สื่อมวลชน

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

           วันพุธที่ 15 กันยายน 2564 ศมส. จัดประชุมคณะทำงานจัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ.... ครั้งที่ 4/2564 โดยมีวาระสำคัญเพื่อพิจารณากลั่นกรอง (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ... การประชุมครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากที่ผ่านมา ศมส. ได้จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง และประชาชนทั่วไป ทั้งในรูปแบบของการจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนและส่วนราชการ การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบสื่อสารทางไกล Application ZOOM และการรับฟังความคิดเห็นออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ทำให้ได้ชุดข้อมูล ข้อเสนอแนะต่อการแก้ไข ปรับปรุงร่างกฎหมายที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของแต่ละเป้าหมายอย่างครอบคลุมและรอบด้าน

           จากการรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา พบว่า ความคิดเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยต่อการมีพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยสังคมต่างตระหนักและให้ความสำคัญต่อการเคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะในบริบทของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ดำรงชีวิตกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศไทยมากกกว่า 60 กลุ่มชาติพันธุ์ ต่างมีวิถีชีวิต วัฒนธรรม อัตลักษณ์ การใช้ภาษา ที่เป็นเอกลักษณ์สะท้อนให้เห็นการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายในลักษณะสังคมพหุวัฒนธรรม

           ทั้งนี้หากพิจารณาในเนื้อหาสาระของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จะพบว่า ร่าง พรบ. ดังกล่าวมีเจตนารมณ์สำคัญให้เป็นกฎหมายที่มุ่ง “ส่งเสริม” ตามหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 70 โดยมุ่งให้การคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีสิทธิเสมอภาคกันอย่างไม่เลือกปฏิบัติอันเป็นพื้นฐานตามหลักสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ยังถือเป็นการวางหลักการและแนวทางในการคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ที่ด้อยสิทธิ ซึ่งปัจจุบันต่างเผชิญกับการเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะพลเมืองของชาติ การเสียสิทธิทางวัฒนธรรมในการดำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตน ตลอดจนการขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการสูญเสียอัตลักษณ์และภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันเป็นต้นทุนสำคัญในการพึ่งพาตนเอง

           การจัดทำกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะแสดงให้เห็นกลไกที่จะถูกนำมาใช้กำกับทิศทางเชิงนโยบาย และการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องต่อการส่งเสริม พัฒนาและแก้ไขสภาพปัญหาที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยในร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ได้กำหนดหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ หลักการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม หลักการส่งเสริมศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์ และหลักการสร้างความเสมอภาคบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งในร่างกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดให้มีกลไกในการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งในระดับชาติ ระดับจังหวัด และกลไกของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอปัญหา แนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับบริบทวิถีชีวิต วัฒนธรรมของตนในรูปแบบที่เรียกว่า “สมัชชากลุ่มชาติพันธุ์” นอกจากนี้ในร่างกฎหมายยังกำหนดให้มีการจัดทำข้อมูลประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดการศึกษาข้อมูล ประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อใช้ยืนยันและรับรองสถานะดำรงของบุคคล รวมไปถึงการกำหนดให้มีการขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายเพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถดำรงชีวิตบนฐานองค์ความรู้ ภูมิปัญญาของตนได้อย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรี ได้รับการเคารพ ไม่ถูกคุกคามหรือเบียดขับ สามารถอยู่ร่วมและจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนบนฐานความรู้ ภูมิปัญญาและวิถีวัฒนธรรมของตน มีการผสมผสานและประยุกต์ใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมดั้งเดิมกับความรู้สมัยใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตบนฐานเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม

           สำหรับแนวทางในการขับเคลื่อนการจัดทำร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ในลำดับต่อไปนั้น ภายหลังที่คณะทำงานจัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ.... ได้พิจารณากลั่นกรอง แก้ไข และปรับปรุง ร่างกฎหมายดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ศมส. จะนำเสนอร่างกฎหมายต่อรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและมีการอภิปรายร่วมในสภาผู้แทนราษฎร โดยคาดว่าจะมีประกาศใช้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคมในปี 2565 ซึ่งสังคมต้องติดตามและผลักดันให้มีการประกาศใช้กฎหมายที่มุ่งคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ให้เกิดขึ้นร่วมกันต่อไป

 

งานสนับสนุนกระบวนการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)