ศมส. เปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมอบรม “โครงการส่งเสริมศักยภาพผู้นำทักษะวัฒนธรรม รุ่นที่ 2”
1. รับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมอบรมหลักสูตรส่งเสริมศักยภาพผู้นำทักษะวัฒนธรรม รุ่นที่ 2
2. การรับสมัคร: เปิดรับสมัคร วันที่ 20 – 28 ธันวาคม 2566 (รับจำนวนจำกัด)
3. ความสำคัญของโครงการ
โครงการส่งเสริมศักยภาพผู้นำทักษะวัฒนธรรม มุ่งสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ให้ “คิดกว้าง มองไกล เข้าใจโลก” ด้วยการสร้างความเข้าใจความหมายของวัฒนธรรม การสร้างความตระหนักรู้ในความหลากหลายและเท่าทันต่ออคติทางวัฒนธรรม สามารถเผชิญหน้ากับวัฒนธรรมที่แตกต่างได้อย่างสร้างสรรค์ และใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นหัวใจสำคัญในการก้าวข้ามความขัดแย้ง มีทักษะแห่งอนาคตที่พร้อมขับเคลื่อนการทำงานในสังคมที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีทักษะเชื่อมประสานการดำเนินงานกับผู้อื่น ให้เป็นเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมและการเท่าทันต่อคติในสังคม
4. แนวคิดโครงการ
1) กระบวนทัศน์ใหม่ (New Paradigm) เข้าใจโลกด้วยมุมมองใหม่ เห็นความซับซ้อนเชื่อมโยงกันของปัญหา ทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและการเมือง
2) ภาวะผู้นำแบบใหม่ (New Leadership) สามารถทำงานบนความแตกต่างหลากหลาย และขับเคลื่อนปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมในหลายระดับ
3) ทักษะใหม่ (New Skills) ที่เข้าใจมิติทางวัฒนธรรม สามารถใช้ทุนและพลังทางวัฒนธรรม สร้างสรรค์สังคมที่เท่าเทียมและเท่าทันอคติ เรียนรู้และเปิดรับสิ่งใหม่ เพื่อสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับสังคม
5. วัตถุประสงค์
1) เพื่อสร้างและจุดประกายให้ผู้นำรุ่นใหม่มี “ทักษะวัฒนธรรม” สร้างสรรค์สังคมที่ยอมรับความแตกต่าง ใช้ความคิดสร้างสรรค์ก้าวข้ามความขัดแย้ง
2) เพื่อสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายผู้นำทักษะวัฒนธรรม ที่เอื้อต่อการดำเนินงานส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม
3) เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมการเรียนรู้ ส่งเสริมความเข้าใจความหลากหลาย เท่าทันอคติและการคุ้มครองสิทธิวัฒนธรรม
6. คุณลักษณะผู้นำทักษะวัฒนธรรม
1) ความตระหนักรู้ (awareness) ต้องเข้าใจว่าสังคมมีความหลากหลาย มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน และมีความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา แต่ต้องไม่นำไปสู่ความรุนแรง
2) ความเคยชิน (habit) ต้องเข้าใจและสร้างความเคยชินต่อพหุวัฒนธรรม และเข้าใจว่าความสัมพันธ์ของมนุษย์มีทั้งขัดแย้งและสมานฉันท์
3) ความสามารถ (ability) ต้องเปิดพื้นที่ให้กับคนที่แตกต่าง ไม่วางตนเองเป็นศูนย์กลางและเรียนรู้ที่จะสื่อสารกับผู้คนที่หลากหลาย
7. รูปแบบหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้
เน้นกระบวนการเรียนรู้ที่ให้ความสำคัญของการ แลกเปลี่ยน และการเรียนรู้จากประสบการณ์ระหว่างผู้เข้าร่วมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อปรับกระบวนทัศน์ให้เปิดกว้าง และเป็นการเชื่อมโยงเครือข่าย กระบวนการทำงาน การแสดงความเห็น การคิดและวิเคราะห์ ซึ่งมีรูปแบบการเรียนรู้ตลอดหลักสูตร คือ การเรียนรู้เชิงปฏิบัติการ (workshop) ระยะเวลา 5 เดือน แบ่งออกเป็น 5 Module (4 วัน 3 คืน/module) โดยมีหัวข้อการเรียนรู้ ดังนี้
Module ที่ 1: “วัฒนธรรม” การทบทวน เท่าทัน และตั้งคำถามต่อความหมายของวัฒนธรรม วันอบรม วันที่ 27 – 31 มกราคม 2567
Module ที่ 2: “อำนาจ” ความหลากหลายของปฏิบัติการของอำนาจและการต่อต้านขัดขืน วันอบรม วันที่ 28 – 31 มีนาคม 2567
Module ที่ 3: “อคติ” การเข้าใจความหลากหลาย เท่าทันอคติ ความขัดแย้ง และความรุนแรง วันอบรม วันที่ 9 - 12 พฤษภาคม 2567
Module ที่ 4: “ทักษะ” การเสริมทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานทางวัฒนธรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลง วันอบรม วันที่ 20 – 23 มิถุนายน 2567
Module ที่ 5: “ปฏิบัติการ” เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง การกำหนดแนวทาง แผนงานโครงการและความร่วมมือเพื่อยกระดับการทำงาน วันอบรม วันที่ 15 – 18 สิงหาคม 2567
8. คุณสมบัติ
1) มีประสบการณ์ทำงานในประเด็นทางวัฒนธรรม 3 ปีขึ้นไป มีอายุ 30 – 45 ปี โดยจะพิจารณาจากความหลากหลายทั้งประสบการณ์ทำงาน ช่วงอายุ และวิชาชีพ
2) เป็นผู้มีผลงานเชิงประจักษ์และหรือเป็นผู้ปฏิบัติที่มีบทบาทนำ มีพื้นที่ทำงานหรือมีส่วนร่วมในทำงานทางสังคม อันมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เคารพต่อความหลากหลาย และเท่าทันอคติทางวัฒนธรรม
3) มีความมุ่งมั่นและหรือสามารถทำงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนวาระทางสังคมได้ในระยะยาว
4) มีความรู้และเท่าทันสถานการณ์ทางสังคม มีความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงานและมีความสามารถในการสร้างเครือข่ายการทำงาน
9. กระบวนการพิจารณาผู้เข้าร่วมโครงการ
1) เมื่อปิดรับสมัคร ศูนย์ฯ ดำเนินการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ที่ผ่านหลักเกณฑ์ เสนอต่อ คณะกรรมการอำนวยการหลักสูตรโครงการส่งเสริมศักยภาพผู้นำทักษะวัฒนธรรม
2) คณะกรรมการอำนวยการฯ ตรวจสอบและพิจารณาเลือกสรรผู้ที่มีคุณสมบัติผ่านหลักเกณฑ์ ตามบัญชีรายชื่อ
3) ประกาศผลการคัดเลือกผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ วันที่ 19 มกราคม 2567 ทางเว็บไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร -> ข่าวสารกิจกรรม -> ข่าวประชาสัมพันธ์
4) ปฐมนิเทศผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ วันที่ 27 มกราคม 2567
5) เริ่มอบรมผู้นำทักษะวัฒนธรรม รุ่นที่ 2 Module 1 วันที่ 28 – 31 มกราคม 2567
10. ช่องทางการสมัครเข้าร่วมโครงการ
1) กรอกใบสมัครได้ที่ (google form)
https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLScgdLV5XWwnnX1c7wNWA6VoFDTD9MxLP-s7RV_Wf20uy7EZ_Q/viewform
2) ดาวน์โหลดใบสมัคร (ไฟล์ word) แล้วกรอกใบสมัครส่งมายังอีเมล nichapa.i@sac.or.th
3) ดาวน์โหลดใบสมัคร (ไฟล์ PDF) แล้วกรอกใบสมัคร และส่งมาที่ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กทม. 10170 (ศมส. จะพิจารณาใบสมัครที่ตีตราประทับภายในวันที่ 28 ธันวาคม 2566)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นิชาภา อินทะอุด โทร. 02-880-9429 ต่อ 3813 หรือ 099-119-2925 ทั้งนี้ หากท่านได้รับการคัดเลือก ศมส. จะประสานกลับไปยังท่านอีกครั้ง
อ่านรายละเอียดโครงการได้ที่ QR Code ด้านล่าง
ฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)