น้ำกับชีวิตของชุมชนเกาะกง จังหวัดสุโขทัย

 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้เข้าชม : 6776

น้ำกับชีวิตของชุมชนเกาะกง จังหวัดสุโขทัย

           ชุมชนเกาะกงเป็นชุมชนกลางน้ำที่โอบล้อมโดยแม่น้ำยมทางด้านทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศใต้ ส่วนด้านทิศเหนือมีคลองน้ำขนาดเล็กไหลผ่านที่ซึ่งสะพานปูนชื่อ “สะพานเกาะกง” ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นทางสัญจรและตัวเชื่อมระหว่างตัวเกาะและริมฝั่งแม่น้ำยมเข้าด้วยกัน เกาะกงมีลักษณะคล้ายรูปสี่เหลี่ยมคางหมู มีขนาดไม่ใหญ่เท่าใดนัก ราว 15,600 ตารางเมตร หรือ 10 ไร่เศษ แต่ละส่วนของเกาะกงมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป พื้นที่ด้านทิศตะวันออกเรียกว่า “หัวเกาะ” มีขนาดใหญ่กว่า “ท้ายเกาะ” พื้นที่เรียวยาวด้านทิศตะวันตกของเกาะ สำหรับพื้นที่ด้านทิศเหนือและทิศใต้นั้นเรียกว่า “หน้าเกาะ” และ “หลังเกาะ” ตามลำดับ ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เป็นเกาะกลางน้ำเช่นนี้ เกาะกงจึงเป็นพื้นที่ซึ่งเมื่อถึงฤดูฝนหรือฤดูน้ำหลาก น้ำในแม่น้ำยมจะสูงขึ้นจนกระทั่งเอ่อท่วมพื้นที่เกาะทั้งหมดเป็นประจำทุกปี

 

ภาพ: แผนที่ภูมิศาสตร์ที่ตั้งชุมชนบนเกาะกง

ที่มา: ดัดแปลงจาก Google Maps โดยผู้วิจัย (2565)

 

           จากคำบอกเล่าของคนในชุมชนถึงประวัติความเป็นมาในการตั้งถิ่นฐาน ณ เกาะกงแห่งนี้ทำให้รู้ว่า เดิมชุมชนเกาะกงเป็นชุมชนชาวแพ แพนี้เรียกว่า “แพบวบ” ทำจากการนำไม้ไผ่มามัดรวมเข้าด้วยกัน โดยมีเรือนอยู่บนแพคล้ายกับบ้านทั่วไป คนชุมชนเกาะกงจะผูกเรือนแพเรียงรายอยู่รอบเกาะกง ตั้งแต่บริเวณหัวเกาะ หน้าเกาะ และท้ายเกาะ ยกเว้นบริเวณหลังเกาะ เพราะเป็นจุดที่แม่น้ำยมไหลตรงมาปะทะตัวเกาะทำให้กระแสน้ำเชี่ยวเกินกว่าจะสามารถผูกเรือนแพได้ อย่างไรก็ดี ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าคนในชุมชนเกาะกงมีพื้นเพหรือถิ่นฐานเดิมอยู่ที่ใด มีเพียงนายสำรวม ผู้กำเนิดบนเรือนแพ ณ เกาะกงเมื่อเกือบ 90 ปีก่อนเท่านั้นที่เล่าให้ฟังว่าบิดาของตนย้ายถิ่นฐานมาจากภาคอีสาน และนายดาเลาะ ชายวัย 68 ปี ที่ยังคงจดจำได้ว่าปู่ของตนเป็นคนพื้นเพเดิมอยู่ ณ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก

           ในช่วงทศวรรษ 2490 วิถีชีวิตของคนในชุมชนเกาะกงเริ่มเปลี่ยนแปลงจากการอาศัยอยู่เรือนแพในลำน้ำยมไปสู่การตั้งบ้านเรือนบนพื้นที่เกาะกง บ้านของนายปี พลูสวัสดิ์ กำนันของตำบลกงในขณะนั้นคือบ้านหลังแรกที่ย้ายขึ้นมาตั้งบนพื้นที่เกาะ หลังจากนั้น การตั้งบ้านเรือนบนเกาะกงนี้เป็นไปในลักษณะค่อย ๆ ย้ายตามกันขึ้นมา โดยบ้านหลังท้าย ๆ ย้ายและสร้างขึ้นบนเกาะกงในช่วงปลายทศวรรษ 2510 ทั้งนี้ จากคำบอกเล่าของคนในชุมชนระบุว่า สาเหตุที่ทำให้ชุมชนย้ายขึ้นมาตั้งบ้านเรือนบนเกาะกง คือ ไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุสำคัญในการนำมาทำ “แพบวบ” ใหม่ในแต่ละปีนั้นหาได้ยากและมีราคาสูงขึ้น นับตั้งแต่นั้นมาชาวชุมชนเกาะกงจึงได้ลงหลักปักฐานตั้งบ้านเรือนบนเกาะกงและกลายเป็นชุมชนกลางน้ำ โดยมีคนในชุมชนอาศัยอยู่บนเกาะไม่ต่ำกว่า 50 หลังคาเรือน

 

   

ภาพ: ลักษณะบ้านเรือนบนเกาะกง

ที่มา: ภาพถ่ายโดยผู้วิจัย (2565)

 

           วิถีชีวิตของชาวชุมชนเกาะกงผูกพันอยู่กับแม่น้ำยมอย่างใกล้ชิด เนื่องจากทุกครัวเรือนในชุมชนเกาะกงประกอบอาชีพทำประมงพื้นถิ่นเพื่อเลี้ยงชีพ ในช่วงระยะเวลา 12 เดือนหรือรอบ 1 ปีนั้นชาวชุมชนเกาะกงจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำประมงพื้นถิ่นไปตามสภาพการขึ้น-ลงของแม่น้ำยม ไม่ว่าจะเป็นการตกเบ็ด การตีอวน การวางลอบ หรือการช้อนสนัน อย่างไรก็ตาม การช้อนสนันนั้นเป็นวิธีการจับปลาที่ชาวชุมชนเกาะกงนิยมมากที่สุด เพราะว่าวิธีการนี้สามารถจับปลาได้ในปริมาณมากกว่าวิธีการแบบอื่น โดยการจับปลาด้วยวิธีการดังกล่าวนี้จะใช้เรือที่ผูกสนันหรืออวนลักษณะคล้ายถุงรูปสามเหลี่ยม ปากสนันมีขนาดกว้าง 5-6 เมตร และยาว 8-12 เมตร โดยจะติดเครื่องยนต์ไว้ที่ท้ายเรือ ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการช้อนสนันคือช่วงหลังวันออกพรรษาหรือในระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวน้ำจากแม่น้ำยมที่เอ่อล้นตลิ่งและเข้าท่วมท้องทุ่งนาโดยรอบในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายนกำลังลดลง การลดลงของน้ำท่วมนี้หมายถึงปลานานาพันธุ์ที่เข้ามาวางไข่ในท้องทุ่งกว้างกำลังว่ายกลับลงสู่แม่น้ำยม เช่น ปลาค้าว ปลาเนื้ออ่อน ปลาแดง ปลาน้ำเงิน ปลาช่อน ปลาชะโอน ล้วนเป็นปลาที่คนชุมชนเกาะกงสามารถจับได้อย่างไม่พร่องมือ โดยเฉพาะปลาสร้อยเป็นปลาชนิดที่สามารถจับกันได้ไม่ต่ำกว่าสองถึงสามลำเรือ หรือปริมาณหนึ่งถึงสองตันต่อหนึ่งครอบครัว วิธีการช้อนสนันด้วยเรือติดเครื่องยนต์ของชุมชนเกาะกงนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการทำประมงพื้นถิ่นของชุมชน จากการใช้กำลังคนเป็นหลักไปสู่การใช้กำลังเครื่องยนต์เรือเพื่อทุ่นแรง จากคำบอกเล่าของคนในชุมชนเกาะกงทำให้รู้ว่าการช้อนสนันในลักษณะนี้เริ่มต้นประมาณในช่วงปลายทศวรรษ 2510

 

   

ภาพ: ชุมชนเกาะกง ในช่วงเดือนกันยายน

ที่มา: ภาพถ่ายโดยพุทธพล มงคลวรวรรณ (2565)

 

           ปลานานาชนิด ๆ ที่จับได้ในการทำประมงพื้นถิ่นของชุมชนเกาะกงนี้ ชาวชุมชนก็จะนำปลาที่จับมาได้ไปขายให้แก่ร้านรับซื้อปลาซึ่งมักจะตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมห่างออกไปไม่ไกลนักจากแหล่งจับปลา ทั้งนี้ จากคำบอกเล่าของชาวเกาะกง ร้านโกเชียร-เจ้ชิวคือร้านรับซื้อปลาเจ้าแรกของตำบลกง กิจการรับซื้อปลาโดยตรงจากชาวชุมชนเกาะกงนี้เริ่มต้นพร้อม ๆ กับการทำประมงพื้นถิ่นด้วยวิธีการช้อนสนันบนเรือยนต์

           อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงช่วงทศวรรษ 2530 การทำประมงพื้นถิ่นของชุนชนเกาะกงก็ไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้เหมือนเดิมอีกต่อไป จากคำบอกเล่าปัจจัยสำคัญมาจากการห้ามจับปลาของสำนักงานประมงจังหวัดสุโขทัยในช่วงฤดูปลาวางไข่ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สามารถจับปลามากที่สุดในรอบปี นายบุญยืน ชายวัย 61 ปีเล่าว่า เจ้าหน้าประมงห้ามจับปลา จะใช้สบกก็ทำไม่ได้ สบกเป็นอุปกรณ์ตักปลาชนิดหนึ่งมีลักษณะคล้ายสวิงแต่มีด้ามยาว เจ้าหน้าที่ประมงจะมาตรวจตราตลอด จนแทบจะไม่สามารถหาปลาได้เลย หากเป็นเจ้าหน้าที่ประมงระดับหัวหน้ามาตรวจเองจะยิ่งเข้มงวดมาก แต่ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ประมงระดับรองลงมาตรวจตรา บางครั้งก็อาจจะอนุโลมให้จับปลาได้บ้าง การห้ามจับปลาในแม่น้ำยมของเจ้าหน้าที่ประมงนี้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตการทำมาหากินของคนในชุมชนเกาะกงอย่างมาก

           นอกจากการห้ามจับปลาของเจ้าหน้าที่ประมงแล้ว จากคำบอกเล่าของคนในชุมชนเกาะกง การสร้างสาธารณูปโภคของภาครัฐอย่างถนนและประตูระบายน้ำทำให้ปลาในแม่น้ำยมลดลงอย่างชัดเจน การสร้างถนนคือการปิดกั้นการท่วมกระจายของน้ำจากแม่น้ำยมที่เอ่อล้นตลิ่งเข้าสู่พื้นที่ท้องทุ่ง อันเป็นแหล่งขยายพันธุ์ของปลาชนิดต่าง ๆ เมื่อปลาไม่สามารถเข้าไปวางไข่ได้จึงทำให้ปริมาณปลาเกิดน้อยลง ส่วนการสร้างประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำยมเป็นการขวางกั้นเส้นทางการว่ายน้ำของปลาเพื่อขึ้นมาวางไข่ โดยเฉพาะการสร้างประตูระบายน้ำบ้านวังสะตือ ตำบลดงเดือย อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ซึ่งอยู่ห่างจากชุมชนเกาะกงไปทางใต้ประมาณ 15 กิโลเมตร

 

   

ภาพ: การทำประมงพื้นถิ่นในท้องนาไม่ไกลจากชุมชนเกาะกงซึ่งน้ำจากแม่น้ำยมท่วมถึง ในช่วงเดือนกันยายน

ที่มา: ภาพถ่ายโดยพุทธพล มงคลวรวรรณ (2565)

 

           เมื่อการทำประมงพื้นถิ่นไม่อาจเป็นแหล่งรายได้หลักให้กับคนในชุมชนเกาะกงได้อีกต่อไป กอปรกับสภาพภูมิศาสตร์เป็นเกาะกลางน้ำของพื้นที่เกาะกงซึ่งในทุกปีเมื่อถึงฤดูฝน น้ำในแม่น้ำยมจะสูงและเอ่อท่วม นับตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 2540 โดยประมาณ คนในชุมชนเกาะกงจึงเริ่มทยอยย้ายออกไปประกอบอาชีพอื่น ๆ อย่างเช่น ข้าราชการ พนักงานธนาคาร หรือช่างก่อสร้าง และซื้อที่ดินเพื่อตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณที่น้ำท่วมไม่ถึง จำนวนคนในชุมชนเกาะกงจึงลดน้อยลงอย่างมาก จากเดิมที่ชุมชนเกาะกงแห่งตำบลกง อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัยเคยเป็นชุมชนที่มีครัวเรือนมากกว่า 50 ครัวเรือน จึงเหลืออยู่เพียง 7 ครัวเรือนในปัจจุบัน


ผู้เขียน

กฤชกร กอกเผือก


 

ป้ายกำกับ ลุ่มน้ำนครชัยศรี ชีวิตชุมชนเกาะกง จังหวัดสุโขทัย กฤชกร กอกเผือก

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share