ก่อนจะสิ้นเดือนอ้าย
- 1 -
บรรยากาศวันสอบบรรจุปลัดอำเภอช่างแสนคึกคัก ผู้คนนับพันหลั่งไหลมากันทั่วทุกสารทิศ บ้างขับรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ บ้างมากับรถโดยสาร ตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงช่วงสายผู้คนก็ยังล้นหลาม และดูท่าจะมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อใกล้ถึงเวลาสอบ ไม่นาน เสียงพูดคุยจ้อกแจกจอแจก็เงียบลงไปหลังสิ้นเสียงประกาศแจ้งให้ผู้เข้าสอบเข้าห้อง
หลังจากทำข้อสอบวิชาสุดท้ายเสร็จ เพื่อนก็อาสาขับรถมอเตอร์ไซค์ไปส่งผมขึ้นรถที่สถานีขนส่งประจำจังหวัด รถบัสเที่ยวสุดท้ายที่กำลังจะออกเดินทางไปยังจังหวัดน่านคันนั้นคือเที่ยวรถของผม ผมกำลังจะกลับบ้าน
“น่าจะอยู่ต่ออีกสักวันสองวัน”
“ไว้คราวหน้าละกัน มีธุระจริงๆ ว่ะ”
ผมบอกลาเพื่อนก่อนจะรีบตรงดิ่งไปขึ้นรถที่กำลังจอดรอ การโดยสารรถบัสกลับบ้านในอีกจังหวัดหนึ่ง ระยะทางแม้ไม่ได้ยาวไกลมาก แต่ก็ไม่สามารถเดินทางไปถึงได้ภายในหนึ่งวัน ผมต้องอาศัยห้องพักเก่าๆ ราคาถูกใกล้กับสถานีขนส่งในตัวเมืองน่านเป็นที่หลับนอนในค่ำคืนนั้น ก่อนจะต้องไปวัดดวงกันต่อกับการหารถไปยังอำเภอเฉลิมพระเกียรติในเช้าวันถัดไป
ทุกอย่างล้วนเชื่องช้า สมกับฉายา “น่านเนิบเนิบ”
ผมไม่ได้โทรบอกที่บ้านตั้งแต่เมื่อคืนที่มาถึงน่าน เช้านี้หลังตื่นนอน จึงเพียงส่งข้อความสั้นๆ ไปบอกให้ที่บ้านรู้ถึงว่าอยู่ไหน การเดินทางยังต้องไปต่อ ผมขึ้นรถบัสพัดลมเก่า ๆ ด้วยตั๊วรถสุดสายและใช้เวลาเกือบ 4 ชั่วโมงก่อนจะถึงปลายทาง แล้วก็ต้องมายืนรอลุ้นโบกรถกระบะคันเดียวของหมู่บ้านที่จะออกมาซื้อของที่ตัวอำเภอ
หลายชั่วโมงแห่งการรอคอยในที่สุดก็สมหวัง รถกระบะคันเทาจอดรับและอนุเคราะห์ให้ผมโดยสารไปกับพวกเขาได้ แม้ท้ายกระบะจะเต็มไปด้วยตะกร้าผักนานาชนิดและเหลือเพียงแค่ที่แคบ ๆ ให้หย่อนตัวนั่งลงไป แต่นั่น ก็ถือว่าดีมากแล้วสำหรับผมที่จะขออาศัยรถเขาไปฟรี ๆ ไอแดดในช่วงหน้าร้อนช่างแผดกล้า โชคดีเหลือเกินที่ผมมีถังพลาสติกใส่เนื้อสดและน้ำแข็งให้พิงหลังเพื่อคลายร้อน แต่ฝุ่นที่ตลบขึ้นมาโดยเฉพาะเวลารถสวนนี้สิคือปัญหา ผมควานหาผ้าขาวม้าในกระเป๋าเป้ออกมาคลุมใบหน้าและห่มตัวไว้จนมิด
ผมออกจากบ้านมาเรียนรัฐศาสตร์ที่มหาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ด้วยความมุ่งหวังจะเป็นปลัดอำเภอตามปลัดวิทย์ ผู้เป็นปลัดในอำเภอที่ผมอาศัยอยู่ เขาเป็นไอดอลของผมและเป็นแรงบันดาลใจในหลาย ๆ อย่าง แต่วันนี้ ผมต้องรีบกลับบ้านมาก่อนจะรอฟังประกาศผลสอบ เพราะสายจากทางบ้านโทรมาบอกผมเมื่อไม่กี่วันก่อนจะถึงวันสอบ บอกว่าพ่อจะไม่ไหวแล้วและน่าจะอยู่ได้อีกไม่นาน พ่อผมแก่ชรามากและกำลังป่วยหนักด้วยโรคเรื้อรัง
ระยะทางไม่กี่กิโลเมตรแต่ใช้เวลายาวนานมากกว่า 2 ชั่วโมง ในสุดผมก็มาถึงบ้านอย่างปลอดภัย หมู่บ้านของผมเป็นหมู่บ้านชาวลัวะขนาดเล็ก ที่เดินเท้าไปอีกไม่กี่กิโลเมตรก็สามารถข้ามไปฝั่งประเทศลาวได้ เป็นดินแสนสนธยาที่ไม่ค่อยจะมีใครรู้จักและยากที่จะมีคนมาเยี่ยมเยือน
- 2-
บ้านของผมหาเจอได้ไม่ยาก เพราะตั้งอยู่ใกล้กับลานกิจกรรมของหมู่บ้าน ลานแห่งนี้ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผี อันเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชาวลัวะเรา หน้าบ้านของผมร่มรื่นด้วยไม้ใหญ่รายรอบ ใต้ต้นไม้แต่ละต้นจะมีแคร่ไม้ไผ่ที่ชาวบ้านมักจะมานั่งพูดคุยกันทุกเย็นเสมอ
เมื่อมาถึง ผมรีบเข้าไปดูใจพ่อ หากนึกภาพไม่ออกว่าพ่อผมผ่ายผอมขนาดไหนให้นึกถึงปลาตากแห้ง พ่อผมผอมมากจนหนังติดกระดูก ดวงตาแกหลับๆ ตื่นๆ และไม่สามารถพูดได้
“พ่อ ภูคากลับมาบ้านแล้วเน้อ”
พ่อลืมตาขึ้นเมื่อได้ยินเสียงผม แม้จะป่วยไข้แต่แววตาที่ทอดมองผมนั้นเต็มไปด้วยแววเอื้ออารีเสมอ ผมสัมผัสได้ถึงบางสิ่งบางอย่างที่พ่อต้องการสื่อ อาจจะช่วงหลังๆ ที่ผมโหมเวลาอ่านหนังสือ จึงไม่ค่อยได้คุยกับพ่อเท่าไหร่นัก ดังนั้น ตลอดวันทั้งวัน ผมจึงคอยอยู่ข้าง ๆ กายท่าน ไม่ยอมห่างไปไหน
ผู้เฒ่าผู้แก่ เพื่อนฝูงจากบ้านใกล้เรือนเคียงแวะเวียนมาเยี่ยมพ่อเป็นระยะ ๆ พวกเขานับถือพ่อของผมเพราะท่านเป็นหมอผีที่มีชื่อเสียงและได้รับการนับถือในหมู่ชาวลัวะเป็นอย่างมาก ผมนึกถึงช่วงตอนเป็นเด็ก ที่พ่อมักจะพาผมไปร่วมพิธีกรรมต่าง ๆ ชาวลัวะเราผูกพันกับความเชื่อเรื่องผีมานมนาน ตลอดช่วงเวลาชีวิตของคนลัวะเราตั้งแต่เกิดจนตาย จึงต้องมีหมอผีคอยเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมให้
การออกงานแต่ละครั้ง พ่อผมจะได้ค่าครูบ้างเป็นบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่จะแค่ได้กินอาหารร่วมกับชาวบ้านเสียมากกว่า อาหารส่วนใหญ่ที่จัดเลี้ยงกัน ก็เป็นเนื้อสัตว์ที่นำมาประกอบพิธี
พ่อมักจะสอนผมอยู่เสมอว่า การเป็นหมอผีไม่สามารถหาเงินได้มากมายจากชาวบ้านที่แทบจะไม่มีอะไรจะกิน หากแต่ว่า งานของหมอผีคือหน้าที่หนึ่งที่ต้องอาศัยความเสียสละ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและความเชื่อมั่นให้กับผู้คน
หลังจากนั้น 7 วัน พ่อก็จากไปอย่างสงบ
พิธีฝังศพของพ่อเป็นไปอย่างเรียบง่าย มีการนำศพไว้ในบ้านแค่คืนเดียวก่อนที่จะนำไปฝังในวันรุ่งขึ้น หลังจากพิธีฝังก็ยังต้องมีพิธีกรรมอื่น ๆ ตามจารีตต่อเนื่องนานถึงสิบคืน มีความเชื่อหนึ่งที่สืบต่อกันมาในเผ่า ว่ามันคือช่วงระยะที่วิญญาณกำลังจะไปเกิดใหม่ช่วงระหว่างนั้น ลุงแสง ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านพิธีกรรมและผู้ช่วยมือขวาของพ่อ พร้อมกับผู้อาวุโสสามสี่คนช่วยกันเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ประกอบพิธี
ขณะที่ทุกคนกำลังขะมักเขม้นทำงานกันอยู่นั้น บุรุษไปรษณีย์ก็ขับรถมอเตอร์ไซค์ฮอนด้าเวฟร้อยมาจอดหน้าบ้าน พร้อมกับยื่นซองจดหมายสีขาวให้กับคนที่ยืนอยู่หน้าบ้าน
“ภูคา ภูคา มาฮับจดหมายเน้อ สงสัยจะมาจากอำเภอ มีตราครุฑด้วย”
เสียงตะโกนเรียกผมให้ไปรับจดหมาย อะไรก็ตามที่มีตราครุฑติดชาวบ้านก็มักจะบอกว่ามาจากอำเภอ ซองจดหมายสีน้ำตาล มีตราครุฑจริงๆ ด้วย มันคือผลสอบของผมนั่นเอง
อ่า ... ผมสอบติดแล้ว ผมสอบติดปลัดอำเภอ
ในจดหมายแจ้งว่าผมต้องไปรายงานตัวในอีกห้าวันข้างหน้า แน่นอนว่าผมดีใจมากเพราะเป็นความฝันของผมตั้งแต่เด็ก อย่างที่บอกว่าไอดอลของผมคือปลัดวิทย์ ผู้มีอุดมการณ์ เมื่อก่อนตอนเขาเข้ามาตรวจตราในหมู่บ้าน ผมมักจะไปนั่งเล่นพูดคุยกับท่านเสมอ ผมฝันไว้ว่าถ้าผมได้เป็นปลัดอำเภอ ผมจะพัฒนาและสร้างความเท่าเทียมให้กับชาวลัวะทุกหมู่บ้านทุกคนจะได้ไม่อยู่อย่างยากลำบากและขาดการพัฒนาอย่างนี้
ผมเดินกลับเข้าบ้าน เก็บจดหมายไว้ในถุงย่ามที่แขวนกับตะปูข้างหัวนอน ผมรอที่จะถึงวันที่จะไปรายงานตัวจนแทบไม่ไหว ทว่า ไม่ทันไร ลุงแสงมาร้องเรียกหาผมอยู่หน้าบ้าน
“ตอนนี้บ่มีใครทำหน้าที่หมอผีประจำหมู่บ้านแล้ว ตามฮีตชาวเราต้องมีผู้สืบทอด โดยเฉพาะทายาททางสายเลือด ทางผู้เฒ่าผู้แก่เห็นว่าภูคาเป็นลูกชายคนเดียว แถมยังเรียนสูง บ่มีใครเหมาะสมกว่านี้อีกแล้ว”
ลุงแสงเริ่มพูดกับผมด้วยเสียงเรียบ ๆ แต่แฝงไว้ด้วยความขึงขัง ผมตอบกลับอย่างรวดเร็ว
“แต่ผมยังเด็กอยู่มากและยังบ่ค่อยรู้อะไรเลยครับ ผมคิดว่าลุงแสงน่าจะเป็นผู้สืบตำแหน่งแทนมากกว่านะครับ”
“ลุงเองก็แก่ตัวแล้ว ภูคาเอ๊ย เหลือเวลาในชีวิตอีกบ่นานแล้ว แถมอย่าง ตอนนี้โลกมันเปลี่ยนไปมากคนรุ่นลุงตามโลกบ่ทันแล้ว ความหวังของชาวลัวะเรา คงต้องฝากไว้กับคนรุ่นใหม่อย่างภูคา อีกอย่าง ภูคาก็มีสิทธิ์ตามสายเลือด”
“แต่ผมเพิ่งเรียนจบ และกำลังสอบติดปลัดอำเภอ ผมทำเพื่อช่วยชาวลัวะเรานะครับ ผมบ่อยากให้คนอื่นเอาเปรียบเราได้อีกต่อไปแล้ว ผมอยากพัฒนาหมู่บ้านเรามากกว่า บ่อยากเป็นหมอผี หมู่บ้านเราบ่เคยมีใครรับราชการ ผมจะเป็นคนแรกของหมู่บ้านและเป็นปลัดคนแรกของชาวลัวะด้วย”
ความเงียบเข้าปกคลุมชั่วขณะ สีหน้าที่เต็มไปด้วยความหวังของลุงแสงและผู้เฒ่าผู้แก่กลายเป็นนิ่งสงบ เวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง ลุงแสงก็ตัดบท...
“แต่ตอนนี้หมู่บ้านเราต้องการผู้นำทางจิตวิญญาณที่เข้าใจสถานการณ์ของยุคสมัยที่เปลี่ยนไปมากกว่า พวกเราบ่ได้ต้องการปลัด ภูคาก็น่าจะรู้ว่าหมู่บ้านของเราบ่เหมือนเดิมแล้ว มีศาสนาอื่นเข้ามาเผยแพร่ และมีการแบ่งแยกเป็นพรรคเป็นฝ่าย ภูคาจะรับหรือบ่รับ ก็ลองตัดสินใจเองละกัน”
-3-
เมื่อเดือนอ้ายปีก่อนๆ นั้น ผมออกจากหมู่บ้านไปเรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ หลายปีผ่านไปหลาย ๆ อย่างในหมู่บ้านเปลี่ยนไปมาก รวมทั้งความเชื่อ ความศรัทธา และความเป็นหนึ่งเดียวของคนในหมู่บ้าน
เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการเข้ามาเผยแผ่ศาสนาต่าง ๆ พระธรรมจาริกได้มาสร้างอาศรมบนดอยใกล้กับหมู่บ้าน พร้อมกับมาขอความร่วมมือจากผู้นำชุมชนให้คนในหมู่บ้านช่วยกันสร้างวัด พร้อมกันนั้นก็ขอว่าหากมีพระมาเดินบิณฑบาตที่หมู่บ้านก็ขอชาวบ้านช่วยใส่บาตร รวมไปถึงร้องขอให้ชาวบ้านไปร่วมพิธีกรรมในวันสำคัญ ในช่วงหยุดภาคเรียนฤดูร้อนก็มีการเกณฑ์เด็กผู้ชายไปบวชเรียน ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด อัตลักษณ์ชาวลัวะเริ่มสูญหาย ป่าช้าฝังศพแบบดั้งเดิมกลับกลายเป็นว่ามีเมรุเผาศพในแบบของศาสนาพุทธเข้ามาแทน
นอกจากศาสนาพุทธแล้ว ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ก็ยังได้เข้ามาเผยแพร่ในหมู่บ้านด้วยเช่นกัน ทุกวันสำคัญและวันอาทิตย์จะมีศาสนาจารย์เข้ามาเทศนาในหมู่บ้านและแจกข้าวของให้ชาวบ้าน ใครที่มาฟังเทศนาพระคริสต์จะได้รับการแจกข้าวสารและไข่ไก่จำนวนมาก ชาวบ้านหลายคนยอมหยุดงานเพื่อจะรอเอาสิ่งของเพราะมันคุ้มค่ากว่าออกไปรับจ้างที่รายได้
ไม่มากพอเลี้ยงชีพ หลายครอบครัวเริ่มประกาศตัวเข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์ แม้แต่ท่านอบต.ชัย ก็ยังไปเข้ารีต โดยหวังว่าศาสนาจารย์จะสนับสนุนให้เขาให้ได้รับการเลือกตั้งในสมัยถัดไป
ผมนึกถึงสมัยเรียนชั้นมัธยมปลายในโรงเรียนประจำอำเภอ ตอนนั้นยังไม่มีวัดแต่มีการเข้ามาตั้งอาศรมของพระธรรมจาริกในหมู่บ้านต่าง ๆ โรงเรียนได้บรรจุวิชาพุทธศาสนาให้เป็นวิชาเลือกเสรีสำหรับทุกคน แต่เพื่อนของผมบางคนก็ไม่ชอบใจนักเพราะพวกเขาพักอยู่ในหอพักของนักบวชศาสนาคริสต์ เพื่อนเคยชวนผมไปร่วมงานที่โบสถ์ บอกว่ามีเลี้ยงข้าวฟรี ผมไปที่นั่นครั้งหนึ่งและเห็นว่าร้องเพลงอย่างมีความสุข
ตอนแรกผมนึกว่าการเป็นหมู่บ้านพหุวัฒนธรรมอย่างนี้จะมีแต่ความสงบสุข จนกระทั่งงานศพของพ่อวันสุดท้าย ...
ในวันนั้น ผู้ใหญ่บ้านเชิญทุกคน ทุกศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน ผู้นำทางศาสนาทั้งฝ่ายพระสงฆ์และศาสนาจารย์ของคริสเตียนต่างก็ทักทายปราศรัยกันอย่างคุ้นเคย ใบหน้าแต่ละคนยิ้มแย้มแจ่มใส แม้จะต้องประกอบพิธีตามความเชื่อแบบผีชาวลัวะ
แต่ในมุมหนึ่งของข่วงบ้าน ชาวบ้านก็จะนั่งกันเป็นกลุ่ม ๆ นั่งคุยกันตามอัธยาศัยรอเวลาเสร็จพิธี
“พระเจ้าของเรายิ่งใหญ่ สามารถยกบาปให้หมู่เราได้ ” อบต.ชัย พยายามจะพูดชักชวนคนอื่น โดยยกเอาคำพูดที่ตัวเองจำได้จากการเทศนาของศาสนาจารย์ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมามากล่าวอ้าง
“บุญบาปว่ากันตอนตาย แต่จะมีจริงหรือบ่มีจริงก็บ่รู้ ถ้ามัวแต่กลัวบาป สูจะฆ่าหมู ฆ่าไก่ได้ยังไง” ป้าศรีผู้ที่ชอบนุ่งขาวห่มขาวทุกวันพระ หันมาพูดบ้างเมื่อได้ยินสิ่งที่อบต.ชัยพูด
“มนุษย์ทุกคนต้องกลัวบาปสิ หากบ่กลัวบาป จะบ่ได้ขึ้นสวรรค์”
“สวรรค์บ่มีจริง ผีสิมีจริง” คนแก่ชาวลัวะพูดบ้าง
“ผีบ่มีจริง วิญญาณคนตายแล้วจะไปอยู่กับพระเจ้า”
“จะอยู่กับพระเจ้าได้ยังไง พวกเขาต้องไปเกิดใหม่” ชาวลัวะยังไม่ยอมแพ้เรื่องฝีปาก
“พอ ๆ” ลุงแสงพูดตัดบทขึ้นมา “ทุกศาสนาต่างก็มีความเชื่อบ่เหมือนกัน จะเถียงกันให้ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา ทุกศาสนาก็สอนให้เราเป็นคนดีทั้งหมดนั่นแหละ”
การถกเถียงเรื่องศาสนาเริ่มเห็นบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานศพ งานขึ้นบ้านใหม่ งานมงคลหรืองานประชุมต่าง ๆ คนในหมู่บ้านเริ่มเปิดประเด็นเรื่องศาสนา โดยมากแล้วก็ไม่พ้นเรื่องบุญ บาป นรก สวรรค์ และส่วนใหญ่ก็จะจบด้วยการตัดบทโดยผู้อาวุโสของหมู่บ้านที่พยายามให้แยกย้ายกันเพราะถ้าปล่อยให้เถียงกันไปก็หาข้อสรุปไม่ได้
- 4 -
ในเดือนยี่ (เดือนที่สอง) หรือตรงกับเดือนมกราคมของปฏิทินสากลของทุกปี จะมีพิธีกรรมเลี้ยงผีประจำหมู่บ้าน ปกติแล้วจะมีการเลี้ยงด้วยหมู แต่ถ้าครบ 3 ปี จะต้องเลี้ยงใหญ่คือต้องฆ่าควาย ช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงที่ชาวบ้านจะเรี่ยไรเงินมาเพื่อซื้อควายมาเลี้ยงผี
เดือนอ้ายกำลังจะผ่านไป การตัดสินใจเร่งใกล้เข้ามา
ใกล้จะถึงวันที่ผมต้องไปรายงานตัวรับราชการ และ ใกล้ถึงวันที่ต้องแต่งตั้งหมอผีประจำหมู่บ้านมาแทนตำแหน่งที่พ่อเคยเป็น
ปีนี้ คนที่เป็นหมอผีต้องคิดหนักเพราะผู้ที่นับถือศาสนาพุทธไม่ค่อยอยากจะให้ความร่วมมือ หรือแม้แต่คนที่หันไปนับถือศาสนาคริสต์ก็ไม่อยากเข้าร่วมพิธี
คนพุทธอ้างว่า "การฆ่าควายเป็นบาปใหญ่” ส่วนผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์แม้ไม่รู้สึกว่าการฆ่าควายเป็นบาป แต่ไม่อยากให้สมาชิกมาสนับสนุนเพราะ “เป็นความเชื่อเกี่ยวกับผี” ซึ่งตรงกันข้ามกับฝั่งพระเจ้า
นอกจากหมู่บ้านของผมแล้ว หมู่บ้านอื่นหรือแม้แต่ชาติพันธุ์อื่นที่อยู่ใกล้เคียงกันก็เจอปัญหาคล้าย ๆ กันนี้ด้วย ทุก ๆ อย่างกำลังจะสูญหายไป เมื่อมีการหลั่งไหลเข้ามาของความเจริญ
ผมจะทำอย่างไรเมื่อความเจริญที่ผมใฝ่ฝันถึง ไม่สามารถไปด้วยกันกับอัตลักษณ์ของชนชาติพันธุ์ได้ แล้วตัวผมนี่เล่า ผมต้องทิ้งความฝันเพื่อมาสานต่อสิ่งที่รับผิดชอบอย่างนั้นหรือ
- 5 -
ขณะที่ผมกำลังสับสน ป.วิทย์ก็ขับรถยนต์เข้ามาพอดี รถวีโก้ 4 ประตูสีเทาที่มีแค่คันเดียวเท่านั้นในแถบนี้ ใครก็จำได้ ท่านขับรถไปจอดที่ร่มใต้ต้นมะขามหน้าบ้าน ท่านเปิดประตูรถ ค่อย ๆ ก้าวเดินออกมาในชุดเครื่องแบบข้าราชการเต็มยศ ป.วิทย์ ส่งยิ้มให้ผม แล้วก็เดินมาทักทาย
“สวัสดีภูคา ทำไมดูหน้าตากังวลจัง”
ผมเล่าความในใจให้ ป.วิทย์ฟัง พร้อมกับขอความเห็น
“พี่เข้าใจภูคา พี่ก็เห็นปัญหาอยู่ ตอนประชุมประจำเดือนของหมู่บ้านครั้งที่ผ่านมาพี่ก็เป็นตัวแทนของอำเภอเข้าร่วมประชุมด้วย ก็ขึ้นอยู่กับภูคาแล้วล่ะ เพราะดูแล้วก็ไม่มีใครอยากเป็นผู้นำในพิธีกรรมของปีนี้”
“นั่นสิครับ เรื่องผีเป็นเรื่องที่คนพยายามที่จะละทิ้งกันไปหมดแล้ว หมู่บ้านใกล้ ๆ ก็ทิ้งผีกันหมดแล้ว หมอผีก็ไม่ค่อยได้รับความเชื่อถือแล้วด้วย” ผมรำพึงรำพันแบบเศร้า ๆ
ป.วิทย์ นิ่งอยู่ชั่วขณะหนึ่ง ย้อนคิดไปถึง 10 กว่าปีที่แล้ว วันแรกที่ได้มาทำงานที่นี่ หมอผีแต่ละหมู่บ้านต่างก็จัดขบวนมามัดแขนต้อนรับอย่างคับคั่ง เวลาไปประชุมหมู่บ้านต่าง ๆ ก็ได้รับการต้อนรับขับสู้อย่างดี โดยเฉพาะเหล่าหมอผีในหมู่บ้านต่าง ๆ จะเป็นผู้นำในกิจกรรมต่าง ๆ เสมอ ตอนนี้ส่วนใหญ่ก็ล้มหายตายจากกันไปเกือบหมดแล้ว ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็หันไปนับถือศาสนาอื่น ๆ ที่หลั่งไหลเข้ามาด้วยปัจจัยและความช่วยเหลือต่าง ๆ จนชาวบ้านไม่อาจที่จะปฏิเสธได้
“ภูคา” ป.วิทย์พูดเบา ๆ หลังจากที่เห็นว่าผมเงียบไปสักพัก
“ครับพี่ ผมยังฟังอยู่ครับ” ผมตอบเบา ๆ
“ภูคา คิดว่าความเชื่อเรื่องผีกำลังจะหายไปหมดไหม” ป.วิทย์ หันมาถามผมด้วยสีหน้าจริงจัง
“ผมก็คิดอย่างนั้นแหละครับ ไปไหนก็เจอแต่วัด เจอแต่โบสถ์ อีกหน่อยคนก็คงทิ้งผีกันหมด” ผมตอบด้วยเสียงเศร้าสร้อย คล้ายกับคนหมดความหวัง
“ตอนเรียนมหาวิทยาลัย ภูคาเคยไปวัดไหม ?” ป.วิทย์ถาม ดึงสติผมให้มาอยู่กันตัว
“เคยไปครับ ทำไมละครับ” ผมถามกลับด้วยความสงสัย
“ภูคา เคยเห็นการนับถือผีในวัดไหม ? ” ป.วิทย์ถามต่อ พร้อมกับยิ้มเล็ก ๆ บนมุมปาก
“จะมีได้อย่างไรครับ ผีที่ไหนจะอยู่ในวัด” ผมตอบอย่างมั่นใจ
“ภูคาเคยเห็นศาลผีในวัดไหม” ป.วิทย์ถามต่อ
“เออ...ใช่ ๆ ผมเคยเห็นครับ มีศาลวัด มีศาลตายาย มีศาลแม่ธรณี มีศาลหลักเมือง โอ้...มี เยอะแยะเลยครับ” ผมตอบอย่างตื่นเต้น
“จริง ๆ แล้ว ความเชื่อเรื่องผีไม่เคยหายไปไหน ยังอยู่ในสายเลือดของเราเสมอ ศาสนาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตแต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความเชื่อเรื่องผีที่ฝังลึกในสายเลือดของเราได้ ผีในความเชื่อของชาติพันธุ์ไม่ใช่วิญญาณคนตายแต่เป็นพลังอำนาจที่อยู่ในธรรมชาติมีชื่อเรียกที่ต่างกัน ศาสนาต่าง ๆ พยายามผลักดันความเชื่อนี้ให้อยู่ฝ่ายตรงข้ามนั่นคือ “ผี” ซึ่งต่ำต้อยกว่าและสามารถเอาชนะได้ด้วยกลวิธีทางศาสนา คนที่ไม่ยอมทิ้งความเชื่อเหล่านี้จึงพยายามดัดแปลงหล่อหลอมขึ้นมาใหม่ให้เป็นส่วนหนึ่งที่เกาะติดหรือแฝงไว้ในวิถีของศาสนา” ป.วิทย์พูดเรียบ ๆ ด้วยน้ำเสียงแบบนักวิชาการ
“อ่า...ผมเริ่มเข้าใจแล้วครับ” พูดด้วยแววตาที่เปล่งประกาย
“พิธีสู่ขวัญ พิธีแฮกนา เลี้ยงผีบ้าน ผีประจำหมู่บ้าน ทำขวัญบ้าน ตะแหล๋ว อ่า...มีพิธีกรรม อีกเยอะแยะเลยครับ ที่เป็นพิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวกับผี พบในวิถีชีวิตได้ทั่วไป” ผมเริ่มมองเห็นภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ
“พี่เคยไปพิธีบวชป่าของกะเหรี่ยงที่เชียงใหม่ มีพระ บาทหลวง และหมอผี มาทำพิธีร่วมกัน ภูคาจำได้ไหมเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตอนที่เราไปประเพณีกินสโลดบนดอย ตอนที่พ่อหลวงของหมู่บ้านบอกเราว่า พิธีกรรมนี้มีทั้งชาวพุทธและชาวคริสต์มาร่วมตีพิ เต้นรำในพิธีกินสโลดด้วยกัน เพียงแต่ไม่ได้เข้าร่วมบางพิธีที่เป็นเรื่องของการบูชา บนบานผีเท่านั้น” ป.วิทย์กล่าว
“จำได้ครับ ผมเข้าใจแล้วครับ ความแตกต่าง ไม่จำเป็นต้องแตกแยก” ผมพูดแสดงความเห็นของตนเองออกมา
“ถ้าเราตั้งใจจะพัฒนาและช่วยเหลือชาวลัวะ เป็นอะไรก็สามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นปลัดอำเภอ หรือหมอผี เราก็สามารถใช้ความรู้ ความสามารถ นำมาใช้ได้ไม่แตกต่างกัน” ป.วิทย์พูดให้กำลังใจภูคา
“พี่ ป.วิทย์ คิดว่าผมจะเป็นหมอผีที่สามารถสืบทอดพิธีกรรมเลี้ยงผีประจำปีในเดือนยี่นี้ได้ไหมครับ” ภูคาถามด้วยสีหน้ากังวล
“พี่ว่า ภูคาต้องถามใจตัวเองมากกว่าว่าพร้อมที่จะแบกรับภาระนี้ไหม ? ถ้าพร้อม...เดี๋ยวก็หาวิธีการได้เอง” ป.วิทย์พูดให้กำลังใจ พร้อมกับตบบ่าผมเบา ๆ
ผู้เขียน
สุริยาวุฒิ เกตุ้ย
ป้ายกำกับ สุริยาวุฒิ เกตุ้ย ก่อนจะสิ้นเดือนอ้าย เรื่องสั้น