banner image

หนังสือแนะนำ

หน้าแรก / หนังสือแนะนำ / eFieldnotes : the makings of anthropology in the digital world

detail image

eFieldnotes : the makings of anthropology in the digital world

รายละเอียด


ปีที่พิมพ์ :

2016


ผู้แต่ง :

Roger Sanjek and Susan W. Tratner.


เลขเรียกหนังสือ :

GN346 .E45 2016


Collection :

Books (7th floor)


ลิงก์หนังสือ :

รายละเอียด :

eFieldnotes : The Makings of Anthropology in the Digital World

รูปที่ 1 ปกหนังสือ eFieldnotes : The Makings of Anthropology in the Digital World
หมายเหตุจาก. ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

“Everyone is shifting to a digital world,”
Ms. Mueller said, “There may be room for pen and paper
when putting up a sign or writing a birthday card,
but for note taking and work, there’s no way of
reversing the current changes.”

Bilton (2014)
(หนังสือ eFieldnotes : The Makings of Anthropology
in the Digital World หน้า 251)

           ข้อความข้างต้นสื่อให้เห็นว่า โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัล การเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ซึ่งในการเปลี่ยนแปลงนั้น บางอย่างผู้คนยังคงชอบและทำในสิ่งเดิม เช่น การเขียนคำอวยพรวันเกิดลงในกระดาษ เพื่อส่งให้เจ้าของวันเกิด เป็นต้น แต่ในทางมานุษยวิทยา การเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้กระบวนการทำงานและการจดบันทึกภาคสนามเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และไม่สามารถเปลี่ยนกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้

           หนังสือ “eFieldnotes : The Makings of Anthropology in the Digital World” มี Roger Sanjek และ Susan W. Tratner เป็นบรรณาธิการของหนังสือ จัดพิมพ์ในปี 2016 โดยสำนักพิมพ์ University of Pennsylvania Press ซึ่ง Roger Sanjek เป็นอดีตศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาที่ Queens College, City University of New York ตั้งแต่ปี 1972 ถึง 2009 และ Susan W. Tratner เป็นรองศาสตราจารย์อยู่ที่ The State University of New York ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่ง Roger และ Susan ได้นำบทความทั้งของตัวเองและบทความจากนักมานุษยวิทยาอีกจำนวน 14 คน เช่น William W. Kelly , Jean E. Jackson , Mary H. Moran ,Mieke Schrooten , Martin Slama , Jordan Kraemer , Jenna Burrell เป็นต้น ซึ่งเป็นบทความที่ผู้เขียนแต่ละคนได้เก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามในพื้นที่ต่าง ๆ ได้แก่ ญี่ปุ่น ไลบีเรีย เยอรมนี อินเดีย จาเมกา แซมเบีย อิรัก เคอร์ดิสถาน เบลเยียม และสหรัฐอเมริกา มาเรียบเรียงและนำเสนอเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้

           ภายในหนังสือเล่มนี้จะกล่าวถึง ผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีต่อกระบวนการทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา และด้วยความก้าวหน้าของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงแหล่งข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้นักมานุษยวิทยาต้องเผชิญกับกระบวนการทำงานภาคสนามที่มีความแตกต่างอย่างมากจากเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว โดยเฉพาะในส่วนของการบันทึกข้อมูลภาคสนาม ที่ในสมัยก่อนเป็นการจดบันทึกด้วยการเขียนด้วยลายมือ พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีด และถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม แต่เมื่อเทคโนโลยีได้มีความก้าวหน้าขึ้น ทำให้กระบวนการทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยาค่อย ๆ เปลี่ยนไป ทั้งในเรื่องของวิธีการในการจดบันทึกข้อมูล การนำข้อมูลมาใช้ การจัดเก็บข้อมูล การติดต่อสื่อสาร รวมไปถึงการเผยแพร่ข้อมูลที่ค้นพบด้วย

           Roger Sanjek ได้กล่าวถึง การเปลี่ยนแปลงของการบันทึกข้อมูลภาคสนามไว้ในบทความ เรื่อง “From Fieldnotes to eFieldnotes” ซึ่งเป็นบทความของเขาเอง (หนังสือ eFieldnotes : The Makings of Anthropology in the Digital World หน้า 3-27) ว่า การบันทึกข้อมูลภาคสนามนั้น ได้เริ่มเปลี่ยนจากการบันทึกด้วยลายมือมาเป็นการบันทึกด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจดบันทึก โดยมีจุดเริ่มต้นในปี 1979 Fei Xiaotong นักมานุษยวิทยาชาวจีน ได้มาเยือนสหรัฐอเมริกาและตั้งข้อสังเกตว่า ตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในร้านค้า โรงแรม สถานีขนส่ง มหาวิทยาลัยและห้องสมุด มีการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้โทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ ทำให้ Fei มีความคิดว่า การใช้โทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ในการติดต่อสื่อสารนั้น ทำให้มนุษย์ที่อยู่กระจัดกระจายตามสถานที่ต่าง ๆ สามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปยังสถานที่ที่กำหนด ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เป็นประโยชน์ ซึ่งภายหลังความคิดนี้ได้กระตุ้นให้นักมานุษยวิทยาหันมาไตร่ตรองเรื่องการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในงานมานุษยวิทยาอย่างจริงจัง

           Roger Sanjek เป็นหนึ่งในนักมานุษยวิทยาที่สนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลในงานมานุษยวิทยา โดยเฉพาะในงานบันทึกภาคสนาม ในปี 1985 Roger Sanjek ได้เข้าร่วมการประชุมประจำปีของสมาคมมานุษยวิทยาอเมริกัน และได้นำเสนอผลงานการเขียนบันทึกภาคสนามทางมานุษยวิทยาที่เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ ต่อมาในปี 1990 Roger Sanjek ได้เป็นบรรณาธิการรวบรวมข้อมูลผลงานเขียนบันทึกภาคสนามทั้งของตนเอง และนักมานุษยวิทยาหลาย ๆ ท่าน เช่น Jean E. Jackson , James Clifford , Rena Lederman เป็นต้น นำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือ เรื่อง “Fieldnotes : The Makings of Anthropology” โดยนำเสนอให้เห็นประวัติศาสตร์ของงานภาคสนาม จุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการของงานบันทึกภาคสนาม รวมไปถึงการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ อย่างไรก็ดีกระบวนการในงานบันทึกภาคสนามได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัลและรูปแบบการสื่อสารใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่มีการเริ่มเข้ามาของอินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จนกระทั่งในปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านั้นได้พัฒนาก้าวหน้าไปจากปี 1990 มาก ทำให้ Roger Sanjek และนักมานุษยวิทยาอีกหลายท่านร่วมกันศึกษาเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลกับงานบันทึกภาคสนามอย่างละเอียดอีกครั้ง และเรียบเรียงออกมาเป็นหนังสือ “eFieldnotes : The Makings of Anthropology in the Digital World” เล่มนี้

           เนื้อหาภายในเล่มจะแบ่งเป็น 5 ส่วน โดยในแต่ละส่วนจะมีบทความย่อย ๆ ที่น่าสนใจอีกส่วนละ 3 บทความ ซึ่งเขียนโดยนักวิชาการที่มีความรู้และมีประสบการณ์ในด้านมานุษยวิทยาและชาติพันธุ์วิทยา


ส่วนที่ 1 Transformations and continuities

           บทความในส่วนนี้จะกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของงานภาคสนาม โดยชี้ให้เห็นว่าการเกิดขึ้นมาของคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานภาคสนามของผู้ที่ปฏิบัติงานด้านมานุษยวิทยา รวมทั้งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ช่วยให้กระบวนการทำงานและการติดต่อสื่อสารมีความสะดวกสบายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เช่น การรวบรวมข้อมูลภาคสนามในพื้นที่ห่างไกล โดยใช้การสัมภาษณ์และบันทึกวิดีโอผ่านเว็บแคม เป็นต้น

           ในส่วนนี้ได้ยกตัวอย่างบทความของ William W. Kelly เรื่อง “Digital Technologies , Virtual Communities , Electronic Fieldwork : The Slow Social Science Adapts to High-Tech Japan” ผู้เขียนได้เล่าถึง ประสบการณ์การทำงานด้านมานุษยวิทยาในประเทศญี่ปุ่น เช่น การเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครมากกว่า 50 ครั้ง หลังจากเกิดภัยพิบัติเมื่อในปี 2011 โดยเขามีหน้าที่ตั้งแต่ แจกอาหารและผ้าห่มในศูนย์พักพิงฉุกเฉิน สร้างที่พักชั่วคราวให้แก่ผู้ประสบภัย การขุดโคลนออกจากบ้าน การดูแลชุมชน ไปจนถึงการสร้างคลังเก็บข้อมูลเรื่องราวที่ได้จากการทำงานภาคสนาม การเข้าร่วมประชุม ซึ่งได้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลหลายอย่างมาช่วยในการปฏิบัติงาน เช่น การบันทึกวิดีโอผ่านเว็บแคม การสร้างเว็บไซต์ หรือฐานข้อมูลสำหรับเก็บเอกสาร บทสัมภาษณ์ รูปถ่าย และอีกหนึ่งตัวอย่างคือ การได้ร่วมทำการวิจัยในประเทศญี่ปุ่น ในปี 2005 – 2007 เรื่อง techno-animism ซึ่งเป็นวัฒนธรรมทางเทคโนโลยีอย่างหนึ่งที่สันนิษฐานว่าเทคโนโลยี มนุษย์ และศาสนา สามารถรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวได้ โดยได้ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของมนุษย์กับหุ่นยนต์ เป็นต้น

           บทความของ William W. Kelly แสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในกระบวนการเก็บข้อมูลภาคสนามของนักวิจัย และสามารถช่วยเก็บข้อมูลจากระยะไกลได้ โดยการติดต่อสื่อสารผ่านโทรศัพท์ หรือบันทึกวิดีโอผ่านเว็บแคม นอกจากนี้การเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้นักวิจัยด้านมานุษยวิทยาต้องขยายขอบเขตการศึกษาออกไปให้กว้างขึ้น โดยต้องศึกษาไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยีด้วย


ส่วนที่ 2 Fieldwork off-and online

           เป็นส่วนที่กล่าวถึง การทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยาว่าเมื่อหลายสิบปีก่อน มีความแตกต่างจากในปัจจุบันมาก เพราะในสมัยก่อนยังไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเท่าไรนัก และการติดต่อสื่อสารยังไม่สะดวกรวดเร็วเท่าปัจจุบัน ดังนั้น นักมานุษยวิทยาจึงต้องลงพื้นที่ภาคสนาม เพื่อไปเก็บข้อมูลด้วยตัวเอง และอาจทำให้ขาดการติดต่อไปจนกว่าจะปฏิบัติงานภาคสนามเสร็จสิ้น แต่เมื่อเริ่มมีอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เข้ามา ทำให้การทำงานภาคสนาม การสื่อสาร และการเผยแพร่ข้อมูลสามารถทำได้สะดวกรวดเร็ว เกิดการเชื่อมโยง การแชร์ข้อมูล และการติดต่อสื่อสารผ่านโลกออนไลน์ รวมถึงทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้คน โดยในงานด้านมานุษยวิทยาสามารถนำเครือข่ายสังคมออนไลน์มาใช้ประโยชน์ได้ เช่น ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบสอบถามงานวิจัยโดยที่ไม่ต้องลงพื้นที่เอง การแบ่งปันข้อมูลบันทึกภาคสนาม เป็นต้น อย่างไรก็ดีในส่วนการแบ่งปันข้อมูลภาคสนามนั้น ยังคงมีข้อคำถามอยู่ว่า ผู้อื่นจะสามารถตีความได้อย่างถูกต้องหรือไม่? เนื่องจากงานบันทึกภาคสนามเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนสำหรับนักมานุษยวิทยา เพราะเป็นข้อมูลที่ได้มาจากการเก็บข้อมูลภาคสนามของผู้วิจัย ถ้าหากไม่ใช่ตัวผู้วิจัยเอง อาจจะมีการตีความผิดพลาดได้ นอกจากนี้ ในการแบ่งปันข้อมูลลงในโลกออนไลน์ นักมานุษยวิทยาจำเป็นต้องคิดอย่างรอบคอบ และคำนึงถึงด้านจริยธรรมด้วย เนื่องจากข้อมูลบางอย่างไม่ควรเผยแพร่บนโลกออนไลน์หรือแชร์ต่อให้ผู้อื่น เช่น ภาพผู้เสียชีวิต เป็นต้น

           ในส่วนนี้ได้มีการยกตัวอย่างบทความของ Mary H. Moran เรื่อง “The Digital Divide Revisited : Local and Global Manifestations” กล่าวถึง การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการดำรงชีวิตประจำวันและการทำงานภาคสนาม โดยในปี 1982 ผู้เขียนได้เดินทางไปประเทศไลบีเรีย พร้อมกับอุปกรณ์สำหรับปฏิบัติงานภาคสนาม เช่น กระดาษ ปากกา เครื่องเล่นเทป วิทยุคลื่นสั้น กล้องถ่ายรูป เครื่องพิมพ์ดีด เป็นต้น ผู้เขียนต้องจดบันทึกภาคสนามด้วยลายมือลงในกระดาษ และติดต่อสื่อสารผ่านโทรศัพท์เท่านั้น เมื่อต้องเดินทางไปยังพื้นที่ห่างไกล และการติดต่อสื่อสารจึงไม่สะดวกสบายมากนัก ในปี 1989 ได้เกิดสงครามกลางเมืองในประเทศไลบีเรีย ทำให้ไม่สามารถรับรู้ข่าวสารและติดต่อกับใครได้เป็นเวลาหลายปี หลังจากนั้นเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารได้มีการพัฒนา เริ่มมีการเข้ามาของอินเทอร์เน็ต และสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ได้อย่างกว้างขวาง รวมทั้งมีการพัฒนาโปรแกรมและซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ตามมาด้วย เช่น โปรแกรม MAXQDA ซึ่งเป็นโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่ออกแบบมาสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูล เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาประชากรชาวไลบีเรียในปี 2006 ผู้เขียนพบว่า การใช้อินเทอร์เน็ตของคนในไลบีเรียยังมีอุปสรรคเรื่องต้นทุน เพราะจะต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือไปใช้บริการที่อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ดังนั้น จึงยังไม่ได้ขยายวงกว้างมากนัก แต่ถือได้ว่า การพัฒนาของเทคโนโลยีการสื่อสารและเทคโนโลยีดิจิทัล ช่วยให้การติดต่อสื่อสารของผู้คนและการปฏิบัติงานของผู้เขียนสะดวกสบายมากขึ้นจากที่ติดต่อสื่อสารผ่านโทรศัพท์เพียงอย่างเดียว ก็สามารถติดต่อผ่านอินเทอร์เน็ตได้อีกช่องทางหนึ่งด้วย


ส่วนที่ 3 Digitally mediated fieldwork and collegiality

           การนำเสนอเนื้อหาในส่วนนี้เน้นไปที่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการทำงานร่วมกันของนักมานุษยวิทยาที่ถึงแม้ว่าจะอยู่กันคนละที่ ก็สามารถติดต่อสื่อสารถึงกันได้ และยังสามารถแบ่งปันข้อมูลบันทึกภาคสนาม หรือสืบค้นข้อมูลบันทึกภาคสนามของนักวิชาการคนอื่น ๆ ได้อีกด้วย ถือว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารมีส่วนช่วยพัฒนางานภาคสนามของนักมานุษยวิทยาให้ก้าวหน้าตามไปด้วย

           ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างบทความของ Heather A. Horst เรื่อง “Being in Fieldwork : Collaboration, Digital Media, and Ethnographic Practice” ที่กล่าวถึง ความร่วมมือในการทำงานภาคสนาม และการทำวิจัยร่วมกันของนักมานุษยวิทยา ตั้งแต่ความร่วมมือขนาดเล็ก คือ มีนักวิจัยสองคน ไปจนถึงความร่วมมือของทีมที่ใหญ่ขึ้น โดยมีสื่อดิจิทัลและเทคโนโลยีเป็นสื่อกลางในการทำงาน แลกเปลี่ยนข้อมูล และเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของนักวิจัย เช่น โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต Facebook Twitter Skype เป็นต้น

           โดยชี้ให้เห็นว่า สื่อดิจิทัลและเทคโนโลยีการสื่อสารมีส่วนช่วยให้นักมานุษยวิทยาสามารถแบ่งปันข้อมูลซึ่งกันและกันได้ ถึงแม้จะอยู่ห่างไกลกันคนละที่หรือคนละซีกโลกก็ตาม ถือเป็นการเผยแพร่ผลงานของนักวิจัยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่นำมาปรับใช้และพัฒนางานด้านมานุษยวิทยาต่อไปได้


ส่วนที่ 4 Online fieldwork and fieldnotes

           ในส่วนนี้จะมีบทความที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของบันทึกภาคสนามจากที่เคยบันทึกลงในกระดาษ เปลี่ยนมาเป็นบันทึกด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น กล้องวิดีโอ คอมพิวเตอร์ เป็นต้น และเมื่อเทคโนโลยีการสื่อสารและอินเทอร์เน็ตขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้สามารถเผยแพร่ข้อมูลบันทึกภาคสนามผ่านทางออนไลน์ได้ และยังสามารถเก็บรักษาไว้ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์และเข้าถึงได้ตลอดเวลา ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับนักมานุษยวิทยาและผู้วิจัยที่ต้องการค้นหาข้อมูลอ้างอิง เพื่อนำมาใช้ประกอบการทำผลงานวิจัย อีกทั้งเทคโนโลยีการสื่อสารต่าง ๆ ยังช่วยให้ผู้คนสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันได้ ผ่านกระดานข้อความออนไลน์ (online message board) ทำให้เกิดองค์ความรู้ หรือข้อคิดเห็นใหม่ที่เป็นประโยชน์ในงานด้านมานุษยวิทยาต่อไปได้

           การยกตัวอย่างบทความในส่วนนี้ได้นำเสนอบทความของ Susan W. Tratner เรื่อง “New York Parenting Discussion Boards : eFieldnotes for New Research Frontiers” ซึ่งเป็นการวิจัยทางมานุษยวิทยาที่ดำเนินการศึกษาออนไลน์ในชุมชนออนไลน์สองแห่ง คือ UrbanBaby (urbanbaby.com) และ YouBeMom (youbemom.com) เป็นเว็บไซต์การเลี้ยงดูบุตรในนิวยอร์ก โดยสมาชิกในชุมชนสามารถโพสต์ข้อความหรือคำถามของตัวเอง และแสดงความคิดเห็นในโพสต์ของผู้อื่นได้เช่นกัน แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอินเทอร์เน็ต จนเกิดเป็นชุมชนที่สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันของผู้คน

           การนำเสนอเนื้อหาในส่วนนี้จึงชี้ให้เห็นว่า ช่องทางการเก็บข้อมูลออนไลน์เป็นประโยชน์ต่อนักวิจัยในด้านการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยที่ผู้วิจัยไม่ต้องเดินทางลงพื้นที่ด้วยตัวเอง อีกทั้งยังเก็บข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและสะดวกต่อทั้งผู้เก็บข้อมูลและผู้ให้ข้อมูล เนื่องจากสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลา ทำให้ลดระยะเวลาในการเก็บข้อมูลให้สั้นลงได้


ส่วนที่ 5 Widening complexities and contexts

           บทความในส่วนนี้จะกล่าวถึง ความท้าทายของการอนุรักษ์และการเก็บรักษาข้อมูลภาคสนามให้คงทนถาวร ซึ่งข้อมูลเหล่านั้น ล้วนเป็นข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อวงการมานุษยวิทยา โดยจุดเริ่มต้นของการเก็บข้อมูลให้มีอายุการใช้งานยาวนาน คือ การเก็บรักษาในรูปแบบข้อมูลดิจิทัล แต่การเก็บรักษาข้อมูลดิจิทัลนี้ ก็ยังคงมีความเสี่ยงที่ข้อมูลจะสูญหายหรือถูกทำลายได้ เช่นเดียวกับการเก็บข้อมูลแบบเอกสาร เช่น การเกิดไฟไหม้ หรือน้ำท่วม เป็นต้น ดังนั้น วิธีที่จะรับมือกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้เหล่านี้ จึงควรมีการสำรองข้อมูลไว้เพื่อป้องกันข้อมูลสูญหาย ซึ่งวิธีการสำรองข้อมูลนั้น ขึ้นอยู่กับเจ้าของข้อมูลว่าจะใช้วิธีใด เช่น สำรองข้อมูลไว้ในฮาร์ดไดรฟ์ เซิร์ฟเวอร์ หรือคลาวด์ เป็นต้น

           ในส่วนนี้ได้ยกตัวอย่างบทความของ Lisa Cliggett เรื่อง “Preservation, Sharing , and Technological Challenges of Longitudinal Research in the Digital Age” ซึ่งผู้เขียนได้เล่าถึง ประสบการณ์การจัดเก็บข้อมูลบันทึกภาคสนามของตนเอง ที่มีทั้งข้อมูล บทสัมภาษณ์ รูปภาพ แผนที่ ฯลฯ ซึ่งผู้เขียนได้นำข้อมูลเหล่านั้น นำมาจัดเก็บในรูปแบบดิจิทัล เพื่อให้สามารถเก็บได้ในระยะยาว และการแปลงข้อมูลเป็นดิจิทัลสามารถใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการค้นหาข้อมูลได้ง่าย เนื่องจากการทำโครงการวิจัยในแต่ละครั้งต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินโครงการค่อนข้างนาน จึงต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการเก็บรักษาข้อมูลเพื่อให้สะดวกในการดึงข้อมูลกลับมาใช้ได้ตลอดเวลา

           ท้ายที่สุดหนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นว่า บันทึกภาคสนามมีความสำคัญกับนักมานุษยวิทยาเป็นอย่างมาก เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเก็บรวบรวมข้อมูลในการวิจัยเชิงคุณภาพ และเป็นสิ่งที่ช่วยนักวิจัยสร้างข้อสรุป หรือผลการวิจัยที่น่าเชื่อถือ ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน การจดบันทึกภาคสนามมีเพียงการใช้กระดาษ ดินสอ และปากกา เป็นอุปกรณ์หลักในการจดบันทึกข้อมูลเท่านั้น แต่ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลและระบบการสื่อสารได้มีการพัฒนาและเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตมนุษย์มากขึ้น ทำให้การทำงานของนักมานุษยวิทยา ทั้งในด้านกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม การวิเคราะห์ข้อมูล การแบ่งปันข้อมูล รวมไปถึงการเก็บรักษาข้อมูลและการนำข้อมูลกลับมาใช้ใหม่ เนื่องจากมีอุปกรณ์และ เครื่องมือใหม่ ๆ ที่เข้ามาช่วยให้การปฏิบัติงานมีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เช่น การมีเทปบันทึกเสียง กล้องถ่ายรูปดิจิตอล กล้องวิดีโอดิจิตอล โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต เป็นต้น ดังนั้น นักมานุษยวิทยาในฐานะผู้ที่ศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์จึงต้องศึกษาในเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์กับเทคโนโลยีให้ครอบคลุมทุกด้าน อีกทั้งยังต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและเรียนรู้วิธีการใช้งานเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้านมานุษยวิทยา ก้าวให้ทันเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาไปเรื่อย ๆ อย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ในงานมากที่สุด

user image

ผู้แนะนำ : ปริยฉัตร เวทยนุกูล


ตำแหน่ง :

นักบริการสารสนเทศ

การศึกษา :

ปริญญาตรี สาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์และบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ประสบการณ์ :


ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ