นิทรรศการ
สนามของภาพถ่าย
เรื่องเล่าระหว่างโลกและเลนส์ทางมานุษยวิทยา
“ในโลกที่เทคโนโลยีและวิถีชีวิตของผู้คนพลิกผัน
"สนาม" และ "การทำงานภาคสนาม” กลายเป็นโจทย์ที่ท้าทาย
ความเปลี่ยนแปลงเป็นทั้งข้อจำกัดและโอกาสของการสร้างสรรค์ความเป็นจริงใหม่ ๆ
สนามของปฏิบัติการอาจไม่เหมือนเดิม การทำงานภาคสนามจะช่วยให้เรา
ได้เข้าใจโลกที่เปลี่ยนแปลง และได้เรียนรู้ว่าตัวเราเองก็สามารถเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่เราเอง
ก็อาจไม่เคยรู้ว่าเรามีศักยภาพนั้นอยู่”
- ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) -
ในปี พ.ศ. 2566 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ให้ความสำคัญกับ การเก็บข้อมูลภาคสนามและประสบการณ์การทำงานภาคสนามในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้นักวิชาการนำชีวิตของผู้คนและสิ่งต่าง ๆ ที่พบเห็นในพื้นที่วิจัยมาบอกเล่าและนำเสนอในเวทีวิชาการ โดยสามารถนำเสนอได้หลากหลายวิธี เช่น นำเสนอด้วยภาพถ่าย ภาพวีดิทัศน์ บทกวี งานศิลปะ งานเขียนเชิงสร้างสรรค์ นิทรรศการ สื่อแบบผสมที่มีทั้งเสียงและภาพ หรือใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเสนอเรื่องราวจากภาคสนาม
กิจกรรม “Shutter Stories: เล่าโลกหลังเลนส์มองภาพผ่านเลนส์มานุษยวิทยา” จัดขึ้นเพื่อตอบสนองเจตนารมณ์ดังกล่าว เพื่อสนับสนุนให้มีการนำเสนอเรื่องราวจากสนามในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม มีทั้งการบรรยายโดยวิทยากรและกิจกรรมภาคสนาม ด้วยเล็งเห็นว่า ภาพถ่ายเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความรู้และความเข้าใจมนุษย์รวมถึงสิ่งที่มิใช่มนุษย์ซึ่งไม่จำเป็นต้องบอกเล่าผ่านข้อเขียนเสมอไป แต่สามารถใช้เทคนิควิธีการที่หลากหลายเพื่อสะท้อนการดำรงอยู่ของสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างสร้างสรรค์และไม่จำกัดอยู่แต่ภายในกรอบความคิดและแบบแผนเดิม ๆ ผลผลิตจากการเข้าร่วมกิจกรรมและกลับไปยังสนามของตนเองนำมาซึ่งการจัดแสดงชุดภาพถ่าย อันเป็นผลงานของผู้ได้รับเลือกให้เข้าร่วมกิจกรรม ในนิทรรศการ
“สนามของภาพถ่าย: เรื่องเล่าระหว่างโลกและเลนส์ทางมานุษยวิทยา”
นิทรรศการนี้บอกเล่าถึง 10 เรื่องราว จาก 10 ผู้รังสรรค์ผลงาน
1. Parallel World โดย สาธิตา ธาราทิศ
2. PILLARS โดย วัชรวิชญ์ ภู่ดอก
3. Lost in time โดย วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์
4. ผู้คน สิ่งของ พื้นที่ โดย พสิษฐ์ ปานแร่
5. รถไต่ถัง ความเสี่ยงบนแผ่นไม้ที่กำลังเลือนหาย โดย ธัชธรรม โตสกุล
6. Folk life - วิถีคน วิถีควาย โดย ชุตินันท์ มาลาธรรม
7. ภูมิทัศน์แห่งท้องทุ่ง: การฟื้นฟูนาร้างเป็นนาปลอดสารในสามจังหวัดภาคใต้ โดย ศจี กองสุวรรณ
8. คน ถ้ำ ลูกปัด โดย คณณัฐ ประเสริฐวิทย์
9. จาก “การฝัง” สู่“การเผา” โดย ติวัฒน์ อังวัฒนพานิช
10. Before I close your eyes โดย นันทณัฐ ดวงธิสาร
วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์
จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์
ทิพาวรรณ วรรณมหินทร์
ภัณฑารักษ์
ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์
ประสานงาน
Parallel World
เราคงมองไม่เห็นภัยคุกคาม หากวิกฤตสภาพภูมิอากาศไม่ได้เกิดกับเราโดยตรง
“Parallel World” หรือ “โลกคู่ขนาน”
อีกโลกหนึ่งในทุกนาทีได้ผ่านไปเหมือนไม่เคยมาบรรจบกับโลกที่เราอยู่
เราเหลือบมอง แต่ไม่เคยเห็น
เราฟังแต่ไม่เคยได้ยิน
และเรายังคงไม่รู้สึก คิดว่าไม่เกี่ยวข้อง ไม่มีผลกระทบกับเรา
หมู่บ้านขุนสมุทรจีนเผชิญหน้ากับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงมากที่สุด
ในประเทศไทย
จากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากพฤติกรรม
ของ.. “มนุษย์”
หากเรามองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
โลกคือบ้าน บ้านขุนสมุทรจีนก็คือส่วนหนึ่งบ้าน ถ้าเรามองเห็นว่าทุกสิ่งล้วนเชื่อมโยง
เป็นหนึ่งเดียวกัน เราอาจจะตื่นและลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างก่อนที่มันจะสายเกินแก้
ข้อมูลจาก Climate Central ทำการคำนวณระดับความสูงของชายฝั่งผ่านดาวเทียม คาดการณ์ว่า พื้นที่ชายฝั่งทั่วโลก มีความเสี่ยงที่จะจมอยู่ใต้น้ำภายในปี 2050 หนึ่งในนั้นคือ กรุงเทพมหานคร
สภาพของประตูทางเข้าโบสถ์ของวัดขุนสมุทรจีน ที่ถูกยกพื้นขึ้นเพื่อหนีน้ำทะเลในช่วงที่ระดับน้ำขึ้นสูงสุด
บ้านที่ถูกตั้งอยู่บนผืนดินที่จำกัด ในขณะเดียวกันน้ำทะเลยังคงกัดเซาะผืนดินแห่งนี้อยู่ทุกวินาที
“ในอดีตหมู่บ้านนี้ เคยตั้งอยู่ห่างออกไปไกลกว่า 2 กิโลเมตร” คู่สามีภรรยาชาวขุนสมุทรจีนที่แต่งงานอยู่กินกันมากกว่า40 ปี เล่าให้ฟัง ก่อนที่จะบอกว่า “บ้านหลังนี้ ถูกย้ายมาเป็นครั้งที่ 6 แล้ว”
เด็กน้อยที่หมู่บ้านขุนสมุทรจีน กำลังลอยตัวอยู่บนน้ำที่ผันเข้ามาจากทะเล ครั้งหนึ่งจุดนี้เคยเป็นผืนแผ่นดิน
กรุงเทพมหานครอยู่ห่างจากหมู่บ้านขุนสมุทรจีน 50 กิโลเมตร
เจ้าของผลงาน: สาธิตา ธาราทิศ
สนใจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เรียนรู้ชีวิต กลับมาอยู่กับลมหายใจ
เพื่อความสมดุล ให้อยู่รอดบนดาวโลกนี้ได้อย่างไม่หมดหวัง
สาธิตา ธาราทิศ
http://mymory.space
PILLARS
ผมสังเกตเห็นเสาเหล่านี้ขณะที่เรือกำลังแล่นไปบนผืนน้ำคลองโคน สมุทรสงคราม
บ้างเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเชื่อ บ้างเกี่ยวข้องกับการทำมาหากิน
บ้างก็แสดงให้เห็นถึงการเข้ามาของเทคโนโลยีที่ช่วยทำให้ชีวิตผู้คนดีขึ้น
เสาโครงสร้างอาคาร ไม่ทราบแน่ชัดว่าอยู่ในระหว่างการก่อสร้างหรือล้มเลิกการก่อสร้างไปแล้ว
เสาเอกประกอบพิธีกรรมความเชื่อคนของในพื้นที่
เสาโมบายกังหันลม สามารถพบเห็นเสาเหล่านี้ได้ตลอดสองริมฝั่งทาง
เสาโซล่าเซลล์ ปัจจุบันโซล่าเซลล์เป็นเทคโนโลยีที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะได้เห็นแผงโซล่าเซลล์ถูกนำมาติดตั้งไว้ในพื้นที่กลางน้ำที่ไฟฟ้าเข้าไปไม่ได้
เสากั้นเขตหาปลา วิถีชีวิตของคนแถบนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการประมง เสากั้นเขตพร้อมแหจึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สามารถพบได้ตลอดข้างทาง
เจ้าของผลงาน: วัชรวิชญ์ ภู่ดอก
เป็นช่างภาพก่อนที่จะเริ่มเป็นนักเขียน สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมกันของมนุษย์ เชื่อว่าประเทศไทยสามารถเป็นประเทศที่ดีได้
วัชรวิชญ์ ภู่ดอก
watcharawit.myportfolio.com
Lost in time
“บ้านแพทย์” เป็นอดีตคลินิกราคาถูกของแพทย์หญิงประกายพฤกษ ขจิตสุวรรณ เก็บเงินค่ารักษาพยาบาลตั้งแต่ 0-100 บาท ตั้งอยู่กลางชุมชนบ่อนไก่ ด้วยความคาดหวังให้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ในยุคก่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค
คลินิกนี้ดำรงอยู่ในชุมชนหลายทศวรรษก่อนจะหยุดทำการเมื่อประกายพฤกษแก่ชรา จากคำบอกเล่าของคนหน้าเก่าในชุมชน บ้านหลังนี้เกี่ยวพันกับชีวิตหลากหลาย นับตั้งแต่การฉีดยา ตรวจอาการ ไปจนถึงทำคลอดฉุกเฉิน
ชุมชนบ่อนไก่ที่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ นับเป็นชุมชนแออัดขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลายของชนชั้นทางเศรษฐกิจ นับตั้งแต่แฟลตแน่นขนัด บ้านเรือนรั้วติดกันหนาแน่น ไปจนถึงบ้านเดี่ยวที่ตั้งตระหง่านมาอย่างยาวนาน บนพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งตั้งอยู่กลางเมืองบนถนนพระราม 4
ช่วงเวลาที่เปลี่ยนผ่าน การเติบโตของเมืองและมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ นำมาซึ่งโครงการพัฒนาที่ดินรอบชุมชนบ่อนไก่ อาคารสูงระฟ้าถูกก่อสร้าง บ้านเรือนเริ่มย้ายออก อนาคตเป็นเรื่องที่พอทำนายได้ ขึ้นอยู่กับเวลาเท่านั้น ว่าจะพัดพาชุมชนแห่งนี้ไปเมื่อใด
หลายช่วงเวลาในชีวิตของข้าพเจ้าได้เติบโต วนเวียน ในบ้านหลังนี้และชุมชนบ่อนไก่ นับตั้งแต่ความทรงจำที่นั่งขลุกรอยายตรวจคนไข้ในคลินิก ไปจนถึงวันที่คลินิกปิดทำการถาวร เหลือเพียงห้องน้ำสำหรับผู้มาเยือนที่ถูกทิ้งร้าง และถูกพันธนาการด้วยรากไทร
ภาพถ่ายชุดนี้ถูกบอกเล่าผ่านสายตาของอดีตผู้อยู่อาศัยในชุมชนที่กลับกลายเป็นอื่นเมื่อย่างเท้ากลับเข้าไปในชุมชนอีกครั้ง สนามกีฬาตรงข้ามบ้านยายยังคงเต็มไปด้วยผู้คนในชุมชนที่แตกต่างไปคือความรู้สึกและสถานะของข้าพเจ้าต่อพื้นที่แห่งนี้
ความเป็นอื่น ความแปลกแยก ความเหินห่าง ที่ตอกย้ำการเป็น “คนนอก” ของข้าพเจ้าต่อชุมชนแห่งนี้ อย่างสิ้นเชิง
บ้านของแพทย์หญิงประกายพฤกษ ขจิตสุวรรณ หรือที่คนในชุมชนบ่อนไก่รู้จักในนาม “บ้านแพทย์” ยังคงยืนตระหง่านผ่านกาลเวลา ในอดีตที่แห่งนี้เคยเป็นที่พึ่งพิงของผู้คนหลากหลาย ในช่วงขณะที่สวัสดิการการรักษาพยาบาล นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคยังไม่ปรากฏขึ้นในประเทศไทย
ป้ายไม้เก่าที่เริ่มผุหน้ารั้วเหล็ก เป็นสิ่งบ่งชี้เดียวของผู้คนที่ผ่านไปมา ถึงประวัติศาสตร์ชุมชนของบ้านหลังนี้
ห้องน้ำนอกตัวบ้าน สำหรับผู้ใช้บริการคลินิกถูกช่วงชิงพื้นที่ด้วยรากไทรที่แทรกเข้าไปในโครงสร้างที่ถูกทิ้งร้าง
สนามกีฬาประจำชุมชนบ่อนไก่ ยังคงอื้ออึงไปด้วยผู้คน บรรยากาศที่คงเดิม ทว่าเปลี่ยนไป หากมองจากสายตาอันกลายเป็นอื่นของอดีตผู้เคยอาศัย และจากชุมชนไปเป็นเวลาหลายปี
ร้านหัวมุม 4 แยกในชุมชนบ่อนไก่ยังคงไว้ซึ่งโครงสร้าง แต่กิจการร้านค้าเปลี่ยนผันไปตามกาลเวลา นับตั้งแต่ร้านเกม-อินเทอร์เน็ต ไปจนถึงร้านขายของจิปาถะ ในขณะเดียวกันก็ปรากฏภาพการก่อกำเนิดของตึกสูงระฟ้าที่คืบคลานเข้าจับจองทำเลทองกลางใจเมือง
เจ้าของผลงาน: วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์
ช่างภาพข่าว-สารคดีอิสระ เติบโตในสังคมและพื้นที่หลากหลาย ตั้งแต่โรงเรียนชายล้วน ค่ายทหารริมทะเล ไปจนถึงชุมชนแออัด สนใจประเด็นการเมือง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เพศ และความเป็นมนุษย์
วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์
Varuthp.com
ผู้คน สิ่งของ พื้นที่
ผู้ศึกษาต้องการนำเสนอภาพถ่ายจากการทำงานภาคสนามทางมานุษยวิทยาที่สื่อสารถึงการใช้ชีวิตของผู้คน สิ่งของ และพื้นที่ ทั้งในเชิงเดี่ยว จับคู่กัน หรือที่มีความเชื่อมโยงกัน
“ผู้คน” มุ่งสื่อสารอารมณ์และความรู้สึก ผ่านสีหน้าและท่าทางของผู้คนที่กำลังทำงาน เช่น คนขับเรือ ณ คลองโคน และอาม่าย่านเยาวราช
“สิ่งของ” มุ่งสื่อสารการมีอยู่ของวัตถุ/สิ่งของอย่างเชื่อมโยงกับผู้คน สถานที่ และห้วงเวลา เช่น โคมไฟกับความสงสัย โคมไฟในศาลเจ้า
“พื้นที่” มุ่งสื่อสารการใช้พื้นที่ที่สัมพันธ์กับกิจกรรมในชีวิตประจำวันของผู้คน เช่น การทำงานกลางแจ้งของผู้คน
แสงแดดที่แผดเผา
แดดร้อนในปลายเดือนมีนาคม 2566 หลายคนคงขอหยุดพักการทำงานในที่ร่ม แต่สำหรับ “คนขับเรือหางยาวแห่งคลองโคน” ร้อนแค่ไหนก็ต้องขับไป เพราะมันคือ “งานที่สร้างรายได้”
กระดาษไหว้เจ้าของอาม่า
เมื่อยังคงมีลมหายใจ ผู้คนในทุกช่วงวัยล้วนยังคงต้องดำเนินชีวิตไปตามเข็มนาฬิกา เช่นเดียวกับอาม่าแห่งชุมชนเจริญไชยที่ไม่เคยวางมือจากการพับกระดาษไหว้เจ้า ผมแวะเวียนไปหาอาม่าทีไร อาม่าก็ยังคงพับกระดาษไปพร้อม ๆ กับหยุดพูดคุยกับผมเป็นห้วง ๆ อย่างเป็นกันเอง
สงสัย
“ถ้าเขย่งตัวให้สูงขึ้นอีกหน่อย ผมจะมองเห็นมันไหม” นี้คงเป็นคำถามในใจเด็กน้อย แล้วอะไรละคือสิ่งที่เด็กน้อยกำลังจ้องมอง โคมไฟสีแดงนั้น หรือจะเป็นฝักข้าวโพดที่แขวนอยู่บนต้นไม้ หรือเจ้าเด็กน้อยมองไกลไปกว่านั้น นี้ก็เป็นคำถามในใจคนที่ถ่ายภาพนี้อย่างผมเช่นกัน
โคมกระดาษสีแดงในศาลเจ้าจีน
ความเชื่อ คือ สิ่งหล่อเลี้ยงจิตใจของผู้คน ไม่ใช่แค่สวยงาม โคมกระดาษแดงยังเป็นสิ่งสะท้อนความเชื่อและความศรัทธาของชาวไทยเชื้อสายจีน ด้วยจินตนาการของผม “โคมกระดาษหลากแบบหลายลวดลาย” นี้ชวนให้ผมคิดถึงความหลากหลายของผู้คนที่อยู่ร่วมกันในดินแดนนี้ แม้จะต่าง แต่เมื่อความหลากหลายนั้นมาอยู่รวมกัน มันก็ดูสวยงามในสายตาของผม
งานหนัก
ทุกวันที่ต้องทำงาน มันคืองานหนัก แค่ความหนักหนาที่แต่ละคนต้องแบกรับมันต่างกัน บางคนต้องใช้แรงกายเพื่อสู้งานหนัก บางคนต้องใช้มันสมองเพื่อแก้ไขปัญหา งานหนักของใครต่อใครมันจึงไม่เท่ากัน สิ่งนี้นำผมไปสู่ข้อสงสัยว่า “อะไรและทำไมที่ทำให้เราต้องทำงานหนักกันเช่นนี้ เพื่ออยู่ เพื่อสะสม หรือเพื่ออะไร”
เจ้าของผลงาน: พสิษฐ์ ปานแร่
นักศึกษาปริญญาโท สาขามานุษยวิทยา จากวังท่าพระ สนใจการทำงานข้ามศาสตร์ที่เชื่อมโยงองค์ความรู้ทางมานุษยวิทยากับสิ่งแวดล้อม สถาปัตยกรรม งานออกแบบ นวัตกรรมการเรียนการสอน และทุก ๆ ความเป็นไปได้ ด้วยความเชื่อว่าในแต่ละช่วงเวลาและสถานที่ ทุกสรรพสิ่งต่างให้ความหมายซึ่งกันและกัน
พสิษฐ์ ปานแร่
Gunthunp@gmail.com
รถไต่ถัง ความเสี่ยงบนแผ่นไม้ที่กำลังเลือนหาย
ท่ามกลางสื่อบันเทิงสมัยใหม่มากมายที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน กิจกรรมที่เคยให้ความสนุกเร้าใจในอดีตนั้นได้ถูกลืมเลือนหายไปตามกาลเวลา หากไร้ซึ่งผู้สืบทอด มันคงเหลือเพียงชื่อเท่านั้น
รถไต่ถังเป็นหนึ่งในนั้นที่ตัวผมเองเคยได้ยินเพียงชื่อและคิดว่าคงเลือนหายไปแล้ว หากแต่ยังมีคณะอย่าง “วรวุฒิ กระดูกเหล็ก” ที่สืบต่อกิจการรถไต่ถังมาจากรุ่นพ่อและยังมีเจตนารมณ์ในการสืบต่อเอาไว้ให้คนรุ่นต่อ ๆ ไปได้รับชม แม้จะไม่ได้เป็นกิจกรรมที่สร้างกำไรให้พวกเขามากแล้วก็ตาม
ชีวิตของนักแสดงที่ถูกผูกไว้กับความเสี่ยงบนรถกระบะและรถจักรยานยนต์ความท้าทายเสียงรถดังระงมและแรงสั่นสะเทือนจากการขับเคลื่อนด้วยความเร็วในแนวตั้งบนถังไม้จนมือของผู้ขับขี่แทบจะจับกับผู้ชมได้ สิ่งเหล่านี้ดึงดูดผู้ชมหลายหลากอายุทั้งผู้ที่เคยสนุกกับการแสดงสุดอันตรายในวัยเยาว์และเด็กที่สงสัยใคร่รู้ว่าสิ่งนี้คือการแสดงอะไรกันแน่
ภาพชุดนี้ได้เข้าไปดูถึงชีวิตของนักแสดงภายในถังความเชื่อที่พวกเขายึดถือ อุปกรณ์ และวัฒนธรรมอันฉูดฉาด ที่เคยเป็นที่นิยมในอดีตและเริ่มหาดูได้ยากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ในกาลปัจจุบัน
รถไต่ถัง การแสดงโชว์ผาดโผนผ่านการขับขี่ยานยนต์บนกำแพงแห่งความตายที่ใกล้วันเลือนหาย โดยมี ตุ๋ย วรวุฒิ กัลยาณพันธ์ เจ้าของ “วรวุฒิกระดูกเหล็ก” กิจการรถไต่ถังที่รับช่วงต่อมาจากรุ่นพ่อที่ยังคงไว้ซึ่งเจตนารมณ์ในการสืบทอด
ภายนอกของถังแสดงถูกตกแต่งด้วยแสงสีฉูดฉาด ประกอบเพลงสไตล์รถแห่เสียงดังกึกก้อง พร้อมสาวนุ่งน้อยห่มน้อยโยกย้ายบนเวทีคอยเรียกความสนใจจากผู้ผ่านไปผ่านมา
ภายในถังไม้ขนาดใหญ่ มีรถกระบะคู่ใจและรถจักรยานยนต์สำหรับการแสดงรายล้อมอยู่รอบโต๊ะพิธีสำหรับไหว้สิ่งเคารพบูชาของทีมงาน
ทีมงานและนักแสดงจะตรวจเช็คอุปกรณ์ต่าง ๆ พร้อมทั้งไหว้เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อความสบายใจ ก่อนการแสดงสุดอันตรายบนถนนถังไม้แนวตั้งนี้
สิ่งที่ยากที่สุดกิจการรถไต่ถัง คงเป็นการหาผู้รักในความเร็วและความท้าทายมาสืบต่อ กิจการที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง ความอันตราย และความตื่นเต้นที่ใกล้ถูกลืมเลือนนี้
เจ้าของผลงาน: ธัชธรรม โตสกุล
ช่างภาพอิสระที่ผันตัวจากวิศวกรมาเล่าเรื่องผ่านภาพถ่าย สนใจในสังคมและพฤติกรรมมนุษย์ ความเชื่อและจิตวิญญาณ รักการเดินทางเพื่อตามหาชิ้นส่วนความคิดที่หล่นหาย
ธัชธรรม โตสกุล
tuchatham.tosakul@hotmail.com
Folk life - วิถีคน วิถีควาย
ควายเป็นสัตว์เลี้ยงที่อยู่คู่กับวิถีเกษตรกรรมไทยมานาน ควายกับท้องทุ่งนาผืนกว้าง จึงเป็นภาพจำเมื่อนึกถึงทุ่งนาและความเป็นชนบท ปัจจุบันแทบไม่มีใครเลี้ยงควายในไร่นาเพื่อใช้งานแล้ว แต่ควายก็ยังกลายเป็นตัวแทนของสัตว์เลี้ยงในวิถีชีวิตเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม
ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษในภาคตะวันออก พื้นที่เกษตรกรรมได้รับการพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย และสถานที่ท่องเที่ยว ในจังหวัดชลบุรียังคงมีการจัดประเพณีวิ่งควายสืบทอดกันมานับร้อยปี เป็นประเพณีประจำปีของจังหวัดที่ได้รับการประชาสัมพันธ์ว่าเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในไทย หนึ่งเดียวในโลก มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมขบวนแห่เกวียนกัณฑ์เทศน์ การแข่งขันวิ่งควาย การประกวดควายสวยงามทุกปี
ในช่วงเทศกาลออกพรรษาตามชุมชนตลาดต่าง ๆ ในชลบุรีจะจัดประเพณีวิ่งควายหมุนเวียนต่อเนื่องกันไปจนถึงวันลอยกระทง ควายและทีมงานคนเลี้ยงควายจึงจะได้พักเพื่อไปเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร หลังจากนั้นกลุ่มคนเลี้ยงควายมักจะนัดกันแข่งขันวิ่งควายอย่างน้อยเดือนละครั้ง กระทั่งช่วงก่อนปลูกข้าวจึงจะเปลี่ยนจากการแข่งขันวิ่งควายแบบที่มีคนขี่หลังควายหรือควายบก มาเป็นการแข่งขันวิ่งควายคราดนาซึ่งใช้ควายคู่ใส่แอกเทียมคราดวิ่งแข่งกัน ในอดีตคนทำนาจะลงแขกคราดนาให้พื้นดินเรียบเสมอกันเพื่อดำนาปลูกข้าวต่อไป และจะเริ่มกลับมาฝึกซ้อมเพื่อแข่งขันวิ่งควายบกกันอีกครั้งในช่วงใกล้ประเพณีออกพรรษา
การเลี้ยงควายในชลบุรีจึงเป็นความรู้และประสบการณ์ที่ส่งต่อความรู้จากรุ่นสู่รุ่น นับตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ “เหล่าควายวิ่งดี” การดูแลเอาใจใส่ตลอดทั้งวันทั้งคืน การฝึกซ้อมใช้งานอย่างสม่ำเสมอ ควายและคนเลี้ยงควายในชลบุรีจึงมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง เพราะได้ออกกำลังกายกันตลอดทั้งปี และผูกพันใกล้ชิดกันมาก ทั้งคนกับควายที่ต้องรู้ใจกัน และกลุ่มคนเลี้ยงควายที่ได้พบปะกันทั้งช่วงฝึกซ้อมและแข่งขัน สนามฝึกซ้อมควายและสนามแข่งควายเป็นทั้งพื้นที่พบปะสังสรรค์ ห้องเรียนห้องทดลอง พื้นที่เรียนรู้ สนามเล่นสนุกและพื้นที่สร้างความสุขของคนเลี้ยงควายทุกเพศทุกวัย
ผลจากการขยายตัวของเมือง นิคมอุตสาหกรรมและสถานที่ท่องเที่ยวทำให้พื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ว่างสำหรับเลี้ยงควายน้อยลง คนเลี้ยงควายจึงต้องตระเวนหาตัดหญ้าที่มีคุณค่าทางอาหารสูงและทำแปลงหญ้าเพื่อเลี้ยงควายวิ่งโดยเฉพาะ รวมถึงหาพื้นที่แข่งขันวิ่งควายที่เหมาะสมได้ยาก บางชุมชนต้องปรับเปลี่ยนการจัดประเพณีไป
สำหรับคนเลี้ยงควายในชลบุรี ควายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนเลี้ยงควาย คนเติบโตพร้อมกับควาย ตามวิถีแห่งชีวิตที่ผูกพันกันมายาวนานตั้งแต่เกิด เปลี่ยนแปลงหมุนเวียนไปตามฤดูกาล ความคล่องแคล่วว่องไวและปรับตัวเก่งคงจะช่วยให้ทั้งคนและควายในชลบุรีปรับวิถีได้ทันท่วงที
เที่ยวตลาด
การพาควายจากท้องทุ่งสู่ตลาดจะต้องฝึกฝนจนควายคุ้นเคยกับความจอแจของผู้คนและรถราที่ขวักไขว่ ชาวเมืองชลเชื่อว่าในเทศกาลออกพรรษาจะต้องพาควายมาเที่ยวตลาดจะช่วยให้ควายแข็งแรงไม่เจ็บป่วยและเป็นสิริมงคลแก่ตลาดนั้น ปัจจุบันถนนในตลาดเป็นถนนลาดยาง ทั้งยังมีอากาศร้อน ผู้เลี้ยงควายจึงต้องสาดน้ำให้ควายเพื่อคลายร้อนด้วย
ลองทาง บนเลน
คนเลี้ยงควายในชลบุรีจะจัดแข่งขันวิ่งควายหมุนเวียนไปตามชุมชนต่าง ๆ ตั้งแต่หลังออกพรรษาไปจนถึงก่อนฤดูฝน การแข่งขันวิ่งควายในสนามที่เป็นโคลนเลนจากฝนที่ตกหนักมาตลอดทั้งคืนจึงเป็นบรรยากาศที่พบได้ไม่บ่อยนัก
รอยยิ้ม
เด็ก ๆ ในครอบครัวคนเลี้ยงควายเติบโตมาพร้อมกับควาย คนกับควายจึงสนิทสนม แกล้งหยอกเอินกันได้ บ่อยครั้งที่สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้ทั้งคนเล่นอยู่กับควายและผู้ที่บังเอิญผ่านมาเห็น
รุ่นเก๋า
บรรดาคนรุ่นเก๋ารุ่นเก่าเลี้ยงและใช้ควายมาตั้งแต่เด็ก ทำให้มีประสบการณ์ความรู้เรื่องควายอยู่มาก เมื่อมาพบกันในสนามจึงชอบมานั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันอยู่ในทำเลที่มองเห็นทั่วทั้งสนาม ดูลูกหลานฝึกซ้อมและแข่งขันควาย
ความสุข
ความสุขของคนเลี้ยงควายคือการเห็นควายที่เฝ้าเอาใจใส่ เลี้ยงดู ฝึกซ้อมมาอย่างดีวิ่งเข้าเส้นชัยเป็นตัวแรกของรุ่นคว้ารางวัลมาให้ได้ชื่นชม
เจ้าของผลงาน: ชุตินันท์ มาลาธรรม
นักเรียนคติชนวิทยา รักการเก็บข้อมูลภาคสนามเป็นชีวิตจิตใจ ชอบอ่านเขียนอยู่บ้าง ชอบถ่ายรูปวิวและสิ่งของมากกว่าคน แต่สนใจวิถีชีวิตและหลงใหลรอยยิ้มของผู้คนในภาพที่ตัวเองถ่าย
ชุตินันท์ มาลาธรรม
melonfocus
ภูมิทัศน์แห่งท้องทุ่ง
การฟื้นฟูนาร้างเป็นนาปลอดสารในสามจังหวัดภาคใต้
การทํานาของชาวสามจังหวัดภาคใต้ จังหวัดนราธิวาส ยะลาและปัตตานี เป็นวิถีที่สืบทอดกันมาแต่อดีตอาศัยแรงงานคนเป็นหลักซึ่งเป็นการทำเพื่อยังชีพมากกว่าเพื่อการค้า ชาวนาส่วนใหญ่มีที่นาขนาดเล็กประมาณ 2-5 ไร่ ชาวนาจำนวนหนึ่งทำนาในที่นาของเพื่อนบ้านแบบการแบ่งครึ่งผลผลิต (Sharing Crop) ส่วนใหญ่ใช้ข้าวพันธุ์พื้นเมือง บางทุ่งยังคงเกี่ยวข้าวโดยใช้แกระและเคียวซึ่งเป็นวัฒนธรรมการทำนาที่มีมาตั้งแต่อดีตและยังคงมีอยู่ ในปัจจุบัน ผลผลิตข้าวที่ได้ร้อยละ 70 เก็บบริโภคในครัวเรือน การทำนาในยุคหนึ่งจึงไม่ได้เป็นเพียงวิถีชีวิตแต่เป็นความพยายามสร้างมั่นคงทางอาหารของครัวเรือนเอง
ทั้ง ๆ ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ เพียงพอต่อการเจริญเติบโตบนฐานทรัพยากรเกษตรที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน แต่สถานการณ์ในภาพรวมของสามจังหวัดภาคใต้มีความมั่นคงทางอาหารระดับน้อยถึงปานกลาง เด็ก ๆ ประสบปัญหาขาดสารอาหารมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานและมีภาวะเตี้ยในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่น ๆ ผลสำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญา (ไอคิว) ประจำปี 2559 ของกรมสุขภาพจิต พบว่าเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ของสามจังหวัดภาคใต้ มีค่าเฉลี่ยไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ขณะที่ภาวะโภชนาการของผู้สูงอายุร้อยละ 37.8 อยู่ในเกณฑ์เสี่ยงต่อการขาดอาหาร (กิตติกร นิล มานัตและคณะ, 2556)
สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มมีพื้นที่นาร้างปรากฏให้เห็น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 เป็นต้นมา และขยายพื้นที่เพิ่มมากขึ้นในปีต่อ ๆ มา ข้อมูลล่าสุดจากกรมพัฒนาที่ดิน ปี 2564 สามจังหวัดภาคใต้ มีพื้นที่ปลูกข้าวเพียงร้อยละ 5 ของพื้นที่ การเกษตร และสามารถผลิตข้าวเพียง ประมาณร้อยละ 10 ของความต้องการโดยเฉลี่ย แต่พื้นที่สามจังหวัด กลับมีพื้นที่นาร้างมากถึง 78,000 ไร่ หรือ เกือบร้อยละ 20 ของพื้นที่นาที่มีในสามจังหวัดภาคใต้
สาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหานาร้าง คือ เกษตรกรให้ความสำคัญกับการปลูกพืชเศรษฐกิจตัวอื่น เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ซึ่งให้ผลตอบแทนดีกว่า การขาดแคลนแรงงานเนื่องจากแรงงานอพยพไปทำงานต่างถิ่นทั้งในและต่างประเทศ ปัญหาที่นามีน้ำท่วมขังจากคันคลองส่งน้ำชลประทานและระดับถนนที่ยกสูงขึ้น การขายที่นาให้นายทุน ทัศนคติของชาวนาที่มีต่อการทำนาเปลี่ยนไป ประกอบกับนับจากปี 2547 เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รุนแรงขึ้น ผลที่เกิดขึ้นก็คือการปล่อยที่นาทิ้งร้างทำให้การทำนาที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการบริโภคในท้องถิ่น การฟื้นนาร้างไม่ใช่เพียงการปลูกข้าวเพื่อให้ได้ข้าว แต่เป็นการพลิกฟื้นวิถีชุมชนให้คืนกลับมา พร้อมกับฟื้นฟูสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดี
ด้วยตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว มูลนิธิอีสต์ฟอรั่มร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินโครงการฟื้นฟูนาร้างเป็นนาอินทรีย์ ระหว่างปี 2564 - ปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูนาร้าง ระบบนิเวศ วัฒนธรรมอาหารท้องถิ่น อันนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหาร มีคุณค่าทางโภชนาการ เกื้อกูลต่อสิ่งแวดล้อมในสามจังหวัดภาคใต้
สตรีมีบทบาทสำคัญในสังคมชาวนา เป็นผู้เก็บเมล็ดพันธุ์ วางแผนเพาะปลูกและจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว
มือที่ผันผ่านวันเวลา คัดเมล็ดข้าวทีละเมล็ดเพื่อให้ได้ข้าวบริสุทธิ์
บ้านชาวนาเรียบง่าย พึ่งพาธรรมชาติ
การทำนา คือ ความมั่นคงทางอาหาร ชาวนาในสามจังหวัดภาคใต้ส่วนใหญ่ทำนาด้วยวิถีดั้งเดิม การลงแรงทำนายังคงพบเห็นได้
ดอกข้าวพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ปลอดสาร กลิ่นกรุ่นทั่วดอกทุ่งยามข้าวตั้งท้อง
เจ้าของผลงาน: ศจี กองสุวรรณ
ตั้งแต่เรียนจบก็ฝังตัวเองอยู่กับงานเอ็นจีโอ และตั้งใจว่าจะทำมันต่อไปจนกว่าจะแบกเป้ลงพื้นที่ไม่ไหว ชอบถ่ายภาพนก แมลง ดอกไม้ และอื่น ๆ แปลกที่ทำงานอยู่กับชุมชนมาตลอด แต่กลับไม่มั่นใจในการถ่ายภาพผู้คน อาจจะเพราะกังวลใจในเรื่องการคุ้มครองสิทธิและข้อมูลส่วนบุคคลหรือเปล่านะ
ศจี กองสุวรรณ
k_sajee@hotmail.com
คน ถ้ำ ลูกปัด
พื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยเป็นผืนดินที่กั้นกลางระหว่างสองผืนน้ำใหญ่ของโลก ได้แก่ มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก การวิเคราะห์ข้อมูลและหลักฐานทางโบราณคดีในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนบนพบว่ามีการใช้เส้นทางจากหลายอำเภอในจังหวัดระนอง (ฝั่งทะเลตะวันตก) เดินลัดคาบสมุทรและลงเรือมาออกทะเลยังปากคลองตะโก อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร (ฝั่งทะเลตะวันออก) ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคหินใหม่
ถ้ำถ้วย และ ถ้ำปลา ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาในบริเวณใกล้ปากคลองตะโก มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุ อาทิ ภาชนะดินเผา กระดูกมนุษย์และสัตว์ ลูกปัดแก้ว และลูกปัดหิน อายุราว 3,000-4,500 ปี เป็นหลักฐานว่ามนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์เคยอาศัยถ้ำทั้งสองเป็นสถานที่ดำรงชีพและ/หรือประกอบพิธีกรรม
จากการสอบถามข้อมูลในชุมชน พบว่า เคยมีประชาชนทั่วไปเข้าไปขุดดินและร่อนหาโบราณวัตถุโดยเฉพาะลูกปัดในถ้ำทั้งสองเพื่อขายตั้งแต่ช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ปัจจุบันกิจกรรมดังกล่าวไม่ได้ถูกดำเนินการต่อแล้วด้วยเหตุผลที่ต่างกันออกไป
ภาพถ่ายชุดนี้บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของผู้คนในยุคปัจจุบันกับถ้ำถ้วยและถ้ำปลา ในบริเวณใกล้ปากคลองตะโก จังหวัดชุมพร และผลกระทบต่อกระบวนการรักษาพยานวัตถุทางประวัติศาสตร์ในเส้นทางลัดคาบสมุทรของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์
ปากคลองตะโก หรือ ปากตะโก เป็นปากน้ำออกสู่ทะเลฝั่งตะวันออก ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นพื้นที่สำคัญบนเส้นทางลัดคาบสมุทรของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ปัจจุบันเป็นหนึ่งในชุมชนปากน้ำที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมประมงรายย่อยที่ถดถอย เชิงเขาด้านหลังป่าชายเลนเป็นที่ตั้งของถ้ำถ้วย
ถ้ำถ้วย ตั้งอยู่ในบริเวณเชิงเขาติดกับวิทยาลัยประมงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ริมปากคลองตะโก ระดับพื้นปากถ้ำอยู่สูงจากระดับพื้นถ้ำ 1 - 2 เมตร บริเวณผิวดินพบร่องรอยการขุดหาลูกปัดจนทำให้สามารถมองเห็นระดับผิวดินเดิมจากผนังถ้ำ
เจ้าหน้าที่ประจำป้อมทางเข้า - ออกวิทยาลัยประมงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ซึ่งเป็นทางเข้าสู่ถ้ำถ้วย จากการสอบถามพบว่าในอดีตมีกระแสการขุดลูกปัดซึ่งทำให้มีผู้สนใจลูกปัดเข้ามาขุดค้นทั้งกลางวันและกลางคืน ปัจจุบันกระแสเงียบไปแล้วประกอบกับการขุดที่พบลูกปัดยากขึ้น
ถ้ำปลา ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาห่างจากปากคลองตะโกไป 5 กิโลเมตรทางเหนือ ในอดีตเคยเป็นสถานที่จำวัดของพระธุดงค์ โดยปัจจุบันได้รับการปรับพื้นถ้ำด้วยปูนซีเมนต์และทุก ๆ ปีจะมีการประกอบพิธีไหว้ครูพ่อปู่สิง ซึ่งเชื่อว่าเป็นอดีตนายพรานที่ถูกสาปให้เฝ้าถ้ำและดูแลโบราณวัตถุ
ประชาชนผู้เกิดและโตรอบบริเวณถ้ำเล่าถึงสภาพถ้ำที่ครั้งหนึ่งเคยถูกลักลอบขุดค้นหาลูกปัดก่อนที่จะมีการรวมตัวกันของชุมชนเพื่อดูแลรักษาถ้ำร่วมกับพ่อปู่สิง
เจ้าของผลงาน: คณณัฐ ประเสริฐวิทย์
นักทุกอย่างสมัครเล่น ชอบออกไปเตร่มองโลกและผู้คนเพราะได้เห็นตัวเอง พอ ๆ กับชอบอยู่กับตัวเองเพราะได้เห็นโลกและผู้คน กำลังเดินทางตามหาวิถีชีวิตที่มนุษย์จะอยู่กับโลกได้อย่างยั่งยืน
คณณัฐ ประเสริฐวิทย์
kananat7699@gmail.com
จาก “การฝัง” สู่“การเผา”
“ฮวงซุ้ย” หรือสุสานของคนไทยเชื้อสายจีน สถานที่ที่ใช้รวมญาติกันเพื่อไหว้และระลึกถึงดวงวิญญาณตามเทศกาล โดยร่างของบรรพบุรุษจะฝังอยู่ในหลุมศพที่อาจมีขนาดแตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัว ฮวงซุ้ยจึงเปรียบเสมือนศูนย์รวมใจในครอบครัวของคนไทยเชื้อสายจีน
เมื่อวัฒนธรรมถูกสืบทอดมาถึงรุ่นลูกหลาน บริบทการไหว้นั้นเริ่มเปลี่ยนไปจากเดิมด้วยความเชื่อและสภาพสังคมในปัจจุบันที่แตกต่างจากในอดีต บ้างแตกต่างออกไปจากเดิม บ้างลดน้อยลงจากเดิม สุสานแต้จิ๋วหรือสุสานวัดดอนคงเป็นหนึ่งภาพที่สะท้อนได้ชัดเจนมีสุสานจำนวนมากที่ “ถูกทิ้งร้าง”
ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ในหมู่ลูกหลานคนไทยเชื้อสายจีนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบในการจัดงานศพที่ต่างออกไปจากเดิมในอดีต คือเปลี่ยนจาก “การฝัง” บรรพบุรุษ มาเป็น “การเผาแทน” เมื่อมีผู้เสียชีวิตในครอบครัว
“การขุดกระดูกเก่าขึ้นมาเผา” อีกหนึ่งมุมมองที่สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงไปของพิธีกรรมความเชื่อหลังความตายของลูกหลานคนจีน ที่เลือกที่จะปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมให้สอดคล้องกับบริบทสังคมไทยมากขึ้นแม้กระทั่งกับบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้ว
ภาพชุดนี้จึงอยากชวนมองในอีกมิติหนึ่ง ถึงสาเหตุในการเปลี่ยนแปลงไปของวัฒนธรรมจีนในอดีต ทำไมในอดีตวัฒนธรรมการฝังร่างบรรพบุรุษจึง “เป็นที่นิยม” ทำไมในปัจจุบันการฝังกลับ “ถูกแทนที่” ด้วยการเผาแทน และในอนาคตการฝังและการไหว้บรรพบุรุษจะ “หายไปมั้ย”
เผากระดูก
ซิ่วและฮก แปลว่าอายุยืนและบุญวาสนา ตัวอักษรจีนทั้งสองข้างโลงศพที่ใส่กระดูกเก่าจากฮวงซุ้ย เพื่อนำไปเผาและประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป
ทิ้งร้าง
ฮวงซุ้ยในสุสานแต้จิ๋ว (สุสานวัดดอน) ที่ถูกปกคลุมไปด้วยใบไม้และต้นไม้ใหญ่ที่ค่อย ๆ กลืนกินสุสานให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ
สุสานกลางเมืองใหญ่
แม้สุสานจะอยู่ใจกลางเมืองหลวง แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ในสุสานมีต้นไม้ใหญ่และหญ้าสูง ดังนั้นก่อนจะขุดกระดูกขึ้นมาจากฮวงซุ้ยจึงต้องถางหญ้าและต้นไม้รอบ ๆ เสียก่อน
ขุด เจาะ ค้น
ก่อนที่จะขุดกระดูกเก่าในฮวงซุ้ยขึ้นมา เจ้าหน้าที่จะต้องดูฤกษ์และจุดธูปขออนุญาตบรรพบุรุษก่อน เมื่อขุดเจาะลงไปแล้ว จะต้องลงไปในหลุมศพเพื่อหากระดูก โดยจะไล่ตั้งแต่ส่วนหัวลงมาถึงส่วนเท้า
ว่างเปล่า
เมื่อฮวงซุ้ยปราศจากบรรพบุรุษ สิ่งที่เหลืออยู่คือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของคนคนหนึ่ง ที่เคยถูกใช้เป็นที่รวมตัวของลูกหลานในช่วงเทศกาลจีนประจำปี
ปิติวัฒน์ อังวัฒนพานิช
ช่างภาพสารคดี เติบโตในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน สนใจการสะท้อนสังคมผ่าน ความเชื่อ ศาสนาและวัฒนธรรมประเพณี
ปิติวัฒน์ อังวัฒนพานิช
a.pitiwat@gmail.com
Before I close your eyes
Before I close your eyes คือการนำเสนอบทสนทนาระหว่างศิลปิน ครอบครัวคาทอลิก และความทรงจำที่ตายไปแล้ว (Dead Memory)
สุสาน คือ พื้นที่สำหรับคนตาย สืบเนื่องจากภูมิหลังเกิด และ เติบโตมาในครอบครัวคาทอลิก ศิลปินจึงมีชีวิตผูกพันกับสถานที่แห่งนี้ เหตุเพราะผู้วิจัยกับครอบครัวต้องเดินทางไปร่วมพิธีกรรม เสกสุสานทุก ๆ ปี ตั้งแต่เริ่มจำความได้ โดยพิธีกรรมเสกสุสาน หรือเรียกอีกชื่อว่า “วันเสกป่าช้า” เป็นพิธีกรรมของชาวคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก มีขึ้นเพื่อระลึกถึงคนตาย พิธีนี้จะมีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ระลึกถึงดวงวิญญาณของญาติพี่ น้องผู้ล่วงลับไปแล้ว อีกนัยหนึ่งก็คือวันพบญาติประจำปี ญาติพี่น้องจะได้มาพบปะกัน สวดภาวนา พูดคุย และทานอาหารร่วมกัน มีความคล้ายคลึงกับวันเช็งเม้งของชาวจีน และวันสงกรานต์ของชาวไทยพุทธ
ในวันและเวลาที่ล่วงเลยผ่านไปตั้งแต่เล็กจนโต จากการเฝ้ามองการรวมตัวกันของครอบครัวผ่านพิธีกรรม เสกสุสาน ศิลปินพบว่าขนาดและจำนวนสมาชิกของครอบครัวมีแต่ลดลงไม่มีเพิ่มขึ้น ดังนั้นสุสานจึงเข้ามาอยู่ในความคิด ในจินตนาการ เป็นจุดเริ่มต้นให้ศิลปินเดินทางกลับไปสำรวจพื้นที่ที่เปรียบเสมือนตัวแทนของการห่อหุ้มชีวิต ความตาย และความทรงจำ สรุปได้ว่า ถึงแม้ว่าสุสานคือพื้นที่สำหรับคนตาย แต่ในอีกด้านหนึ่งที่แห่งนี้ก็สามารถพูดถึงการกลับคืนมารวมตัวของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ได้เช่นกัน
Silence
Mind
Without US
Broken
Future
Eternity
Ghost Story_01
Ghost Story_02
นันทณัฐ ดวงธิสาร
อาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เคยเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับเอเจนซี่ ผลงานภาพยนตร์ขนาดสั้นของเขาได้รับเลือกให้เข้าร่วมประกวดตามเทศกาลภาพยนตร์ระดับนานาชาติ อาทิ
the Venice Film Festival และ the Busan International Film Festival
นันทณัฐ ดวงธิสาร
nuntanat.d@gmail.com