สำนวนภาษาจากยาหม้อใหญ่ EP03 ตอน แทรกยาดำ

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 4202

สำนวนภาษาจากยาหม้อใหญ่ EP03 ตอน แทรกยาดำ

"อะไร ๆ ที่ว่าดี ก็อาจจะไม่เด่น อะไร ๆ ที่ว่าไม่จำเป็น แต่ของมันต้องมี"

           แทรกยาดำ หรือ แทรกเป็นยาดำ เป็นสำนวนหมายถึงสิ่งหรือบุคคลที่ปรากฏแทรกอยู่ด้วยเสมอ เช่น ไม่ว่าในวงการใด เรื่องที่สนทนากันมักมีเรื่องการเมืองแทรกเป็นยาดำ เป็นต้น

           ปัจจุบันเราไม่ค่อยได้ยินหรือได้เห็นการใช้สำนวนนี้สักเท่าไรแล้ว อาจจะพบในข่าว หรือในบทความ แต่ก็น้อยมาก ผู้ใช้สำนวนนี้่ก็น่าจะพอคะเนอายุอานามได้ว่าเลยหลักสี่ไปไกลพอสมควร

           แทรกยาดำ เป็นสำนวนที่มาจากตำรับตำราการแพทย์แผยไทยโบราณ ที่เวลาปรุงยาสมุนไพรขึ้นมาตำรับหนึ่งนั้นมักจะแทรก หรือเจือด้วย ยาดำ อยู่เสมอ

           ยาดำ คือ น้ำยางของพืชในสกุลว่านหางจระเข้ ได้จากการกรีดโคนใบตามขวาง เมื่อนำน้ำยางไปเคี่ยวด้วยไฟอ่อน ๆ จนงวดแล้วผึ่งแดดให้แห้งแข็งจับตัวเป็นก้อน มีสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ เปราะ ผิวมัน ทึบแสง รสขมเหม็นเบื่อ กลิ่นไม่ชวนดม ใช้เป็นตัวยาสำหรับยาแผนโบราณของไทย

 

เครื่องแทรกยา ยาดำ ที่มา ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=112

 

           สรรพคุณของยาดำเองจะช่วยแก้โรคท้องผูก โดยกระตุ้นลำไส้และทางเดินอาหารให้บีบตัว เป็นยาถ่าย ถ่ายลมเบื้องสูงลงสู่เบื้องต่ำ กัดฟอกเสมหะและโลหิต ถ่ายพิษไข้ ถ่ายพยาธิตัวตืด ไส้เดือน ขับน้ำดี มีฤทธิ์ไซร้ท้อง ฝนกับเหล้าขาวทาหัวฝี ทาแก้ฟกบวม และใช้เป็นยาแทรกในยาระบายหลายตำรับ

           บางแห่งบอกว่า ยาดำ เป็นยาปรับธาตุ เพราะมีรสขม หากผู้ไข้ร่างกายร้อนเกินไป ยาดำก็จะปรับให้เย็นลง หากร่างกายเย็นเกินไป ยาดำก็จะปรับให้ร้อนขึ้น เรียกได้ว่าเป็นยาอเนกประสงค์เลยทีเดียว ดังนั้นยาไทยหลาย ๆ ขนานมักจะแทรกยาดำลงไปด้วยเสมอ แม้ว่าจะไม่มีในตำรับก็ตาม

           ในเอกสารโบราณตำรายาได้บันทึกตำรับยาที่มียาดำเป็นส่วนประกอบไว้หลายตำรับหลายขนานพอจะยกตัวอย่างในตำรายาเกร็ดแผนโบราณ ของหมอเห สายโกสินทร์ แพทย์แผนโบราณชั้น 2 วัดท่าพูด นครปฐม ได้ดังนี้

           (๑๔) ยาทาแก้ขัดเบา รากคนทา ๑ ข่าแก่ ๑ มหาหิงค์ ๑ รงทอง ๑ ยาดำ ๑ ฝนทาท้องน้อย และหัวเหน่า ๚๛

           (๑๕) ยามหาจักรน้อย โกฐสอ ๒ สลึง โกฐพุงปลา ๒ สลึง เทียนทั้ง ๕ สิ่งละ ๒ สลึง ผลจันทน์ ๒ สลึง ดอกจันทน์ ๒ สลึง กระวาน ๒ สลึง กานพลู ๒ สลึง สมอทั้งสามสิ่งละ ๒ สลึง เนื้อผลมะขามป้อม ๒ สลึง ผลผักชีล้อม ๒ สลึง ผลโหระพา ๒ สลึง ชะเอมเทศ ๒ สลึง ยาดำ ๒ สลึง พริกไทย ๒ สลึง ขิง ๒ สลึง ดีปลี ๒ สลึง ดินประสิวขาว ๒ สลึง กระเทียม ๒ สลึง น้ำประสานทองสะตุ ๒ สลึง สารส้ม ๒ สลึง ยานี้ทำแท่งไว้ ถ้าจะให้ผายลมรับประทานกับน้ำกะเพราต้ม หรือน้ำใบกระพังโหมต้มก็ได้ ถ้าจะแก้ท้องขึ้นละลายน้ำกะทือรับประทาน ถ้าจะแก้ซางขึ้นปวด ละลายน้ำขมิ้นอ้อยกวาดซางนั้นหล่นดีนักแล ๚๛

 

สมุดไทยขาวตำรายาเกร็ดแผนโบราณ ฉบับหมอเห สายโกสินทร์

https://www.sac.or.th/databases/manuscripts/main.php?m=document&p=item&id=31

 

           ในอดีตสำนวน แทรกยาดำ คงจะมีความหมายถึงสิ่งที่ดีแทรกหรือเจือเข้าไป ในปัจจุบันความหมายของสำนวนนี้ก็ดูกว้างออก เรื่องที่แทรกอาจเป็นเรื่องที่ดี หรือไม่ดีก็ได้ อย่างสำนวนข่าวไทยรัฐเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2560 ที่พูดถึงเรื่องการลอยกระทงในปีนั้นเอาไว้ว่าว่า

“ยังมีโฟมแทรกเป็นยาดำ โดยเฉพาะ กทม. เก็บกระทงได้รวมกว่า 8 แสนใบ”

           จากการใช้สำนวนแทรกเป็นยาดำในข่าวนี้ เราก็พอจะคาดคะเนอายุอานามของผู้เขียนข่าวนี้ได้เป็นอย่างดี

 

เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1116729

 

           ดังนั้นหากเปรียบ ยาดำ ในวงอาหารไทย ยาดำ ก็จะคล้าย ๆ กับ น้ำปลาพริก หรือพริกน้ำปลาตามแต่จะเรียก กล่าวคือ น้ำปลาพริกเมื่ออยู่บนโต๊ะอาหารนั้นไม่ได้ดูโดดเด่นอย่างอาหารประเภทอื่นอย่างแกงเขียวหวาน มัสมั่นเนื้อ ต้มยำกุ้ง หรือแม้กระทั่งไข่พะโล้ แต่ถ้าบนโต๊ะอาหารนั้นไม่มีถ้วยน้ำปลาพริกอยู่ด้วยละก็ มิวายที่จะต้องเรียกหาทุกครั้งไป


ผู้เขียน

ดอกรัก พยัคศรี

นักวิชาการคลังข้อมูล ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ แทรกยาดำ เอกสารโบราณ ตำรายา ดอกรัก พยัคศรี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share