โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง: สะพานบุญเชื่อมกายเยียวยาใจ ของผู้ป่วยระยะสุดท้าย

 |  วัฒนธรรมสุขภาพ
ผู้เข้าชม : 1096

โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง: สะพานบุญเชื่อมกายเยียวยาใจ ของผู้ป่วยระยะสุดท้าย

           การรักษาอาการป่วย แน่นอนว่าสิ่งแรกที่เรานึกถึงในทางการแพทย์สมัยใหม่คือการรักษาทางกายภาพ เช่น การกินยา ฉีดยา เป็นต้น แต่สิ่งหนึ่งที่ควบคู่ไปกับการรักษาทางกายคือการดูแลจิตใจของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ถูกประเมินในทางการแพทย์แล้วว่าโรคลุกลาม ผู้ป่วยอาจมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน การดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวจึงต้องใช้จิตใจในการรักษาเยียวยาประคับประคองควบคู่ไปกับร่างกายที่กำลังอ่อนล้าลงทุกที

           “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” ภาษิตไทยที่ให้ความสำคัญกับการรักษาเยียวยาจิตใจที่เชื่อว่าจะส่งผลเชื่อมโยงกับอาการทางกาย นำมาสู่การรักษาผู้ป่วยที่หมอ พยาบาล รวมถึงญาติตระหนักดี ผนวกการทำงานระหว่างกระบวนวิธีทางการแพทย์ กับวิธีการทำความเข้าใจประสบการณ์ผู้ป่วยอย่างลึกซึ้งที่ประยุกต์ใช้ความรู้ทางมานุษยวิทยา ภายใต้ “โครงการออกแบบโรงพยาบาลเพื่อการใส่ใจดูแล” ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ได้ริเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2566 เป็นต้นมา โดยมีโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง จังหวัดราชบุรี เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลนำร่อง หนึ่งในรูปธรรมของความใส่ใจที่ว่านั้นคือการออกแบบการบันทึกแบบคู่ขนาน (parallel record) เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้รับฟังและบันทึกเรื่องราว ประสบการณ์ อารมณ์ ความรู้สึกระหว่างผู้ดูแล คนไข้ และหมอพยาบาล ควบคู่กับการบันทึกอาการทางกายในทางการแพทย์


ภายในห้องทำงานของหมอกานต์ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวผู้ดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง
 

ผู้ป่วยระยะประคับประคองที่ยังแข็งแรง และสามารถนัดมาตรวจรักษาในแผนกผู้ป่วยนอกที่โรงพยาบาล


ทีมแพทย์และพยาบาลตรวจเยี่ยมผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างใกล้ชิดถึงบ้าน


บันทึกคู่ขนานกับการดูแลจิตใจ

           โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง มีสถานะโรงพยาบาลชุมชน ปัจจุบันมีขนาด 60 เตียง มีการใช้การบันทึกคู่ขนานในกรณีของผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งทีมดูแลแบบสหวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล แพทย์แผนไทย หรือนักกายภาพบำบัด สามารถร่วมกันบันทึกข้อมูลที่ได้จากการสังเกตและรับฟังเรื่องราวของคนไข้และครอบครัวให้เพื่อนร่วมงานอ่าน เช่น พยาบาลจะเป็นผู้เขียนบันทึกคู่ขนานเพื่อให้แพทย์นำไปใช้ประกอบการรักษา พญ.วรวลัญช์ เมธีสกุลกาญจน์ (หมอกานต์) บอกเล่าในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลและผู้ทำการรักษาผู้ป่วยจากบันทึกคู่ขนานว่า “บันทึกคู่ขนานสามารถสื่อสารให้เราเข้าใจวัตถุประสงค์ของผู้ป่วยและญาติว่าต้องการอะไร กระบวนการรักษาก็จะได้เร็วขึ้น และสามารถตอบสนองความต้องการได้” และจากที่ผู้เขียนได้อ่านบันทึกคู่ขนานหลายกรณี พบการบันทึกที่ระบุกระทั่งว่าในแต่ละวันมีใครมาดูแลผู้ป่วยบ้าง และผู้ป่วยมีความรู้สึกหรือตอบสนองอย่างไร เช่นกรณีหนึ่งบันทึกไว้ว่า

มีหลานชายเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามานอนโรงพยาบาล และผู้ป่วยเริ่มซึมลง ญาติเริ่มทำใจยอมรับการเสียชีวิต และได้ขอให้ผู้ป่วยไม่ต้องทรมาน ถึงเวลา 11:45 น. หลานชายที่ดูแลอยู่ข้างเตียงของผู้ป่วยก็เริ่มมาเรียกพยาบาลว่าให้ไปช่วยดูคุณปู่ที่ดูนิ่งไป พยาบาลรีบเดินไปดูอาการผู้ป่วย ที่เห็นคือผู้ป่วยหยุดหายใจ คลำชีพจรเริ่มเบาลงเรื่อย ๆ จึงหันไปแจ้งหลานว่า “ปู่เค้าใกล้เสียชีวิตแล้ว” หลานก็กระซิบบอกปู่ว่า “ไปสบายนะครับ ไม่ต้องห่วงเรื่องที่บ้าน แล้วคุณปู่จะได้ไม่ต้องเหนื่อยอีกแล้ว” คุณปู่จึงเริ่มกลับมาหายใจครั้งสุดท้าย และจากไปอย่างสงบและหลานชายค่อย ๆ ใช้มือปิดตาของผู้ป่วย..

           เรื่องราวดังกล่าวถูกบันทึกโดยคุณสุภาพรรณ เชื้อประดิษฐ์ พยาบาลที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง ซึ่งรวบรวมมาให้ผู้เขียนได้เห็นถึงกระบวนการเก็บข้อมูลผู้ป่วยว่าการสังเกตการณ์อย่างละเอียดลึกซึ้งเป็นอย่างไร และยังเล่าถึงกรณีต่าง ๆ ที่ต่างกันให้ผู้เขียนฟัง เห็นได้ว่าบันทึกคู่ขนานมีการลงรายละเอียด และมีการสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดระหว่างผู้ป่วย ญาติ และหมอ พยาบาล เห็นถึงอารมณ์ ความรู้สึกและประสบการณ์ร่วม

           “ผู้ป่วยบางคน โดยเฉพาะคนไข้ที่ไม่มีญาติเราดูแลกันเหมือนคนในครอบครัวจนวาระสุดท้ายของชีวิตเขา” พี่วันเพ็ญ นามโชติ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยพยาบาล ดูแลผู้ป่วยติดเตียง และผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างใกล้ชิด กล่าวถึงการทำงานด้วยหัวใจกับคนไข้จนวันสุดท้ายของการมีชีวิตอยู่ “สิ่งหนึ่งที่เขาอยากทำ คือทำบุญให้จิตใจสงบ” พี่วันเพ็ญกล่าว สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ จากรายละเอียดการรักษาเยียวยาผู้ป่วยจึงนำมาสู่กิจกรรม “สะพานบุญ” ที่โรงพยาบาลทำงานร่วมกับวัดและชุมชนอย่างกลมเกลียว


ศาสนา ความเชื่อ สำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย

           “สะพานบุญ” และ “เสบียงบุญ” เป็นโครงการที่โรงพยาบาลทำงานร่วมกับชุมชนและวัด วัดรางม่วงเจริญผล ที่ผู้เขียนได้เข้าไปร่วมพูดคุยและสังเกตการณ์กับพระเจ้าอาวาส เห็นถึงกิจกรรมที่วัดพยายามจะเป็นตัวกลางให้การ “ให้” และ “รับ” สิ่งของอุปโภคบริโภคสำหรับผู้ป่วยยากไร้ ขาดแคลน และไร้ญาติ จากการที่เริ่มดูแลพระในวัดในปี พ.ศ. 2563 แล้วจึงค่อย ๆ ขยายผลออกไปดูแลคนในชุมชนระดับตำบลสู่ระดับอำเภอ

           พระครูสังฆรักษ์วิชัย วิสุทธิสาโร เจ้าอาวาสวัดรางม่วงได้กล่าวว่า “วัดต้องทำงานร่วมกับชุมชน โดยเฉพาะโรงพยาบาล หรือหน่วยงานรัฐอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้คน บางคนไม่มีลูก ไม่มีหลาน บางคนมาอยู่เป็นคนพลัดถิ่น อยู่แล้วก็ไม่มีบ้าน ไม่มีที่อยู่ขาดแคลน..”


สะพานบุญของวัดรางม่วงเจริญผล


           นอกจากการให้ของบริจาคแล้ว สิ่งหนึ่งที่วัดทำร่วมกับโรงพยาบาลคือ กิจกรรมเสบียงบุญ ที่โรงพยาบาลจะมีการนิมนต์พระเพื่อไปรับสังฆทานและเทศนาให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายฟัง เป็นการปลอบประโลมจิตใจของผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้สงบลงจากอาการเจ็บปวดทางกาย เพราะเชื่อว่าหากจิตใจมีสมาธิและเข้มแข็งจะทำให้ผู้ป่วยจากไปได้อย่างสงบ รวมถึงยังเป็นสิ่งที่ช่วยเยียวยาญาติที่กำลังสูญเสียกำลังและอ่อนกำลังกายจากการเฝ้าไข้ที่มีมาอย่างยาวนานสำหรับบางกรณี

           “จากการทำบันทึกคู่ขนาน ทำให้เราเห็นว่าผู้ป่วยต้องการอะไรบ้าง สิ่งหนึ่งที่เขาต้องการคือ ต้องการทำบุญ” สุภาพรรณ เชื้อประดิษฐ์ กล่าว การทำบุญอาจจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่ต้องการทำก่อนจากไปของใครหลายคน รวมถึงผู้ป่วยที่ไร้ญาติด้วย กรณีของคุณตาท่านหนึ่งที่พี่วันเพ็ญดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากไม่มีญาติ โรงพยาบาลก็ได้จัดกิจกรรมให้พระมาเทศนาและให้คุณตาได้ทำบุญก่อนจะเสียชีวิตลงอย่างสงบ และหลังจากเสียชีวิตแล้ว เมื่อไม่มีญาติทางโรงพยาบาลต้องทำงานร่วมกับวัดเพื่อจัดการพิธีศพให้เรียบร้อย


ใจสงบร่างกายก็จะเข้มแข็ง


           “ศาสนาไปเยียวยาหรือไปรักษาผู้ป่วยได้ เพราะคนในวาระสุดท้ายจิตจะว่าง ไม่คิดเรื่องอื่น ช่วงนี้แหละคือช่วงที่จิตใจสงบที่สุด” พระครูสังฆรักษ์วิชัย วิสุทธิสาโร กล่าว

           อย่างไรก็ดีที่อำเภอจอมบึงเป็นชุมชนที่มีความแตกต่าง หลากหลายทางความเชื่อ และศาสนา คนพุทธมีวิถีทางแบบหนึ่ง ส่วนผู้นับถือศาสนาอื่น ๆ ก็มีวิถีทางตามแบบที่ตนเองเชื่อ ผู้เขียนได้ลงสำรวจภายในโรงพยาบาล ยังพบทั้งผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ที่เป็นมุสลิมอยู่บ้าง จากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลคนอื่น ๆ ได้คำตอบว่า ที่โรงพยาบาลต้องมีบุคลากรเตรียมพร้อมสำหรับความแตกต่างหลากหลายนี้ด้วย เพราะจะได้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือข้อปฏิบัติบางอย่างที่มีความเฉพาะทางความเชื่อ


ความหลากหลายของผู้คนในจอมบึง


วาระสุดท้ายของความต่างทางศาสนา


“แม่เป็นพุทธ ลูกเป็นคริสต์ เขาก็สวดมนต์ของเขาเอง และเราก็สวดมนต์ของเราให้เขาฟัง แต่เขาบอกตายแล้วต้องไปเผา”

           คุณป้ากุหลาบ แข็งกิจ อายุ 75 ปี ดูแลแม่อายุ 94 ปี ที่เป็นผู้ป่วยโรคหัวใจรักษาต่อเนื่องมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เดิมคุณแม่เป็นชาวบางแพ เมื่อป่วยและไม่มีคนดูแล จึงส่งตัวเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลราชบุรี และคุณป้ากุหลาบจึงย้ายคุณแม่กลับมาดูแลที่บ้าน กรณีนี้คุณหมอและพยาบาลได้มีการติดตามมาจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) จากนั้นได้มีการดูแล ให้คำแนะนำกันอย่างใกล้ชิดเรื่อยมา จนคุณแม่ของป้ากุหลาบเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2567

           ป้ากุหลาบเล่าให้ฟังว่า เขาพยายามบอกกับแม่ว่า “อยู่ที่นี่มีคนดูแล มีพระเจ้า มีเพื่อนเยอะแยะ โดยเฉพาะบาทหลวงช่วงต้นเดือนจะเข้ามาสวดภาวนาให้ เราก็มีกำลังใจด้วยที่คุณพ่อเจ้าอาวาสไม่ทิ้งเรา” เมื่อคุณแม่ของป้ากุหลาบเสียชีวิตลง ผู้ใหญ่บ้านและทีมผู้นำชุมชนมาช่วยดูแลช่วงหลังความตายนี้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ตนนั้นไม่สามารถจัดการได้ เพราะคุณแม่เป็นพุทธ และตนนับถือศาสนาคริสต์ โชคดีที่มีเพื่อนบ้านดูแลกันอย่างดี ติดต่อไปทางวัดหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดหนองศาลเจ้าจึงรับจัดการเป็นเจ้าภาพดูแลทั้งงานศพและทำบุญร้อยวันให้

           แต่สิ่งหนึ่งที่คุณแม่ตนมักพูดกับตนเสมอว่า “อยากกลับบ้าน อยากกลับไปตายที่บ้าน” แม้รู้ทั้งรู้ว่ากลับบ้านเกิดก็ไม่มีใครดูแล


ติดตามจิตใจญาติหลังการสูญเสีย


ความต้องการสุดท้ายคือบ้าน

           บ้านอาจจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยของหลายคน เพราะมีทั้งความทรงจำ ความผูกพัน ที่ผูกติดทางผัสสะ รูป รส กลิ่น เสียง ที่คุ้นชิน แม้บ้านในความเป็นจริงปัจจุบันอาจจะไม่ได้เป็นภาพที่สวยงามอย่างที่เคยเป็น เช่นกรณีของแม่ป้ากุหลาบ ที่บ้านไม่มีใครอยู่แล้วแต่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายยังโหยหาถิ่นฐาน บ้านเก่า

           จากบันทึกคู่ขนานของผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่พบมาคือความต้องการที่จะกลับไปประคับประคองอาการที่บ้าน พญ.วรวลัญช์ หรือ หมอกานต์ กล่าวว่า “เนื้อหาความรู้สึกของตัวผู้ถามกับคนไข้จำเป็นต้องลงรายละเอียด เพราะเป็นเรื่องการดูแลและความรู้สึกมั่นใจ สุดท้ายแล้วการประคับประคองเป็นเรื่องของญาติ ที่ต้องมีความมั่นใจว่าจะสามารถดูแลคนไข้ที่บ้านได้ โดยที่เขาไม่จำเป็นต้องหยุดงานเพื่อมาอยู่โรงพยาบาล ถ้าอยู่ที่บ้านแล้วจัดการความทุกข์ทรมาน ความเจ็บปวด ความเหนื่อยของคนไข้ได้ คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและญาติก็จะดีขึ้น ญาติสามารถทำงานได้ ดูแลคนอื่นในบ้านได้ด้วย ผู้ป่วยได้อยู่บ้านของตนเอง อยู่กับครอบครัวของตนเองจนวาระสุดท้าย”


ออนไลน์เพื่อใกล้ชิดเมื่อต้องดูแลแบบห่างไกล
 

           ผู้เขียนได้มีโอกาสติดตามทีมแพทย์และพยาบาลไปเยี่ยมไข้ ติดตามอาการของผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่พักรักษาอาการที่บ้าน และได้มีโอกาสพูดคุยกับญาติผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด สิ่งหนึ่งที่พบคือการดูแลรักษาผู้ป่วยแบบประคับประคองอาการที่บ้านนั้น คือความเครียด เป็นสิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นมาจากการห่างหมอ วิตกกังวลถึงอาการผิดปกติทางด้านร่างกายที่ญาติไม่ทราบวิธีการที่จะจัดการเบื้องต้นได้ ทางโรงพยาบาลจึงเริ่มพัฒนาระบบการติดตามอาการออนไลน์ โดยมีการสื่อสารระหว่างญาติของผู้ป่วยกับทีมแพทย์ พยาบาล ที่ประจำการที่โรงพยาบาล หลักการการทำงานของการสื่อสารออนไลน์นี้คือ หากมีอาการผิดปกติ ญาติก็สามารถถ่ายภาพ หรือบันทึกวิดีโอ รวมไปถึงพิมพ์ข้อความสอบถามแพทย์และพยาบาลได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งในส่วนของแพทย์และพยาบาล หากใครสะดวกตอบได้ทันทีก็สามารถตอบโดยไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเป็นหน้าที่ของใคร ช่วงเวลาใด หรือความรู้ทางด้านเทคนิคบางอย่าง หากใครสะดวกให้คำตอบหรือให้คำแนะนำได้ก็สามารถทำได้เลย

           “มีภาวะเครียดที่เวลาเขาผิดปกติจากเดิม แต่มีกลุ่มไลน์ประคับประคอง ช่วยได้เยอะ ลดความเครียด เพราะมีหมอตอบตลอดเวลา” เสียงจากญาติผู้ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้านท่านหนึ่ง เป็นหนึ่งเสียงที่ทำให้เห็นวิธีการดูแลรักษาประคับประคองผู้ป่วยระยะทางไกลสามารถทำได้ที่บ้าน หากสร้างความมั่นใจให้กับญาติผู้ดูแลได้มากพอ

           กลุ่มไลน์นั้นเป็นหนึ่งในวิธีการดูแลที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึงสร้างขึ้นพร้อม ๆ กับโครงการที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้เข้ามาพัฒนาระบบร่วมกัน โดยมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การออกแบบระบบการดูแลที่เชื่อมโยงระหว่างบ้าน ชุมชน และโรงพยาบาลให้เกิดการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคองในระยะไกล หากมีเรื่องฉุกเฉินสามารถติดต่อบุคลากรทางการแพทย์ได้เสมอ

           ทีมแพทย์ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หากญาติสามารถดูแลผู้ป่วยได้ที่บ้าน ถึงเวลามีพยาบาลไปติดตามอาการถึงบ้าน และญาติมารับยาได้ที่โรงพยาบาลจะช่วยลดขั้นตอนการทำงานของทีมแพทย์ได้เยอะมาก รวมถึงยังลดอาการเครียดของญาติ รวมถึงความสะดวกสบายของผู้ป่วยบางคนที่มองว่าบ้านมีความพร้อม และสามารถจัดการได้ดีกว่าการนอนโรงพยาบาล เพราะท้ายสุดจากการอ่านรายงานจดบันทึกคู่ขนาน รวมถึงการสัมภาษณ์ หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “อยากกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน” หรือบ้านของบางคนอาจจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ป่วยและคนเฝ้าไข้ได้มากกว่าโรงพยาบาล เพียงแต่ต้องประคับประคองอาการอย่างมีวินัยตามที่แพทย์ได้แนะนำ

           แต่ก็ใช่ว่า “บ้าน” จะพร้อมสำหรับทุกคน พี่วัญเพ็ญเล่าว่าผู้ป่วยที่ไม่พร้อมจะกลับไปอยู่ที่บ้านก็มีไม่น้อยเช่นกัน ด้วยปัญหาเรื่องปากท้อง เศรษฐกิจ และความพร้อมของญาติที่จะดูแลเยียวยากัน การพักดูแลที่โรงพยาบาลก็เป็นทางออกที่เหมาะสมมากกว่า จึงกลับไปสู่โครงการสะพานบุญ และเสบียงบุญที่เกิดขึ้นนั้นก็เนื่องมาจากการดูแลรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือผู้ป่วยติดเตียงยังต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด และมีค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคค่อนข้างสูง ยิ่งเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยยิ่งต้องการที่พึ่งทั้งทางกายและทางจิตใจ ซึ่งวัดน่าจะเป็นที่พึ่งของชุมชนควบคู่กับบุคลากรที่ทำงานในท้องถิ่น ตราบที่สวัสดิการทางการแพทย์และสาธารณสุขจะมีเสถียรภาพและทั่วถึงอย่างแท้จริง


เรื่องและภาพ : จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์

สัมภาษณ์

พญ.วรวลัญช์ เมธีสกุลกาญจน์

สุภาพรรณ เชื้อประดิษฐ์

พระครูสังฆรักษ์วิชัย วิสุทธิสา

กุหลาบ แข็งกิจ

วันเพ็ญ นามโชติ

มาลี สุดประเสริฐ


 

ป้ายกำกับ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง สะพานบุญ การเยียวยา ผู้ป่วยระยะสุดท้าย จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา