banner image

หนังสือแนะนำ

หน้าแรก / หนังสือแนะนำ / ต้องเนรเทศ = Seven years in exite

detail image

ต้องเนรเทศ = Seven years in exite

รายละเอียด


ปีที่พิมพ์ :

2565


ผู้แต่ง :

วัฒน์ วรรลยางกูร


เลขเรียกหนังสือ :

DS586.2 .ว63 2565


Collection :

Books (7th floor)


ลิงก์หนังสือ :

รายละเอียด :

ต้องเนรเทศ

รูปที่ 1 ปกหนังสือ ต้องเนรเทศ
หมายเหตุจาก. ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

           “ต้องเนรเทศ” ผลงานชิ้นสุดท้ายของ “วัฒน์ วรรลยางกูร” นักเขียนรางวัลศรีบูรพา เจ้าของผลงานเขียนที่มีชื่อเสียง ได้รับทั้งรางวัลและคำชมเชยจากผู้อ่านมานับไม่ถ้วน

           วัฒน์ วรรลยางกูร เขียนหนังสือเล่มนี้ขณะที่เขาพำนักอยู่ในประเทศฝรั่งเศสในฐานะ “ผู้ลี้ภัย” เขาตัดสินใจเดินทางออกจากประเทศไทยภายหลังมีประกาศเรียกรายงานตัวจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในปี 2557 เขาเดินทางออกจากประเทศไทยในวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 โดยเขาไปพักอาศัยที่ราชอาณาจักรกัมพูชาก่อนจะย้ายไปพักอยู่ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จนกระทั่งปลายปี 2561 “สุรชัย แซ่ด่าน” นักเคลื่อนไหวที่ลี้ภัยไปอยู่ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้หายตัวไป ประกอบกับข่าวการอุ้มหาย - ถูกสังหารอย่างไร้ร่องรอยของบรรดาผู้ลี้ภัย ทำให้วัฒน์ปรึกษากับครอบครัวเรื่องการเดินทางไปยังประเทศที่ 3 และตัดสินใจทำเรื่องขอลี้ภัยการเมืองไปพำนักยังสาธารณรัฐฝรั่งเศส

           ไอดา อรุณวงศ์ เล่าถึงชื่อหนังสือ “ต้องเนรเทศ” ไว้ในหมายเหตุบรรณาธิการ (ซึ่งมีความยาวราว 7 หน้า) ว่าเป็นชื่อที่วัฒน์ตั้งไว้ โดยคำว่า “เนรเทศ” อาจดูมีนัยเก่าโบราณกว่า “พลัดถิ่น” หรือ “ลี้ภัย” แต่มันลงตัวกับคำว่า “ต้อง” ซึ่งได้ทั้งความหมายแบบสำนวนเก่าอย่าง “ต้องโทษ” หรือ “ต้องอาญา” คือ ถูกกระทำหรือลงทัณฑ์ และได้ทั้งความหมายแบบทั่วไป คือ จำเป็นให้กระทำ รวมถึงคิดชื่อรองของหนังสือเอาไว้ว่า “Seven Years in Exile” สุดท้ายแล้วเขาก็เห็นตามไปกับไอดา และยอมใช้ชื่อหนังสือว่า “ต้องเนรเทศ”

           เขาเริ่มนำเรื่องด้วยสภาพการณ์ปัจจุบันของเขา ภายหลังจากที่ตรากตรำเขียนต้นฉบับร่างแรกเสร็จเรียบร้อยด้วยลายมือของตน และเริ่มเข้าสู่กระบวนการพิมพ์เข้าสู่คอมพิวเตอร์ขณะที่สถานการณ์ภายนอกในช่วงปี 2020 การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศฝรั่งเศสกำลังเข้าสู่ภาวะคับขัน แต่เขาก็มิได้หวาดหวั่นต่อการทำให้ต้นฉบับนั้นสมบูรณ์

           วัฒน์เริ่มเล่าเรื่องของเขาเมื่อแรกเข้าสู่สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยเข้าพักใน Apartment ที่รัฐบาลจัดไว้ให้สำหรับเป็นศูนย์แรกรับผู้ลี้ภัย สลับกับการเล่าเรื่องย้อนถึงความหลังสมัยที่เขากับพรรคพวกยังเป็นวัยรุ่นหนุ่มสาวและรวมตัวกันเพื่อแสดงความเคลื่อนไหวตามเจตนารมณ์ร่วมกัน โดยเฉพาะการเขียนถึงบ้านท่าเสา ซึ่งเป็นที่พักของวัฒน์และภรรยา ขณะที่ตัดสินใจย้ายออกจากที่อยู่เดิมย่านคลองประตูน้ำพระอินทร์ เพื่อไปหาที่ตั้งหลักปักฐานสร้างครอบครัว ผลงานหลายต่อหลายชิ้นของวัฒน์ถูกผลิตขึ้นที่นี่ พร้อมกับการเป็นที่พบปะของเหล่าสหาย โดยเฉพาะสหายรุ่งโรจน์ คู่ชีวิตของวัฒน์ที่เสียชีวิตลงในวัย 53 ปีด้วยโรคมะเร็งตับ

           ระหว่างที่เขาเขียนเล่าถึงเรื่องราวของตัวเองในอดีตผสมกับการอัปเดตสถานการณ์ทางการเมืองไทยที่เขายังคงคอยเกาะติดทุกความเคลื่อนไหวอยู่เสมอ ปนเปกับเรื่องราวที่เขาดำรงชีวิตขณะเป็นผู้ลี้ภัย บางช่วงเขาร้อยเรียงเหตุการณ์เป็นบทกวี บางช่วงเป็นงานเขียนราวกับสารคดีท่องเที่ยว เรื่องเล่าของเขาช่างสมจริงจนผู้อ่านมีความกระอักกระอ่วนใจตามไปด้วยในบางช่วง

           วัฒน์เริ่มมีสุขภาพทรุดโทรมตั้งแต่อาศัยอยู่ในประเทศลาวด้วยสาเหตุจากโรคเลือดในช่วงปี พ.ศ.2561 ในช่วงที่เดินทางมาประเทศฝรั่งเศสกลางปี พ.ศ. 2562 เขามีอาการอ่อนแรงชัดเจนขึ้น เข้ารับการรักษาด้วยค่าเลือดที่ผิดปกติ และเข้ารับการรักษาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2563 โดยมีข้อสรุปจากหมอว่าเขาเป็นโรคตับแข็ง ในช่วงท้ายของหนังสือจึงเป็นเรื่องราวของวัฒน์ขณะทำการรักษาโรค ร่วมกับการที่เขาต้องไปเรียนภาษาฝรั่งเศส ควบคู่กับการจัดทำต้นฉบับของหนังสือเล่มนี้ให้สำเร็จ ก่อนที่สุขภาพของเขาจะร่วงโรยไปมากกว่านี้

           บทรองสุดท้ายของหนังสือ วัฒน์เขียนเรื่องที่สะสมอยู่ในวังวนความคิดของเขาราวกับไม่สามารถหาคำตอบสุดท้ายภายใต้ข้อคำนึงนี้ เขากล่าวถึง สถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะสถาบันที่มีอิทธิพลต่อการเมือง สังคมและประชาชน

           เลือดหยดสุดท้าย - บทอำลาหนังสือที่มีความยาวราว 800 หน้าของเขา
บอกเล่าถึง สภาวะที่เขาอยู่ในโรงพยาบาล บางครั้งอยู่ในภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น แต่เขายังคงถ่ายทอดมันออกมาราวกับว่าได้นำเทปบันทึกภาพไปบันทึกเหตุการณ์เหล่านั้นไว้ภายใต้ห้องพักผู้ป่วยของเขา

           วัฒน์ วรรลยางกูร เสียชีวิตลงอย่างสงบที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 (ตามเวลาของประเทศฝรั่งเศส)

           กา

user image

ผู้แนะนำ : จรรยา ยุทธพลนาวี


ตำแหน่ง :

รักษาการผู้จัดการฝ่ายบริการสารสนเทศ

การศึกษา :

ปริญญาโท สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ประสบการณ์ :


ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702 

แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
 

Facebook : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-Sac library
Line@ : @sac-library หรือคลิกเพื่อ Add Line http://line.me/ti/p/~@SAC-Library


  

ห้องสมุด (ชั้น 8)

จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.

เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.

ห้องสมุดสุข กาย ใจ

จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.

เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.

หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ