วิพากษ์การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก

 |  รัฐ และวัฒนธรรมอำนาจ
ผู้เข้าชม : 3136

วิพากษ์การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก

มหาวิทยาลัยกับการแข่งขัน

           ปัจจุบันสถาบันที่สร้างเกณฑ์เพื่อจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกมี 3 แห่งที่สำคัญ คือ (1) Academic Ranking of World Universities ของมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง (2) World University Rankings ของ Times Higher Education Supplement (3) Newsweek Global Universities Ranking การจัดอันดับของมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียงทงมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมมหาวิทยาลัยในประเทศจีนซึ่งสร้างเกณ์เรื่องการตีพิมพ์ผลงานวิชาการ การมีศิษย์เก่าที่ได้รับรางวัลโนเบลและจำนวนงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ แต่จะไม่นำคุณภาพในการเรียนการสอนมาเป็นเกณฑ์ ส่วนการจัดอันดับของ Times Higher Education Supplement จะเป็นการสอบถามความคิดเห็นของศิษย์เก่า จำนวนการอ้างอิงผลงานวิชาการ สัดส่วนผู้สอนต่อจำนวนผู้เรียน จำนวนผู้สอนและผู้เรียนที่เป็นชาวต่างชาติ ในขณะที่การจัดอันดับของ Newsweek ใช้เกณฑ์จำนวนผลงานตีพิมพ์ในวารสารที่มีชื่อ เช่น Nature and Science (Thakur, 2007) นอกจากนั้น ยังมีหน่วยงานที่จัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยเน้นจำนวนการเผยแพร่และเข้าถึงผลงานผ่านเว็บไซต์ เช่น G-factor International University Ranking, Webometrics Ranking of World Universities และ 4 International Colleges & Universities

           การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก (global university rankings) สะท้อนให้เห็นโครงสร้างอำนาจที่ดำรงอยู่ในระบบการศึกษาระดับสูงของหลายประเทศ และยังทำให้ระบบสิทธิพิเศษได้รับการยอมรับและเป็นบรรทัดฐานที่ปราศจากการตั้งคำถาม (Pusser & Marginson, 2013) สิ่งที่เกิดขึ้นจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยก็คือ ความไม่เท่ากันของการได้รับการสนับสนุนงบประมาณ การใช้ทรัพยากร การมีบทบาทในการกำหนดนโยบายด้านการศึกษา และการไม่เท่าเทียมกันของมหาวิทยาลัย เมื่อประเทศต่าง ๆ พยายามดิ้นรนเพื่อไปให้ถึงเกณฑ์ของการจัดอันดับที่ดีขึ้น ทำให้เกิดการเปรียบเทียบว่าประเทศไหนมีมหาวิทยาลัยอันดับโลกมากว่ากัน และในประเทศก็จะมีการแข่งขันและโฆษณาว่ามหาวิทยาลัยของตนมีอันดับที่เหนือกว่ามหาวิทยาลัยอื่น กฎเกณฑ์ของการจัดอันดับยังทำให้เกิดการสร้างเงื่อนไขที่ยุ่งยากซับซ้อนซึ่งผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะนำมาเป็นตัวกำหนดว่าบุคลากรของตนจะต้องผลิตงานแบบไหนเมื่อไหร่เพื่อทำให้ได้ตามเกณฑ์ขององค์กรที่เข้ามาจัดอันดับ

           Marginson (2011) และ Pusser (2011) กล่าวว่าการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกทำให้เกิดการแข่งขันระดับประเทศและระหว่างประเทศ รัฐบาล สถาบันการศึกษาระดับสูง และองค์กรภาคสังคมจะแสดงบทบาทที่เปลี่ยนไป สิ่งสำคัญคือ องค์กรที่จัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกเป็นองค์กรเอกชน (non-state actors) ที่มิได้อยู่ใต้การควบคุมของรัฐ แต่มีอิทธิพลต่อการจัดระเบียบสถาบันการศึกษาของรัฐที่ใช้การจัดอันดับเป็นเครื่องบ่งบอกว่าคุณภาพการศึกษาของประเทศต่าง ๆ เป็นอย่างไร ในการศึกษาของ Hammond (2004) พบว่าช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา การวิจัยทางการศึกษามักจะใช้กรอบคิดหน้าที่นิยม ใช้กระบวนทัศน์ปฏิฐานนิยมและทฤษฎีการเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผล (rational choice theory) ส่งผลให้ความเข้าใจต่อระบบการศึกษาเป็นการประเมินจากสถิติ ตัวเลข และจำนวนผลงานที่บ่งชี้ถึงระดับคะแนนในการแข่งขัน มากกว่าจะเข้าใจคุณภาพและประสบการณ์ทางสังคมของผู้เรียนและผู้สอน

           นอกจากนั้น อิทธิพลจากแนวคิดสถาบันนิยมแนวใหม่ (neo-institutionalism) และการจัดการนิยมแนวใหม่ (new-managerialism) ถูกนำมาใช้เป็นกรอบในการประเมินสถาบันการศึกษาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ทำให้การประเมินมหาวิทยาลัยวางอยู่บนหลักคิดเรื่องผลสัมฤทธิ์ และมาตรฐานที่วัดได้ โดยให้บุคลากรทางการศึกษาแบกรับภาระเหล่านี้ไว้ (Clark, 1993; Maassen, 2003) การศึกษาของ de Sousa Santos (2006) ชี้ให้เห็นความรู้ในยุคทุนนิยมถูกทำให้เป็นสินค้า หลักสูตรในสาขาวิชาต่าง ๆ มุ่งตอบสนองการทำงานในภาคธุรกิจและการค้าขาย ดังนั้นในระบอบเสรีนิยมใหม่ การเรียนในมหาวิทยาลัยจะเน้นวิชาที่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ โดยมองผู้เรียนเป็นกลไกของตลาดแรงงานและเป็นกลไกที่สร้างผลกำไรให้กับธุรกิจ Pusser & Marginson (2013) กล่าวว่ามหาวิทยาลัยเปรียบเป็นสถาบันเชิงการเมืองที่สร้างกฎระเบียบและข้อบังคับเพื่อใช้ควบคุมบุคลากรให้ปฏิบัติตาม ส่วน Kaul (2008) อธิบายว่ารัฐใช้มหาวิทยาลัยเป็นตัวชี้วัดของอำนาจ โดยสร้างเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้มหาวิทยาลัยใช้เป็นมาตรฐานในการทำงาน มหาวิทยาลัยจึงเป็นองค์กรที่จรรโลงและสืบทอดระบอบอำนาจรัฐ


ระบอบอำนาจของการจัดอันดับ

           Gramci (1971) เคยอธิบายว่ารัฐคือสถาบันเชิงอำนาจที่ชี้นำทางสังคม กลุ่มอำนาจต่าง ๆ ที่เข้ามามีบทบาทในหน่วยงานของรัฐต่างพยายามแข่งขันเพื่อสร้างกฎระเบียบและบรรทัดฐานเพื่อทำให้พลเมืองเชื่อฟังและปฏิบัติตาม ในกรณีของสถาบันการศึกษาระดับสูง รัฐจะเข้ามาควบคุมเพื่อให้รัฐสามารถใช้ประโยชน์จากมหาวิทยาลัยซึ่งต้องผลิตบัณฑิตให้เป็นแรงงานและเป็นผู้สนับสนุนกลไกระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและพัฒนาสังคมให้ทันสมัย ก้าวหน้า มีความเจริญทางวัตถุและเทคโนโลยีด้วยความรู้วิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นตรรกะของระบบเหตุผลนิยม มหาวิทยาลัยจึงกลายเป็นสถาบันที่ชนชั้นปกครองเข้ามาบริหารจัดการและสร้างมาตรฐานเพื่อคัดกรองและประเมินผล โดยมุ่งหวังให้เป็นองค์กรที่สร้างปัญญาชนที่เข้าไปทำงานในระบบ ส่งผลให้เกิดการแข่งขันของผู้เรียนที่พยายามเข้าไปศึกษาในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ยิ่งมหาวิทยาลัยนั้นได้รับการจัดอันดับสูงก็ยิ่งมีการแข่งขันสูง แต่มีคนจำนวนน้อยที่สามารถเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีอับดับ สิ่งนี้คือการสร้างชนชั้นที่มีสิทธิพิเศษ ผู้เรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงจะได้รับการยกย่องและมีโอกาสทางสังคมเหนือกว่าผู้ที่ไม่ได้เรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำ (Ordorika, 2009)

           นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยยังเป็นองค์กรที่เผชิญหน้ากับแรงกดดันและความคาดหวังทางสังคมและเศรษฐกิจ (Pusser, 2004) กล่าวคือ กลุ่มผู้มีอำนาจในมหาวิทยาลัยจะเข้ามาจัดการและควบคุมการทำงานของมหาวิทยาลัยเพื่อที่จะทำให้พรรคพวกและเครือข่ายของตนสามารถสืบทอดอำนาจอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดทำหลักสูตรที่ตอบสนองระบบตลาดและการพัฒนากระแสหลัก ซึ่งจะมีการตั้งกลุ่มคนที่ใกล้ชิดกับผู้บริหารเข้าไปควบคุมหลักสูตรและงานวิจัยที่สามารถหางบประมาณจากแหล่งทุนต่าง ๆ เข้ามาเป็นรายได้ของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะแหล่งทุนที่มาจากภาคเอกชนและองค์กรธุรกิจที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยทำวิจัยที่ส่งเสริมการขายและขยายผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ในแง่นี้ สังคมต้องการให้มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ให้คำตอบและแนวทางที่จะแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจให้กับกลุ่มทุน (Slaughter & Rhoades, 2004) ขณะเดียวกันก็อยากเห็นมหาวิทยาลัยเป็นที่พึ่งสำหรับกลุ่มคนที่เสียเปรียบ เช่น ช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ บทบาทด้านการวิจัยดังกล่าวนี้ทำให้มหาวิทยาลัยเผชิญกับความลักลั่นระหว่างประโยชน์ของคนส่วนน้อยกับการสร้างความเท่าเทียม

           มหาวิทยาลัยบางแห่งที่มีจุดยืนทางวิชาการและพึ่งตนเองได้ในเชิงงบประมาณ อาจให้ความสำคัญกับการทำงานวิจัยเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการสะท้อนปัญหาสังคมที่มีต้นเหตุมาจากรัฐและองค์กรธุรกิจ ในทางตรงกันข้าม มหาวิทยาลัยที่เน้นความสำเร็จของรัฐและนายทุนจะให้คุณค่ากับการสร้างกฎระเบียบที่สนับสนุนฐานะและลำดับชั้นของมหาวิทยาลัย กล่าวคือ อันดับของมหาวิทยาลัยคือเครื่องยืนยันความถูกต้องและความชอบธรรมของชนชั้นนายทุนและผู้ปกครอง ผู้มีส่วนสร้างกฎเกณฑ์และเงื่อนไขของการจัดลำดับและการประเมินสถานะของมหาวิทยาลัยคือผู้ที่ควบคุมการตัดสินใจว่าอะไรที่ต้องทำและไม่ต้องทำ (Pusser & Marginson, 2012) ดังนั้น เกณฑ์ของการตัดสินลำดับชั้นจึงเป็นกลไกของอำนาจ เกณฑ์เหล่านั้นมาจากคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ใช้อุดมการณ์บางอย่างมาเป็นตัวชี้นำ (Lukes, 2005) ปัจจุบัน ลำดับชั้นกลายเป็นเครื่องบ่งชี้ชื่อเสียง การได้รับการยอมรับและศักดิ์ศรีของสถาบันการศึกษา ซึ่งทำให้สถาบันต่าง ๆ แข่งขันและเปรียบเทียบเพื่อจะทำให้อันดับดีขึ้น (Ehrenberg, 2003; Hazelkorn, 2008) ทั้งนี้ การมีอันดับที่สูงจะช่วยให้สถาบันการศึกษานั้นมีโอกาสรับงบประมาณเพิ่มขึ้น (Marginson, 2007)

           เกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยประกอบด้วย ชื่อเสียงทางวิชาการ ผลผลิตการวิจัย ทรัพยากรของสถาบัน คุณลักษณะของนักศึกษา อัตราการมีส่วนร่วมและการสำเร็จการศึกษา คุณภาพของคณาจารย์ ความเอาใจใส่ต่อประชากรที่ด้อยโอกาส เป็นต้น เกณฑ์เหล่านี้ แต่ละมหาวิทยาลัยจะพิจารณาให้น้ำหนักเพื่อประเมินความสำเร็จต่างกัน บางแห่งอาจให้ความสำคัญกับชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย บางแห่งให้ความสำคัญกับการตีพิมพ์ผลงานวิจัยของอาจารย์ บางแห่งสนใจสถิติการอ้างอิงผลงานวิชาการของอาจารย์ที่ปรากฎอยู่ในวารสารระดับนานาชาติ เป็นต้น อันดับของมหาวิทยาลัยยังผลิตซ้ำความไม่เท่าเทียมของนักศึกษาที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย ในกรณีที่มหาวิทยาลัยมีอันดับสูง สังคมจะมองว่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้นมีเกียรติหรือมีศักยภาพที่เหนือกว่า (Marginson, 2007) ในทางปฏิบัติ มหาวิทยาลัยเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่มีอันดับสูงซึ่งทำให้มหาวิทยาลัยดังกล่าวมีอำนาจต่อรอง และเป็นที่นิยมของนักศึกษาที่ต้องการเข้ามาศึกษาเล่าเรียน

           Pusser & Marginson (2013) กล่าวว่าผลการจัดอันดับ ทำให้มหาวิทยาลัยพยายามขวนขวายสร้างผลผลิตที่จะทำให้ได้รับการประเมินเพื่อให้มีอันดับที่ดีขึ้น มีกระบวนการคัดเลือกนักศึกษาที่เข้มข้นมากขึ้น มีการส่งเสริมประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนให้นักศึกษาเข้ามาสมัคร และโฆษณาชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยที่มีการจัดอันดับสูงขึ้น กิจกรรมหรืองานใด ๆ ที่ไม่ส่งผลต่อการจัดอันดับ งานเหล่านั้นจะถูกมองข้าม ขณะเดียวกันในแง่นี้ จะเห็นว่าระบบการประเมินจัดอันดับมหาวิทยาลัยคือกลไกที่สร้างระเบียบวินัยขององค์กรทางสังคม เปรียบเสมือนการควบคุมมหาวิทยาลัยให้อยู่ในกฎระเบียบภายใต้อุดมการณ์ตะวันตกและการบริหารองค์กรสมัยใหม่ ในขณะที่มหาวิทยาลัยในภูมิภาคอื่น ๆ จำเป็นต้องยอมรับและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของการประเมินที่ไม่สอดคล้องกับคุณลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยเหล่านั้น เกณฑ์สากลของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยมักจะนำวิธีคิดและการสร้างผลงานวิชาการแบบวิทยาศาสตร์มาใช้กับสาขาวิชาอื่น ๆ ทำให้มหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ต้องยอมจำนนต่อเกณฑ์ดังกล่าว


การจัดอันดับให้ประโยชน์กับใคร

           Ordorika (2003) และ Ehrenberg (2003) อธิบายว่าการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสร้างประโยชน์ให้กับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยมากกว่าการทำให้สังคมได้ประโยชน์จากความรู้และการพัฒนาปัญญาความคิดของประชาชน ดังนั้น ข้อท้าทายของมหาวิทยาลัยในปัจจุบันคือการวิ่งไล่ตามการจัดอันดับที่สูงขึ้น หรือการสร้างความรู้เพื่อพัฒนามนุษย์ให้มีคุณภาพและสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียม หากผู้บริหารมหาวิทยาลัยเน้นการสร้างอันดับระดับโลก สิ่งที่สังคมได้รับคืออะไร คำถามนี้ Pusser & Marginson (2012) อธิบายว่าการมุ่งเน้นผลิตผลงานเพื่อให้ได้มาตรฐานสากลแบบตะวันตกและหวังว่าจะได้รับการจัดอันดับที่สูงขึ้น การกระทำเหล่านี้ควรคำนึงถึงการเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่ยากจนและขาดโอกาสเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยมากขึ้น รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายในการศึกษาที่เอื้อให้ผู้ยากไร้สามารถเข้ามาศึกษาได้ ชุมชนท้องถิ่นควรได้รับประโยชน์จากความรู้ที่นำไปพัฒนาในด้านต่าง ๆ และความยุติธรรมทางสังคมต้องเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก

           เกณฑ์การประเมินความสำเร็จของมหาวิทยาลัยที่ต่างไปจากการจัดอันดับ เช่น การให้ความสำคัญกับภาระหน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่ต้องทำงานเพื่อสังคม คะแนนภารกิจทางสังคม (Social Mission Score) อาจสะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่มหาวิทยาลัยทำอยู่สร้างประโยชน์ต่อสังคมมากน้อยแค่ไหนมากกว่าจะเป็นการนับจำนวนผลงานตีพิมพ์ในวารสารที่มีการแข่งขันสูง Ordorika (2009) กล่าวว่าบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยย่อมจะแตกต่างกันภายใต้บริบทสังคมและวัฒนธรรม หากมหาวิทยาลัยทุกแห่งในโลกใช้เกณฑ์ประเมินเพื่อจัดอันดับในแบบเดียวกัน ย่อมจะทำลายคุณลักษณะเฉพาะของมหาวิทยาลัยนั้นสูญหายไป ซึ่งยิ่งทำให้มหาวิทยาลัยวิ่งไล่ตามเกณฑ์ที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ และถอยห่างจากการทำงานเพื่อสังคมและไม่เข้าใจความต้องการของคนท้องถิ่น Usher and Savino (2006) กล่าวว่าคุณภาพของมหาวิทยาลัยมีนิยามที่ต่างกันและเปลี่ยนแปลงไปตามคุณลักษณะของมหาวิทยาลัย ดังนั้น การสร้างมาตรฐานคุณภาพที่มีแบบเดียวอาจไม่สะท้อนการทำหน้าที่ทางความรู้ของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง

           Hamann & Ringel (2023) กล่าวว่าหน่วยงานที่จัดอันดับมหาวิทยาลัยพยายามสถาปนาเกณฑ์ที่เป็นกลางแต่ในเวลาเดียวกันได้ซ่อนเร้นอุดมการณ์ วิธีวิทยา และความคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่ครอบงำการประเมิน ทำให้การจัดอันดับมหาวิทยาลัยคือกลไกที่ผูกขาดความชอบธรรม เอกสารที่ใช้ในการประเมินล้วนถูกสร้างจากข้อมูลเชิงปริมาณ Amsler (2014) วิจารณ์ว่าการจัดอันดับมหาวิทยาลัยเป็นเครื่องตอกย้ำสถานะของความถูกต้องที่เปราะบางของการอยู่ในอันดับ โดยผ่านการผลิตวาทกรรมที่ทำให้เกิดความชอบธรรมกับการมีอันดับอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการจัดอันดับมหาวิทยาลัยถูกทำให้กลายเป็นอุดมการณ์ทางวิชาชีพที่จำเป็นที่มีไว้สำหรับการตอกย้ำเกียรติยศศักดิ์ศรีที่ไม่เท่ากัน ทำให้เกิดความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ของการจัดอันดับ ซึ่งเป็นเสมือนรูปแบบหนึ่งของการจัดหมวดหมู่ทางสังคมและการจัดลำดับชั้น และทำให้เกิดระบบความชอบธรรมของกฎเกณฑ์ที่นำมาประเมินคุณค่าของมหาวิทยาลัย

           De Sousa Santos (2010) กล่าวว่ามหาวิทยาลัยควรท้าทายและคัดค้านการประเมินลำดับชั้นโดยใช้ฐานคิดของระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ แต่ควรแสวงหาทางเลือกอื่นที่มุ่งเน้นเสรีภาพทางวิชาการ สนับสนุนความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษา รับผิดชอบต่อสังคม ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการคิดและเสนอแนะเพื่อปรับปรุงการศึกษา ส่งเสริมการทำวิจัยบนฐานของปัญหา และเปิดพื้นที่ให้เกิดการสร้างความรู้ที่หลากหลายที่มากไปกว่าวิธีการที่ตายตัวแบบวิทยาศาสตร์ สิ่งสำคัญที่จะเปลี่ยนวิธีคิดก็คือมหาวิทยาลัยต้องมองเห็นความร่วมมือมากกว่าการแข่งขันเพื่อมีอันดับที่สูงกว่ากัน มหาวิทยาลัยต้องสลายความคิดเรื่องความเป็นเลิศที่เหนือกว่าคนอื่น แต่ควรเห็นความเท่าเทียมของทุกมหาวิทยาลัยที่มีส่วนสร้างความรู้ที่หลากหลาย ในเชิงสังคม มหาวิทยาลัยควรสร้างเครือข่ายกับชุมชนและนำโจทย์ของชุมชนมาเป็นนโยบายเพื่อสร้างความรู้ที่แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันของผู้คน มากกว่าจะทำวิจัยเพื่อตอบสนองความต้องการขององค์กรทางธุรกิจหรือหน่วยงานรัฐบางแห่ง De Sousa Santos (2010) ยังเสนอว่ามหาวิทยาลัยควรหาวิธีการใหม่ ๆ ในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของอาจารย์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย ไม่ควรใช้เกณฑ์เชิงปริมาณที่ตายตัวมาตัดสินความรู้ความสามารถของอาจารย์ เพื่อทำให้เห็นว่าอาจารย์สามารถพัฒนาความรู้ด้วยวิธีที่สอดคล้องกับความเชี่ยวชาญของตนเอง

           อุตสาหกรรมของการจัดอันดับ (ranking industries) เป็นทั้งผลผลิตและกลไกของระบบทุนนิยม (Holloway, 2010) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างเส้นแบ่งและขอบเขตที่แข็งกระด้าง การทำให้บางสิ่งมีช่วงชั้นย่อมส่งผลให้เกิดการเปรียบเทียบว่าอะไรดีหรือแย่กว่ากัน วิธีคิดดังกล่าวสร้างมาตรฐานที่ตายตัวที่ทำลายความแตกต่างของสิ่งต่าง ๆ Hazelkorn(2013) ตั้งข้อสังเกตว่ามนุษย์มักจะแสวงหาตำแหน่งที่ดีกว่าเดิม ซึ่งทำให้เกิดการทำตามกฎเกณฑ์เดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพราะเชื่อว่าสิ่งนี้จะช่วยทำให้ได้ตำแหน่งที่สูงขึ้น ในแง่นี้ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ผลักให้เกิดการแข่งขันเพื่อให้ได้ตำแหน่งที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ย่อมจะเป็นการยึดสูตรสำเร็จที่ตายตัวของการไปถึงตำแหน่งที่ดีกว่า และเป็นการสร้างช่วงชั้น (practice of hierarchization) ที่เต็มไปด้วยการแบ่งแยก คำถามคือเป้าหมายของมหาวิทยาลัยคือการถูกจัดให้อยู่ในลำดับชั้นที่สูงขึ้นใช่หรือไม่


เอกสารอ้างอิง

Amsler, S. S. (2014). University ranking: A dialogue on turning towards alternatives. Ethics in Science and Environmental Politics, 13(2), 155–166.

Clark, B. R. (1993). The problem of complexity in modern higher education. In S. Rothblatt & B. Wittrock (Eds.), The European and American university since 1800 (pp. 263–279). Cambridge: Cambridge University Press.

De Sousa Santos, B. (2006). The university in the 21st century: Toward a democratic and emancipatory university reform. In R. A. Rhoads & C. A. Torres (Eds.), The university, state, and market (pp. 60–100). Stanford, CA: Stanford University Press.

De Sousa Santos, B. (2010) The university in the twenty-first century. Eurozine, 1 July. Available at www. eurozine.com/ articles/2010-07-01-santos-en.htm

Ehrenberg, R. G. (2003) Reaching for the brass ring: The U.S. News & World Report rankings and competition. The Review of Higher Education, 26(2), 145–162.

Gramsci, A. (1971). Selections from the prison notebooks. New York: International Publishers.

Hamann, J. & Ringel, L. (2023). The discursive resilience of university rankings. Higher Education, https://doi.org/10.1007/s10734-022-00990-x

Hammond, T. H. (2004). Herding cats in the university hierarchies: Formal structure and policy choice in American research universities. In R. G. Ehrenberg (Ed.), Governing academia (pp. 91–138). Ithaca, NY: Cornell University Press.

Hazelkorn, E. (2008). Learning to live with league tables and ranking: the experience of institutional leaders. Higher Education Policy, 21, 193–215.

Hazelkorn, E. (2013). How rankings are reshaping highereducation. In: Climent, V., Michavila, F., Ripolles, M (eds). Los Rankings. Madrid: univeritarios, mitos y realidades. Tecnos.

Holloway, J. (2010). Crack capitalism. New York: Pluto Books.

Kaul, I. (2008). Providing (contested) global public goods. In V. Rittberger & M. Nettesheim (Eds.), Authority in the global political economy (pp 89–115). New York: Palgrave Macmillan.

Lukes, S. (2005). Power: A radical view (2nd ed.). London: Macmillan.

Marginson, S. (2007). Global university rankings. In S. Marginson (Ed.), Prospects of higher education: Globalization, market competition, public goods and the future of the university (pp. 79–100). Rotterdam: Sense Publisher.

Marginson, S. (2011). The “public” contribution of universities in an increasingly global world. In B. Pusser, K. Kempner, S. Marginson, & I. Ordorika (Eds.), Universities and the public sphere: Knowledge creation and state building in the era of globalization. New York: Routledge.

Maassen, P. (2003). Shifts in governance arrangements: An interpretation of the introduction of new management structures in higher education. In A. Amaral, V. L. Meek, & I. M. Larsen (Eds.), The higher education managerial revolution? (pp. 31–53). Dordrecht: Kluwer Academic Publishers.

Ordorika, I. (2003). Power and politics in university governance: Organization and change at the Universidad Nacional Autonoma de Mexico. New York: Routledge Falmer.

Ordorika, I. (2009). Commitment to society: Contemporary challenges for public research universities. In GUNI (Global University Network for Innovation) (Ed.), Higher education at a time of transformation: New dynamics for social responsibility (pp.72–74). New York: Palgrave MacMillan.

Pusser, B. (2004). Burning down the house: Politics, governance and affirmative action at the University of California. Buffalo: SUNY Press.

Pusser, B. (2011). Power and authority in the creation of a public sphere through higher education. In B. Pusser, K. Kempner, S. Marginson, & I. Ordorika (Eds.), Universities and the public sphere: Knowledge creation and state building in the era of globalization (pp. 27–46). New York: Routledge.

Pusser, B., & Marginson, S. (2012). The elephant in the room: Power, politics and global rankings in higher education. In M. N. Bastedo (Ed.), The organization of higher education: Managing colleges for a new era (pp. 86–117). Baltimore: The Johns Hopkins University Press.

Pusser, B. & Marginson, S. (2013). University Rankings in Critical Perspective. The Journal of Higher Education, 84(4), 544-568.

Slaughter, S., & Rhoades, G. (2004). Academic capitalism and the new economy: Markets, state, and higher education. Baltimore, MD: The Johns Hopkins University Press.

Thakur, M. (2007). The Impact of Ranking Systems on Higher Education and its Stakeholders. Journal of Institutional Research, 13(1), 83–96.

Usher, A., & Savino, M. (2006). A world of difference: A global survey of university league tables. from http://www.educationalpolicy.org/worlddifference.html


ผู้เขียน
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร


 

ป้ายกำกับ วิพากษ์ศัพท์มูลวิทยา การจัดอันดับ มหาวิทยาลัยโลก ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share