แคมป์ผู้อพยพในอิสราเอล

 |  รัฐ และวัฒนธรรมอำนาจ
ผู้เข้าชม : 1786

แคมป์ผู้อพยพในอิสราเอล

ความหมายของแคมป์

           แคมป์หรือค่ายพักชั่วคราวของผู้อพยพ แรงงานต่างด้าว หรือผู้ลี้ภัยสงคราม ล้วนเป็นกลไกเชิงอำนาจของรัฐสมัยใหม่ในการควบคุมฝูงชนและจัดระเบียบพื้นที่ให้เป็นไปตามกฎความมั่นคงของชาติ (Bauman, 2001; Katz, 2017) การมีชีวิตอยู่ในแคมป์ มิได้วางอยู่บนความมั่นคงทางพื้นที่ แต่คนที่อาศัยในแคมป์ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและเสี่ยงต่ออันตรายที่คาดเดาไม่ได้ ในแง่นี้ แคมป์และค่ายพักชั่วคราวคือพรมแดนของการเคลื่อนย้ายและความเปลี่ยนแปลง ในขณะเดียวกันคนที่อยู่ในแคมป์จะถูกควบคุมตรวจสอบจากผู้มีอำนาจ ทำให้ชีวิตตกอยู่ในการกักขังคล้ายนักโทษ ในโลกปัจจุบัน จะพบเห็นสถานการณ์ของค่ายพักชั่วคราวและแคมป์จำนวนมาก โดยเฉพาะในยุคที่มีสงครามต่อสู้ผู้ก่อการร้ายข้ามประเทศ การเคลื่อนย้ายแรงงานที่ผิดกฎหมาย และผู้อพยพลี้ภัยจากสงคราม แคมป์ที่เกิดขึ้นเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2000 เป็นต้นมา (Elden, 2006; Manica, 2005) ในประเทศอิสราเอลปัจจุบัน แคมป์มีอยู่ทั่วประเทศซึ่งเป็นวิธีการควบคุมผู้คนที่เดินทางอพยพและเคลื่อนที่ให้อยู่ภายใต้ระเบียบของรัฐ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของภูมิรัฐศาสตร์ในพื้นที่ชาติของอิสราเอลที่เต็มไปด้วยสงครามและการสู้รบ (Kozlovsky, 2008)

           แคมป์ยังเป็นเครื่องบ่งชี้ของระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยม หรือเผด็จการ (authoritarian regimes) ที่รัฐชาติสมัยใหม่สร้างวิธีการควบคุมที่แนบเนียน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ แคมป์ผู้อพยพ คือ “สิ่งประดิษฐ์ของอำนาจ” (devices of power) เป็นเครื่องมือของรัฐ (state apparatuses) ที่สร้างขึ้นเพื่อจัดการกับกลุ่มคนที่มิใช่พลเมือง ได้แก่ ผู้อพยพ ผู้ลี้ภัยสงคราม หรือแรงงานพลัดถิ่น กลุ่มคนเหล่านี้ถือเป็นประชากรนอกระบบของรัฐ และเป็นกลุ่มที่ไร้อำนาจ (powerless people) รัฐใช้ที่ตั้งของแคมป์เป็นเครื่องยืนยันสิทธิในการครอบครองดินแดน (desired territories) ในเวลาเดียวกัน คนที่อยู่ในแคมป์ก็ดิ้นรนเพื่อเรียกร้องสิทธิในการอยู่อาศัยในพื้นที่ซึ่งเป็นพรมแดนพิเศษที่ทำให้พวกเขาได้รับการดูแลไปพร้อมกับการถูกควบคุม พื้นที่ของแคมป์และค่ายพักอาศัยจึงเต็มไปด้วยการต่อรองทางอำนาจที่ซับซ้อนและเสี่ยงต่อการถูกขับไล่ตลอดเวลา

           อิทธิพลของ Agamben (1998, 2005) ต่อการศึกษาชีวการเมืองและอำนาจรัฐ อธิบายว่าแคมป์ คือ พื้นที่ของการยกเว้นที่เป็นที่อยู่ของคนที่ถูกควบคุม ขาดสิทธิและเสรีภาพในสังคมสมัยใหม่ จะพบว่าการมีชีวิตของคนที่ไร้สิทธิจะถูกจัดการด้วยอำนาจและถูกแยกออกไปอยู่ตามลำพังในพื้นที่แคมป์ ชีวิตในแคมป์จึงอยู่ภายใต้การสั่งการและตรวจสอบที่เข้มงวด เช่นเดียวกับ Claudio Minca (2015) กล่าวว่าพื้นที่ของแคมป์เป็นเทคโนโลยีทางการเมืองที่รัฐสมัยใหม่ใช้จัดการชีวิตของคนที่ขาดสิทธิ์ กล่าวคือ แคมป์ทำให้เกิดการสร้างกลุ่มคนที่ไร้ความมั่นคงในชีวิต ในขณะที่ Derek Gregory (2006) กล่าวว่า ปัจจุบันสงครามมิได้เกิดขึ้นในเขตแดนรัฐชาติ แต่มันข้ามพรมแดนชาติ ทำให้พื้นที่สงครามไม่มีขอบเขตที่แน่นอน ดังนั้น รัฐอาจไม่สามารถควบคุมพื้นที่ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ตัวอย่างเช่น สงครามของผู้ก่อการร้ายข้ามชาติเกิดขึ้นในพื้นที่ที่คาดเดาไม่ได้ ในแง่นี้ แนวคิดเรื่องชีวการเมืองในพื้นที่รัฐอาจใช้อธิบายสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ไม่ได้ รวมทั้งไม่สามารถเข้าใจชีวิตของผู้คนที่สร้างความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและบทบาทผู้กระทำการเมื่ออยู่ในแคมป์ เนื่องจากความคิดของ Agamben สนใจการกระทำของรัฐที่มีต่อคนที่ไร้อำนาจ แต่มิได้สนใจว่ากลุ่มคนไร้อำนาจสามารถต่อต้านอำนาจและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

           การทำความเข้าใจแคมป์จึงต้องมองเห็นความซับซ้อนของผู้กระทำการที่หลากหลาย ทั้งกลุ่มคนที่เป็นผู้อพยพ แรงงานต่างด้าว ผู้ลี้ภัย เจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่จากองค์กรพัฒนาเอกชน ผู้กำหนดนโยบาย และผู้มีอำนาจสั่งการ คนเหล่านี้ต่างตอบโต้และมีปฏิสัมพันธ์กัน อย่างไรก็ตาม แคมป์คือพื้นที่ทางการเมืองที่มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือ หนึ่ง ส่วนที่เป็นพื้นที่ทางกายภาพที่ถูกสร้างให้เป็นขอบเขตแยกขาดจากพื้นที่อื่น สอง เป็นพื้นที่ของการจัดระเบียบและการควบคุม และ สาม เป็นพื้นที่อาศัยของคนต่างวัฒนธรรม เชื้อชาติ และศาสนา (Katz, 2017)


วงจรแคมป์ในอิสราเอล - ปาเลสไตน์

           ค่ายพักอาศัยของผู้อพยพทั้งผู้ลี้ภัยและแรงงานต่างด้าวในเขตประเทศอิสราเอลและปาเลสไตน์ เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปและเป็นพื้นที่รวมของคนต่างเชื้อชาติและศาสนา รวมทั้งเป็นพื้นที่ของการปฏิบัติทางการเมือง ในกรณีแคมป์ผู้อพยพชาวปาเลสไตน์ ถูกสร้างขึ้นในช่วงสงครามในปี ค.ศ. 1948 และยังคงสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน แคมป์ผู้อพยพจำนวนมากในอิสราเอลสะท้อนให้เห็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างชาวอิสราเอลแบบชนกลุ่มน้อยที่มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์และศาสนา นับจากมีขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวยิว หรือ Zionist moment ซึ่งต้องการสร้างประเทศของตัวเอง ทำให้พื้นที่ของอิสราเอลกลายเป็นที่ตั้งแคมป์ของชาวยิวจำนวนมาก จนกระทั่งชาวยิวมีอำนาจควบคุมพื้นที่ ในขณะที่กลุ่มอาหรับกลายเป็นคนกลุ่มน้อยในเขตนี้ จะเห็นว่าความพยายามของชาวยิวทำให้ตนเองกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ในพื้นที่ปาเลสไตน์ ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 แคมป์ของชาวยิวถูกสร้างขึ้นในพื้นที่ทุรกันดารภายใต้การควบคุมของรัฐบาลอังกฤษ จนถึงปี ค.ศ. 1948 เมื่อเกิดสงครามระหว่างชาวอาหรับกับชาวอิราเอล มีการสร้างแคมป์ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ขึ้นมาใกล้กับชายแดนประเทศอาหรับ นอกจากนั้น ยังมีการสร้างแคมป์ชั่วคราวของกลุ่มชนพื้นเมืองเบดูอินและกลุ่มปาเลสไตน์ที่เคลื่อนย้ายไปตามฤดูกาล รวมทั้งรัฐบาลอิสราเอลได้สร้างแคมป์สำหรับผู้อพยพชาวยิวที่เดินทางมาจากต่างชาติ (Katz, 2016)

           หลังสงครามปี ค.ศ. 1967 มีการสร้างค่ายที่พักของชาวยิวเพื่อเป็นที่อาศัยถาวรโดยชาวยิวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจจะซื้อที่ดินจากอิสราเอลเพื่อสร้างเป็นที่อยู่อาศัย รวมทั้งการสร้างค่ายกักกันสำหรับชาวปาเลสไตน์ที่ออกมาประท้วงและต่อสู้กับชาวอิสราเอล อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอิสราเอลจะเข้ามาควบคุมค่ายกักตัวของชาวปาเลสไตน์อย่างเข้มงวด (Ramadan, 2013) ในช่วงทศวรรษ 1990 มีการสร้างค่ายกักกันผู้อพยพจากสหภาพโซเวียตและประเทศยุโรปตะวันออก จนถึงปี ค.ศ. 2005 ค่ายที่พักของชาวอิสราเอลถูกรื้อออกจากฉนวนกาซ่า (Elden, 2009) ในปี ค.ศ. 2013 แคมป์ของชาวปาเลสไตน์ถูกสร้างขึ้นใหม่และถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว ในปีเดียวกันนั้น มีการสร้างค่ายที่พักชั่วคราวให้กับชาวแอฟริกันที่อพยพในเขตทะเลทรายเนเกฟ จะเห็นว่าพื้นที่ของอิสราเอลและปาเลสไตน์ถูกใช้เป็นแคมป์หลากหลายประเภท บ่งบอกให้ทราบว่าแคมป์คือกลไกทางการเมืองที่ชาวอิสราเอลใช้ควบคุมและจัดการกลุ่มคนที่หลากหลาย รัฐอิสราเอลที่ก่อตัวจากขบวนการเคลื่อนไหวของชาวยิว (Zionist) คือ แกนของอำนาจที่พยายามครอบครองดินแดนเพื่อสร้างชาติอิสราเอล (Kramer, 2011)

           ดินแดนอิสราเอลปัจจุบัน เคยเป็นที่อยู่ของชาวอาหรับมาก่อน ในราวปี ค.ศ. 1850 คาดว่ามีชาวยิวอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ประมาณ 13,000 คน ซึ่งกระจายตัวอาศัยอยู่ในเมือง Jerusalem, Safed, Tiberias และ Hebron (Kramer, 2011) ชาวยิวที่อาศัยในพื้นที่นี้คาดหมายว่าจะสร้างดินแดนของตัวเองด้วยอุดมการณ์ชาตินิยมและความทันสมัย ทำให้เกิดลัทธิ Zionism ที่เชื่อว่าพระเจ้าจะช่วยให้ชาวยิวมีชีวิตรอดและสร้างชาติขึ้นมาใหม่ได้ (Neumann, 2011; Ohana, 2010) อุดมการณ์สร้างชาติของชาวยิวเติบโตจากการสร้างค่ายที่พักอาศัยในเขตของชาวอาหรับ ค่ายดังกล่าวค่อย ๆ ขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ (Yiftachel, 2006) ชาวยิวเชื่อว่าพื้นที่ที่เป็นค่ายพักอาศัยคือ “ดินแดนตามสัญญา” (promised land) ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ที่พักอาศัยของชาวยิวคือกลไกของการสร้างชาติทำให้เกิดการผลักดันชาวอาหรับให้ออกไปจากพื้นที่อิสราเอล ผู้อพยพชาวยิวที่มาจากประเทศยุโรป ซึ่งเรียกตัวเองว่า “Ashkenazim” และชาวยิวจากประเทศอาหรับ เรียกตัวเองว่า “Mizrahim” เริ่มเดินทางเข้าสู่ปาเลสไตน์มากขึ้น (Katz, 2016) ในช่วงปี ค.ศ. 1948 - 1967 เกิดสงครามสู้รับระหว่างชาวยิวกับชาวอาหรับหลายครั้ง ทำให้เกิดการขับไล่ชาวอาหรับออกไปจากอิสราเอล และถูกควบคุมให้อยู่ในเขตฉนวนกาซ่า และ West Bank (Kozlovsky, 2008)

           ช่วงหลังปี ค.ศ. 1967 แคมป์ของชาวยิวค่อย ๆ หายไป เนื่องจากรัฐบาลอิสราเอลพยายามสร้างเมืองใหม่ให้กับชาวยิวเพื่อทำให้เกิดการสร้างชาติที่ทันสมัย ในขณะที่แคมป์ผู้อพยพของชาวอาหรับและชาวเบดูอิน ไม่ได้รับการดูแลจากอิสราเอล คุณภาพชีวิตของชาวอาหรับและเบดูอินจึงตกต่ำ (Katz, 2015) ตัวอย่างความแตกต่างของแคมป์ชาวยิวและชาวเบดูอิน เช่น แคมป์ Yeruham ของชาวยิว สร้างในปี ค.ศ. 1951 ในเขตทะเลทรายเนเกฟ ทำให้ได้ชื่อว่า “เมืองในทะเลทราย” แคมป์นี้กลายเป็นที่หลบซ่อนของผู้อพยพจากฉนวนกาซ่าเพื่อที่จะเดินทางหนีไปที่จอร์แดน ในขณะที่รัฐบาลอิสราเอลคิดว่าแคมป์แห่งนี้คือจุดยุทธศาสตร์สำหรับการเดินทางไปสู่ทะเลแดง อย่างไรก็ตาม เขตทะเลทรายเนเกฟเป็นที่อยู่ดั้งเดิมของชาวเบดูอิน ซึ่งยังชีพด้วยการเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ในเขตแห้งแล้งในพรมแดนรอยต่อระหว่างอียิปต์และจอร์แดน แต่หลังจากที่อิสราเอลเข้ามาควบคุมพื้นที่แห่งนี้เพื่อให้เป็นที่พักของชาวยิวที่อพยพเข้ามามากขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1948 - 1951 (ประมาณ 685,000 คน) ส่งผลให้ชาวเบดูอินถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่ในแคมป์ที่เรียกว่า Rachme ทั้งนี้ เขตทะเลทรายเนเกฟจึงเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่ผู้นำอิสราเอลคาดหวังที่จะทำให้เป็นดินแดนของชาวยิว (Kozlovsky, 2008) คาดว่าในปี ค.ศ. 1952 มีชาวยิวที่อาศัยอยู่ในค่ายพักในเขตทะเลทรายประมาณ 257,000 คน ในขณะที่มีชาวปาเลสไตน์ประมาณ 700,000 คนกลายเป็นผู้อพยพในค่ายกักกันของอิสราเอล


ความไม่เท่าเทียมในแคมป์

           แคมป์ของชาวยิวจะได้รับการคุ้มครองจากหน่วยทหารของอิสราเอล ทำให้การใช้ชีวิตในแคมป์มีลักษณะเหมือนเป็นการฝึกทหารที่ทุกคนต้องอยู่ในกฎระเบียบที่เคร่งครัด ชาวยิวที่เข้ามาอยู่ในแคมป์เดินทางมาจากหลายประเทศ ทั้งโรมาเนีย เขตเอเชีย และแอฟริกาตอนเหนือ สภาพแวดล้อมของแคมป์จะถูกกั้นด้วยรั้วลวดหนาม บ้านพักจะสร้างจากไม้ น้ำที่ใช้บริโภคและอุปโภคมาจากบ่อบาดาล แคมป์ระยะแรกยังไม่มีสาธารณูปโภคที่ครบถ้วน ขาดแคลนระบบไฟฟ้าและการกำจัดน้ำเสีย การใช้ชีวิตในแคมป์จึงยากลำบาก ชาวยิวในแคมป์จึงต้องการย้ายไปอยู่ในที่ที่สะดวกสบาย แต่กฎที่เข้มงวดทำให้การย้ายที่อยู่ทำได้ยาก รัฐบาลอิสราเอลมองว่า ชาวยิวที่อพยพเข้ามาอยู่ในแคมป์ที่ทุรกันดารจะเป็นแรงงานให้กับชาติและเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อให้แคมป์กลายเป็นสัญลักษณ์ของการครอบครองดินแดน สิ่งสำคัญคือ รัฐบาลอิสราเอลต้องการเปลี่ยนผู้อพยพชาวยิวให้กลายเป็นพลเมืองของชาติ ซึ่งจะต้องเป็นแรงงานให้รัฐ ในทางตรงกันข้าม ผู้อพยพชาวยิวที่มีชีวิตทุกข์ยากในแคมป์ไม่ได้รับการดูแลและยังมีการแบ่งแยกระหว่างยิวจากยุโรปและยิวจากอาหรับ ยิวที่มาจากยุโรปจะได้รับการยอมรับมากกว่าเพราะมีวัฒนธรรมก้าวหน้าแบบชาวยุโรป ส่วนยิวจากอาหรับถูกมองว่ามีวัฒนธรรมที่ล้าสมัย (Bernstein, 1981; Khazzoom, 2005)

           ปัจจุบันแคมป์ Yeruham กลายเป็นเมืองที่พักอาศัยของชาวยิวที่ยังคงอยู่ในความยากลำบากและห่างไกลจากความเจริญ ชาวยิวในเมืองส่วนใหญ่มีฐานะยากจนและต้องพึ่งความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอก รวมทั้งเป็นที่อยู่ของชาวยิวที่อพยพมาจากอาหรับซึ่งมีวัฒนธรรมที่ต่างไปจากชาวยิวที่มีพื้นเพจากยุโรป ชาวยิวใน Yeruham พยายามต่อต้านและเรียกร้องสวัสดิการและความเป็นธรรมจากรัฐบาลอิสราเอล นอกจากนั้น แคมป์ Rachme ของชาวเบดูอินกลุ่มย่อยที่ชื่อซาราชิน มีคนอาศัยอยู่ประมาณ 1,200 คน แคมป์นี้ตั้งขึ้นในช่วงทศวรรษ 1950 แต่ไม่ได้รับการดูแลจากรัฐบาลอิสราเอล ทำให้คนในแคมป์มีชีวิตที่ยากลำบาก ไม่มีไฟฟ้าและประปา มีเพียงพลังงานแสงอาทิตย์ เมื่อเจ็บป่วย พวกเขาต้องเดินทางไปรักษาที่เมือง Yeruham ฐานะของชาวเบดูอินในแคมป์แห่งนี้ไม่มีกฎหมายรับรองความเป็นพลเมืองและไร้สวัสดิการของรัฐ รัฐบาลอิสราเอลคิดว่าชาวเบดูอินเป็นคนที่บุกรุก ทั้ง ๆ ที่พวกเขาอยู่อาศัยในพื้นที่นี้มายาวนานก่อนที่ชาวยิวจะอพยพเข้ามาตั้งแคมป์ ปัจจุบัน รัฐบาลอิสราเอลจึงพยายามผลักดันให้ชาวเบดูอินอพยพออกไปจากแคมป์ และห้ามมิให้ก่อสร้างบ้านเพิ่มเติม

           ปัจจุบัน ชาวเบดูอินประมาณ 200,000 คน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตเมือง ส่วนน้อยที่ยังคงอาศัยในแคมป์ที่ทุรกันดารและปราศจากระบบสาธารณูปโภค อย่างไรก็ตาม ชาวเบดูอินยังรักษาขนบธรรมประเพณีและความเชื่อที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุ เมื่อรัฐบาลอิสราเอลมิให้ชาวเบดูอินปลูกสร้างบ้านใหม่ และต้องอาศัยอยู่ในเขตควบคุม ทำให้ที่อยู่อาศัยของชาวเบดูอินคับแคบ เมื่อมีลูกหลานเพิ่มขึ้น บ้านของพวกเขาก็มีความแออัด ปัญหานี้ทำให้ชาวเบดูอินตกอยู่ในสภาพถูกบังคับ หลายครอบครัวจึงต้องย้ายออกจากแคมป์เพื่อไปอยู่ในอาคารที่พักที่รัฐบาลอิสราเอลสร้างไว้ซึ่งหมายถึงการละทิ้งถิ่นที่อยู่ที่พวกเขาคุ้นเคย เมื่อย้ายไปอยู่ในตึก ทำให้พวกเขาต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตไปเป็นแรงงานในเมือง การควบคุมของรัฐบาลอิสราเอลเพื่อให้คนต่างเผ่าพันธุ์และศาสนาอยู่ในพื้นที่จำกัดและปราศจากความช่วยเหลือถือเป็นกลไกที่ทำให้อิสราเอลจัดการพื้นที่ได้อย่างเด็ดขาดภายใต้อุดมการณ์ชาตินิยมทางเผ่าพันธุ์ จะเห็นว่า ชนกลุ่มน้อยและคนต่างเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ในอิสราเอลล้วนถูกกดทับและไม่ได้รับสิทธิทางสังคม (de Muynck & Shoshan, 2005; Sanyal, 2014)

           Katz (2017) กล่าวว่า การสร้างแคมป์ผู้อพยพของรัฐบาลอิสราเอล คือกลไกที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นวัตถุเพื่อให้รัฐนำไปใช้เป็นแรงงาน ถ้าเป็นชาวยิวอพยพต้องถูกควบคุมให้เป็นพลเมืองที่รองรับการพัฒนาประเทศ ในขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์อ่อน ๆ จะถูกขับไล่ออกจากพื้นที่หรือถูกทำให้เป็นแรงงานราคาถูก สิ่งเหล่านี้คือ การเมืองเชิงพื้นที่ที่แคมป์คือเครื่องมือกำหนดว่าใครควรจะมีสิทธิและไร้สิทธิทางสังคม นอกจากนั้น แคมป์ยังเป็นกลไกของอำนาจเพื่อขยายพรมแดนชาติ ที่ตั้งของแคมป์จะถือเป็นสัญลักษณ์ของการมีอำนาจเหนือพื้นที่นั้นในทางตรงกันข้าม คนที่อาศัยในแคมป์มิได้ตกอยู่ใต้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ พวกเขาพยายามต่อสู้ขัดขืนเพื่อให้ได้สิทธิและโอกาสในการสร้างชีวิต (Rygiel, 2011) แต่การต่อสู้เป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะอำนาจรัฐสร้างกฎระเบียบที่เข้มงวด Nando Sigona (2015) กล่าวว่า ชีวิตของคนในแคมป์มีปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อน รูปแบบสังคมในแคมป์เสมือนการจัดระเบียบให้คนในกลุ่มทำสิ่งต่าง ๆ ตามเป้าหมายของแคมป์ ทำให้เกิดสภาวะ “ความเป็นพลเมืองแคมป์” (campzenship) ที่สร้างความร่วมมือและการกระทำต่างไม่หยุดนิ่ง อาจกล่าวได้ว่า แคมป์มิได้เป็นเพียงพื้นที่ควบคุมที่รัฐเข้ามาจัดการผู้คน แต่ยังเป็นพื้นที่ชีวิตที่คนในแคมป์จัดการสิ่งต่าง ๆ ด้วยโลกทัศน์ของตัวเอง


เอกสารอ้างอิง

Agamben, G. (1998). Homo Sacer: sovereign power and bare life. Stanford: Stanford University Press.

Agamben, G. (2005). State of Exception. Chicago: University of Chicago Press.

Bauman, Z. (2001). A Century of Camps? In P. Beilharz (Ed.), The Bauman Reader (pp.230–266). Oxford: Blackwell.

Bernstein, D. (1981). Immigrant transit camps: The formation of dependent relations in Israeli society. Ethnic and Racial Studies, 4(1), 26–43.

de Muynck, B. & Shoshan, B. (2005). One Land Two Systems. FAST, 1, 4–8.

Elden, S. (2006). Spaces of humanitarian exception. Geografiska Annaler: Series B, Human Geography, 88(4), 477–485.

Elden, S. (2009). Terror and territory: the spatial extent of sovereignty. Minneapolis: University of Minnesota Press.

Gregory, D. (2006). The black flag: Guantánamo Bay and the space of exception. Geografiska Annaler, 88 (4), 405–427.

Katz, I. (2015b). Spreading and concentrating: The Camp as the space of the frontier. City, 19(5), 722–735.

Katz, I. (2016). Camp evolution and Israel’s creation: between ‘state of emergency’ and ‘emergence of state’. Political Geography, 55, 144–155.

Katz, I. (2017). The Common Camp’: temporary settlements as a spatio-political instrument in Israel-Palestine. The Journal of Architecture, 22(1), 54-103.

Khazzoom, A. (2005). Did the Israeli state engineer segregation? On the placement of Jewish immigrants in development towns in the 1950s. Social forces, 84 (1),115–134.

Kozlovsky, R. (2008). Temporal States of Architecture: Mass Immigration and Provisional Housing in Israel. In S. Isenstadt and K. Rizvi, K (Eds.), Architecture and Politics in the Twentieth Century: Modernism and the Middle East (pp. 140–60). Washington: University of Washington Press.

Krämer, G. (2011). A history of Palestine: from the ottoman conquest to the founding of the state of Israel. Princeton: Princeton University Press.

Minca, C. (2005). The return of the camp. Progress in Human Geography, 29(4), 405–412.

Minca, C. (2015). Geographies of the Camp. Political Geography, 49, 74-83.

Neumann, B. (2011). Land and Desire in Early Zionism. Waltham, Mass: Brandeis University Press.

Ohana, D. (2010). Political Theologies in the Holy Land: Israeli Messianism and Its Critics. London: Routledge.

Ramadan, A. (2013). Spatialising the refugee camp. Trans-actions of the Institute of British Geographers, 38(1), 65–77.

Rygiel, K. (2011). Bordering solidarities: migrant activism and the politics of movement and camps at Calais. Citizenship studies, 15(1), 1–19.

Sanyal, R. (2014). Urbanizing Refuge: Interrogating Spaces of Displacement. International Journal of Urban and Regional Research, 38(2), 558–72.

Sigona, N. (2015). Campzenship: reimagining the camp as a social and political space. Citizenship Studies, 19(1), 1–15.

Yiftachel, O. (2006). Ethnocracy: Land and identity politics in Israel/Palestine. Pennsylvania: University of Pennsylvania Press.


ผู้เขียน
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร


 

ป้ายกำกับ อิสราเอล ปาเลสไตน์ แคมป์ผู้อพยพ อำนาจนิยม รัฐและการเมือง พื้นที่รุนแรง ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share