เปิดรับบทคัดย่อ งานประชุมวิชาการระดับชาติ เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี 2568
เปิดรับบทคัดย่อ
งานประชุมวิชาการระดับชาติ เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี 2568
“เอกสารตัวเขียนไท(ย): ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งอื่น”
วันที่ 4-5 สิงหาคม 2568
ณ หอประชุม ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
เอกสารตัวเขียน (manuscript) อันได้แก่ คัมภีร์ใบลาน หนังสือสมุดไทย หรือมีชื่อเรียกตามความนิยมของท้องถิ่นนั้น ๆ อาทิ สมุดข่อย พับสา หนังสือบุด สะท้อนให้เห็นถึงมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของผู้คนนับตั้งแต่สมัยโบราณในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอกสารตัวเขียนเหล่านี้นับเป็นข้อมูลขั้นปฐมภูมิสำหรับการศึกษาค้นคว้าวิจัยด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี วรรณกรรม ภาษาศาสตร์ มานุษยวิทยา และคติชนวิทยา ทั้งสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของตัวอักษร พัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบตัวอักษร และพัฒนาการด้านอักขรวิทยาที่นิยมใช้ในท้องถิ่นนั้น ๆ เอกสารโบราณจึงถือว่าเป็นเป็นแหล่งข้อมูลชั้นต้นสำหรับศึกษารากความเป็นชาติ ความนิยม และระบบวิธีคิดต่าง ๆ ที่ถูกส่งทอดจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน
งานประชุมวิชาการระดับชาติ เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี 2568 ในหัวข้อ “เอกสารตัวเขียนไท(ย) : ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งอื่น” ขอเชิญนักวิชาการ นักศึกษา บุคลากรด้านวัฒนธรรม และผู้สนใจ ส่งบทความเพื่อนำเสนอในหัวข้อที่สอดคล้องกับงานเสวนาวิชาการ โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. เอกสารตัวเขียนไท(ย): มนุษย์กับภาษา ศาสนา ความเชื่อ ภูมิปัญญา และธรรมชาติ ประเด็นนี้มุ่งเน้นให้เห็นว่าเอกสารตัวเขียนมิได้เป็นเพียงเครื่องมือบันทึกภาษาเท่านั้น แต่ยังสะท้อนเรื่องราวในหลายมิติ อาทิ ภาษา ศาสนา ความเชื่อ ศาสนา พิธีกรรม และแนวคิดทางจิตวิญญาณ ไปจนถึงสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ที่มีผลต่อโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมตั้งแต่อดีตและส่งทอดมาจนถึงปัจจุบัน เช่น
- การศึกษาพัฒนาการของภาษาและตัวอักษร การเปลี่ยนแปลงคำศัพท์และไวยกรณ์ อิทธิพลทางภาษาที่ได้รับอิทธิพลมาจากภาษาอื่น เป็นต้น
- การศึกษาด้านกายภาพของใบลานและสมุดไทย เช่น การศึกษาชนิดของใบลาน ประเภทของหมึกที่ใช้ เป็นต้น
- เอกสารตัวเขียนที่เป็นคัมภีร์ทางศาสนาไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม เช่น พระไตรปิฎก คัมภีร์มหาชาติคำหลวง คัมภีร์อัลกุรอาน หลักปฏิบัติทางศาสนาอิสลาม รวมไปถึงตำนานพื้นบ้านที่ผสานเข้ากับความเชื่อดั้งเดิม เช่น ตำนานพระพุทธบาท ตำนานพญาคันคาก ตำนานน้ำท่วมโลก ตำนานพระธาตุพนม ตำนานอุรังคธาตุ เป็นต้น
- เอกสารตัวเขียนที่เกี่ยวกับความเชื่อและจิตวิญญาณ เช่น ตำราพรหมชาติ การทำนายทายทักเคราะห์หามยามร้าย การดูฤกษ์ยามการทำกิจธุระ ตำราโหราศาสตร์สัตว์ที่ใช้พฤติกรรมสัตว์ทำนายเหตุการณ์ ตำราพรหมชาติที่เชื่อมโยงสัตว์กับดวงชะตาและโชคชะตาของมนุษย์ ตำรายันต์ที่ใช้รูปสัตว์ในคาถาป้องกันภัย เป็นต้น
- เอกสารตัวเขียนที่เกี่ยวกับสิ่งเหนือธรรมชาติ เช่น ตำราไสยศาสตร์ที่กล่าวถึงอำนาจของวิญญาณ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ พิธีกรรมการปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย คาถาและมนต์ต่าง ๆ เป็นต้น
- เอกสารตัวเขียนที่เกี่ยวกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศวิทยา พืชพรรณต่าง ๆ ผ่านการบันทึกคัมภีร์และตำรา เช่น ตำราแรกนาที่กล่าวถึงการทำนา ตั้งแต่การลงต้นกล้าจนถึงการเก็บเกี่ยว ปฏิทินจันทรคติที่ใช้กำหนดเวลาปลูกข้าว ทำไร่ทำสวน การระบุวันดีวันร้ายในการทำไร่ไถนา ตำรายากล่าวถึงชื่อสมุนไพรและสรรพคุณในการรักษาโรค เป็นต้น
2. เอกสารตัวเขียนไท(ย): มนุษย์กับโลกสมัยใหม่ สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม ประเด็นนี้มุ่งเน้นให้เห็นว่า โลกสมัยใหม่ เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทในการดำรงชีวิตของผู้คนมากขึ้น การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้คนในด้านต่าง ๆ การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับงานด้านเอกสารตัวเขียนก็เป็นสิ่งที่เริ่มพบได้ทั่วไป เช่น
- ความท้าทายในการอนุรักษ์ ศึกษา และเผยแพร่เอกสารตัวเขียน เช่น แนวทางการศึกษาและอนุรักษ์ในสถาบันการศึกษา การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเอกสารตัวเขียน การศึกษาการเปลี่ยนแปลงวัสดุดิบที่มีผลต่อการผลิตใบลาน สมุดไทย เป็นต้น
- การสร้างฐานข้อมูลออนไลน์ การใช้ AI และ OCR (Optical Character Recognition) ในการถอดความอักษรโบราณ
- การพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ผ่าน VR (Virtual Reality) และ AR (Augmented Reality) เพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย
- การใช้ Blockchain ในการเก็บรักษาและตรวจสอบต้นฉบับเอกสารตัวเขียน
- การพัฒนาฟอนต์และระบบการพิมพ์ที่รองรับอักษรโบราณ
- การพัฒนาเครื่องต้นแบบในการทำสำเนาดิจิทัลใบลาน
- การนำองค์ความรู้สมุนไพรจากตำรายามาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์
3. เอกสารตัวเขียนไท(ย): มนุษย์กับสายมู และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ “สายมู” คือ กลุ่มคนที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับความเชื่อทางไสยศาสตร์ เครื่องรางของขลัง ศาสตร์พยากรณ์ การเสริมดวงในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การเปลี่ยนชื่อนามสกุล เบอร์โทรศัพท์มือถือ การไหว้พระขอพรเสริมโชคลาภ ขณะเดียวกัน ก็มีการผสานองค์ความรู้ดั้งเดิมภูมิปัญญาเข้ากับธุรกิจและนวัตกรรมเกิดเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่น
- การออกแบบฟอนต์อักษรโบราณและลวดลายอันเป็นภูมิปัญญาในเอกสารตัวเขียนมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น อาหาร ยันต์แบบสกรีนบนเสื้อ เครื่องประดับ และของตกแต่ง เป็นต้น
- การออกแบบเครื่องรางของขลังให้เข้ากับรสนิยมของคนสมัยใหม่ เช่น สร้อยคอพญานาค พวงกุญแจเสริมดวง วอลเปเปอร์เสริมดวง สร้อยข้อมือยันต์ เป็นต้น
- การจัดทำยันต์โบราณ เช่น ยันต์มหาเสน่ห์ ยันต์กันภัย ยันต์ค้าขาย เป็นต้น
- การจัดทำพิธีสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาชีวิตที่ต่อยอดองค์ความรู้จากตำราโบราณ
- แอปพลิเคชันทำนายดวงที่ใช้ตำราโหราศาสตร์เป็นฐานข้อมูล
- การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวโดยการผูกโยงกับตำนานที่ปรากฏในเอกสารตัวเขียน
กำหนดเวลา
1. ประกาศเปิดรับบทคัดย่อ วันนี้ – 15 พฤษภาคม 2568
2. ประกาศรายชื่อบทความที่ได้รับคัดเลือก วันที่ 31 พฤษภาคม 2568 ทางเว็บไซต์ www.sac.or.th
3. ส่งบทความฉบับสมบูรณ์ วันที่ 1 กรกฎาคม 2568
4. นำเสนอบทความในงานประชุมฯ วันที่ 4-5 สิงหาคม 2568
5. ผู้เข้าร่วมนำเสนอบทความจะได้รับเกียรติบัตรในการเข้าร่วมนำเสนอบทความในงานการประชุมฯ
6. บทความที่ได้รับคัดเลือกให้นำเสนอในงานประชุมฯ จะได้รับการตีพิมพ์เป็น e-proceedings เผยแพร่ในเว็บไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) www.sac.or.th ภายในเดือนธันวาคม 2568
7. บทความที่ได้รับการประเมินในระดับยอดเยี่ยมจะได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือรวมบทความวิชาการด้านเอกสารตัวเขียน ชื่อ เอกสารตัวเขียนวิทยา Volume 2 จัดพิมพ์ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569
ช่องทางการส่งบทคัดย่อ
ผู้สนใจกรอกแบบฟอร์มบทคัดย่อ ทาง www.sac.or.th ข่าวประชาสัมพันธ์ และส่งมาที่อีเมล manuscripts2025@sac.or.th