banner image

Subject Guide

หน้าแรก / Subject Guide / มานุษยวิทยาพ้นมนุษย์

มานุษยวิทยาพ้นมนุษย์

Export All

image author

รวบรวมโดย : อนันต์ สมมูล

โทรศัพท์ : 028809429ext3701

เผยแพร่ 22 มิ.ย. 2565

ขอบเขตของเนื้อหา

            การศึกษาของนักมานุษยวิทยา พยายามอธิบายว่ามนุษย์ดำรงอยู่และเปลี่ยนไปอย่างไร? เดิมทีการศึกษามานุษยวิทยาตามจารีตนิยมมักจะใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลางของโลก มองความเป็นมนุษย์อยู่เหนือสรรพสิ่ง  เป็นผู้มีสติปัญญาในการการสร้างความรู้ (non-anthropocentric perspective) Heidegger (1977) ส่วนที่เหลือจะถูกมองเป็นคู่ตรงข้ามระหว่าง “มนุษย์” กับ “ธรรมชาติ” หรือ “มนุษย์” กับ “สิ่งที่มิใช่มนุษย์” Howard (2013) หรือเป็นเพียง “วัตถุ” ที่ตอบสนองการใช้ประโยชน์ของมนุษย์เท่านั้น กล่าวคือ สิ่งอื่นจะไม่มีตัวตน เป็นแค่เพียงสิ่งของ Barad(2003) อธิบายว่าการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งอื่น เกิดขึ้นบนวิธีคิดที่ “สิ่งอื่น”เป็นผู้ถูกกระทำ การคิดเช่นนี้ทำให้เกิดการแยก “ธรรมชาติ” ออกจาก “วัฒนธรรม” ต่อมามนุษย์เองเริ่มตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เราอาศัยอยู่นี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากการกระทำมนุษย์เท่านั้น และมนุษย์เองก็ไม่สามารถเป็นผู้ควบคุมจัดการโลกใบนี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จึงเริ่มหันมาทำความเข้าใจวัฒนธรรมชาติและภววิทยาของผู้คน การดำรงอยู่และความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต ผู้คน และธรรมชาติ โดยมองไปที่สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ที่มีส่วนทำให้โลกเปลี่ยนแปลง ท่ามกลางซากปรักหักพังของระบบนิเวศและระบบทุนนิยมโลก (Haraway 2016; Tsing 2015)
            มานุษยวิทยาพ้นมนุษย์ (Posthuman Anthropology) เป็นการศึกษามานุษยวิทยาที่ไม่เอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง (non-anthropocentric anthropology) ไม่แบ่งแยกมนุษย์ออกจากสิ่งอื่น และนำเอามนุษย์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของปฏิสัมพันธ์ที่หลากหลายอันทำให้มนุษย์เห็นคุณค่าของการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต ระหว่างรูปธรรมและนามธรรม ระหว่างวิธีปฏิบัติกับจินตนาการ สิ่งต่างๆเหล่านี้เกี่ยวพันกันอย่างซับซ้อน ซึ่งนำไปสู่การศึกษามานุษยวิทยาแบบองค์รวม (holism) ที่เป็นรากฐานในวิชามานุษยวิทยา ขณะเดียวกัน ทำให้เกิดการข้ามพ้น “ตัวตน” ของมนุษย์ที่มิได้อ้างอิงอยู่กับร่างทางชีววิทยา แต่ยังมีสิ่งอื่นๆที่เข้ามาประกอบในความมีตัวตน (Whitehead, 2009) สิ่งอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับมนุษย์ มิได้ทำให้มนุษย์สำคัญมากขึ้น แต่ทำให้ความเป็นมนุษย์ผนวกรวมอยู่กับสิ่งที่มิใช่มนุษย์ (hybridization of human beings) (Valera, 2014) รวมทั้งทำให้พรมแดนของความเป็นมนุษย์ไม่มีเส้นแบ่งที่ตายตัว มีการเคลื่อนและคลี่คลายไปตลอดเวลา
            คู่มือแนะนำทรัพยากรสารสนเทศ : มานุษยวิทยาพ้นมานุษย์ เป็นการแนะนำทรัพยากรสารสนเทศแบบกว้างๆที่รวมแนวคิด และแนววิธี เพื่อทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งและสรรพสัตร์ ระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ คู่มือครอบคลุมแนวทางการศึกษาภายใต้ประเด็น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (science and technology studies : STS) หลากสายพันธุ์นิพนธ์ (multispecies ethnography) วัตถุวัฒนธรรมศึกษา (material culture studies) มานุษยวิทยาเชิงพื้นที่ (spatial anthropology) มานุษยวิทยาผัสสะ (sensory anthropology) และ มานุษยวิทยาดิจิทัล (digital anthropology) อนึ่งเนื่องจากขอบเขตเนื้อหาครอบคลุมประเด็นที่หลากหลาย จึงนำเสนอสารสนเทศบางรายการ และจะเติมเต็มสารสนเทศที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมเป็นระยะ
 

คำสำคัญ

แหล่งข้อมูล

https://www.sac.or.th/databases/anthropology-concepts/glossary/173

เรียงลำดับข้อมูลจากใหม่ไปเก่า | เรียงลำดับข้อมูลจากเก่าไปใหม่


image

Author

Nayar, Pramod K

Imprint

Cambridge : Polity, 2014

Collection

Books (7th floor)

Annotation

            Prof. Pramod K Nayar เป็นศาสตราจาร์ผู้สนใจ ทฤษฎีวรรณกรรมและทฤษฎีวัฒนธรรม เคยได้รับรางวัล Visitor's Award for the Best Research ในประเภท Humanities, Arts and Social Sciences ประจำปี 2018
            หนังสือนำเสนอและวิเคราะห์แนวความคิดหลังมนุษย์ ครอบคลุมประเด็นพ้นมนุษย์ เริ่มจากการวิพากย์ปรัชญาลัทธิมนุษยนิยมแบบดั้งเดิม จริยธรรมมนุษยนิยม ที่มองว่ามนุษย์เป็นศูนย์กลางของโลก มองความเป็นมนุษย์อยู่เหนือสรรพสิ่ง จากนั้นนำเสนอพัฒนาการของแนวคิดหลังมนุษย์โดยอธิบายในบริบทของการศึกษาทางชีวการแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโน-วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม โดยตั้งคำถามเกี่ยวกับร่างกาย/รูปร่างมนุษย์ สัตว์ ธรรมชาติ เน้นการศึกษาความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันของมนุษย์ที่ถูกพัฒนาและมีวิวัฒนาการร่วมกับกับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับ นักศึกษาด้านวัฒนธรรมศึกษา วรรณกรรมสมัยใหม่และร่วมสมัยที่สนใจในประเด็น Posthumanism
 

อ่านต่อ...
image

Author

Thongchai Winichakul

Imprint

Honolulu : University of Hawaii Press, 1994

Collection

Books (7th floor)

Annotation

            ดร. ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์กิตติคุณประจำภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน
            หนังสือ Siam Mapped นำผู้อ่านย้อนกลับไปสำรวจประวัติศาสตร์ของภูมิศาสตร์ และศึกษาความเปลี่ยนแปลงความรู้ ความคิดทางภูมิศาสตร์ ที่ก่อให้กำเนิดสยามประเทศจากหลากหลายประดิษฐกรรม เช่น การสร้างเขตแดนและการทำแผนที่ อันเป็นจุดเริ่มต้นที่สยามเริ่มสร้างจินตนาการเกี่ยวกับตนเอง ที่แตกต่างจากคนอื่นขึ้นมา นำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการศึกษาพลวัตของประวัติศาสตร์สยาม/ไทยในศตวรรษที่ 19 และ 20  โดยศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศตามช่วงเวลา ศึกษาข้อถกเถียแนวคิด ทฤษฎีต่างๆ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาจักรสยามให้กลายเป็นลัทธิชาตินิยมและชาตินิยมสมัยใหม่  ซึ่งชาติ เป็นส่วนสำคัญของทุกชีวิต ชาติ มีรัฐบาล ระบบเศรษฐกิจ สภาพทางสังคมและวัฒนธรรม ทั้งหมดนี้มีผลกระทบต่อปัจเจกบุคคล ความเป็นชาติมีพลังยึดโยงชุมชนไว้ด้วยกันทั้งๆ ที่สมาชิกของชาติอาจไม่มีวันรู้จักหน้าค่าตากันเลย ทรงพลังถึงขนาดที่หลายชีวิตยอมเสียสละให้ชาติได้ เป็นแรงบันดาลใจผู้คนมาหลายชั่วคนให้ทุ่มเทเพื่อบรรลุผลสำเร็จอันริเริ่มสร้างสรรค์แก่ชาติ ความเป็นชาติเป็นสิ่งปรารถนารวมทั้งในหมู่พวก Radical ในหลายๆ ประเทศซึ่งจงรักภักดีต่อประเทศของตนไม่น้อยไปกว่าที่ศัตรูของพวกเขาภักดีต่อประเทศของตนเอง
 

อ่านต่อ...
image

Author

Paul Stoller

Imprint

Philadelphia : University of Pennsylvania Press, c1989.

Collection

Books (7th floor)

Annotation

            พอล สโตลเลอร์ (Paul Stoller) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน หนึ่งในนักมานุษยวิทยาผู้บุกเบิกงานวิจัยในสนามของมานุษยวิทยาว่าด้วยผัสสะ
            หนังสือ The Taste of Ethnographic Things: The Senses in Anthropology เป็นผลงานที่สร้างชื่อให้กับ Stoller เขาได้วิจารณ์ว่ารูปแบบการเขียนทางชาติพันธุ์วรรณาที่ซึ่งเน้นเสนอตามข้อเท็จจริง(in fact) ว่าเป็นสิ่งที่ไร้รสชาติจืดชืด (tasteless) เพราะว่านักมานุษยวิทยาโดยทั่วไปมักจะไม่นำเสนอเกี่ยวกับ กลิ่น(the smells)  รสชาติ(the tastes) และเสียง(the noises) ที่ซึ่งพวกเขามีประสบการณ์ในสนาม Stoller ชี้ว่าผัสสะมีความสำคัญมากกว่าข้อมูลวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ การที่นักมานุษยวิทยาไม่นำเสนอบริบทรอบๆสนามอันประกอบด้วย กลิ่น ทัศนียภาพของเสียง (Soundscape)  และรสชาติ ขณะที่กำลังสังเกตและเก็บข้อมูล เป็นสิ่งที่ขาดหาย และน่าเสียดายสำหรับงานวิจัย หรือ ผลงานของพวกเขา Stoller นำข้อมูลการทำงานภาคสนามมากกว่าเจ็ดปี รวบรวมเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ทั้งชุดภาพที่น่าสนใจ เสียง และกลิ่นที่ปรุงแต่งให้กับโลกภายในของกลุ่มชาติพันธุ์ Songhay สาธารณรัฐไนเจอร์ Stoller พบว่าชาว Songhay นั้น การทำอาหารหรือซอสที่ดีที่สุด เป็นการแสดงถึงการต้อนรับของเจ้าบ้านแก่ผู้มาเยือน ความเป็นเจ้าบ้านที่ดี ความสัมพันธ์ทางสังคม และอารมณ์ความรู้สึก การที่ผู้มาเยือนได้ลิ้มรสชาติซอสที่ไม่อร่อยสร้างความอับอายให้แก่เจ้าบ้าน อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางสังคมของชาว Songhay ที่จะถ่ายทอดสูตรอาหารและสูตรซอสจากรุ่นสู่รุ่นภายในครอบครัวและชาว Songhay ด้วยกัน การที่สมาชิกในครอบครัวไม่ได้รับการเรียนรู้กระบวนการทำอาหารสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะความสัมพันธ์เชิงลบของสมาชิกในครอบครัวและการแบ่งแยกทางชาติพันธุ์ นอกจากนี้การปรุงซอสที่มีรสชาติแย่ให้แก่แขกผู้มาเยือนก็ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของการแสดงความไม่พอใจของผู้ที่ไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นสมาชิกของสังคม หนังสือแบ่งเป็น 4 ภาคคือ รสชาติทางมานุษยวิทยา ภาพในสนาม เสียงในประสบการณ์วัฒนธรรม และความรู้สึกในงานมานุษยวิทยา เหมาะสมหรับนักวิจัย อาจารย์ นักศึกษาที่สนใจศึกษาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่เกี่ยวกับผัสสะ
 

อ่านต่อ...
image

Author

Daniel Miller

Imprint

Oxford, OX, UK ;Cambridge, Mass., USA : B. Blackwell, 1987

Collection

Books (7th floor)

Annotation

            Daniel Miller นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งต่างๆ ผู้พัฒนาทฤษฎีวัฒนธรรมเชิงวัตถุ การบริโภค และเป็นผู้บุกเบิกศึกษามานุษยวิทยาดิจิทัลโดยเฉพาะการวิจัยชาติพันธุ์วิทยาเกี่ยวกับการใช้และผลที่ตามมาของโซเชียลมีเดียและสมาร์ทโฟนซึ่งเป็นวิธีชีวิตปกติคนทั่วไปทั่วโลก
            หนังสือ Material Culture and Mass Consumerism นำเสนอผลงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมเชิงวัตถุ การศึกษาวัตถุผ่านรสนิยมในการบริโภค และทฤษฎีการบริโภค จากงานของนักคิดคนสำคัญเช่น Hegel, Marx, Munn และ Simmel โดยการอภิปรายความสัมพันธ์ของมนุษย์กับวัตถุที่มีผลต่อวัฒนธรรม แทรกซึมเข้าสู่วิถีชีวิตมนุษย์ผ่านระบบทุนนิยม (ผ่านวัตถุที่เรียกว่าสินค้า) เป็นภาพสะท้อนความหมายในกระบวนการบริโภควัตถุ Miller มองว่าการศึกษา “มนุษย์” ไม่สามารถเกิดขึ้นภายนอก “โลกของวัตถุ” ได้ กล่าวคือ ทุกปฏิบัติการที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ ต้องมีสิ่งของเกี่ยวข้องอยู่ในนั้นด้วย
 

อ่านต่อ...
image

Author

Tambiah, Stanley jeyaraja, 1929-

Imprint

Cambridge : Cambridge University Press, 1984

Collection

Books (7th floor)

Annotation

            Stanley J. Tambiah เป็นศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งมีผลงานเกี่ยวกับประเทศไทย ศรีลังกา ชนชาติทมิฬ เกี่ยวกับศาสนาและการเมือง
            
งานชื้นสำคัญของ สแตนลีย์ เจ. ทัมไบห์ (Stanley J. Tambiah) เรื่อง The Buddhist Saints of the Forest and the cult of amulets (1984) ซึ่งกล่าวถึงแนวคิดเรื่องอรหันต์ การปฏิบัติบำเพ็ยเพียร การทำสมาธิวิปัสสนาธุระ หรือพระป่าสายปฏิบัติ และธรรมเนียมเรื่องพระป่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเชิงประวัติความเป็นมา โดยกล่าวถึงภายในองค์กรสงฆ์ที่แบ่งเป็นอรัญวาสีและคามวาสี และกว่าวถึงการเข้ามาของอรัญวาสีในสายลังกาวงศ์ที่ทำให้เข้าใจว่าพระสายอีสานนั้นรับแนวคิดมาจากอรัญวาสีที่สุโขทัย แต่หลักฐานในปัจจุบันทำให้เราทราบว่า อรัญวาสีในท้องถิ่นอีสานนั้นเก่าแก่ก่อนลังกาวงศ์ที่สุโขทัยกว่า 300-400 ปีมาแล้ว งานของทัมไบห์นับเป็นต้นแบบที่ใช้อ้างอิงในกรณีการกล่าวถึงพระป่าหรือพระธุดงค์ โดยเฉพาะในเรื่องประวัติวความเป็นมาที่อ้างอิงถึงชุมชนพระป่าในยุคต้นพุทธกาล ในศรีลงกา พระป่าที่พม่าและไทย โดยโยงถึงนิกายสิงหลในศรีลังกาที่มีอิทธิพลต่อพระฝ่ายอรัญวาสีในแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงปาฏิหาริย์ เครื่องรางของขลังของพระเกจิอาจารย์ในภาคอีสานด้วย
 

อ่านต่อ...

ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ