รายละเอียด
ปีที่พิมพ์ :
2560
บรรณาธิการ :
สุดแดน วิสุทธิลักษณ์
เลขเรียกหนังสือ :
GN407.6 .ส62 2560
Collection :
Books
ลิงก์หนังสือ :
“...ถ้าเช่นนั้นเราจะสถาปนาการศึกษาสัตว์ไปให้พ้นจากการถือเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง (anthropocentric) ได้อย่างไร...”
คำถามที่สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ บรรณาธิการของหนังสือเรื่องนี้ได้เขียนไว้ในส่วนหนึ่งของคำนำ เพื่อนำไปสู่การหาคำตอบเกี่ยวกับการศึกษาทางมานุษยวิทยาว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ โดยมุ่งเป้าหมายของการศึกษาไปที่การให้ความสำคัญกับสัตว์มากกว่ามนุษย์
หนังสือเล่มนี้ ประกอบด้วยข้อเขียนจำนวน 7 เรื่อง ส่วนหนึ่งมาจากการนำเสนอในงานสัมมนาครบรอบ 50 ปี ของการสถาปนาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบทความอีกส่วนหนึ่งเป็นผลงานของนักศึกษาระดับปริญญาตรี
ข้อเขียนทั้งหมดสามารถแบ่งเป็น 2 ประเด็นใหญ่ ได้แก่
ประเด็นที่หนึ่ง การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ ประกอบด้วยบทความเรื่อง นกกรงหัวจุก โดย มลธิณี แจ้งสามสี, งู: สัตว์ร้าย/สัตว์เลี้ยง โดย ธนภัทร ไผทรัตน์, ชีวิตสุนัขไร้เจ้าของ โดย เชยอง จอง และทำไมเราจึงรังเกียจแมลงสาบ?: แมลงสาบในสังคมวัฒนธรรม โดย ลีลา วรวุฒิสุนทร
และประเด็นที่สอง ความรู้ แนวคิดที่ใช้ศึกษาความสัมพันธ์ของคนกับสัตว์ ประกอบด้วยบทความเรื่อง ไปสวนสัตว์ ดู(สวน)สัตว์ โดย สายพิณ ศุพุทธมงคล, สัตว์ศึกษา: สู่โลกหลังภาพแทน โดย สุรเดช โชติอุดมพันธ์ และมังกร โดย ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
เนื้อหาทั้งหมดนี้จะพาเราเข้าสู่โลกของสัตว์และสัตว์ศึกษา เพื่อเรียนรู้เรื่องของสัตว์กับมนุษย์ที่พยายามหลีกเลี่ยงการทำให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางของการศึกษา แต่เพื่อให้ความสำคัญกับสัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่น
ข้อเขียนเรื่องแรกเริ่มต้นด้วย นกกรงหัวจุก ที่ มลธิณี แจ้งสามสี พาผู้อ่านไปทำความรู้จักโลกของคนรักนก – จรูญ แจ้งสามสี - ชาวอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่เข้าสู่วงการเลี้ยงนกกรงหัวจุกด้วยการชักชวนของเพื่อนสนิท ในเรื่องนี้ผู้เขียนพรรณนาวิถีชีวิตของนายจรูญไว้อย่างละเอียดทั้งในเรื่องชีวิต ครอบครัว การงาน และงานอดิเรก มลธิณีเล่าถึงที่มาของการเริ่มเลี้ยงนกกรงหัวจุกของนายจรูญ ที่เริ่มแรกต้องการเลี้ยงเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลิน และชื่นชอบในเสียงร้องของนกประเภทนี้ จึงได้คิดค้นวิธีฝึกนกให้ร้องในรูปแบบของตนเอง แต่นายจรูญก็ไม่ได้มีเป้าหมายในการนำนกกรงหัวจุกเข้าสู่การประกวดแข่งขันแต่อย่างใด
นานวัน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เลี้ยงกับนกกรงหัวจุกก็มีความแนบแน่นเพิ่มมากขึ้น มลธิณีทำให้ผู้อ่านเห็นถึงความพยายามในการสร้างสัมพันธ์ระหว่างผู้เลี้ยงและนกที่ต่างต้องคอยปรับตัวเข้าหากัน โดยเฉพาะอารมณ์ความรู้สึกของนายจรูญที่มักแปรผันกับอารมณ์ ความเป็นอยู่ และความต้องการของนกกรงหัวจุกที่เขาเลี้ยงไว้
ขณะที่ข้อเขียนเรื่องที่สอง ธนภัทร ไผทรัตน์ พาผู้อ่านเข้าไปสู่โลกของสัตว์เลื้อยคลานซึ่งเป็นที่หวาดกลัวของมนุษย์โดยทั่วไปในเรื่อง งู: สัตว์ร้าย/สัตว์เลี้ยง ผู้เขียนซึ่งเป็นผู้เลี้ยงสัตว์ประเภทนี้ด้วยตนเองจึงเขียนบทความนี้ขึ้น ด้วยการไขข้อสงสัยและเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับสัตว์ที่เขาคิดว่าเป็นสัตว์เลี้ยงประเภทหนึ่ง ด้วยการให้ข้อมูลเรื่องงูและการเลี้ยงงูประเภทต่างๆ ตลาดงู ฟาร์มเพาะพันธุ์งูและการซื้อขายงู
ส่วนท้ายของเรื่องนี้ผู้เขียนได้กล่าวถึงมุมมองระหว่างคนกับงูที่มีความกลัวเป็นเหมือนกำแพงขวางกั้นไม่ให้วงการเลี้ยงงูสวยงามพัฒนาได้อย่างเต็มที่
ชีวิตสุนัขไร้เจ้าของ เป็นข้อเขียนที่ เชยอง จอง ใช้พื้นที่หอพักแห่งหนึ่งในอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานีเป็นพื้นที่ภาคสนามในการเก็บข้อมูลด้วยการสังเกต และติดตามชีวิตสุนัขจรจัดที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณหอพักนั้น ซึ่งผู้เขียนนับจำนวนสุนัขจรจัดในบริเวณหอพักดังกล่าวทุกตึกได้รวม 12 ตัวด้วยกัน ผู้เขียนใช้วิธีเรียบเรียงบันทึกการสังเกตและติดตามชีวิตสุนัขจรจัดในบริเวณหอพัก เพื่อวิเคราะห์การใช้ชีวิตของสุนัขจรจัดที่สัมพันธ์กับชีวิตของคนในชุมชนโดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของ-ลูกจ้าง-แม่ครัวร้านขายอาหาร เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และนักศึกษาที่ต่างมีปฏิสัมพันธ์กับสุนัขจรจัดเหล่านี้ทั้งการให้อาหารแก่สุนัข การแวะเวียนมาเล่น หรือหวาดกลัวต่อสุนัขเหล่านี้
ไม่เพียงแต่การเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสุนัข แต่ผู้เขียนยังเล่าถึงความสัมพันธ์ในหมู่สุนัขด้วยกันเอง โดยเฉพาะปฏิกิริยาที่สุนัขจรจัดเจ้าถิ่นมีต่อสุนัขจรจัดหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ ท้ายที่สุด ถึงแม้ว่าสุนัขจรจัดจะไม่ได้อยู่ในฐานะสัตว์เลี้ยงอย่างเช่นนกกรงหัวจุกและงูของข้อเขียนสองเรื่องแรก แต่ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสุนัขก็ยังคงอยู่ ผู้เขียนตั้งคำถามทิ้งท้ายเพื่อให้เป็นประเด็นที่สามารถนำไปขบคิดได้ต่อไปว่า
“...การที่คนพยายามหาวิธีการจัดการสุนัขถือว่าเป็นการยอมรับทางอ้อมว่า สุนัขจรจัดเป็นผลผลิตของมนุษย์ได้หรือไม่...”
บทความที่ว่าด้วยการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์เรื่องถัดไป เป็นบทความที่ตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างคนกับแมลงสาบในชื่อเรื่อง ทำไมเราจึงรังเกียจแมลงสาบ?: แมลงสาบในสังคมวัฒนธรรมโดย ลีลา วรวุฒิสุนทร ได้พาผู้อ่านเข้าไปค้นหาสาเหตุถึงความสัมพันธ์เชิงลบระหว่างคนกับสัตว์ชนิดนี้ ว่าเพราะเหตุใดมันจึงถูกรังเกียจจากผู้คนมากมาย ทั้งที่ความจริงแล้ว แมลงสาบเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติ
ผู้เขียนวิเคราะห์ความขยะแขยงที่มนุษย์มีต่อแมลงสาบออกเป็น 2 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ ความขยะแขยงในฐานะกลไกตามธรรมชาติ เกิดขึ้นเพื่อปกป้องร่างกายจากวัตถุที่ไม่น่าไว้วางใจอันเนื่องมาจากการสั่งสมความรู้ว่าแมลงสาบเป็นแหล่งรวมของปรสิตและเชื้อโรคต่างๆ ที่เราไม่ควรเข้าใกล้ และความขยะแขยงในฐานะผลผลิตของวัฒนธรรม ที่ถูกสร้างและผลิตซ้ำว่าแมลงสาบเป็นสัตว์ที่น่ารังเกียจ ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์กำจัดแมลงผ่านทางสื่อ รวมถึงการสร้างภาพจำว่าแมลงสาบเป็นสัตว์สกปรกนั่นเอง
สายพิณ ศุพุทธมงคล เขียน ไปสวนสัตว์ ดู(สวน)สัตว์ เพื่ออภิปรายความเป็นมาของการเกิดสวนสัตว์ที่เริ่มต้นขึ้นจากการสร้างอุทยานพฤกษาในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 และขยายให้มีการนำสัตว์จากโรงเลี้ยงสัตว์เข้ามาในอุทยาน รวมถึงการเปิดให้ประชาชนเข้าชมอุทยานได้ในภายหลัง ในบทความเรื่องนี้ยังอภิปรายแนวความคิดเรื่อง ธรรมชาติวิทยา สัตววิทยา ที่กล่าวถึงการศึกษาธรรมชาติและสัตว์ทั้งในแง่มุมวิทยาศาสตร์ ตำราโบราณ แนวคิดทางศาสนา ตลอดจนการอภิปรายถึงการจัดตั้งสมาคมสวนสัตววิทยาในประเทศอังกฤษ ที่เปรียบเสมือนการสถาปนาศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของชนชั้นกลางเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อน และหลีกหนีจากความซ้ำซากที่พวกเขาต้องเจอในชีวิตประจำวันมาแวะชมความน่าตื่นตาตื่นใจของสัตว์ต่างๆ
สิ่งที่น่าสนใจในงานเขียนชิ้นนี้ คือผู้เขียนได้ตั้งคำถามถึงเหตุผลการเข้าชมสวนสัตว์ และอภิปรายแนวคิดเรื่องธรรมชาติของการมองของคนกับสัตว์ที่ จอห์น เบอร์เจอร์ เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง Why Look at animals? เมื่อ ค.ศ. 1977 มุมมองเรื่องคนมองสัตว์และสัตว์มองคนนี้อาจเกิดจากบทบาทและความสัมพันธ์ที่ทั้งสองฝ่ายมีต่อกัน การที่คนมองสัตว์ในสวนสัตว์จึงย่อมแตกต่างจากมองสัตว์เลี้ยงของตนเอง เช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงมองเจ้าของย่อมแตกต่างจากสัตว์ในสวนสัตว์ที่มองกลับมายังคนเข้าชม
บทความถัดไปเป็นเรื่อง สัตว์ศึกษา: สู่โลกหลังภาพแทน โดย สุรเดช โชคอุดมพันธ์ เป็นการอภิปรายแนวคิดสัตว์ศึกษาที่มีผลต่อมุมมองต่างๆ ของมนุษย์ในงานวรรณกรรม โดยเฉพาะการใช้สัตว์เป็นสัญลักษณหรือภาพแทนสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือหลายสิ่ง ในบทความนี้ผู้เขียนหยิบเอาวรรณกรรมแมวผี และอสรพิษ ของแดนอรัญ แสงทอง ซึ่งเป็นเรื่องสั้นที่นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ไว้อย่างน่าสนใจ มาวิเคราะห์การสร้างภาพแทนและการเชื่อมโยงการให้คุณค่าของความเป็นมนุษย์และความเป็นสัตว์
ในเรื่อง “แมวผี” ตัวละครเด่นคือแมวนั้น สามารถใช้ภาษาของมนุษย์ในการสื่อสารตอบกลับ และแสดงถึงมุมมองที่คนมีต่อสัตว์ การพยายามตีความและสร้างความเข้าใจต่อสัตว์ ดังในตอนที่ตัวละครหนึ่งเล่าถึงกลุ่มแมวว่า “..มารวมตัวกันเพื่อเคารพศพ...” หลังจากที่เขาเห็นกลุ่มแมวรวมตัวกันล้อมรอบแมวที่ดูเหมือนเสียชีวิตแล้ว ขณะที่เรื่อง “อสรพิษ” ใช้งูจงอางเป็นสัญลักษณ์และภาพแทนที่ยังมีความกำกวม ในเรื่องนี้เกิดการต่อสู้กันระหว่างเด็กชายผู้หนึ่งกับงูจงอาง ในที่สุดเด็กชายก็ยอมพ่ายแพ้ให้กับงูจงอาง งูจงอางในเรื่องนี้จึงถูกวิเคราะห์ว่าเป็นตัวแทนของเจ้าแม่ที่มาลงโทษเด็กที่มาลบหลู่ หรือเป็นตัวแทนของอำนาจที่เข้ามาปกครองอย่างไม่ชอบธรรม การใช้แนวคิดสัตว์ศึกษาในการวิเคราะห์วรรณกรรมจึงมีความจำเป็นที่จะต้องตั้งคำถามต่อพฤติกรรมของมนุษย์ที่มีต่อสัตว์ และพฤติกรรมที่สัตว์มีต่อมนุษย์เพื่อการวิเคราะห์ตีความและการให้ความหมายตามที่ผู้ประพันธ์ต้องการ
บทความสุดท้าย มังกร โดยผู้เขียน – ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ – ได้เรียบเรียงจากบทพูดอภิปรายในหัวข้อการเสวนาเรื่อง “ไม่ใช่เรื่อง “หมูหมากาไก่” ที่นำเสนอในวงเสวนาวิชาการครบรอบ 50 ปี ของการสถาปนาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558
บทความนี้ผู้เขียนได้กล่าวถึงการศึกษาเรื่องของ “มังกร” ในวัฒนธรรมต่างๆ รวมถึงการซ้อนทับของสัตว์ในตำนานที่มีลักษณะสัณฐานที่คล้ายคลึงกัน มีการยกย่องให้เป็นสัตว์พิเศษในรูปแบบที่คล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็น นาค มังกรจีน มังกรฝรั่ง มังกรโคโมโด ก็อตซิล่า งานเขียนชิ้นนี้จึงทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ที่แนบแน่นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในมิติของการสร้างสัตว์ตามจินตภาพของมนุษย์แทบทุกวัฒนธรรม ผู้เขียนยังกล่าวถึงอริสโตเติลในฐานะที่เป็นผู้บุกเบิกงานเขียนประวัติศาสตร์ของสัตว์ และเป็นผู้ที่พยายามจะพูดว่าสัตว์นั้นเหมือนหรือต่างจากมนุษย์อย่างไรในแง่ของอารมณ์ความรู้สึก
หนังสือเล่มนี้จึงมีความน่าสนใจในการนำเสนอการศึกษาเรื่องคนกับสัตว์โดยที่ศูนย์กลางความสำคัญของการศึกษานั้นอยู่ที่สัตว์ต่างๆ เรียกว่าเป็นผลงานด้านมานุษยวิทยาว่าด้วยสัตว์ตามแนวทางการศึกษาทฤษฎีหลังมนุษยนิยม (posthumanism) ซึ่งพยายามตั้งคำถามกับการศึกษาในด้านต่างๆ ที่ให้ความสำคัญหรือมุมมองของมนุษย์มากเกินไป และกลับมาให้ความสนใจสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตในบริบทแวดล้อมของมนุษย์มากยิ่งขึ้น
ตำแหน่ง :
รักษาการผู้จัดการฝ่ายบริการสารสนเทศ
การศึกษา :
ปริญญาโท สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ประสบการณ์ :
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 โทร. 0-2880-9429 ต่อ 3702
แฟ็กซ์ 0-2434-6254 อีเมล์ library@sac.or.th
![]() |
![]() |
ห้องสมุด (ชั้น 8)
จันทร์ - ศุกร์ : 8:30 – 16:30 น.
เสาร์ : 9:00 – 16:00 น.
ห้องสมุดสุข กาย ใจ
จันทร์ - ศุกร์ : 8:00 – 18:00 น.
เสาร์ : 8:00 – 17:00 น.
หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามประกาศราชการ