เสียงกรีดร้องของสัตว์: Anthropomorphism จากประสบการณ์ของสัตวแพทย์

 |  แนวคิด ทฤษฎีมานุษยวิทยา
ผู้เข้าชม : 2732

เสียงกรีดร้องของสัตว์: Anthropomorphism จากประสบการณ์ของสัตวแพทย์

Case File No.00: เกริ่นนำ Introduction

           Anthropomorphism หรือมานุษยรูปนิยม (มานุษยลักษณนิยม) คือแนวปฏิบัติที่มนุษย์นำเอาคุณลักษณะ พฤติกรรม และอารมณ์ของมนุษย์ไปปรับใช้กับสัตว์และสิ่งของ1  ที่ผ่านมาวิธีคิดดังกล่าวส่งผลทั้งในเชิงบวก เช่น การถือกำเนิดของแนวคิดเรื่องสิทธิสัตว์ (Animal Rights) ที่เปลี่ยนแปลงทัศนคติและแนวปฏิบัติที่มนุษย์มีต่อสัตว์ในทางที่ดีมากขึ้น และในเชิงลบ เช่น ปัญหาด้านสุขภาพและความเครียดในสัตว์ เป็นต้น ผู้เขียนมีเพื่อนที่เป็นสัตวแพทย์และได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง Anthropomorphism ดังนั้นในบทความนี้เนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นรายละเอียดและข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เพื่อนของผู้เขียนที่ปัจจุบัน (ณ ช่วงเวลาที่เขียนบทความนี้) ซึ่งกำลังประกอบอาชีพเป็นสัตวแพทย์ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง โดยเพื่อนผู้เขียนขอไม่เปิดเผยชื่อและนามสกุลเพราะอาจกระทบต่อการทำงาน) โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากแนวปฏิบัติแบบ Anthropomorphism ที่พบเจอจากเคสในโรงพยาบาล


Case File No.01: ไม่ครบ32 / Disable

           เจ้าของพาสุนัขที่มีแผลบริเวณขามาเข้ารับการรักษา พอตรวจด้วยวิธีการเอกซเรย์แล้วพบว่ากระดูกบริเวณที่มีบาดแผลแตกหักจนไม่สามารถรักษากลับมาเหมือนเดิมได้และเสี่ยงต่อการเน่าหรือติดเชื้อจนถึงตายได้ สัตวแพทย์จึงแจ้งรายละเอียดแก่เจ้าของสุนัขและเสนอให้ทำการตัดต้นขา ผลปรากฎว่าทางฝั่งเจ้าของไม่อยากให้รักษาด้วยวิธีการตัดขาและพยายามถามหาว่ามีวิธีการรักษาแบบอื่นแทนการตัดหรือไม่ เนื่องจากทางเจ้าของกลัวว่าสุนัขของเขาจะทุกข์ทรมานจากการเหลือแค่ 3 ขา หรือในเคสที่อวัยวะส่วนนั้นไม่สามารถใช้การได้อย่างถาวรจึงมีการเสนอให้เข้ารับการรักษาโดยการนำเอาอวัยวะส่วนนั้นออกเพื่อป้องกันการเน่าหรือติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว แต่เจ้าของปฏิเสธแนวคิดนี้ด้วยเหตุผลว่า “ถ้าสุนัขพิการหรือมีอวัยวะไม่ครบสมบูรณ์จะดูไม่สวย”

           ในมุมและประสบการณ์ของสัตวแพทย์ การที่สัตว์พิการไม่ได้หมายความว่าสัตว์ตัวนั้นจะทุกข์ทรมานไปตลอดชีวิต หลายครั้งที่พบว่าพฤติกรรมและอารมณ์ของสัตว์พิการก็ไม่ได้ต่างอะไรจากสัตว์ที่มีอวัยวะครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนั้นมุมมองเรื่องความพิการที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์จึงไม่อาจใช้เป็นเกณฑ์วัดหรือตัดสินความทุกข์ในสัตว์ได้ และดูเหมือนจะเป็นตัวเจ้าของมากกว่าเสียอีกที่ทุกข์ร้อนมากกว่าสัตว์เลี้ยง


Case File No.02: ความเหงามันน่ากลัว / Loneliness

           โดยปรกติแมวจะมีโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยคือโรคฉี่ไม่ออกที่นำไปสู่อาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคดังกล่าวเกิดจากความเครียดในแมว มีเคสหนึ่งคือมีแมวมารักษาด้วยอาการฉี่ไม่ออก เดิมแมวตัวนี้มีประวัติเป็นโรคไตและไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการทั่วไปได้ เมื่อไม่สามารถวินิจฉัยหาสาเหตุหรือหายารักษาได้ สัตวแพทย์จึงลองสอบถามเจ้าของแมวเกี่ยวกับประวัติการเลี้ยงหรือกิจกรรมที่ผ่านมาในสถานที่หรือสภาพแวดล้อมที่เจ้าแมวตัวดังกล่าวอยู่ เพื่อตามหาสาเหตุของความเครียด ผลปรากฏว่า เจ้าของกลัวแมวเหงาเลยหาคู่ให้มันเพื่อแก้เหงา และตัวเจ้าของเองก็อยากเลี้ยงลูกแมวเพิ่มด้วย

           ในทางพฤติกรรมของแมว แมวเป็นสัตว์รักสันโดษไม่ชอบการอยู่รวมกันเป็นฝูง เป็นสัตว์หวงถิ่นที่ไม่ชอบให้มีแมวตัวอื่นหรือมีสิ่งมีชีวิตอื่นเข้ามาอยู่ในพื้นที่ตัวเอง ในกรณีของแมวตัวนี้ความเครียดจึงเกิดจากการมีแมวอีกตัวเข้ามาอยู่ในบ้านซึ่งเคยเป็นพื้นที่ของตัวเอง ทำให้แมวตัวนั้นเครียดจนเกิดอาการฉี่ไม่ออกและทำให้โรคไตที่เป็นอยู่เดิมยิ่งหนักขึ้น ความเครียดของแมวตัวนี้ยังสร้างความลำบากต่อบรรดาเจ้าหน้าที่ในระบบการแพทย์ด้วย เพราะสัตว์เลี้ยงบางตัวเมื่อเกิดความเครียดจะมีอาการก้าวร้าวมากกว่าปกติ การให้การรักษาสัตว์ก้าวร้าวมีความเสี่ยงที่สัตวแพทย์หรือบุคลาการทางการสัตวแพทย์จะได้รับบาดเจ็บจากการถูกสัตว์ทำร้ายระหว่างเข้ารับการรักษา

           เคสนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากเรื่อง Anthropomorphism ในด้านอารมณ์ เพราะหนึ่งเราเอาอารมณ์ของมนุษย์ที่มีความรู้สึกเหงาไปใช้กับแมวที่ชอบอยู่ลำพังเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว สองการแก้ปัญหาความเหงาด้วยการหาเพื่อนหรือหาคู่อาจเป็นวิธีคิดแก้ปัญหาในแบบฉบับของมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์สังคม ซึ่งต่างจากแมวที่เป็นสัตว์สันโดษ

“น่าสนใจว่าตกลงแล้วในเคสนี้ใครกันแน่ที่กลัวเหงา? ตัวแมวเองหรือว่าเจ้าของแมวกันแน่?”


Case File No.03: แมวชวนชิม / Toothsome

           สำหรับอาหารในสัตว์เลี้ยง เจ้าของมักจะเข้าใจว่ารสชาติของอาหารเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสัตว์เลี้ยงเช่นเดียวกับที่มนุษย์ให้ความสำคัญกับรสชาติของอาหารที่รับประทานเข้าไป แต่ถ้าว่ากันตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ สิ่งที่ดึงดูดให้สัตว์กินอาหารและให้ความสนใจอาหารคือผัสสะด้านกลิ่นเป็นหลัก ส่วนรสชาตินั้นไม่ชัดเจนว่ามีผลต่อการกินของสัตว์หรือไม่ หากมองจากประสบการณ์ของสัตวแพทย์ การเบื่ออาหารในสัตว์เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยครั้งต่างจากทฤษฎีที่ว่าสัตว์กินอาหารเพื่อดำรงชีวิตโดยจะไม่เลือกว่าอร่อยหรือไม่อร่อยเพราะกินเพื่อเอาสารอาหารไม่ได้กินเอาอร่อย อาการเบื่ออาหารจึงขัดแย้งกับทฤษฎีดังกล่าว แม้แต่ตัวสัตวแพทย์เองก็ตอบไม่ได้ว่าสัตว์เบื่ออาหารจริงหรือไม่ รวมถึงไม่สามารถอธิบายพฤติกรรมการเลือกกินอาหารบางประเภทในสัตว์เลี้ยงได้

[ตัวผู้เขียนเองพบว่าแมวมีผัสสะในการรับรู้อาหารมากกว่าการดมกลิ่นหรือการรับรสชาติ แมวจดจำลักษณะของซองอาหารเปียกซึ่งเป็นของโปรดได้ หรือหากไม่เห็นภาพซองอาหารแต่ได้ยินเสียงซองก็เข้าใจว่าเป็นอาหารเปียกได้เช่นเดียวกัน อีกทั้งแมวของผู้เขียนก็มีอาการเลือกกินอาหารเช่นกัน มีทั้งตัวที่ชอบรับประทานอาหารเปียกมากกว่าอาหารเม็ด และตัวที่ไม่รับประทานอาหารเปียกเลยก็มี แถมในการกินอาหารเปียกก็มีการเลือกกินแค่บางแบรนด์หรือบางรสชาติด้วยเช่นกัน และมักจะเลือกแต่ของแพงอีกด้วย]

           อาการเบื่ออาหารหรือการไม่กินอาหารอาจเป็นสัญญาณของการเจ็บป่วยในสัตว์เลี้ยง หรือบางทีสัตว์ก็แค่เบื่ออาหารเดิมเฉย ๆ ก็ได้ แต่ในด้านกระบวนการรักษา ประเด็นเรื่องอาหารมีผลต่อการรักษาด้วย ตัวอย่างเช่นเคสสัตว์เลี้ยงป่วยด้วยโรคไต สัตวแพทย์อยากจะให้กินอาหารสำหรับโรคไตโดยเฉพาะ แต่เจ้าของรู้สึกว่าสัตว์เลี้ยงของเขาเบื่ออาหารเลยถามกลับมายังสัตวแพทย์ว่าสามารถให้อาหารเสริมหรืออาหารอื่นเพิ่มเติมจากอาหารเดิมเพื่อแก้อาการเบื่ออาหารได้หรือไม่ การให้อาหารอื่นอาจทำให้สุขภาพแย่ลงหรือส่งผลกระทบต่อการวินิจฉัยโรคได้ เช่นในกรณีของโรคผิวหนัง หากเรามีข้อสันนิษฐานว่าโรคดังกล่าวเกิดจากอาหารที่กินเข้าไปจึงพยายามควบคุมตัวแปรด้านอาหารที่สัตว์กินเพื่อหาสาเหตุของโรค ปรากฎว่าเมื่อเจ้าของนำกลับไปเลี้ยงและนำกลับมารักษาอีกรอบ เจ้าของให้อาหารหลายประเภทเพราะกลัวเบื่ออาหาร ปัญหาจึงกลับมาตกอยู่ที่สัตวแพทย์ กลายเป็นว่าไม่สามารถระบุได้ว่าโรคดังกล่าวเกิดจากสาเหตุหรืออาหารประเภทใดกันแน่


Case File No.04: เทรนด์อาหารสุขภาพ / Healthy Food

           วิธีคิดหรือความรู้ในประเด็นด้านอาหารหรือการกินหรือเทรนด์สุขภาพในคน มีการขยับพรมแดนไปสู่สัตว์เลี้ยงด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่นการให้สัตว์เลี้ยงรับประทานอาหารที่เป็นธรรมชาติ อาหารที่ให้กินเป็นเนื้อดิบที่เรียกกันว่าBARF (Bone And Raw Food) อันที่จริงคำว่า BARF เป็นคำที่ไทยเรานิยมเรียกอาหารที่ไม่ผ่านกระบวนการ (Unprocessed Foods) หรือที่ในต่างประเทศเรียกว่า RMBDs (Raw Meat-Based Diets)2  โดยแนวคิดนี้เริ่มมาจากมนุษย์ที่มองว่าการที่อาหารที่เรากินผ่านขั้นตอนและกระบวนการต่าง ๆ ในการประกอบอาหารนั้นทำให้สารอาหารลดน้อยลง การกินอาหารที่ผ่านกระบวนการมาแล้วจึงอาจส่งผลต่อปริมาณสารอาหารที่ร่างกายเราได้รับ แนวคิดนี้ได้ขยับขยายไปยังแวดวงสัตว์เลี้ยง ในกรณีของสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ป่าบางชนิดที่อยู่ในการเลี้ยงดูจะมีการให้อาหารแบบเนื้อสดเพื่อให้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอตรงกับในธรรมชาติของสัตว์นั้น ๆ ด้วย ปัญหาของการให้กินอาหารที่ไม่ผ่านกระบวนการคือ เนื้อดิบที่เราเอามาให้สัตว์เลี้ยงกินส่วนใหญ่นั้นเป็นเนื้อแช่แข็ง ซึ่งไม่ได้รับรองว่าไม่มีการปนเปื้อนแบคทีเรียหรือพยาธิในเนื้อดังกล่าว ส่วนสำคัญคือเนื้อที่เป็นอาหารกลุ่ม RMBDs ในประเทศไทยไม่ได้มีการตรวจสอบคุณภาพโดยกรมปศุสัตว์เลย3  ดังนั้นอาหารในกลุ่มนี้จึงมีความเสี่ยงในการปนเปื้อนสูงมากและส่งผลกระทบให้สัตว์เลี้ยงติดเชื้อโรคได้

           อีกกรณีหนึ่งที่สุดโต่งมากในต่างประเทศคือ กรณีเจ้าของสัตว์เป็นมังสวิรัติ (Vegan) และบังคับให้สัตว์เลี้ยงหันมาเป็นมังสวิรัติด้วยเช่นกันโดยไม่ดูธรรมชาติหรือพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยง เช่น เจ้าของเป็นผู้รับประทานอาหารแบบมังสวิรัติ แล้วบังคับให้แมวซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงของตนหันมาเป็นมังสวิรัติผ่านอาหารด้วย ทั้งที่ธรรมชาติของแมวเป็นสัตว์กินเนื้อโดยแท้ (strictly carnivore) คือกินเนื้อร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือกรณีของสัตว์ในกลุ่ม Exotic pets บางชนิดที่เดิมเป็นนักล่าตามธรรมชาติ เช่น นกฮูก งู ที่เจ้าของอาจไม่กล้าหรือทำใจไม่ลงที่จะให้สัตว์เหล่านั้นกินสัตว์อื่นทั้งเป็นหรือที่แช่แข็งทั้งตัว ในกรณีของนกฮูกแหล่งสารอาหารที่สำคัญอย่างแคลเซียมจะมาจากกระดูกของสัตว์ขนาดเล็กที่มันกินเข้าไป และสารอาหารในเครื่องในที่มีปริมาณสารอาหารมากกว่าและหลากหลายกว่าในเนื้อแดง


Case File No.05: ใจเขา ใจเรา / Put its heart in our heart

           ในกระบวนการรักษาก็มีมุมมองด้าน Anthropomorphism เหมือนกัน เจ้าของสัตว์เลี้ยงที่พาสัตว์มารักษาบางรายก็ปฏิเสธการให้การรักษาสัตว์เพราะกลัวสัตว์เจ็บ โดยเฉพาะการฉีดยา เช่น การนำสัตว์มาเข้ารับการรักษา สัตวแพทย์วินิจฉัยว่าให้รักษาด้วยน้ำเกลือซึ่งต้องมีการเจาะสายให้น้ำเกลือ แต่เจ้าของสัตว์เลี้ยงไม่อยากให้เอาของแหลมคมมาทิ่มสัตว์เลี้ยงของเขา เหตุเพราะมีขนาดตัวเล็กและกลัวว่าจะเจ็บมาก (ในไทยจะคิดว่าสัตว์ขนาดเล็กเมื่อโดนเข็มทิ่มจะเจ็บกว่าสัตว์ขนาดใหญ่) ซึ่งสัตวแพทย์ก็มองต่างออกไปว่าสัตว์กำลังทรมานจากการเจ็บป่วยและอยากที่จะหายเป็นปกติเหมือนกันซึ่งมีแต่วิธีการรักษานี้ หรือหากในกรณีรุนแรงกว่านี้ เช่นเคสที่เจ็บป่วยขั้นรุนแรง ในมุมของสัตวแพทย์ สัตว์ที่เข้ารับการรักษาอยู่ในสภาวะบาดเจ็บรุนแรงอยู่แล้ว และหากไม่เข้ารับการรักษาสัตว์ตัวดังกล่าวก็จะยิ่งทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยมากยิ่งขึ้นไปอีก

           ความแตกต่างกันเรื่องมุมมองของความเจ็บปวดและอาการบาดเจ็บนำไปสู่ปัญหาในการทำงาน เช่น เคสสัตว์มีอาการท้องเสีย พอสอบถามจำนวนครั้งที่ท้องเสียปรากฏว่าท้องเสียแค่ครั้งเดียว ซึ่งอาการท้องเสียเพียงครั้งเดียวไม่สามารถระบุได้ว่าสัตว์ตัวนั้นมีปัญหาสุขภาพหรือกำลังป่วยรุนแรงอยู่จริงหรือไม่ ด้วยเหตุนี้สัตวแพทย์จึงตัดสินใจปฏิเสธการให้การรักษาและจ่ายยา ปรากฎว่าถูกเจ้านายถามถึงสาเหตุว่าทำไมถึงไม่ให้การรักษารวมถึงไม่จ่ายยา ทั้งที่เพียงเพราะในมุม สัตวแพทย์มองว่าการจ่ายยาไปกับอาการท้องเสียครั้งเดียวเป็นการกระทำที่ไม่สมเหตุสมผล

“…ท้องเสียครั้งเดียวเป็นเรื่องปกติมากแม้แต่ในคน ถ้าหากถามย้อนกลับไปว่าคนเราท้องเสียครั้งเดียวจะตัดสินใจไปหาหมอเลยหรือไม่…”

           การปฏิเสธการให้การรักษาอาจนำมาสู่ปัญหาแก่ตัวสัตวแพทย์จากการถูกฟ้องโดยเจ้าของสัตว์เลี้ยง หรือถูกสถานพยาบาลที่ทำงานอยู่กดดันเพราะต้องการสร้างรายได้ เป็นต้น หรือถ้าหากจ่ายยาก็อาจเป็นปัญหากับตัวสัตว์เลี้ยงและเกิดปัญหาอื่นตามมา เช่น การให้ยาในสัตว์ที่สุขภาพดีนอกจากจะไม่เกิดประสิทธิภาพในการรักษาแล้ว เจ้าของยังเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น หรือหากเป็นยาที่รุนแรงอาจกระทบกับสุขภาพของสัตว์เลี้ยง หรือในยาฆ่าเชื้อที่อาจเกิดปัญหาเชื้อดื้อยาด้วย


Final Case: เราทุกคนล้วน Anthropomorphism / We all anthropomorphism

           จากมุมมองของสัตวแพทย์ สิ่งที่ต้องเน้นย้ำในประเด็นนี้คือสัตวแพทย์ก็ไม่ใช่กลุ่มคนที่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้นำเอาคุณลักษณะของมนุษย์ไปใช้กับสัตว์ เพราะวิธีการหลายอย่างที่ใช้รักษาสัตว์ในปัจจุบันก็เป็นวิธีการเดียวกันกับที่เราใช้ในมนุษย์หรือนำเอาความรู้ทางการแพทย์ของมนุษย์ไปใช้กับสัตว์ ถ้าหากว่าAnthropomorphism เป็นเรื่องของความรู้ (intellectual) ของมนุษย์ในการทำความเข้าใจสิ่งอื่นที่อยู่นอกเหนือพรมแดนของความเป็นมนุษย์ การวินิจฉัยอาการ พฤติกรรมของสัตว์ที่เข้ามารักษาในโรงพยาบาลก็เป็นการตัดสินสัตว์โดยความรู้ของมนุษย์ชุดหนึ่งที่มนุษย์มีต่อสัตว์ เพียงแต่จากจุดยืนของสัตวแพทย์ ความรู้และความเข้าใจในสาขาวิชาสัตวแพทย์อาจแตกต่างจากการรับรู้และเข้าใจของเจ้าของสัตว์เลี้ยงหรือคนทั่วไป ซึ่งในบางครั้งปัญหามาตกอยู่ที่สัตวแพทย์ต้องอธิบายให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงฟังว่าทำไมถึงวินัจฉัยออกมาว่าเป็นโรคนี้ หรือโรคที่เกิดขึ้นนี้ดูได้จากอะไร

“ตอนที่เราบอกเจ้าของว่าสัตว์เลี้ยงของเขาป่วยเป็น โรค ๆ หนึ่ง เจ้าของเองก็มักสงสัยและถามกลับมาว่าโรคดังกล่าวคืออะไร? มีสาเหตุมาจากอะไร? แล้วเป็นอันตรายกับสัตว์เลี้ยงของเขาอย่างไร? การอธิบายคำตอบของคำถามเหล่านี้อาจเป็นเรื่องยากเพราะคำที่ใช้ประกอบการอธิบายอาจไม่ใช่คำที่พบได้ในชีวิตประจำวันหรือเป็นคำศัพท์เฉพาะทางไปเลย การอธิบายให้เข้าใจก็เป็นเรื่องยากเพราะพื้นฐานของความรู้และความเข้าใจแตกต่างกัน”

           Anthropomorphism จึงแสดงให้เห็นว่ามีความสัมพันธ์โดยตรงกับความรู้ของมนุษย์4  การที่มนุษย์แต่ละคน แต่ละกลุ่ม แต่ละสังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง หรืออะไรก็ตามแต่ มีความแตกต่างกันก็จะส่งผลให้วิธีการเอาคุณลักษณะของมนุษย์ไปปรับใช้มีวิธีการหรือมีรายละเอียดแตกต่างกันด้วย อย่างในกรณีของกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพสัตวแพทย์ ที่ต้องผ่านการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยตลอด 6 ปี ก็จะมีชุดความรู้และวิธีการแบบหนึ่งที่แตกต่างจากคนอื่น ๆ Anthropomorphism ของสัตวแพทย์จะเริ่มจากการดูอาการ พฤติกรรม อาการป่วย บาดแผล หรือประวัติของสัตว์ แล้วจึงวิเคราะห์โดยอิงจากกรณีเหตุการณ์คล้าย ๆ กับกรณีดังกล่าว แล้วจึงเลือกทำการรักษา แน่นอนว่าสัตวแพทย์ก็สร้างความรู้และหลักการหรือที่เรียกกันว่า “วิทยาศาสตร์” โดยที่ไม่ได้มีการพูดคุยกับสัตว์หรือมีสัตว์มาอธิบาย หรือกรณีการขอความยินยอมที่มนุษย์ไม่สามารถขอความยินยอมจากสัตว์ได้ วิทยาศาสตร์ของสัตว์แพทย์จึงใช้หลักฐานหรือเคสที่เคยพบเจอ เช่น กรณีการมีแผลที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของสัตว์ หรืออาการเครียดที่มีที่มาจากความเจ็บป่วยของสัตว์สามารถทำให้สัตว์ตายได้ ซึ่งอาศัยข้อมูลจากบทความหรืองานวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่ สัตวแพทย์จึงอาศัยความรู้ความเข้าใจในแบบฉบับของสัตวแพทย์เองเหมือนกัน

           จากมุมมองของสัตวแพทย์ ปัญหาเกี่ยวกับความรู้เรื่องการเลี้ยงสัตว์ของคนไทยยังมีปัญหาอยู่มาก หลาย ๆ เคสที่เข้าโรงพยาบาลมักจะเป็นเคสที่เกิดจากความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสัตว์ที่ตัวเองเลี้ยงแบบผิด ๆ จนนำไปสู่การปฏิบัติกับสัตว์เลี้ยงในทางที่ผิดจนเกิดปัญหาและมาถึงโรงพยาบาล หรือความย้อนแย้งในการเลี้ยงสัตว์ อย่างเช่นการเลี้ยงแมว คนไทยส่วนใหญ่จะคิดว่าการเลี้ยงแมวแบบปล่อยให้แมวมีชีวิตอิสระให้เดินไปไหนก็ได้ตามที่ต้องการจะทำให้แมวตัวนั้นมีความสุข และการล่าสัตว์อื่นก็เป็นธรรมชาติของแมว หากเราตัดประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับวิธีคิดนี้ เช่น ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านในกรณีแมวไปพังข้าวของบ้านข้าง ๆ หรือปัญหาสิ่งแวดล้อมจากแมวในฐานะสัตว์ต่างถิ่นรุกรานของ IUCN ออกไป ในมุมมองของสัตวแพทย์แมวที่อยู่ในบ้านมีอาหารกินอิ่ม มีของเล่น มีสวัสดิภาพในการดำรงชีวิตที่ดี ในกรณีของแมวที่เลี้ยงอย่างนี้ย่อมดีกว่าแมวที่อาศัยอยู่ข้างนอกหรือกลุ่มแมวจรจัดหรือไม่?

           เมื่อคิดต่อยอดไปอีก การที่คนคิดว่าแมวมีชีวิตอิสระนำไปสู่แนวปฏิบัติในการเลี้ยงแมวแบบระบบเปิด หรือแบบกึ่งปิดกึ่งเปิด คือแมวอยากไปไหนก็ไป อยากทำไรทำ คนมีหน้าที่ให้ข้าวให้น้ำ การที่แมวไปใช้ชีวิตข้างนอกนำมาสู่ปัญหาเรื่องสุขภาพจากการติดโรคและปรสิตจากการสัมผัสพาหะนอกบ้าน เช่นจากแมวตัวอื่น แน่นอนว่าแมวก็คงไม่ได้มีความสุขที่มีหมัด หรือป่วยด้วยโรคติดต่อในแมว และมนุษย์ไม่สามารถควบคุมแมวที่ออกไปเดินข้างนอกให้ไม่ติดหมัดได้ แถมแมวบางตัวก็ไม่ได้มีความสุขที่จะใช้ชีวิตนอกบ้าน เช่นกรณีของแมวที่เจ้าของนำแมวอีกตัวมาเลี้ยง

[ที่บ้านของผู้เขียนเป็นอีกหนึ่งกรณีที่เลี้ยงแมวแบบกึ่งปิดกึ่งเปิด ปัจจุบันแมวของผู้เขียนติดหมัดทุกตัว หมัดแมวสร้างความรำคาญใจให้กับสมาชิกในบ้านทั้งหมด ผู้เขียนเองช่วงหนึ่งที่สมาชิกในบ้านนำแมวมานอนด้วยในห้องนอนก็ถูกหมัดกัดจนเป็นแผลเต็มขาจนต้องเลิกนำแมวเข้ามานอนร่วมกันถาวรไปเลย หลังจากพยายามหาวิธีการกำจัดหมัดก็ไม่สำเร็จอย่างสมบูรณ์สักครั้ง เพราะไม่ได้เปลี่ยนวิธีการเลี้ยง และผู้เขียนก็ไม่ประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวสมาชิกในครอบครัวให้หันมาเลี้ยงแมวระบบปิด เพราะสงสารและใจอ่อนทุกครั้งที่เห็นแมวอยากออกไปเล่นนอกบ้าน จนทุกวันนี้แมวของผู้เขียนก็ยังคงมีหมัดเกาะอยู่บนตัวและกัดขาผู้เขียนอยู่บ้างในบางครั้ง]

           การถกเถียงกันในบางประเด็นอย่างเช่นกรณีการเบื่ออาหารในสัตว์เลี้ยงแสดงให้เห็นว่า เราไม่อาจสรุปได้ว่าสุดท้ายแล้ว Anthropomorphism เป็นผลดีกับสัตว์หรือไม่ เพราะแม้แต่การที่เราหวังดีกับสัตว์ อยากให้สัตว์มีสวัสดิภาพ มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีความสุข หรือเคสต่าง ๆ ที่กล่าวไปทั้งหมด ก็เป็นการคิดแทนสัตว์เหมือนกันทั้งสิ้น จึงขอย้ำอีกรอบว่าบทความนี้เป็นเพียงแค่การสะท้อนปัญหาและผลกระทบของ Anthropomorphism ผ่านมุมมองและประสบการณ์ของคนที่ประกอบอาชีพสัตวแพทย์ ซึ่งสัมภาษณ์มนุษย์ซึ่งเป็นผู้กระทำ ไม่ได้ไปสัมภาษณ์สุนัขหรือแมวที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจาก Anthropomorphism เพราะผู้เขียนก็ไม่สามารถสื่อสารแทนแมวได้ และแมวที่บ้านผู้เขียนก็ไม่สามารถตอบคำถามผู้เขียนได้เช่นกัน

 

บรรณานุกรม

Mota-Rojas, D., Mariti, C., Zdeinert, A., Riggio, G., Mora-Medina, P., del Mar Reyes, A., ... & Hernández-Ávalos, I. (2021). Anthropomorphism and its adverse effects on the distress and welfare of companion animals. Animals, 11(11), 3263.

วรรณสิทธิ์ จันทรวงศ์. 7 กันยายน 2022. อาหาร BARF (Bone And Raw Food) ชัวร์หรือมั่วนิ่ม ?. บ้านและสวน PETS. จาก https://www.baanlaesuan.com/174622/pets/food/bone-and-raw-food

Daston, L., & Mitman, G. (Eds.). (2005). Thinking with animals: new perspectives on anthropomorphism. Columbia University Press.

ผู้ให้ข้อมูล

(ไม่ประสงค์ออกนาม). สัตวแพทย์. สัมภาษณ์, 7 ธันวาคม 2565.


1  Mota-Rojas, D., Mariti, C., Zdeinert, A., Riggio, G., Mora-Medina, P., del Mar Reyes, A., ... & Hernández-Ávalos, I. (2021). Anthropomorphism and its adverse effects on the distress and welfare of companion animals. Animals, 11(11), 3263.

2  วรรณสิทธิ์ จันทรวงศ์. 7 กันยายน 2022. อาหาร BARF (Bone And Raw Food) ชัวร์หรือมั่วนิ่ม ?. บ้านและสวน PETS. จาก https://www.baanlaesuan.com/174622/pets/food/bone-and-raw-food

3  วรรณสิทธิ์ จันทรวงศ์. แหล่งเดิม

4  Daston, L., & Mitman, G. (Eds.). (2005). Thinking with animals: new perspectives on anthropomorphism. Columbia University Press. P.3.


ผู้เขียน

ธนพล เลิศเกียรติดำรง

นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ Anthropomorphism ประสบการณ์ สัตวแพทย์ สิงสาราสัตว์ ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share