เปิดรับการอภิปรายเป็นกลุ่ม (Call for Panel) การประชุมวิชาการมานุษยวิทยา 68
เปิดรับการอภิปรายเป็นกลุ่ม (Call for Panel)
การประชุมวิชาการมานุษยวิทยา 68
หัวข้อ พหุปฏิสัมพันธ์: มนุษย์กับสิ่งไม่ใช่มนุษย์ (Interactive Pluralism: Human-Nonhuman)
วันที่ 7-9 กรกฎาคม 2568 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
โลกที่ดำรงอยู่ เปลี่ยนแปลง และเหลื่อมซ้อนกันของมนุษย์และสิ่งไม่ใช่มนุษย์ เป็นความท้าทายต่อการพัฒนาและแก้ไขชีวิตให้ดีขึ้นในบริบทที่เต็มไปด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและโลก การตระหนักถึงการมีอยู่ของสิ่งอื่นทั้งวัตถุ สภาพแวดล้อม และสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น จำเป็นต้องเห็นปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อทบทวนตรวจสอบสถานะและการกระทำของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งอื่น ขณะเดียวกันเพื่อตั้งคำถามว่าปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นนั้นวางอยู่บนโลกทัศน์และระบอบอำนาจแบบไหน มนุษย์สามารถตัดสินใจในเชิงศีลธรรมที่ปรากฏอยู่ในความสัมพันธ์ที่หลากหลายได้อย่างไร ภายใต้การพัฒนาของรัฐและแนวโน้มของการผูกขาดเชิงเศรษฐกิจและการเมืองในระดับโลก มนุษย์กระทำต่อสิ่งไม่ใช่มนุษย์ในรูปแบบใด ผลกระทบจากการกระทำนั้นเป็นอย่างไร ใครและสิ่งใดบ้างที่เป็นกลไกของการสร้าง รื้อทำลาย และฟื้นฟูโลก
การประชุมวิชาการมานุษยวิทยา 68 ขอเชิญนักวิชาการที่สนใจส่งข้อเสนอการอภิปรายกลุ่มที่สอดคล้องกับหัวข้อการประชุม โดยมีประเด็นย่อยที่เกี่ยวข้องต่อไปนี้
1) การซึมผ่านและการบรรจบกันของมนุษย์กับสิ่งอื่น (permeability & intersectionality) อภิปรายเกี่ยวกับประสบการณ์ ปฏิบัติการ ปฏิสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อสิ่งอื่นที่มิใช่มนุษย์ และทำให้เกิดการสลายเส้นแบ่ง และความคลุมเครือของสิ่งที่เชื่อมต่อ ซึมผ่าน และบรรจบกัน ทำให้เกิดสภาวะที่ต่างไปจากบรรทัดฐานที่คุ้นชิน ทำให้เห็นการสถาปนาความจริงแบบใหม่
2) ข้อสงสัยและความคลุมเครือเกี่ยวกับ autonomy และ agency อภิปรายให้เห็นความผันผวนปรวนแปร และความไม่คงที่ของตัวตนของผู้กระทำการ ความหมายและคุณค่าเกี่ยวกับอำนาจในตัวของมนุษย์และสิ่งไม่ใช่มนุษย์ที่ไม่เป็นไปตามกฎระเบียบที่เคยชื่อถือกันมา รวมถึงการมีตัวตนในรูปแบบใหม่ที่ไม่มีฟอร์มที่ชัดเจน
3) การแปรสภาพและความรีบเร่งของเทคโนโลยี (transformation & immediacy) อภิปรายให้เห็นพลังอำนาจของดิจิทัล, ปัญญาประดิษฐ์, เทคโนลยีอัจฉริยะ ที่ถูกใช้ในพรมแดนสังคม และกลายเป็นความแปลกแยก ความเร่งรีบ ความปั่นป่วนวุ่นวาย ความไร้ระเบียบ ทำให้เกิดความเพ้อฝัน จินตนาการ และการตกเป็นเหยื่อในเวลาเดียวกัน
4) ปฏิสัมพันธ์กับความรับผิดชอบ (accountability) อภิปรายให้เห็นว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งไม่ใช่มนุษย์ ทำให้เห็นรูปแบบเชิงศีลธรรม จริยธรรม ความรับผิดชอบ และความขัดแย้งที่เปลี่ยนไป มนุษย์มิได้เป็นผู้กำหนดความถูกต้องดีงาม แต่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขที่ซับซ้อนที่มนุษย์กระทำต่อสิ่งอื่น เช่น ระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ
5) การสูญเสียการควบคุม (lost control) อภิปรายให้เห็นว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งไม่ใช่มนุษย์ มีความไม่เท่าเทียมเชิงอำนาจเกิดขึ้น และอำนาจแอบแฝงและอำพรางตนเองอยู่ในกลไกที่ซับซ้อนของการเมือง เศรษฐกิจ และการพัฒนา รวมถึงมนุษย์มิใช่ผู้ควบคุมโลกทางวัตถุอีกต่อไป แต่สิ่งที่มิใช่มนุษย์กลายเป็นผู้กระทำที่มีบทบาทสำคัญต่อการดำรงอยู่ของสังคมและโลก เช่น ภัยพิบัติ และโรคอุบัติใหม่
6) ความเปราะบางและความอ่อนแอ (fragility and vulnerability) อภิปรายเกี่ยวกับมิติอารมณ์ ผัสสะ และสุนทรียะที่เกิดขึ้นในปฏิสัมพันธ์และการหลอมรวมระหว่างมนุษย์และสิ่งไม่ใช่มนุษย์ ชี้ให้เห็นตัวละครใหม่ ๆ ที่สร้างความอ่อนไหว ความเปราะบาง และความอ่อนแอให้กับรูปแบบของการมีชีวิตที่ต่างไปจากเดิม
เงื่อนไขและข้อปฏิบัติ
1. ผู้เสนอหัวข้ออภิปรายส่งข้อเสนอการอภิปรายกลุ่มตามแบบฟอร์มที่กำหนด
2. ผู้เสนอหัวข้ออภิปรายเป็นผู้ประสานงานระหว่างผู้อภิปรายในกลุ่มกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เมื่อหัวข้ออภิปรายได้รับการคัดเลือก
3. ผู้เสนอหัวข้ออภิปรายอธิบายความสอดคล้องของหัวข้ออภิปรายกลุ่มกับหัวข้อการประชุม
4. กลุ่มอภิปรายต้องเขียนสาระสังเขปของหัวข้ออภิปรายกลุ่มประมาณ 8-10 บรรทัด
5. กลุ่มอภิปรายมีผู้อภิปรายไม่เกิน 3 คน มีผู้ดำเนินรายการ 1 คน
6. ผู้อภิปรายแต่ละคนต้องมีประเด็นของตนเองโดยสอดคล้องกับหัวข้ออภิปรายกลุ่ม
7. ผู้อภิปรายต้องเขียนสาระสังเขป อธิบายประเด็นที่จะอภิปรายประมาณ 4-5 บรรทัด
8. ผู้อภิปรายมีเวลานำเสนอคนละประมาณ 20-30 นาที
9. ผู้อภิปรายต้องเขียนสรุปเนื้อหาของการอภิปรายความยาวประมาณ 2-3 หน้ากระดาษ ขนาด A4 เมื่อหัวข้ออภิปรายได้รับการคัดเลือก
10. ผู้อภิปรายต้องเป็นนักวิชาการไทยหรือนักวิชาการต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย
11. ผู้อภิปรายหนึ่งคนสามารถร่วมอภิปรายกลุ่มได้ 1 หัวข้อเท่านั้น
12. กลุ่มอภิปรายที่ได้รับคัดเลือกจะต้องยืนยันเข้าร่วมการประชุมภายในเดือนพฤษภาคม 2568
ระยะเวลาการส่งข้อเสนอของ Panel ตั้งแต่เดือนวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568
ประกาศรายชื่อหัวข้อและผู้ได้รับการคัดเลือก ภายในเดือนมีนาคม 2568
ส่งข้อเสนอมาที่อีเมล whisut.v@sac.or.th (วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์)
สอบถามรายละเอียด โทร. 02 880 9429 ต่อ 3807 (นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ) ในเวลาราชการ