สื่อมวลชน

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ศมส. ร่วมกับวัฒนธรรมจังหวัด นำเสนอผลการดำเนินงานชาติพันธุ์การขับเคลื่อนแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ตามมติคณะรัฐมนตรี 2553 ประจำปีงบประมาณ 2564

           เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน 2564 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จัดประชุมนำเสนอผลการดำเนินงานการขับเคลื่อนแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ตามมติคณะรัฐมนตรี 2553 ของเครือข่ายสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด 20 จังหวัด ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยงอยู่อาศัย ในรูปแบบออนไลน์ โดยในปีงบประมาณ 2564 ได้กำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานที่มุ่งให้มีการสำรวจ เก็บรวบรวมข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ภายในจังหวัด เพื่อสนับสนุนการพัฒนาฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ให้เป็นระบบ รวมถึงกำหนดให้มีการจัดเก็บข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ ที่จะนำไปสู่การขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญา ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมเป็นทุนทางเศรษฐกิจที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ต่อไป กรอบการดำเนินงานในปี 2564 จึงสะท้อนให้เห็นถึงการขยายขอบเขตการดำเนินงานที่ครอบคลุมกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เพื่อนำเสนอให้เห็นการดำรงอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์

           ผลจากการดำเนินงานในปี 2564 พบว่า สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั้ง20 จังหวัด ได้นำเสนอให้เห็นข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ และชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ 15 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตก ที่มีวิถีชีวิต วัฒนธรรม อัตลักษณ์ที่โดดเด่น ตลอดจนมีความรู้ภูมิปัญญาที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ ได้ ทั้งนี้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั้ง 20 จังหวัด ยังนำเสนอให้เห็นข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่อาศัยในแต่ละพื้นที่จังหวัดอย่างหลากหลาย โดยได้มีการสำรวจจำนวนประชากรของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม อัตลักษณ์ ถิ่นที่อยู่อาศัย สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลเพื่อสนับสนุนการพัฒนาฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ของประเทศไทยให้ครบถ้วนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และได้มีการจัดทำข้อมูลที่นำเสนอให้เห็นรายละเอียดของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งในด้านเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย อาหาร การละเล่น ซึ่งถือเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สามารถนำมาพัฒนา ต่อยอดและเปลี่ยนเป็นทุนทางเศรษฐกิจผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนชาติพันธุ์ สอดคล้องตามแนวนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรมว่าด้วยการพัฒนาสินค้าทางวัฒนธรรมไทย (Cutural Product Of Thailand (CPOT))

           การดำเนินงานของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ภายใต้กรอบการขับเคลื่อนแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ตามมติคณะรัฐมนตรี 2553 ประจำปีงบประมาณ 2564 จึงสะท้อนให้เห็นการบูรณาการการทำงานภายในกระทรวงวัฒนธรรมที่มุ่งยกระดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกลุ่มชาติพันธุ์ในสังคมไทยให้ปรากฏชัดขึ้น ทั้งด้านการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ การสำรวจและจัดเก็บข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จะนำไปสู่การขึ้นทะเบียนและต่อยอดขยายผลสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือสินค้าทางวัฒนธรรม ตลอดจนการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีวัฒนธรรมของชุมชนชาติพันธุ์ในสังคมไทย ที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนชาติพันธุ์และส่งเสริมการเรียนรู้การอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายของวิถีชีวิต วัฒนธรรม ของกลุ่มชาติพันธุ์ในสังคมไทย

           สำหรับทิศทางการขับเคลื่อนแนวนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ในปี 2565 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้กำหนดกรอบการดำเนินงานสู่การจัดทำแผนแม่บทต่อยอดฐานข้อมูลชุมชนชาติพันธุ์ เพื่อจัดทำกรอบแนวทางการพัฒนาชุมชนชาติพันธุ์ให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาชุมชนจากฐานราก ตลอดจนการขยายผลการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการพื้นที่เขตคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มุ่งให้เกิดการเคารพสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติบนฐานภูมิปัญญา วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์

 

งานสนับสนุนกระบวนการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

กลุ่มงานสื่อสารความรู้และเครือข่ายสัมพันธ์

23 กันยายน 2564