เพียงภาพลวงหลอกตา: ทัศนวัฒนธรรมกับการปรับแต่งภาพ

 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้เข้าชม : 1092

เพียงภาพลวงหลอกตา: ทัศนวัฒนธรรมกับการปรับแต่งภาพ

           บริษัทซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ Adobe Inc. ประกาศเพิ่มฟังก์ชัน Generative Fills1 ใน Adobe Photoshop โดยสามารถลดเนื้อหาที่ไม่ต้องการ แต่งเติมองค์ประกอบ หรือขยายภาพบางส่วนเพียงป้อนข้อความคำสั่งลงในหน้าต่างของฟังก์ชันนี้2(Di Leva, 2023) ข่าวนี้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงในแวดวงออกแบบสื่อดิจิทัลใน 2 ประเด็นหลัก คือ บทบาทของ AI กับการตัดต่อรูปภาพ (Photograph manipulation) และ AI กับอนาคตของอาชีพนักออกแบบดิจิทัล (Taylor, 2023) แต่หากมองผ่านกรอบทัศนวัฒนธรรม (visual culture) อาจครอบคลุมไปถึงประเด็นสภาวะการมองเห็น (visuality) (Rose & Tolia-Kelly 2012, 1-11) ที่สัมพันธ์กับวัตถุสภาวะของภาพที่ผ่านการปรับแต่ง (materiality of edited digital photo)

ภาพที่ 1 ผลลัพธ์ของการใช้ Generative Fills

ที่มา: https://siliconangle.com/2023/05/23/adobe-introduces-generative-fill-photoshop-firefly-ai-tool/

           หากพิจารณาภาพถ่ายอย่างครบวงจร “การปรับแต่งภาพ” (photo editing) เกิดขึ้นในระยะหลังการผลิต (post-production) นับเป็นกระบวนการสำคัญในการประกอบสร้างภาพแทนเสมือนจริงไม่ต่างจากกระบวนการในระยะการผลิต แวดวงวิชาการแองโกลโฟนมีคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องหลายคำ อาทิ photography manipulation, photography tampering, digital forgery, pictorial falsifications of reality, photomontage, photoshopping เป็นต้น แต่ผมจะเลือกใช้คำว่า photo editing เพื่อสื่อความหมายเชิงกระบวนการ ในทางเทคนิคการปรับแต่งภาพทำได้ผ่านหลายเทคนิคและเครื่องมือ เช่น airbrushing, bleaching, painting, retouching, filtering เป็นต้น (Harrison & Hefner 2014, 134)

           การปรับแต่งภาพถ่ายได้รับความนิยมนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะในพื้นที่ทางการเมืองและสื่อสารมวลชนเพื่อการโน้มน้าวผู้ชม สร้างเรื่องเล่า และการแสดงออกประเด็นทางการเมือง อาจกล่าวได้ว่าการปรับแต่งภาพถ่ายระยะแรกโดยส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง เช่น ภาพตัดต่อประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา Abraham Lincon และนักการเมืองฝ่ายใต้ยุคสงครามกลางเมืองชื่อ John Calhoun (ภาพที่ 2) หรือเพื่อการสร้างโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) เช่น ภาพถ่ายของประธานาธิบดีรัสเซีย Joseph Stalin เพื่อส่งเสริมบุคลิกผู้นำและการสร้างลัทธิบูชาตัวบุคคล (cult of personality) (ภาพที่ 3) และในบางครั้งก็ถูกใช้เพื่อสร้างเรื่องเล่าทางการเมือง เช่น ภาพเหตุการณ์มหาสงครามในเบลเยี่ยมของ Frank Hurley เป็นต้น (ภาพที่ 4) (King 1997; Rotman 2008, 96-97; Sharma & Sharma 2017)

ภาพที่ 2 ภาพตัดต่อระหว่าง Abraham Lincon และ John Calhoun

ที่มา: Michael Walter (2017)

ภาพที่ 3 ภาพถ่ายของประธานาธิบดีรัสเซีย Joseph Stalin

ที่มา: Rare Historical Photos (2021)

ภาพที่ 4 An episode after the Battle of Zonnebeke

ที่มา: Frank Hurley/State Library of New South Wales

           การปรับแต่งภาพปรากฏทั่วไปในสิ่งพิมพ์ประเภทต่าง ๆ เรื่อยมาจนถึงยุคดิจิทัลที่พัฒนาการของเทคโนโลยีการถ่ายภาพเติบโตอย่างรวดเร็วรวมถึงฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เกี่ยวกับการปรับแต่งภาพ เช่น Quantel Paintbox, โปรแกรม Adobe Photoshop, GIMP เป็นต้น ซึ่งได้รับความนิยมในธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์(โดยเฉพาะนิตยสาร)3 และโฆษณาเพื่อนำเสนอและส่งเสริมการขายสินค้าและบริการในอุตสาหกรรมแฟชัน สุขภาพ ความบันเทิง และความสวยความงาม การปรับแต่งภาพกลายเป็นเครื่องมือเสริมรูปลักษณ์ (appearance-enhancing devices) ขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือสร้างภาพอุดมคติ (idealness) ที่สัมพันธ์กับสินค้าและบริการ โดยเฉพาะภาพอุดมคติของเรือนร่างและความงาม

           นอกจากความเปลี่ยนแปลงของอุปกรณ์ถ่ายภาพและภาพถ่ายแล้วนั้น4 ภาวะดิจิทัลได้เปลี่ยนการปรับแต่งภาพไปสู่โลกเสมือน กล่าวคือ จากปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพระหว่างมนุษย์กับภาพถ่ายไปสู่ปฏิสัมพันธ์บนพื้นที่ดิจิทัลโดยมีตัวกลางคือฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ภาพที่ปรับแต่งจะถูกบันทึกในพื้นที่จัดเก็บข้อมูลของเครื่องคอมพิวเตอร์นั้น (Mäenpää & Seppänen 2010) ในเชิงเทคนิค สภาวะดิจิทัลได้ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการถ่ายภาพอย่างครบวงจรตั้งแต่ระยะก่อนไปจนถึงหลังการผลิต (digitalization of post-production) หรือหากมองเจาะไปในบริบทอุตสาหกรรมด้านร่างกายและความงาม ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีได้ปรับเปลี่ยนปฏิบัติการเสริมรูปลักษณ์ให้กลายเป็นปฏิบัติการแบบดิจิทัล (digital practices) การทาหน้า ทาปาก ลบเหงื่อ แต่งผม หรือใช้คอร์เซ็ตเพื่อกำหนดรูปร่างถูกลดทอนความซับซ้อนให้เหลือเพียงการทำงานผ่านเครื่องมือไม่กี่ชิ้น มากไปกว่านั้นซอฟต์แวร์ยังสามารถลบริ้วรอย ฝ้า กระ รอยสิว หรือวัตถุอันไม่พึงปรารถนาต่าง ๆ ที่ในโลกของความเป็นจริงจำเป็นต้องใช้ “เวลา” กว่าวัตถุเหล่านี้จะหายไปได้ Kristen Harrison & Veronica Hefner (2014) มองการปรับแต่งภาพเป็นเครื่องมือประกอบสร้างอุดมคติ (idealness manufacturer) ซึ่งสร้างผลลัพธ์ที่ไม่สามารถกระทำได้ด้วยวิธีธรรมชาติ เช่นเดียวกับ Jenni Mäenpää & Janne Seppänen (2010) ที่มองการปรับแต่งภาพเปรียบเสมือน “พิธีกรรมเชิงกลยุทธ์” (strategic ritual)

ภาพที่ 5 ตัวอย่างแอปพลิเคชัน Meitu

ที่มา: https://news.yahoo.com/chinese-beauty-app-meitu-bought-052134031.html

           ควรกล่าวว่าการปรับแต่งภาพถ่ายในฐานะปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับภาพถ่ายก็แตกต่างกันไปตามประเภทของฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ หรือแม้กระทั่งทักษะการใช้งานฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของมนุษย์คนนั้นด้วย ในวิทยานิพนธ์ของAaron D. Knochel (2011) ที่ศึกษาโปรแกรม Adobe Photoshop แสดงให้เห็นว่าการปรับแต่งภาพด้วยโปรแกรมคือการแสดงร่วมกัน (collaborative performance) ระหว่างผู้ใช้งาน ซอฟต์แวร์ (Photoshop) ระบบประมวลผลของคอมพิวเตอร์ และฮาร์ดแวร์5 ข้อสังเกตนี้สามารถนำมาใช้ศึกษาพลวัตรความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยี หมายความว่า แอปพลิเคชันสำหรับการปรับแต่งภาพบนสมาร์ทโฟน ตัวอย่างเช่น Meitu, FaceApp, Snapseed เป็นต้น ก็อาจสะท้อนรูปแบบความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ภาพถ่าย ซอฟต์แวร์ และอุปกรณ์ที่แตกต่างกับการใช้งานโปรแกรมบนคอมพิวเตอร์ หรือฟังก์ชัน Generative fills ที่อ้างถึงในช่วงต้นนั้น ก็ได้เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการปรับแต่งภาพจากเดิมที่มนุษย์ดำเนินการผ่านอุปกรณ์ภายในโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันปรับแต่งภาพ ไปสู่การใช้ระบบ text inputs เพื่อให้ระบบคอมพิวเตอร์ประมวลผลและปรับแต่งภาพตามคำสั่งข้อความนั้น เป็นต้น

ภาพที่ 6 ตัวอย่างการใช้งานฟังก์ชัน Generative Fills ใน Adobe Photoshop

ที่มา: https://digitalcameraworld.com/news/adobe-integrates-fireflys-generative-ai-with-photoshop

           Hany Farid (2009), Jeffrey T. Hancock & Catalina L. Toma (2009) และ Hany Farida & Mary J. Bravo (2010) ตั้งข้อสังเกตในแนวทางใกล้เคียงกันว่า แม้เทคโนโลยีการแต่งภาพจะถูกทำให้เป็นดิจิทัลในช่วงทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา แต่ก็ยังจำกัดเฉพาะคนที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะ แอปพลิเคชันปรับแต่งภาพบนสมาร์ทโฟนคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้วัฒนธรรมภาพถ่ายเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง เพราะทำให้การปรับแต่งภาพเป็นเรื่องธรรมดา (commonplace) ไม่มีความยุ่งยากซับซ้อน สามารถเข้าถึงผู้คนได้มากยิ่งขึ้น และเป็นสิ่งที่ปัจเจกแต่ละคนสามารถกระทำได้ (self-editing) สำคัญที่สุดคือการร่นระยะ “เวลา” ของการปรับแต่งภาพให้สั้นกว่าทั้งในทางกายภาพและที่โปรแกรมคอมพิวเตอร์เคยทำได้ อย่างไรก็ตาม ก็ควรพิจารณาแอปพลิเคชันปรับแต่งภาพว่าเป็นสินค้าและบริการประเภทหนึ่งที่มีการซื้อขาย ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะสามารถเข้าถึงเครื่องมือปรับแต่งภาพเหล่านั้นได้โดยอิสระ ผู้ใช้อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายกับ license key ของซอฟต์แวร์นั้น หรือค่าบริการรายเดือนของโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันเหล่านั้น เพื่อสามารถเข้าถึงเครื่องมือเฉพาะได้

           นอกจากประเด็นด้านวัตถุสภาวะแล้ว นักวิชาการด้านวารสารศาสตร์หรือวัฒนธรรมศึกษาพยายามถกเถียงเกี่ยวกับมิติทางสังคมวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับภาพเหล่านั้น โดยเฉพาะในประเด็นด้านวัตถุภาวะวิสัย (objectivity) ความถูกต้องน่าเชื่อถือ (authenticity) และความเป็นจริง (truthfulness) (Mäenpää & Seppänen, op.cit., 4) ในประเด็นสุดท้ายนั้น Edwin Martin (1991) ตั้งข้อสังเกตว่าการปรับแต่งภาพทำให้เราหลงเข้าใจว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านจากระยะธรรมชาติตามความจริง (natural/truthful state) ที่วัตถุภายในภาพอยู่ในสถานะไม่ปลอม (unfalsified) ไปสู่ระยะใหม่ที่ไม่เป็นธรรมชาติหรือไม่จริง (unnatural/untruthful state) แต่แท้จริงการปรับแต่งภาพคือการปรับเปลี่ยนเชิงมาตรฐานจากสิ่งที่ยอมรับได้ (accepted standard) ไปสู่สภาวะใหม่ที่ต่างไปจากมาตรฐานเดิม การปรับแต่งภาพจึงเปรียบเสมือนสนามประลองปฏิบัติการปรับเปลี่ยนมาตรฐาน (arena of standard processing practice) ซึ่งกำหนดโดยวัตถุสภาวะ(ของทั้งกล้องถ่ายภาพ, ภาพถ่าย, ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์สำหรับประมวลผล) รวมถึงบริบทของปฏิบัติการนั้น การปรับแต่งภาพจึงไม่ได้เป็นการปรับเปลี่ยนความจริง แต่เป็นการจัดการกับภาพแทนความจริง (representation of truth) ซึ่งทำให้เกิดเรื่องเล่าหรือการนำเสนอที่เปลี่ยนวิถีการรับรู้ “ความจริง”

           อย่างไรก็ตาม การปรับแต่งภาพก็เป็นประเด็นทางวิชาการที่ยังมีช่องว่างทางการศึกษาอีกจำนวนมาก ที่ผ่านมามีงานวิชาการด้านวารศาสตร์ศาสตร์และสื่อศึกษามุ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการปรับแต่งภาพกับจริยธรรมสื่อ (e.g., Martin 1991; Coleman 2007; Mäenpää & Seppänen 2010; Mäenpää 2014; Solaroli 2015) โดยมุ่งเป้าไปที่จริยธรรมการนำเสนอข่าวสาร6  ขณะเดียวกันในวงวิชาการด้านวัฒนธรรมศึกษาที่สนใจวัฒนธรรมการบริโภคหรือวัฒนธรรมดิจิทัลก็นิยมศึกษาทัศนคติและพฤติกรรมของผู้ใช้งานที่สัมพันธ์กับการปรับแต่งรูป (e.g., Harrison & Hefner 2014; McLean et al. 2015; Lee & Lee 2021; McGovern et al. 2022) เช่น การซึมซับความคิด (internalize) ความพึงพอใจ ([self-]satisfaction) (โดยเฉพาะด้านเรือนร่างและใบหน้า) และการรับรู้ ([self-]consciousness) การศึกษาปฏิบัติการปรับแต่งภาพในโลกดิจิทัล หรืองานศึกษาเชิงวัตถุสภาวะและความสัมพันธ์ภายใต้การปรับแต่งภาพมีอยู่อย่างจำกัด7 การศึกษาเชิงปรัชญาและจริยศาสตร์ก็เป็นหนึ่งในแนวทางที่จะทำให้เห็นการปรับแต่งภาพได้ครอบคลุมรอบด้านมากขึ้น


รายการอ้างอิง

Coleman, S. E. (2007). Digital Photo Manipulation: A Descriptive Analysis of Codes of Ethics and Ethical Decisions of Photo Editors [PhD Dissertation, University of Southern Mississippi]. Long Beach, Mississippi: University of Southern Mississippi.

Dotson, K. (2023, May 23). Adobe introduces ‘generative fill’ to Photoshop with its Firefly AI tool. SiliconAngle, https://siliconangle.com/2023/05/23/adobe-introduces-generative-fill-photoshop-firefly-ai-tool/.

Farid, H. (2009). Seeing is not believing. IEEE Spectrum, 46(8), 44-51.

Farid, H. & Bravo, M. J. (2010). Image Forensic Analyses that Elude the Human Visual System. Proc. SPIE 7541, Media Forensics and Security II, 754106.

Hancock, J. T. & Toma, C. L. (2009). Putting Your Best Face Forward: The Accuracy of Online Dating Photographs. Journal of Communication, 59(2), 367-386.

Harrison, K., & Hefner, V. (2014). Virtually Perfect: Image Retouching and Adolescent Body Image. Media Psychology, 17(2), 134–153.

King, D. (1997). The Commissar vanishes: The falsification of photographs and art in Stalin’s Russia. New York: Henry Holt.

Lee, M. & Lee, H. W. (2021). Social media photo activity, internalization, appearance comparison, and body satisfaction: The moderating role of photo-editing behavior. Computers in Human Behavior, 114, https://doi.org/10.1016/j.chb.2020.106579.

Mäenpää, J. (2014). Rethinking Photojournalism: Changing Work Practices and Professionalism of Photojournalists in Digital Age. Nordicom Review, 35(2), 91-104.

Mäenpää, J. & Seppänen, J. (2010). Imaginary Darkroom: Digital photo editing as a strategic ritual. Journalism Practice, 4(4), 454-475.

Martin, E. (1991). On Photographic Manipulation. Journal of Mass Media Ethics: Exploring Questions of Media Morality, 6(3), 156-163.

McGovern, O., Collins, R. & Dunne, S. (2022). The associations between photo-editing and body concerns among females: A systematic review. Body Image, 43, 504-517.

McLean, S. A., Paxton, S. J., Wertheim, E. H. & Masters, J. (2015). Photoshopping the selfie: Self photo editing and photo investment are associated with body dissatisfaction in adolescent girls. International Journal of Eating Disorders, 48(8), 1132-1140.

Rose, G. & Tolia-Kelly, D. P. (2012). Visuality/Materiality: Introducing a Manifesto for Practice. In G. Rose & D. P. Tolia-Kelly (Eds.). Visuality/Materiality: Images, Objects and Practices (1-11). Surrey, England: Ashgate.

Rotman, B. (2008). Becoming Beside Ourselves: The Alphabet, Ghosts, and Distributed Human Being. Durham, North Carolina: Duke University Press.

Sharma, J. & Sharma, R. (2017). Analysis of Key Photo Manipulation Cases and their Impact on Photography. The IISU-JOA Journal of Arts, 6(1), 88-99.

Solaroli, M. (2015). Toward A New Visual Culture Of The News: Professional Photojournalism, Digital Post-production, and the Symbolic Struggle for Distinction. Digital Journalism, 3(4), 513-532.

Taylor, J. (2023, May 23). Adobe to integrate AI into Photoshop amid fears of job losses and mass faking of images. The Guardian, https://www.theguardian.com/
technology/2023/may/23/adobe-to-integrate-ai-into-photoshop-amid-fears-of-job-losses-and-mass-faking-of-images
.


1  Generative Fills เป็นส่วนหนึ่งของโมเดล Adobe Firefly Generative AI ของ Adobe

2  หากมองภาพถ่ายดิจิทัลที่ผ่านการตัดต่อในเชิงวัตถุสภาวะจะพบความต่างของการปรับแต่งภาพในฐานะการแสดง (performance) กล่าวคือ ในอดีตนักออกแบบจะใช้เครื่องมือต่าง ๆ ภายในโปรแกรมปรับแต่งภาพผ่านจัดการด้วยตนเอง ขณะที่รูปภาพที่ผ่านการ Generative Fills เกิดจากการที่นักออกแบบป้อนข้อมูลคำสั่ง (text inputs) ลงในหน้าต่างของฟังก์ชัน ระบบจะประมวลข้อความคำสั่งเหล่านั้นให้กลายเป็นผลลัพธ์ และภาพถ่ายส่วนขยายก็ประมวลมาจากคลังข้อมูลภาพขนาดใหญ่ นั่นคือ Adobe Stock Images

3  กรณีที่ถูกอ้างถึงบ่อย คือ ปกนิตยสาร National Geographic ฉบับพีระมิดในประเทศอียิปต์ของ Gordon Gahan หรือภาพปกนิตยสาร TV Guide ฉบับ Oprah Winfrey ที่มีการนำส่วนหัวของเธอไปตัดต่อกับเรือนร่างของนักแสดง Ann-Margret เป็นต้น

4  แม้นักประวัติศาสตร์พยายามเสนอความเปลี่ยนแปลงเชิงวัตถุสภาวะของภาพถ่ายจากฟิล์มกระจกไปสู่ฟิล์มเนกาทีฟและไฟล์ดิจิทัล แต่ผมเห็นว่าจุดเปลี่ยนเชิงวัตถุภาวะที่สำคัญเกิดขึ้นในช่วงรอยต่อระหว่างฟิล์มเนกาทีฟสู่ไฟล์ดิจิทัล ภาพถ่ายได้กลายสภาพจากวัตถุทางกายภาพไปสู่ไฟล์ดิจิทัลซึ่งไม่อาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (invisibility) จับต้องไม่ได้ (intangibility) และปรากฏอยู่ในในลักษณะไม่ปรากฏ(ในเชิงกายภาพ) (presence of absence) (Fowles 2010) และต้องกระทำผ่านสื่อกลาง (device) เท่านั้น

5  งานวิจัยชิ้นนี้ใช้กรอบทฤษฎีเครือข่ายผู้กระทำการ (Actor-network theory: ANT) ในการศึกษา เขาพิจารณา Adobe Photoshop เป็นภววิทยาสังคมรูปแบบหนึ่ง (Photoshop as social ontologies) ที่มีปฏิสัมพันธ์ของตัวแสดงที่หลากหลายและเชื่อมโยงต่อกัน รวมถึงการศึกษาโปรแกรมผ่านแนวคิด human-technological hybrids ที่ผู้ศึกษาเน้นย้ำตลอดงานวิจัย

6  อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่าเรื่องนี้ค่อนข้างเป็นหัวข้อใหญ่ที่ต้องถกเถียงร่วมกันในหลากหลายแนวคิดทฤษฎีไม่ว่าจะเป็นแนวคิดการสื่อสาร (communication) สังคมหลังความจริง (post-truth society) สภาวะการมองเห็น (visuality) การอ่านภาพ (visual literacy) หรือการรู้เท่าทันสื่อ (media literacy) เป็นต้น จึงไม่ได้นำเสนอข้อถกเถียงสำคัญในบทความชิ้นนี้

7  จากการค้นคว้าของผมมีเพียงงานวิจัยของ Knochel 2011 เท่านั้น


ผู้เขียน
นิฌามิล หะยีซะ
นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ทัศนวัฒนธรรม การปรับแต่งภาพ นิฌามิล หะยีซะ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share