บุญผะเหวดกับโควิด 19

 |  ศาสนา ประเพณี พิธีกรรม
ผู้เข้าชม : 19584

บุญผะเหวดกับโควิด 19

 

พฤกษ์ เถาถวิล

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

           “บุญผะเหวด” เป็นบุญประจำปีในฮีต 12 ของชาวอีสาน เป็นบุญใหญ่ของหมู่บ้าน หลังจากว่างเว้นไปหนึ่งปีเพราะโควิดระบาด และในรอบปีที่ผ่านมาไม่มีงานบุญประเพณีในหมู่บ้านเลย ชาวบ้านโพธิ์จึงมีมติจะจัดบุญผะเหวดในปีนี้ วันงานกำหนดไว้เป็นแรม 12 และ 13 ค่ำ เดือน 5 แต่เมื่อวันงานมาถึง โควิดก็มีอันกลับมาระบาดอีกครั้งเป็นรอบที่ 3 ชาวบ้านจะเลือกอะไรดีระหว่างบุญประเพณี กับการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19

           บทความนี้จะพาไปสำรวจ “ความหมาย” ของบุญประเพณีในทัศนะของชุมชนหมู่บ้าน และทบทวน “ต้นทุน” ที่ชุมชนต้องจ่ายในสถานการณ์โควิด

 

การจัดงานภายใต้ความกดดัน

           “เรายังจัดงานกันต่อไปครับ พี่น้องไม่อยากให้ยกเลิก เราเตรียมงานมากว่า 2 สัปดาห์แล้ว ผมได้ขออนุญาตทางอำเภอนานแล้ว อำเภอก็อนุญาตมาแล้ว เราคงจัดงานตามที่วางแผนไว้ แต่ต้องระวังหน่อย”

           ผู้ใหญ่บ้านหนุ่มแห่งบ้านโพธิ์ (ชื่อหมู่บ้านสมมุติ) หมู่บ้านแห่งหนึ่งในภาคอีสาน กล่าวด้วยท่าทีวิตกกังวล หลังจากผู้เขียนถามว่าการจัดบุญผะเหวดยังเดินหน้าต่อไปไหม

           วันแรกของบุญผะเหวดบ้านโพธิ์คือวันที่ 9 เมษายน 2564 เป็นวันเดียวกับที่กรุงเทพฯ ประกาศปิดสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างน้อย 14 วัน เหตุการณ์ดังกล่าวสืบเนื่องจากการตรวจพบว่าสถานบันเทิงย่านทองหล่อเป็นคลัสเตอร์แพร่เชื้อโควิด 19 ทำให้มีผู้ติดเชื้อหลากหลายวงการ รวมทั้งรัฐมนตรี และอาจมีผู้ติดเชื้ออีกหลายรายในแวดวงผู้บริหารระดับสูงของประเทศ สื่อสำนักหนึ่งรายงานว่า “คลัสเตอร์ผับติด 604 ราย กระจาย 32 จังหวัด แค่ทองหล่อเจอไปแล้ว 248 ราย เฉพาะคริสตัลคลับติดถึง 136 ราย ภาพรวมมีสถานบันเทิงพบผู้ติดเชื้อ 80 ร้าน”

           ในวันเดียวกันที่จังหวัดที่ตั้งของบ้านโพธิ์ สื่อท้องถิ่นรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อจำนวน 6 ราย เกือบทั้งหมดมาจากคลัสเตอร์ทองหล่อ มีการเปิดไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อ หลายคนได้เดินทางไปในสถานที่ชุมชนหลายแหล่งในจังหวัด จึงคาดว่าในระยะวันสองวันนี้น่าจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น (วันรุ่งขึ้นคือ 10 เมษายน 2564 จังหวัดประกาศจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวมเป็น 23 ราย)

           “วันพรุ่งนี้คนจากกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งน่าจะกลับมาถึง อันนี้ละน่าห่วง”

           กรรมการหมู่บ้านคนหนึ่งพูดขึ้น พรุ่งนี้ (10 เมษายน 2564) จะเป็นวันแห่กัณฑ์หลอนเข้าวัด ซึ่งเป็นกิจกรรมใหญ่อีกวันหนึ่ง ที่จังหวัดนี้ยังไม่มีประกาศของจังหวัดห้ามการจัดกิจกรรม สำหรับผู้กลับมาจากพื้นที่เสี่ยง มีข้อกำหนดว่าให้รายงานตัวกับผู้ใหญ่บ้าน ลงทะเบียนในแอปพลิเคชั่นติดตามตัวของจังหวัด และงดไปสถานที่ชุมนุม ปัจจุบันในยุคโซเชียลมีเดียที่นำเสนอข่าวสารอย่างฉับไว และชาวบ้านสามารถเข้าถึงโซเชียลมีเดียได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง พวกเขาจึงสามารถมีส่วนร่วมในการสื่อสารทางสังคมได้มากขึ้น ที่จังหวัดนี้มีสื่อท้องถิ่นทางโซเชียลมีเดียหลายสำนัก รวมทั้งสื่อของประชาสัมพันธ์จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังไม่รวมถึงกลุ่มไลน์หลากหลายกลุ่ม ชาวบ้านจึงสามารถติดตามข่าวสารจากหลายช่องทางแบบนาทีต่อนาที

           แต่ก่อนที่จะถึงกิจกรรมแห่กัณฑ์หลอนในวันพรุ่งนี้ ปัญหาใหญ่คือในคืนนี้จะมีมหรสพ จะมีคนมาจำนวนมาก ซึ่งจำนวนหนึ่งจะมาจากหมู่บ้านหรือตำบลใกล้เคียง ที่ลานวัดทีมงานหมอลำซิ่ง ซึ่งจ้างมาด้วยเงิน 17,000 บาท กำลังเตรียมเวทีสำหรับคืนนี้ ทีมงานหมอลำกว่า 10 ชีวิต ซึ่งขาดแคลนการจ้างงานมานานคงไม่อยากให้ยกเลิกงาน อีกทั้งบรรดาวัยรุ่นแฟนๆ ที่รอคอยความสนุกคงไม่ยอมให้เลิกรากันไปง่ายๆ ที่ประชุมกรรมการหมู่บ้านแบบฉุกเฉินจึงเกิดขึ้น มีมติว่าจะใช้แนวปฏิบัติที่เคยเป็นมา คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ของหมู่บ้านจำนวน 20 คน จะทำหน้าที่ดูแลครอบครัวใกล้เคียงของตน 10-13 ครัวเรือน หากในกลุ่มบ้านใดมีคนกลับมาจากพื้นที่เสี่ยงให้รายงานตัวกับ อสม. จากนั้น อสม. รายงานกับผู้ใหญ่บ้าน และขอให้ผู้กลับมากักตัวเองในบริเวณบ้าน สำหรับงานมหรสพที่วัดในคืนนี้ อสม. จะตั้งโต๊ะคัดกรองทางเข้าออกประตูวัดทั้งสามทาง คนต่างบ้านให้ติดสติกเกอร์แสดงตัวตน และให้ลงทะเบียนแอพพลิเคชั่นติดตามตัวของจังหวัดอย่างเคร่งครัด   

           “คงต้องว่ากันไปตามนี้ละครับ ผมภาวนาอย่าให้มีคำสั่งยุติงานกลางคัน ขอแค่ผ่านสองวันนี้ไปก่อน”

           ผู้ใหญ่บ้านกล่าว ก่อนที่จะหันไปง่วนเช็คข่าวจากไลน์กลุ่มของผู้ใหญ่บ้านกำนันประจำท้องที่    

 

ความหมายในสถานการณ์โควิด

           บุญผะเหวด หมายถึง บุญพระเวสสันดร เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บุญมหาชาติ มูลเหตุที่มีการทำบุญมีคติความเชื่อมาจากเรื่องพระมาลัยสูตรว่า หากมนุษย์อยากจะได้พบพระศรีอริยเมตไตรย ให้รู้จักทำบุญ ละเว้นบาป และให้ฟังเทศน์เรื่องมหาเวสสันดรชาดกให้จบในวันเดียว จะได้บุญกุศลใหญ่หลวง งานบุญผะเหวดของชาวอีสานมักจัด 2 วัน วันแรกคือมื้อโฮม (วันรวม) พิธีกรรมสำคัญคือ การอัญเชิญพระอุปคุตจากสระหรือหนองน้ำใกล้หมู่บ้านมาประดิษฐาน ณ หอที่ตั้งไว้ มีขบวนแห่อัญเชิญพระเวสสันดร พระนางมัทรี พร้อมด้วยกัญหาและชาลีเข้าเมือง ขบวนแห่มีดนตรีกลองยาวเล่นอย่างสนุกสนาน กลางคืนมักมีมหรสพสมโภช วันที่สองคือมื้องัน (วันเทศน์) ตอนเช้าตรู่มีการแห่ข้าวพันก้อนที่ทำจากข้าวเหนียวปั้นให้เป็นลูกกลมขนาดเท่าหัวแม่มือ จากนั้นพระภิกษุสามเณรเริ่มเทศน์ตั้งแต่กัณฑ์สังกาส ต่อมาเป็นการเทศน์พระเวสสันดรชาดก เริ่มกัณฑ์แรกคือกัณฑ์ทศพร เรียงตามลำดับกัณฑ์ไปเรื่อยๆ ตลอดทั้งวันจนถึงนครกัณฑ์เป็นกัณฑ์สุดท้าย1

           เป็นที่ทราบกันดีในหมู่นักมานุษยวิทยาว่า “วัฒนธรรม” นั้นกล่าวให้ถึงที่สุดก็คือ “ระบบความสัมพันธ์ของสังคม” ในระดับหนึ่งวัฒนธรรมคือสิ่งที่เราเห็นได้ สัมผัสได้ เช่นงานประเพณี พิธีกรรม ศิลปะ แต่ในอีกระดับหนึ่งวัฒนธรรมคือนามธรรม เกี่ยวกับความเชื่อ ศรัทธา อุดมคติ การให้คุณค่าทางสังคม โดยปกติคนจะมองไม่เห็นนามธรรม จึงต้องอาศัยวัฒนธรรมรูปธรรมทำหน้าที่สื่อสะท้อนวัฒนธรรมในมิตินามธรรม ในแง่นี้ เมื่อพิจารณาถึงวัฒนธรรมในฐานะสิ่งที่คนเราคิดและทำกันจนเคยชิน จึงกล่าวได้ว่าวัฒนธรรมก็คือ เครื่องมือจัดระเบียบ ตอกย้ำ ค้ำจุน หรือ “จรรโลงโครงสร้างสังคม”2

           ในยามปกติ วัฒนธรรมช่วยประคับประคองโครงสร้างและความสัมพันธ์ในสังคมให้ดำเนินไปอย่างเป็นปกติสุข ในยามคับขัน วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือกระชับความสัมพันธ์ ปลุกปลอบขวัญกำลังใจ ให้มีเรี่ยวแรงดำเนินชีวิตต่อไป   

           และสำหรับนักมานุษยวิทยาบางท่าน มีข้อเสนออย่างกระชับและตรงประเด็นว่า “วัฒนธรรมคือความหมาย” (culture as (public) meaning) การศึกษาวัฒนธรรมเป็นศาสตร์ของการตีความ เราจะเข้าใจวัฒนธรรมของคนกลุ่มหนึ่งได้ก็ต่อเมื่อเข้าไปอยู่ในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของพวกเขา หรือเข้าไปเป็น “คนใน” ที่มองโลกจากจุดยืนเดียวกับพวกเขา และควรเข้าใจว่าทุกสิ่งที่แสดงออกล้วนแล้วแต่เป็น “สัญลักษณ์” (symbolic) ที่สื่อความหมายทางสังคม3

           ประเพณีบุญผะเหวดของชาวบ้านโพธิ์ดำเนินไปตามขนบของชาวอีสาน แต่ก็มีการปรับประยุกต์ในข้อปลีกย่อยตามที่ชุมชนเห็นเหมาะสม หากว่าเราได้พิจารณาบุญผะเหวด โดยมองกิจกรรมและการแสดงออกต่างๆ ของชาวชุมชนในฐานะสัญลักษณ์ทางสังคม จะทำให้เราเข้าใจความหมายหลายประการที่ประกอบกันเข้าเป็นชุดของความหมายสำคัญที่แฝงอยู่ในบุญประเพณีนี้

 

พิธีบูชาพระรัตนตรัยที่ลำห้วยของหมู่บ้าน ก่อนจะแห่พระเวสสันดรจากป่าหิมพานต์เข้าสู่เมือง

 

 

           อ้ายบ่าว หนุ่มใหญ่ชาวนครศรีธรรมราชที่มาแต่งงานอยู่กินในหมู่บ้านแห่งนี้ ปกติเป็นผู้ค้าตลาดนัด แต่วันนี้มาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการหมู่บ้าน ขณะที่กำลังชั่งกระสอบข้าวเปลือกที่ชาวบ้านนำมาบริจาค อ้ายบ่าวอธิบายให้ผู้เขียนฟังว่า ข้าวเปลือกที่ได้รับบริจาคมานี้ จะรวบรวมไว้ขาย และนำเงินเข้าวัด เขาอธิบายสาเหตุการบริจาคว่า “ชาวบ้านคิดว่าบริจาคแล้วได้บุญ การทำบุญทำให้เกิดบารมี ไม่ว่ายากดีมีจนทุกคนก็จะมาบริจาค ไม่มีใครว่ากัน จะให้มากให้น้อยได้บุญเหมือนกันหมด” ความเชื่อนี้เห็นได้ชัดว่าได้รับอิทธิพลจากคติธรรมของพระเวสสันดรชาดก ซึ่งเป็นเรื่องที่ว่าด้วย “ทานบารมี” ของพระเวสสันดร ก่อนจะประสูติเป็นพระพุทธเจ้า    

           เมื่อได้สนทนากับอ้ายบ่าวมากขึ้นทำให้เข้าใจว่า ชาวบ้านแบ่งการทำบุญออกเป็น 2 แบบ คือ ทำบุญกับพระ และทำบุญกับวัด ทำบุญกับพระคือการทำบุญใส่บาตรและถวายปัจจัยแก่พระภิกษุสามเณร แต่ทำบุญกับวัดคือ การทำบุญที่นำผลประโยชน์เข้าวัด แล้ววัดทำหน้าที่ตัวกลางนำเงินไปใช้เพื่อกิจการส่วนรวม เช่น ปรับปรุงเมรุเผาศพ พื้นที่ตลาดนัด ทำเต็นท์สำหรับจัดงาน โต๊ะ เก้าอี้ รั้วโรงเรียน ที่หมู่บ้านนี้การทำบุญกับวัดเป็นธรรมเนียมมานานแล้ว ในงานบุญคราวนี้ยังมีอุบายอื่นๆ ในการระดมทุน เช่น ในตอนเช้าของมื้อโฮมมีการจัดกิจกรรมสอยดาว โดยผู้มีจิตศรัทธาในหมู่บ้านบริจาคของรางวัล แล้วขายสลากใบละ 20 บาท เงินที่ได้ก็เอาเข้าวัด ในอีกทางหนึ่งในเย็นวันนี้จะมีหมอลำซิ่ง จะเปิดขายบัตรเข้าดูในราคา 20 บาท และสำหรับร้านค้าที่จะมาขายของก็เก็บค่าแผงๆละ 10-20 บาท

           นอกจากนั้นที่โรงครัวของวัด ที่เปิดให้บริการอาหารตลอดช่วงกลางวัน 2 วันของการทำบุญ มีการระดมเงินบริจาคของครอบครัวๆ ละ 200 บาท พร้อมกับรับบริจาควัตถุดิบสำหรับทำอาหาร และอาสาสมัครคนทำอาหารและล้างจาน จุดประสงค์คือ “ต้องการให้คนมาประทับใจ คนที่เขามาต่างบ้านก็มี คนบ้านเรากันเองก็เยอะแยะ ใครที่ไม่มีกิน อยากกินอะไรดีๆ ก็มา เราถือว่าเป็นวันพิเศษ ให้กับพี่น้องทุกคน”

           กิจกรรมดังกล่าวนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นหลักการ การต่างตอบแทน (reciprocity) และ การจัดสรรปันส่วนใหม่ (redistribution) ดังที่ Karl Polanyi อธิบายไว้ว่า เป็นหลักการทางสังคมของมนุษย์ก่อนยุคทุนนิยมครองโลก เป็นสภาวะที่ระบบเศรษฐกิจฝังตัวอยู่ในความสัมพันธ์ทางสังคม คือเศรษฐกิจหรือตลาดมิได้เป็นตัวชี้นำสังคม ไม่ใช่กำไร-ขาดทุนเป็นเป้าหมาย หากแต่เศรษฐกิจถูกกำกับด้วยคุณค่าทางสังคม เป็นการร่วมไม่ร่วมมือและการแบ่งปัน เพื่อความอยู่รอดของสังคมโดยรวม4 หากนำแนวคิดของ Polanyi มาใช้ในกรณีของบ้านโพธิ์ อาจกล่าวได้ว่ากิจกรรมต่างๆ สะท้อนการให้ความสำคัญกับส่วนรวม (ชุมชน) โดยใช้ทั้งกลไกของการต่างตอบแทนในฐานะคนที่อยู่ร่วมในชุมชนเดียวกัน (การแห่กัณฑ์หลอนจากหมู่บ้านอื่นเป็นกลไกการต่างตอบแทนข้ามชุมชนด้วย) และกลไกการจัดสรรปันส่วนใหม่ ในการกระจายทรัพยากรไปทำสิ่งสาธารณประโยชน์ของชุมชน ในเวลาเดียวกัน การดำเนินการนี้ช่วยสร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และบรรเทาความรู้สึกแตกแยกขัดแย้งกัน จากความเหลื่อมล้ำต่ำสูง หรือการแบ่งพรรคแบ่งพวก ที่มีอยู่ในสังคม   

           ที่ศาลาวัดระหว่างรอฟังเทศน์ คุณยายบุญมี ข้าราชการบำนาญ อดีตครูโรงเรียนขยายโอกาส ประจำพื้นที่ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านโพธิ์ เล่าให้ฟังว่า วันนี้รู้สึกอุ่นใจที่ได้มาวัดอีกครั้ง

           “โควิด แม่ไม่กระทบหรอกเป็นข้าราชการ มีเงินบำนาญ แต่ที่กระทบคือไม่ได้มาวัด ไม่ได้มาเจอเพื่อนๆ มันเป็นประเพณี ได้ทำทุกปี ถ้าไม่ได้ทำก็เงียบเหงา ไม่สบายใจ”

           เธอกล่าวว่าในปีที่ผ่านมาไม่มีบุญใหญ่ของหมู่บ้าน ปกติเมื่อมีบุญบ้านคนสูงอายุทั้งในหมู่บ้านนี้และหมู่บ้านใกล้เคียงจะได้มาพบกัน โดยเฉพาะในช่วงเข้าพรรษามีธรรมเนียมมาถือศีลนอนวัดหลายสัปดาห์ แต่ปีที่ผ่านมางดไปหมด ในงานนี้คุณยายตั้งใจจะอยู่ฟังเทศฯให้ครบ 13 กัณฑ์ เธอรู้สึกเสมือนเป็น “หน้าที่” อย่างหนึ่งในการทำนุบำรุงศาสนา และเป็นเสมือนตัวแทนของหมู่บ้าน เธอบ่นว่าปีนี้คนน้อย ปกติคนจะเต็มศาลาวัด

           “อายเขา ถ้ามีคนฟังเทศน์น้อย คนจะว่าบ้านเราเป็นยังไง ไม่มีคนเข้าวัด”

 

ผู้สูงอายุรอฟังเทศน์ที่ศาลาวัด

 

           ที่ด้านนอกศาลาวัดมีกลุ่มพ่อบ้านรวมตัวกันอยู่ เกือบทั้งหมดเป็น “กลุ่มผู้รับเหมา” คือเป็นกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างรายย่อย มีหัวหน้ากลุ่มไปรับช่วงงานมาจากรายใหญ่ แล้วพาทีมงานไปทำงานตามว่าจ้าง ในกลุ่มมีสมาชิก 3-7 คน ในหมู่บ้านนี้มีกลุ่มผู้รับเหมาประมาณ 10 กลุ่ม พิชัย ซึ่งเป็นหนึ่งในคนกลุ่มนี้ บอกกับผู้เขียนว่า พวกเขามาคอยช่วยรับแขก บริการเสิร์ฟน้ำท่าอาหารแก่ผู้มาร่วมงาน ปกติกลุ่มผู้รับเหมาจะออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน จึงไม่ค่อยมีเวลาร่วมกิจกรรมในหมู่บ้าน บางคนได้มาช่วยจัดสถานที่ในวันเตรียมงาน บางคนมาช่วยงานบริการในวันงาน   

           “ผมมาทุกปีครับ ปกติพวกเราจะไปทำงานนอกหมู่บ้าน แต่มีบุญบ้านก็ต้องมา เพราะเป็นบ้านเรา”

           การมาช่วยงานจึงนับเป็นการแสดงออกถึงความเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้าน เขาบอกว่าปกติจะไม่ได้นั่งพักแบบนี้ เพราะแขกมาเยอะ แต่ปีนี้คนมาน้อยกว่าทุกครั้ง และเมื่อคุยกับพิชัยอีกจึงรู้ว่า เขาคือผู้นำที่ชักชวนเพื่อนผู้รับเหมามาลงทุนลงแรงใช้ฝีมือช่างทำเต็นท์และโต๊ะถวายวัดเมื่อไม่นานมานี้ ผลงานดังกล่าวถวายวัดให้ใช้เป็นสาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ลูกชายที่เพิ่งเสียชีวิตไป           

           ในแง่นี้อาจกล่าวได้ว่าบุญประเพณีคือ พื้นที่ทางสังคม สำหรับการแสดงออกคนทุกกลุ่ม ผู้สูงอายุฝ่ายชายได้มาช่วยงานพิธีกรรมและปรนนิบัติพระสงฆ์ แม่บ้านช่วยทำอาหาร ล้างจาน เด็กๆ ตามพ่อแม่มาเล่นที่วัด วัยรุ่นที่ออกไปเรียนหนังสือหรือไปรับจ้างได้กลับมาบ้าน ทำให้หมู่บ้านคึกคักมีสีสัน ไม้เว้นแม้แต่กลุ่มชายขอบกลุ่มต่างๆ ในหมู่บ้าน พื้นที่ทางสังคม เป็นโอกาสของการกระชับความสัมพันธ์ หลังจากที่ห่างหายกันไปชั่วระยะ เป็นโอกาสการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชนตามสถานะและความถนัด เป็นโรงมหรสพที่ทุกคนเป็นทั้งผู้กำกับ ผู้เล่น และผู้ชมไปพร้อมกัน  

           ความสนุกสนานเป็นอีกมิติหนึ่งของบุญประเพณี การแห่พระเวสสันดรเข้าเมืองนั้นต้องมีขบวนกลองยาวประโคม ระหว่างทางมีการจับกลุ่มคอยรดน้ำขบวนแห่ บางกลุ่มตั้งวงสังสรรค์เป็นการอุ่นเครื่อง ก่อนจะไปฟ้อนหน้าฮ้านหมอลำยามค่ำคืน เช้าวันรุ่งขึ้นแต่ละคุ้มบ้านเตรียมต้นเงิน ตั้งวงรวมพี่รวมน้อง จนคล้อยบ่ายจึงได้โอกาสตั้งขบวนแห่ ประโคมเพลง ฟ้อนรำอย่างสนุกสนาน แห่กัณฑ์หลอนเข้าวัด    

           ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเขียนไว้ในงาน ท่องเที่ยวบุญบั้งไฟในอีสานฯ ตั้งข้อสังเกตถึงการใช้เครื่องเพศเป็นองค์ประกอบสำคัญในประเพณีบุญบั้งไฟ ซึ่งในสังคมเกษตรกรรมเครื่องเพศเป็นสัญลักษณ์ของการให้กำเนิดและความอุดมสมบูรณ์ แต่การใช้สัญลักษณ์เครื่องเพศสำหรับประกอบกับกิจกรรมของพวกคนหนุ่มรักสนุกที่ออกไป “เซิ้งขอเหล้า” ไปตามบ้านต่างๆ เป็นสิ่งที่น่าสนใจ นิธิ วิเคราะห์ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการใช้โอกาสพิเศษของพิธีกรรม ท้าทายระเบียบสังคม ซึ่งปกติมีความเคร่งครัด มีการแบ่งชนชั้นและสถานภาพ เซิ้งขอเหล้าจึงเป็นการเอาคืนของพวกขี้เหล้ารักสนุกซึ่งถูกจัดเป็นพวกนอกรีตนอกรอย เป็นการลดความตึงเครียดทางสังคมให้ผ่อนคลายลงก่อนจะดำเนินต่อไปในยามปกติ ที่บ้านโพธิ์แม้จะไม่มีการแสดงออกตามที่นิธิวิเคราะห์ แต่ก็มีการแสดงออกในทำนองนี้ให้เห็นอยู่บ้าง เช่นการแสดงออกอย่างเกินพอดีของพวก “หัวโจกขี้เมา” ในขบวนแห่ และในพื้นที่หน้าฮ้านหมอลำซิ่ง  

           ในงานของ พัฒนา กิติอาษา นักมานุษยวิทยาชาวอีสาน ผู้ฝากมรดกผลงานที่แหลมคมมีชีวิตชีวาเข้าถึงแก่นความเป็นอีสานไว้หลากหลายชิ้น จากงานที่ชื่อ คนซิ่งอีสาน: ร่างกาย กามารมณ์ อัตลักษณ์ เสียงสะท้อนของคนทุกข์ในหมอลำซิ่งอีสาน5  ซึ่งเป็นการสำรวจภาคสนามในทศวรรษ 2540 งานชิ้นนี้เสนอว่า หมอลำซิ่งอีสานเป็นการสร้างสรรค์ปรับแปลงหมอลำพื้นบ้านให้ทันสมัย ภายใต้อิทธิพลของดนตรีป๊อปร๊อคสมัยใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับรสนิยมความบันเทิงและวิถีชีวิตคนอีสานยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หมอลำซิ่งอีสานเป็นภาพสะท้อนการต่อสู้ดิ้นรน ความในใจ และความทุกข์ความสุขของ “คนซิ่งอีสาน” หรือแรงงานลูกอีสานแห่งยุคโลกาภิวัตน์   

           20 ปี ให้หลังจากงานชิ้นดังกล่าว ลำซิ่งอีสานวิวัฒน์ไปจากเดิมอย่างมาก เนื้อหาของบทเพลงที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่ จะกล่าวถึงเรื่องเพศสัมพันธ์ การเกี้ยวพาราสีของชายหญิง เรื่องราวหมิ่นเหม่ศีลธรรม หรือเนื้อเพลงที่สอดแทรกไว้ด้วยข้อความสองแง่สองงาม หรือกระทั่งลามกอย่างตรงไปตรงมา ท่วงทำนองถูกปรับให้มีความกระแทกกระทั้นเพื่อเพิ่มความสนุกในการเต้นที่สื่อกริยาของการร่วมเพศ6 ที่หน้าฮ้านหมอลำ มักกลายเป็นพื้นที่พิเศษของการปลดปล่อยตัวตนของวัยรุ่นชาย-หญิง เพศที่สาม ขี้เมา และคนรักสนุกหลากหลายกลุ่มที่อยากจะลืมโลก

           ที่บ้านโพธิ์ แม้เวทีหมอลำซิ่งจะไม่ใช่การแสดงเต็มรูปแบบของศิลปินดัง แต่ก็เป็นพื้นที่ปลดปล่อยตัวตนของคนจำนวนหนึ่งที่รอคอยโอกาสนี้มานาน ความมันส์ในคืนนี้ถูกสลับด้วยการวิวาทของกลุ่มวัยรุ่นต่างบ้าน (ตามประเพณี?) เกิดความตึงเครียดลงไม้ลงมือกันพอหอมปากหอมคอ ก่อนจะประคับประคองให้เวทียุติลงได้หลังเที่ยงคืน ต่อกรณีหมอลำซิ่งโดยทั่วไปและกรณีที่บ้านโพธิ์นี้ ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตไว้สองประการ ประการแรก เนื้อหาของบทเพลงของหมอลำซิ่งถอยห่างจากเรื่องความยากลำบากในการดำเนินชีวิต น่าจะเป็นเพราะภาคอีสานมีการพัฒนาที่ดีขึ้นโดยเปรียบเทียบกับในอดีต7 ทำให้ความสนใจหันเหไปสู่เรื่องความสัมพันธ์ใกล้ตัว คือเรื่องเพศสัมพันธ์ ส่วนการที่เรื่องเพศสัมพันธ์ถูกนำเสนอในลักษณะท้าทายต่อขนบประเพณีของสังคมไทย น่าจะมาจากความรู้สึกถูกเหยียดทางวัฒนธรรม ชนชั้น หรือเพศสภาพ เป็นความรู้สึกของคนอีสานจำนวนหนึ่งต่อความสัมพันธ์กับอำนาจจากส่วนกลาง การแสดงออกนี้อาจนับว่าเป็นการต่อต้านต่ออำนาจที่กดทับพวกเขา   

           ข้อสังเกตประการณ์ที่สอง การแบ่งแยกระหว่างความศักดิ์สิทธิ์และโลกีย์ (Sacred and Profane) ตามแนวคิดของนักปราชญ์ตะวันตก8 ใช้ไม่ได้ในกรณีนี้ แต่พบว่าในวัฒนธรรมของคนถิ่นนี้ ความศักดิ์สิทธิ์และโลกีย์หรือเรื่องทางโลก มีเส้นแบ่งที่บางเบา บางครั้งไม่ชัดเจน และบางขณะสองสิ่งนั้นอาจทับซ้อนกัน เช่น การจัดหมอลำซิ่งในพื้นที่ลานวัด ที่ตั้งเวทีอยู่ติดกับอุโบสถ และศาลาวัดที่ใช้ประกอบพิธีกรรม กิจกรรมลำซิ่ง กับการสวดมนต์ในศาลาวัดเกิดขึ้นโดยหลีกเวลากันเล็กน้อย ด้านกิจกรรมแห่กัณฑ์หลอนซึ่งเป็นเรื่องทางโลกนั้น เกิดขึ้นในเวลาเดียวกับการเทศน์ชาดก ขบวนแห่วนรอบศาลาวัดขณะที่ในศาลาเทศชาดก เมื่อแห่ครบสามรอบผู้ร่วมขบวนแห่ที่สนุกสนานกันอย่างเต็มที่ ก็นำต้นเงินไปถวายแด่พระภิกษุ      

           รวมความทั้งหมดแล้ว ประเพณีบุญผะเหวด ช่วยตอกย้ำความเป็นชุมชน ซึ่งหมายถึง ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน การแบ่งปัน การช่วยเหลือเจือจาน การเป็นสังคมที่โอบอุ้มสมาชิกทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานภาพ ให้มีที่อยู่ที่ยืน มีส่วนร่วมรับผิดชอบ ให้เป็นเวทีแสดงตัวตน ชุมชนเป็นพื้นที่ของการกระชับมิตร ความสนุกสนาน ความเข้าใจ และการให้อภัย และในสถานการณ์โควิด ที่ชีวิตเป็นเรื่องไม่แน่นอน ขาดความมั่นคง หนี้สินพอกพูน คนในบ้านเพิ่งตกงาน ช่องทางทำมาหากินหดหาย รายได้ลด ถูกกดทับด้วยกฎระเบียบนานา จะมีที่ใดเล่าให้ความอบอุ่นใจเท่ากับที่ๆ คุ้นเคย การได้กลับมาเห็นหน้าค่าตา ทำสิ่งที่ยึดถือศรัทธาร่วมกัน ได้ปลดปล่อยแบบหลุดโลก คู่อริได้โคจรมาพบกัน ขั้วการเมืองที่แบ่งแยกกันตั้งแต่เลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านได้ลดกำแพงลงชั่วคราว ทำให้รู้ว่าชีวิตไม่ได้เดินทางคนเดียว แต่มีเพื่อนร่วมทุกข์ ร่วมสุข มีคนที่รัก ที่ชัง ที่ให้อภัย อะไรที่หนักหนาก็ดูจะผ่อนเบา พอจะก้าวเดินต่อไปได้        

 

ความหมายทางเศรษฐกิจ

           การจัดบุญผะเหวด ยังมีความหมายทางเศรษฐกิจด้วย ยามปกติลานวัดบ้านโพธิ์เป็นพื้นที่จัดตลาดนัด ซึ่งจัดขึ้นสัปดาห์ละ 2 ครั้งเป็นประจำ ชาวบ้านในหมู่บ้านนี้หลายคนเป็นผู้ค้าตลาดนัด ส่วนหนึ่งนำพืชผักในเรือกสวนไร่นาของตัวเองมาวางจำหน่าย ส่วนหนึ่งทำสินค้าอาหารมาวางขาย เช่น ทำขนม ทอดลูกชิ้น ส่วนผู้ค้าอีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ค้าเร่ที่ตระเวนไปตามตลาดนัดต่างๆ มาจำหน่ายสินค้าประเภทเสื้อผ้า ของใช้ทั่วไป ในช่วงโควิดระบาดรอบแรก ตลาดนัดถูกสั่งปิดเป็นเวลานาน เพิ่งเปิดขายได้เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา       

           การปิดตลาดนัดทำให้ผู้ค้าทั้งหมดขาดรายได้ ผลกระทบยังลามไปถึงผู้ค้าขายที่โรงเรียน  เนื่องจากการสั่งปิดโรงเรียนช่วงหนึ่ง ทำให้ผู้ค้าอาหารในโรงเรียน และผู้ค้าเร่ เช่น ไอศกรีม ลูกชิ้นทอด ขนมขบเคี้ยว พลอยขาดรายได้ ผู้ค้าเร่ในหมู่บ้าน ซึ่งใช้รถมอเตอร์ไซค์พ่วง หรือรถเข็น นอกจากขายที่โรงเรียน จะมีโอกาสทำเงินได้จากการไปขายของในงานพิธี เช่น งานแต่งงาน งานศพ การแข่งกีฬา กิจกรรมของหมู่บ้าน หรือ อบต.  ในช่วงปีที่ผ่าน ซึ่งมีคำสั่งระงับกิจกรรมเหล่านี้ รายได้ของพวกเขาจึงหดหายไปมาก

 

แม่ค้าที่ตลาดนัดยามปกติ

 

ลานวัดในวันที่มีตลาดนัด

 

           การจัดบุญผะเหวดในปีนี้ ดูเหมือนจะเป็นสัญญาณบวกทางเศรษฐกิจ เจ้าของกิจการของเล่นที่มาเปิดบริการเด็กๆ ที่ลานวัดเล่าว่า ปกติจะไปตามงานเทศกาลใหญ่ๆ เพราะมีต้นทุนค่อนข้างสูง และต้องใช้เวลาติดตั้งอุปกรณ์ ปีที่ผ่านมาแทบไม่ได้ไปออกงานเลย เช่นเดียวกับ คณะลำซิ่งที่ถูกว่าจ้างมาในงานบุญปีนี้ ซึ่งเป็นคณะขนาดเล็ก รับงานระดับหมู่บ้าน ก็ขาดรายได้ กิจการแบบนี้มีอยู่ในหมู่บ้านหลายแห่ง ทำให้เกิดการจ้างงานหลายตำแหน่ง ตั้งแต่นักร้อง แดนเซอร์ นักดนตรี คนขับรถ ช่างแต่งหน้า       

           กรณีวงกลองยาวประยุกต์ของคุณตาคูนเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน คณะกลองยาวนี้เป็นตัวยืนในขบวนแห่บุญผะเหวด วันแรก และแห่กัณฑ์หลอนเข้าวัดในวันที่สอง ได้รับการจ้างเหมามาทำงานสองวันเป็นเงิน 7,000 บาท เป็นราคาพิเศษในฐานะคนบ้านเดียวกัน คุณตาคูนทักทายผู้เขียนเป็นกลอนลำ รำพึงถึงชีวิตที่ไปตามวาสนา ผ่านพบประสบการณ์ต่างๆ นานา แต่ก็เป็นสุขใจที่ได้มาเล่นดนตรีให้ความสุขกับผู้คน ท่านแนะนำตัวเองว่าเป็นผู้ก่อตั้งและผู้ฝึกสอนคณะกลองยาวประยุกต์ รับงานแห่ทุกที่ที่มีคนจ้าง ด้วยความภาคภูมิใจคุณตาคูนเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์รับงานกว้างขวางในจังหวัด และการได้ร่วมงานกับศิลปินหมอลำผู้มีชื่อเสียงระดับประเทศ ก่อนจะบอกว่าปีที่แล้วไม่ได้งานเลย เพราะโควิด

           คณะกลองยาวประยุกต์ ได้ปรับให้พิณอีสานเป็นเครื่องดนตรีนำ มีกลองยาวและกลองอื่นๆ เป็นเครื่องประกอบจังหวะ ติดตั้งลำโพงและเครื่องขยายเสียงบนรถเข็นให้เคลื่อนที่ได้สะดวก ปัจจุบันทายาทคุณตาคูนรับช่วงต่อเป็นหัวหน้าวง ในวงมีสมาชิก 10 คน ประกอบด้วยคนในครอบครัวและเครือญาติ ไปไหนไปกัน รายได้แบ่งกัน หน้าที่ของวงคือเล่นให้สนุกที่สุด เสียงดังที่สุด ด้นเพลงคุ้นเคยให้แปลกใหม่มีสีสัน ให้ต่อเนื่องไม่มีหยุดให้เสียอารมณ์ วงดนตรีที่เป็นเสมือนศูนย์กลางของกองบุญ เล่นกันอย่างหนักหน่วง แบบลืมค่าจ้าง เหมือนตั้งใจให้ผู้คนลืมทุกข์โศก ให้เสียงดังข้ามภพข้ามชาติ ให้การทำบุญทำทานเกื้อหนุนให้ได้พบชีวิตที่ดีขึ้น    

 

ต้นทุนที่ถูกมองข้าม

           การประเมินผลกระทบจากวิกฤตโควิด 19 ของทางการ ให้ความสำคัญกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ไล่เรียงมาตั้งแต่ภาคเศรษฐกิจที่เป็นเครื่องยนต์หลัก เช่น การท่องเที่ยว การส่งออก การลงทุน จากนั้นใช้ข้อมูลสถิติของหน่วยงานคำนวณผลกระทบในห่วงโซ่อุปทาน ที่เกิดขึ้นต่อการประกอบการและการจ้างงาน ออกมาเป็นขนาดผลกระทบที่เกิดขึ้น การคำนวณผลกระทบแบบนี้ไม่ผิด แต่มันมองข้ามผลประทบอีกหลายมิติ

           บทความนี้แสดงให้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในชุมชนหมู่บ้าน บ้านโพธิ์เป็นตัวแทนของหมู่บ้านจำนวนหนึ่งในประเทศไทย หมู่บ้านนี้อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 20 กิโลเมตร การคมนาคมที่สะดวกขึ้น และการจ้างงานในเมืองทำให้ชาวบ้านโพธิ์เข้าสู่การจ้างงานนอกภาคเกษตรเป็นสัดส่วนสูงขึ้น รายได้ครัวเรือนด้านหนึ่งมาจากการเกษตร รายได้อีกส่วนหนึ่งมาจากนอกการเกษตร และสัดส่วนของรายได้ส่วนหลังมักมากกว่า อาชีพนอกการเกษตรนั้นมีหลากหลาย เช่น รับจ้างในแปลงการผลิตของเพื่อนบ้าน คนงานก่อสร้าง ขับรถสองแถว ลูกจ้างที่ตลาด หรือร้านค้า ลูกจ้างของหน่วยราชการ พนักงานภาคเอกชน เป็นเจ้าของกิจการ เช่น ร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ ร้านค้าในหมู่บ้าน ขายของตลาดนัด เร่ขายอาหาร โดยสรุป คนชนบทอย่างบ้านโพธิ์ คือผู้ประกอบอาชีพอิสระ เจ้าของกิจการรายย่อย และแรงงานนอกระบบ อาชีพของคนบ้านโพธิ์ก็ไม่ต่างกับคนชั้นกลางล่างและคนจนเมือง เพียงแต่คนชนบทยังมีหมู่บ้านเป็นหลังอิง บทความนี้แสดงให้เห็นต้นทุน (cost) ที่ชุมชนชนบทต้องจ่ายในสถานการณ์โควิด เป็นต้นทุนที่ถูกมองข้ามจากการวัดผลกระทบของทางการ      

           ด้านแรกคือ ต้นทุนทางสังคมและวัฒนธรรม การถูกห้ามหรือจำกัดการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ทำให้ความเป็นชุมชนคลอนคลาย ความเงียบเหงาไม่สบายใจของคนสูงอายุ การขาดโอกาสแสดงบทบาทของคนกลุ่มต่างๆ การห่างหายของมหรสพ ความสนุกสนาน การเสื่อมบทบาทของกลไกการต่างตอบแทน และการจัดสรรปันส่วนใหม่ สิ่งเหล่านี้ยากจะมองเห็นผ่านกรอบการชี้วัดของทางการ และยากที่จะวัดเชิงปริมาณอย่างที่มักกระทำ แต่สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญซึ่งอาจอุปมาได้เสมือนลมหายใจของชุมชน  

           ด้านที่สองคือ ต้นทุนทางเศรษฐกิจของคนตัวเล็กตัวน้อย การคำนวณผลกระทบทางเศรษฐกิจของภาครัฐนั้น ครอบคลุมผลกระทบต่อผู้ประกอบอาชีพอิสระ เจ้าของกิจการรายย่อย และแรงงานนอกระบบ แต่ยังไม่แน่ใจว่า ผลกระทบที่เกิดกับแม่ค้าที่ตลาดนัด คนขายลูกชิ้นที่โรงเรียน นักดนตรีลูกวงกลองยาว ฯลฯ จะถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของสถิติหรือไม่ และขนาดรายได้ของคนเหล่านี้จะมีนัยสำคัญทางสถิติสำหรับรัฐมากน้อยเพียงใด แต่สำหรับคนเหล่านี้รายได้ที่หายไปอาจหมายถึงความอยู่รอดของครอบครัว   

           การมองเห็นต้นทุนที่ถูกมองข้ามในชุมชนชนบท น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการกำหนดนโยบายฟื้นฟูผลกระทบจากโควิดในระยะต่อไป และทำให้เห็นว่าวิกฤตการณ์และปัญหาการจัดการในช่วงที่ผ่านมา ได้ทุบทำลายทุนทางสังคมของชุมชนให้พังพินาศมากมายเพียงใด 

 


 

1  จักรมนตรี ชนะพันธ์. 2560. บุญผะเหวดอีสานกับมหาทานบารมี. ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้น 11 เมษายน 2564  จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_6667.   และดูเพิ่มเติม สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น. ม.ป.ป. บุญเดือนสี่: บุญผะเหวด https://cac.kku.ac.th/heet12_kong14/phawed.html.  

2  นิธิ เอียวศรีวงศ์. 2536. ท่องเที่ยวบุญบั้งไฟในอีสาน : บุญบั้งไฟต้องรับใช้ชาวยโสธรไม่ใช่ชาวยโสธรรับใช้บุญบั้งไฟ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน

3  เป็นข้อเสนอของ Clifford Geertz ดูใน อคิน รพีพัฒน์. 2551. วัฒนธรรมคือความหมาย: ทฤษฎีและวิธีการของคลิฟฟอร์ด เกียร์ซ. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  

4  คาร์ล โปลานยี แปลโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์ 2559. เมื่อโลกพลิกผัน: การปฏิวัติอุตสาหกรรม จุดกำเนิดการเมืองและเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน. บทที่ 4

5  สุริยา สมุทรคุปต์ พัฒนา กิติอาษา และคนอื่นๆ. 2544. คนซิ่งอีสาน: ร่างกาย กามารมณ์ อัตลักษณ์ เสียงสะท้อนของคนทุกข์ในหมอลำซิ่งอีสาน. นครราชสีมา: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.

6  ดูตัวอย่าง ผัวมา ผัวไผ แอวลั่นปั๊ด – แพรวพราวแสงทอง.  https://www.youtube.com/watch?v=trUut-eGRBo.

7  แอนดรู วอล์คเกอร์. เสนอว่าการพัฒนาชนบทในประเทศไทยในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ชนบทพัฒนาไปมาก ปัญหาความยากจนและจำนวนคนจนลดลง คนชนบทส่วนใหญ่คือชาวนารายได้ปานกลาง ปัญหาชนบทนับตั้งแต่ทศวรรษ 2550 ไม่ใช่เรื่องความยากจนสัมบูรณ์ แต่เป็นเรื่องความยากจนสัมพัทธ์ และความเหลื่อมล้ำโดยเปรียบเทียบระหว่างชนบทกับเมือง ดู แอนดรู วอล์คเกอร์, เขียน จักรกริช สังขมณี, แปล. 2559.  ชาวนาการเมือง : อำนาจในเศรษฐกิจชนบทสมัยใหม่ของไทย. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน.  

8  Émile Durkheim. (1858–1917) ผู้วางรากฐานสังคมวิยา ในผลงานคลาสสิก The Elementary Forms of the Religious Life. (1912)  Durkheim  เสนอว่าศาสนาต่างๆในโลกมีความคลายคลึงกัน คือการแบ่งแยกเป็นคู่ตรงกันข้าม (duality) ระหว่างความศักดิ์สิทธิ์กับโลกีย์  (Sacred – Profane) ความศักดิ์สิทธิ์เป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ เป็นเรื่องสูงส่ง ศาสนาดั่งเดิมที่ไม่มีความซับซ้อนอาจมีรูปเคารพและความเชื่อ สำหรับศาสนาที่มีความซับซ้อนขึ้นอาจมีการจัดองค์กรที่ซับซ้อน คัมภีร์ และพิธีกรรมต่างๆ ส่วนโลกีย์ อาจแปลว่าความธรรมดาสามัญ เป็นเรื่องของธรรมชาติ การทำมาหากิน รัก โลภ โกรธ หลง ของปุถุชน

 

ป้ายกำกับ บุญผะเหวด โควิด-19 พฤกษ์ เถาถวิล

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา