อุปถัมภ์ค้ำใคร : การเลือกตั้งไทยกับประชาธิปไตยก้าวถอยหลัง

 |  รัฐ และวัฒนธรรมอำนาจ
ผู้เข้าชม : 2726

อุปถัมภ์ค้ำใคร : การเลือกตั้งไทยกับประชาธิปไตยก้าวถอยหลัง

รูปที่ 1 ปกหนังสือ หนังสืออุปถัมภ์ค้ำใคร : การเลือกตั้งไทยกับประชาธิปไตยก้าวถอยหลัง
หมายเหตุจาก. ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

           หนังสือ อุปถัมภ์ค้ำใคร : การเลือกตั้งไทยกับประชาธิปไตยก้าวถอยหลัง เขียนโดย รองศาสตราจารย์เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ศึกษาและสร้างผลงานในด้านความสัมพันธ์อุปถัมภ์ การเมืองไทย การเมืองท้องถิ่นและภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง มีผลงานหนังสือหลากหลาย เช่น ทุนเชียงใหม่ (2006) หีบบัตรกับบุญคุณ (2015)1 และผลงานล่าสุดหนังสืออุปถัมภ์ค้ำใคร : การเลือกตั้งไทยกับประชาธิปไตยก้าวถอยหลัง จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน เมื่อปี พ.ศ. 2565

           จุดมุ่งหมายของการนำเสนอหนังสือเล่มนี้ คือ การทำให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องการเมืองไทยร่วมสมัย และตระหนักถึงระบอบอำนาจนิยมในสังคมไทย ผ่านมุมมองความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ในการเมืองไทย โดยแบ่งออกเป็น 5 บท เริ่มจากการสร้างความเข้าใจถึงการเมืองของประเทศไทย ตั้งแต่การเข้ามามีบทบาททางการเมืองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมืองในประเทศระหว่างการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2562 และใช้แนวคิด “ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์” อธิบายภาพของสังคมไทยในช่วงเวลานั้น ผู้อ่านจะได้พบกับอำนาจนิยมที่ คสช. ใช้ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ผ่านทุนและความรุนแรง เพื่อสร้างฐานอำนาจให้ฝ่ายตนเองและทำลายเครือข่ายทางการเมืองขั้วตรงข้าม

           บทแรก ผู้เขียนได้กล่าวถึง สถานะทางการเมืองของสังคมไทยปี พ.ศ. 2562 ภายหลังการอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการที่นำโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นเวลา 5 ปี มีการใช้คำสั่งมาตรา 44 ที่เป็นกฎหมายมอบอำนาจให้ คสช. ออกคำสั่งได้ ทั้งทางนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ เช่น ความพยายามสลายความสัมพันธ์ของนักการเมืองท้องถิ่น รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อตัดฐานเสียงของนักการเมือง โดยระงับการปฏิบัติงานและไม่ให้ค่าตอบแทน การอาศัยการกล่าวอ้างว่าด้วยความผิดกฎหมายมาตรา 112 ที่ประมวลกฎหมายอาญาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี" เพื่อประกาศให้บุคคลที่เห็นต่างจากรัฐบาล คสช.
เข้ารายงานตัว เพื่อ “ปรับทัศนคติ” และทำให้กระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองอ่อนลง นำไปสู่การออกแบบรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 เพื่อสืบทอดอำนาจของ คสช. มีการกำหนดการการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ซึ่งผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่า การเลือกตั้งปี 2562 มีกติกาที่เอื้อประโยชน์ให้ คสช. อย่างชัดเจน โดยยกตัวอย่างจากการกำหนดที่มาและวาระ 5 ปี ของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในขณะที่วาระของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) คือ 4 ปี กล่าวได้ว่า แม้ ส.ส. จะหมดวาระลง แต่ ส.ว. ก็ยังคงมีอำนาจอยู่ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป จากจุดนี้จะสังเกตได้ว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่แต่งตั้งโดย คสช. มีเจตนาใช้อำนาจของ ส.ว. เพื่อคงอำนาจของตนเองไว้ และการกำหนดกติกาการเลือกตั้งสัดส่วนแบบผสม MMP ที่เป็นระบบใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยแยกเป็นบัตรเลือก ส.ส. เขต และเลือกพรรค (ส.ส. บัญชีรายชื่อ) ซึ่งคะแนนของบัตรเลือกพรรคการเมืองนั้น จะถูกนำมาใช้เพื่อคำนวณเป็นจำนวน ส.ส. พึงมีของพรรคการเมือง กติกานี้ทำให้แนวโน้มคะแนนของพรรคการเมืองขนาดใหญ่และพรรคการเมืองที่เห็นต่างจากรัฐบาล คสช. ลดลง

           หลังการอธิบายถึงสถานะทางการเมืองไทยจาก พ.ศ. 2562 ผู้เขียนได้อธิบายถึง ความหมาย ความคิดในบริบทรัฐและการเมืองไทยกับความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ ตามคำนิยามภาษาอังกฤษความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์มีความหมายที่หลากหลาย โดยผู้เขียนยกตัวอย่างเจาะจงไปที่คำว่า Patronage กับ Clientelism ซึ่งหมายถึง อุปถัมภ์เหมือนกัน คำนิยามของ Patronage หมายถึง การได้รับสิ่งตอบแทนเป็นเงินงบประมาณของรัฐ Clientelism หมายถึง สิ่งตอบแทนที่อาจเป็นเงินของตนเองหรือจากที่อื่น ๆ เช่น การทำงานนอกตำแหน่งหรือการคอร์รัปชัน การเข้าใจความหมายหรือการนิยามความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ทำให้สามารถเห็นรูปแบบชัดเจน และสามารถวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ได้ เช่น การซื้อเสียง การใช้เครือญาติ การใช้บารมีส่วนบุคคลในการบริหารการจัดการงบประมาณ จากหน่วยงานส่วนกลางสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) (ผู้เขียนใช้คำว่า วิ่งงบฯ)

           ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ในเส้นทางการเมืองไทยในช่วงที่ คสช. ใช้เป็นความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ที่รวบอำนาจไว้ที่ตนเอง โดยแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ การพยายามสร้างรัฐราชการ และการทำลายเครือข่ายของพรรคการเมือง

           การพยายามสร้างรัฐราชการ คือ การพยายามสร้างรัฐราชการของ คสช. เป็นความพยายามในการรวมศูนย์อำนาจและใช้ระบบราชการในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการประเทศ โดยใช้วิธีการเปลี่ยนโครงสร้างอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่มีผลระยะยาวผ่านการเพิ่มอำนาจของหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงการลดความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและนักการเมือง ตัวอย่างเช่น การเพิ่มงบประมาณดำเนินงานให้ศูนย์ดำรงธรรมภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย ให้มีบทบาทมากขึ้น โดยทำหน้าที่รับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชน และส่งต่อไปยังกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นการเพิ่มอำนาจแก่ข้าราชการส่วนกลางของกระทรวงมหาดไทย หรือผู้ว่าราชการจังหวัดให้มีอำนาจควบคุมพื้นที่มากขึ้น และยังสามารถเป็นกระบอกเสียงของ ศสช. จากกฎหมายมาตรา 44 ที่มีอำนาจสามารถปรับและย้ายตำแหน่งข้าราชการ เมื่อครบตามวาระการดำรงตำแหน่ง มักจะเลือกแต่งตั้งคนที่มีสายสัมพันธ์เกี่ยวกับเครือข่ายตนเองให้เป็นตำแหน่งข้าราชการ เช่น ข้าราชการในส่วนภูมิภาค สังกัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อพึ่งพาผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน

           ส่วนการทำลายเครือข่ายของพรรคการเมือง เป็นการทำลายเครือข่ายของพรรคการเมือง จากการรัฐประหารสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีระบบการเลือกตั้ง การตั้งพรรคการเมืองและรัฐสภา จึงเป็นหนทางเพื่อการประนีประนอมและการแบ่งอำนาจ ทั้งนี้มีการออกแบบให้ได้เปรียบและสามารถรับชัยชนะในการเลือกตั้ง เพื่อสืบทอดอำนาจต่อไปได้ เช่น การเปิดตัวของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งชัดเจนว่า เป็นพรรคการเมืองที่สร้างขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจ2 มีการรวมคนที่มีคะแนนฐานเสียงจากพรรคการเมืองเดิมเข้าร่วมพรรคนี้ โดยผ่านการบีบบังคับให้ย้ายพรรค เช่น การถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งสำนักงานดังกล่าวมีคนจาก คสช. ควบคุมอยู่ ทั้งนี้มีการกีดกันคู่แข่งทางการเมือง การขู่ใช้ความรุนแรง การอาศัยช่องว่างทางกฎหมายตรวจค้นบ้านหรือการสั่งยุบพรรคการเมืองขั้วตรงข้ามโดยศาลรัฐธรรมนูญ การถูกเจ้าที่รัฐตามประกบ และการจำกัดพื้นที่ในการหาเสียง ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพยายามทำลายเครือข่ายของพรรคการเมืองโดยรัฐบาล คสช.

           จากการอ่านหนังสือ อุปถัมภ์ค้ำใคร : การเลือกตั้งไทยกับประชาธิปไตยก้าวถอยหลัง ผู้อ่านจะได้เห็นมิติความสัมพันธ์รูปแบบอุปถัมภ์ ซึ่งประกอบไปด้วย 1. ผู้ให้อุปถัมภ์ 2. ผู้รับอุปถัมภ์และ 3. สิ่งตอบแทนที่ใช้เป็นสิ่งต่อรองในความสัมพันธ์ องค์ประกอบเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้เขียนนำมาใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ ภายใต้ระบอบการปกครองของ คสช. เมื่อพิจารณาในกรณีต่าง ๆ ที่ผู้เขียนได้นำมาอภิปรายทำให้เห็นว่า ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์นี้ผูกขาดผ่านความรุนแรง โดยใช้อิทธิพลของเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้มีอิทธิพล และการใช้ทุนซื้อความสัมพันธ์ทางการเมือง สรุปได้ว่า ความสัมพันธ์รูปแบบอุปถัมภ์ของ คสช. นี้ แบ่งได้ 2 รูปแบบ คือ ความพยายามรวบอำนาจไว้ที่ตนเอง ขณะเดียวกันก็พยายามทำลายเครือข่ายพรรคการเมืองและประชาชน หากการเมืองไทยยังคงมีสถานการณ์แบบนี้ต่อไป อาจไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทางที่ดีขึ้น ระบอบประชาธิปไตยหยุดพัฒนาและถอยหลังจนกลายเป็นความล้าหลังของระบอบการปกครองของประเทศไทยได้ จึงกล่าวได้ว่า หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาที่เข้มข้น เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่สนใจศึกษาเรื่องการเมืองและความสัมพันธ์รูปแบบอุปถัมภ์ในช่วงระยะเวลาที่ คสช. เข้ามามีบทบาททางการเมือง หนังสือเล่มนี้ยังเปิดอีกหนึ่งมุมมองที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ของสังคมไทย ชวนให้ตระหนักและเข้าใจถึงระบอบอำนาจนิยมในสังคมไทย

           หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสือที่ว่าด้วยมานุษยวิทยาร่วมสมัย พร้อมให้บริการที่ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทางFacebook Fanpage: ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-library


1  Australian-Thai Pandemic Responses Project, “รศ.ดร. เวียงรัฐ เนติโพธิ์”, สืบค้นเมื่อ 17 มกราคม 2566, https://www.austhaipandemic.com/th/researchers/viengrat

2  เวียงรัฐ เนติโพธิ์. (2565). หนังสืออุปถัมภ์ค้ำใคร : การเลือกตั้งไทยกับประชาธิปไตยก้าวถอยหลัง. กรุงเทพฯ : มติชน.


ผู้เขียน

วรินกานต์ ศรีชมภู

นักบริการสารสนเทศ

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

ป้ายกำกับ อุปถัมภ์ การเมืองไทยร่วมสมัย อำนาจนิยม สังคมประชาธิปไตย รัฐราชการ พรรคการเมือง วรินกานต์ ศรีชมภู

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share