การกลับมาของสารไซคีเดลิก (The Psychedelic Revival)

 |  วัฒนธรรมสุขภาพ
ผู้เข้าชม : 19230

การกลับมาของสารไซคีเดลิก (The Psychedelic Revival)

           ไซคีเดลิก (Psychedelics) เป็นคำที่ถูกบัญญัติขึ้นในปี ค.ศ.1957 โดย Humphry Osmond จิตแพทย์ชาวอังกฤษ เพื่อกล่าวถึงสารกลุ่มหนึ่งที่ออกฤทธิ์หลอนประสาท คำศัพท์ดังกล่าวมีรากมาจากภาษากรีก คือ Psyche หมายถึง จิต (mind) และ delos หมายถึงการปลดเปลื้องหรือการเปิดเผยให้ปรากฏ (manifest) ดังนั้น Psychedilics ในความหมายที่Osmond ต้องการนิยามคือสารที่ทำให้จิตได้รับการปลดปล่อย (mind-manifesting) หรือทำให้จิตปลดเปลื้องจากการพันธนาการและสามารถก้าวข้ามขอบเขตการรับรู้โลกที่คุ้นชินได้ สารกลุ่มนี้ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างเช่น LSD, MDMA, psilocybin, ibogaine, mescaline รวมถึงพืชและเห็ดบางชนิดที่ผลิตสารที่ออกฤทธิ์ในลักษณะใกล้เคียงกันโดยธรรมชาติ โดยในช่วงทศวรรษ 1940-1960 มีการค้นคว้าวิจัยอย่างกว้างขวาง และสารไซคีเดลิกกลายเป็นที่รู้จักทั่วไปในทศวรรษ 1960 จากขบวนการบุปผาชนในสหรัฐอเมริกาที่ต่อต้านการทำสงครามเวียดนาม ซึ่งเติบโตควบคู่ไปกับวัฒนธรรมดนตรีและศิลปะ กระทั่งในท้ายที่สุด สารกลุ่มนี้ได้กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ถูกขึ้นบัญชีให้เป็นสารเสพติดร้ายแรงในช่วงปลายทศวรรษ 1960 ในสมัยรัฐบาลของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Steinhardt & Noorani, 2020; Kubala, 2020)

           อย่างไรก็ดี ในช่วงปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา ข่าวคราวการศึกษาวิจัยและการทดลองใช้สารไซคีเดลิกในการเยียวยารักษาโรค โดยเฉพาะการรักษาโรคทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า การติดสารเสพติด เริ่มกลับมาเป็นที่พูดถึงในวงกว้างอีกครั้ง เช่น การใช้ LSD ปริมาณน้อย (microdosing) หรือการใช้ MDMA ซึ่งเป็นสารประกอบที่พบในยา Ecstasy (ยา E) รักษาภาวะที่จิตใจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์ไม่คาดคิด (Post-traumatic Stress Disorder, PTSD) เป็นต้น ขณะเดียวกัน การแสวงหาวิธีการรักษาแบบดั้งเดิมหรือพิธีกรรมท้องถิ่นที่มีการนำพืชหรือเห็ดมาใช้ก็เริ่มกลับมาเป็นที่ดึงดูดผู้คนภายนอกมากขึ้น จากเดิมที่สิ่งเหล่านี้ถูกใช้กันเฉพาะในกลุ่มบุปผาชนหรือในหมู่นักเที่ยวแดนซ์คลับและเทศกาลดนตรีในทศวรรษ 1980-1990 เท่านั้น แต่ในปัจจุบันกลับมีกลุ่มคนรุ่นใหม่และกลุ่มคนที่สนใจธรรมชาติ การแสวงหาทางจิตวิญญาณ เข้ามาสนใจพิธิกรรมของกลุ่มชนพื้นเมืองอเมริกันที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารไซคีเดลิกจากธรรมชาติ เช่น peyote, ayahuasca, psilocybin mushrooms (Steinhardt & Noorani, 2020; The New York Times, 2023)

           การหวนกลับมาของสารไซคีเดลิกในครั้งนี้นับว่าเป็นกระแสที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของสถาบันการศึกษาวิจัยในสถานศึกษาชั้นนำ เช่น การก่อตั้งศูนย์วิจัยสารไซคีเดลิกเชิงคลินิกเป็นการเฉพาะใน John Hopkin University ประเทศสหรัฐอเมริกาและ Imperial College London ประเทศอังกฤษ ที่ถูกริเริ่มในปี ค.ศ.2019 (Jones, 2019; O’Hare, 2019) ขณะที่ล่าสุดในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ปี ค.ศ.2023 University of California, Berkley และ Harvard University ซึ่งเป็นสองมหาวิทยาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐฯ ก็ได้ริเริ่มโครงการวิจัย “Psychedelics in Society and Culture” เพื่อทำศึกษาตำแหน่งแห่งที่ของสารไซคีเดลิกในหลากหลายแง่มุม ทั้งในเชิงวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และปรัชญา (CBS News, 2023; The Harvard Gazette, 2023) นอกจากนี้ ยังมีกระแสของการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ประสบผลสำเร็จอย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือการถอด psilocybin mushroom หรือที่มักรู้จักกันในชื่อ magic mushroom หรือเห็ดวิเศษ ออกจากการเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และกำหนดวิธีการใช้ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างถูกกฎหมายใน 2 เมืองสำคัญ ได้แก่ เดนเวอร์และโอคแลนด์ ซึ่งทำให้กระแสนี้เกิดขึ้นทั่วไปในพื้นที่อื่น ๆ ของสหรัฐฯ อีกด้วย (Steinhardt & Noorani, 2020) กล่าวได้ว่ากระแสการปลดปล่อยพืชกลุ่มนี้ออกจากการเป็นสิ่งผิดกฎหมายและควบคุมวิธีการใช้ที่เหมาะสม อาจรวมถึงกระแสของการปลดปล่อยกัญชาเช่นเดียวกัน ซึ่งทำให้เกิดทิศทางของการผลิตสารเหล่านี้ในอุตสาหกรรมยาซึ่งเป็นการผลิตเชิงพาณิชย์มากขึ้น

           แน่นอนกว่าการหวนกลับมาของสารไซคีเดลิกไม่ได้จำกัดอยู่ทางการแพทย์และการรักษาโรคเท่านั้น แต่ไซคีเดลิกยังมีมิติความซับซ้อนที่เกี่ยวพันกับแง่มุมทางสังคมวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้งมาตั้งแต่ 50 ปีก่อน การทำความเข้าใจกระแสการกลับมาของสารไซคีเดลิกในยุคปัจจุบันจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรามองเห็นทั้งการตัดขาดและการเชื่อมต่อกันของอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เช่น การประกอบสร้างความหมายใหม่ของสารไซเดลิกในปัจจุบันด้วยกระบวนการที่ทำให้สารไซคีเดลิกเป็นเรื่องทางการแพทย์ (medicalization) ผ่านการค้นคว้าวิจัยที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่องค์ประกอบทางเคมี ฤทธิ์ของยา และเทคนิควิธีการใช้ทางการแพทย์ เหล่านี้ได้สร้างบริบทการใช้และทิศทางการถกเถียงถึงสารเหล่านี้ที่แตกต่างจากเดิม โดยเฉพาะการแสวงหาการใช้ที่ลดฤทธิ์หลอนประสาท เพราะการออกฤทธิ์ในลักษณะดังกล่าวเป็น “ผลข้างเคียง” (side effect) ที่ไม่พึงประสงค์อีกต่อไป ในแง่นี้อาจกล่าวได้ว่ามิติทางศาสนา-จิตวิญญาณที่ถือเป็นสาระสำคัญของสารไซคีเดลิกใน อดีต โดยเฉพาะในกลุ่มวัฒนธรรมต่อต้าน (counterculture) ซึ่งมีแนวโน้มทางอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเสรีนิยมหรือมักจะเป็นฝ่ายซ้ายอาจกำลังถูกทำให้อยู่ชายขอบหรือไม่ และการขยายตัวของการบริโภคเชิงอุตสาหกรรมก็ส่งผลต่อคำถามถึงผลประโยชน์ต่อกลุ่มชนพื้นเมือง อย่างไรก็ดี ในทางตรงข้าม ความสนใจต่อสารไซคีเดลิกครั้งใหม่ก็ทำให้ผู้คนกลับไปแสวงหาวิธีการใช้แบบดั้งเดิมและการทำความเข้าใจวัฒนธรรมของกลุ่มชนพื้นเมือง เกิดกระแสการเดินทางเพื่อไปเข้าร่วมพิธีกรรมการใช้สารไซคีเดลิกธรรมชาติในฐานะที่เป็น “ยา” (medicine) และการสร้างการเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์และสิ่งเหนือธรรมชาติ โดยพืชพรรณเหล่านั้นถูกจัดให้เป็นครูทางปัญญา (wise teacher) (Steinhardt & Noorani, 2020; Kubala, 2020)

           ตัวอย่างของการศึกษาภาคสนามเชิงลึกด้วยวิธีวิจัยเชิงมานุษยวิทยาที่น่าสนใจในกระแสการกลับมาของสารไซคีเดลิก เช่น การศึกษาการเพาะเห็ดวิเศษ หรือ psilocybin mushroom หลังจากเห็ดกลุ่มนี้ถูกถอดออกจากการเป็นสิ่งผิดกฎหมายและอนุญาตให้ใช้ผ่านการควบคุมดูแล ซึ่งกระแสการรณรงค์ดังกล่าวพยายามคัดง้างกับการใช้เชิงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการเน้นแง่มุมของการเข้าถึง (accessibility) พืชที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและการใช้ตามวิถีดั้งเดิม โดยการชี้ว่ากระบวนการสร้างสาร psilocybin ของเห็ดกลุ่มนี้นั้นเกิดขึ้นตามธรรมชาติและไม่สามารถถูกทำให้เป็นทรัพย์สินทางปัญญา (copyright) ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ การรณรงค์ในทิศทางดังกล่าวเป็นการพยายามสร้างความเชื่อมโยงระหว่างความเป็นธรรมชาติ ความเป็นท้องถิ่น ที่ผูกโยงการวิถีการบริโภคสมัยใหม่กับก่อนสมัยใหม่เข้าด้วยกัน เช่นเดียวกับการพยายามที่จะเพาะเห็ดชนิดนี้ ซึ่งมีการทดลองแบบใต้ดินมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ในสหรัฐฯ และค่อย ๆ พัฒนาต่อมาตามลำดับ โดยอาศัยการเพาะกึ่งควบคุมที่ใช้ความรู้และวิธีการสมัยใหม่เข้ากับการปล่อยให้เห็ดเติบโตตามธรรมชาติของพวกมัน วิธีการดังกล่าวที่ทำกันในระดับผู้ปลูกรายย่อยที่เน้นการทำด้วยตัวเอง (Do It Yourself) ซี่งพยายามเพาะด้วยการ “คิดในมุมของเห็ด” ถือเป็นการสร้างพันธมิตรระหว่างมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ และการพร่าเลือนเส้นแบ่งระหว่างธรรมชาติ-วัฒนธรรม ซึ่งเป็นสภาวะลูกผสมที่หันกลับมาวิพากษ์ความเป็นสมัยใหม่เชิงอุตสาหกรรม (Steinhardt, 2020)

           การใช้สารไซคีเดลิกในฐานะที่เป็นการบำบัด (therapy) ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ จากการติดตามผู้ป่วยซึ่งเดินทางข้ามพรมแดนสหรัฐอเมริกาเพื่อไปยังสถานบำบัดยาเสพติดแห่งหนึ่งในประเทศเม็กซิโก ซึ่งนำสารไซคีเดลิกที่เรียกว่า ibogaine ซึ่งสามารถพบในพืชหลายสปีชีส์ แต่มักจะพบในพืชท้องถิ่นในแอฟริกาที่มีชื่อว่า Tabernanthe iboga ซึ่งมักจะใช้แบบพื้นบ้านเพื่อลดอาการอยากแอลกอฮอล์และยาเสพติดชนิดอื่น อย่างไรก็ดี สารไซคีเดลิกชนิดนี้กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1967 แต่ในขณะเดียวกัน พวกมันกลับอยู่ใน “พื้นที่สีเทา” ในเม็กซิโกในฐานะที่เป็นพืชที่ยังไม่ถูกควบคุมอย่างเป็นทางการ จึงไม่ได้มีทั้งสถานะที่ถูกหรือผิดกฎหมาย การใช้เพื่อการรักษาในที่นี้เป็นการใช้ ibogaine ร่วมกับสารไซคีเดลิกอีกชนิดที่เรียกว่า 5-methoxy-N, N-dimethyltryptamine (5-meO-DMT) ซึ่งเป็นสารที่พบในพิษระดับเข้มข้นของกบ Colorado River Toad (Bufo alvarius) ทั้งนี้ จากการติดตามและพูดคุยเชิงลึกกับผู้ป่วยและผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการบำบัดยาเสพติดโดยใช้สารไซคีเดลิกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้พบว่าการทำความเข้าใจ “การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์” (medical tourism) ในปัจจุบันมักจะมองข้ามและยังไม่มีการศึกษาในแง่มุมนี้มากพอ และมักจะสนใจการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และผู้ป่วยในฐานะลูกค้าหรือผู้บริโภคที่สามารถตัดสินใจเลือกบริโภคบริการทางการแพทย์ได้ตามกลไกตลาด ขณะที่ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่ไม่สามารถเรียกได้ว่าการเดินทางของพวกเขาคือการท่องเที่ยว แต่พวกเขาจำเป็นต้อง “เดินทาง” เพื่อแสวงหาทางเลือกในการรักษา สิ่งนี้ได้ย้อนกลับมาตั้งคำถามต่อระบบสาธารณสุขในประเทศบ้านเกิดของพวกเขาว่าเหตุใดจึงไม่มีทางเลือกดังกล่าวให้ผู้ป่วย (Harris, 2020)

           โดยสรุป การกลับมาของสารไซคีเดลิกในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมา หลังจากต้องกลายเป็นสิ่งต้องห้ามหรือสิ่งผิดกฎหมายในหลาย ๆ สังคม โดยเฉพาะในโลกตะวันตก ไม่ได้มีเพียงมิติทางการแพทย์และการรักษาโรคเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่สามารถสะท้อนความซับซ้อนของสังคมร่วมสมัยทั้งในเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม สารไซคีเดลิกและวัฒนธรรรมไซคีเดลิกที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาภายใต้บริบทปัจจุบันจึงเป็นอีกพื้นที่ใหม่ของการศึกษาค้นคว้าทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่มีความน่าสนใจเพื่อทำความเข้าใจอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของสังคมที่สารไซคีเดลิกกำลังเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์อีกครั้ง ซึ่งถึงที่สุดแล้ว ไซคีเดลิกอาจไม่ได้เป็นเพียงวัตถุและวัฒนธรรมกระแสรองอีกต่อไป


บรรณานุกรม

CBS News, 2023. UC Berkeley, Harvard to research influence of psychedelics on society and culture. Retrieved from https://www.cbsnews.com/sanfrancisco/news/uc-berkeley-harvard-to-research-influence-of-psychedelics-on-society-and-culture/

Harris, Shana. 2020. "Traveling for Treatment: Psychedelics and Addiction Care in Mexico." Hot Spots, Fieldsights, July 21. https://culanth.org/fieldsights/traveling-for-treatment-psychedelics-and-addiction-care-in-mexico

Jones, H. 2019. Johns Hopkins launches center for psychedelic research. Retrieved from https://hub.jhu.edu/2019/09/04/hopkins-launches-psychedelic-center/

Kubala, P. 2020. "On the Rehabilitation of Psychedelics as “Medicines”." Hot Spots, Fieldsights, July 21. https://culanth.org/fieldsights/on-the-rehabilitation-of-psychedelics-as-medicines

O’Hare, R. 2019. Imperial launches world’s first Centre for Psychedelics Research. Retrieved from https://www.imperial.ac.uk/news/190994/imperial-launches-worlds-first-centre-psychedelics/

Steinhardt, J, and Noorani, T. 2020. "Introduction: The Psychedelic Revival." Hot Spots, Fieldsights, July 21. https://culanth.org/fieldsights/introduction-the-psychedelic-Revival

Steinhardt, J. 2020. "The Wild and Un/natural Science of Psilocybin Mushrooms in North America." Hot Spots, Fieldsights, July 21. https://culanth.org/fieldsights/the-wild-and-un-natural-science-of-psilocybin-mushrooms-in-north-america

The New York Times, 2023. MDMA Therapy inches closer to approval. Retrieved from https://www.nytimes.com/2023/09/14/health/mdma-ptsd-psychedelics.html

The Harvard Gazette, 2023. Harvard launches new Study of Psychedelics in Society and Culture. Retrieved from https://news.harvard.edu/gazette/story/newsplus/harvard-launches-new-study-of-psychedelics-in-society-and-culture/


ผู้เขียน
ชัชชล อัจนากิตติ
นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ สารไซคีเดลิก The Psychedelic Revival ชัชชล อัจนากิตติ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา