banner image

หนังสือแนะนำ

หน้าแรก / หนังสือแนะนำ / การเมืองของการเซ่น (ผี) เมืองไทในเวียดนาม

detail image

การเมืองของการเซ่น (ผี) เมืองไทในเวียดนาม

รายละเอียด


ปีที่พิมพ์ :

2564


ผู้แต่ง :

อัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ


เลขเรียกหนังสือ :

DS569.ท9 อ622 2564


Collection :

Books (7th floor)


ลิงก์หนังสือ :

รายละเอียด :

การเมืองของการเซ่น (ผี) เมืองไทในเวียดนาม

รูปที่ 1 ปกหนังสือ การเมืองของการเซ่น (ผี) เมืองไทในเวียดนาม
หมายเหตุจาก. ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

           ในสายตาของรัฐชาติเวียดนาม กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศเวียดนาม คือ ชนกลุ่มน้อยและเป็นคนชายขอบ รัฐชาติเวียดนามจึงพยายามสร้างนโยบายเพื่อครอบงำและรวมคนทุกกลุ่มให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตามนโยบาย “กลับสู่รากเหง้า หรือ เหว่หง่วน (vế nguốn)” แต่ก็ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่ม เช่น กลุ่มคนไทในภาคกลางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ที่ไม่ต้องการละทิ้งความเป็นตัวตนและอัตลักษณ์ของตนเอง จึงหาทางตอบโต้นโยบายเหล่านั้น เพื่อให้รัฐชาติเวียดนามรวมทั้งคนนอกได้ตระหนักว่า ในแผ่นดินของเวียดนามไม่ได้มีแค่ชาวเวียดนามเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ อาศัยอยู่ด้วย

           รองศาสตราจารย์ ดร.อัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้เขียนหนังสือ “การเมืองของการเซ่น (ผี) เมืองไทในเวียดนาม” เป็นผลงานเขียนที่เกี่ยวข้องกับวิชาการด้านไทย/ไทศึกษา ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมไทในประเทศเวียดนาม และมีการนำเนื้อหาบางส่วนมาจากงานวิจัยเรื่อง “การต่อรองกับความแตกต่าง: พลวัตของการเมืองเชิงวัฒนธรรมของคนไทในภาคกลางตอนเหนือของเวียดนาม” ของอาจารย์อัจฉริยาเองด้วย ซึ่งหนังสือเล่มนี้เป็นผลจากการได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากบทความของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ เรื่อง “ไทยศึกษากับการศึกษาคนไทและเพื่อนบ้าน” (2560) ในบทความนี้อาจารย์อานันท์กล่าวว่า “การศึกษาคนไทย ไม่ควรศึกษาเฉพาะเรื่องของคนไทย แต่ควรศึกษาความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชนอื่น ๆ ด้วย ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจการปรับตัวเปลี่ยนแปลงของกลุ่มชาติพันธุ์ และความสัมพันธ์ในด้านต่าง ๆ ตลอดจนการข้ามชาติ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคน (เช่น นักท่องเที่ยว แรงงาน) สินค้า และโรคภัยไข้เจ็บเท่านั้น แต่ยังข้ามในด้านความรู้อีกด้วย ประเด็นการศึกษาคนไทที่อยู่นอกประเทศไทย จึงเป็นการศึกษาวัฒนธรรมในสิ่งแวดล้อมและบริบทของเขา ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องของกลุ่มคนที่สืบเชื้อสายมาจากต้นกำเนิดเดียวกัน เพราะ วัฒนธรรมไท/ไทย และอัตลักษณ์ก็เป็นผลพวงมาจาก “ปฏิสัมพันธ์” ของคนไทกับกลุ่มชนดั้งเดิมในพื้นที่ ตลอดจนกลุ่มชนที่อพยพเข้ามาอยู่ใหม่” อาจารย์อัจฉริยา จึงได้รับแรงบันดาลใจจากข้อความนี้ ส่งผลให้อาจารย์มีความสนใจศึกษากลุ่มคนไทที่อาศัยอยู่นอกประเทศไทย และได้เลือกศึกษากลุ่มคนไทในประเทศเวียดนาม โดยพยายามทำความเข้าใจสังคมและวัฒนธรรมของคนไทในประเทศเวียดนาม ในความสัมพันธ์และในบริบทที่พวกเขาเป็นอยู่

           ในช่วงระยะเวลากว่าหกทศวรรษของการสร้างรัฐชาติเวียดนามสมัยใหม่ รัฐบาลเวียดนามรับรู้มาตลอดว่า ในประเทศเวียดนามไม่ได้มีแค่คนเวียดนามที่อาศัยอยู่เท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นอาศัยอยู่ด้วย แต่ด้วยความที่รัฐบาลเวียดนามที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ต้องการที่จะรวมชาติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รัฐชาติเวียดนามจึงต้องกำหนดนโยบายเพื่อสร้างอัตลักษณ์ “แห่งชาติ” ฟื้นฟูศาสนาและความเชื่อ หรือก็คือสร้าง “ศาสนาแห่งชาติ” ขึ้นมา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายชาตินิยมหรือจะเรียกว่า “นโยบายรวมชาติ” ก็ได้

           ถึงแม้ว่ารัฐบาลเวียดนามต้องการที่จะรวมชาติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้ต้องการใช้วิธีที่มีความรุนแรงในการจัดการกับกลุ่มชาติพันธุ์ในที่อาศัยอยู่ประเทศ รัฐบาลใช้วิธีการค่อย ๆ ปลูกฝังความคิดชาตินิยมเข้าไปในกลุ่มชาติพันธุ์ ค่อย ๆ กลืนกินกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้กลายเป็นชาวเวียดนามทีละน้อย แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่ม เช่น กลุ่มคนไทในภาคกลางตอนเหนือของเวียดนาม ไม่ได้ยินยอมพร้อมใจไปกับนโยบายรวมชาตินั้น พวกเขาต้องการคงความเป็นอัตลักษณ์ของตนเองเอาไว้ เพื่อทำให้คนอื่น ๆ ได้รู้ว่า แผ่นดินเวียดนามไม่ได้มีแต่คนเวียดนามอาศัยอยู่เท่านั้น แต่ยังมีพวกเขาอาศัยอยู่ด้วย

           ยกตัวอย่างเช่น การที่รัฐบาลเวียดนามออกนโยบายเพื่อต้องการรวมชาติ โดยการสร้างศาสนาประจำชาติ แต่ได้กระทำไปพร้อม ๆ กับการส่งเสริมศาสนาหรือความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งภายใต้กระบวนการนั้น ศาสนาหรือความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ จะต้องถูกหลอมรวมเข้ากับลัทธิบูชาบรรพบุรุษของชาติซึ่งเป็นวีรบุรุษของชาวกิง (ชาวเวียดนาม) เช่น ปฐมกษัตริย์หุ่ง (Hùng) ประธานาธิบดีโฮจิมินห์ (Hồ Chí Minh) เป็นต้น โดยเรียกกระบวนการนี้ว่า “การกลายเป็นกิง (หรือเวียด)” (Kinh (Viet)-ization) ซึ่งวิธีการนี้ รัฐบาลจะสามารถควบคุมวัฒนธรรมย่อย ๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์ให้อยู่ในสายตาได้ และค่อย ๆ ลดรูปวัฒนธรรมออกจากชีวิตประจำวันของพวกเขา ด้วยการทำให้วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นแค่วัฒนธรรมพื้นบ้านที่ถูกอนุรักษ์ไว้ในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ในพิพิธภัณฑ์ ในงานเทศกาลต่าง ๆ หรือในกระบวนการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นต้น

           แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มชาติพันธุ์ไทก็ไม่ได้ยอมเข้าสู่กระบวนการ “กลายเป็นกิง” โดยง่าย พวกเขากลับทำให้กระบวนการนี้ กลายเป็น “กระบวนการทำให้เป็นไท” (Tai-ization) โดยนำศาสนาของพวกเขาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำให้เป็นกิง โดยฟื้นฟูพิธีกรรมเซ่น (ผี) เมืองไปพร้อม ๆ กับการสร้างศาลเจ้าประจำเมือง เช่น ที่อำเภอมายโจว จังหวัดหว่าบิ่ง (ปี 2009) และอำเภอกวานเซิน จังหวัดแทงหวา (ปี 2010) เป็นต้น

           หนึ่งในปฏิบัติการภายใต้กระบวนการ “กลายเป็นกิง” ของรัฐชาติเวียดนามนั้น คือ การออกนโยบาย “กลับสู่รากเหง้า หรือ เหว่หง่วน (vế nguốn)” ซึ่งเป็นการบูชาบรรพบุรุษ โดยรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการรื้อฟื้นพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อทั้งของชาวเวียดนามและชนกลุ่มน้อย รวมทั้งงบประมาณในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ด้วย แต่ทั้งนี้ ต้องอยู่ภายใต้การนำและความเห็นชอบของรัฐบาล ซึ่งก็เพื่อต้องการที่จะรวมชาติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอยู่แล้ว ต้องการสร้างอัตลักษณ์แห่งชาติ สร้างศาสนาแห่งชาติ สร้างชุมชนชาติที่มีอัตลักษณ์เหมือนกัน

           แต่นโยบายนี้ใช้ไม่ได้กับคนไทในมายโจวและกวานเซิน เพราะคนไทในมายโจวและกวานเซินต่างก็มีประวัติศาสตร์และความทรงจำเกี่ยวกับบรรพบุรุษที่แตกต่างจากจากชาวเวียดนาม ดังนั้น คนไทในมายโจวและกวานเซิน จึงฟื้นฟูพิธีกรรมเซ่นผีเมืองขึ้นมาเพื่อบูชาบรรพบุรุษของตนเอง แสดงให้เห็นว่าพวกเขามีอัตลักษณ์ของตนเองที่ไม่เหมือนใคร ทั้งนี้ก็เพื่อตอบโต้ต่อนโยบาย “กลับสู่รากเหง้า หรือ เหว่หง่วน (vế nguốn)” ของรัฐชาติเวียดนามที่พยายามครอบงำพวกเขา ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการตอบโต้ที่ดี ทำให้คนอื่นเห็นว่าพวกเขามีตัวตนและภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของตัวเอง พวกเขาแตกต่างจากคนกลุ่มอื่น ๆ ในแผ่นดินเวียดนาม และจะไม่ยอมถูกกลืนหายไปตามกระแสสังคมที่เปลี่ยนแปลง

           ผู้เขียนจึงได้ศึกษาพิธีกรรมเซ่น (ผี) เมืองของอำเภอมายโจว จังหวัดหว่าบิ่ง และอำเภอกวานเซิน จังหวัดแทงหวา เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีคนไทอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาค และเป็นเส้นทางการค้าในอดีต รวมทั้งเป็นพื้นที่สู้รบในสมัยล่าอาณานิคมด้วย โดยคนไทใน อำเภอมายโจว จังหวัดหว่าบิ่ง และ อำเภอกวานเซิน จังหวัดแทงหวา ได้ฟื้นฟูพิธีกรรมเซ่นผีเมืองขึ้นมาตอบโต้นโยบายของรัฐชาติเวียดนามที่พยายามครอบงำและค่อย ๆ กลืนกินตัวตนของพวกเขาไป

           พิธีกรรมเซ่นผีเมืองใน อำเภอมายโจว จังหวัดหว่าบิ่ง หรืออดีตก็คือ เมืองมุน ผู้เขียนได้ศึกษาประวัติศาสตร์เมืองมุนจากเอกสารไทโบราณที่ต่อมาเรียกว่า “ก๊กก้าป (Cộc Cáp)” หรือ “หง่วนก๊ก (Nguốn Gốc)” โดยเมืองมุนในอดีตมีฐานะเป็น “จู” หรือบางคนเรียกว่า “โจว” หมายถึง เมืองใหญ่ที่มีเมืองเล็ก ๆ เป็นเมืองบริวาร ดินแดนนี้ถูกเรียกว่า ”สิบสองจุไท” ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่เป็นคนไท ทั้งคนไทดำและคนไทขาว และเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ ในยุครัฐจารีต (ยุคที่ไม่มีการแบ่งแยกดินแดนกันอย่างชัดเจน เจ้าเมืองสามารถล่าเมืองขึ้นได้เป็นจำนวนมากตามกำลังของตนเอง เพื่อสะสมกำลังคนและแผ่ขยายอำนาจออกไป) เมืองมุนได้ส่งทหารช่วยเหลือราชสำนักทังลอง-ดงโด (ฮานอย) ในการปราบกบฏจากเมืองอื่น ๆ ในยุคอาณานิคม เมืองมุนก็เป็นศูนย์กลางการค้าฝิ่นที่ถูกควบคุมโดยฝรั่งเศส ปลายยุคอาณานิคม ก็มีส่วนในขบวนการสร้างรัฐชาติเวียดนาม เพราะได้เข้าร่วมกับกองทัพเวียดมิงค์ (Việt Mint) ซึ่งเป็นกองทัพของเวียดนามเหนือ ทำหน้าที่ในการปลดแอกจากฝรั่งเศส รวมทั้งกองทัพจากชาติอื่น ๆ ที่มารุกราน เช่น ญี่ปุ่น และ สหรัฐฯ มายโจวจึงเป็นพื้นที่ของการสู้รบในเวลานั้น มีการอพยพเคลื่อนย้ายของกลุ่มชนต่าง ๆ มากมาย จนถึงปี 1975 ซึ่งเป็นปีที่สิ้นสุดสงครามกับสหรัฐฯ และเวียดมิงค์ได้รับชัยชนะ คนไทมายโจวจึงได้รับการยอมรับจากเวียดนามในฐานะพลเมืองที่ร่วมสร้างชาติ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการปกครองระหว่างชนกลุ่มใหญ่กับชนกลุ่มน้อย และตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา มายโจวได้เป็นที่รู้จักของคนเวียดนามและนักท่องเที่ยวต่างชาติในฐานะที่เป็นสถานที่ของคนไทและวัฒนธรรมไท

           ปัจจุบันมายโจวกลายเป็นสถานที่ด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ที่มีชื่อเสียงของเวียดนาม ขณะเดียวกันก็เป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของคนไทด้วย ซึ่งตั้งแต่ปี 2000 นักลงทุนจากภายนอกหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในตลาดการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการสูญเสียที่ดินของคนไทไปให้คนนอก ทั้งโดยกลไกของรัฐในการให้สัมปทานเอกชน หรือโดยกลไกตลาดของการแปลงที่ดินให้เป็นสินค้า และการเข้ามาลงทุนสร้างโรงแรมและรีสอร์ตเป็นจำนวนมาก ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่นและปัญญาชนท้องถิ่นของชาวไทมีความกังวลใจต่อเรื่องนี้มาก แต่ชาวบ้านคนไทที่ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวกลับมองว่า ตลาดการท่องเที่ยวนี้เป็นโอกาสในการสร้างรายได้ของพวกเขา ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่นและปัญญาชนท้องถิ่นคนไทจึงได้มีการรื้อฟื้นพิธีกรรมเซ่นเมืองมุนขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อต่อรองกับแนวคิดชาตินิยมที่รัฐชาติเวียดนามพยายามครอบงำชนกลุ่มน้อย และเป็นกลยุทธ์ในการเผชิญหน้ากับการขยายตัวของตลาดการท่องเที่ยวในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งพิธีกรรมเซ่นเมือง เป็นพิธีบูชาเจ้าเมืองหรือผู้บุกเบิกเมืองมุน (ต่าวลางโบน) และผีบรรพบุรุษของคนไท เป็นการปลุกสำนึกความเป็นคนไทและวัฒนธรรมไท เพื่อตอบโต้กระบวนการทำให้กลายเป็นกิงผ่านปฏิบัติการ “กลับคืนสู่รากเหง้า หรือ เหว่หง่วน (vế nguốn)” ของรัฐชาติเวียดนาม ทำให้รัฐชาติเวียดนามและคนนอกรับรู้ว่าแผ่นดินนี้เป็นของคนไท มีสังคมและวัฒนธรรมไทยึดโยงอยู่

           พิธีเซ่นเมืองมุน หรือเมืองมายโจว ประกอบด้วยกิจกรรมอันหลากหลาย และใช้เวลาในการดำเนินการ 2 วัน โดย วันแรก เป็นการประกอบพิธีกรรมของการเซ่น มีการสวดเพื่อเซ่นผีบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง และในวันที่สองจะเป็นส่วนของการเฉลิมฉลอง มีกิจกรรมขบวนแห่ การแสดงทางวัฒนธรรม การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน การออกร้านสินค้าท้องถิ่น เป็นต้น

           อีกเมืองหนึ่งที่ผู้เขียนได้เข้าไปทำการศึกษา คือ เมืองเซีย เป็นเมืองศูนย์กลางของ “จูส่าน” เมืองชายแดนเวียดนาม-ลาว ซึ่งปัจจุบันคือ อำเภอกวานเซิน จังหวัดแทงหวา พื้นที่ส่วนใหญ่ของกวานเซินเป็นป่าดิบชื้นและมีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้มีภูมิทัศน์ค่อนข้างสวยงาม และถือเป็นประตูสู่การค้าข้ามแดนระหว่างเวียดนาม-ลาว การศึกษาประวัติศาสตร์ของเมืองเซียค่อนข้างยาก เนื่องจากเอกสารไทโบราณได้ถูกเผาทำลายไปเป็นจำนวนมากในยุคสังคมนิยม จึงต้องศึกษาจากคำบอกเล่าของปัญญาชนท้องถิ่นแทน ซึ่งปัญญาชนท้องถิ่นได้เล่าว่าชื่อ “เมืองเซีย” หมายถึง การเสียเมืองจูส่านของคนไทให้กับคนกิงเข้ามาปกครอง ชาวไทเมืองเซียจึงมีความทรงจำและความผูกพันกับสถานที่ในเรื่องของการสูญเสียเมือง

           ในสายตาของรัฐชาติเวียดนามที่มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่กรุงฮานอย กวานเซิน คือเมืองชายชอบที่ผู้คนยังล้าหลังทั้งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม คนไทในพื้นที่นี้จึงถูกกดทับอยู่ภายใต้นโยบายสร้างชาติเวียดนาม ทำให้พวกเขาต้องฟื้นฟูกวานเซินในฐานะสถานที่ของคนไทให้กลับมาเป็นศูนย์กลางดังเช่นในอดีตอีกครั้งหนึ่ง ปัญญาชนท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่นจึงได้ฟื้นฟูพิธีกรรมเซ่นผีเมือง โดยการสร้างศาลเจ้าตือม้าฮายด่าว (บรรพบุรุษของคนไทซึ่งมีฐานะเป็นเทพประจำเมืองเซีย) ทำให้ตือม้าฮายด่าว และเทพ/ผีอื่น ๆ กลายเป็นศูนย์กลางของสถานที่ ทั้งยังทำให้สถานที่นี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อสร้างสำนึกให้คนไทรู้สึกถึงรากเหง้าต่อสถานที่แห่งนี้ ในฐานะเจ้าของพื้นที่ผู้มีสิทธิในการครอบครอง โดยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ คอยคุ้มครอง

           พิธีเซ่นเมืองเซียหรือเมืองกวานเซิน จะกระทำที่พื้นที่สาธารณะในเมืองกวานเซินในพิธีกรรมนั้นตามพิธีดั้งเดิม (ก่อนมีการฟื้นฟูในปี 2010) จะมีหมอสวดจำนวน 5 คน เป็นหญิง 3 คน ชาย 2 คน คนที่เป็นหลัก ในพิธีนี้เป็นผู้หญิง ซึ่งมีตำแหน่งเป็นแม่มด ส่วนคนที่เหลือทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยในการสวดบูชาเทพและวิญญาณอื่น ๆ แต่ในปี 2016 ที่ผู้เขียนได้เข้าร่วมพิธีกรรมนี้ มีบางอย่างที่แตกต่างไปจากพิธีกรรมดั้งเดิม คือ มีการสวดเซ่นหลักมั่น ซึ่งเป็นก้อนหินที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง เวลาเซ่น ต้องเอาหินหลักมั่นใส่ในเกี้ยวจัดเป็นขบวน มีการบรรเลงดนตรี มีถาดเครื่องเซ่น และตามด้วยเจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้านเดินตามขบวนแห่ไปที่ศาลตือม้าฮายด่าว เพื่อสักการะศาลตือม้าฮายด่าว ที่เป็นบรรพบุรุษของชาวเมืองเซียหรือกวานเซิน

           นอกจากการสร้างศาลเจ้าตือม้าฮายด่าวแล้ว ยังมีปฏิบัติการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การเรียนการสอนภาษาไท การเขียนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งเป็นการสร้างอัตลักษณ์ของคนไท และเป็นหนึ่งในความพยายามสร้างศูนย์กลางของสังคมการเมืองของคนไทในพื้นที่สูงของจังหวัดแทงหวา เพื่อตอบโต้นโยบายและการครอบงำของรัฐชาติเวียดนาม

           พิธีเซ่นเมืองของทั้งเมืองมุน (อำเภอมายโจว) และเมืองเซีย (อำเภอกวานเซิน) มีความสำคัญมากสำหรับคนไทในประเทศเวียดนาม เพราะ ทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของ อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมไท ที่แสดงตัวตนของความเป็นคนไท ทำให้เห็นว่า คนไทได้ผูกติดกับแผ่นดินเวียดนามมาตั้งแต่สมัยอดีต ถึงแม้ว่าในปัจจุบันความเป็นสมัยใหม่จะทำให้ลักษณะทางกายภาพของสถานที่และสภาพสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปมากก็ตาม

user image

ผู้แนะนำ : วิภาวดี โก๊ะเค้า


ตำแหน่ง :

นักบริการสารสนเทศ

การศึกษา :

กำลังศึกษาระดับปริญญามหาบัณฑิต สาขาการจัดการจดหมายเหตุและสารสนเทศมรดกทางวัฒนธรรม

ประสบการณ์ :


ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ