ศมส. เปิดเวทีนำเสนอผลการจัดการข้อมูลชุมชนชาติพันธุ์เพื่อเตรียมประกาศพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ ในรูปแบบออนไลน์
“การพัฒนาศักยภาพชุมชนชาติพันธุ์ในสถานการณ์โควิด”
การดำเนินงานขับเคลื่อนแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ตามมติคณะรัฐมนตรี 2553 และการจัดทำร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ถือเป็นบทบาท และภารกิจขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) โดยเฉพาะการนำแนวคิดการประกาศพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษมาใช้เป็นกรอบในการดำเนินงาน โดยมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาศักยภาพชุมชนชาติพันธุ์ให้สามารถจัดการตนเองได้บนฐานภูมิปัญญา วิถีวัฒนธรรม เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นฐานการเคารพสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งนี้สิ่งสำคัญจึงต้องมีการพัฒนาศักยภาพชุมชนชาติพันธุ์ให้มีความพร้อมและเข้มแข็งจากภายใน
ในปี 2564 ศมส. จึงได้พัฒนาให้มีโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพการจัดเก็บข้อมูลชุมชนชาติพันธุ์เพื่อเตรียมประกาศพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ โดยมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ การพัฒนาทักษะความสามารถในการใช้เครื่องมือทางมานุษยวิทยาในการจัดเก็บและการจัดการช้อมูลชุมชนให้เป็นระบบ ได้แก่ การจัดทำประวัติศาสตร์ชุมชน การทำแผนที่เดินดิน การทำปฏิทินชุมชน และได้สนับสนุนงบประมาณการพัฒนากลไกองค์กรพี่เลี้ยงในระดับพื้นที่ โดยในปี 2564 ได้บูรณาการความร่วมมือกับมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินงานที่มีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพครอบคลุม 16 ชุมชนชาติพันธุ์ที่สนใจเข้าร่วมกระบวนการพัฒนาศักยภาพดังกล่าว
ในช่วงที่ผ่านมานับตั้งแต่เดือนเมษายน - สิงหาคม 2564 ชุมชนชาติพันธุ์ทั้ง 16 แห่ง ได้ออกแบบกิจกรรมการสื่อสาร สร้างความรู้ ความเข้าใจ และพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมการจัดเก็บข้อมูลด้านต่างๆ ภายในชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันเสาร์ที่ 11 กันยายน 2564 ศมส. จึงจัดให้มีเวทีนำเสนอผลการดำเนินการจัดการข้อมูลชุมชนชาติพันธุ์เพื่อเตรียมประกาศพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อเปิดพื้นที่และโอกาสในการนำเสนอข้อมูล ผลการดำเนินงานของแต่ละชุมชน และพัฒนาให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์และบทเรียนที่เกิดขึ้นร่วมกันระหว่างชุมชนชาติพันธุ์ องค์กรพี่เลี้ยง และ ศมส.
ในเวทีนำเสนอข้อมูลครั้งนี้ พบว่า แต่ละชุมชนชาติพันธุ์ได้นำเสนอให้เห็นชุดข้อมูลที่เกิดขึ้นจากการออกแบบและวางแผนการทำกิจกรรมที่ทุกคนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมผ่านการบอกเล่า การสัมภาษณ์ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการพัฒนาการจัดการข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ ทั้งข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชน แผนที่เดินดิน ปฏิทินชุมชน ด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ถือเป็นชุดข้อมูลที่เกิดขึ้นจากาการทำงานของคนภายในชุมชน ก่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพผู้นำคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการข้อมูล ตลอดจนการเชื่อมประสานเครือข่ายองค์กรภายนอกที่เข้ามาสนับสนุนกระบวนการดำเนินงานภายในชุมชนให้มีความเข้มแข็ง นอกจากนี้ยังนำเสนอให้เห็นว่า แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัส (COVID 19) จะเป็นอุปสรรคและข้อจำกัดในการดำเนินงานหลายๆ ด้าน แต่สิ่งสำคัญที่ปรากฏคือศักยภาพใหม่ๆ ของชุมชนชาติพันธุ์ได้ถูกพัฒนาขึ้น ภายใต้กระบวนการเรียนรู้และปรับตัวให้สอดคล้องบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลง เช่น การใช้เทคโนโยลีในการจัดเก็บและสื่อสารข้อมูลชุมชนของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แสดงให้เห็นการผสมผสานความรู้ ภูมิปัญญาดั้งเดิมเข้ากับความรู้สมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี
สำหรับก้าวต่อไปของ 16 ชุมชนชาติพันธุ์ ได้มีข้อเสนอแนะให้ ศมส. สนับสนุนกระบวนการดำเนินงานภายใต้การขับเคลื่อนแนวคิดพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับแนวคิดและแผนการดำเนินงานของ ศมส. ในปี 2565 ที่กำหนดเป้าหมายให้เกิดการขยายพื้นที่รูปธรรมการจัดการพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ หรือ พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ภายใต้การพัฒนาศักยภาพชุมชนชาติพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งชุมชนชาติพันธุ์ใหม่ที่สนใจเข้าร่วมกระบวนการพัฒนาศักยภาพการจัดเก็บข้อมูล และชุมชนชาติพันธุ์ที่ผ่านการพัฒนาศักยภาพการจัดเก็บข้อมูลมาก่อนแล้ว ซึ่งจะยกระดับไปสู่การพัฒนาศักยภาพด้านการจัดทำแผนพัฒนาชุมชน การพัฒนาศักยภาพการทำแผนบริหารจัดการพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ ก่อให้เกิดการสื่อสาร สร้างความเข้าใจและพัฒนาให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ต่อไป
งานสนับสนุนกระบวนการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
กลุ่มงานสื่อสารความรู้และเครือข่ายสัมพันธ์ 13 กันยายน 2564