คำบอกเล่าประสบการณ์เดินเรือสินค้ากลางพายุทะเลคลั่ง จาก “ตำราเรื่องมหัศจรรย์แห่งอินเดีย”

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 4078

คำบอกเล่าประสบการณ์เดินเรือสินค้ากลางพายุทะเลคลั่ง จาก “ตำราเรื่องมหัศจรรย์แห่งอินเดีย”

           มีคำกล่าวว่า “ท้องทะเลมิอาจคาดเดาได้” เพราะผู้ที่ออกเรือไปในทะเลอาจต้องเผชิญกับคลื่นลมพายุเมื่อใดยามใดไม่อาจล่วงรู้ได้ การออกเดินเรือในทะเลแต่ละครั้งจึงมีความเสี่ยง หากโชคดีก็สามารถเอาชีวิตรอดเดินทางกลับถึงฝั่งจุดหมายปลายทางได้ แต่หากโชคร้ายเรืออาจต้องอัปปาง ต้องว่ายน้ำลอยคอยู่ในทะเล ถ้าหากไม่ได้รับการช่วยเหลือทันท่วงทีหรือสามารถว่ายตะเกียกตะกายไปติดเกาะใดสักแห่งหนึ่งได้ ก็ต้องลงเอยด้วยการจบชีวิตในท้องทะเลนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ มนุษย์ทุกยุคสมัยจึงยำเกรงท้องทะเลและเข้าใจถึงพลังของธรรมชาติที่มิสามารถต่อกรได้ หากย้อนกลับไปในยุคสมัยที่เทคโนโลยีการเดินเรือยังไม่ก้าวหน้าดังเช่นปัจจุบันแล้ว เราจะพบเรื่องราวเล่าขานและบันทึกเอกสารเกี่ยวกับประสบการณ์ของชาวเรือของชนชาติต่าง ๆ ที่สั่งสมและตกทอดมาถึงปัจจุบันให้เราได้ศึกษาหลากหลายแง่มุม ทั้งทักษะการเดินเรือ การนำร่อง การสังเกตดวงดาว กระแสลมมรสุม สภาพอากาศ ตลอดจนเรื่องเล่าการผจญภัยและตำนานต่าง ๆ ที่ต้องประสบพบเจอในท้องทะเล

           หากจะกล่าวถึงชนชาติที่มีความชำนาญการเดินเรือในสมัยโบราณ ก็ไม่พ้นที่จะต้องกล่าวถึง ชาวอาหรับ (Arab) และ ชาวเปอร์เซีย (Persian) ที่เรามักติดภาพจำว่าเป็นชนทะเลทราย เดินทางพร้อมกองคาราวานค้าขายทางบกเสียมากกว่า แต่อันที่จริงแล้วทั้งสองชนชาติยังมีชื่อเสียงในการเดินเรือและมีความรู้เรื่องระบบลมมรสุม (Monsoon wind system)1 ในมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean) โดยในช่วงราวคริสต์ศตวรรษที่ 8 เป็นต้นไป ชาวอาหรับและชาวเปอร์เซียสามารถครอบครองน่านน้ำมหาสมุทรอินเดียตั้งแต่ชายฝั่งแอฟริกาตะวันออกไล่ไปจนถึงเมืองจีน นับได้ว่าเป็นเส้นทางการค้าทางทะเลที่ไกลที่สุดในประวัติศาสตร์ก่อนยุคการสำรวจโลกของชาวยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 16 (Chaudhuri, 1985; Hourani, 1995)

ภาพที่ 1 แผนที่เส้นทางการเดินเรือของชาวมุสลิมในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9-14

ที่มา: https://notevenpast.org/monsoon-islam-an-interview-with-sebastian-prange/

           วรรณกรรมอาหรับและเปอร์เซียในสมัยอิสลาม (Islamic Period) ที่สะท้อนภาพวิถีชีวิตและความรุ่งเรืองของการค้าทางทะเลปรากฏขึ้นตั้งแต่ราวคริสต์ศตวรรษที่ 9 หลายคนอาจจะรู้จักวรรณกรรมผจญภัยชื่อก้องโลกอย่าง ซินด์บาด จอมกะลาสี (Sindbad the Sailor) ซึ่งมีฉากอ้างอิงประวัติศาสตร์ในช่วงรัชสมัยเคาะลีฟะฮ์ฮารูน อัรรอชีด (Harun ar-Rashid ค.ศ. 786-809) แห่งราชวงศ์อับบาสิยะฮ์ (Abbasid Caliphate) บอกเล่าเรื่องราวการออกเดินเรือผจญภัย 7 ครั้ง จากเมืองท่าในอ่าวเปอร์เซียไปยังมหาสมุทรอินเดียและดินแดนมหัศจรรย์ทางตะวันออก (Tibbetts, 1979; Shafiq, 2011)

           ในบทความนี้ ผู้เขียนขอหยิบเอาเรื่องเล่าประสบการณ์เดินเรือของชาวอาหรับท่ามกลางคลื่นลมพายุในทะเลจากเอกสารอาหรับโบราณฉบับหนึ่ง คือ “ตำราเรื่องมหัศจรรย์แห่งอินเดีย” หรือ “กิตาบ อะญาอิบ อัลฮินด์” (Kitab Aja’ib al-Hind) ประพันธ์โดย บุซุร์ก บิน ชะฮ์ริยาร อัรรอมฮุรมุซีย์ (Buzurg ibn Shahriyar al-Ramhurmuzi) ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 10 ตำราเล่มนี้นับว่าเป็นวรรณกรรมอาหรับประเภท “อะญาอิบ” (Aja’ib) หรือ “เรื่องมหัศจรรย์” (Marvels) มีจุดมุ่งหมายเพื่อบอกเล่าเรื่องน่าอัศจรรย์ของมนุษย์และธรรมชาติ บ่อยครั้งมีการแต่งเติมเรื่องราวเชิงตำนานเข้าไปเพื่อสร้างความบันเทิงด้วย อย่างไรก็ดี ผู้แต่งตำราเล่มนี้ได้อ้างอิงตัวละครที่มีตัวตนจริงทางประวัติศาสตร์ หรืออาจเป็นบุคคลเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวเรือสมัยนั้น โดยเป็นการรวบรวมคำบอกเล่าของพ่อค้านักเดินเรือในอ่าวเปอร์เซียมาร้อยเรียงกันจำนวน 136 ตอน ในเนื้อเรื่องมีการสอดแทรกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์และระบุศักราช ตลอดจนใส่รายละเอียด เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ช่วยสร้างจินตภาพให้ผู้อ่านได้สัมผัสวิถีชีวิตของพ่อค้านักเดินเรือในแง่มุมต่าง ๆ ได้อย่างน่าสนใจ อาทิ ทักษะการเดินเรือ การค้า ปฏิสัมพันธ์กับชาวพื้นเมืองต่างถิ่นที่ทั้งเป็นมิตรและไม่เป็นมิตร การเมือง สังคมวัฒนธรรม ตลอดจนลักษณะทางภูมิศาสตร์และธรรมชาติวิทยาของ อินเดีย (อัลฮินด์) และ เอเชียอาคเนย์ (บิลาด อัษษะฮับ) ที่มักไม่ปรากฏในเอกสารอาหรับประเภทอื่น ๆ (บุซุร์ก บิน ชะฮ์ริยาร, 1908; Shafiq, 2011)

ภาพที่ 2 ตำราเรื่องมหัศจรรย์แห่งอินเดีย (ฉบับปริวรรตตัวพิมพ์)

ที่มา: https://www.neelwafurat.com/

           เรื่องราวส่วนหนึ่งของ ตำราเรื่องมหัศจรรย์แห่งอินเดีย ที่จะขอยกมาเล่าเป็นตอนของ นาคุดา2  อะบุซ ซะฮ์ร อัลบัรคาตีย์ (Abu az-Zahr al-Barkhati) นายเรือชาวเปอร์เซียผู้ช่ำชอง อะบุซ ซะฮ์รเคยนับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ แต่ต่อมาเขาได้หันมานับถือศาสนาอิสลามและออกเดินเรือจากเมืองท่าซีรอฟ (Siraf) ในอ่าวเปอร์เซียไปยังดินแดนทางตะวันออกเป็นจำนวนหลายครั้ง ในตอนนี้เขาได้บอกเล่าเรื่องเกี่ยวกับเรือสินค้าลำหนึ่งที่แล่นใบมุ่งหน้าไปยัง ทะเลมลายู ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเขตแดนจีน (สันนิษฐานว่าหมายถึงทะเลจีนใต้) โดยมีพ่อค้าชาวจีน ชาวอินเดีย ชาวเปอร์เซีย และชาวหมู่เกาะ (อาจหมายถึงศรีวิชัย) โดยสารมากับเรือลำนี้ด้วย

           แต่แล้วเมื่อเรือสินค้าลำนี้ก็ต้องปะทะกับพายุรุนแรงจนเรือหลุดออกนอกเส้นทางไปยังทิศของ ดาวสุฮัยล์ (Suhayl) หรือ ดาวคาโนปัส (Canopus) ซึ่งนักเดินเรือชาวอาหรับสมัยโบราณเชื่อว่าหากเรือมุ่งไปยังทิศทางของดาวนี้แล้วก็จะไม่มีวันพาเรือกลับเข้าฝั่งได้ ขณะที่บรรดาลูกเรือพยายามต่อสู้คลื่นยักษ์ที่ซัดกระหน่ำและลมพายุกรรโชกเพื่อประคองเรือไม่ให้ อับปาง บรรดาพ่อค้านานาชาติที่โดยสารมาด้วยก็ต่างหวาดกลัวตาย ร้องไห้กันระงม และสวดอ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของตน จนดูเหมือนว่าสถานการณ์ในเรือจะโกลาหลวุ่นวายไปหมด

“...คลื่นโยนเรือลอยขึ้นสูงเทียมเมฆและเหวี่ยงเรือกลับลงมาดั่งจะจมลึกลงไปถึงก้นสมุทร ตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งสางมีหมอกปกคลุมหนา แม้ว่าจะมีแสงสว่างแล้ว แต่ก็ยังคงมีม่านหมอกลอยอยู่เหนือผิวน้ำ กระแสลมยังคงผันผวนตลอดคืนอันยาวนาน สิ้นหวัง และไร้สวัสดิภาพใด ๆ ลมพายุโหมพัดกระหน่ำ น้ำทะเลเดือดพล่าน คลื่นใหญ่น่าสะพรึงซัดเรือโคลงไปมาอย่างรุนแรง ผู้โดยสารในเรือต่างร่ำลากันและสวดภาวนาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ ทั้งชาวจีน ชาวอินเดีย ชาวเปอร์เซีย และชนชาวหมู่เกาะต่างเตรียมพร้อมที่จะเผชิญความตาย...”

           เนื้อหาตอนนี้ได้พรรณนาสร้างจินตภาพพายุคลื่นลมเลวร้ายในทะเลได้อย่างน่าสะพรึงกลัว อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้คนบนเรือ อันประกอบด้วยพ่อค้าจากดินแดนต่าง ๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์กับชาวอาหรับและชาวเปอร์เซียบนเส้นทางการค้าทางทะเลในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10 อีกด้วย (Shafiq, 2011; Agius, 2020)

           หลังจากนั้น รุบบาน3  หรือ นายเรือ ได้ตะโกนกล่าวกับคนบนเรือว่า

“พวกเจ้าจงรับรู้ไว้! บรรดานักเดินทางและพ่อค้า (ที่โดยสารมากับเรือ) ต่างกลัวภัยอันตรายกันทั้งนั้น แต่เพราะพวกเราคือรุบบาน! พวกเรามีพันธกิจและคำมั่นสัญญาว่าจะไม่พาเรือลำใดไปอับปาง หากชะตายังไม่ได้ถูกลิขิต (จากอัลลอฮ์) พวกเราอยู่บนเรือลำใดแล้วก็ย่อมจะไม่ทิ้งมัน เรือคือชีวิตและชะตาของเรา เราจะประจำการอยู่เพื่อให้เรือนั้นปลอดภัย หากจะต้องตาย เราขอตายไปพร้อมกับเรือ ฉะนั้นพวกเจ้าจงอดทนเถิด จงเชื่อมั่นในเจ้าแห่งลมและทะเล พระผู้บันดาลลมฟ้าอากาศตามที่พระองค์ประสงค์เถิด!”

           คำกล่าวของนายเรือนี้แสดงถึงวิถีชาวเรือซึ่งยังคงยึดถือปฏิบัติมาตั้งแต่อดีตจนถึงในปัจจุบัน ทั้งนายเรือ (Shipmaster) หรือต้นเรือ (Chief Mate) มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการบริหารจัดการเรือทั้งด้านความปลอดภัยและด้านความมั่นคงของเรือ รวมถึงการดูแลความเป็นอยู่ของคนประจำเรือ ดังนั้น การที่นายเรือสามารถควบคุมลูกเรือให้มีสติและปฏิบัติตามขั้นตอนในบริบทของสถานการณ์ต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คนบนเรืออยู่รอดปลอดภัย รวมถึงแสดงแง่มุมด้านความเชื่อทางศาสนาอิสลามของนักเดินเรือชาวอาหรับและเปอร์เซียที่ยึดมั่นถือการกำหนดสภาวะของพระผู้เป็นเจ้า (อัลลอฮ์) ที่กำหนดชะตากรรมของมนุษย์ ตลอดจนความเป็นไปของธรรมชาติ และภูมิอากาศในทะเลเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจนอกเหนือไปจากความเชื่อมั่นในทักษะความสามารถในการเดินเรือของตนอีกด้วย (Agius, 2008; Shafiq, 2011)

ภาพที่ 3 เรือเดินสมุทรของชาวอาหรับในมหาสมุรอินเดีย

ที่มา: https://www.discovermagazine.com/planet-earth/the-indian-ocean-a-maritime-trade-network-history-nearly-forgot

 

เอกสารอ้างอิง

บุซุร์ก บิน ชะฮ์ริยาร. (1908). กิตาบ อะญาอิบ อัลฮินด์ บัรรุฮู วะ บะฮ์รุฮู วะ ญะซาอิรุฮู.(พิมพ์ครั้งที่ 1). อัลกอฮิเราะฮ์: มัฏบะฮ์ อัสสะอาดะฮ์.

Agius, Dionisius A. (2008). Classic Ships of Islam from Mesopotamia to the Indian Ocean. Leiden: Brill.

Agius, Dionisius A. (2020). Where Facts and History Meet Myth and Legend: Groups or Communities in the Marvels of India Stories Model. India Quarterly, Volume 76, Issue 3.

Chaudhuri, K.N. (1985). Trade and Civilization in the Indian Ocean: An Economic History from the Rise of Islam to 1750. New York: Cambridge University Press.

Hourani, George F. (1995). Arab Seafaring in the Indian Ocean in Ancient and Early Medieval Time. (Expanded Edition). New Jersey: University of Princeton Press.

Shafiq, Suhanna. (2011). The Maritime Culture in the Kitab ‘Aja’ib al-Hind (The Book of the Marvels of India) by Buzurg ibn Shahriyar. Dissertation for the degree of Master of Philosophy in Arabic and Islamic Studies, University of Exeter.

Tibbetts, G. R. (1979). A Study of the Arabic Texts Containing Material on South-East Asia. Leiden: E.J. Brill.


1  คำว่า มรสุม (Monsoon) มาจากคำภาษาอาหรับว่า “เมาซิม” (موسم) แปลว่า ฤดู (Season) โดยลมมรสุมเป็นกระแสลมที่มีฤดูกาล จะพัดมาสองครั้งต่อปีในทิศทางตรงกันข้าม ได้แก่ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeast Monsoon) ราวเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ และ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (Southwest Monsoon) ราวเดือนเมษายน-กันยายน

2  นาคุดา (ناخدا) มาจากรากศัพท์ภาษาเปอร์เซีย “เนา” (ناو) = (เรือ) + “โคดอ” (خدا) = (นาย, เจ้า) แปลว่า นายเรือ (Shipmaster) คำนี้ปรากฏในภาษาไทยว่า นักกุด่า น. พ่อค้าสำเภาชาวเปอร์เซีย, ชื่อแขกสกุลนาโคดา เป็นพ่อค้าอยู่ทางฝั่งจังหวัดธนบุรีตรงข้ามท่าราชวงศ์ เรียกกันแต่ก่อนว่า แขกตึกแดง กับ แขกตึกขาว (พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร) https://www.sanook.com/dictionary/dict/all/search/นักกุด่า/

3  รุบบาน (ربان) เป็นคำภาษาอาหรับ สันนิษฐานว่ามีรากศัพท์มาจากคำว่า “ร็อบบุน” (رَبّ‎) แปลว่า ผู้ดูแล, ผู้อภิบาล (Caretaker) หากนำมาใช้ในบริบทของชาวเรือจะหมายถึง นายเรือ (Shipmaster) อย่างไรก็ดี คำนี้อาจมีที่มาจากคำภาษาเปอร์เซียว่า “เราะฮ์บัร” (رهبر) แปลว่า นำทาง (Guide) ซึ่งในบางบริบทใช้เรียก คนนำร่อง (Pilot) ได้เช่นกัน


ผู้เขียน

สุนิติ จุฑามาศ

นักวิจัยด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร


 

ป้ายกำกับ ประสบการณ์ เดินเรือสินค้า ตำราเรื่องมหัศจรรย์ คอสมัส ผู้ท่องอินเดีย เอเชียอาคเนย์ เอกสารโบราณ ชาวมุสลิม สุนิติ จุฑามาศ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share