การประชุมวิชาการ มานุษยวิทยา 65 หัวข้อ "Emerging Methodologies - วิธีวิทยาทะลุกรอบ"
การประชุมวิชาการ มานุษยวิทยา 65 "Emerging Methodologies - วิธีวิทยาทะลุกรอบ"
วันที่ 25 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2565
ความรู้ทางมานุษยวิทยาถูกสร้างขึ้นจากสถานการณ์ที่มนุษย์เผชิญในแต่ละยุคสมัย ในขณะเดียวกัน ความเข้าใจทางมานุษยวิทยาก็มีส่วนกำหนดวิธีคิดที่มนุษย์ใช้เผชิญกับปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ
โลกปัจจุบันที่ซับซ้อนและสับสนได้ก่อให้เกิดข้อถกเถียง การตั้งคำถาม และการพัฒนาแนวคิดทฤษฎีใหม่ๆ เพื่อทำความเข้าใจสังคมที่เปลี่ยนแปลงและโลกในภาวะอลหม่าน ในยุคสมัยที่มนุษย์ไม่ได้มีชีวิตเฉพาะทางกายภาพแต่เชื่อมโยงกันทั้งทางสังคม ในพื้นที่เสมือนจริงและในโลกที่ความรู้และความจริงกำลังถูกท้าทาย ภาวะโลกรวนและไร้ระเบียบที่ทำให้เราตระหนักมากขึ้นถึงข้อจำกัดและการก้าวพ้นวิธีคิดที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ความจำเป็นของวิทยาการข้ามศาสตร์ ข้ามสายพันธุ์ และข้ามพรมแดนที่จะพามนุษย์ไปสัมพันธ์กับวัตถุสิ่งของและสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น รวมทั้งสร้างปฏิสัมพันธ์กับสิ่งที่เป็นนามธรรมหลากหลายลักษณะ ที่ปรากฏผ่านเทคโนโลยีและสิ่งประดิษฐ์ดิจิทัล ความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ใหม่ที่เราจำเป็นต้องสร้างขึ้นนี้คือสิ่งที่จะพามนุษย์ไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ เพื่อที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ว่า ในโลกที่สรรพสิ่งกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างถอนรากถอนโคนนี้ เราจะเป็นมนุษย์กันอย่างไร หรือ How to be human.
การแสวงหาความรู้ทางมานุษยวิทยาในห้วงเวลาที่ความจริงและความเป็นมนุษย์กำลังถูกถอดรื้ออย่างถอนรากถอนโคนนี้มีคำถามเกิดขึ้นมากมาย ถ้าความจริงมีได้มากกว่าหนึ่ง และความรู้ไม่ได้ดำรงอยู่เป็นอิสระจากการรับรู้
ถ้าวัฒนธรรมไม่ได้แยกขาดออกจากธรรมชาติและวัฒนธรรมมีมากกว่ามนุษย์
ถ้าผัสสะและสุนทรียภาพเป็นส่วนหนึ่งของความรู้ ถ้าอดีต-ปัจจุบัน-อนาคตไม่ได้เดินทางเป็นเส้นตรงและพื้นที่ไม่ได้เป็นเพียงฉากประกอบการกระทำการ
ถ้าผู้กระทำการไม่ได้มีแต่มนุษย์และการกระทำการของมนุษย์เป็นไปไม่ได้หากปราศจากผู้ร่วมกระทำการที่มีทั้งพืช สัตว์ และวัตถุสิ่งของ
และถ้าความเข้าใจเพื่อที่จะทำให้เราตอบคำถาม how to be human นั้นไม่จำเป็นต้องเกิดจากการศึกษาสังคมมนุษย์
มานุษยวิทยาจะต้องมี "วิธีวิทยา" ใหม่ๆ เพื่อก้าวทะลุกรอบจำกัดของการนิยามความจริงแบบเดิมๆ ไปสู่ความรู้และความเป็นไปได้ใหม่ๆ อย่างไร
ความท้าทายและคำถามเหล่านี้เป็นที่มาของการประชุมวิชาการ “มานุษยวิทยา 65” ภายใต้หัวข้อ วิธีวิทยาทะลุกรอบ : Emerging Methodologies เพื่อสนับสนุนให้นักมานุษยวิทยาและนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ร่วมแลกเปลี่ยนวิธีวิทยาใหม่ๆ ที่จะพาเราทะลุกรอบความคิดเดิมๆ และสร้างคุณค่าและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของความรู้ทางมานุษยวิทยา
ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
แบบฟอร์มขอหนังสือเชิญเข้าร่วมงาน คลิก
ดาวน์โหลดคู่มือการลงทะเบียน คลิก
25 A 01 พิธีกล่าวต้อนรับ และชี้แจงทิศทางวิชาการ ศมส.
โดย
ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
25 A 02 ปาฐกถา วิถีดนตรี วิธีวิทยาทะลุกรอบ Ethnomusicology and Emerging Methodologies
ปาฐกถาโดย อ.อานันท์ นาคคง
Ethnomusicology มานุษยวิทยาดนตรี/มานุษยดุริยางควิทยา/ดุริยางคศาสตร์ชาติพันธุ์ เป็นแขนงความรู้ที่ผสมผสานกันระหว่างศาสตร์ทางดนตรี music และเสียง sound/acoustics กับศาสตร์ในเครือข่ายความรู้ทางมานุษยวิทยา ให้ความสนใจกับปรากฏการณ์ดนตรีและเสียงผ่านพฤติกรรม รูปแบบดนตรี วัฒนธรรมความเชื่อ การสืบทอดและการเปลี่ยนแปลงในชุมชนหลากชาติพันธุ์ ให้ความสำคัญกับทั้งมนุษย์กับเสียงและผลิตผลดนตรีที่เหมือนต่างหลากหลายในพื้นที่วัฒนธรรมต่าง ๆ ของโลก จนเกิดกระบวนการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังและมีการผลิตนักมานุษยวิทยาดนตรีขึ้นมาอย่างมีอัตลักษณ์ ที่ส่งผลกระทบในมิติต่าง ๆ ของสังคม เมื่อโลกก้าวมาถึงศตวรรษที่ 21 มานุษยวิทยาดนตรีในโลกกว้างขยายตัวขึ้นทั้งในด้านแนวคิดทฤษฎีใหม่ ๆ และวิธีปฏิบัติการข้ามพรมแดนความรู้ พรมแดนสังคมการเมือง ความเชื่อศาสนา ตั้งคำถาม ถกเถียงข้ามสาขา ทลายกรอบคิดมานุษยวิทยาดนตรีอนุรักษ์นิยมจนเกินกว่าที่จะจํากัดนิยามความหมายของดนตรีและเสียงในขนบเดิม ๆ อีกต่อไป นักมานุษยวิทยาดนตรีมีสนามความรู้และมีครูอยู่ทุกแห่งหน ตื่นตัวแสวงหาความเข้าใจใหม่ ๆ ต่อสรรพเสียงในทุกภูมิทัศน์ ไม่ว่าจะเป็น ดนตรีและเสียงของคน ผี เทวดา สัตว์ พืช สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ เครื่องจักรกลเทคโนโลยี ดนตรีและเสียงของสังคมเมือง ดนตรีและเสียงของเพศสภาพ ดนตรีและเสียงในโลกไซเบอร์ ฯลฯ เกิดวิธีวิทยาการเรียนรู้และการสังเคราะห์ความคิดในงานดนตรีและเสียงที่ซับซ้อน ลื่นไหล ไม่มีอะไรตายตัว
25 A 03 เสวนา ภูมิทัศน์อคติไทย : องค์ความรู้และวิธีวิทยา
เสวนาโดย
ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์
ดร.ประกีรติ สัตสุต
ดร.ชีรา ทองกระจาย
ดำเนินรายการโดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
บริบทสังคมและวัฒนธรรมของการดูหมิ่นเหยียดหยาม การเลือกปฏิบัติ การแบ่งแยกกีดกัน การปฏิเสธและการไม่ยอมรับกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มความเชื่อทางศาสนา และกลุ่มคนที่มีเพศสภาพและเพศวิถีต่างไปจากชายและหญิง เป็นผลมาจากกฎระเบียบและบรรทัดฐานทางสังคมที่รัฐไทยนำมาใช้ควบคุมชีวิตพลเมืองภายใต้อุดมการณ์ทุนนิยม ความเป็นศิวิไลซ์ และความเป็นไทย นอกจากนั้นยังชี้ให้เห็นว่าวิธีการศึกษาและการทำความเข้าใจกลุ่มคนเหล่านี้จำเป็นต้องมีประสบการณ์ร่วม เช่น เข้าไปใช้ชีวิตอยู่กับกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มทางศาสนา และคนหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นวิธีการที่จะทำให้เห็นความคิด ความรู้สึกและโลกทัศน์ที่คนเหล่านี้มีต่อตนเองและคนรอบข้าง
25 C 03 เสวนา More than Human Methodologies วิธีวิทยามากกว่ามนุษย์
เสวนาโดย
พนา กันธา
อ.สิทธิโชค ชาวไร่เงิน
ผศ.ดร.ชนกพร ชูติกมลธรรม
ดำเนินรายการโดย ชัชชล อัจนากิตติ
สิ่งที่ดำรงอยู่ในโลก ประกอบด้วยสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตหลายชนิด และสิ่งที่ไม่มีชีวิตที่ดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมทางกายภาพ วัตถุและสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ล้วนมีความเชื่อมโยงต่อกันอย่างซับซ้อนในหลายรูปแบบ การทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องมีวิธีการติดตาม ตรวจสอบ เฝ้าดู สังเกต คลุกคลีใกล้ชิด เพื่อทำความเข้าใจสิ่งมีชีวิตหลายชนิดที่อาศัยอยู่ร่วมกับมนุษย์และระบบนิเวศ ทั้งที่เป็นพืชและสัตว์ ซึ่งพึ่งพาอาศัยและสร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ซับซ้อน โดยไม่นำเอาความคิดของมนุษย์เป็นศูนย์กลาง แต่ชี้ให้เห็นสถานะผู้กระทำการ (Actor) ของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น วิธีวิทยาที่จะทำให้เข้าใจการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นจำเป็นต้องก้าวข้ามระเบียบวิธีวิจัยแบบเดิมที่เคยใช้ศึกษามนุษย์ การศึกษาสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นอาจไม่มีภาษาเป็นเครื่องมือสื่อสาร แต่ใช้วิธีอื่นเพื่อศึกษาแบบแผนและคุณลักษณะของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น
25 B 03 เสวนา ข้ามศาสตร์ ข้ามพื้นที่ : วิธีวิทยาข้ามแดน
เสวนาโดย
ศ.ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ
รศ.ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง
รศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์
ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์
สังคมปัจจุบัน มนุษย์และสรรพสิ่งมีการเดินทางเคลื่อนย้ายข้ามเขตแดนกันอย่างรวดเร็วและซับซ้อน นำไปสู่วิธีการศึกษาสังคมและการเก็บข้อมูลแบบไม่ติดพื้นที่ ซึ่งต้องอาศัยเทคนิคและวิธีการที่ต่างไปจากเดิมเพื่อจะทำให้เข้าใจสิ่งที่ถูกศึกษาที่ย้ายที่ข้ามพรมแดนตลอดเวลา ทำให้เห็นกิจกรรมที่ซับซ้อนที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ตายตัว อยู่ในสภาวะไม่แน่นอน ยากต่อการคาดเดา นอกจากนั้น ยังนำเสนอวิธีการทำงานระหว่างนักมานุษยวิทยาและนักวิชาการสาขาอื่น โดยที่นักมานุษยวิทยาได้นำเทคนิคและวิธีการของศาสตร์ต่าง ๆ มาเป็นเครื่องมือ เพื่อทำให้การศึกษาสังคมและวัฒนธรรมมีความแตกต่างไปจากการทำงานภาคสนามแบบเดิม โดยชี้ให้เห็นว่าการที่นักมานุษยวิทยาเข้าไปใช้วิธีการของศาสตร์อื่น นักมานุษยวิทยาต้องเรียนรู้และปรับตัวอย่างไร การทำงานร่วมกับนักวิชาการสาขาอื่นมีข้อจำกัดและมีคุณูปการอย่างไร
25 D 03-04 Visual Anthropology ทัศนะ-ทัศนา : มานุษยวิทยาการมอง (Workshop)
อ.ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
ยศธร ไตรยศ
อภินันท์ ธรรมเสนา
ดำเนินรายการ อภินันท์ ธรรมเสนา
การมองเห็นมาก่อนถ้อยคำ? คือคำถามพื้นฐานสำคัญของนักมานุษยวิทยา ศิลปิน และนักวิพากษ์วัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ในเชิงวิภาษวิธีระหว่างการมองเห็นโลกภายนอกกับโลกทางความคิดที่ดำรงอยู่ภายใน อันเป็นมรดกสำคัญในการค้นหาความรู้หลังจากการปฏิวัติวิทยาศาสตร์และการเข้าสู่สภาวะความทันสมัย คำถามนี้ยังท้าทายการลำดับความสำคัญของจักษุผัสสะในลักษณะที่อยู่เหนือกว่าผัสสะอื่น ๆ ในการรับรู้ความเป็นจริงทางสังคมของโลก ทัศนะ ทัศนา: มานุษยวิทยาแห่งการมอง มีจุดมุ่งหมายในการพาผู้เข้าสัมมนาไปสู่ข้อถกเถียงขั้นพื้นฐานทางแนวคิดที่โยงใยมานุษยวิทยากับศาสตร์ความรู้อื่น ๆ เข้าไว้ด้วยกัน ควบคู่ไปกับตัวอย่างการทำงานของทีมช่างภาพทางวัฒนธรรมมืออาชีพซึ่งมีประสบการณ์การทำงานหลากหลาย ทั้งในพื้นที่เปราะบางทางวัฒนธรรม พื้นที่ความรุนแรงทางการเมือง และพื้นที่ซึ่งเป็นเป้าหมายของการพัฒนาโดยรัฐ มาร่วมค้นหาความหมายแห่งการมองเห็น ผ่านการเผยโฉมสิ่งที่ถูกปกปิดจากการรับรู้ของดวงตา เพื่อวาดหวังและจินตนาการใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง
25 A 04 เสวนา วิธีวิทยาติดตามความรุนแรงและการจัดการความขัดแย้งในสังคมไทย
เสวนาโดย
รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ
ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง
ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง
สังคมไทยและสังคมโลกประกอบด้วยกลุ่มคนที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติ ความเชื่อทางศาสนา ฐานะทางเศรษฐกิจ และอุดมการณ์ทางการเมือง ยิ่งสังคมมีการติดต่อสื่อสารอย่างรวดเร็วข้ามพรมแดนชาติ ทำให้คนจากที่ต่าง ๆ ได้มาพบกันและมีปฏิสัมพันธ์กับในกิจกรรมทางสังคมหลากหลายรูปแบบ ดังนั้น การอยู่ร่วมกับคนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ชนชั้น เพศสภาพ ความคิดและความเชื่อ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพลเมืองในคริสต์ศตวรรษที่ 21 หลักการสำคัญของการทำความเข้าใจคนอื่นคือการยอมรับคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ รวมทั้งการเรียนรู้เงื่อนไขและประสบการณ์ชีวิตของคนต่างกลุ่ม เปิดกว้างที่จะรับฟังผู้อื่น รู้จักการอดทนอดกลั้นที่จะอยู่กับคนที่มีความแตกต่าง ไม่แสดงการดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่น กระบวนการเหล่านี้จะช่วยชะลอความขัดแย้งและอคติทางวัฒนธรรม
25 B 04 เสวนา วิธีวิทยาโรคระบาด
เสวนาโดย
ผศ.ดร.พฤกษ์ เถาถวิล
ผศ.ดร.ปาณิภา สุขสม
ดร.บุษบงก์ วิเศษพลชัย
ดำเนินรายการโดย ดร.ปาณิภา สุขสม
สถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์มีผลต่อการทำงานภาคสนาม การลงพื้นที่ของนักวิจัย การพูดคุยสื่อสารกับผู้คน ท่ามกลางความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากโรคระบาด ทำให้นักวิจัยต้องระมัดระวังตัวในการเข้าไปคลุกคลีกับคนกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งต้องปรับวิธีการเก็บข้อมูลให้เหมาะสมกับสถานการณ์ นอกจากนั้น การทำงานวิจัยในช่วงโรคระบาด ความรู้สึกของนักวิจัยที่ต้องเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง ความรู้สึกของชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่โรคระบาด การติดต่อสื่อสารจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ป้องกันตัว นักวิจัยจำเป็นต้องปฏิบัติตัวตามกฎของการป้องกันโรคระบาดอย่างเคร่งครัด สิ่งเหล่านี้คือประสบการณ์ที่ไม่เป็นปกติที่ทำให้วิธีศึกษาชีวิตคนในช่วงโรคระบาดมิได้ราบรื่นแต่มีข้อจำกัดเกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้น การเลือกวิธีที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์โรคระบาดจึงเป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้และเป็นประสบการณ์ที่สามารถถ่ายทอดเป็นบทเรียนให้นักวิจัยคนอื่นได้เรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้เมื่อต้องทำวิจัยในสถานการณ์โรคระบาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
25 C 04 เสวนา พิพิธภัณฑ์ทะลุฝา วิธีวิทยาทะลุกรอบ
เสวนาโดย
ปณิตา สระวาสี
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.เทียมสูรย์ สิริศรีศักดิ์
พิพิธภัณฑ์เป็นสนามของสาขาวิชาการมานุษยวิทยาในตะวันตกมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 การจัดหาและการจัดแสดงวัตถุทางชาติพันธุ์ในพิพิธภัณฑ์ ล้วนเป็นเวทีที่เหล่านักวิชาการและนักมานุษยวิทยาด้านพิพิธภัณฑ์นำมาอภิปรายและศึกษา ด้วยการตั้งคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างประเทศต้นทางกับเจ้าอาณานิคมในการจัดหาวัตถุ วาทกรรมที่กำกับการจัดแสดง หรือความเพิกเฉยต่อบทบาทของเจ้าของวัฒนธรรมอย่างไรก็ดีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกิดแนวคิดพิพิธภัณฑ์วิทยากระแสใหม่ที่หันมาสนใจเสียงเจ้าของวัฒนธรรม บทบาททางสังคมของพิพิธภัณฑ์ และสัมพันธภาพระหว่างชุมชน มรดกวัฒนธรรม และพิพิธภัณฑ์ วงสนทนานี้จะนำเสนอเรื่องราวที่ย้อนทวนกระบวนการสร้างความหมายและให้คุณค่ามรดกวัฒนธรรมของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เจ้าของวัฒนธรรม และเครือข่ายภาคประชาสังคม ท่ามกลางบริบทที่แตกต่างในโลกสมัยใหม่
25 D 03-04 Visual Anthropology ทัศนะ-ทัศนา : มานุษยวิทยาการมอง (Workshop) (ต่อ)
ดำเนินรายการโดย อภินันท์ ธรรมเสนา
26 A 01ปาฐกถา Anthropology of Regionalization, Multi-sited Ethnography, and Voice Approach as Research Methodologies
ปาฐกถาโดย ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ
โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (The Belt and Road Initiative-BRI) หรือ โครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 เป็นความพยายามด้านนโยบายต่างประเทศขนาดยักษ์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงตลาดการค้าระหว่างประเทศจีนและประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียและยุโรป อาจช่วยส่งเสริมระเบียบเศรษฐกิจโลก พลิกโฉมเครือข่ายการค้า การขนส่ง และความสัมพันธ์ทางการเมืองทั่วโลกภายในและระหว่างประเทศเป็นเวลาหลายทศวรรษ แต่เมื่อเริ่มก่อตั้งโครงการ BRI ความสับสนและข้อโต้เถียงต่าง ๆ ก็ยังเกิดขึ้นตลอดเวลา ในช่วงสองปีที่ผ่านมาทำให้เกิดความท้าทายใหม่สำหรับความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการ BRI ทั้งนี้ ข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากการศึกษาวิจัยและสำรวจเชิงประจักษ์อย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับโครงการ BRI ในประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เห็นประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการทดลองเชิงแนวคิดและระเบียบวิธี เพื่อประมวลและวิเคราะห์พลวัตและความหมายของโครงการ BRI ของจีน รวมถึงอิทธิพลระหว่างประเทศที่กำลังเติบโต และวิถีการพัฒนาเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นจริงทางสังคม-เศรษฐกิจและวัฒนธรรมในระดับฐานราก
26 A 02 เสวนาภาคสนาม ชุมชน คนใน: สืบรากฐาน สานวิธีวิทยา
เสวนาโดย
ศ.เกียรติคุณ ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์
รศ.ดร.อัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ
ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา
ดำเนินรายการโดย เจษฎา เนตะวงศ์
การทบทวนและทำความเข้าใจวิธีวิทยาเชิงชาติพันธุ์นิพนธ์ที่นักมานุษยวิทยาถูกสอนให้รู้จักการทำงานภาคสนาม หรือ Fieldwork ที่อาศัยการเข้าไปอยู่กับกลุ่มคนที่ถูกศึกษาแบบฝังตัว และพบปะคนแบบเผชิญหน้าเสมือนสมาชิกคนหนึ่งในชุมชน โดยที่นักมานุษยวิทยาต้องฝึกการพูดภาษาของคนอื่นเพื่อใช้สื่อสารพูดคุย การเข้าไปอยู่ในชุมชน ใช้ชีวิตในหมู่บ้านเป็นระยะเวลานานเพื่อสังเกตอย่างมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ที่กลุ่มคนที่ถูกศึกษาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน วิธีการนี้ทำให้นักมานุษยวิทยาเข้าใจวิธีคิดและโลกทัศน์ของคนเหล่านั้น มีมุมมองแบบคนใน อย่างไรก็ตาม การศึกษาด้วยวิธีการนี้ต้องใช้เวลานาน นักมานุษยวิทยาจึงต้องปรับวิธีการศึกษาให้สะดวก เหมาะสมและสอดคล้องกับเวลาที่มีไม่มากนัก แต่คุณูปการของการศึกษาชุมชนแบบฝังตัวคลุกคลีกับชาวบ้านเพื่อเก็บรายละเอียดต่าง ๆ ที่พบเห็นในชีวิตประจำวันอาจเป็นสิ่งจำเป็นเพราะช่วยให้เข้าใจความซับซ้อนและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในกลุ่มวัฒนธรรมที่ศึกษา
26 B 02 เสวนา Reflections on Archaeological Methodologies สะท้อนคิดวิธีวิทยาโบราณคดี
เสวนาโดย
ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช
ดร.อมรา ศรีสุชาติ
อ.ดร.ภีร์ เวณุนันทน์
อ.อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล
ดำเนินรายการโดย ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช
โบราณคดีเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษามนุษย์ พลวัตทางสังคมและวัฒนธรรมในอดีต ในหลายทศวรรษที่ผ่านมามีการพัฒนาแนวคิดทฤษฎีและวิธีวิทยาที่หลากหลายแนวทางตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกวิชาการและสังคม งานโบราณคดีของประเทศไทยปัจจุบันมีการใช้วิธีวิทยาทั้งรูปแบบที่เป็นเครื่องมือทางความคิดและเทคนิควิธีทางโบราณคดี รวมถึงการประยุกต์ใช้จากศาสตร์อื่นในการอธิบายและตีความหลักฐานทางโบราณคดี ในหัวข้อนี้ นักโบราณคดีสี่รุ่น มีประสบการณ์การทำงานที่แตกต่างกันในแต่ละยุคสมัย จะมาวิพากษ์ ทบทวน และสะท้อนคิดวิธีวิทยาทางโบราณคดีจากประสบการณ์ทำงานภาคสนามและห้องปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ แนวคิดทฤษฎี และวิธีวิทยาที่ปรับปรนให้เหมาะตามบริบทของงานโบราณคดี
26 C 02 เสวนา Anthropocene and Climate Justice มนุษยสมัยกับความเป็นธรรมทางนิเวศ
เสวนาโดย
ศ.ดร.นิติ ภวัครพันธุ์
ดร.กฤษฎา บุญชัย
ดร.ตรงใจ หุตางกูร
ดำเนินรายการโดย ดร.ตรงใจ หุตางกูร
มนุษยสมัย (Anthropocene) คือแนวคิดที่นักสังคมศาสตร์นำมาใช้อธิบายช่วงเวลาที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับสาเหตุและรากเหง้าของช่วงเวลานี้ด้วยคำอธิบายที่แตกต่างกัน จุดร่วมที่นักวิชาการสนใจก็คือ กิจกรรมของมนุษย์ได้ทำให้เกิดผลกระทบต่อภูมิประเทศ สภาพแวดล้อม นิเวศวิทยา สภาพอากาศ ธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นอย่างไร การกระทำของมนุษย์สัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและระบอบอำนาจที่ใช้ควบคุมและจัดระเบียบการจัดสรรทรัพยากรที่เหลื่อมล้ำอย่างไร ในกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยของชาวตะวันตกกับประเทศยากจนในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมือนและต่างกันอย่างไร คำถามเหล่านี้นำไปสู่การศึกษาความไม่เท่าเทียม ความไม่เป็นธรรม และการเอารัดเอาเปรียบระหว่างประเทศมหาอำนาจกับประเทศยากจน ซึ่งเกิดช่องว่าทางเศรษฐกิจและการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ต่างกัน ในขณะที่กลุ่มประเทศยากจนมิได้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจแต่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ โรคระบาด ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ และมลพิษหลากหลากรูปแบบ สิ่งเหล่านี้คือความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับทิศทางการพัฒนาระบบทุนนิยมและลัทธิจักรวรรดินิยม
26 A 03 เสวนา ความท้าทายทางวิธีวิทยาของมานุษยวิทยาร่วมสมัย
เสวนาโดย
รศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ
ดร.จิราพร เหล่าเจริญวงศ์
ชัชชล อัจนากิตติ
ดำเนินรายการโดย ชัชชล อัจนากิตติ
ในช่วงเวลาที่มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการนำมนุษย์มาเป็นศูนย์กลางของความรู้และความจริงเกี่ยวกับโลก ส่งผลให้วงวิชาการมีข้อถกเถียงใหม่ ๆ ว่าสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวมนุษย์มีความสำคัญไม่น้อยกว่ามนุษย์ นำไปสู่ความท้าทายเพื่อแสวงหาวิธีและการทำงานแบบใหม่ศึกษาการมีอยู่ของสิ่งต่าง ๆ นอกจากนั้น ยังมีการศึกษาพื้นที่ ภูมิประเทศหรืออาคารสถานที่ เพื่อตรวจสอบตัวตนของวัตถุต่าง ๆ ที่มีส่วนกำหนดการดำรงอยู่ที่ต่างไปจากประสบการณ์ของมนุษย์ รวมทั้งการศึกษาการดำรงอยู่และความรู้สึกของพื้นที่และสถานที่ ในประสบการณ์และอารมณ์ที่หลากหลาย ส่งผลให้การศึกษาพื้นที่ต้องอาศัยผัสสะที่แตกต่างกัน รวมถึงวิธีเก็บข้อมูลที่ไม่ยึดติดตายตัวกับพื้นที่ แต่ชี้ให้เห็นวิธีการเคลื่อนย้าย ติดตาม และเดินทางไปพร้อมกับกลุ่มเป้าหมายที่ศึกษา ซึ่งอาจเป็นกลุ่มคน กลุ่มสิ่งมีชีวิต กลุ่มวัตถุสิ่งของ ซึ่งถูกทำให้เคลื่อนที่ไปในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างหลากหลาย
26 D 03 เสวนา มานุษยวิทยากับเกม Anthropology of game and the gamification of anthropology
เสวนาโดย
ศุภร ชูทรงเดช
นัทกฤษ ยอดราช
แดนไท สุขกำเนิด
เดชรัต สุขกำเนิด
วริศ โดมทอง
ดำเนินรายการ เดชรัต สุขกำเนิด
ในยุคที่การเล่นเกมเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้น เป็นความสนุกสนาน สร้างความผ่อนคลาย และน่าครุ่นคิดในเวลาเดียวกัน เกมจึงเป็นการสร้างและขยายขอบเขตพื้นที่สังคมที่น่าสนใจ ในกลุ่มคนเล่นเกมจะต้องปฏิบัติตามกฎกติกาของเกมอย่างเคร่งครัด ทำให้เห็นปฏิสัมพันธ์ของผู้เล่นเกมที่ดำเนินไปตามเรื่องราวที่เกมสร้างไว้ ในเชิงมานุษยวิทยา เกมคือกิจกรรมสังคมที่มีทั้งการใช้กำลังและความคิด ในสังคมของการเรียนรู้ เกมจะถูกนำมาเป็นเครื่องมือเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้ผู้เล่นเกิดความเข้าใจเนื้อหาและความคิดต่าง ๆ ดังนั้น การออกแบบเกมให้สะท้อนเนื้อหาและประสบการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม จำเป็นต้องอาศัยการออกแบบที่รัดกุม การนำความรู้ทางมานุษยวิทยาที่ต้องการให้ผู้เล่นมีความเข้าใจวัฒนธรรมที่หลากหลายของมนุษย์ จึงเป็นประสบการณ์สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้ความรู้มานุษยวิทยาไม่จำกัดอยู่เฉพาะหนังสือและตำเราเรียน แต่ดัดแปลงไปสู่เกมที่เชิญชวนให้คนกลุ่มต่างๆเข้ามาเรียนรู้เรื่องราวของผู้คนและวัฒนธรรมผ่านเกมที่สนุกสนานและพัฒนาความคิดไปพร้อมกัน
26 C 03 เสวนา มานุษยวิทยาการเมือง
เสวนาโดย
ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน
อ.ธีระพล อันมัย
ดำเนินรายการโดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
สังคมไทยในปัจจุบัน กำลังเผชิญหน้าความท้าทายเกี่ยวกับความคิดเชิงการเมืองที่แตกต่างหลากหลาย คนรุ่นต่างๆ ได้ออกมาแสดงจุดยืนทางความคิดเพื่อวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐ เสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาสังคม เรียกร้องให้รัฐยอมรับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน สนับสนุนให้กลุ่มคนต่าง ๆ ที่ถูกกดขี่ข่มเหง ถูกเอารัดเอาเปรียบ และถูกกีดกันจากโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรมออกมาต่อสู้และล้มล้างระบบที่ปิดกั้นประชาชน การเคลื่อนไหวทางสังคมของคนกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเห็นความเท่าเทียมและแสวงหาการพัฒนาชาติที่ต่างไปจากเดิม จึงเป็นประเด็นที่นักวิชาการให้ความสนใจ การเข้าไปติดตามดูชีวิตของคนรุ่นใหม่และการเคลื่อนไหวของคนที่ถูกเบียดขับทางสังคมอาจช่วยทำให้เห็นความคิด ความใฝ่ฝัน ความปรารถนาและโลกทัศน์ทางสังคมที่คนเหล่านี้พยายามสร้างขึ้นเพื่อเปลี่ยนสังคมไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเดิม
26 B 03 เสวนา Southern Anthropocene and Pluriversal Ontological Politics
Atsuro Morita
Steve Brown
Casper Bruun Jensen
Maya Kóvskaya
อภิปรายและดำเนินรายการ รศ.ดร.จักรกริช สังขมณี
Central to our roundtable discussion is the topic of southern Anthropocenes, which begins from the widespread dissatisfaction outside the Global north with the characterization of planetary climate problems as Anthropocene. Among other things, the Anthropocene has been criticized as universalizing the affluent White, Western subject and for depoliticizing climate change by failing to acknowledge colonialism and vastly uneven patterns of consumption and destruction. Rather than disbanding the term, we aim to take these critiques on board by examining Anthropocene effects from different locations and perspectives based in the global South: particularly in Thailand and Southeast Asia but also in Latin America.
Marisol de la Cadena’s anthropo-not-seen captures something important about all the things, process, entities, events that fall into the cracks between competing Western mega-theories. Southern Anthropocenes are inspired by the pluralizing effect of paying attention to those cracks. This means that the examination of pluriversal politics of ontology will contribute to an understanding of what has been called the anthropo-not-seen; that is, to articulate the social, ecological, and pertinence of events that tend to remain invisible from Western Anthropocene perspectives.
The roundtable raises many questions, including existential ones, about how to understand and address the emergent issues, and the notions of southern Anthropocene and pluriversal politics provide an exciting new vantage point for tackling them.
26 A 04 เสวนา มานุษยวิทยาศาสนาและความเชื่อ
เสวนาโดย
ผศ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
ดร.ณีรนุช แมลงภู่
สมัคร์ กอเซ็ม
ดำเนินรายการโดย ดอกรัก พยัคศรี
ความเชื่อทางศาสนาในสังคมไทยปัจจุบัน มีการเชื่อมเข้าหากัน พุทธศาสนาดำรงอยู่ร่วมกับความเชื่อเรื่องผีและไสยศาสตร์ รวมถึงสัมพันธ์กับลัทธิพิธีกรรมของศาสนาอื่น มีความซับซ้อนจากประสบการณ์ของกลุ่มคนที่หลากหลาย ในหลายครั้งมีความขัดแย้งและความไม่ลงรอยกันเกิดขึ้น ความเชื่อซึ่งดำรงอยู่คู่กับการดำเนินชีวิตของมนุษย์มาตั้งแต่อดีต เป็นประสบการณ์เชิงจิตวิญญาณ อารมณ์ความรู้สึก ผัสสะ เป็นทั้งสิ่งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ มีมิติที่มองเห็นและมองไม่เห็น เป็นสภาวะที่สอนให้มนุษย์เห็นคุณค่าของชีวิตและการอยู่ร่วมกับคนอื่น ในขณะเดียวกันก็สร้างขอบเขตของความเป็นพวกเดียวกันและคนต่างพวกกัน มีกฎระเบียบแบบแผนและข้อบังคับที่ส่งผลต่อวิธีสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมและการปฏิบัติตัวในระดับบุคคล การศึกษาประสบการณ์ทางศาสนาและความเชื่อจึงต้องใช้เทคนิคและวิธีการที่หลากหลายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ สภาพแวดล้อม พฤติกรรมของกลุ่มคน และวิธีปฏิบัติของแต่ละบุคคล
26 B 04 เสวนา วิธีวิทยาพหุศาสตร์ : Science, Cyborgs and Techno-politics
เสวนาโดย
รศ.ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว
ดร.ประชาธิป กะทา
รศ.ดร.ทวีศักดิ์ เผือกสม
ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว
สังคมที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มนุษย์จำเป็นต้องพัฒนาทักษะและความสามารถที่จะใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีในการทำกิจกรรมต่าง ๆ การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยีจึงเป็นเรื่องท้าทายต่อความเข้าใจใหม่ ๆ เกี่ยวกับการสร้างตัวตน อารมณ์ และสังคม เช่น การสร้างภาพหลายมิติ คอมพิวเตอร์กราฟฟิค การเข้าไปอยู่ในสื่อออนไลน์ การใช้อวัยวะเทียม อุปกรณ์ทางการแพทย์ การสร้างโมเดล virtual จำลองเหตุการณ์ การเป็นตัวละครในเกมส์คอมพิวเตอร์ การใช้กล้องติดตามตัว การใช้เทคโนยี GPS การใช้โดรนเก็บข้อมูล การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างภาพเคลื่อนไหว คลื่นวิทยุ เป็นต้น รวมถึงวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นในการศึกษารหัสพันธุกรรม การศึกษาทางชีววิทยาในห้องทดลองทางการแพทย์ ซึ่งบ่งชี้ถึงอุปกรณ์ที่ใช้รวบรวมข้อมูล นอกจากนั้นยังอธิบายให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับการเมืองของความรู้ โลกทัศน์ ประสบการณ์ และความรู้สึกของนักวิทยาศาสตร์ที่มีผลต่อการตีความ การอธิบายและสร้างทฤษฎีสากลเพื่อพิสูจน์ความจริงในโลกวัตถุ
เสียงศึกษาจากมุมมองสหวิทยาการ
อ.ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
ดร.ธัชธรรม ศิลป์สุพรรณ
ดร.รวิตะวัน โสภณพนิช
ดร.ภูมิภักดิ์ จารุประกร
อ.กุลธีร์ บรรจุแก้ว
ดำเนินรายการ อ.ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
จุดหักเหสำคัญในการศึกษาทางมานุษยวิทยาหลัง ค.ศ. 1990 เป็นต้นมา วางบนพื้นฐานคำถามที่เรียบง่ายแต่มีนัยถึงรากถึงโคนต่อแนววิธี (method) ในการเก็บรวบรวมข้อมูลในการทำงานชาติพันธุ์นิพนธ์ นั่นคือ การใช้ดวงตาในการสำรวจตรวจตราชีวิตทางวัฒนธรรมของผู้อื่น ควบคู่ไปกับการพยายามจดบันทึกปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม รวมไปถึงย่อยข้อมูลทุกประเภททั้งภาพถ่ายและเสียงบันทึกให้อยู่ในรูปแบบของอักษรเพื่อสามารถนำไปเขียนและตีพิมพ์เผยแพร่ต่อไปในภายหลัง แนววิธีการทำงานในลักษณะนี้แม้จะได้รับการยอมรับและกลายเป็นขนบการทำงานทางชาติพันธุ์นิพนธ์ แต่ยังคงมีข้อจำกัดในแง่มุมของการลดทอนความเป็นไปได้อื่น ๆ ในการทำความเข้าใจและเผยแพร่คุณค่าและความหมายของวัฒนธรรมอื่น ทั้งยังเป็นการทำงานที่ตกอยู่ภายใต้การใช้ดวงตาและการมองเห็นเป็นศูนย์กลาง (Ocularcentrism) ในการรับรู้ความจริงของโลก การทำงานเช่นนี้เป็นผลผลิตของสภาวะความทันสมัยที่กำหนดให้ “ทัศนานิยม” (Visualism) อยู่ในลำดับสูงสุดของการค้นหาความรู้ มีผลให้ การสำรวจตรวจสอบประสบการณ์ทางวัฒนธรรมอื่นและของคนอื่นในรูปแบบที่มิอาจทัศนาพินิจได้ด้วยสายตา (Non-visual mode) เป็นสิ่งที่ถูกประเมินค่าต่ำและถูกละเลยอยู่เสมอ ข้อเสนอประการหนึ่งของนักมานุษยวิทยาที่ต้องการข้ามพ้นข้อจำกัดในข้างต้นก็คือ จำเป็นต้องมีการเคลื่อนเปลี่ยนศูนย์กลางการรับความรู้สึก (the shifting sensorium) จากการใช้ดวงตาในการสังเกตการณ์ไปสู่การใช้หูฟังเสียง หรือใช้ผัสสะการรับรับรู้ประเภทอื่นที่ดำเนินการควบคู่กันไปในลักษณะที่เป็นพหุผัสสะ (Multi-sensory) มากกว่าที่จะถูกผูกขาดด้วยด้วยผัสสะใดผัสสะหนึ่ง การศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมผ่านผัสสะหลากประเภทจึงเป็นเสมือนการบุกเบิกพรมแดนความรู้ใหม่และสลายพรมแดนของมานุษยวิทยาเพื่อมุ่งสู่ความเป็นสหวิทยาการ (interdisplinenary) มากยิ่งขึ้น
27 A 01 ปาฐกถา ออกจากทวิภาค: เพศนอกขนบกับข้อถกเถียงเชิงวิธีวิทยา Beyond the Binary: Emerging Methodologies from Gender Perspectives Beyond the Binary : Emerging Methodologies from Gender Perspectives
ปาฐกถาโดย
รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี
ทวิภาคนิยมเป็นทั้งโจทย์ทางปรัชญาและปมปัญหาทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมืองเรื่องเพศ ที่ทั้งนักปรัชญา และนักเคลื่อนไหว ต่างเพียรพยายามค้นหาทางออก ในระดับปรัชญา ข้อเสนอในการหันไปหามโนทัศน์ Dasein ที่ไร้กายเนื้อของไฮเดกเกอร์ หรือการถอดรื้อทวินิยมเชิงโครงสร้างของฌาคส์ เดอร์ริดา เพื่อกลับไปยังภาวะดั้งเดิมของการดำรงอยู่ก่อนการแยกความแตกต่าง (pre-differential state) เพื่อเปิดทางสู่การกลายเป็น (becoming) ตลอดจนการทำให้เพศภาวะเป็นภาวการณ์ของการกลายเป็นของจูดิธ บัธเลอร์ เหล่านี้ ต่างก็ได้มีผลต่อการบ่อนเซาะฐานคิดเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศคู่ตรงข้ามหญิงชายที่ครอบงำสังคมมาเป็นเวลานาน ประวัติศาสตร์แห่งการพยายามทลายทวิภาคนิยมในเพศภาวะไม่เพียงเกิดขึ้นในระดับวาทกรรม ภาษา วิถีแห่งการแสดงออก หรือการสร้างความหมายใหม่ให้กับร่างกายเท่านั้น หากแต่ยังนำไปสู่การแสวงหาแนวทางในการเข้าใจภววิทยา และวิถีทางแห่งการดำรงอยู่ (mode of being) ทางเพศนอกโครงข่ายอำนาจของทวิภาคนิยม สำนักคิดเช่นหลังโครงสร้างนิยม มีบทบาทสำคัญในการรื้อถอนเพศภาวะ ที่ทั้งตั้งคำถามต่อสตรีนิยมเองในการผลิตซ้ำทวิภาคนิยมทางเพศ และทั้งให้อำนาจต่อวิถีวิพากษ์ใหม่เช่น ทฤษฎีเควียร์ ในการท้าทายความรู้เกี่ยวกับเพศและปทัสถานรักต่างเพศ แต่วิธีวิทยาแบบหลังโครงสร้างนิยม ก็กลับทำให้การเมืองเรื่องเพศ กลายเป็นเพียงการเมืองอัตลักษณ์ที่มองไม่เห็นความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ควบคุมกำกับทวิภาคนิยมในการเมืองอัตลักษณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ภายใต้ระบบทุนนิยม การกลับไปหาทฤษฎีในสาย มาร์กซิสม์ และจิตวิเคราะห์ ของงานในสายหลังเควียร์ศึกษา (post-queer studies) จึงเป็นการพยายามสร้างวิธีวิทยาในการออกจากทวิภาคนิยมทางเพศ ที่ขยายขอบเขตของการวิเคราะห์ออกจากหน่วยทางวัฒนธรรม และสร้างกรอบความคิดเกี่ยวกับการเมืองเรื่องเพศด้วยเครื่องมือการวิเคราะห์แบบเศรษฐศาสตร์การเมือง
27 A 02 เสวนา Multisensory Anthropology and Multimodal Ethnography
เสวนาโดย
รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
อ.ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
ดำเนินรายการโดย อ.ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
นำเสนอวิธีการเก็บข้อมูลภาคสนามจากการใช้ผัสสะเพื่อสร้างประสบการณ์เกี่ยวกับการดำรงอยู่ของสิ่งต่าง ๆ ที่นอกเหนือไปจากการมองเห็นด้วยสายตา ได้แก่ การฟังเสียง การดมกลิ่น การลิ้มรส และการสัมผัสทางกาย ทั้งนี้เพื่อทำให้เห็นว่าภายใต้สถานการณ์บางอย่าง การใช้ผัสสะอาจทำให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งที่มิใช่มนุษย์ เช่น เสียงลม กลิ่นของดอกไม้ ความเย็นของอากาศ รสชาติของอาหาร การเคลื่อนไหวของร่างกาย การเต้น การเล่นกีฬา การร้อง การใช้เสียง เป็นต้น รวมถึงวิธีการใช้อารมณ์เป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจมนุษย์และสิ่งที่มิใช่มนุษย์ ได้แก่ อารมณ์ที่แสดงออกในยามทุกข์และสุข ความรู้สึกโดดเดี่ยว ความท้อแท้ ความเจ็บปวดจากสงคราม ความทุกข์จากโรคภัยไข้เจ็บ ความตื่นเต้นจากการเล่นเกมหรือกีฬา ความรู้สึกคิดถึงและเป็นห่วงเป็นใยต่อคนรักและสิ่งที่เป็นที่รัก เป็นต้น ทั้งนี้ควรชี้ให้เห็นว่าวิธีการรับรู้ถึงอารมณ์ต่าง ๆ มีลักษณะและเงื่อนไขอย่างไร ผู้ศึกษาต้องเข้าไปมีส่วนกับอารมณ์เหล่านั้นมากน้อยอย่างไร การศึกษาผ่านอารมณ์ทำให้พบประสบการณ์ที่ต่างไปจากเดิมอย่างไร
27 B 02 เสวนา อนาคตมานุษยวิทยา มานุษยวิทยาแห่งอนาคต
เสวนาโดย
สรัช สินธุประมา
ดร.บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
รศ.ดร.พัชรินทร์ สิรสุนทร
ดำเนินรายการโดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
การศึกษาอนาคตเป็นเรื่องใหม่สำหรับนักมานุษยวิทยา เนื่องจากตามขนบวิธีวิทยาที่นักมานุษยวิทยาคุ้นเคยจะเป็นการศึกษาสังคมปัจจุบันหรือสืบค้นประวัติศาสตร์ความเป็นมาของมนุษย์ สำหรับโจทย์เรื่องสังคมในอนาคตยังเป็นเรื่องท้าทายในการศึกษาอยู่มาก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยปัญหาที่ซับซ้อน สิ่งที่จะมองข้ามไม่ได้คือ สังคมและชีวิตในวันข้างหน้าที่มนุษย์กำลังจะเดินต่อไปล้วนเต็มไปด้วยสิ่งที่เป็นผลมาจากช่วงเวลาปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความไม่เท่าเทียมทางสังคม การเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การต่อสู้แย่งชิงทรัพยากรระหว่างประเทศมหาอำนาจกับประเทศที่ยากจน การพัฒนาแบบก้าวกระโดดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปัญหาและเรื่องใหม่ ๆ ที่พบในปัจจุบันล้วนบอกทิศทางสังคมและวิถีชีวิตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นักมานุษยวิทยาจึงควรแสวงหาวิธีการทำงานใหม่ ๆ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงและจะปรากฎขึ้นในช่วงเวลาข้างหน้า
27 C 02 เสวนา ชาติพันธุ์ การเมืองกับมานุษยวิทยาสาธารณะ
เสวนาโดย
ผศ.ดร.ดำรงพล อินจันทร์
ผศ.ดร.ประสิทธิ์ ลีปรีชา
รศ.ดร.นฤมล อรุโณทัย
ดำเนินรายการโดย อภินันท์ ธรรมเสนา
การเคลื่อนไหวทางสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ในสังคมโลกและสังคมไทยเป็นปรากฎการณ์ที่บ่งบอกให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมในความเป็นพลเมืองของรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจากวิธีคิดแบบชาตินิยมและการแบ่งแยกเชื้อชาติทางสังคม ในกรณีสังคมไทยซึ่งได้สถาปนา “ความเป็นไทย” ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่อาศัยและร่วมสร้างสังคมมายาวนานถูกตีตราให้เป็น “คนอื่น” และไม่ได้รับสิทธิในการเป็นพลเมือง จากปัญหานี้ นักมานุษยวิทยาและนักวิชาการทางสังคมศาสตร์ต่างร่วมกันทำงานเพื่อขับเคลื่อนให้รัฐไทยตระหนักถึงการมีอยู่และศักดิ์ศรีของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยการเสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย การเสนอกฎหมายฉบับนี้สะท้อนให้เห็นว่านักมานุษยวิทยามีบทบาทต่อการแก้ไขปัญหาสังคมและทำงานประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นตัวอย่างสำหรับการแก้ปัญหาสังคมในประเด็นอื่น ๆ อีกในอนาคต
27 A 03 Closing Session ละครถกแถลง (Deliberative Theatre)
ละครถกแถลง Deliberative Theatre เป็นการแสดงที่พาเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโลกแห่งประสบการณ์ที่กำกวม ซับซ้อนและอ่อนไหว มันไม่ใช่การแสดงที่ถ่ายทอดเนื้อหาแบบที่จบในตัวหรือให้คำตอบสำเร็จรูป แต่มันนำเสนอความแตกต่างทางความคิด พลวัติของความขัดแย้ง ความกำกวมที่ท้าทายการตัดสินถูกผิดแบบขาว-ดำ และความเป็นมนุษย์ที่เปราะบาง มันเปิดโปงปฏิบัติการของอำนาจและเผยแสดงถึงอคติที่อาจมีอคติอื่นซ้อนทับ มันทำให้ผู้คนเป็นส่วนหนึ่งของมุมมองที่แตกต่าง และมันตั้งคำถามกับสิ่งที่หลายครั้งเรามองว่าเป็นเรื่องราวปกติขิงชีวิต และละครถกแถลงจึงเป็นศิลปะเพื่อการเปลี่ยนแปลง เป็นการแสดงที่ทำให้เวทีละครกลายเป็นพื้นที่ของการถกแถลง ไม่ใช่เพื่อหาคำตอบสุดท้าย แต่เพื่อให้เราสามารถมีชีวิตอยู่ในความแตกต่างที่เราจะต้องแสวงหาคำตอบ ทั้งสำหรับตัวเราและเพื่อสังคมที่ดีขึ้นกว่าเดิม
โดย คณะละครมะขามป้อม และประกาศหัวข้อประชุมมานุษยวิทยา ปี พ.ศ. 2566