“Foodscape” ภูมิศาสตร์การเมืองเรื่องอาหาร
หลายคนอาจรู้จักและคุ้นกับ “Foodscape” ผ่านการสร้างสรรค์งานศิลปะของ Carl Warner ศิลปินชาวอังกฤษที่นำเอาอาหารสารพัดชนิด เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ขนมปัง ธัญพืช ฯลฯ มาจัดสร้างเป็นภาพทิวทัศน์ โดยเชื่อมโยงความงามของธรรมชาติเข้ากับความอุดมสมบูรณ์ของอาหารอย่างสุดล้ำเกินจินตนาการ โดยมีฐานคิดในการทำงานอยู่ที่ว่าต้องการใช้งานของเขาเป็นสื่อในการปรับเปลี่ยนทัศนคติด้านอาหารของเด็ก ๆ รวมถึงต้องการส่งเสริมให้เด็กหันมารับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและโภชนาการ จนได้รับการยอมรับจากคนทั่วโลกว่าเป็นงานศิลปะที่มีความสร้างสรรค์สุด ๆ
อย่างไรก็ตาม Foodscape ที่จะกล่าวในบทความนี้หาใช่เป็นงานศิลปะที่สร้างชื่อให้ Warner หากแต่เป็นแนวคิดหนึ่งที่สำคัญในการทำงานด้านอาหารซึ่งเชื่อมโยงเข้ากับพื้นที่ทางภูมิศาสตร์และงานหลากหลายสาขา กล่าวคือ Foodscape เป็นแนวคิดที่พัฒนาขึ้นช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 ที่สังคมเกิดความตระหนักต่อผลกระทบเชิงลบของระบบการผลิตอาหารสมัยใหม่ จนทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพและสาธารณสุข โดยในช่วงแรกของการศึกษาจะให้ความสำคัญกับ “พื้นที่ทางภูมิศาสตร์” ในเมืองที่เป็นสภาพแวดล้อมของอาหารและเป็นปัจจัยกำหนดพฤติกรรมผู้บริโภค ก่อนขยายมุมมองสู่พื้นที่เศรษฐกิจและสังคม เช่น นโยบายทางเศรษฐกิจและการเมืองว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการส่งเสริมทางเลือกให้ผู้บริโภคเกิดสุขภาพที่ดี ตลอดจนส่งเสริมการสร้างระบบผลิตอาหารที่ยั่งยืน (FoodShare, 2009; FoodShare, 2011)
ประเด็นการให้ความหมายดังกล่าวทำให้นักวิชาการสายอาหาร สังคมสุขภาพและสาธารณสุข พยายามทบทวนแนวคิด Foodscape เพื่อใช้เป็นหลักการทำงานร่วมกัน ซึ่งหนึ่งในนิยามได้ความสนใจอย่างมากคือ การใช้ “พื้นที่” เป็นแกนหลักในการศึกษาอาหารแบบองค์รวม (holistic) โดยเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องราวทางเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมและระบบนิเวศจนนำไปสู่ภาวะอยู่ดีมีสุขและเกิดความเป็นธรรมทางสังคม (Penker, 2006)
กล่าวอีกนัยหนึ่ง Foodscape เป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาอาหารในมิติสุขภาพ ความเท่าเทียมทางสังคมและการสร้างความยั่งยืนต่อระบบผลิตอาหาร โดยเชื่อมโยงผู้คน อาหารและพื้นที่เข้าไว้ด้วยกัน (Greene, 2019) ทั้งนี้ พื้นที่จะพิจารณาจากเชิงพื้นที่เชิงภูมิศาสตร์และพื้นที่ทางสังคมที่ที่เราได้รับอาหาร เตรียมอาหาร พูดคุยเกี่ยวกับความรู้ด้านอาหาร
-1-
Foodscape เป็นการผสมคำระหว่าง “อาหาร” (food) และ “ภูมิทัศน์” (landscape) และเป็นคำที่นักวิชาการด้านอาหารและสาธารณสุขนำมาใช้ครั้งแรกช่วงปี ค.ศ. 1995 เพื่ออธิบายเรื่องราวของอาหารที่สัมพันธ์กับมิติสังคมและพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ โดยในรอบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมาพบการศึกษา Foodscape แบ่งได้ 4 แนวทางหลัก (Greene, 2019) คือ
1. แนวทางเชิงพื้นที่: เป็นการใช้หลักสถิติและการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ภูมิศาสตร์ เพื่อระบุลักษณะความหลากหลายของ Foodscape ในภูมิศาสตร์เมืองและผลกระทบของความเป็นเมือง (urbanization) ที่ส่งผลต่ออาหารและสุขภาพ
2. แนวทางทางสังคมและวัฒนธรรม: เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า เรื่องราว Foodscape เกิดจากการหล่อหลอมทางสังคมและวัฒนธรรม โดยจะให้ความสำคัญกับความไม่เท่าเทียมกันทางโครงสร้างต่อการเข้าถึงอาหารของชุมชนและ/หรือสังคมหนึ่ง ๆ
3. แนวทางพฤติกรรม: เป็นการแสดงให้เห็นถึง Foodscape ก็คือพื้นที่การรับรู้ของผู้บริโภคเกี่ยวกับความรู้ด้านอาหารว่ามีกระบวนการอย่างไร
4. แนวทางสร้างเครือข่าย: เป็นการส่งเสริมแนววคิด Foodscape โดยทำให้เกิดเครือข่ายอาหารในท้องถิ่นและเชื่อมโยงเข้ากับระดับสากล จนนำสู่ระบบผลิตอาหารที่ยั่งยืน
จะเห็นได้ว่า แนวทางเชิงพื้นที่ Foodscape จะมีความหมายใกล้เคียงกับ “environmental food” หรือ “สภาพแวดล้อมทางอาหาร” ที่พยายามสื่อเรื่องราวของ “พื้นที่” ในฐานะเป็นระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกับสภาพทางกายภาพ เศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม โดยทำให้ผู้บริโภคเข้าไปมีส่วนร่วมกับระบบอาหาร ทั้งด้านการผลิต การเข้าถึง การเตรียม การกระจายและการบริโภคอาหาร จนเกิดการขยายการศึกษา Foodscape จากพื้นที่ภูมิศาสตร์สู่พื้นที่สังคม พื้นที่แห่งการเรียนรู้และพื้นที่ของการสร้างเครือข่าย เป็นต้น (Greene, 2019; Sedelmeier, Kühne & Jenal, 2022)
-2-
Foodscape ไม่เพียงแต่ขยายพื้นที่เชิงภูมิศาสตร์ตามที่กล่าวข้างต้น หากยังให้ความสำคัญกับพื้นที่สังคมในประเด็นความไม่เท่าเทียมและอคติทางเชื้อชาติ Winson (2013) ได้วิจารณ์อาหารแปรรูปและอาหารฟาสต์ฟู้ดว่าเปรียบเสมือนภาวะวิกฤตของ Foodscape เพราะอาหารเหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงง่ายและสะดวกสบาย แต่กลับส่งผลต่อปัญหาสุขภาพทำให้เกิดโรคยอดนิยม อย่างโรคอ้วน เบาหวานและความดันโลหิตสูง Winson มองว่าปรากฎการณ์ดังกล่าวเกิดจากแรงจูงใจในการแสวงหาผลกำไรมหาศาลของภาคธุรกิจการเกษตรและอาหาร จนนำมาสู่การครอบงำทางอาหารของบริษัทผู้ผลิตอาหารเหล่านี้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรณีศึกษาร้านขายอาหารฟาสต์ฟู้ดและร้านขายของชำในสหรัฐอเมริกาพบว่า ส่วนใหญ่มักตั้งในย่านใกล้เคียงของคนผิวสีและชาวลาตินที่มีรายได้น้อย การกำหนดพื้นที่ตั้งของร้านค้าดังกล่าวมีนัยของการเลือกปฏิบัติในเชิงพื้นที่เพื่อดำเนินธุรกิจอาหารขยะและด้อยคุณภาพกับคนเหล่านี้ที่มีกำลังทรัพย์น้อย ยิ่งกว่านั้น พื้นที่ดังกล่าวกลับไม่ตั้งซูเปอร์มาร์เก็ตขายอาหารสดที่ดีและมีคุณภาพ ยุทธศาสตร์ทางการตลาดเช่นนี้ถูกมองว่าแขวงอคติทางเชื้อชาติ คือ มองว่าคนผิวสีและชาวละตินคือคนชายขอบที่ขาดปัจจัยทางเศรษฐกิจในการเข้าถึงอาหารคุณภาพ สิ่งที่จะบริโภคได้ก็คืออาหารขยะและอาหารที่คุณภาพต่ำ ประเด็นดังกล่าว Foodscape จึงเป็นเลนส์ความคิดที่ช่วยทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องของการแบ่งประเภทของอาหารและสภาพแวดล้อมอาหารที่สัมพันธ์กับเชื้อชาติ (Kwate, 2023)
ปัญหาและความสำคัญข้างต้น จึงทำให้เกิดกระแสการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่สร้างและ/หรือผลักภาระทำให้ผู้บริโภคต้องเรียนรู้ที่จะสำรวจร้านขายอาหารแต่ละประเภทและชนิด จนทำให้ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งรัฐและเอกชนต้องร่วมมือทำงานด้าน Foodscape ดังเห็นจากโครงการคุ้มครองผู้บริโภคในการช่วยเหลือด้านอาหาร เช่น การกำหนดและระบุโภชนาการ การสร้างโครงการอาหารเช้าและอาหารกลางวันฟรีในโรงเรียน และธนาคารอาหาร เป็นต้น เพื่อให้เกิดความเท่าทันต่อผู้ผลิต (Winson, 2013)
-3-
Foodscape ยังสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ “การเมืองเรื่องอาหาร” ซึ่งก่อร่างสร้างตัวจากอุดมคติของขบวนการขับเคลื่อนอาหารออร์แกนิกในทศวรรษที่ 1960 และชี้ให้เห็นวาทกรรมที่ว่า การซื้ออาหารในระดับปัจเจกมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารอุตสาหกรรมให้เป็นระบบที่มีจริยธรรม ดีต่อสุขภาพและยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม (Hinrichs, 2003; Heynen, 2005; Greene, 2019)
วาทกรรมขบวนการขับเคลื่อนอาหารออร์แกนิกส่งเสริมให้ผู้รับประทานอาหารเป็นผู้บริโภคที่มีจริยธรรมมากขึ้น โดยการสนับสนุนเกษตรกรในท้องถิ่น การผลิตแบบออร์แกนิกและหลักปฏิบัติด้านแรงงานที่เป็นธรรม พื้นที่ทางกายภาพ เช่น ตลาดเกษตรกรและตลาดอาหารทั้งหมด และพื้นที่ทางวัฒนธรรม
ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นจากงานศึกษา “The Omnivore's Dilemma” (Pollan, 2007) หรือเรื่องราวของผู้แปรรูปอาหารระดับโลก อย่าง Heinz และ Kraft Foods ที่ใช้เรื่องราวในการสร้างแบรนด์อาหารออร์แกนิกมาสร้างการตลาด ผลิตภัณฑ์อาหารเหล่านี้ใช้ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเมืองด้านอาหาร เช่น กล่องซีเรียลจาก Cascadian Farm โดยแสดงภาพหุบเขาที่เขียวชอุ่มในรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เพื่อเน้นย้ำว่าการผลิตเกิดขึ้นในพื้นที่ “ท้องถิ่น” อย่างไร
จะเห็นได้ว่า บรรจุภัณฑ์คือการประกอบด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับการอุทิศตนของผู้ก่อองค์กรที่ให้ความสำคัญต่อหลักการเกษตรอินทรีย์ การสร้างวาทกรรมเหล่านี้จะดำเนินควบคู่ไปกับโครงสร้างอุตสาหกรรมของการเป็นเจ้าขององค์กร ทำให้สถานที่แห่งนี้กลายเป็นภาพรวมอาหารออร์แกนิกขององค์กร หากพิจารณาเผิน ๆ สิ่งนี้ดูเหมือนจะเป็นผลลัพธ์ที่น่าหวังของการเมืองอาหาร แต่ตราบใดที่ยังคงรักษาองค์กรและตรรกะของระบบอาหารอุตสาหกรรม การตลาดดังกล่าวก็จะขัดแย้งกับการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เน้นอาหารที่มุ่งเน้นไปที่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น ความมั่นคงทางอาหารและสิทธิของคนงาน (Kirwan, 2004; Pollan, 2007)
ขณะที่ ผู้บริโภคชนชั้นกลางและ/หรือผู้คนในโลกสมัยใหม่ที่มีความก้าวหน้าในเทคโนโลยี Foodscape ยังขยายไปสู่พื้นที่ออนไลน์ที่ช่วยให้ให้พวกเขาสั่งอาหารจากคลังสินค้าที่อยู่ห่างไกลผ่านบริการจัดส่งของชำหรือเว็บไซต์ต่าง ๆ ภูมิทัศน์อาหารจึงขยายขอบเขตกว้างไกลเกินกว่านิยมเชิงกายภาพสู่พื้นที่ในโลกดิจิทัล (Greene, 2019)
-4-
กล่าวโดยสรุป แนวคิด Foodscape มีต้นกำเนิดในสาขาภูมิศาสตร์และมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในการศึกษาเกี่ยวกับเมืองและงานสาธารณสุขเพื่ออ้างถึงสภาพแวดล้อมทางอาหารในเมือง ก่อนขยายแนวคิดให้ครอบคลุมถึงการจัดการเรื่องอาหารของสถาบันต่าง ๆ พื้นที่ทางวัฒนธรรมและวาทกรรมที่เป็นสื่อกลางในความสัมพันธ์ของเรากับอาหาร
คงไม่ผิดนัก หากจะกล่าวว่า Foodscape ก็คือภูมิศาสตร์การเมืองเรื่องอาหารที่สะท้อนเรื่องราวอาหารที่ผู้คนเข้าไปสัมพันธ์ในมิติสาธารณสุข พื้นที่ภูมิศาสตร์และพื้นที่ทางสังคม ขณะเดียวการนิยามและให้ความหมายก็มีการปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของเวลา โดยปักหมุดหมายการพัฒนาระบบอาหารให้เกิดความยั่งยืนและนำพาชีวิตผู้บริโภคสู่ภาวะอยู่ดีมีสุข
เอกสารอ้างอิง
FoodShare. (2009). Annual Report 2009. (Accessed June, 17, 2024 http://www.foodshare.net/whoweare-annual-reports.htm).
FoodShare. (2011). Good Food Markets. (Accessed June, 12, 2024 http://www.foodshare.net/animators02.htm).
Greene, C.P. (2019). Foodscapes: Food, Space, and Place in a Global Society. New York :Peter Lang Inc.
Heynen, N. (2005). Justice of eating in the city: The political ecology of urban hunger. in In Th e nature of cities: Urban political ecology and the politics of urban metabolism, edited by N. Heynen, M. Kaika, and E. Swyngedouw, 124-136. London, New York: Routledge.
Hinrichs, C. (2003). Th e practice and politics of food system localization. Journal of Rural Studies 19: 33-45.
Naa Oyo A. Kwate, N.O.A. (2023). White Burgers, Black Cash: Fast Food from Black Exclusion to Exploitation. Minnesota: University of Minnesota Press.
Kirwan, J. (2004). Alternative strategies in the UK agro-food system: Interrogating the alterity of farmers’ markets. Sociologia Ruralis 44: 395-415.
Penker, M. (2006). Mapping and measuring the ecological embeddedness of food supply chains. Geoforum 37: 368-379.
Pollan, M. (2007). The Omnivore's Dilemma: A Natural History of Four Meals. New York: Penguin.
Sedelmeier, T., Kühne, O. and Jenal, C. (2022). Foodscapes (essentials). New York: Springer.
Winson, A. (2013). The Industrial Diet: The Degradation of Food and the Struggle for Healthy. British Columbia: University of British Columbia Press.
Johnston, J. (2014). Foodies: Democracy and Distinction in the Gourmet Foodscape (Cultural Spaces). UK: Routledge.
ผู้เขียน
รศ.ดร. เอกรินทร์ พึ่งประชา
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ป้ายกำกับ Foodscape ภูมิศาสตร์ การเมือง อาหาร รศ.ดร.เอกรินทร์ พึ่งประชา