ต่อเนื่องจากโครงการประกวดหนังสั้นทักษะวัฒนธรรมสำหรับเยาวชน “ขัดกันฉันมิตร” ปีที่ 1 (2560) เยาวชนได้มีโอกาสทำความเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรม สำรวจอคติ และภาพเหมารวมที่ส่งผลต่อ ทัศนคติในเชิงลบและการเลือกปฏิบัติที่มีต่อคนที่แตกต่าง รวมทั้งเรียนรู้ผลกระทบของสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ โดยเฉพาะในกลุ่มที่นับถือศาสนาต่างกัน ทำให้เปลี่ยนมุมมอง หรือทัศนะด้านลบบางอย่างที่เคยมี และเสริมทักษะให้เยาวชนทั้งด้านทักษะวัฒนธรรมและด้านการสื่อสารสาธารณะ มีส่วนร่วมในการสื่อสารมุมมองของเยาวชนต่อสาธารณะในประเด็นทักษะวัฒนธรรมและการอยู่ร่วมกับความขัดแย้งในภาคใต้ ผ่านกระบวนการการทำหนังสั้น ซึ่งโครงการประกวดฯ ในปีที่ 2 นี้ ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภาคี ได้แก่ ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สหภาพยุโรป (EU) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS)
ภาพยนตร์โดย วาลิด นาวินพัฒนรัตน์, ชมพูนุช ทองแป้น, อัสรีนา อารง
ระยะเวลา 10.30 นาที
ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเอาทั้งความรุนแรงจากสถานการณ์ และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน มาคลี่กางให้เห็นว่านี่คือสิ่งที่เยาวชนในสามจังหวัดชายแดนใต้พบเจอจนเป็นเรื่องปกติ แต่ความ “ปกติ” นี้ จะดำเนินเช่นนี้ตลอดไปหรือเป็นความรุนแรงที่รอวันปะทุ Our War ไม่ได้ตอบ แต่จะถามคนดูด้วยคำถามนี้
ภาพยนตร์โดย ทรงพล สุทธิกานต์ พูลทวี, สกาวรัตน์ วีรวุฒิไกร, เจ๊ะฟาเดีย เจ๊ะอาแว
ระยะเวลา 10.20 นาที
ภาพยนตร์แนว Yuri (ยูริ) หรือหญิงรักหญิง ใสๆ หวานๆ เรื่องนี้ แทบจะไม่กล่าวถึงความรุนแรงจากสถานการณ์ชายแดนใต้เลย น่าสนใจว่าความรักของคนเพศเดียวกันในพื้นที่ชายแดนใต้ เกิดขึ้น ดำรงอยู่หรือถูกพัฒนาความสัมพันธ์ไปในรูปแบบใด เรื่องราวของเธอและเธออาจทำให้เราได้มองเห็น “ความหลากหลายของความรัก” มากขึ้นกว่าที่เคย
ภาพยนตร์โดย ชนสรณ์ แวหะมะ, ณัฐริณีย์ สุหลง, วิภาวนี อักษรชู
ระยะเวลา 10 นาที
การพิสูจน์ตัวเองเพื่อให้คนในครอบครัวและสังคมยอมรับในการเป็นเพศทางเลือกของตัวเอง เป็นประเด็นหลักที่หนังเลือกหยิบมานำเสนอ รวมไปถึงทุกข์และสุข ความกดดัน การยอมรับหรือไม่ยอมรับต่อเพศทางเลือกในจังหวัดชายแดนใต้จะถูกพิสูจน์ หรือเสนอผ่านเงื่อนไขอะไร ต่างหรือเหมือนกับที่อื่นหรือไม่อย่างไร
ภาพยนตร์โดย ซารีฟ ลาเตะ, ซูไฮมี ยะโกะ, นาบิล มะยะสาและ
ระยะเวลา 10.20 นาที
ภาษาอาจเป็นได้ทั้งกำแพงและสะพาน หนังเล่าเรื่องเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่ถูกส่งให้ไปอยู่โรงเรียนประจำหรือปอเนาะโดยที่เจ้าตัวไม่อยากไป แต่ก็ต้องจำใจเข้าไป เมื่อเข้าไปแล้วก็รู้สึกลำบากในการปรับตัว โดยเฉพาะอุปสรรคทางด้านภาษา เขาจะผ่านช่วงเปลี่ยนผันวันเปลี่ยนผ่านของชีวิตนี้ไปได้หรือไม่
ภาพยนตร์โดย นูรฮายาตี ยูโซ๊ะ, คัสมีนี วานิ, ไซนับ มามะ
ระยะเวลา 10.20 นาที
หนังเล่าเรื่องของเด็กผู้หญิงมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้คนหนึ่ง ที่มีความชอบและอยากเล่นกีฬาฟุตบอลไปช่วยกันลุ้นว่าผู้หญิงคนหนึ่งจะเข้าถึงฟุตบอล กีฬาที่เชื่อว่าเป็นของผู้ชาย ในแผ่นดินที่มีข้อกำหนดเรื่องเพศสภาพอย่างเข้มข้น ได้หรือไม่อย่างไร
ภาพยนตร์โดย อับดุลการีม หะมะ, อิรฟาน รีดน, เฟอดินันต์ ยือโร๊ะ
ระยะเวลา 10.20 นาที
หนังแนว Coming of Age ของเด็กผู้ชายมุสลิมในเมืองหลวง ที่ถูกส่งไปอยู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ความหวาดกลัว กริ่งเกรง และไม่วางใจต่อสถานที่และผู้คนที่นั่น จะคลี่คลายหรือขมวดปมให้เพิ่มขึ้นมากน้อยหรือไม่เพียงใด และมีเงื่อนไขอะไรมาสร้างประสบการณ์ให้ชีวิตในวัยเปลี่ยนผ่านนี้ “สัมผัสที่อบอุ่น” นำประสบการณ์นั้นมาถ่ายทอดไว้อย่างละมุนละไม
ภาพยนตร์โดย ทีมนาซิกาบูโปรดักชั่น ซาการียา แม, อัมมัร มะลาเฮง, อิลหาม มะนะแล
ระยะเวลา 10 นาที
เรื่องราวของนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่สมาชิกมีความหลากหลายทางความเชื่อ ความศรัทธา และความแตกต่างทางศาสนา แต่ต้องมาทำสารคดีร่วมกัน แน่นอน การปฏิสัมพันธ์กันย่อมมีทั้งความขัดแย้ง ความเห็นต่าง ความไม่เชื่อและไม่ใช่ต่อกันและกัน หนังเรื่องนี้จะบอกให้เรารู้ว่าพวกเขาจะมีวิธีขัดกันฉันมิตรอย่างไร
ภาพยนตร์โดย ฮาฟิซ หละบิลลา, อัฟฟาน ดอลี, อับดุลเราะมาน อาแวกือจิ
ระยะเวลา 7 นาที
ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอชีวิตของ “หญิงบ้า” หรือ ผู้ป่วยจิตเวชที่ใช้ชีวิตอยู่ในสี่จังหวัดชายแดนใต้ คนชายขอบในสังคมชายขอบ ถูกตีความ พิพากษาแตกต่างจากพื้นที่อื่นหรือไม่อย่างไร
ภาพยนตร์โดย อิฟฟาน ยูโซะ, อัจญมัล เริงสมุทร, สิกรี มุเสะ
ระยะเวลา 10.50 นาที
เมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้นในจังหวัดสามชายแดนใต้ สังคมมักจะตั้งสมมติฐานไว้ก่อนว่ามันต้องเกิดจากผู้ก่อการร้ายและมิติทางศาสนา ความจริงของความรุนแรงจึงถูกทำให้เหลือมิติเดียวเท่านั้น “วงจรอุบาทว์” เลือกที่จะเล่าเรื่องที่สะท้อนเงื่อน และเหตุของความรุนแรงผ่านในมิติอื่นๆ ที่สังคมอาจมองข้ามไป นอกจากเนื้อหาที่น่าสนใจแล้วหนังเรื่องนี้ยังมีงานโปรดักชั่นที่ปราณีต มีชั้นเชิงชวนติดตามจนไม่อาจละสายตา
ภาพยนตร์โดย นาธิป ทองจันทร์ และ อัฐพล ปิริยะ
ระยะเวลา 11 นาที
“จะเป็นอย่างไรเมื่อมอง “ความเป็นอื่น” โดยใช้ภาพสะท้อนจากสุนัข” นี่คือโจทย์ที่ทีมทำหนังเรื่องนี้วางไว้ 45 องศา จึงเป็นภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องผ่านสายตาของหมา ในจังหวัดชายแดนใต้มุมมองของหมาจะพาเราไปเรียนรู้ เข้าใจ ครุ่นคิด ตีความ อะไรในจังหวัดชายแดนใต้ หนังเรื่องนี้กำลังชี้ชวนและเชิญชม