เผยแพร่ 22 มิ.ย. 2565
การศึกษาของนักมานุษยวิทยา พยายามอธิบายว่ามนุษย์ดำรงอยู่และเปลี่ยนไปอย่างไร? เดิมทีการศึกษามานุษยวิทยาตามจารีตนิยมมักจะใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลางของโลก มองความเป็นมนุษย์อยู่เหนือสรรพสิ่ง เป็นผู้มีสติปัญญาในการการสร้างความรู้ (non-anthropocentric perspective) Heidegger (1977) ส่วนที่เหลือจะถูกมองเป็นคู่ตรงข้ามระหว่าง “มนุษย์” กับ “ธรรมชาติ” หรือ “มนุษย์” กับ “สิ่งที่มิใช่มนุษย์” Howard (2013) หรือเป็นเพียง “วัตถุ” ที่ตอบสนองการใช้ประโยชน์ของมนุษย์เท่านั้น กล่าวคือ สิ่งอื่นจะไม่มีตัวตน เป็นแค่เพียงสิ่งของ Barad(2003) อธิบายว่าการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งอื่น เกิดขึ้นบนวิธีคิดที่ “สิ่งอื่น”เป็นผู้ถูกกระทำ การคิดเช่นนี้ทำให้เกิดการแยก “ธรรมชาติ” ออกจาก “วัฒนธรรม” ต่อมามนุษย์เองเริ่มตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เราอาศัยอยู่นี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากการกระทำมนุษย์เท่านั้น และมนุษย์เองก็ไม่สามารถเป็นผู้ควบคุมจัดการโลกใบนี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จึงเริ่มหันมาทำความเข้าใจวัฒนธรรมชาติและภววิทยาของผู้คน การดำรงอยู่และความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต ผู้คน และธรรมชาติ โดยมองไปที่สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ที่มีส่วนทำให้โลกเปลี่ยนแปลง ท่ามกลางซากปรักหักพังของระบบนิเวศและระบบทุนนิยมโลก (Haraway 2016; Tsing 2015)
มานุษยวิทยาพ้นมนุษย์ (Posthuman Anthropology) เป็นการศึกษามานุษยวิทยาที่ไม่เอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง (non-anthropocentric anthropology) ไม่แบ่งแยกมนุษย์ออกจากสิ่งอื่น และนำเอามนุษย์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของปฏิสัมพันธ์ที่หลากหลายอันทำให้มนุษย์เห็นคุณค่าของการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต ระหว่างรูปธรรมและนามธรรม ระหว่างวิธีปฏิบัติกับจินตนาการ สิ่งต่างๆเหล่านี้เกี่ยวพันกันอย่างซับซ้อน ซึ่งนำไปสู่การศึกษามานุษยวิทยาแบบองค์รวม (holism) ที่เป็นรากฐานในวิชามานุษยวิทยา ขณะเดียวกัน ทำให้เกิดการข้ามพ้น “ตัวตน” ของมนุษย์ที่มิได้อ้างอิงอยู่กับร่างทางชีววิทยา แต่ยังมีสิ่งอื่นๆที่เข้ามาประกอบในความมีตัวตน (Whitehead, 2009) สิ่งอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับมนุษย์ มิได้ทำให้มนุษย์สำคัญมากขึ้น แต่ทำให้ความเป็นมนุษย์ผนวกรวมอยู่กับสิ่งที่มิใช่มนุษย์ (hybridization of human beings) (Valera, 2014) รวมทั้งทำให้พรมแดนของความเป็นมนุษย์ไม่มีเส้นแบ่งที่ตายตัว มีการเคลื่อนและคลี่คลายไปตลอดเวลา
คู่มือแนะนำทรัพยากรสารสนเทศ : มานุษยวิทยาพ้นมานุษย์ เป็นการแนะนำทรัพยากรสารสนเทศแบบกว้างๆที่รวมแนวคิด และแนววิธี เพื่อทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งและสรรพสัตร์ ระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ คู่มือครอบคลุมแนวทางการศึกษาภายใต้ประเด็น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (science and technology studies : STS) หลากสายพันธุ์นิพนธ์ (multispecies ethnography) วัตถุวัฒนธรรมศึกษา (material culture studies) มานุษยวิทยาเชิงพื้นที่ (spatial anthropology) มานุษยวิทยาผัสสะ (sensory anthropology) และ มานุษยวิทยาดิจิทัล (digital anthropology) อนึ่งเนื่องจากขอบเขตเนื้อหาครอบคลุมประเด็นที่หลากหลาย จึงนำเสนอสารสนเทศบางรายการ และจะเติมเต็มสารสนเทศที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมเป็นระยะ
เรียงลำดับข้อมูลจากใหม่ไปเก่า | เรียงลำดับข้อมูลจากเก่าไปใหม่
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702
แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library |
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library |
ห้องสมุด (ชั้น 8)
จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.
เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.
ห้องสมุดสุข กาย ใจ
จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.
เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.
หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ