อัฟกานิสถาน
หนังสืออัฟกานิสถาน เขียนโดย กวี จงกิจถาวร และคณะ
จากสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศอัฟกานิสถาน ทำให้ดินแดนแห่งนี้กลายเป็นจุดสนใจของผู้คนทั่วโลกนอกเหนือจากเรื่องราวทางการเมือง แต่รวมไปถึงศาสนา วัฒนธรรม และพลเมือง ทั้งนี้ เมื่อราว 20 ปีก่อน ดินแดนแห่งนี้กลายเป็นที่รู้จัก เกิดการตั้งคำถาม และข้อสงสัยต่อสิ่งที่เรียกว่า “การก่อการร้าย” ภายหลังจากที่อัฟกานิสถานตกเป็นเป้าหมายการโจมตีจากสหรัฐอเมริกา ในฐานะประเทศที่ให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มคนที่สหรัฐอเมริกากล่าวว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย” จากเหตุการณ์วินาศกรรมตึกเวิร์ลด์เทรด เซนเตอร์ และอาคารทำการเพนตากอน ในสหรัฐอเมริกา
บทความนี้จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักประเทศอัฟกานิสถาน ผ่านการทบทวนเนื้อหาเอกสารวิชาการชุด “โครงการอาณาบริเวณศึกษา 5 ภูมิภาค” ลำดับที่ 6 เรื่อง “อัฟกานิสถาน” ซึ่งเป็นงานที่รวมบทความในมิติที่หลากหลายของประเทศอัฟกานิสถาน ทั้งเรื่องภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ผู้คน วัฒนธรรม ศาสนา การเมือง และความเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย เมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001
ภูมิศาสตร์ประเทศอัฟกานิสถาน
ธเนศ ช่วงพิชิต ได้เขียนเรื่อง “ภูมิศาสตร์ประเทศอัฟกานิสถาน” กล่าวถึงที่ตั้งของประเทศอัฟกานิสถานซึ่งอยู่ทวีปเอเชียแต่เป็นพื้นที่ที่ถือว่าเป็นจุดตัดระหว่างโลกตะวันตกและโลกตะวันออก ล้อมรอบด้วยประเทศจีน ปากีสถาน อิหร่าน ทาจิกิสถาน อุซเบกิซสถาน โดยพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่บนเทือกเขาสูงชันที่มีชื่อว่า ฮินดูกูช (Hindu Kush) และมีที่ตั้งของประเทศอยู่บริเวณ ภูเขาปามีร์ (Pamir Mountain) หรือ จุดจบปามีร์ (Pamir Knot) ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น หลังคาโลก (Roof of the World)
ประเทศอัฟกานิสถานมีเมืองหลวงคือ กรุงคาบูล ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและเป็นศูนย์รวมของเส้นทางการค้าที่มาจากประเทศในแถบเอเชียกลางเพื่อเข้าสู่อนุทวีปอินเดียผ่านทางช่องเขาไคเบอร์ นอกจากนี้ กรุงคาบูลยังมีเส้นทางไปสู่เมืองเล็กๆ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ที่มีความสำคัญในฐานะที่เคยเป็นเมืองศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา ณ หุบเขาบามิยัน (Bamiyan Valley) เรียกว่า เมืองบามิยัน หุบเขาแห่งนี้เป็นที่ตั้งพระพุทธรูปประทับยืนที่สลักขึ้นบนผาหินปูนขนาดใหญ่ที่สูงที่สุดในโลก 2 องค์ ที่ถูกสร้างขึ้นใน ค.ศ. 600 และถือว่าเป็นมรดกโลกชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่ง
ผู้คนในอัฟกานิสถาน
ประเทศอัฟกานิสถานเป็นดินแดนที่ประกอบด้วยความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ ภาษา และศาสนา โดยในประเด็นนี้ มุกหอม วงษ์เทศ เขียนเรื่อง “ชาติพันธุ์ในอัฟกานิสถาน” เพื่อทำความรู้จักในเบื้องต้น ได้แก่
พัชตุน (Pashtuns) หรือ พาทาน (Pathans)
เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่และมีอิทธิพลที่สุดในอัฟกานิสถาน พูดภาษาพัชตู แม้ว่าชาวพัชตุนที่อาศัยอยู่ในกรุงคาบูลจะพูดภาษาดารีเป็นหลัก ชาวพัชตุนส่วนใหญ่เป็นมุสลิมนิกายซุนนี และยังเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศปากีสถานจำนวนกว่าสิบล้านคน
ทาจิก (Tajiks)
เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่รองลงมาจากกลุ่มพัชตุน ชาวทาจิกมีรูปร่างโปร่ง ผิวสีอ่อน จมูกงุ้ม มีผมดำ หรือแดง หรือบรอนด์ ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมนิกายซุนนีและพูดภาษาเปอร์เซียน (Persian) โดยอาศัยอยู่กันมากทางตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกของอัฟกานิสถาน กลุ่มทาจิกมีอิทธิพลทางการเมืองและการค้าสูง เนื่องจากเป็นกลุ่มชนชั้นสูงที่มีการศึกษาและมีฐานะ ทั้งนี้ ชาวทาจิกในเขตชนบทจะนิยมทำการกสิกรรมและเลี้ยงสัตว์
ฮาซารา (Hazara)
ชาวฮาซาราเป็นมุสลิมนิกายชีอะห์ (Shia) ที่ใหญ่ที่สุดของอัฟกานิสถาน พูดภาษาฟาร์ซี (Farsi) ชาวฮาซารา ถือว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีฐานะต่ำมาก และมีฐานะยากจน กลุ่มชาติพันธุ์นี้ยังคงรักษาอัตลักษณ์ของตนไว้ได้สูงด้วยกลุ่มชาติพันธุ์อื่นไม่มาแต่งงานด้วย ชาวฮาซาราในกรุงคาบูลจึงเป็นชนชั้นต่ำสุดและมักทำงานเป็นแรงงานไร้ฝีมือ
อุซเบก (Uzbeks)
ชาวอุซเบกสืบเชื้อสายมาจากชาวเติร์กในเอเชียกลาง มีใบหน้ากว้างและแบน สีผิวอ่อน นอกจากอัฟกานิสถานแล้ว ชาวอุซเบกยังอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของสหภาพโซเวียตเดิม รวมทั้งในสาธารณรัฐอุซเบกิสถานด้วย ชาวอุซเบกในอัฟกานิสถานส่วนมากนั้นเป็นผู้ที่อพยพลี้ภัยเข้ามาภายหลังจากการปฏิวัติรัสเซีย
เคอร์กิซ (Kirghiz)
ชาวเคอร์กิซเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เชื้อสายเติร์กอีกกลุ่มหนึ่ง อาศัยอยู่บริเวณเทือกเขาปามีร์ของฉนวนวัคคานซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดารที่สุดแห่งหนึ่งของอัฟกานิสถาน ชาวเคอร์กิซสืบสายฝ่ายพ่อและมักแต่งงานกันภายในกลุ่มเพื่อสืบสายของตน นอกจากนี้ ผู้หญิงเคอร์กิซจะไม่ได้สืบมรดกจากครอบครัว
นอกจากการกล่าวถึงกลุ่มชาติพันธุ์ในอัฟกานิสถานแล้ว ยังมีบทความเรื่อง “ผู้หญิงอัฟกานิสถาน” โดย วิระดา สมสวัสดิ์ ซึ่งกล่าวถึงชีวิตของผู้หญิงในอัฟกานิสถานที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหลังจากที่กลุ่มทาลีบันควบคุมพื้นที่ของประเทศทั้งด้านการศึกษา สุขภาพและสุขอนามัย การทำงาน รวมถึงสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง เสรีภาพในการเดินทาง เสรีภาพในการรวมกลุ่มจากการถูกจำกัดให้อยู่ภายในบ้าน ตลอดจนสิทธิในความมั่นคงปลอดภัยส่วนบุคคล
ถึงแม้ว่ากองทัพของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรได้ยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศอัฟกานิสถานคืนจากกลุ่มทาลีบันได้แล้ว แต่สถานะของผู้หญิงในอัฟกานิสถานก็มิได้ดีขึ้นอย่างที่องค์กรขับเคลื่อนด้านผู้หญิงคาดหวังและถึงแม้จะมีการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อฟื้นฟูประเทศแล้ว ก็ยังคงไม่มีนโยบายหรือการขับเคลื่อนเรื่องความเสมอภาคทางเพศ หรือการสร้างความยุติธรรมให้กับผู้หญิงในอัฟกานิสถานแต่อย่างใด
บามิยัน แหล่งวัฒนธรรมสำคัญในอัฟกานิสถาน
แม้ว่าประเทศอัฟกานิสถานจะมีประชากรส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาอิสลาม ภายในพื้นที่เล็กๆ แห่งหนึ่งในหุบเขากลับเป็นสถานที่ที่เป็นแหล่งวัฒนธรรมและร่องรอยสำคัญของศาสนาพุทธปรากฏอยู่ ในบทความเรื่อง “บามิยัน” โดย ทรงยศ แววหงษ์ ได้กล่าวถึงความสำคัญของพื้นที่นี้ว่า บามิยัน ตั้งอยู่บนเส้นทางสายไหมโบราณ ซึ่งกองคาราวานของเหล่าพ่อค้าเดินทางจากอินเดีย ศรีลังกา ผ่านปากีสถาน เข้าเมืองคาบูลเพื่อไปบรรจบกับเส้นทางที่มาจากจีนก่อนจะเดินทางต่อเนื่องออกไปยังภูมิภาคเอเชียกลาง บามิยัน จึงเป็นพื้นที่ซึ่งเฟื่องฟูทางการศึกษา วัฒนธรรมและศาสนาโดยเฉพาะศาสนาพุทธ อันมีหลักฐานเชิงประจักษ์ด้วยพระพุทธรูปขนาดใหญ่สององค์ที่ถูกแกะสลักลงบนหน้าผาหินทรายสีแดง องค์หนึ่งสูง 37 เมตร และอีกองค์หนึ่งสูง 53 เมตร รวมถึง จารึกพระเจ้าอโศกมหาราชที่ถูกพบบนหินใหญ่บริเวณใกล้ๆ กับเมืองกันดาฮาร ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าพุทธศาสนาเข้ามายังดินแดนนี้ตั้งแต่ 250 ปีก่อนคริสตกาล
ความเสื่อมลงของพุทธศาสนาค่อยๆ เกิดขึ้นจากคริสต์ศตวรรษที่ 9-11 จนกระทั่งเมืองบามิยันที่ถูกทำลายลงจากทัพมองโกลของเจงกิสข่านทำให้เมืองที่เคยเจริญรุ่งเรืองกลับกลายเป็นพื้นที่พักพิงสำหรับคนเร่ร่อน
ในวันที่ 11 มีนาคม 2001 ภาพการระเบิดทำลายพระพุทธรูปองค์ใหญ่ทั้งสององค์ถูกถ่ายทอดมายังโลกตะวันออก สืบเนื่องมาจากการพิจารณาร่วมกันของกระทรวงวัฒนธรรมและ ศาสนมนตรีในขณะนั้น มีความเห็นว่าให้ทำลายวัตถุและสถานที่ซึ่งถือว่า “นอกศาสนาอิสลาม”
ทาลีบัน
จรัญ มะลูลีม เขียนเรื่อง “ทาลีบัน” ไว้ โดยกล่าวว่าภายหลังจากสงครามระหว่างโซเวียตกับอัฟกานิสถานจบลง ได้ก่อให้เกิดฝ่ายมุญาฮิดีนรุ่นใหม่ขึ้นมา เรียกตัวเองว่า “ทาลีบัน” หรือนักเรียนศาสนา โดยมีผู้นำคือ มุลลาห์ มุฮัมมัด อุมัร กลุ่มทาลีบันได้ประกาศอุดมการณ์ว่าจะฟื้นฟูความสงบ ปลดอาวุธ ใช้กฎหมายอิสลาม (Sharia Law) และปกป้องลักษณะของอิสลามแห่งอัฟกานิสถาน กลุ่มทาลีบันนี้จะแยกตัวเองให้ห่างไกลจากพรรคการเมืองของมุญาฮิดีนกลุ่มอื่นๆ และมีสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเป็นขบวนการที่มุ่งหมายจะทำให้สังคมสะอาดมากกว่าการพยายามยึดฉวยอำนาจ
ในช่วงแรกที่มีการจัดตั้งกองกำลังทาลีบัน พวกเขาเคยให้สัญญาว่าเมื่อมีอำนาจและยึดกรุงคาบูลได้จะเปิดโอกาสให้กลุ่มมุญาฮิดีนต่างๆ ร่วมต่อต้านโซเวียตมาด้วยนั้น ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองประเทศด้วยและจะดำเนินตามแผนสันติภาพที่เสนอโดยสหประชาชาติ
แต่เมื่อกองกำลังทาลีบันไม่สามารถแยกตัวออกเองให้ออกจากโอซามา บิน ลาเดน ผู้ซึ่งประกาศตัวว่าเป็นปรปักษ์กับสหรัฐอเมริกาและซาอุดิอารเบีย รวมถึงเขายังถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการถล่มตึกเวิร์ลด์เทรด เซนเตอร์ และตึกเพนตากอน ในสหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกาจึงใช้ความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือมาก่อสงครามกับกลุ่มทาลีบัน ตามไล่ล่าโอซามา บิน ลาเดน และมุลลาห์ มุฮัมมัด อุมัร ซึ่งสงครามในอัฟกานิสถานนี้ทำให้พลเรือนผู้บริสุทธิ์ต้องสูญเสียชีวิตไปจำนวนมาก ท่ามกลางความไม่พอใจของชาวมุสลิมที่ติดตามเหตุการณ์สงครามในครั้งนี้อย่างหดหู่
กลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือ (Northern Alliance)
เรื่อง “พันธมิตรฝ่ายเหนือ” โดย จรัญ มะลูลีมนั้น ได้อธิบายถึงกลุ่มพันธมิตรต่างๆ และด้วยความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา กลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือได้เข้ายึดครองกรุงคาบูลและครองอัฟกานิสถานอีกครั้งภายหลังจากพ่ายแพ้ให้แก่กลุ่มทาลีบันมาแล่วก่อนหน้านี้ โดยกลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือ ประกอบด้วยกลุ่มใหญ่ๆ 6 กลุ่ม ดังนี้
1. กลุ่มญะมิอัต อิสลามี (Jamiat-Islami) เป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1973 โดยบุรฮานุดดีน ร็อบบานี ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ผู้สอนวิชา ชาริอะฮ์ (Shariah) หรือกฎหมายอิสลามที่มหาวิทยาลัยแห่งกรุงคาบูล ซึ่งกลุ่มญะมิอัต อิสลามี เป็นพรรคอิสลามที่เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ แต่ส่วนใหญ่เป็นชาวทาจิก บุรฮานุดดีน ร็อบบานี ถือว่าเป็นผู้นำของกลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือ ได้รับการสนับสนุนจากผู้นิยมพฤติกรรมเป็นกลาง และประเทศอิหร่าน
2. กลุ่มของนายพลมุฮัมมัด กาซิม ฟาฮีม (General Muhammad Qasim Fahim) เป็นกลุ่มที่สืบทอดมาจากกลุ่มของชาห์ มัสอูด (Shah Masood) อดีตรองประธานาธิบดีที่ถูกสังหารด้วยระเบิดพลีชีพ กลุ่มของนายพลมุฮัมมัด กาซิม ฟาฮีม เป็นกองกำลังที่มีความสามารถและผ่านการต่อสู้กับรัฐบาลคอมมิวเนิสต์ของอัฟกานิสถานมาแล้วอย่างโชกโชน
3. กลุ่มจุมบิช อี มิลลี ขวบนการอิสลามแห่งชาติ (Jumbish-I-Milli-National Islamic Movement) เป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นโดยนายพลอับดุลรอชีด โดสตุ้ม ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับอดีตผู้ว่าราชการที่เป็นผู้บัญชาการเมืองเฮรัต คือ อิสมาอีล ข่าน แกนนำสำคัญของกลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือ นักรบส่วนใหญ่ของกลุ่มจุมบิช อี มิลลี จะมีอาวุธที่ทันสมัย มีทหารที่ได้รับการฝึกมาอย่างดี เมื่อคราวที่ทาลีบันเข้ายึดฐานทางยุทธศาสตร์ทางตอนเหนือของอัฟกานิสถานจนนำไปสู่การเสียป้อมปราการทางเหนือไปนั้น
นายพลรอชีด โดสตุ้ม ถูกบังคับให้ออกนออกประเทศไป
4. พรรคชีอะห์ ฮาซารา หิซบี-วะห์ดัต (Shi’ites / Hazara Hizb-I-Wahdat) มีการีม คอลีล เป็นหัวหน้าพรรค ประกอบขึ้นจากกล่มจรยุทธ์ของมุสลิมชีอะฮ์ กลุ่มเล็กๆ 8 กลุ่ม ซึ่งพรรคนี้มีความเข้มแข็งอยู่ในภูมิภาคหะซารอญาต (Hazarajar) ในอัฟกานิสถานตอนกลาง จนกระทั่งถูกขับไล่โดยกองกำลังทาลีบัน
5. กลุ่มชูรออีนาซาร (Shura-I-Nazar) นำโดย ชาห์ มัสอูด นักรบคนสำคัญของอัฟกานิสถานผู้ล่วงลับ เขาได้สร้างฐานขึ้นทางเหนือโดยรวบรวมมุญาฮิดีนชาวอุซเบกเข้าร่วมเพื่อต่อสู้กับกองกำลังทาลีบัน พร้อมสร้างองค์กรทางทหารที่เข็มแข็งด้วยความร่วมมือกับกลุ่มญามิอัตอิสลามีห้าจังหวัด และขยายกองกำลังออกไปจนเป็นกองทัพมัสอูดอุรดูอิสลาม (Masood Islamic Army-Urdu-Islam)
6. กลุ่มของโมลวี มุฮัมมัด ยูนิส คอลิส (Molvi Muhammad Yunis Khalis) เป็นกลุ่มเล็กๆ ที่แตกออกมาจากพรรคหิซบีอิสลามี มุฮัมมัด ยูนิส คอลิส เป็นนักต่อสู้ที่มีชื่อเสียง องค์การของเขาได้รับความเชื่อถือและเขายืนกรานว่ารัฐธรรมนูญของอัฟกานิสถานจำเป็นจะต้องเป็นคัมภีร์กุรอานเท่านั้น นอกจากนี้ เขายังเป็นประธานของกลุ่มพันธมิตรอิสลามของอัฟกันมุญาฮิดีน
กล่าวได้ว่า กลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือนั้นประกอบด้วยกลุ่มคนและกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ถึงแม้จะรวมตัวกันเป็นกลุ่มพันธมิตรแต่ก็ยังคงมีความแตกแยกและแย่งชิงตำแหน่งกัน
ภราดรภาพของมุสลิมและมุญาฮิดีน
“ภราดรภาพของมุสลิม” และ “มุญาฮิดี” เป็นบทความสองเรื่องที่เขียนโดย จรัญ มะลูลีม เพื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นที่ศาสนาอิสลามได้นำมาใช้เป็นหลักคำสอน เรียกว่า ความเป็นพี่น้องในศาสนาหรือภราดรภาพของอิสลาม ซึ่งถือว่าเป็นจิตวิญญาณของมุสลิมโลกที่ยึดมั่นในความเป็นพี่น้องกันของชาวมุสลิม โดยเห็นได้จากการที่ชาวมุสลิมออกมาเคลื่อนไหวเพื่อขอความเป็นธรรมให้แก่พี่น้องมุสลิมทั้งในแคว้นแคชมีร อิรัก บอสเนีย และอัฟกานิสถานเมื่อถูกข่มเหง
ขณะที่ “มุญาฮิดีน” เป็นคำภาษาอาหรับ ที่ให้ความหมายว่าผู้ต่อสู้ มุญาฮิดีนในโลกของมุสลิมนั้นมีมาตลอดระยะเวลากว่า 1400 ปี นับตั้งแต่กำเนิดศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะเมื่อโซเวียตเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของอัฟกานิสถาน จำนวนมุญาฮิดีนก็เพิ่มขึ้นเพื่อต่อต้านอำนาจของโซเวียตนั่นเอง ลักษณะสำคัญของการต่อต้านโดนมุญาฮิดีนอัฟกันที่มีต่อโซเวียตนั้น คือการแพร่กระจายไปทั่วประเทศ แต่เมื่อขับไล่โซเวียตได้แล้วกลุ่มมุญาฮิดีนเหล่านี้กลับมาแก่งแย่งอำนาจกัน จนในที่สุดกลุ่มมุญาฮิดีนในชื่อ “ทาลีบัน” ได้เป็นผู้ปกครองประเทศจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์วินาศกรรมถล่มตึกเวิร์ลด์เทรด เซนเตอร์ และตึกเพนตากอน ในสหรัฐอเมริกา
การก่อการร้าย
จุฬาพร เอื้อรักสกุล ได้กล่าถึงนิยามความหมายของการก่อการร้ายไว้ในบทความเรื่อง “การก่อการร้าย” โดยกล่าวถึงความหมายของการก่อการร้าย แรงจูงใจและวิธีการ
การก่อการร้ายนั้นเป็นรูปแบบการใช้หรือขู่จะใช้ความรุนแรงเพื่อข่มขู่ หรือบังคับ รัฐบาล หรือกลุ่มคน โดยมักมีแรงจูงใจและเป้าหมายทางการเมือง ตั้งใจให้เกิดผลกระทบทางจิตวิทยาที่กว้างเกินกว่าเหยื่อเป้าหมาย และทำโดยองค์กรที่มีการบังคับบัญชาหรือเครือข่าย
ขณะที่แรงจูงใจนั้นอาจเกิดขึ้นจากความอยุติธรรม ถูกกดขี่เอาเปรียบ รวมถึงแรงจูงใจทางศาสนา และมีการกล่าวถึงการก่อการร้ายในบางประเทศที่ได้รับการสนับสนุนจากภายนอก
ความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การก่อวินาศกรรมในสหรัฐอเมริกา วันที่ 11 กันยายน 2001
ในเนื้อหาส่วนนี้ ได้มีนักวิชาการหลายท่านที่เขียนบทความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การก่อวินาศกรรมในสหรัฐอเมริกา วันที่ 11 กันยายน 2001 เพื่ออภิปรายแง่มุมต่างๆ ทั้งบทความเรื่อง “ลำดับเหตุการณ์ การก่อวินาศกรรมในสหรัฐอเมริกา วันที่ 11 กันยายน 2001” โดย นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ ที่นำลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น พร้อมข้อความในแถลงการณ์ของ ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่แถลงต่อประชาชนสหรัฐอเมริกาภายหลังจากการเกิดวินาศกรรม รวมถึงคำบอกเล่าจากผู้เห็นเหตุการณ์
บทความเรื่อง “ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช กับ “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย” โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ที่กล่าวถึงการต้องเปลี่ยนทิศทางการทำงานของประธานาธิบดีท่านนี้ไปในทิศทางอำนาจนิยมและนโยบายการสร้างชาติให้กับประเทศอื่นซึ่งตรงข้ามกับการประกาศไว้ก่อนการเลือกตั้ง ภายหลังจากการเกิดเหตุการณ์วินาศกรรมในวันที่ 11 กันยายน 2001
บทความเรื่อง “ชีวิต อุดมการณ์และเครือข่ายของ โอซามา บิน ลาเดน” โดย สุเทพ สุดวิไล ที่กล่าวถึงประวัติชีวิตของนายโอซามา บิน ลาเดน แนวคิดและอุดมการณ์ทางศาสนา รวมถึงข้อเรียกร้องที่เขามีต่อรัฐบาลอเมริกัน
บทความเรื่อง “นโยบายต่างประเทศของไทยต่อเหตุการณ์ก่อวินาศกรรม 11 กันยายน 2001 และสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน” โดย ศุภมิตร ปิติพัฒน์ โดยกล่าวถึงท่าทีและนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลไทยที่เลือกสนับสนุนสหรัฐอเมริกา ด้วยการคำนึงถึงผลประโยชน์ตอบแทนทางเศรษฐกิจที่น่าจะได้รับจากรัฐบาลอเมริกา แต่ก็เกิดความเสี่ยงในการกระทบความรู้สึกต่อศาสนิกชนชาวมุสลิม
บทความเรื่อง “ปฏิกิริยาของสังคมไทยต่อเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 และวิกฤตการณ์ในอัฟกานิสถาน” โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ ที่นอกจากจะกล่าวถึงท่าทีของรัฐบาลไทยแล้ว ยังกล่าวถึงปฏิกิริยาของภาคส่วนต่างๆ ในสังคมทั้ง ภาคประชาชนและสื่อมวลชน
บทความเรื่อง “สื่อกับข่าวการก่อการร้าย” โดย กวี จงกิจถาวร ที่อภิปรายการทำงานของสื่อมวลชน โดยเฉพาะนักข่าวและสื่อมวลชนที่อยู่ในพื้นที่เหตุการณ์
บทความเรื่อง “ทัศนะของปัญญาชนสาธารณะในอุษาคเนย์” โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ ที่อภิปรายทัศนะจากปัญญาชนในประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ที่มีต่อเหตุการณ์วินาศกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 และสงครามที่อเมริกาโจมตีอัฟกานิสถาน
หนังสือเล่มนี้ จึงเป็นการทำความรู้จักประเทศอัฟกานิสถานและสถานการณ์ในประเทศ ภายหลังจากการเกิดเหตุการณ์วินาศกรรมที่สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 รวมถึงการเข้าสู่สงครามที่ถูกเรียกว่า “ปราบปรามการก่อการร้าย” จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่การสู้รบในประเทศอัฟกานิสถานยังคงดำเนินต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน จนท้ายที่สุด รัฐบาลอัฟกานิสถานได้กลับมาพ่ายแพ้ให้แก่กองกำลังทาลีบัน หรือ ตาลีบัน ภายหลังจากที่กองทัพของสหรัฐอเมริกาได้ถอนกำลังออกจากพื้นที่
หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสือเกี่ยวข้องกับประเทศอัฟกานิสถาน มีพร้อมให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-library
![]() |
![]() |
ผู้เขียน จรรยา ยุทธพลนาวี บรรณารักษ์ ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร |
กราฟิก วิภาวดี โก๊ะเค้า บรรณารักษ์ ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร |
ป้ายกำกับ อัฟกานิสถาน Afghanistan ห้องสมุดศมส. จรรยา ยุทธพลนาวี