ศมส. จับมือสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชพ.) และภาคีเครือข่าย จัดงานวันชนเผ่าพื้นเมืองโลกและวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2566
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) ร่วมกับสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชพ.) จัดงานรณรงค์และเฉลิมฉลองเนื่องในวันสากลชนเผ่าพื้นเมืองโลกและวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 “พลังเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง ร่วมสร้างสรรค์สังคมสู่การเปลี่ยนแปลง” ระหว่างวันที่ 8-10 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 9 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันสากลของชนเผ่าพื้นเมืองโลก เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นการประชุมครั้งแรกของ UNWGIP (United Nations Working Group on Indigenous Peoples) ซึ่งเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่การศึกษาและพัฒนามาตรฐานต่าง ๆ ในการคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอย่างเป็นรูปธรรม การประกาศวันสากลชนเผ่าพื้นเมืองโลกจึงมีเจตนารมย์สำคัญที่จะสื่อสารให้ประชาคมโลกรับรู้ตระหนักถึงปัญหาความต้องการและช่วยกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชนเผ่าพื้นเมืองประสบอยู่ และสร้างการยอมรับในคุณค่าและสิ่งดีงามที่ชนเผ่าพื้นเมืองได้สร้างคุณประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างพื้นที่และโอกาสให้ชนเผ่าพื้นเมืองได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และเสริมสร้างความสมานฉันท์ในหมู่ชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งจะก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์และวิถีวัฒนธรรมของตน
มีการเปิดเผยให้เห็นข้อมูลสถานการณ์ชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกในปัจจุบันพบว่ามีประชากรประมาณ 370 ล้านคน คิดเป็น 5% ของจำนวนประชากรโลก อาศัยอยู่ใน 90 ประเทศ มีภาษาพูดมากกว่า 7,600 ภาษา สำหรับประเทศไทยปัจจุบันมีการสำรวจและขึ้นทะเบียนรับรองสมาชิกชนเผ่าพื้นเมืองโดยสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยจำนวน 46 กลุ่ม ขณะที่ข้อมูลจากฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์รวม 60 กลุ่มชาติพันธุ์ มีประชากร 6.1 ล้านคน
สำหรับการจัดงานรณรงค์และเฉลิมฉลองเนื่องในวันสากลชนเผ่าพื้นเมืองโลกและวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 ในครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างพื้นที่และโอกาสให้เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองจำนวน 46 กลุ่มจากทั่วประเทศ แบ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองจากภาคเหนือพื้นที่สูง ชนเผ่าพื้นเมืองจากภาคเหนือพื้นที่ราบ ชนเผ่าพื้นเมืองจากภาคกลาง ตะวันออกและตะวันตก ชนเผ่าพื้นเมืองจากภาคอีสาน และชนเผ่าพื้นเมืองจากภาคใต้ ได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน
โดยในวันที่ 9 สิงหาคม 2566 ได้รับเกียรติจากนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม มาเป็นประธาน ได้เน้นย้ำให้เห็นว่า กระทรวงวัฒนธรรมได้ตระหนักและเห็นคุณค่าสำคัญของความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะที่เป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ ซึ่งจะเป็นพลังในการพัฒนาประเทศอย่างสร้างสรรค์ และได้นำเสนอให้เห็นความก้าวหน้าของการจัดทำร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ว่าปัจจุบัน ศมส. ได้จัดร่างกฎหมายดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาให้ความเห็นของคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ดีกระทรวงวัฒนธรรมยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยกำหนดให้มีนโยบายสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ที่ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และสนับสนุนส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้นำมรดกภูมิปัญญามาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน
การดำเนินงานกิจกรรมวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 ครั้งนี้ได้มีการออกแบบกิจกรรมในรูปแบบที่หลากหลายเพื่อเป็นพื้นที่ในการสื่อสารตัวตนและอัตลักษณ์ของชนเผ่าพื้นเมือง โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกสภาชนเผ่าพื้นเมืองแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่าเข้าร่วมกิจกรรมตลอดทั้ง 3 วัน แสดงให้เห็นความโดดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละชนเผ่า การจัดทำนิทรรศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การใช้ภาษาของแต่ละชนเผ่า การทำอาหารชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้สัมผัสและทดลองชิมอาหารชนเผ่าพื้นเมือง ตลอดจนการละเล่นกีฬาชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อสร้างสีสันและความสนุกสนานภายในงาน
ในการจัดงานครั้งนี้ยังได้มีการประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ปัญหาที่เป็นข้อจำกัดในการดำรงชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย โดยพบว่า ปัจจุบันชนเผ่าพื้นเมืองโดยส่วนใหญ่ยังเผชิญกับสถานการณ์ที่เป็นข้อจำกัดต่อการดำรงชีวิตและวิถีวัฒนธรรม ทั้งในด้านการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ การไม่มีสิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย การไม่ได้รับรองสิทธิสถานะบุคคลทำให้ประชากรชนเผ่าพื้นเมืองมากกว่า 500,000 คน ยังเป็นบุคคลไร้สถานะ ส่งผลต่อการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานของรัฐ ปัญหาการสูญเสียตัวตนและอัตลักษณ์ วัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง ทั้งในด้านการใช้ภาษา การขาดคนสืบทอดภูมิปัญญา วัฒนธรรม เป็นความเสี่ยงที่ส่งผลให้ชนเผ่าพื้นเมืองเหล่านั้นต้องสูญหาย รวมถึงปัญหาอคติที่มีต่อชนเผ่าพื้นเมืองทั้งจากสังคมทั่วไปและการปฏิบัติจากรัฐทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติที่ไม่ยอมรับในตัวตนและวัฒนธรรมที่หลากหลายของชนเผ่าพื้นเมือง
อย่างไรก็ดีในการประชุมได้นำเสนอให้เห็นว่า ปัจจุบันการจัดทำฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยยังมีช่องว่างของการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลที่ชัดเจน โดยเฉพาะการสำรวจจำนวนประชากรกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองที่ยังไม่สามารถระบุจำนวนและขอบเขตการตั้งถิ่นฐานของประชากรได้ รวมถึงการประมวลข้อมูลสถานการณ์ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพพันธุ์ที่มีความแตกต่างหลากหลาย ทำให้หน่วยงานรัฐไม่สามารถกำหนดแนวนโยบายหรือแผนการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองใปนระเทศได้ ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร จึงได้เน้นย้ำให้เห็นถึงเป้าหมายและความสำคัญของการจัดทำฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ว่าจะเป็นส่วนสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างการรับรู้และความเข้าใจต่อวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่จะช่วยลดปัญหาอคติที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ และเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่จะยืนยันตัวตนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ประสบปัญหาการไม่ได้รับรองสิทธิสถานะบุคคล ตลอดจนเป็นข้อมูลต่อการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการยอมรับในสิทธิการใช้ประโยชน์และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติบนฐานการเคารพภูมิปัญญาและวัฒนธรรม และประการสำคัญคือการนำเสนอให้เห็นศักยภาพและความสามารถของกลุ่มชาติพันธุ์ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างสร้างสรรค์
นอกจากนี้ในวันที่ 10 สิงหาคม 2566 ยังได้มีการนำเสนอผลการดำเนินงานของสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยในรอบ 4 ปี โดยชี้ให้เห็นถึงการสร้างเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับพื้นที่ที่ก่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาชนเผ่าพื้นเมืองในระดับกลุ่มและระดับชุมชนอย่างหลากหลาย การส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองในระดับภูมิภาค ตลอดจนการผลักดันร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. ... ซึ่งปัจจุบันได้ถูกบรรจุอยู่ในระเบียบวาระการประชุมผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ดีสำหรับแนวทางในการดำเนินงานในระยะต่อไปของสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยได้นำเสนอให้เห็นแผนงานเชิงปฏิบัติการระยะ 4 ปี พ.ศ2566-2570 แบ่งเป็น 6 ประเด็นยุทธศาสตร์ดังนี้
1) การพัฒนาองค์กรและเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง
2) การพัฒนาฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศเพื่อการวางแผนและพัฒนา
3) การเสริมสร้างครอบครัวและชุมชนของชนเผ่าพื้นเมืองสู่การพึ่งพาตนเอง
4) การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง
5) การเสริมสร้างสังคมพหุวัฒนธรรม
6) การระดมทุน
โดยมีเป้าหมายที่จะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย สามารถส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองให้ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรีบนพื้นฐานภูมิปัญญาตามประเพณีที่สอดคล้องกับปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง โดยอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง
เจษฎา เนตะวงศ์
นักบริหารเครือข่ายฯ ฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)