and Guests: The Anthropology of Tourism. (pp. 171-85). Philadelphia: University of Pennsylvania Press.

Hall, C.M. (1994). Tourism and Politics: Policy, Power and Place. West Sussex, UK: Wiley.

Honey, M. (1999). Ecotourism and Sustainable Development: Who Owns Paradise? Washington, DC: Island.

Jiuxia Sun & Yilin Luo. (2022). Anthropology of tourism: practical and theoretical development in China. International Journal of Anthropology and Ethnology, 6(10). https://doi.org/10.1186/s41257-022-00070-z

Kirshenblatt-Gimblett, B. (1998). Destination Culture: Tourism, Museums, and Heritage. Berkeley. University of California Press.

Lanfant M-F, Allcock, J.B., Bruner, E.M, (eds). (1995). International Tourism: Identity and Change. London: Sage.

Lett, J. (1989). Epilogue. In V. Smith, (ed.). Hosts and Guests: An Anthropology of Tourism, (pp. 275-79). Pittsburgh, PA: University of Pennsylvania Press.

Levy, D.E. & Lerch, P.B. (1991). Tourism as a factor in development: implications for gender and work in Barbados. Gender & Society, 5, 67-85.

Lofgren, O. (1999). On Holiday: A History of Vacationing. Berkeley: University of California Press.

MacCannell, D. (1976). The Tourist. New York: Schocken.

Mansperger, M.C. (1995). Tourism and cultural change in small-scale societies. Human Organisation, 54, 87-94.

McLaren, D. (1997). Rethinking Tourism and Ecotravel: The Paving of Paradise and What You Can Do to Stop It. West Hartford, CN: Kumaria.

Nash, D. (1981). Tourism as an anthropological subject. Current Anthropology, 22, 461-81.

Nash, D. (1989). Tourism as a form of imperialism. In Smith, V. (ed.). Hosts and Guests: The Anthropology of Tourism. (pp. 171-85). Philadelphia: University of Pennsylvania Press.

Nash, D. (1996). Anthropology of tourism. New York: Pergamon. Oppermann, M. (ed.). (1998). Sex Tourism and Prostitution: Aspects of Leisure, Recreation, and Work. New York: Cognizant Commun. Corp.

Pearce, P.L. (1982). The Social Psychology of Tourist Behavior. Oxford: Pergamon.

Rosenberg, H. (1988). A Negotiated World. Toronto: University of Toronto Press.

Seiler-Baldinger A. (1988). Tourism in the Upper Amazon and its effects on the indigenous population. In P. Rossel, (ed.). Tourism: Manufacturing the Exotic, (pp. 177-93). Copenhagen: IWGIA.

Silver, I. (1993). Marketing authenticity in third world countries. Annals of Tourism Research, 20, 302-18.

Silverman, E.K. (2001). Tourism in the Sepik River of Papua New Guinea: favoring the local over the global. Pacific Tourism Review, 4, 105-19.

Smith, V. (ed.). (1989). Hosts and Guests: The Anthropology of Tourism. Philadelphia: University of Pennsylvania Press.

Sofield, T. H. B. (2000). Re-thinking the relationship between anthropology and tourism studies. Conference paper presented at the Australian Anthropological Society Conference in Perth, Western Australia. 21-23 September 2000.

Stronza, A. (2000). Because it is Ours: Community-Based Ecotourism in the Peruvian Amazon. PhD. thesis. University of Florida, Gainesville.

Stronza, A. (2001). Anthropology of Tourism: Forging New Ground for Ecotourism and Other Alternatives. Annual Review of Anthropology, 30(1), 261-283.

Swain, M.B. (1989). Gender roles in indigenous tourism: Kuna Mola, Kuna Yala, and cultural survival. In Smith, V. (ed.), Hosts and Guests: The Anthropology of Tourism. (pp. 83-104). Philadelphia: University of Pennsylvania Press.

Turner, V. & Turner, E. (1978). Image and Pilgrimage in Christian Culture: Anthropological Perspectives. New York: Columbia University Press.

Van den Berghe, P. (1994). The Quest for the Other: Ethnic Tourism in San Cristobal, Mexico. Seattle: University of Washington Press.

Vickers, W.T. (1997). The new invaders: Siona- Secoya responses to thirty years of tourism. Presented at 20th International Congress of the Latin American Studies Association, Guadalajara, Mexico, April 18.

Wilkinson, P. F, & Pratiwi, W. (1995). Gender and tourism in an Indonesian village. Annals of Tourism Research, 22, 283-99.


ผู้เขียน
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรนธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร การท่องเที่ยว Posthuman Anthropology Tourism ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา