การประชุมเครือข่ายพัฒนาฐานข้อมูลชาติพันธุ์ 2567

 |  ข่าวประชาสัมพันธ์
ผู้เข้าชม : 215

การประชุมเครือข่ายพัฒนาฐานข้อมูลชาติพันธุ์ 2567

           ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) ร่วมกับสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาฐานข้อมูลชาติพันธุ์

           เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2567 นายอภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ และคณะ ร่วมประชุมเครือข่ายการพัฒนาฐานข้อมูลชาติพันธุ์เกี่ยวกับกรอบแนวคิดในการจัดเก็บรวบรวมฐานข้อมูลชาติพันธุ์เพื่อเป็นฐานข้อมูลหลักของชาติ การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของฐานข้อมูลชาติพันธุ์ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับปัญหา อุปสรรคจากการดำเนินโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลชาติพันธุ์ ที่ดำเนินการในปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมา การพัฒนาฐานข้อมูลชาติพันธุ์จึงมีความสำคัญที่ถูกระบุไว้ในร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... หมวด 4 การจัดทำข้อมูลประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

           การพัฒนาฐานข้อมูลชาติพันธุ์มีเป้าหมายสำคัญ 4 ประการ คือ ประการแรก เพื่อการพัฒนานโยบายชาติพันธุ์ เป็นฐานข้อมูลอ้างอิงเชิงวิชาการในการกำหนดนโยบายด้านชาติพันธุ์ที่สอดคล้องกับความต้องการและเหมาะสมกับสถานการณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ประการที่สอง เพื่อแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล เป็นฐานข้อมูลอ้างอิงการดำรงอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเข้าถึงสิทธิในสัญชาติของกลุ่มชาติพันธุ์ ประการที่สาม เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชน เป็นแหล่งข้อมูลเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้สังคมไทยเข้าใจและยอมรับการดำรงอยู่ของความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย และเท่าทันอคติที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ และประการสุดท้าย เพื่อแสดงศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นฐานข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพ "ทุนทางวัฒนธรรม" ของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ที่เป็น "พลัง" ในการพัฒนาประเทศบนฐานภูมิปัญญาวัฒนธรรม


ผลจากการมีส่วนร่วมและไปปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานของหน่วยงาน

           การออกแบบแนวทางการสำรวจและจัดการข้อมูลชาติพันธุ์ จึงครอบคลุมข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ ข้อมูลชุมชนชาติพันธุ์ ข้อมูลโครงสร้างและกลไกการทำงานของกลุ่มชาติพันธุ์ และข้อมูลแผนการดำเนินงานขับเคลื่อนการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลชาติพันธุ์ระยะที่ 2 จึงมีแนวทางการบูรณาการการมีส่วนร่วมในการจัดทำข้อมูลชาติพันธุ์ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มชาติพันธุ์ สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย สถาบันวิชาการ และภาคประชาสังคม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สามารถใช้ประโยชน์ทั้งในมิติการแก้ไขปัญหาที่กลุ่มชาติพันธุ์เผชิญภายใต้บริบทที่แตกต่างกัน เช่น การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิสถานะบุคคล การเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การส่งเสริมสุขภาวะ และการส่งเสริมอัตลักษณ์วัฒนธรรม รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อวางแผนแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่คำนึงถึงความสอดคล้องกับบริบทและความต้องการของกลุ่มชาติพันธุ์

Share