อาชีพ “เพื่อนเที่ยว” และ “ฟิลแฟน”
เพื่อนพาเที่ยวแบบไกด์ส่วนตัว
แอพพลิเคชั่น TakeMe Tour คือรูปแบบธุรกิจด้านการท่องเที่ยวที่เปิดโอกาสให้คนไทยสามารถเป็นผู้ให้บริการนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือเป็นไกด์พานักท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย ผู้สร้างแอพพลิเคชั่นนี้คืออมรเชษฐ์ จินดาอภิรักษ์ นพพล อนุกูลวิทยา และปัญจมพงศ์ เสริมสวัสดิ์ศรี กล่าวว่าจุดเริ่มต้นมาจากความชอบเที่ยวของตัวเอง เมื่อไปยังเมืองต่าง ๆ มักจะให้เพื่อนที่อยู่ในเมืองนั้นพาไปตามแหล่งท่องเที่ยวของเมือง แต่ถ้าไม่มีเพื่อนจะรู้สึกว่าต้องเที่ยวคนเดียวโดยไม่มีคนแนะนำ ทำให้คิดหาวิธีให้คนท้องถิ่นที่รู้จักสถานที่ท่องเที่ยวของตัวเองมาทำงานเป็นไกด์ เนื่องจากเห็นว่าการมีเพื่อนมาเที่ยวจะทำให้รู้จักแง่มุมต่าง ๆ ของสถานที่เหล่านั้นได้ดีกว่า จากความคิดนี้จึงทำให้เกิด TakeMeTour โดยการติดต่อนักเรียนไทยในต่างประเทศให้เป็นคนพาเที่ยว แล้วเชื่อมต่อกับคนไทยที่ต้องการไปเที่ยวในประเทศนั้น ๆ ระยะแรกค่อนข้างยากเพราะคนไทยไม่คุ้นเคยกับการมีคนอื่นพาเที่ยว จนหันมาเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการมาเมืองไทย จึงเริ่มพัฒนาแอพพลิเคชั่นขึ้น คนที่สนใจอยากเป็นไกด์สามารถเข้าไปลงทะเบียนและสร้างแพลตฟอร์มของตนเองเพื่อโฆษณาการพาเที่ยวในพื้นที่ต่าง ๆ รวมทั้งเสนอราคานำเที่ยวได้ตามที่ตนเองต้องการ แอพพลิเคชั่นเพื่อนพาเที่ยวคิดว่าจุดเน้นนี้คือการท่องเที่ยวกับคนท้องถิ่น สัมผัสชีวิตความเป็นไทย (Blognone, 2559; SME in Focus, 2562)
ทั้งนี้ เจ้าของแอพพลิเคชั่นจะทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพและคิดค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวประมาณ 10-30 เปอร์เซ็นต์ การพาเที่ยวส่วนใหญ่จะเป็นเที่ยววันเดียวจบ ในปี พ.ศ.2562 ก่อนจะมีโควิด-19 ระบาด มีผู้ลงทะเบียนเพื่อเป็นไกด์ประมาณ 10,000 กว่าคน และมีเส้นทางท่องเที่ยวประมาณ 400 เส้นทาง กระจายตัว 45 จังหวัด มีนักท่องเที่ยวสนใจเข้ามาจองประมาณวันละ 3-5 เส้นทาง ตัวอย่างเช่น พาไปเที่ยวสนามชกมวยของค่ายบัวขาวและฝึกชกมวยไทย พาไปชิมอาหารที่ถนนเยาวราช พาไปชมทุ่งดอกทานตะวัน เป็นต้น ราคาพาเที่ยวเฉลี่ยนรายละ 3,000 บาท ในปี พ.ศ.2559 ผู้ก่อตั้ง TakeMeTour ได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขัน Start Up รายการ Digital Winners Asia ประเทศเมียนมา ซึ่งถือเป็นการเสนอความคิดเชิงธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและขยายผลในวงกว้างได้ ในปี พ.ศ.2561 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยร่วมกับ TakeMeTour เปิดตัวการท่องเที่ยวเชิงอาหาร หรือ Local Table-Taste Thailand on the Local Table ภายใต้นโยบาย Amazing Thailand Go Local เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยววิถีไทยผ่านเส้นทางอาหารในท้องถิ่น (Brandageonline, 2561)
เมื่อเกิดวิกฤตโรคอุบัติใหม่โควิด-19 ในปี พ.ศ.2563 นักท่องเที่ยวต่างชาติหยุดเดินทางส่งผลประทบต่อการท่องเที่ยวโลก ทำให้ไม่มีการพาเที่ยวในแอพพลิเคชั่น TakeMeTour นำไปสู่การปรับรูปแบบที่เน้นกลุ่มคนไทย มีการพาไปเที่ยวถ่ายรูปในสถานที่ต่าง ๆ พร้อมช่างภาพมืออาชีพและรถตู้ (Brandageonline, 2563) อย่างไรก็ตามการทำงานลักษณะนี้ อาจผิดกฎหมาย อาจเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพ เพราะไกด์ที่พาเที่ยวจะต้องผ่านการอบรมตามหลักสูตรมัคคุเทศก์ที่ทางราชการกำหนด และต้องสอบให้ได้บัตรมัคคุเทศก์ ต้องเป็นคนสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป พูด อ่าน และเขียนภาษาไทยได้เป็นอย่างดี บางคนโต้แย้งว่าอาชีพมัคคเทศก์ต่างกับ “เพื่อนพาเที่ยว” เพราะคนพาเที่ยวแค่ทำหน้าที่แนะนำสถานที่ต่าง ๆ ข้อโต้แย้งระหว่างคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอาจทำให้ตั้งคำถามว่า “เพื่อนพาเที่ยว” กับ “มัคคุเทศก์” มีความหมายและทำหน้าที่เหมือนหรือต่างกันอย่างไร เพื่อนพาเที่ยวเป็นการทำธุรกิจหรือเป็นเพียงผู้ให้ความสนุกสนาน เพื่อนพาเที่ยวถือเป็นไกด์เถื่อนได้หรือไม่ เส้นแบ่งตรงนี้จะชัดเจนหรือพร่าเลือน
คนพาเที่ยวที่ลงทะเบียนในแอพพลิเคชั่น TakeMeTour จะมีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ในหน้าข้อมูลของคนพาเที่ยว หรือ Local Expert จะมีโปรแกรมเที่ยวที่เจ้าของเส้นทางสร้างขึ้นเอง มีวีดิโอแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว พร้อมบอกราคาให้นักท่องเที่ยวทราบ รวมทั้งการอธิบายเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือและไม่มีประวัติการทำผิดกฎหมาย เมื่อสิ้นสุดการเที่ยวตามโปรแกรมแล้ว นักท่องเที่ยวสามารถแสดงความคิดเห็นและให้คะแนนกับผู้พาเที่ยว คะแนนและความเห็นจะเปิดเผยต่อสาธารณะ หัวข้อสำหรับการให้คะแนนคือ (1) ความเป็นมิตร (2) ความรู้เกี่ยวกับสถานที่ และ (3) ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ นักท่องเที่ยวจะให้คะแนนตั้งแต่ 1 ดาวไปจนถึง 5 ดาว จากประสบการณ์ของคนที่เคยทำหน้าที่ “เพื่อนพาเที่ยว” สะท้อนความคิดว่าพวกเขาไม่ได้ทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์ แต่เป็นคนพานักท่องเที่ยวเพียง 1-2 คนไปชมสถานที่ พักผ่อน รับประทานอาหาร เดินตลาด และสัมผัสกับชีวิตผู้คน การพาเที่ยวค่อนข้างผ่อนคลาย อยากพักตรงจุดไหนก็ได้ ไม่มีโปรแกรมที่ตายตัวเหมือนบริษัททัวร์ เพื่อสิ้นสุดการเที่ยวแล้ว ทั้งคนพาเที่ยวและคนชอบเที่ยวอาจนัดพบกันอีก
วงจรเพื่อนเที่ยวคลายเหงา
งานเที่ยวอีกรูปแบบหนึ่งคือ “เพื่อนเที่ยว” ที่ทำหน้าที่เป็นเพื่อนคุย เพื่อนกินข้าว เพื่อนดูหนังฟังเพลง ซึ่งผู้ที่ทำงานนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักศึกษาและคนหนุ่มสาว เนื่องจากเป็นงานง่ายรายได้ดี (ผู้จัดการออนไลน์, 2563) การเป็น “เพื่อนเที่ยว” ในลักษณะนี้ถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเพื่อนเที่ยวแบบมีเซ็กส์ และกลุ่มที่ไม่มีเซ็กส์ อัตราค่าบริการของเพื่อนเที่ยวแบบไม่มีเซ็กส์ประมาณชั่วโมงละ 150-200 บาท (ผู้จัดการออนไลน์, 2563) สิ่งที่เพื่อนเที่ยวต้องชัดเจนกับผู้มาติดต่อคือแจ้งขอบเขตงานและระยะเวลาทำงาน ตัวอย่างเช่น การทำหน้าที่เป็นเพียงเพื่อน หอมแก้มได้แต่ห้ามจูบ ไม่ดื่ม ทานอาหารอย่างเดียว หรือสามารถแตะเนื้อต้องตัวและมีเพศสัมพันธ์ ในแอพพลิเคชั่นทวิตเตอร์ จะพบแฮชแท็คของเพื่อนเที่ยวจำนวนมาก บางครั้งจะใช้คำว่า “รับงาน” คนที่สนใจจะทักไปคุยและตกลงราคา อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากคนนอก จะมองอาชีพเพื่อนเที่ยวเหมือนกับผู้ขายบริการทางเพศ บางคนตั้งข้อสังเกตว่าหากมีการจ่ายเงินมากขึ้นก็อาจทำให้มีเพศสัมพันธ์ได้ บางคนมองว่าการทำงานลักษณะนี้ค่อนข้างเสี่ยง โดยเฉพาะผู้หญิงที่อาจถูกล่วงละเมิดทางเพศและถูกทำร้ายร่างกาย
คนทำงาน “เพื่อนเที่ยว” อาจคล้ายกับคนที่ทำงาน “เอน” (เอนเตอร์เทน) ที่สร้างความสนุกให้กับลูกค้า มีรูปแบบที่หลากหลาย ตั้งแต่เที่ยวคลายเหงา รับจ้างกินข้าว ดื่มเป็นเพื่อน เป็นเพื่อนดูหนัง ไปจนถึงการมีเซ็กส์แบบถึงพริกถึงขิง กรณีที่เป็นเพื่อนกินข้าวจะคิดราคา 3 ชั่วโมง 2,000-3,000 บาท ถ้าลูกค้าต้องการเซ็กส์ด้วย ราคาอาจสูงถึง 20,000 บาท (ไทยรัฐออนไลน์, 2564) ช่องทางสำหรับการหาเพื่อนเที่ยวนอกจากจะโพสต์ส่วนตัวในทวิตเตอร์แล้ว บางคนอาจเข้าไปใช้แอพพลิเคชั่น Youex ซึ่งเปิดตัวในปี พ.ศ.2560 แอพฯ มีลักษณะเป็นทางการและมีการป้องกันมิให้มีการขายบริการทางเพศ ผู้ใช้งานต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี แอพพลิเคชั่นนี้สร้างขึ้นเพื่อให้คนขี้เหงามีเพื่อนคุย จะพบว่าผู้สูงอายุที่รู้สึกโดดเดี่ยวนิยมเข้ามาใช้งานในแอพฯ นี้ (ปณชัย อารีเพิ่มพร, 2561) ค่าบริการของแอพฯ นี้เริ่มขั้นต่ำ 3,000 บาท หรือชั่วโมงละ 500 บาท ไม่เกิน 5 ชั่วโมง มีข้อสังเกตว่าผู้ควบคุมแอพฯ ดังกล่าวจะมั่นใจอย่างไรว่าผู้ให้บริการและลูกค้าจะไม่มีการนัดหมายเพื่อมีเพศสัมพันธ์ ถึงแม้ว่าในระบบจะมีกฎเกณฑ์และข้อห้ามเรื่องการค้าประเวณี แต่เบื้องหลังลูกค้าอาจตกลงกับเพื่อนเที่ยวเพื่อให้ทำมากกว่าการกินข้าว
ลูกค้าของ Youex ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายอายุ 40 ปีขึ้นไป และมีรายได้ดีสามารถจ่ายเงินให้กับเพื่อนเที่ยวในแอพฯ ได้อย่างไม่ลำบาก ขณะที่ผู้ให้บริการส่วนใหญ่จะเป็นหญิงสาวหน้าตาดี หุ่นเหมือนนางแบบหรือพริตตี้ สถานที่นัดพบจะต้องเป็นพื้นที่สาธารณะ เช่น ร้านอาหาร และห้างสรรพสินค้า รวมทั้งมีระบบ GPS ติดตามตัวของเพื่อนเที่ยว(พนักงาน) เพื่อตรวจสอบที่อยู่ของลูกค้า (บุญโชค พานิชศิลป์, 2562) ลูกค้าที่ต้องการเพื่อนเที่ยวส่วนใหญ่จะเป็นคนขี้เหงา มีทุกเพศทุกวัย ถ้าเพื่อนเที่ยวให้บริการดีและน่าประทับใจ ลูกค้าคนเดิมก็จะมาใช้บริการซ้ำ ความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้าและเพื่อนเที่ยวขึ้นอยู่กับนิสัยใจคอและการพูดสื่อสารที่เข้ากันได้ เพื่อนเที่ยวที่ทำให้ลูกค้าประทับใจมักจะได้งานอย่างต่อเนื่อง เรื่องราวในการสนทนาของลูกค้ากับเพื่อนเที่ยวมีตั้งแต่เรื่องส่วนตัว การทำงาน ประสบการณ์ชีวิต รสนิยม ความสนใจในสิ่งต่าง ๆ ถือเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองในการใช้ชีวิต ทำให้เห็นความทุกข์และความสุขของแต่ละคน
เพื่อนเที่ยวในสังคมของแรงงานอารมณ์
ก่อนยุคคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสื่อสารออนไลน์ การหาเพื่อนสามารถไปตามสถานบริการประเภทอาบอบนวด คาราโอเกะ ผับ บาร์ ไนท์คลับ ค็อกเทลเล้านจ์ บาร์โฮสต์ และซ่องโสเภณี เป็นสถานที่ที่ลูกค้าจะต้องเดินทางไปพบกับผู้ให้บริการเพื่อพบตัวจริง เมื่อถูกใจก็จะเรียกมานั่งคุยและจ่ายค่าบริการให้กับเจ้าของกิจการ เมื่อตกลงซื้อบริการทางเพศกับผู้ให้บริการในราคาที่พอใจ ลูกค้าจะพา “เด็ก” ออกไปทานข้าว กินเหล้า เต้นรำ หรือไปนอนค้างคืน การสร้างความสัมพันธ์แบบนี้อาจเรียกว่าเมียเช่า พาร์ทเนอร์ เด็กออฟ เด็กนั่งดริ้ง ซึ่งมีทั้งผู้ชายและผู้หญิง จนถึงปัจจุบัน วิธีการหาเพื่อนแก้เหงา อาศัยเทคโนลยีสื่อสารแบบบดิจิทัล มีการเรียกผู้ให้บริการเป็น “เด็กเอน” “เพื่อนเที่ยว” “เพื่อนทานข้าว” แม้ว่ารูปแบบการติดต่อสื่อสารจะต่างไปจากเดิม แต่ความปรารถนาที่จะมีเพื่อนสำหรับรับฟังเรื่องราวต่าง ๆ ไปจนถึงการแสวงหาความสุขทางเพศยังคงเป็นเรื่องที่สืบเนื่องต่อมา สิ่งที่ต่างไปจากวิธีการหาเพื่อนแบบเดิมก็คือ มีตัวกลางชนิดใหม่ที่เป็นแอพพลิเคชั่นที่นำข้อมูลของผู้คนจำนวนมากมาแลกเปลี่ยน ทำให้เกิดการติดต่อที่สะดวก รวดเร็วและประหยัดเงิน
การศึกษาของ Bandinelli and Gandini (2022) กล่าวว่าเทคโนโลยีสื่อสารเพื่อหาเพื่อนออนไลน์มีความย้อนแย้งในตัวเอง กล่าวคือ แอพพลิเคชั่นเป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นบนกลไกทางธุรกิจและระบบเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ที่ต้องการจัดข้อมูลให้เป็นหมวดหมู่และมีขอบเขตที่ชัดเจนเพื่อให้ผู้รับบริการเลือกสินค้าและบริการตามความต้องการ แต่สินค้าในแอพพิลเคชั่นหาเพื่อนหรือหาคู่ทั้งหลายมีมนุษย์เป็นผู้แลกเปลี่ยนความรู้สึกที่ยากต่อการควบคุมและคาดเดาได้ยากว่าความสัมพันธ์ของลูกค้าและผู้ให้บริการจะดำเนินไปอย่างราบรื่นหรือไม่ ความชัดเจนของแอพพลิเคชั่นจึงเกิดขึ้นท่ามกลางความไม่แน่นอนทางความคิดและความรู้สึกของมนุษย์ ดังนั้น เทคโนโลยีสื่อสารสำหรับการหาเพื่อนและหาคู่จึงเป็นความไม่มั่นคงทางภววิทยา (ontological uncertainty) (Illouz, 2019) นอกจากนั้น ผู้ให้บริการที่ลงทะเบียนในแอพพลิเคชั่นจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้โฆษณาตัวเอง เพื่ออธิบายว่าตนเองมีทักษะ ความสามารถ และคุณสมบัติที่น่ายกย่องอย่างไร ถือเป็นการใช้ตัวตนเป็นทรัพย์สิน ผู้ให้บริการต้องลงทุนปรับเปลี่ยนรูปร่างหน้าตา แต่งกายและแสดงพฤติกรรมที่น่าหลงใหลเพื่อจะทำให้เป็นผู้ถูกเลือก สิ่งนี้ตอกย้ำตรรกะของเสรนิยมใหม่ที่ปัจเจกกลายเป็นผู้ที่ลงทุนกับเนื้อตัวร่างกายของตนเอง (Gandini, 2016)
ผู้ที่ลงทะเบียนเพื่อที่จะเป็นเพื่อนพาเที่ยวและเป็นผู้ให้บริการเป็น “เพื่อนกินข้าว” ไปจนถึงการโพสต์ “รับงาน” หรือ “เพื่อนเที่ยว” ต่างสร้างจุดเด่นให้ตนเองเป็นที่น่าสนใจ ด้วยการบอกรูปร่างหน้าตา ความสามารถ ความต้องการส่วนตัว เงื่อนไขของการให้บริการ รูปภาพใบหน้าของตนเอง เพื่อให้ผู้ใช้บริการหรือลูกค้าเกิดความต้องการและเข้ามานัดหมายเพื่อไปทำงานตามข้อตกลงไว้ การสร้างความประทับใจแรกคือการใช้รูปภาพตัวเองที่ดูดีที่สุด (Ward, 2019) การกำหนดและสร้างอัตลักษณ์ของเพื่อนพาเที่ยวหรือเพื่อนกินข้าวคือกลไกการสร้างตัวตนของผู้ประกอบการ (entrepreneurialised subject) ซึ่งมีความสำคัญมากในการมีชีวิตอยู่ในระบบเศรษฐกิจที่ให้มูลค่ากับอารมณ์และความรู้สึก (Bandinelli, 2020) อาชีพเพื่อนเที่ยวจึงเป็นปรากฎการณ์สังคมที่บ่งบอกถึงแรงงานชนิดใหม่ที่ต้องลงทุนด้วยอารมณ์และความรู้สึกของตนเอง หรือ เป็นแรงงานอารมณ์ (emotional labour) (Bandinelli & Gandini, 2022)
ท่ามกลางการแสดงตัวตนที่น่าหลงใหลของ “เพื่อนเที่ยว” สะท้อนความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีสื่อสารดิจิทัล การหาเพื่อนเที่ยวในแอพพลิเคชั่นที่มีตัวเลือกให้กับคนขี้เหงาและผู้ที่ต้องการหาเพื่อนเที่ยว เพื่อนกินข้าว หรือเพื่อนที่คอยดูแลเอาใจใส่ ทำให้ความหมายของ “เพื่อน” ต่างไปจากเดิม กล่าวคือเพื่อนที่เคยสนิทสนมจากการคบหาเรียนรู้ในระยะยาวผ่านการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยกัน ค่อย ๆ แลกเปลี่ยนความคิดและความรู้สึกต่อกันได้หดสั้นลงเหลือเพียงเข้าไปค้นหาบุคคลในแอพพลิเคชั่น ใช้เวลาไม่นานก็จะได้เจอคนที่คิดว่าสามารถเป็นเพื่อนคุยกันได้ การตัดตอนเวลาของการเรียนรู้ซึ่งกันและกันให้เหลือเพียง 1-2 ชั่วโมง กลายเป็นบรรทัดฐานของการสร้างเพื่อนแบบฉับพลัน เพื่อนที่เกิดจากวิธีการนี้อาจเรียกว่าเป็นการทำให้คนแปลกหน้าสองคนต้องแสดงความเป็นมิตรกันอย่างรวดเร็วเพื่อแลกเปลี่ยนเงินกับความพึงพอใจ เทคโนโลยีเพื่อทำให้คนมีเพื่อนเพียงชั่วพริบตาอาจสะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์ไม่ต้องเสียเวลาเรียนรู้กันต่อไปแล้ว เพราะการเรียนรู้มักจะเกิดขึ้นหลังจากการพบเจอกันครั้งแรก ถ้าเพื่อนพาเที่ยวให้บริการอย่างน่าประทับใจ ลูกค้าก็จะกลับมาใช้งานบ่อย ๆ และจะทำให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์ขึ้นหลังจากนั้น แต่ถ้าเพื่อนเที่ยวไม่ถูกใจลูกค้า หรือต่างฝ่ายรู้สึกไม่พอใจกันและกัน ทั้งสองคนก็จะยุติการติดต่อกันอย่างสิ้นเชิง (Coduto et al., 2020)
ความสัมพันธ์แบบเพื่อนเที่ยว อาจช่วยเยียวยาจิตใจสำหรับคนที่ไม่มีเพื่อนและไม่สามารถแสวงหาเพื่อนได้ในชีวิตประจำวัน เทคโนโลยีสำหรับการหาเพื่อนในสื่อออนไลน์อาจเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคนกลุ่มนี้ อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่คนแปลกหน้าสองคนมาพบกัน สิ่งที่คาดเดาไม่ได้ย่อมเกิดขึ้น ตัวอย่างในสังคมไทย ผู้ให้บริการที่นิยามคนเองเป็นเด็กเอน เพื่อนเที่ยว เพื่อนกินข้าวจะมีการจำกัดขอบเขตความสัมพันธ์ว่าทำสิ่งใดได้หรือไม่ได้ ถ้าลูกค้าละเมิดข้อตกลง ความปั่นป่วนวุ่นวายก็จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความไม่พอใจ ใช้กำลังบังคับ ไปจนถึงการข่มขู่ทำร้าย ดังนั้น ความคาดหวังของทั้งสองฝ่ายจึงเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน อาจจะเป็นได้ทั้งความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องและการสิ้นสุดความสัมพันธ์ ในโลกที่พึ่งพาเทคโนโลยีเพื่อทำให้มนุษย์ได้พูดคุยและพบเจอกัน เรื่องราวปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัวยังคงมีความสำคัญอย่างสูง การแสวงหาเพื่อนเที่ยวยิ่งตอกย้ำว่ามนุษย์ต้องการสัมผัสเนื้อตัวร่างกายและทำกิจกรรมเชิงกายภาพกับคนอื่น เทคโนโลยีอาจเป็นเครื่องมือที่ทำให้การหาเพื่อนง่ายและเร็วขึ้น แต่การกระทำต่อกันทั้งทางกายและใจยังคงจำเป็นอย่างมากในการยืนยันว่าความสัมพันธ์ของ “เพื่อนเที่ยว” จะดำเนินไปอย่างราบรื่นหรือไม่
คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมการแสวงหาเพื่อนจึงต้องใช้เงินซื้อ หรือใช้สินทรัพย์เป็นการแลกเปลี่ยน เพื่อนที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้แบบการแลกเปลี่ยนความคิดและการทำกิจกรรมร่วมกันเป็นสิ่งที่หายากขึ้นหรือไม่ หากพิจารณาจากธุรกิจ “เพื่อนเที่ยว” สิ่งที่ต่างไปจากการหาเพื่อนแบบเดิมคือ เราสามารถเลือกเพื่อนจากรูปร่างหน้าตาที่เราชอบ ซึ่งไม่เหมือนกับเพื่อนในชีวิตจริงที่มีหน้าตาปกติธรรมดา เพื่อนเที่ยวที่อยู่ในแอพพลิเคชั่นมีรูปร่างหน้าที่ตามมาตรฐานความสวยและความหล่อ เป็นบุคคลที่มีบุคลิกภาพดีเหมือนดารานักร้องที่มีชื่อเสียง สังคมปัจจุบันต้องการมีเพื่อนที่หน้าตาดีมีเสน่ห์ทางเพศ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่พบเห็นได้ในวัฒนธรรมบริโภคและธุรกิจความงาม แอพพลิเคชั่นเพื่อนเที่ยวจึงเป็นแหล่งรวมของคนหนุ่มสาวที่หน้าตาดีที่ใช้เรือนร่างเป็นทุนสำหรับการหารายได้ การทำงานเป็นเพื่อนเที่ยวจึงตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจของหนุ่มสาวและตอบปัญหาให้กับคนที่ไม่มีเพื่อนที่อยากอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีหน้าตาดี สิ่งนี้ก่อตัวบนความสัมพันธ์ต่างตอบแทน ฝ่ายหนึ่งได้เงิน อีกฝ่ายหนึ่งได้ความสุขทางใจ (หรือทางกาย) สิ่งสำคัญของผู้ทำงานเป็นเพื่อนเที่ยวคือต้องมีข้อกำหนดและข้อห้ามที่จะไม่มีการล่วงละเมิดทางเพศ ทำให้ความหมายของ “เพื่อนเที่ยว” แยกขาดจากการขายบริการทางเพศ แต่ในสื่อสังคมออนไลน์ เฉดของเพื่อนเที่ยวมีหลายแบบ มีตั้งแต่การเป็นเพื่อนกินข้าวไปจนถึงมีเซ็กส์
ขอบเขตของการเป็นเพื่อนในสังคมปัจจุบัน ปรับเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีสื่อสารดิจิทัล เราแต่ละคนอาจมีเพื่อนประเภทต่าง ๆ หลายลักษณะ ทั้งเพื่อนเรียน เพื่อนเล่น เพื่อนร่วมงาน เพื่อนพี่น้อง เพื่อนสนิท เพื่อนรู้ใจ เพื่อนกิน เพื่อนตาย เพื่อนคุยออนไลน์ และเพื่อนร่วมแก๊งค์ ในกรณี “เพื่อนเที่ยว” ผู้ที่จะเข้ามาอยู่ในวงจรนี้จำเป็นต้องเข้าใจความคาดหวังที่ไม่แน่นอนของสองฝ่าย ซึ่งระหว่างกลางในความสัมพันธ์แบบ “เพื่อนเที่ยว” คือการแลกเปลี่ยนด้วยเงินและความพอใจ สิ่งนี้อาจไปปรากฎอยู่ในความเป็นเพื่อนชนิดอื่น ๆ นอกเหนือจากเงินและความพอใจชั่วคราวแล้ว สิ่งที่เป็น “ความผูกพันทางใจ” จะเกิดขึ้นกับเพื่อนเที่ยวด้วยหรือไม่ การศึกษาทางมานุษยวิทยาชี้ว่าความเป็นเพื่อนและมิตรภาพของมนุษย์ก่อตัวขึ้นบนปฏิสัมพันธ์ในกิจกรรมต่าง ๆ เป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน ทำให้เห็นความทุกข์และความสุขของกันและกัน พัฒนาไปสู่ความเข้าใจและความผูกพันที่แนบแน่น (Stevenson & Lawthom, 2017) ถ้าความเห็กอกเห็นใจเป็นสาระสำคัญของความเป็นเพื่อน ความเห็นอกเห็นใจจากการเป็น “เพื่อนเที่ยว” จะเกิดขึ้นจากการกระทำแบบใด คำถามนี้คือสิ่งที่ผู้ทำงานเป็นเพื่อนเที่ยวและผู้ใช้บริการเพื่อนเที่ยวต้องหาคำตอบจากประสบการณ์ของตัวเอง
เอกสารอ้างอิง
Bandinelli, C. (2020). Social Entrepreneurship and Neoliberalism: Making Money while Doing
Good. London: Rowman and Littlefield International.
Bandinelli, C. & Gandini} A. (2022). Dating Apps: The Uncertainty of Marketised Love.
Cultural Sociology, 16(3), 423–44.
Coduto, K.D., Lee-Won, R.J., & Baek, Y.M. (2020). Swiping for trouble: Problematic dating
application use among psychosocially distraught individuals and the paths to
negative outcomes. Journal of Social and Personal Relationships, 37(1), 212–232.
Gandini} A. (2016). The Reputation Economy: Understanding Knowledge Work in Digital
Society. Basingstoke: Palgrave Macmillan.
Illouz, E. (2019). The End of Love: A Sociology of Negative Relations. Oxford: Oxford
University Press.
Stevenson, A. & Lawthom, R. (2017). How We Know Each Other: Exploring the Bonds of
Friendship Using Friendship Ethnography and Visual Ethnography. Anthrovision, 5.1,
URL: http://journals.openedition.org/anthrovision/2525; DOI:
10.4000/anthrovision.2525
Ward, J. (2019). A Dating App Autoethnography: Presenting Myself as a Researcher and
User. The Qualitative Report, 24(1), Article 4, 130-144.
บุญโชค พานิชศิลป์. (2562). แอปพลิเคชันจ้างคนเที่ยว ธุรกิจพิชิตความเหงาของคนเมืองใหญ่. สืบค้นจาก
https://www.gqthailand.com/culture/movie/article/lonely-less-society เข้าถึงวันที่ 5
กุมภาพันธ์ 2567.
ปณชัย อารีเพิ่มพร. (2561). YOUEX แอปฯ จ้างเพื่อนเที่ยว จ้างกินข้าวของประเทศไทย กับแนวโน้มกระแสนิยม
ธุรกิจจัดหาคู่ในปัจจุบัน. สืบค้นจาก https://thestandard.co/youexapp/ เข้าถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์
2567.
ไทยรัฐออนไลน์. (2564). ฟีลแฟน ทำแทนไม่ได้ ส่องชีวิต อาชีพเพื่อนเที่ยว ช่วย "คนโสด" คลายเหงา. สืบค้นจาก
https://www.thairath.co.th/news/society/2019420 เข้าถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567.
ผู้จัดการออนไลน์. (2563). เจาะเส้นทาง “เพื่อนเที่ยว” อาชีพสุดฮิตเหล่านักศึกษาสายสีเทา งานสบาย-รายได้
เฉียดแสน. สืบค้นจาก https://mgronline.com/live/detail/9630000015017 เข้าถึงวันที่ 5
กุมภาพันธ์ 2563.
Blognone. (2559). สัมภาษณ์ TakeMeTour สตาร์ตอัพสายท่องเที่ยว ตลาดกลางสำหรับหาไกด์ท้องถิ่น. สืบค้น
จาก https://www.blognone.com/node/78746 เข้าถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567.
Brandageonline. (2561). ททท.จับมือเทคมีทัวร์ พลิกโฉมธุรกิจการท่องเที่ยวด้วยแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยว
เชิงอาหาร LocalTable สืบค้นจาก https://www.brandage.com/article/7920 เข้าถึงวันที่ 5
กุมภาพันธ์ 2567.
Brandageonline. (2563). NIA ชู 4 สตาร์ทอัพ รับเทรนด์ท่องเที่ยววิถีใหม่ “กิน-เที่ยว-ปลอดภัย มั่นใจไทย
แลนด์. สืบค้นจาก https://brandage.com/article/20876 เข้าถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567
SME in Focus. (2562). TakeME Tour เพื่อนพาทัวร์ โดนใจต่างชาติ. สืบค้นจาก
https://www.bangkokbanksme.com/en/travel-takeme-tour เข้าถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567.
ผู้เขียน
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ อาชีพ เพื่อนเที่ยว ฟิลแฟน ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ