โปสการ์ดอวยพรปีใหม่จากพระยาอนุมานราชธนถึงมอร์แมน พ.ศ. 2506

 |  การจัดการข้อมูลทางวัฒนธรรม
ผู้เข้าชม : 1600

โปสการ์ดอวยพรปีใหม่จากพระยาอนุมานราชธนถึงมอร์แมน พ.ศ. 2506

 

โปสการ์ดอวยพรปีใหม่จากพระยาอนุมานราชธนถึงมอร์แมน พ.ศ. 2506

 

ธันวดี สุขประเสริฐ

นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

“ขอให้นายไมเคิล เมอรแมนและภริยา จงได้รับความปรารถนาดีจากผมในวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๐๖ ให้มีความสำเร็จในชีวิตและความสุข ความเจริญ ตลอดไป”

-พระยาอนุมานราชธน-

 

โปสการ์ดรูปวัดพระเชตวัน จังหวัดเชียงราย จากพระยาอนุมานราชธน เมื่อปี พ.ศ. 2506

ที่ส่งคำอวยพรปีใหม่ถึงมอร์แมนและครอบครัว

 

โปสการ์ดรูปวัดพระเชตวัน จังหวัดเชียงราย จากพระยาอนุมานราชธน เมื่อปี พ.ศ. 2506

ที่ส่งคำอวยพรปีใหม่ถึงมอร์แมนและครอบครัว

 

           ศาสตราจารย์ไมเคิล มอร์แมน (Michael Moreman) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันสนใจศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในดินแดนเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และเคยเข้ามาศึกษาเกี่ยวกับชาวไทลื้อในประเทศไทยเป็นระยะๆ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1958-19891 ผลงานของเขาถือเป็นงานคลาสสิกสำหรับนักศึกษามานุษยวิทยา   

           ในบรรดาเอกสารจดหมายเหตุของศาสตราจารย์ไมเคิล มอร์แมน จำนวน 5,650 รายการ ที่อยู่ในคลังจดหมายเหตุนักมานุษยวิทยา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) นอกจากเอกสารที่เป็นบันทึกและข้อมูลจากการทำงานภาคสนาม เพื่อศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อที่บ้านแพด อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ระหว่าง พ.ศ. 2501-2529 ยังมีเอกสารจำนวนหนึ่งที่เป็นเอกสารส่วนบุคคลของมอร์แมน ได้แก่ ภาพถ่ายส่วนตัวและจดหมายติดต่อกับบุคคลต่างๆ  อาทิ สถาบันที่ให้ทุนในการทำวิจัยปริญญาเอก มิชชันนารีที่ทำงานในประเทศไทย ชาวบ้านแพด รวมไปถึงบุคคลที่คอยให้ความช่วยเหลือในระหว่างที่เข้ามาเก็บข้อมูลภาคสนามในประเทศไทย หนึ่งในนั้นคือ “พระยาอนุมานราชธน” นักปราชญ์และนักการศึกษาคนสำคัญของไทยด้านวัฒนธรรม

           เมื่อมอร์แมนตัดสินใจเลือกบ้านแพด อ.เชียงคำ จ.พะเยา เป็นพื้นที่ทำงานภาคสนามเพื่อเก็บข้อมูลสำหรับทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตรและทางเลือกของชาวนา กรณีศึกษาหมู่บ้านในประเทศไทย ข้อมูลที่เขาจำเป็นต้องรู้คือข้อมูลพื้นฐานของประเทศไทย ดังนั้นในบันทึกประจำวันของมอร์แมนขณะที่อยู่ในประเทศไทย จึงกล่าวถึงพระยาอนุมานราชธนอยู่เสมอ ในฐานะที่เป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทย  

           หลังจากมอร์แมนกลับสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2504 เขายังคงติดต่อกับพระยาอนุมานราชธนเสมอมา ซึ่งปรากฏให้เห็นในจดหมายส่วนตัวหลายๆ ฉบับ ที่บุคคลทั้งสองเขียนโต้ตอบกัน  โดยมักแลกเปลี่ยนความเห็นในงานเขียนต่างๆ ของมอร์แมนเขียนเกี่ยวกับประเทศไทยและกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ เช่น จดหมายจากมอร์แมน ถึง พระยาอนุมานราชธน เมื่อ 25 มกราคม 1961 จำนวน 2 หน้า ที่มอร์แมนเขียนมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่มีต่อบทความ การปลูกบ้านของชาวไทลื้อเรื่องแบบบ้าน ผ้าขาว ผ้าแดง ความเชื่อในสังคมไทย การขับลื้อ แก้ไขข้อผิดพลาดในบทความ และเรื่องการกำเนิดพระราหูตามความเชื่อของไทลื้อ2 นอกจากนี้ มอร์แมนยังส่งวิทยานิพนธ์ของตนเองที่สำเร็จแล้วมาให้พระยาอนุมานราชธนด้วย

           โปสการ์ดรูปวัดพระเชตวัน จังหวัดเชียงราย จากพระยาอนุมานราชธน เมื่อปี
พ.ศ. 2506 ที่ส่งคำอวยพรปีใหม่ถึงมอร์แมนและครอบครัว คงเป็นหลักฐานจดหมายเหตุอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นมิตรภาพและความสัมพันธ์ของทั้งสองได้เป็นอย่างดี

 

           สามารถเข้าชมจดหมายเหตุของศาสตราจารย์ไมเคิล มอร์แมน และจดหมายเหตุของนักมานุษยวิทยาท่านอื่นๆ ได้ที่ฐานข้อมูลจดหมายเหตุมานุษยวิทยาศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

ฐานข้อมูลจดหมายเหตุมานุษยวิทยา

 

 

ผู้เขียน

ธันวดี สุขประเสริฐ

นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน)

 

2  ดูเพิ่มใน ฐานข้อมูลจดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา https://www.sac.or.th/databases/anthroarchive/collection_MM/20070705000775.pdf

 

ป้ายกำกับ จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา