ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ประเด็นการลดอคติ ส่งเสริมสิทธิและความเท่าเทียมทางสังคม
สถานการณ์โลกในปัจจุบันเต็มไปด้วยความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ศาสนา เพศสภาพ ช่วงวัย ฐานะทางเศรษฐกิจ อุดมการณ์ทางการเมือง วิถีชีวิตและแบบแผนทางวัฒนธรรม ซึ่งสังคมไทยในฐานะเป็นสังคมเปิดและมีคนต่างกลุ่มเข้ามาอยู่อาศัย ทำให้ต้องเผชิญหน้ากับความแตกต่างหลากหลายในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการนำเสนอข้อมูล เรื่องราวและประสบการณ์ของผู้คนซึ่งมีพื้นฐานแตกต่างกัน การกระทบกระทั่งและความเห็นที่ไม่ลงรอยกันยิ่งสร้างความแตกแยกและความบาดหมางได้ง่ายมากขึ้น ประเด็นสำคัญที่ประชาชนทุกกลุ่มต้องเรียนรู้ในสถานการณ์ที่จะไม่นำไปสู่การดูหมิ่นเหยียดหยามและการเลือกปฏิบัติต่อมนุษย์ด้วยกันคือการเคารพและยอมรับความแตกต่างของผู้อื่น อย่างไรก็ตาม ปัญหาอคติและการแบ่งแยกกีดกันทางสังคมในปัจจุบันเป็นปัญหาใหญ่ในเชิงโครงสร้าง เนื่องจากสถาบันทางสังคมที่มีอำนาจในการสร้างกฎเกณฑ์และระเบียบปฏิบัติยังคงมองข้ามความหลากหลายทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะปัญหาเรื่องเชื้อชาตินิยม ลัทธิชาตินิยม บริโภคนิยม ระบบทุนนิยม และบรรทัดฐานแบบชายเป็นใหญ่ ส่งผลต่อการวางกรอบนโยบายและแนวทางพัฒนาสังคมในหลายมิติ
ดังนั้น การแก้ไขปัญหาอคติและความไม่เท่าเทียมทางสังคม จำเป็นต้องมีองค์ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากนโยบาย กฎระเบียบ กฎหมาย หลักเกณฑ์ ข้อบังคับและบรรทัดฐานที่ทำให้เกิดการแบ่งแยก ความลำเอียง การให้สิทธิพิเศษ และการเลือกปฏิบัติต่อมนุษย์ ซึ่งนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ในการตรวจสอบการทำงานและวิธีปฏิบัติของหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง กฎหมาย วัฒนธรรม ศาสนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การแพทย์ สาธารณสุข การศึกษา สิ่งแวดล้อม และสวัสดิการสังคม จำเป็นต้องชี้ใหเห็นรากเหง้าความคิด มายาคติ และการกระบวนทัศน์ที่สร้างความไม่เป็นธรรมทางสังคม รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์วิธีคิดเหล่านั้นที่ทำให้เกิดการสร้างระเบียบกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคและปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการใช้ชีวิตของผู้คน
ศมส. จึงได้สนับสนุนทุนการเขียนข้อเสนอเชิงนโยบายให้นักวิชาการ และผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนส่งโครงร่างข้อเสนอเชิงนโยบายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการลอดคติ การส่งเสริมสิทธิและความเท่าเทียมทางสังคม เพื่อสร้างการตระหนักรู้และผลักดันให้หน่วยงานต่าง ๆ นำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายไปใช้ทำงานเพื่อแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิและการสร้างอคติทางสังคมใน 8 ประเด็น ได้แก่ การลดอคติต่อเชื้อชาติ / ชาติพันธุ์ และแรงงานข้ามชาติ การลดอคติและการกลั่นแกล้งรังแกในสถาบันการศึกษา การลดอคติต่ออาชีพและชนชั้นทางสังคม การลดอคติต่อความเชื่อทางศาสนา การลดอคติต่อความคิดที่แตกต่างทางการเมือง การลดอคติต่อผู้ป่วย คนพิการ และผู้ทุพพลภาพ การลดอคติต่อคนที่มีความแตกต่างของวัยและอายุ การลดอคติต่อความหลากหลายทางเพศ
จากการสนับสนุนทุนดังกล่าว ได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายที่พร้อมเผยแพร่สู่สาธารณะทั้งสิ้น 17 เรื่อง ดังต่อไปนี้
- การส่งเสริมบทบาทและสถานะคนไทยเชื้อสายเวียดนาม
- เปลี่ยนความคิด หยุดอคติในสังคมพหุวัฒนธรรม
- I speak therefore I am ฉันพูดฉันจึงมีชีวิตอยู่
- กรมประชาสัมพันธ์และนโยบายการสื่อสาร เพื่อลดอคติของกลุ่มชาติพันธุ์และแรงงานข้ามชาติ
- ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อลดคติในระบบการศึกษาและป้องกันการฆ่าตัวตายของนักศึกษา ทันตแพทย์
- ถอนรากการบุลลี่ด้วยวัฒนธรรมอำนาจร่วม
- การเสริมสร้างความเสมอภาคและความเป็นธรรมทางสังคมเพื่อลดอคติด้านอาชีพและชนชั้นทางสังคม ของกลุ่มอาชีพพนักงานทำความสะอาด
- การลดอคติต่อศักยภาพการทำงานระหว่างอาชีพแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนตะวันตก
- ผู้ชายรับงานเอนเตอร์เทน: แรงงานอิสระและการถูกเลือกปฏิบัติ
- การปรองดองและความสมานฉันท์ทางการเมือง: แนวทางเชิงนโยบายการแก้ไขความขัดแย้งขั้วทางการเมืองไทย
- ความใฝ่ฝันอันแสนงาม ความคาดหวังของเยาวชนต่อประชาธิปไตยและการลดอคติทางการเมืองต่อเยาวชน พ.ศ. 2563-2565
- การจ้างงานคนพิการเชิงสังคม: โอกาสการมีรายได้ของคนพิการในชุมชน
- การลดอคติในกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
- ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการสื่อสารลดอคติต่อผู้สูงอายุ
- การยอมรับคนต่างวัย: กำแพงแห่งสัมพันธภาพและการอยู่ร่วมกันของสถาบันครอบครัวและสังคม
- คนรุ่นใหม่ไม่ใช่ปัญหา: อัตลักษณ์และพฤติกรรมที่คนต่างรุ่นควรเข้าใจ
- Pride blood Type: เลือดหลากเฉดสี